หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 3, 2014 15:20 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทลธ. 8/2557

เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

------------------

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 100 มาตรา 103(9) และ (10) มาตรา 109 มาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 116 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 133 วรรคสอง และมาตรา 134 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และมาตรา 15 มาตรา 18 มาตรา 23(3) และ (5) และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป

หมวด 1

บททั่วไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้ และรวมถึงแบบคำขอและตารางแนบท้ายที่กำหนดตามประกาศนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“บริษัทจัดการลงทุน” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมหรือประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล หรือผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล

“ผู้ลงทุน” หมายความว่า ผู้ที่สนใจจะลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน และให้หมายความรวมถึงลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจด้วย

“ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่

“ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ

“ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 “สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

“สมาคม” หมายความว่า

(1) สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์

(2) สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 เว้นแต่ที่กำหนดในหมวด 7

“ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน” หมายความว่า หลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“ผู้จัดการ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารงานของบริษัท

“ผู้อำนวยการฝ่าย” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบงานในระดับส่วนงานภายในบริษัท

“ผู้จัดการสาขา” หมายความว่า ผู้จัดการสำนักงานสาขา หรือผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงานสาขา

“ผู้จัดการกองทุน” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุนรวมหรือผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินอื่นใด ที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่น

“ผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

“ผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

“ผู้จัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า บุคคลที่ผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามอบหมายให้มีอำนาจตัดสินใจลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์จากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ผู้อื่น“กรรมการในคณะกรรมการลงทุนของกองทุน” หมายความว่า กรรมการในคณะกรรมการซึ่งบริษัทจัดการลงทุนแต่งตั้งหรือมอบหมายให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณากำหนดกรอบการลงทุนของกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล หรือการลงทุนในการจัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“ผู้ช่วยการจัดการลงทุน” หมายความว่า บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจลงทุนหรือซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน และอาจรับรู้ข้อมูลการลงทุนเนื่องจากการทำหน้าที่ดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกชื่อตำแหน่งของบุคคลดังกล่าวอย่างใด

“ผู้แนะนำการลงทุน” หมายความว่า บุคคลที่ให้คำแนะนำการลงทุนแก่ผู้ลงทุน ซึ่งได้แก่ การติดต่อเพื่อชักชวนให้มีการลงทุน หรือการให้คำแนะนำเพื่อการซื้อขายหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน โดยไม่มีการวางแผนหรือการวิเคราะห์การลงทุนประกอบการให้คำแนะนำ

“ผู้วางแผนการลงทุน” หมายความว่า บุคคลที่ให้คำแนะนำการลงทุนแก่ผู้ลงทุนซึ่งสามารถวางแผนการลงทุนประกอบการให้คำแนะนำได้ ซึ่งได้แก่ การใช้ข้อมูลของลูกค้าแต่ละรายในเชิงลึก เพื่อนำมาประกอบกับการวางแผนและให้คำแนะนำการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และวัตถุประสงค์การลงทุนของลูกค้าแต่ละราย

“นักวิเคราะห์การลงทุน” หมายความว่า บุคคลที่ให้คำแนะนำการลงทุนแก่ผู้ลงทุนซึ่งสามารถวิเคราะห์การลงทุนประกอบการให้คำแนะนำได้ ซึ่งได้แก่ การวิเคราะห์ หรือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับคุณค่าหรือความเหมาะสมในการซื้อขายหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐานหรือการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยทางเทคนิค “การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน” หมายความว่า การวิเคราะห์เพื่อมุ่งหามูลค่าที่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน โดยใช้การพิจารณาจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน ในอนาคต อาทิ ภาวะเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง ภาวะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แนวทางการบริหารงานของผู้ออกผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ทางธุรกิจ เป็นต้น โดยมีการนำข้อมูลการดำเนินงานในอดีตและปัจจุบันมาร่วมคาดการณ์แนวโน้มผลการดำเนินงานในอนาคต

“การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยทางเทคนิค” หมายความว่า การวิเคราะห์โดยศึกษาพฤติกรรมของราคาและปริมาณการซื้อขายของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน หรือพฤติกรรมของตลาดในอดีต โดยมีการจัดทำเป็นกราฟและใช้ทฤษฎีวิเคราะห์ทางเทคนิค ประกอบกับผลการทดสอบวิจัยมาคาดการณ์พฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของตลาดในอนาคต

