หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (ฉบับที่ 4 )

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 17, 2014 07:59 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทน. 22/2557

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการ

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(ฉบับที่ 4 )

_____________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิก (7) ของข้อ 1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ข้อ 2 ให้ยกเลิก (12) ของข้อ 1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (16/1) ของข้อ 1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 4/2556 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

“(16/1) “บริษัทจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่สามารถจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนได้”

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความใน (7) ของข้อ 9 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(7) ในกรณีที่กองทุนรวมมีนโยบายที่จะกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น หรือก่อภาระผูกพันใด ๆ แก่ทรัพย์สินของกองทุนรวม ต้องมีข้อกำหนดที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) กำหนดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไว้ไม่เกินกว่าสามเท่า เว้นแต่ในกรณีที่การเกินอัตราส่วนนั้นมิได้เกิดจากการกู้ยืมเงินหรือการก่อภาระผูกพัน

(ข) กำหนดวิธีการคำนวณอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนตาม (ก) ให้เป็นไปตามประกาศเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในนามของกองทุนรวมและการก่อภาระผูกพันแก่ทรัพย์สินของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(ค) กำหนดให้การกู้ยืมเงินหรือการก่อภาระผูกพันในนามของกองทุนรวม เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในนามของกองทุนรวมและการก่อภาระผูกพันแก่ทรัพย์สินของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความใน (ก) ของ (2) ในข้อ 11 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“(ก) ลักษณะและเงื่อนไขในการจ่ายประโยชน์ตอบแทน หรือการคืนเงินทุนให้แก่ ผู้ถือหน่วยลงทุน”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความใน (4) ของข้อ 14 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(4) ร่างหนังสือชี้ชวน ซึ่งจะยังไม่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนก็ได้” ข้อ 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ 4 การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ข้อ 22/1 และข้อ 22/2 ของหมวด 1 ข้อกำหนดสำหรับการขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม ในภาค 1 การขออนุมัติและการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

“ส่วนที่ 4

การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม

________________

ข้อ 22/1 เมื่อบริษัทจัดการได้ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานครบถ้วนตามข้อ 14 แล้ว ให้บริษัทจัดการเผยแพร่ข้อมูลที่มีสาระตรงตามโครงการจัดการกองทุนรวมและร่างหนังสือชี้ชวนที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งหลังสุดต่อผู้ลงทุนผ่านระบบการรับส่งข้อมูลตามที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ข้อ 22/2 การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนโดยการโฆษณาต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและไม่มีลักษณะที่ทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศเกี่ยวกับ การโฆษณาเพื่อสนับสนุนการขายหน่วยลงทุนที่เกี่ยวข้องด้วย”

ข้อ 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 25/4 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

“ข้อ 25/4 ในการจัดสรรหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่แบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามข้อ 11(2) (ก) หากมีการกำหนดลำดับการได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือการคืนเงินทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดไว้แตกต่างกัน ให้บริษัทจัดการจัดสรรหน่วยลงทุนชนิดที่ให้สิทธิในการได้รับประโยชน์ตอบแทนในลำดับแรกตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดสรรให้แก่ผู้จองซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือผู้จองซื้อพิเศษที่เป็นบุคคลตามข้อ 27 วรรคสอง (1) (2) (3) และ (4) เท่านั้น

(2) ในกรณีที่มีหน่วยลงทุนเหลือจากการจองซื้อของผู้จองซื้อตาม (1) บริษัทจัดการจะจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้ออื่น ๆ ก็ได้

(3) ห้ามมิให้บริษัทจัดการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อที่เป็นเจ้าหนี้ของผู้ที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า หรือให้สิทธิในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานให้แก่กองทุนรวม หรือกลุ่มบุคคลเดียวกันกับบุคคลดังกล่าว”

ข้อ 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของข้อ 26 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

“ในกรณีที่กองทุนรวมมีผู้ที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า หรือให้สิทธิในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานให้แก่กองทุนรวมหลายราย ให้พิจารณาอัตราการจัดสรรหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (1) ของทุกรายรวมกัน”

ข้อ 10 ให้ยกเลิกความในข้อ 30 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 30 ในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนที่มีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง เพียงพอ และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อผู้ลงทุนที่สนใจจะลงทุนในหน่วยลงทุน โดยจะเสนอขายหน่วยลงทุนได้เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขใน (2) แล้ว

(2) การเสนอขายหน่วยลงทุนให้กระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ครบถ้วนดังนี้

(ก) พ้นสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเผยแพร่ข้อมูลตามส่วนที่ 4 ของหมวด 1 ในภาคนี้ ทั้งนี้ ข้อมูลที่เผยแพร่ดังกล่าวอาจยังไม่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุน หรือข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลสำคัญซึ่งสำนักงานเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ก็ได้

