การให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday March 12, 1998 08:43 —ประกาศ ก.ล.ต.

         สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประกาศ เรื่องการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงิน
และขอบเขตการดำเนินงาน
ที่ อจ. 8/2540
โดยที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศกำหนดให้ผู้ประสงค์จะออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ต้องจัดทำคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ความเห็นชอบเป็นผู้ร่วมจัดทำกำหนดให้การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการเป็นการทั่วไป ต้องมีการแต่งตั้งผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ความเห็นชอบและกำหนดให้การจัดทำความเห็นของกิจการเกี่ยวกับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ การจัดทำความเห็นของกิจการเกี่ยวกับข้อเสนอใหม่ในคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ และการจัดทำความเห็นเกี่ยวกับการขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการโดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการ ต้องมีที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ความเห็นชอบเป็นผู้ให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นของกิจการด้วยนั้น
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบและขอบเขตการดำเนินงานของบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ร่วมจัดทำคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ และที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศเรื่อง การให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงิน และขอบเขตการดำเนินงานที่ อจ.3/2538 ลงวันที่ 12 มกราคม 2538
(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สก.5/2538 เรื่อง การให้ความเห็นชอบผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อและการดำเนินงานของผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อลงวันที่ 15 มีนาคม 2538
(3) ประกาศเรื่อง ที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นและการดำเนินงานของที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้น ที่ อก.4/2538 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2538
ข้อ 2 ประกาศนี้
"ที่ปรึกษาทางการเงิน" หมายความว่า
(1) ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์
(2) ผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ หรือ
(3) ที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้น
"ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์" หมายความว่าที่ปรึกษาทางการเงินที่ร่วมจัดทำคำขออนุญาตเสนอขายหลัทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน
"ผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อหลักทรัพย์" หมายความว่า ผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ให้แผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์หรือเพื่อตนเองตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
"ที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้น" หมายความว่า ที่ปรึกษาทางการเงินที่กิจการแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้จัดทำความเห็นต่อผู้ถือหุ้นของกิจการตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยแบบรายการและระยะเวลาจัดทำความเห็นเกี่ยวกับคำเสนอซื้อหรือประกาศสำนักงานว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการโดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการ
"ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์" หมายความว่า ผู้ที่มีหน้าที่ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน
"ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์" หมายความว่า ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการเป็นการทั่วไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
"กิจการ" หมายความว่า บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บริษัทที่มีหลักทรัพย์ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือบริษัทมหาชนจำกัด
"ผู้ขอผ่อนผัน" หมายความว่า ผู้ขอผ่อนผันให้ได้หุ้นมาโดยไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการโดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการ
"สถาบันการเงิน" หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทอื่นใดนอกจากประเภทการจัดการกองทุนรวม หรือสถาบันการเงินอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
"ชมรม" หมายความว่า ชมรมวาณิชธนกิจ ภายใต้การจัดการของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์
"ผู้บริหาร" หมายความว่า กรรมการ ผู้จัดการ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารซึ่งเป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไป หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีอำนาจในการจัดการบริษัท และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งบริษัททำสัญญาให้มีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการบริหารงานของบริษัทด้วย
"ผู้ถือหุ้นรายใหญ่" หมายความว่า ผู้ที่ถือหุ้นในบริษัทรวมกันเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น โดยการถือหุ้นดังกล่าวให้นับรวมถึงหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
"ผู้ที่เกี่ยวข้อง" หมายความว่า บุคคลหรือห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 258(1) ถึง (7) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยอนุโลม
