ที่ สน. 15/2557
เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน
(ฉบับที่ 15)
_____________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 126(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบกับข้อ 12 และข้อ 17 แห่งประกาศคณะกรรมการ กำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุนสำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ง) ใน (6) ของข้อ 2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
“(ง) “เงินกองทุน” หมายความว่า เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินต่างประเทศ ดังนี้
1. ในกรณีที่เป็นธนาคารพาณิชย์ หมายถึง เงินกองทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ แต่ไม่รวมถึงสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยองค์ประกอบของเงินกองทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ โดยอ้างอิงจากหลักเกณฑ์ Basel III
2. ในกรณีที่เป็นสถาบันการเงินต่างประเทศ หมายถึง เงินกองทุนสำหรับสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีการอ้างอิงจากหลักเกณฑ์ Basel III”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 4 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 33/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามประเภทที่กำหนดในหมวด 2 และหมวด 2/1 ของภาค 1 ทั้งนี้ ตามลักษณะของตราสารและหลักเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดในหมวด 3 ของภาค 1 และภายใต้หลักเกณฑ์ตามวรรคสอง
บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนได้ต่อเมื่อเป็นการลงทุนหรือมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้น”
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองใน (2) ของข้อ 18 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุน และการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
“ในกรณีที่ตราสารแห่งหนี้ภาคเอกชนตามวรรคหนึ่งเป็นตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนต่างประเทศ ตราสารดังกล่าวต้องมีลักษณะเช่นเดียวกับตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์”
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความใน (2) ของข้อ 19 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(2) หุ้นกู้แปลงสภาพที่เสนอขายในต่างประเทศโดยมีผู้ออกเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ทั้งนี้ ในกรณีที่หุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวเป็นตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน ตราสารนั้นต้องมีลักษณะเช่นเดียวกับตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์”
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความใน (1) และ (2) ของวรรคหนึ่งในข้อ 61 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 21/2554 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) ตราสารแห่งหนี้ในประเทศ แต่ไม่รวมถึงตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน
(2) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน แต่ไม่รวมถึงตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน”
ข้อ 6 ให้ยกเลิกความใน (3) ของวรรคหนึ่งในข้อ 62 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 21/2554 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(3) ตราสารแห่งหนี้ในประเทศหรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ทั้งนี้ เฉพาะที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ แต่ไม่รวมถึง
(ก) ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชนิดที่มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถือตราสารปลดหนี้ให้แก่ผู้ออกตราสาร
(ข) ตราสารเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชนิดที่มีการกำหนดเงื่อนไขบังคับแปลงสภาพเป็นหุ้น ซึ่งออกโดยธนาคารพาณิชย์ที่มิได้เป็นบริษัทจดทะเบียน”
ข้อ 7 ให้ยกเลิกความใน (ข) ของ (6) ในวรรคหนึ่งของข้อ 62 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 3/2557 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(ข) ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ แต่ไม่รวมถึง
1. ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชนิดที่มีการกำหนดเงื่อนไข ให้ผู้ถือตราสารปลดหนี้ให้แก่ผู้ออกตราสาร
2. ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชนิดที่มีการกำหนดเงื่อนไขบังคับแปลงสภาพเป็นหุ้น ที่ออกโดยสถาบันการเงินต่างประเทศซึ่งสถาบันการเงินดังกล่าวมิได้เป็นกิจการที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือมิได้เป็นกิจการที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE)”
ข้อ 8 ให้ยกเลิกความใน (1) ของวรรคหนึ่งในข้อ 93 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 13/2556 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) อัตราส่วนตามข้อ 61 ข้อ 61/1 และข้อ 62 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) (5) (6) (7) (8) และ (9) มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมตามหมวดนี้ โดยบริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งบุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้ ทรัพย์สินดังกล่าวที่บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนไม่รวมถึงตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน”
ข้อ 9 ในกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินของกองทุนเป็นไปตามประเภทและอัตราส่วนโดยชอบก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ไม่เป็นไปตามที่กำหนด ในข้อ 4(1) ข้อ 18(2) ข้อ 19(2) ข้อ 61 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) ข้อ 62 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (6) (ข) หรือข้อ 93 วรรคหนึ่ง (1) แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ บริษัทจัดการจะยังคงไว้ซึ่งการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้ แต่หากทรัพย์สินนั้นเป็นตราสารที่มีกำหนดอายุซึ่งได้หมดอายุลง หรือได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไปเท่าใด บริษัทจัดการอาจคงทรัพย์สินนั้นไว้ได้เพียงจำนวนที่เหลือ
ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557
(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์