(ข) บริษัทจัดการได้ระบุข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนไว้ในหนังสือชี้ชวนโดยครบถ้วน และได้แจ้งการดำเนินการดังกล่าวต่อสำนักงานแล้ว

(3) ในกรณีที่บริษัทจัดการประสงค์จะตั้งบริษัทจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนเป็นผู้ทำหน้าที่ในการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม บริษัทจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนดังกล่าวต้องไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า หรือให้สิทธิในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมจะลงทุนในลักษณะของการเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน

(4) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหน่วยลงทุนเป็นการทั่วไปต้องจัดให้มีการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนอย่างแพร่หลายด้วย” ข้อ 11 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 35/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 “ข้อ 35/1 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่สำนักงานนำมาพิจารณาเพื่ออนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมมีลักษณะดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจสั่งให้บริษัทจัดการแก้ไขหรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม หรือระงับการเสนอขายหน่วยลงทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมได้

(1) เป็นเท็จ

(2) ขาดข้อมูลที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญอันอาจทำให้บุคคลผู้เข้าซื้อหน่วยลงทุนเสียหาย

(3) คลาดเคลื่อนในสาระสำคัญหรือมีเหตุการณ์ที่มีผลให้ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญอันอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการลงทุนของผู้เข้าซื้อหน่วยลงทุน

(4) มีเหตุการณ์ที่มีผลให้ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากปรากฏต่อสำนักงานก่อนการอนุมัติ สำนักงานอาจไม่อนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมนั้น”

ข้อ 12 ให้ยกเลิกข้อ 53 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ข้อ 13 ให้ยกเลิกความในข้อ 54 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 54 การลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กระทำโดยการลดมูลค่าหน่วยลงทุนหรือจำนวนหน่วยลงทุน เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมที่มีการแบ่งหน่วยลงทุนออกเป็นหลายชนิด และจะมีการลดเงินทุนจดทะเบียนของหน่วยลงทุนแต่ละชนิดไม่พร้อมกันหรือไม่เท่ากัน ให้กระทำได้โดยการลดจำนวนหน่วยลงทุนเท่านั้น

(2) เฉลี่ยเงินคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุน โดยไม่หักเงินที่เฉลี่ยคืนดังกล่าวจากกำไรสะสมของกองทุนรวม”

ข้อ 14 ให้ยกเลิกความใน (3) ของข้อ 55 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“(3) ข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมที่มีการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 59”

ข้อ 15 ให้ยกเลิกความใน (ก) ของ (4) ในวรรคหนึ่งของข้อ 56 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ก) ผู้ถูกจำกัดสิทธิออกเสียงตามข้อ 63(3)”

ข้อ 16 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของข้อ 58 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“บริษัทจัดการอาจกำหนดว่า ในกรณีที่บริษัทจัดการพิจารณาแล้วมีความเชื่อโดยสุจริต และสมเหตุสมผลว่า การเปิดเผยข้อมูลบางรายการตามวรรคหนึ่งก่อนการเข้าทำรายการที่ได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน จะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม บริษัทจัดการอาจไม่ระบุข้อมูลนั้น โดยจะแสดงเหตุผลในการไม่ระบุข้อมูลดังกล่าวไว้ในหนังสือนัดประชุมหรือหนังสือแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เมื่อความจำเป็นในการไม่เปิดเผยข้อมูลนั้นหมดไป บริษัทจัดการจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อผู้ถือหน่วยลงทุนโดยไม่ชักช้า”

ข้อ 17 ให้ยกเลิกความในข้อ 60 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“ข้อ 60 ในกรณีที่กองทุนรวมมีการแบ่งหน่วยลงทุนออกเป็นหลายชนิด บริษัทจัดการต้องจัดให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมในข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการที่ให้ผลดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ในกรณีที่เป็นการขอมติที่มีผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนทุกชนิด โดยแต่ละชนิดได้รับผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนไม่เท่ากัน ให้ได้รับมติผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนชนิดที่ได้รับผลกระทบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนแต่ละชนิด

(2) ในกรณีที่เป็นการขอมติที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ว่ากรณีใด ให้ได้รับมติผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนชนิดที่ได้รับผลกระทบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนแต่ละชนิด

(3) ในกรณีที่เป็นการขอมติที่มีผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนชนิดใดชนิดหนึ่ง ให้ได้รับมติผู้ถือหน่วยลงทุนชนิดที่ได้รับผลกระทบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนชนิดนั้นการขอมติและการออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง ต้องกำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 55 ถึงข้อ 59 โดยอนุโลม”