ข้อ 3 สำนักงานอาจกำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้แล้ว

หมวด 2

การแต่งตั้งหรือมอบหมายให้เป็น

บุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ข้อ 4 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนซึ่งปฏิบัติงานด้านใดด้านหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องมีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม หรือได้รับความเห็นชอบ ตามที่ประกาศนี้กำหนด แล้วแต่กรณี

(1) งานเกี่ยวกับการบริหาร กำหนด ควบคุม และกำกับดูแลนโยบายของผู้ประกอบธุรกิจ

(2) งานเกี่ยวกับการควบคุม ดูแล และจัดการหน่วยธุรกิจเกี่ยวกับการแนะนำการลงทุน การวางแผนการลงทุน การวิเคราะห์การลงทุนหรือผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน การจัดการลงทุน หรือการจัดการสาขาของผู้ประกอบธุรกิจ

(3) งานเกี่ยวกับการควบคุม ดูแล และจัดการหน่วยธุรกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการ การกำกับดูแลการปฏิบัติงาน การตรวจสอบกิจการภายใน หรือการบริหารความเสี่ยง

(4) งานเกี่ยวกับการจัดการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ตราสารหรือทรัพย์สินอื่นที่กำหนดไว้

(5) งานเกี่ยวกับวิเคราะห์ แนะนำ หรือวางแผนการลงทุนให้แก่ลูกค้า

ข้อ 5 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนซึ่งปฏิบัติงานตามข้อ 4(1) ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ แต่ไม่รวมถึงบุคลากรดังกล่าวตามข้อ 10

(1) กรรมการ

(2) ผู้จัดการ

(3) ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งตาม (2) ที่เรียกชื่ออย่างอื่น

(4) ที่ปรึกษาของบริษัทหลักทรัพย์ตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ข้อ 6 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนซึ่งปฏิบัติงานตามข้อ 4(2) ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ แต่ไม่รวมถึงบุคลากรดังกล่าวตามข้อ 10

(1) รองผู้จัดการ

(2) ผู้ช่วยผู้จัดการ

(3) ผู้อำนวยการฝ่าย

(4) ผู้จัดการสาขา

(5) ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งตาม (1) ถึง (4) ที่เรียกชื่ออย่างอื่น

ข้อ 7 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนซึ่งปฏิบัติงานตามข้อ 4(3) ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ แต่ไม่รวมถึงบุคลากรดังกล่าวตามข้อ 10

(1) รองผู้จัดการ

(2) ผู้ช่วยผู้จัดการ

(3) ผู้อำนวยการฝ่าย

(4) ผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงาน

(5) ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งตาม (1) ถึง (4) ที่เรียกชื่ออย่างอื่น

(6) กรรมการในคณะกรรมการซึ่งผู้ประกอบธุรกิจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติการ การกำกับดูแลการปฏิบัติงาน การตรวจสอบกิจการภายใน หรือการบริหารความเสี่ยง เช่น คณะกรรมการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน คณะกรรมการพิจารณาการลงทุนของ ผู้ประกอบธุรกิจ หรือคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น

(7) ผู้ดำรงตำแหน่งไม่ว่าจะเรียกชื่อใดซึ่งให้คำปรึกษาหรือความเห็นต่อคณะกรรมการตาม (6)

ข้อ 8 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนซึ่งปฏิบัติงานตามข้อ 4(4) ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้

(1) ผู้จัดการกองทุน

(2) ผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(3) ผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(4) ผู้จัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(5) ผู้ช่วยการจัดการลงทุนของผู้ดำรงตำแหน่งตาม (1) ถึง (4)

(6) กรรมการในคณะกรรมการลงทุนของกองทุน

(7) ผู้ดำรงตำแหน่งไม่ว่าจะเรียกชื่อใดซึ่งให้คำปรึกษาหรือความเห็นต่อคณะกรรมการ ตาม (6)

(8) ผู้ส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อกองทุน

ข้อ 9 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนซึ่งปฏิบัติงานตามข้อ 4(5) ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ แต่ไม่รวมถึงบุคลากรดังกล่าวตามข้อ 11

(1) ผู้แนะนำการลงทุน

(2) ผู้วางแผนการลงทุน

(3) นักวิเคราะห์การลงทุน

ข้อ 10 การแต่งตั้งบุคลากรเพื่อดำรงตำแหน่งตามข้อ 5 ข้อ 6 หรือข้อ 7 ในกรณีใด กรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศนี้