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 ให้บุคคลที่ประสงค์จะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินยื่นขอความเห็นชอบจากสำนักงานตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมการขอความเห็นชอบตามประกาศว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่างๆ
ข้อ 4 บุคคลที่อาจยื่นคำขอความเห็นชอบตามข้อ 3 ต้องมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นสถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลอื่นซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงิน หรือที่ปรึกษาทางด้านการบัญชี
(2) มีสายงานที่รับผิดชอบการปฎิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ชัดเจนโดยในสายงาน ดังกล่าวต้องมีผู้ปฎิบัติงานเต็มเวลาไม่น้อยกว่า6 คน ซึ่งต้องเป็นผู้มีความรู้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี โดยมีผู้มีความรู้ทางด้านการเงินหรือด้านการบัญชีอย่างน้อยหนึ่งคน และผู้ปฎิบัติงานดังกล่าวต้องมีความสามารถมีความรับผิดชอบและมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายระเบียบและวิธีปฎิบัติในการออกแบบและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน รวมทั้งการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการเป็นอย่างดี
(3)ไม่มีพฤติกรรมหรือไม่มีประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ที่ทำให้สำนักงานพิจารณาได้ว่าผู้ยื่นขอความเห็นชอบนั้นมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
(4) มีกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้บริหารในสายงานที่รับผิดชอบงานด้านที่ปรึกษาทางการเงิน ที่มีจริยธรรม มีความสามารถหรือมีประสบการณ์ในธุรกิจที่จะดำเนินการ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีความเข้าใจและรับผิดชอบต่อสาธารณชนและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(ก) มีประวัติเคยถูกไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือต้องคดีเนื่องจากการกระทำทุจริต
(ข) มีประวัติการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต
(ค) มีประวัติการบริหารงานหรือการกระทำอื่นใดอันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หลายครั้ง หรือที่เป็นความผิดร้ายแรงอันแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบในการบริหารงาน
(ง) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวโทษ ร้องทุกข์ ฟ้องร้อง หรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี เนื่องจากการกล่าวโทษหรือร้องทุกข์ดังกล่าว ในความผิดที่บัญญัติไว้หรือความผิดที่อาจดำเนินการได้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
(5) มีหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานที่รัดกุมและเชื่อถือได้ และแสดงได้ว่าจะสามารถปฏิบัติงานที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพเช่นนั้นพึงกระทำ
(6) ไม่มีประวัติการขาดความรับผิดชอบในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือเป็นที่ปรึกษาในลักษณะอื่นใดที่ต้องใช้ความรู้และความรับผิดชอบในทำนองเดียวกับการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
(7) เป็นผู้ที่มีรายชื่อจดทะเบียนกับชมรมในการประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ข้อ 5 ในการพิจารณาคำขอความเห็นชอบ สำนักงานอาจแจ้งให้ผู้ขอความเห็นชอบมาชี้แจง หรือส่งออกเอสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้ ตามที่เห็นสมควรและให้ผู้ขอความเห็นชอบมาชี้แจงหรือส่งเอกสารหลักฐานนั้นภายในเวลาที่สำนักงานกำหนด
ในกรณีที่ผู้ขอความเห็นชอบไม่มาชี้แจงหรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด สำนักงานจะถือว่าผู้ขอความเห็นชอบไม่ประสงค์จะขอความเห็นชอบเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอีกต่อไป
ข้อ 6 สำนักงานจะแจ้งผลการพิจารณาคำขอความเห็นชอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้เอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วน หากสำนักงานไม่ให้ความเห็นชอบ สำนักงานจะแจ้งเหตุผลให้ผู้ขอความเห็นชอบทราบ
ในกรณีที่สำนักงานไม่ให้ความเห็นชอบเนื่องจากผู้ขอความเห็นชอบมีลักษณะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4(3) (4) (5) หรือ (6) สำนักงานจะกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของผู้ขอความเห็นชอบรายนั้นในคราวต่อไป และเมื่อพ้นระยะเวลาหรือผู้ขอความเห็นชอบได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว หากบุคคลนั้นประสงค์จะยื่นคำขอความเห็นชอบใหม่ สำนักงานจะไม่นำประวัติการกระทำที่เป็นเหตุให้สำนักงานเคยไม่ให้ความเห็นชอบมาประกอบการพิจารณาอีก
ข้อ 7 การให้ความเห็นชอบบุคคลที่ยื่นคำขอความเห็นชอบตามประกาศนี้มีกำหนดระยะเวลาคราวละ 1 ปีนับแต่วันที่สำนักงานกำหนดไว้ในหนังสือแจ้งการให้ความเห็นชอบ
ในกรณีที่บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอความเห็นชอบเพื่อต่ออายุการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินต่อสำนักงานล่วงหน้าสามสิบวันก่อนวันสิ้นสุดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบ หากสำนักงานไม่แจ้งผลการพิจารณาคำขอความเห็นชอบภายในวันสิ้นสุดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบในครั้งก่อนตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลนั้นปฏิบัติหน้าที่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินต่อไปได้จนกว่าสำนักงานมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