ข้อ 18 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็น (3) ในวรรคหนึ่งของข้อ 61/2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 4/2556 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 “(3) การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนชนิดที่ให้สิทธิในการได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือการคืนเงินทุนในลำดับแรก”

ข้อ 19 ให้ยกเลิกความในข้อ 63 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 63 การจำกัดสิทธิในการรับเงินปันผล การจัดการกับเงินปันผล และการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยลงทุน ต้องมีข้อกำหนดในข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) จำกัดสิทธิในการรับเงินปันผลของผู้ถือหน่วยลงทุน ในส่วนที่ถือเกินกว่าอัตรา ที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 26 ข้อ 27 และข้อ 28 ทั้งนี้ จะกำหนดข้อยกเว้นสำหรับกรณีที่การถือหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราที่กำหนดดังกล่าวมิได้เกิดจากการได้หน่วยลงทุนมาเพิ่มเติมก็ได้

(2) กำหนดวิธีดำเนินการกับเงินปันผลในส่วนที่ไม่อาจจ่ายแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเนื่องจากการถูกจำกัดสิทธิตาม (1) ในลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) บริษัทจัดการจะยกเงินปันผลส่วนดังกล่าวให้เป็นรายได้แผ่นดิน โดยถือว่าผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวงรับทราบและยินยอมให้ดำเนินการแล้ว และ

(ข) ในระหว่างที่ยังมิได้ดำเนินการตาม (ก) บริษัทจัดการจะจัดทำบัญชีและแยกเงินปันผลส่วนดังกล่าวออกจากทรัพย์สินอื่นของกองทุนรวม โดยไม่นำมารวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม

(3) จำกัดสิทธิในการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยลงทุนดังต่อไปนี้

(ก) จะไม่นับคะแนนเสียงของผู้ถือหน่วยลงทุนในส่วนที่ถือเกินกว่าอัตราที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 26 ข้อ 27 และข้อ 28 และในกรณีของกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงว่าหากเป็นการขอมติรายชนิดหน่วยลงทุน บริษัทจัดการจะไม่นับคะแนนเสียงของผู้ถือหน่วยลงทุนในส่วนที่ถือเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนชนิดนั้น เว้นแต่ผู้ถือหน่วยลงทุนนั้นเป็นบุคคลตามข้อ 27 วรรคสอง (1) ถึง (4)

(ข) จะไม่นับคะแนนเสียงของผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมในเรื่องที่ขอมติ”

ข้อ 20 ให้ยกเลิกความใน (1) และ (2) ของวรรคหนึ่งในข้อ 71 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(1) การขออนุมัติเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมต่อสำนักงาน ต้องแสดงได้ว่ากองทุนรวมมีลักษณะเป็นไปตามที่กำหนดในภาค 1 ของประกาศนี้ โดยบริษัทจัดการต้องยื่นคำขอเป็นหนังสือ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอดังต่อไปนี้

(ก) รายละเอียดโครงการในส่วนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม

(ข) ร่างหนังสือชี้ชวนที่ใช้ในการเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม ทั้งนี้ ร่างหนังสือชี้ชวนดังกล่าวจะยังไม่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนก็ได้ทั้งนี้ ในการอนุมัติเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งการตามข้อ 35/1 โดยอนุโลม

(2) การเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไปเพื่อเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 22/1 ข้อ 22/2 ข้อ 30 และข้อ 31 โดยอนุโลม”

ข้อ 21 ให้ยกเลิกความในข้อ 82 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 82 บริษัทจัดการต้องแต่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจในธุรกิจจัดการกองทุนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบ จากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เพื่อทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(2) ผู้จัดการกองทุน เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานตามวรรคหนึ่ง (1) และผู้จัดการกองทุนตามวรรคหนึ่ง (2) อาจเป็นบุคคลเดียวกันก็ได้”

ข้อ 22 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 82/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 1/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

“ข้อ 82/1 ในการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทจัดการต้องพิจารณาให้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) ไม่เป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทอื่นที่ดำเนินการในลักษณะที่คล้ายคลึงหรือแข่งขันกับการดำเนินการของบริษัทจัดการ เว้นแต่บริษัทจัดการแสดงได้ว่ามีการจัดโครงสร้างขององค์กรที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์นั้นได้

(2) ในกรณีที่แต่งตั้งพนักงานของบริษัทจัดการเป็นผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บุคคลดังกล่าวต้องดำรงตำแหน่งที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) ตำแหน่งที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการจัดการลงทุน

(ข) ตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการของบริษัทจัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งดูแลรับผิดชอบสูงสุดในสายงานที่เกี่ยวกับการลงทุน”

ข้อ 23 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