หลักเกณฑ์การจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว

ข่าวกฏหมายและประกาศ Saturday October 12, 1996 16:19 —ประกาศ ก.ล.ต.

                 ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 20 /2539
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการ
กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว
———————————————————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"กองทุนรวม" หมายความว่า กองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทจัดการเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพยประเภทการจัดการกองทุนรวม เพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว
"บริษัทนายหน้า" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
"ผู้ลงทุน" หมายความว่า ผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว
"ผู้ดูแลผลประโยชน์" หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
"บริษัทจดทะเบียน" หมายความว่า บริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งทำสัญญายินยอมให้กองทุนรวมลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทตนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมได้
"ตลาดหลักทรัพย์" หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ในการยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมทุกกองทุนภายใต้โครงการจัดการกองทุนรวมเดียวกัน บริษัทจัดการต้องส่งเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้ต่อสำนักงาน
(1) รายละเอียดของโครงการจัดการกองทุน
(2) ร่างข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ
(3) ร่างสัญญาจัดตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์
(4) ร่างหนังสือชี้ชวนที่จัดทำเพื่อการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชน
(5) สำเนาสัญญาระหว่างบริษัทจัดการกับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อของบริษัทจัดการได้รับรองความถูกต้องแล้ว
(6) สำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีมติให้กองทุนรวมลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทตนตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อของบริษัทจดทะเบียนได้รับรองความถูกต้องแล้ว
สัญญาระหว่างบริษัทจัดการกับบริษัทจดทะเบียนตาม (5) ต้องกำหนดอัตราส่วนที่บริษัทจดทะเบียนสมัครใจให้กองทุนรวมลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทตนด้วย
ข้อ 3 เมื่อบริษัทจัดการได้ยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมต่อสำนักงานแล้ว ให้บริษัทจัดการยื่นคำขอต่อตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขอให้พิจารณารับหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในวันเดียวกันกับการยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมต่อสำนักงาน
ข้อ4 เมื่อบริษัทจัดการยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมและได้รับอนุมัติจากสำนักงานแล้ว ให้บริษัทจัดการจัดทำหนังสือชี้ชวนเป็นภาษาไทยและส่งให้สำนักงานล่วงหน้าก่อนวันเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนครั้งแรก ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจจัดทำหนังสือชี้ชวน เพื่อจัดส่งหรือแจกจ่ายต่อประชาชนเป็นภาษาอื่นที่มีเนื้อความถูกต้องตรงตามหนังสือชี้ชวนฉบับภาษาไทยก็ได้
ในกรณีที่บริษัทจัดการแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลที่ปรากฎในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งเป็นข้อมูลที่ปรากฎในหนังสือชี้ชวนด้วยไม่ว่าเป็นกรณีแก้ไขเพิ่มเติมตามมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการจัดการกองทุนรวม และหรือเป็นกรณีแก้ไขเพิ่มเติม โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก็ตาม ให้บริษัทจัดการแก้ไขข้อมูลในหนังสือชี้ชวนให้ตรงกับรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวมที่แก้ไขเพิ่มเติม และจัดส่งหนังสือชี้ชวนรวมทั้งรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวมที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวให้แก่สำนักงานภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ 5 ห้ามมิให้บริษัทจัดการแก้ไขหรือยินยอมให้มีการแก้ไขสัญญาระหว่างบริษัทจัดการกับบริษัทจดทะเบียน เพื่อลดอัตราส่วนที่บริษัทจดทะเบียนสมัครใจให้กองทุนรวมลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทตนเว้นแต่การแก้ไขดังกล่าว จะได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม หรือเมื่อสำนักงานได้ให้ความเห็นชอบให้แก้ไขอัตราส่วนดังกล่าวในโครงการจัดการกองทุนรวมแล้ว
ในการขอความเห็นชอบจากสำนักงานเพื่อแก้ไขอัตราส่วนในโครงการจัดการกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการยื่นคำขอแก้ไขโครงการจัดการกองทุนรวมพร้อมด้วยสำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ที่มีมติให้แก้ไขอัตราส่วนดังกล่าวซึ่งกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อของบริษัทจดทะเบียนได้รับรองความถูกต้องแล้ว
ในกรณีที่อาจแก้ไขอัตราส่วนตามวรรคหนึ่งได้ บริษัทจัดการอาจสงวนสิทธิที่จะไม่ขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนที่สั่งซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวได้ จนกว่ากองทุนรวมจะถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนนั้นต่ำกว่าอัตราส่วนที่ได้แก้ไขใหม่แล้ว
ข้อ 6 ในการจัดการกองทุนรวมหนึ่ง ๆ ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ ซึ่งหุ้นของบริษัทจดทะเบียนใดเพียงบริษัทจดทะเบียนเดียวเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมนั้น