(1) เป็นการแต่งตั้งโดยผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(2) เป็นการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นตามมาตรา 103(7) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ข้อ 11 การแต่งตั้งบุคลากรเป็นผู้แนะนำการลงทุน ผู้วางแผนการลงทุน หรือนักวิเคราะห์การลงทุน ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศนี้

(1) เป็นการแต่งตั้งโดยผู้ประกอบธุรกิจดังต่อไปนี้

(ก) การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์

(ข) การจัดการเงินร่วมลงทุน

(ค) การยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์

(ง) การเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์

(2) เป็นการแต่งตั้งเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศของสาขาหรือ สำนักงานผู้แทนในต่างประเทศ

(3) เป็นการแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้าตราสารหนี้กับสมาคม ตลาดตราสารหนี้ไทยให้แนะนำการลงทุนในตราสารหนี้ในนามของผู้ประกอบธุรกิจประเภท การค้าหลักทรัพย์ ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน

(4) เป็นการแต่งตั้งเพื่อให้บริการเกี่ยวกับหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้

(ก) การแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ติดต่อเพื่อชักชวนให้ลูกค้าซื้อขายหน่วยลงทุน ของกองทุนรวมตลาดเงินตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ที่มีนโยบายการลงทุน ในประเทศไทย

(ข) การแต่งตั้งเพื่อให้บริการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยที่มีข้อกำหนดให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ขายคืนได้ตามราคาที่แน่นอนหรือราคาขั้นต่ำ ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ออกพันธบัตร

ข้อ 12 ผู้ประกอบธุรกิจจะแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ผู้ใดปฏิบัติงานในข้อ 4 จะต้อง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ แล้วแต่กรณี

(1) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งหรือมอบหมายบุคคลนั้นดำรงตำแหน่งตามข้อ 5 ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

(ข) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในหมวด 3

(ค) ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนปฏิบัติงาน เว้นแต่เป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้

1. ผู้ประกอบธุรกิจเป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งตามกฎหมายอื่นและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามมาตรา 111 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

2. การแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของบริษัทหลักทรัพย์ ตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(2) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งหรือมอบหมายบุคคลนั้นดำรงตำแหน่งตามข้อ 6 ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

(ข) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในหมวด 3

(ค) ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนปฏิบัติงาน เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจ เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งตามกฎหมายอื่นและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามมาตรา 111 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(3) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งหรือมอบหมายบุคคลนั้นดำรงตำแหน่งตามข้อ 7 ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

(ข) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในหมวด 3

(4) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งหรือมอบหมายบุคคลนั้นดำรงตำแหน่งตามข้อ 8 หรือข้อ 9 ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในหมวด 3

(ข) ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนปฏิบัติงาน

หมวด 3

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติม

ของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ข้อ 13 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเกี่ยวกับความสามารถ ประสบการณ์การทำงาน ผ่านการอบรมหรือการทดสอบหลักสูตรของสำนักงานหรือหน่วยงานที่สำนักงานยอมรับ ทั้งนี้ ตามตารางคุณสมบัติของบุคลากรแต่ละประเภทที่แนบท้ายประกาศนี้

ข้อ 14 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในหมวด 7

หมวด 4

การขอรับความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบ

ส่วนที่ 1

การขอรับความเห็นชอบ

ข้อ 15 ในการยื่นคำขอรับความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนและการต่ออายุการให้ความเห็นชอบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเกี่ยวกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่สำนักงานประกาศกำหนด

ส่วนที่ 2

ระยะเวลาการให้ความเห็นชอบ และการต่ออายุ

ข้อ 16 การให้ความเห็นชอบบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนให้มีผลดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 8(5) (6) (7) และ (8)ให้มีอายุตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่หรือดำรงตำแหน่งนั้น ๆ ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

(2) กรณีเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 8(1) (2) และ (4) ให้มีอายุสองปีปฏิทิน โดยในการขอความเห็นชอบครั้งแรก ให้มีผลตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบ แต่ให้นับระยะเวลาสองปีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีถัดไป ทั้งนี้ ในกรณีเป็นการให้ความเห็นชอบบุคลากรที่เคยได้รับความเห็นชอบให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งตามข้อ 8(1) (2) หรือ (4) ประเภทใดประเภทหนึ่งมาก่อนแล้ว และอายุการให้ความเห็นชอบประเภทนั้นยังไม่สิ้นสุดลง ให้ความเห็นชอบทุกประเภทสิ้นสุดลงพร้อมกับอายุการให้ความเห็นชอบครั้งล่าสุด