ในกรณีที่บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบตามประกาศนี้เป็นนิติบุคคลอื่นใดที่มิใช่สถาบันการเงิน ห้ามบุคคลดังกล่าวทำหน้าที่เป็นผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ให้กับผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่มิใช่สถาบันการเงิน
ข้อ 8 ให้ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานปฏิบัติหน้า ที่ด้วยความรับผิดชอบ โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความระมัดระวังในการปฏิบัติงานเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงกระทำ และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ และในกรณีที่ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์หรือการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของที่ปรึกษาทางการเงินไว้เช่นใด ให้ที่ปรึกษาทางการเงินดังกล่าวปฏิบัติตามให้ถูกต้องและครบถ้วนตามที่ประกาศดังกล่าวกำหนดด้วย
ข้อ 9 ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ศึกษาข้อมูลของผู้ออกหลักทรัพย์ และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจนเป็นที่เข้าใจอย่างดี และตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลในแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนที่ยังมิได้เปิดเผย และดูแลการใช้ถ้อยคำให้กระชับรัดกุมและไม่ทำให้ผู้อ่านสำคัญผิด
(2) ให้ความรู้ คำแนะนำ หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ได้เข้าใจถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบ กฎเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(3) จัดเตรียมและยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน รวมทั้งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ต่อสำนักงาน
(4) ให้ความเห็นต่อสำนักงานว่าผู้ออกหลักทรัพย์มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับอนุญาตให้เสอนขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน และรับรองต่อสำนักงานถึงการที่ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน
(5) ติดต่อประสานงานกับสำนักงาน และรับรองเป็นหนังสือถึงการปฏิบัติหน้าที่ตาม (1) (2) และ (4)
(6) ในกรณีที่มีการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์หรือผู้ออกหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุนก่อน หรือในระหว่างการเสอนขายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต้องดูแลมิให้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์หรือผู้ออกหลักทรัพย์ที่ไม่ปรากฎในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์หรือร่างหนังสือชี้ชวน ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจจองซื้อหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน หรือต่อการคาดการณ์เกี่ยวกับราคาหรือผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่เสนอขาย (นอกจากผลตอบแทนที่สามารถกำหนดได้แน่นอนเป็นการล่วงหน้า) ทั้งนี้หากการเผยแพร่ข้อมูลกระทำโดยการแจกจ่ายเอกสาร เอกสารดังกล่าวต้องมีสาระสำคัญของข้อมูลไม่ต่างจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์หรือร่างหนังสือชี้ชวน และต้องแจกจ่ายพร้อมกับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์หรือร่างหนังสือชี้ชวน
ความในวรรคหนึ่ง (6) ให้ใช้บังคับกับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์หรือผู้ออกหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุนก่อนหรือในระหว่างการเสนอขายหลักทรัพย์โดยที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ด้วย
ข้อ 10 เพื่อประโยชน์ในการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน ให้ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ร่วมกับผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ชี้แจงเป็นหนังสือต่อสำนักงานและต่อประชาชนโดยไม่ชักช้า เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
(1) ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง แตกต่างจากประมาณการงบการเงินอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะความแตกต่างที่เกินร้อยละยี่สิบของตัวเลขตามประมาณการในเรื่องรายได้หรือกำไรสุทธิที่เกิดจากการดำเนินงานตามปกติ
(2) ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ออกหลักทรัพย์ได้กระทำการที่เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของผู้ออกหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การเปลี่ยนธุรกิจหลักของผออกหลักทรัพย์ การขายหุ้นที่ถือโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไปของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ออกหลักทรัพย์ เป็นต้น
(3) มีการใช้เงินที่ได้รับจากการเสนอขายหลักทรัพย์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนอย่างมีนัยสำคัญ เช่น มีการยกเลิก เลื่อนกำหนดเวลา หรือเปลี่ยนแปลงโครงการลงทุนในอนาคต เป็นต้น
(4) ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ หรือผู้บริหารของบุคคลดังกล่าว ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 59 และมาตรา 81 แห่ง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนดในการอนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันที่เปิดเผยไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวน
ทั้งนี้ ให้ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์มีหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง (2)(3) หรือ (4) เฉพาะในกรณีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในหนึ่งปีนับจากวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ
ข้อ 11 ผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อหลักทรัพย์มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) จัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์และเอกสารอื่นตามที่สำนักงานกำหนด
(2) ประเมินมูลค่าสิ่งตอบแทนที่ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์จ่ายไปเพื่อการได้หลักทรัพย์มาในระยะเวลาเก้าสิบวันก่อนวันที่สำนักงานรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ในกรณที่สิ่งตอบแทนนั้นมิใช่ตัวเงิน
(3) ประเมินมูลค่าสิ่งตอบแทนอื่นที่มิใช่ตัวเงินในกรณีที่ราคาเสนอซื้อหลักทรัพย์มีสิ่งตอบแทนอื่นที่มิใช่ตัวเงิน
(4) รับรองว่าผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์สามารถทำตามข้อเสนอในคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ได้จริง
(5) สอบถามผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ถึงสมมติฐานและเหตุผลประกอบสมมติฐานในการจัดทำนโยบายและแผนงานในอนาคตของกิจการที่ถูกเสนอซื้อจนเข้าใจ และให้ความเห็นต่อสำนักงานว่านโยบายและแผนงานในอนาคตของกิจการที่ถูกเสนอซื้อจนเข้าใจและให้ความเห็นต่อสำนักงานว่านโยบายและแผนงานดังกล่าวได้จัดทำขึ้นอย่างสมเหตุสมผลแล้ว
(6) ศึกษาและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเกี่ยวกับผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์จนเข้าใจและมั่นใจได้ว่า มิได้มีการปิดบังข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญอันจะมีผลต่อการตัดสินใจ ของผู้ลงทุน
(7) กระทำการใด ๆ เพื่อให้ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เข้าใจถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงประกาศและหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 12 ห้ามมิให้ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ที่ปรึกษาทางการเงินถือหุ้นในผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ โดยจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดเกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์นั้น
(2) ที่ปรึกษาทางการเงินถือหุ้นในผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ เว้นแต่เป็นการถือหุ้นทั้งหมดมาเกินกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน หรือเป็นการถือหุ้นทั้งหมดมาไม่เกินกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน โดยจำนวนหุ้นส่วนที่ทำให้ถือมาไม่เกินกว่าสองปีดังกล่าวเป็นการได้มาเพิ่มเนื่องจากผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์เพิ่มทุนและให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นที่จะซื้อหุ้นตามส่วนที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถืออยู่ (right issue) แต่ทั้งนี้ การถือหุ้นที่ได้รับยกเว้นทั้งสองกรณีดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์นั้น
(3) ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือกรรมการของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์แต่ละราย ถือหุ้นในที่ปรึกษาทางการเงินเกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของที่ปรึกษาทางการเงิน หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวต่างถือหุ้นในที่ปรึกษาทางการเงิน การถือหุ้นของบุคคลเหล่านั้นในที่ปรึกษาทางการเงินรวมกันเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของที่ปรึกษาทางการเงิน
(4) ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์มีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกับกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันที่ปรึกษาทางการเงินหรือผู้บริหารในสายงานที่รับผิดชอบงานด้านที่ปรึกษาทางการเงิน
(5) ที่ปรึกษาทางการเงินเป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ โดยมีวงเงินให้กู้ยืมถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักเกินสองร้อยล้านบาท และวงเงินให้กู้ยืมดังกล่าวมีจำนวนเกินร้อยละสามสิบของวงเงินกู้ยืมทั้งหมดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ในขณะนั้น
วงเงินให้กู้ยืมถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักหรือวงเงินกู้ยืมทั้งหมดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามวรรคหนึ่ง หมายถึง วงเงินที่คำนวณโดยถ่วงน้ำหนักวงเงินสินเชื่อประเภทเงินกู้ระยะสั้น เงินกู้ระยะยาว และเงินเบิกเกินบัญชี เท่ากับหนึ่งเท่า และถ่วงน้ำหนักสินเชื่อประเภทเงินค้ำประกันกับทางราชการ อาวัล ตั๋วแลกเงิน ขายลดตั๋วแลกเงิน เลตเตอร์ออฟเครดิต ทรัสต์รีซีท และแพคกิ้ง เครดิต เท่ากับศูนย์จุดห้าเท่า
(6) ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนเสียกับผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ในลักษณะที่อาจทำให้ที่ปรึกษาทางการเงินขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ที่ปรึกษาทางการเงินตามวรรคหนึ่ง (1) (2) หรือ (6) ให้หมายความรวมถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของที่ปรึกษาทางการเงิน หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันที่ปรึกษาทางการเงิน หรือผู้บริหารในสายงานที่รับผิดชอบงานด้านที่ปรึกษาทางการเงิน และในการคำนวณจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดตาม (1) หรือ (2) ให้นับรวมจำนวนหุ้นของที่ปรึกษาทางการเงินและของบุคคลตามวรรคนี้เข้าด้วยกันด้วย
ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง (6) ให้หมายความรวมถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือกรรมการของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์
