ที่ สธ. 13 /2557
เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุน
และข้อกำหนดกรณีผู้ประกอบธุรกิจ
ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้
_________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน มาตรา 109 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 19 และมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ข้อ 5 และข้อ 6 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 4 /2557 เรื่อง การดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตเฉพาะบางประเภทธุรกิจ ลงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และข้อ 1(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 59/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์และกำหนดเวลาในการยื่นรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้
“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งมีหน้าที่ดำรงเงินกองทุนตามประกาศการดำรงเงินกองทุน
“ประกาศการดำรงเงินกองทุน” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตเฉพาะบางประเภทธุรกิจ
“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” หมายความว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยที่ได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงาน
“สถาบันการเงิน” หมายความว่า
(1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(2) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
(3) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
“กองทุนรวม” หมายความว่า(1) กองทุนรวมที่จัดตั้งและจัดการตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(2) โครงการจัดการลงทุนต่างประเทศตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการไม่นำบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนมาใช้บังคับกับการเสนอขายหน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศ
หมวด 1
สินทรัพย์ที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุน
ส่วนที่ 1
สินทรัพย์สภาพคล่อง
ข้อ 3 สินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถใช้ในการดำรงเงินกองทุน ได้แก่ สินทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพันดังต่อไปนี้
(1) เงินสด
(2) เงินฝากหรือบัตรเงินฝากของสถาบันการเงินที่สามารถขอไถ่ถอนได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องกำหนดเวลาการไถ่ถอน
(3) ตราสารหนี้ภาครัฐไทยดังต่อไปนี้
(ก) ตั๋วเงินคลัง
(ข) พันธบัตรรัฐบาล
(ค) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
(ง) พันธบัตร ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือหุ้นกู้ ที่กระทรวงการคลังหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน
ในกรณีตราสารหนี้ตามวรรคหนึ่งมีอายุคงเหลือเกินกว่าสิบปี ตราสารหนี้ดังกล่าวต้องมีการซื้อขายโดยเฉลี่ยทุกสองสัปดาห์และมีอัตราการเปลี่ยนมือ (turnover) ย้อนหลังสามเดือนล่าสุดโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละหกจุดสองห้าของยอดคงค้าง ตามรายชื่อที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยประกาศล่าสุด
(4) ตราสารหนี้ต่างประเทศที่เป็นประเภทและมีลักษณะทำนองเดียวกับตราสารหนี้ภาครัฐไทยตาม (3) ซึ่งมีรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือ ผู้ค้ำประกัน
(5) ตราสารหนี้ประเภท ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน พันธบัตร หุ้นกู้แต่ไม่รวมถึงหุ้นกู้อนุพันธ์และหุ้นกู้ที่ผู้ถือมีภาระผูกพัน ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน
ในกรณีตราสารหนี้ตามวรรคหนึ่งมีอายุคงเหลือเกินกว่าสามเดือน ตราสารหนี้ดังกล่าวต้องมีการซื้อขายโดยเฉลี่ยทุกสองสัปดาห์และมีอัตราการเปลี่ยนมือ (turnover) ย้อนหลังสามเดือนล่าสุดโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละหกจุดสองห้าของยอดคงค้าง ตามรายชื่อที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยประกาศล่าสุด
(6) หุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายชื่อในการคำนวณดัชนี SET100
(7) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน
(8) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีกำหนดระยะเวลาการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนไว้ไม่เกินเก้าสิบวัน และมีนโยบายการลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
(ก) มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องตาม (1) ถึง (7) ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องตาม (2) (4) และ (5) สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าวต้องมีผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 6 ด้วย
(ข) มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนตาม (ก)ในกรณีที่ระยะเวลารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (8) เกินกว่าหกสิบวัน ให้ใช้มูลค่าของหน่วยลงทุนในการคำนวณการดำรงเงินกองทุนได้เพียงกึ่งหนึ่งของมูลค่าของหน่วยลงทุน