(3) กรณีเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 8(3) ให้มีอายุตลอดเวลาที่ยังสามารถดำรงคุณสมบัติการเป็นผู้จัดการกองทุนตามข้อ 8(1) หรือผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตามข้อ 8(2)ได้ แล้วแต่กรณี

(4) กรณีเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 9 ให้มีอายุสองปีปฏิทิน โดยในการขอความเห็นชอบครั้งแรก ให้มีผลตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบ แต่ให้นับระยะเวลาสองปีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีถัดไป ทั้งนี้ ในกรณีที่เคยได้รับความเห็นชอบให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์การลงทุน ผู้แนะนำการลงทุน หรือผู้วางแผนการลงทุน ประเภทใดประเภทหนึ่งมาก่อนแล้ว และอายุการให้ความเห็นชอบประเภทนั้นยังไม่สิ้นสุดลง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีที่การให้ความเห็นชอบครั้งหลังมีขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่เหนือกว่าประเภทที่ได้รับความเห็นชอบในครั้งก่อน ให้อายุการให้ความเห็นชอบครั้งก่อนสิ้นสุดลงในวันที่ การให้ความเห็นชอบครั้งหลังมีผล

(ข) กรณีอื่นนอกเหนือจาก (ก) ให้อายุการให้ความเห็นชอบทุกประเภทสิ้นสุดลงพร้อมกับอายุการให้ความเห็นชอบครั้งล่าสุด

ข้อ 17 การขอต่ออายุการให้ความเห็นชอบบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 8(1) (2) และ (4) และข้อ 9 ให้ยื่นคำขอต่ออายุได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม ของปีที่ การให้ความเห็นชอบจะสิ้นสุดลงส่วนที่ 3 การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลง

ข้อ 18 การให้ความเห็นชอบบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนสิ้นสุดลงเมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เมื่อบุคคลนั้นไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ 12 ทั้งนี้ ในกรณีที่บุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามภายหลังได้รับความเห็นชอบ ให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 2 ของหมวด 7

(2) เมื่อบุคคลนั้นเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 8(5) (6) (7) และ (8) ซึ่งพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ได้ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

(3) เมื่อบุคคลนั้นเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 8(1) (2) และ (4) และข้อ 9 ซึ่งไม่มีการขอต่ออายุการให้ความเห็นชอบตามข้อ 17

(4) เมื่อบุคคลนั้นเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 8(3) ซึ่งขาดคุณสมบัติการเป็นผู้จัดการกองทุนตามข้อ 8(1) หรือผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตามข้อ 8(2) แล้วแต่กรณี

หมวด 5

หน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ

ข้อ 19 ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานการแต่งตั้งและการสิ้นสุดการแต่งตั้งบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนดังต่อไปนี้ ต่อสำนักงานผ่านระบบที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่เกิดกรณีดังกล่าว

(1) บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 8 และข้อ 9 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(2) ผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามข้อ 7(4)

ข้อ 20 ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำและจัดเก็บข้อมูลการแต่งตั้งและการสิ้นสุดการแต่งตั้งบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนดังต่อไปนี้ ไว้ที่บริษัทในลักษณะที่พร้อมเรียกดูหรือจัดให้สำนักงานตรวจสอบได้เมื่อได้รับการร้องขอ

(1) บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 5 และข้อ 6 ของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งตามกฎหมายอื่นและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามมาตรา 111 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(2) ที่ปรึกษาของบริษัทหลักทรัพย์ตามข้อ 5(4)

(3) บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 7(1) (2) (3) (5) (6) และ (7)

ข้อ 21 ให้ผู้ประกอบธุรกิจประกาศรายชื่อบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 8(1) (2) (3) และ (4) ไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ทำการทุกแห่งของผู้ประกอบธุรกิจ และให้เปิดเผยชื่อดังกล่าวไว้ในเว็บไซต์ของผู้ประกอบธุรกิจด้วย ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจต้องปรับปรุงข้อมูลภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

ข้อ 22 ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสำนักงาน เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติงาน ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว

(1) การไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

(2) การมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1 ตามข้อ 29 หรือกลุ่มที่ 2 ตามข้อ 30 แต่ไม่รวมถึง การมีลักษณะต้องห้ามอันเนื่องจากการดำเนินการของสำนักงาน

หมวด 6

หน้าที่ของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ข้อ 23 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

(2) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และปฏิบัติต่อผู้ลงทุนทุกรายอย่างเป็นธรรม ด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวัง รอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ

(3) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน

(4) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่กำหนดโดยสมาคมที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตลาดทุนที่สำนักงานยอมรับ

(5) ไม่มีพฤติกรรมที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม หรือการเอาเปรียบผู้ลงทุนในการซื้อขายหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน หรือมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น

ข้อ 24 ในกรณีที่บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 23 ให้สำนักงานพิจารณาและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการมีลักษณะต้องห้ามในกลุ่มที่ 3 ตามหมวด 7 ข้อ 25 ในกรณีที่บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเป็นตัวแทนของสมาชิกในการซื้อขายด้วยระบบการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน หากบุคคลดังกล่าวฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากำหนด และการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในเรื่องเดียวกันในหมวดนี้ และตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ดำเนินการลงโทษกับบุคคลดังกล่าวตามกฎเกณฑ์ของตนแล้ว สำนักงานจะไม่ดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 24 กับบุคคลนั้นอีกก็ได้ หากเห็นว่าบุคคลดังกล่าวได้รับโทษอย่างเหมาะสมแล้วความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายสัญญา ซื้อขายล่วงหน้าลงโทษด้วยการปรับเป็นเงิน“สมาชิก” ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณี

ข้อ 26 ให้นำความในข้อ 25 มาใช้บังคับกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่เป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในเรื่องเดียวกันในหมวดนี้ และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยได้ดำเนินการลงโทษกับบุคคลดังกล่าวตามกฎเกณฑ์ของตนแล้ว โดยอนุโลม

หมวด 7

ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ข้อ 27 ในหมวดนี้ “สถาบันการเงิน” หมายความว่า

(1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

(2) ธุรกิจหลักทรัพย์

(3) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(4) ธุรกิจประกันภัย

(5) ธุรกิจสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

ส่วนที่ 1

การมีลักษณะต้องห้าม

ข้อ 28 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) มีความบกพร่องในด้านความสามารถตามกฎหมายหรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดทุน หรือมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามที่กำหนดไว้ในข้อ 29 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1

(2) มีประวัติการถูกดำเนินการหรือถูกลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อ 30 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2

(3) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัทหรือผู้ถือหุ้นโดยรวม หรือตลาดเงินหรือตลาดทุนโดยรวม ในเรื่องที่มีนัยสำคัญตามที่กำหนดไว้ในข้อ 31 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3

ข้อ 29 ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1

(1) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือเป็นบุคคลล้มละลาย

(2) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(3) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยสำนักงานหรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจาก กรณีที่สำนักงานกล่าวโทษ หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ และพ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่ถึงสามปี ทั้งนี้ เฉพาะในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 หรือพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ตามที่ระบุในบัญชีท้ายประกาศนี้

(4) เป็นบุคคลที่สำนักงานปฏิเสธหรือถอนการแสดงรายชื่อของบุคคลในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เนื่องจากเป็นผู้ที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการและผู้บริหารตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท

ข้อ 30 ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2

(1) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากกรณีที่หน่วยงานดังกล่าวกล่าวโทษ หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ และพ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่ถึงสามปี ทั้งนี้ เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน และทำให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะต่อสถาบันการเงินที่ตนสังกัดหรือต่อลูกค้า

(2) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ และพ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่ถึงสามปี ทั้งนี้ ในความผิดอาญาแผ่นดินเกี่ยวกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน

(3) เป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นในลักษณะเดียวกันและยังไม่พ้นสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

(4) เป็นผู้ที่หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ พิจารณาว่ามีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือเป็นบุคคลที่รับผิดชอบงานตามข้อ 4(2) หรือ (3) หรือผู้บริหารของสถาบันการเงิน หรือบุคลากรที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริการทางการเงิน จัดการหรือรับเงินทุนของลูกค้า ทั้งนี้ เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน

(5) อยู่ระหว่างถูกดำเนินการอันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) ถูกสำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ หรือมีลักษณะที่ทำให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุด หรือถูกดำเนินการอื่นในทำนองเดียวกันอันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนหรือกรรมการของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้