ในการพิจารณาการถือหุ้นตามวรรคหนึ่ง (1) (2) หรือ (3) ให้นับรวมถึงการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่กล่าวไว้ในวรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) ดังกล่าวและวรรคสองด้วยและให้นับรวมถึงหุ้นที่จะเกิดจากการใช้สิทธิของหุ้นกู้แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ด้วย
ในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง (1) ถึง (6) มิให้นำการถือหุ้น การส่งตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการ หรือการมีส่วนได้ส่วนเสีย ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นที่มิใช่บริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือบุคคลที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน มาพิจารณารวมในกรณีดังกล่าว
ข้อ 13 ห้ามมิให้ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับ กิจการ ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ หรือผู้ขอผ่อนผัน ในลักษณะเดียวกับข้อ 12 โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้ใช้คำว่า "กิจการ" "ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์" หรือ "ผู้ขอผ่อนผัน" แทนคำว่า "ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์" และคำว่า "วันที่กิจการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้น" แทนคำว่า "วันที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน"
ข้อ 14 หากที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานรายใดไม่สามารถดำรงลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ที่ปรึกษาทางการเงินรายนั้นต้องแจ้งเป็นหนังสือมายังสำนักงาน พร้อมแสดงเหตุที่ทำให้ไม่สามารถดำรงลักษณะดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ไม่สามารถดำรงลักษณะนั้นได้
ข้อ 15 หากสำนักงานพบว่าที่ปรึกษาทางการเงินรายใด ไม่สามารถดำรงลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 หรือปฎิบัติหน้าที่ที่กำหนดในข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 หรือ ข้อ 11 บกพร่องไม่เหมาะสมหรือไม่ครบถ้วน หรือฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือไม่ปฎิบัติตามข้อ 12 ข้อ 13 หรือ ข้อ 14 ตามประกาศนี้ สำนักงานอาจดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) สั่งให้มาชี้แจง หรือส่งเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
(2) สั่งให้แก้ไขการกระทำ หรือสั่งให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำ
(3) สั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีที่
(ก) เหตุตามที่กำหนดไว้ข้างต้นมีลักษณะร้ายแรง
(ข) มีเหตุตามที่กำหนดไว้ข้างต้นเกิดซ้ำขึ้นอีกภายในช่วง 2 ปี ใดๆ
(ค) ที่ปรึกษาทางการเงินไม่ดำเนินการตามคำสั่งตาม (1) หรือ (2)
ในกรณีที่สำนักงานกำหนดระยะเวลาการสั่งพักการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง (3) อันเป็นผลให้ที่ปรึกษาทางการเงินนั้นไม่อาจปฎิบัติหน้าที่ได้อีกตลอดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบที่ยังเหลืออยู่ สำนักงานอาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของบุคคลนั้น ในคราวต่อไปด้วยก็ได้
เมื่อพ้นระยะเวลาที่สำนักงานสั่งพักการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง (3) หรือระยะเวลาการรับพิจารณาคำขอตามวรรคสอง หรือเมื่อบุคคลที่ถูกสั่งพักการให้ความเห็นชอบได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนดในวรรคสองแล้ว สำนักงานจะไม่นำประวัติการกระทำที่เป็นเหตุให้สำนักงานสั่งพักการให้ความเห็นชอบนั้นมาประกอบการพิจารณาการให้ความเห็นชอบอีก
ข้อ 16 การสิ้นสุดการให้ความเห็นชอบตามกำหนดระยะเวลาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองของข้อ 7 หรือการสั่งพักการให้ความเห็นชอบตามข้อ 15 ไม่มีผลกระทบต่อการปฎิบัติหน้าที่ต่อไปจนเสร็จสิ้นในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและการปฎิบัติหน้าที่ตามข้อ 10 ด้วย ทั้งนี้ หากได้มีการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน หรือคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ต่อสำนักงานแล้ว หรือหากได้มีการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้น ก่อนวันที่สิ้นสุดการให้ความเห็นชอบหรือก่อนวันที่สำนักงานสั่งพักการให้ความเห็นชอบนั้น
ข้อ 17 บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ตามประกาศ เรื่อง การให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงานที่ อจ.3/2538 ลงวันที่ 12 มกราคม 2538 หรือเป็นผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สก.5/2538 เรื่อง การให้ความเห็นชอบผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อและการดำเนินงานของผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อ ลงวันที่ 15 มีนาคม 2538 หรือเป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นตามประกาศ เรื่อง ที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นและการดำเนินงานของที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้น ที่ อก.4/2538 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2538 อยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศนี้ไปจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบที่สำนักงานเคยให้ไว้ และบุคคลดังกล่าวต้องปฎิบัติและอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามประกาศนี้ด้วย
ข้อ 18 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่ข้อ 4(7) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2541 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2540
(นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