ข้อ 7 เมื่อผู้ลงทุนสั่งซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดผ่านบริษัทนายหน้า และบริษัทจัดการได้รับทราบการสั่งซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวจากบริษัทนายหน้าแล้ว ให้บริษัทจัดการสั่งซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนผ่านบริษัทนายหน้า และเมื่อบริษัทนายหน้านั้นขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวได้แล้ว ให้บริษัทจัดการขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนในจำนวนเดียวกับจำนวนหุ้น ของบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อได้
เมื่อผู้ลงทุนสั่งขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดผ่านบริษัทนายหน้า และบริษัทจัดการได้รับทราบการสั่งขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวจากบริษัทนายหน้าแล้ว ให้บริษัทจัดการสั่งขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนผ่านบริษัทนายหน้า และเมื่อบริษัทนายหน้านั้นขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวได้แล้ว ให้บริษัทจัดการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุนในจำนวนเดียวกับจำนวนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ขายได้
ในการสั่งซื้อหรือสั่งขายหุ้นตามวรรคหนึ่งและวรรคหนึ่งให้บริษัทจัดการดำเนินการผ่านระบบการซื้อขายบนกระดานหลัก หรือกระดานหน่วยย่อยของตลาดหลักทรัพย์ หรือกระดานอื่นใดของตลาดหลักทรัพย์ตามที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ เว้นแต่เป็นการขายหุ้นตามคำเสนอซื้อหุ้นของกิจการเป็นการทั่วไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ในกรณีที่ผู้ลงทุนสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใด ที่มีลักษณะของการซื้อขายรายใหญ่ตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับการซื้อขาย การชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์จดทะเบียน บริษัทจัดการต้องดำเนินการให้ผู้ลงทุนดำเนินการซื้อขายผ่านบริษัทนายหน้า และให้บริษัทจัดการดำเนินการเกี่ยวกับหน่วยลงทุนและหุ้นของบริษัทจดทะเบียนโดยใช้วิธีการในลักษณะทำนองเดียวกันกับการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนบนกระดานรายใหญ่ โดยอนุโลมและเมื่อบริษัทจัดการได้รับทราบการดำเนินการเกี่ยวกับหน่วยลงทุนและหุ้นดังกล่าวแล้ว ให้บริษัทจัดการยกเลิกหน่วยลงทุนของผู้ขายหน่วยลงทุน และออกหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนในจำนวนที่มีการตกลงซื้อขายกัน
ข้อ 8 ในการขายหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการออกหนังสือรับรองสิทธิในหน่วยลงทุนเมื่อมีการร้องขอให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนแทนการออกใบหน่วยลงทุน ตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม ทั้งนี้ หนังสือรับรองสิทธิในหน่วยลงทุนดังกล่าว จะนำไปจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อภาระแก่สิทธิในหน่วยลงทุนมิได้
หนังสือรับรองสิทธิในหน่วยลงทุนต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ชื่อกองทุนรวม
(2) ชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน
(3) จำนวนหน่วยลงทุน
(4) วันเดือนปีที่ออกหนังสือรับรองสิทธิในหน่วยลงทุน
(5) ชื่อและสถานที่ตั้งของบริษัทจัดการ
(6)ลายมือชื่อบุคคลผู้ได้รับมอบหมาย ให้มีอำนาจลงนามเพื่อบริษัทจัดการในการรับรอง ข้อความหรือรายการในหนังสือรับรองสิทธิในหน่วยลงทุน
ข้อ 9 ในการชำระค่าหน่วยลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องชำระเงินจนเต็มค่า จะหักกลบลบหนี้กับบริษัทจัดการไม่ได้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ข้อ 10 ในการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุนที่มิใช่กรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 15 ให้บริษัทจัดการชำระเงินให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนภายในระยะเวลาเดียวกันกับที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้สมาชิกชำระราคาค่าขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้า
ข้อ 11 ในการกำหนดราคาซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1)กรณีขายหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการกำหนดราคาขายหน่วยลงทุนเท่ากับราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่บริษัทจัดการซื้อได้ บวกด้วยค่าธรรมเนียมของบริษัทจัดการในอัตรา ที่ระบุไว้ในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวน
(2) กรณีรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการกำหนดราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนเท่ากับราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่บริษัทจัดการขายได้ หักด้วยค่าธรรมเนียมของบริษัทจัดการในอัตราที่ระบุไว้ในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวน
ข้อ 12 ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย หรือเงินตอบแทนอื่นใดที่จะเรียกจากผู้ซื้อหน่วยลงทุน หรือผู้ถือหน่วยลงทุนบริษัทจัดการต้องกำหนดอัตราและวิธีการเรียกเก็บไว้ในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม
ข้อ13เมื่อกองทุนรวมได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงินจากการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่สิทธิประโยชน์ทางการเงินที่ได้รับนั้นเป็นเงินเป็นปันผล ให้บริษัทจัดการจ่ายเงินปันผลในจำนวนเดียวกันนั้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ลงทุนใน หรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว ซึ่งมีชื่อปรากฎในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันก่อนวันที่ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมายที่แสดงว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน จะไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นคราวนั้น ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการจ่ายเงินปันผลตามสัดส่วนจำนวนหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละรายถืออยู่ภายในวันทำการถัดจากวันที่กองทุนรวมได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงินดังกล่าว และตามวิธีการทำกำหนดไว้ในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม
(2) กรณีที่สิทธิประโยชน์ทางการเงินที่ได้รับนั้น เป็นสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ลงทุนใน หรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวมีสิทธิซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มให้บริษัทจัดการแจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งมีชื่อปรากฎในทะเบียนจะไม่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นที่ออกใหม่ในการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นคราวนั้น เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนแจ้งความจำนงที่จะซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มภายในระยะเวลาที่สอดคล้องเหมาะสมกับระยะเวลาที่กองทุนรวมจะใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งนี้ให้บริษัทจัดการกำหนดวิธีการและระยะเวลาดังกล่าวไว้ในรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนรวมด้วย
ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแจ้งความจำนงที่จะซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มตาม (2) ให้บริษัทจัดการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมในจำนวนเดียวกับจำนวนหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแจ้งความจำนงที่จะซื้อเพิ่มและเมื่อบริษัทจัดการได้รับหุ้นจากการใช้สิทธิดังกล่าวแล้ว ให้บริษัทจัดการขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ที่แจ้งความจำนงว่าจะซื้อในจำนวนเดียวกับจำนวนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อได้
(3) กรณีที่เป็นสิทธิประโยชน์ทางการเงินอื่น ให้บริษัทจัดการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม
ข้อ 14 ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้อันเป็นผลให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง ให้บริษัทจัดการดำเนินการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละรายให้สอดคล้องกับสัดส่วนของหุ้นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น
ข้อ 15 ในกรณีที่มีผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งกองทุนรวมลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทจดทะเบียนนั้นจากผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไปให้บริษัทจัดการแจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมทราบ เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวแจ้งความจำนงในการขายหน่วยลงทุนภายในระยะเวลา ที่สอดคล้องเหมาะสมกับระยะเวลารับซื้อที่กำหนดไว้ในคำเสนอซื้อ
ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแจ้งความจำนงว่าจะขายหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แสดงเจตนาขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ให้แก่ผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้นในจำนวนเดียวกับจำนวนหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องการขาย
(2) รับซื้อคืนหน่วยลงทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุน ที่ต้องการขายหน่วยลงทุนนั้นในจำนวนเดียวกับจำนวนหน่วยลงทุนนั้นในจำนวนเดียวกับจำนวนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่บริษัทจัดการขายได้จริงโดยให้บริษัทจัดการรับซื้อคืนในวันเดียวกับวันที่ผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนจากกองทุนรวม
(3) ชำระเงินให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการได้รับชำระเงินค่าขายหุ้นจำนวนดังกล่าว
ในกรณีที่การทำคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง เป็นผลจากการที่ตลาดหลักทรัพย์อนุมัติให้บริษัทจดทะเบียนถอนหุ้นของตนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนได้ และมีผู้ถือหน่วยลงทุนบางรายมิได้แจ้งความจำนงในการขายหน่วยลงทุนในวันก่อนวันสุดท้ายของระยะเวลารับซื้อ ตามคำเสนอซื้อนั้น ให้บริษัทจัดการดำเนินการบังคุับไถ่ถอนหน่วยลงทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าว เพื่อแสดงเจตนาขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่เหลือให้แก่ผู้ทำคำเสนอซื้อ โดยบริษัทจัดการต้องชำระเงินให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนนั้น ภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการได้รับชำระเงินค่าขายหุ้นจำนวนดังกล่าว ทั้งนี้ เว้นแต่สำนักงานจะผ่อนผันให้ปฎิบัติเป็นประการอื่น
ข้อ16 ให้บริษัทจัดการจัดให้มีผู้ดูแลผลประโยชน์ ซึ่งมีคุณสมบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เรื่อง คุณสมบัติของผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม ซึ่งออกตามความในมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
ในกรณีที่มีเหตุต้องเปลี่ยนตัวผู้ดูแลผลประโยชน์ และแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์อื่นแทนไม่ว่าเพราะเหตุใด บริษัทจัดการจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงานก่อน
ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ขาดคุณสมบัติ และมิได้มีการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด บริษัทจัดการต้องขออนุญาตเปลี่ยนตัวผู้ดูแลผลประโยชน์ต่อสำนักงานภายในสิบห้าวัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลาให้แก้ไข และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้บริษัทจัดการแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์อื่นแทนโดยพลัน
ข้อ 17 บริษัทจัดการอาจเลิกกองทุนรวมได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เลิกกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งได้ เมื่อกองทุนรวมนั้นไม่มีหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเหลืออยู่
(2) เลิกกองทุนรวมทุกกองทุนที่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเดียวกันได้เมื่อกองทุนรวมทุกกองทุนไม่มีหุ้นของบริษัทจดทะเบียนนั้นเหลืออยู่ และบริษัทจดทะเบียนไม่ประสงค์จะให้กองทุนรวมนั้นลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทตนต่อไป
(3) เลิกกองทุนรวมทุกกองทุนที่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเดียวกันได้เมื่อกองทุนรวมทุกกองทุนมีหุ้นของบริษัทจดทะเบียนนั้นเหลืออยู่รวมกันไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว เป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
(4) กรณีอื่นที่สำนักงานกำหนด
ข้อ 18 ให้บริษัทจัดการเลิกกองทุนรวม เมื่อมีการเพิกถอนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
ข้อ 19 ในกรณีที่บริษัทจัดการประสงค์จะเลิกกองทุนรวมตามข้อ 17(1) หรือ (3) ให้บริษัทจัดการปิดประกาศการเลิกกองทุนรวมไว้ในที่เปิดเผยณสำนักงานของบริษัทจัดการและสำนักงานที่เป็นสถานที่ติดต่อของผู้ดูแลผลประโยชน์ และแจ้งการเลิกกองทุนรวมเป็นหนังสือต่อสำนักงาน ภายในวันที่บริษัทจัดการกำหนดให้เป็นวันเลิกกองทุนรวม
การเลิกกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการอาจสงวนสิทธิที่จะไม่ขายหน่วยลงทุน ให้แก่ผู้ลงทุนที่สั่งซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จะเลิกนั้นได้เมื่อกองทุนรวมนั้น ไม่มีหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเหลืออยู่ หรือเมื่อกองทุนรวมทุกกองทุนมีหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเหลืออยู่รวมกันไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว เป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการปิดประกาศสงวนสิทธิที่จะไม่ขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้น ที่สำนักงานของบริษัทจัดการ และสำนักงานที่เป็นสถานที่ติดต่อของผู้ดูแลผลประโยชน์ ภายในวันที่เริ่มสงวนสิทธิ
ข้อ20 ในกรณีที่บริษัทจัดการประสงค์จะเลิกกองทุนรวมตามข้อ 17(2) ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1)ประกาศเจตนาว่าจะเลิกกองทุนรวมทุกกองทุนเมื่อกองทุนรวมทุกกองทุนไม่มีหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเหลืออยู่โดยแจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงาน และต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อเปิดเผยให้ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปทราบ ทั้งนี้ การประกาศเจตนาดังกล่าวจะกระทำได้ต่อเมื่อมีมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนว่ามีความประสงค์ที่จะไม่ให้กองทุนรวมลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทตนต่อไป
(2)ประกาศสงวนสิทธิที่จะไม่ขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนเมื่อกองทุนรวมทุกกองทุนมีหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเหลืออยู่รวมกันไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้า ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว โดยปิดประกาศสงวนสิทธิไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของบริษัทจัดการและสำนักงานที่เป็นสถานที่ติดต่อของผู้ดูแลผลประโยชน์ และแจ้งการสงวนสิทธิที่จะไม่ขายหน่วยลงทุนเป็นหนังสือต่อสำนักงานและต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อเปิดเผยให้ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปทราบ
(3) แจ้งการเลิกกองทุนรวมเป็นหนังสือต่อสำนักงาน ภายในวันที่บริษัทจัดการและบริษัทจดทะเบียนกำหนดให้เป็นวันเลิกกองทุนรวม
ข้อ 21 การเลิกกองทุนรวมตามข้อ 18 ให้บริษัทจัดการแจ้งการเลิกกองทุนรวมเป็นหนังสือต่อสำนักงานภายในสามวันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีมติเพิกถอนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
การเลิกกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าวันที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้มีผลเป็นการเพิกถอนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เป็นวันเลิกกองทุนรวม
ข้อ 22 มิให้นำประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่กก. 1/2539 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนรวม ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2539 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สก.1/2539 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทุนรวมลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2539 และประกาศอื่นใดที่เกี่ยวกับผู้จัดการกองทุนรวม รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้บังคับแก่การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว
ข้อ23เพื่อประโยชน์ในการจัดการกองทุนรวม ให้สำนักงานมีอำนาจพิจารณาผ่อนผันการปฎิบัติตามข้อ 19 ข้อ 20 และข้อ 21 ได้ตามความจำเป็นและสมควร
ข้อ24 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2539
(นายบดี จุณณานนท์)
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

แท็ก กองทุนรวม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