(ข) การดำเนินการตาม (ก) สืบเนื่องจากการปฏิบัติงานในฐานะเป็นบุคลากรในตำแหน่งที่มีผลกระทบถึงความเหมาะสมในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่พิจารณา

(ค) เหตุของการดำเนินการตาม (ก) เป็นเรื่องการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว ในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง ทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือขาดความระมัดระวัง ขาดความซื่อสัตย์สุจริต หรือขาดจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ

ข้อ 31 ให้กรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3

(1) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤ

ติกรรมประพฤติผิดต่อหน้าที่หรือการให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรม ขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น

(2) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม หรือการเอาเปรียบผู้ลงทุนในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น

(3) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมในการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลหรือเอกสารอันเป็นเท็จที่อาจทำให้สำคัญผิด หรือโดยปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลหรือเอกสารที่ยื่นหรือจัดส่งต่อสำนักงาน คณะกรรมการกำกับตลาดทุน คณะกรรมการ ก.ล.ต. หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน หรือผู้ลงทุน หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น

(4) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้นิติบุคคลหรือกิจการที่ตนมีอำนาจในการจัดการ หรือผู้ปฏิบัติงานซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบดูแล (ถ้ามี) กระทำการใดหรืองดเว้นกระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 หรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือธุรกิจทรัสต์โดยรวม หรือความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ การดำเนินธุรกิจ หรือลูกค้าของธุรกิจนั้น

(5) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการขาดจรรยาบรรณ หรือมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งกำหนดโดยสมาคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สำนักงานยอมรับ หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น

ส่วนที่ 2

ผลของการมีลักษณะต้องห้าม

ข้อ 32 ในกรณีที่ผู้มีลักษณะต้องห้ามตามส่วนที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามประกาศนี้ ให้สำนักงานใช้เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวได้

ข้อ 33 สำหรับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่ดำรงตำแหน่งตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 8 หรือข้อ 9 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน หากปรากฏว่ามีลักษณะต้องห้ามตามส่วนที่ 1 ให้สำนักงาน ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1 ตามข้อ 29 หรือลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตามข้อ 30(1) ถึง (3) ให้สำนักงานสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ (2) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตามข้อ 30(4) หรือ (5) ให้สำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามแต่เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามนั้น (3) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 31 สำนักงานอาจสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามสมควรแก่กรณี

ข้อ 34 สำหรับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่ดำรงตำแหน่งตามข้อ 5 ข้อ 6 หรือข้อ 7 ซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน หากปรากฏว่ามีลักษณะต้องห้ามตามส่วนที่ 1 ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการห้ามบุคคลดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ตามระยะเวลาดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1 ตามข้อ 29 ตั้งแต่เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดในเรื่องที่กำหนด หรือเมื่อสำนักงานได้มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลนั้นต่อพนักงานสอบสวน หรือมีหนังสือแจ้งการมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ แล้วแต่กรณี จนกว่าบุคคลนั้นจะพ้นจากการมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว

(2) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตั้งแต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 30 ต่อสำนักงาน และสำนักงานได้มีหนังสือแจ้งบุคคลที่ถูกพิจารณาและผู้ประกอบธุรกิจที่บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งอยู่ให้ทราบถึงการมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว จนกว่าบุคคลนั้นจะพ้นจากการมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว

(3) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 31 ตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในหนังสือของสำนักงานซึ่งแจ้งบุคคลที่ถูกพิจารณาและผู้ประกอบธุรกิจที่บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งอยู่ให้ทราบถึงการมีลักษณะต้องห้ามที่กำหนดตามข้อ 31 แล้ว จนกว่าจะพ้นเงื่อนไขหรือระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 35 ในการใช้ดุลยพินิจปฏิเสธการให้ความเห็นชอบตามข้อ 32 พักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามข้อ 33(2) และ (3) หรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 34(3) แล้วแต่กรณี ให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้แทนหรือประกอบการดำเนินการดังกล่าวได้

(1) กำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวในคราวต่อไป โดยระยะเวลาที่กำหนดต้องไม่เกินสิบปี สำหรับการพิจารณาการมีลักษณะต้องห้ามในแต่ละกรณี