ข้อ 4 การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสินทรัพย์สภาพคล่องตามข้อ 3 ต้องไม่มีลักษณะเป็นการลงทุนระยะสั้นโดยมีเจตนาเพื่อการขายต่อ หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงหรือความแตกต่างของราคา
ข้อ 5 สินทรัพย์สภาพคล่องตามข้อ 3(3) (4) และ (5) ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย
(1) เป็นตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
(2) มีการจ่ายผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ยคงที่หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัว
(3) ในกรณีที่มีการรับรอง รับอาวัล สลักหลัง หรือค้ำประกัน ตราสารหนี้ ต้องเป็นการรับรองตลอดไป รับอาวัลทั้งจำนวน สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยโดยไม่มีข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สลักหลัง หรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข แล้วแต่กรณี
ข้อ 6 สินทรัพย์สภาพคล่องตามข้อ 3(2) (4) และ (5) ต้องมีผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร เว้นแต่ในกรณีที่สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าวไม่มีผลการจัดอันดับ ความน่าเชื่อถือของตราสาร ให้พิจารณาเลือกใช้ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้แทน โดยให้เลือกใช้ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สามารถใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องประเภทนั้น ๆ ได้
(1) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหรือสถาบันการเงินผู้รับเงินฝาก ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหรือสถาบันการเงินดังกล่าวเป็นธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ให้หมายความรวมถึงอันดับความน่าเชื่อถือสนับสนุน (support rating) ด้วย
(2) อันดับความน่าเชื่อของผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน ของตราสารผลการจัดอันดับตามวรรคหนึ่งต้องมีผลการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้และได้รับการจัดอันดับโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ส่วนที่ 2
กรมธรรม์ประกันภัย
ข้อ 7 กรมธรรม์ประกันภัยที่สามารถใช้ในการดำรงเงินกองทุน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดที่เกิดขึ้นจากการประกอบวิชาชีพ (professional indemnity insurance) ที่ครอบคลุมความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจหรือบุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้กระทำไปในนามของผู้ประกอบธุรกิจ
(2) ให้ใช้กรมธรรม์ประกันภัยได้เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำรงเงินกองทุนตามอัตราหรือมูลค่าสูงสุดที่เกิดจากวิธีการคำนวณจากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ และให้ใช้กรมธรรม์ประกันภัยในการดำรงเงินกองทุนได้เฉพาะส่วนที่เกินกว่าอัตราหรือมูลค่าที่เกิดจากวิธีการคำนวณจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจเท่านั้น
(3) ให้คำนวณมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัยในการดำรงเงินกองทุนได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย เว้นแต่ในกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมความเสียหายนับแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจ ให้คำนวณมูลค่าของกรมธรรม์ประกันภัยได้เต็มจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย
หมวด 2
การคำนวณและรายงานการดำรงเงินกองทุน
ข้อ 8 ให้ผู้ประกอบธุรกิจคำนวณอัตราหรือมูลค่าของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามประกาศการดำรงเงินกองทุนปีละสองครั้ง โดยให้คำนวณทุกวันทำการสุดท้ายของเดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม
ข้อ 9 ให้ผู้ประกอบธุรกิจคำนวณมูลค่าสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุนดังกล่าวในวันทำการสุดท้ายของแต่ละไตรมาส เว้นแต่กรณีที่ปรากฏเหตุ ที่อาจทำให้มูลค่าสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ให้ผู้ประกอบธุรกิจคำนวณมูลค่าสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ดังกล่าวใหม่ตามหลักเกณฑ์และภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้
(1) เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญอันอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ ให้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ในวันทำการที่เกิดเหตุการณ์นั้น
(2) เมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ ให้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ในวันทำการนั้น
(3) เมื่อมีการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องประเภทหุ้น ให้คำนวณมูลค่าทรัพย์สินที่ใช้ดำรงเป็นเงินกองทุนทุกสิ้นวันทำการ
(4) เมื่อมีการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องประเภทหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการลงทุนในหุ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ให้คำนวณมูลค่าทรัพย์สินที่ใช้ดำรงเป็นเงินกองทุนทุกสิ้นวันทำการที่มีการเปิดเผยมูลค่าของหน่วยลงทุนดังกล่าว
ข้อ 10 ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานการดำรงเงินกองทุนต่อสำนักงาน ตามแบบ ท.ป. 4 แบบ ท.ป. 5 หรือแบบ ท.ป. 6 และคำอธิบายประกอบการรายงาน แล้วแต่กรณี ที่แนบท้ายประกาศนี้
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้
(1) กรณีการดำรงเงินกองทุนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนของแต่ละปี ให้ยื่นรายงานภายในวันที่ 7 กรกฎาคมของปีนั้น
(2) กรณีการดำรงเงินกองทุนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคมของแต่ละปี ให้ยื่นรายงานภายในวันที่ 7 มกราคมของปีถัดไป
ข้อ 11 ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำและจัดเก็บเอกสารการดำรงเงินกองทุนไว้ ณ ที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจในลักษณะที่พร้อมเรียกดูหรือจัดให้สำนักงานตรวจสอบได้เมื่อได้รับการร้องขอ
หมวด 3
ข้อกำหนดกรณีผู้ประกอบธุรกิจ
ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้
ข้อ 12 ในหมวดนี้
“หน่วยลงทุน” หมายความว่า หน่วยลงทุนของกองทุนรวม ใบทรัสต์ของทรัสต์ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนรวม หรือหลักทรัพย์อื่นที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ที่มีลักษณะการลงทุนทำนองเดียวกับหน่วยลงทุน
ข้อ 13 ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุนปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) มีหนังสือแจ้งการไม่สามารถดำรงเงินกองทุน พร้อมด้วยสาเหตุ โดยยื่นต่อสำนักงานภายในสองวันทำการนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้
(2) จัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขต่อสำนักงานภายในสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่ก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวสามารถแก้ไขเงินกองทุนให้เป็นไปตามประกาศการดำรงเงินกองทุนได้ติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ
(3) ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขที่ได้แจ้งต่อสำนักงานตาม (2) เพื่อให้สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนให้เป็นไปตามที่ประกาศการดำรงเงินกองทุนกำหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร
(4) มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงานทราบภายในสองวันทำการนับแต่วันที่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามแผนหรือแนวทางการแก้ไขที่ได้แจ้งต่อสำนักงานตาม (2)
ข้อ 14 ในระหว่างที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนตามประกาศการดำรงเงินกองทุนหรืออยู่ในระหว่างดำเนินการตามข้อ 13(3) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการดังต่อไปนี้ จนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน
(1) ให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่
(2) ขยายระยะเวลาการให้บริการแก่ลูกค้ารายเดิมของผู้ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนหรือที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(3) กระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน การดำเนินงาน หรือการปฏิบัติตามข้อตกลงกับลูกค้า ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานกำหนด
ข้อ 15 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ภายในระยะเวลาตามข้อ 13(3) หรือมีเงินกองทุนเป็นศูนย์ติดต่อกันเกินกว่าห้าวันทำการ ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ระงับการประกอบธุรกิจในประเภทที่เกี่ยวข้องกับการดำรงเงินกองทุนจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน และได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ
(2) กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน ซึ่งมีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในครอบครอง ให้ปฏิบัติดังนี้
(ก) ดำเนินการให้ลูกค้าแต่ละรายเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโดยตรง
(ข) โอนบัญชีการซื้อขายหน่วยลงทุนของลูกค้าแต่ละรายไปยังบริษัทหลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นผู้ให้บริการแทน ทั้งนี้ ตามที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้
1. บริษัทหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมซึ่งเป็นผู้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้น ๆ
2. บริษัทหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่สามารถให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนได้
(ค) ดำเนินการตาม (ก) และ (ข) ให้แล้วเสร็จภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ ไม่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ภายในระยะเวลาตามข้อ 13
(3) หรือนับแต่วันที่มีเงินกองทุนเป็นศูนย์ติดต่อกันเกินกว่าห้าวันทำการ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันระยะเวลาจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น
(3) แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการระงับการประกอบธุรกิจตาม (1) หรือการดำเนินการตาม (2) โดยไม่ชักช้า
(4) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน
ประกาศ ณ วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557
(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์