(2) กำหนดระยะเวลาการสั่งพักการให้ความเห็นชอบ ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วให้บุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในตำแหน่งเดิมต่อไปได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอความเห็นชอบ ทั้งนี้ ระยะเวลาที่กำหนดต้องไม่เกินกว่าอายุการให้ความเห็นชอบที่เหลืออยู่

(3) ในกรณีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 31 มีลักษณะไม่ร้ายแรง หรือเกิดขึ้นมาแล้วเกินกว่าสิบปีนับถึงวันที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน สำนักงานอาจไม่ยกกรณีดังกล่าวขึ้นพิจารณาเป็นเหตุในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบ การพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ หรืออาจลดระดับการดำเนินการเป็นการเปิดเผยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวก็ได้

ส่วนที่ 3

การพิจารณาลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3

_______________________

ข้อ 36 ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อการมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 31 หรือการพิจารณาดำเนินการตามข้อ 35 ให้สำนักงานนำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณา

(1) บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา

(2) การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว

(3) ผลกระทบหรือความเสียหายต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัทหรือผู้ถือหุ้นโดยรวม ตลาดเงินหรือตลาดทุนโดยรวม หรือผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมที่พิจารณา

(4) การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัท หรือผู้ถือหุ้นโดยรวม ตลาดเงินหรือตลาดทุนโดยรวม หรือแก้ไข เยียวยา หรือป้องกันมิให้เกิดข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมทำนองเดียวกันนั้นซ้ำอีก

(5) พฤติกรรมอื่นของผู้ถูกพิจารณาที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของสำนักงาน

(6) ประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน หรือกรรมการของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 37 ให้สำนักงานด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งเสนอความเห็นต่อสำนักงานเกี่ยวกับการพิจารณาเหตุของการห้ามการปฏิบัติหน้าที่ พักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 31 หรือพิจารณาให้ความเห็นต่อสำนักงานในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามความในหมวดนี้ หรือพิจารณาวางแนวทางและให้ความเห็นต่อสำนักงานในการดำเนินการให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากตลาดเงินหรือตลาดทุนจำนวนไม่เกินห้าคนซึ่งไม่เป็นเลขาธิการหรือพนักงานของสำนักงาน โดยจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ลงทุนจำนวนหนึ่งคน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจำนวนหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากรายชื่อบุคคลที่สมาคมเป็น ผู้เสนออีกสองคน

ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และให้สำนักงานแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการกรรมการรายใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาในลักษณะที่อาจมีผลกระทบต่อการให้ความเห็นอย่างเป็นกลาง ให้ผู้นั้นแจ้งการมีส่วนได้เสียนั้นและห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

ข้อ 38 เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจสั่งการของสำนักงานตามหมวดนี้มีความชัดเจนและผ่านกระบวนการทบทวนตามสมควร ในการแจ้งเหตุในการสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน หรือการห้ามการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากการมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 31 สำนักงานจะกระทำได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) เปิดโอกาสให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง

(2) เสนอข้อเท็จจริงรวมทั้งคำชี้แจงของผู้ถูกพิจารณา (ถ้ามี) ให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และหากคณะกรรมการประสงค์จะให้ผู้ถูกพิจารณาชี้แจงเพิ่มเติม ให้สำนักงานจัดให้มีการชี้แจงเช่นนั้นในการปฏิบัติอื่นใดนอกจากที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ข้อ 39 สำนักงานอาจไม่ดำเนินการตามข้อ 38 วรรคหนึ่งได้ ในกรณีดังต่อไปนี้(1) กรณีดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการพิจารณาอื่นที่ทำให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจง และเคยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นในรูปองค์คณะที่มีผู้มีความรู้ประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจในตลาดทุนเป็นองค์คณะด้วยหรือโดยองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องมาอย่างเพียงพอแล้ว หรือ (2) คณะกรรมการได้กำหนดแนวทางพิจารณาดำเนินการสำหรับกรณีที่มีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันกับกรณีที่พิจารณานี้ไว้ชัดเจนเพียงพอแล้ว

หมวด 8

บทเฉพาะกาล

ข้อ 40 ในหมวดนี้

“ประกาศที่ถูกยกเลิก” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนหรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งถูกยกเลิกโดยประกาศดังต่อไปนี้

(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ.14 /2557 เรื่อง การยกเลิกประกาศที่เกี่ยวข้องกับกรรมการ ผู้จัดการ และบุคลากรอื่นของบริษัทหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 12/2557 เรื่อง การยกเลิกประกาศที่เกี่ยวข้องกับผู้จัดการกองทุน ผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และผู้จัดการของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ส่วนที่ 1

บททั่วไป

ข้อ 41 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออก วางแนวปฏิบัติ หรือที่ใช้บังคับอยู่โดยอาศัยอำนาจในบทเฉพาะกาล ตามประกาศที่ถูกยกเลิกตามข้อ 40 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะมีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 42 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศที่ถูกยกเลิกตามข้อ 40 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ข้อ 43 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงถึงบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงถึงบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามประกาศนี้

ข้อ 44 ในกรณีที่คณะกรรมการตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 37/2553 เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553 รับพิจารณาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการสั่งการกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาต่อไปได้ โดยใช้ข้อกำหนดตามประกาศนี้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา

ส่วนที่ 2

การดำเนินการเกี่ยวกับการขอรับความเห็นชอบ

และการให้ความเห็นชอบ

ข้อ 45 คำขอรับความเห็นชอบที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงานตามประกาศที่ถูกยกเลิกตามข้อ 40หรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับประกาศที่ถูกยกเลิกดังกล่าว หากได้มีการยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนตามแบบและวิธีการแล้วก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้การให้ความเห็นชอบเป็นไปตามประกาศที่ถูกยกเลิกตามข้อ 40 และประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อ 46 ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้จัดการซึ่งได้ยื่นคำขอก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 หรือเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระซึ่งได้ยื่นคำขอก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ให้นำข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 58/2552 เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 87/2552 เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ มาใช้บังคับกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วแต่กรณีข้อ 47 ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 48 และข้อ 49 ให้บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศที่ถูกยกเลิกตามข้อ 40 เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่ได้รับความเห็นชอบตามประกาศนี้ แล้วแต่กรณี โดยให้ถือว่าวันที่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามที่สำนักงานเคยให้ความเห็นชอบไว้เป็นวันที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศนี้

ข้อ 48 ให้บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้จัดการซึ่งได้รับความเห็นชอบอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หรือได้รับความเห็นชอบตามข้อ 46 เข้ารับการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ในกรณีที่บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามวรรคหนึ่งมิได้เข้ารับการอบรมตามกำหนดเวลา ให้ถือว่าการให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลงในวันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรรมการหรือผู้จัดการของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งตามกฎหมายอื่น และกรรมการที่ไม่มีอำนาจลงนาม

ข้อ 49 ให้บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระซึ่งได้รับความเห็นชอบอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หรือได้รับความเห็นชอบตามข้อ 46 ดำเนินการให้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดตามข้อ 13 ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ในกรณีที่บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามวรรคหนึ่งไม่สามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติได้อย่างครบถ้วนตามกำหนดเวลา ให้ถือว่าการให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลงในวันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

ข้อ 50 ให้บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนซึ่งปฏิบัติงานโดยดำรงตำแหน่งตามข้อ 6 และข้อ 8(5) (6) (7) และ (8) อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวต่อไปได้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการยื่นคำขอรับความเห็นชอบบุคลากรดังกล่าวต่อสำนักงานภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ในกรณีที่บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามวรรคหนึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการห้ามบุคคลดังกล่าวปฏิบัติงานในตำแหน่งงานดังกล่าว ในระหว่างการปฏิบัติงานในตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนอยู่ภายใต้บังคับตามหมวด 6 และหมวด 7 ด้วย

ข้อ 51 ให้บุคคลดังต่อไปนี้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนการลงทุนอยู่ในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับและประสงค์จะทำหน้าที่ดังกล่าวต่อไป สามารถทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนการลงทุนต่อไปได้ โดยดำเนินการยื่นคำขอรับความเห็นชอบเป็นผู้วางแผนการลงทุนต่อสำนักงานภายในสามเดือนนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

(1) ผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน

(2) ผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์

(3) นักวิเคราะห์การลงทุนด้านตลาดทุน

(4) นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ในกรณีที่บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามวรรคหนึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการห้ามบุคคลดังกล่าวปฏิบัติงานในตำแหน่งงานดังกล่าว ในระหว่างการปฏิบัติงานในตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนอยู่ภายใต้บังคับตามหมวด 6 และหมวด 7 ด้วย

ประกาศ ณ วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