การปฏิบัติงานเกี่ยวกับให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อและให้ยืมหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday March 13, 1998 11:59 —ประกาศ ก.ล.ต.

             ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สธ. 42/2540
เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์
และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต
________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 39/2540 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 และข้อ 4(2) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กด. 30/2540 เรื่อง การขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
"บริษัทหลักทรัพย์" หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
"การขายชอร์ต" หมายความว่า การขายหลักทรัพย์ที่ต้องยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการส่งมอบ
"ลูกค้า" หมายความว่า ผู้ที่ทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อใช้ในการซื้อหลักทรัพย์ หรือผู้ที่ทำสัญญายืมหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อใช้ในการขายชอร์ต แต่ไม่รวมถึงผู้ยืมหลักทรัพย์ที่มีฐานะเป็นลูกค้าสถาบันตามบทนิยมในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กด. 30/2540 เรื่อง การขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2540
"บัญชีมาร์จิ้น" หมายความว่า บัญชีที่บันทึกรายการให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อการซื้อหลักทรัพย์หรือการให้ลูกค้ายืมหลักทรัพย์เพื่อการขายชอร์ต
"อัตรามาร์จิ้นเริ่มต้น" หมายความว่า อัตราส่วนขั้นต่ำของจำนวนเงินที่ลูกค้าต้องชำระเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินส่วนเกินของลูกค้าที่ลูกค้าต้องมีในบัญชีมาร์จิ้น ต่อมูลค่าซื้อหลักทรัพย์รายการใดรายการหนึ่งก่อนที่จะซื้อหลักทรัพย์รายการนั้น หรืออัตราส่วนขั้นต่ำของจำนวนเงินที่ลูกค้าต้องวางเป็นประกันเพื่อขายชอร์ตหรือทรัพยฺ์สินส่วนเกินของลูกค้าที่ลูกค้าต้องมีในบัญชีมาร์จิ้นต่อมูลค่าขายชอร์ตรายการใดรายการหนึ่งก่อนที่จะขายรายการนั้น แล้วแต่กรณี
"ทรัพย์สินส่วนเกินของลูกค้า" หมายความว่า ทรัพย์สินของลูกค้ารายใดรายหนึ่งในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ลูกค้าต้องดำรงไว้ตามอัตราส่วนที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนด
"ทรัพย์สินของลูกค้า" หมายความว่า มูลค่าสุทธิของเงินสด หลักทรัพย์ และทรัพย์สินอื่นที่เป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้ารายใดรายหนึ่ง เมื่อหักภาระหนี้ที่เกิดจากการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้ารายนั้นแล้ว
"มูลค่าซื้อ" หมายความว่า จำนวนเงินค่าซื้อหลักทรัพย์แต่ละรายการที่ซื้อจากบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รายการนั้นแล้ว
"มูลค่าขายชอร์ต" หมายความว่า จำนวนเงินค่าขายชอร์ตหลักทรัพย์แต่ละรายการที่ขายชอร์ตจากบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งหักค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รายการนั้นแล้ว
"อำนาจซื้อ" หมายความว่า จำนวนเงินสูงสุดที่ลูกค้าอาจสั่งซื้อหลักทรัพย์จากบัญชีมาร์จิ้นได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว
"อำนาจขายชอร์ต" หมายความว่า จำนวนเงินสูงสุดที่ลูกค้าอาจสั่งขายชอร์ตจากบัญชีมาร์จิ้นได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว
"เงินกองทุน" หมายความว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินสำหรับงวดบัญชีล่าสุดที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี ที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ แต่สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนด้วย "เงินกองทุน" ให้หมายถึงเงินกองทุนส่วนที่ได้จัดสรรไว้ในบัญชีด้านธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งปรากฎตามบัญชีการประกอบธุรกิจเงินทุนและการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่จัดทำแยกออกจากกันตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ณ วันเดียวกับวันสิ้นงวดบัญชีล่าสุดของงวดบัญชีที่ต้องมีการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชี
"ประกาศคณะกรรมการ" หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 39/2540 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
"ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์" หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ก่อนที่บริษัทหลักทรัพย์จะอนุมัติให้บุคคลใดกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการดังนี้
(1) จัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าวที่เพียงพอในการวิเคราะห์ความเหมาะสมในการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต และความสามารถในการชำระหนี้ของบุคคลนั้น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติให้บุคคลดังกล่าวกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต ทั้งนี้ ข้อมูลขั้นต่ำที่บริษัทหลักทรัพย์ต้องใช้ประกอบการพิจารณา ได้แก่
(ก) รายได้ ฐานะการเงิน และวัตถุประสงค์ของการลงทุน
(ข) ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน ประวัติการลงทุน และประวัติการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต
(ค) ความพร้อมและความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต
(2) ตรวจสอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพพึงกระทำว่า บุคคลที่ขอกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือขอยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ และมีความสามารถในการชำระหนี้ที่เกิดจากการซื้อขายดังกล่าว ทั้งนี้ ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตแก่บุคคลที่บริษัทหลักทรัพย์รู้หรือควรรู้ว่าเป็นตัวแทนของบุคคลอื่นในการซื้อขายหลักทรัพย์
ข้อ 3 เมื่อบริษัทหลักทรัพย์อนุมัติให้บุคคลใดกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการดังนี้
(1) กำหนดวงเงินสูงสุดที่ลูกค้าอาจเป็นหนี้บริษัทหลักทรัพย์ได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง เนื่องจากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของลูกค้ารายนั้น ทั้งนี้ สำหรับลูกค้ารายที่ได้รับอนุมัติให้ทำธุรกรรมทั้งสองลักษณะให้บริษัทหลักทรัพย์กำหนดวงเงินสูงสุดเป็นวงเงินรวม
(2) จัดให้ลูกค้าทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตเป็นลายลักษณ์อักษร โดยสัญญาดังกล่าวต้องมีข้อความที่ลูกค้าแสดงความยินยอมให้บริษัทหลักทรัพย์ยึดถือหลักทรัพย์ที่ซื้อจากบัญชีมาร์จิ้นหรือเงินค่าขายชอร์ตไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้ารายนั้น ทั้งนี้ สำหรับลูกค้ารายที่ได้รับอนุมัติให้ทำธุรกรรมทั้งสองลักษณะ สัญญาที่บริษัทหลักทรัพย์จัดให้ลูกค้าลงนามต้องมีข้อความที่ลูกค้าแสดงความยินยอมให้บริษัทหลักทรัพย์ยึดถือทั้งหลักทรัพย์ที่ซื้อจากบัญชีมาร์จิ้นและเงินค่าขายชอร์ตไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้ารายนั้น
(3) แจ้งให้ลูกค้าเข้าใจและลงนามรับทราบถึงลักษณะความเสี่ยงของการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต รวมทั้งความเสี่ยงจากการวางเงินไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งเงินดังกล่าวจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าเกี่ยวกับกฎระเบียบในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตด้วย
(4) รวบรวมข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวกับลูกค้าไว้ในแฟ้มรายตัว และปรับปรุงให้แฟ้มดังกล่าวเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
(5) ทบทวนวงเงินตาม (1) ของลูกค้าอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ ให้บริษัทหลักทรัพย์พิจารณาทบทวนวงเงินนั้น เมื่อพบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ข้อ 4 ให้บริษัทหลักทรัพย์กำหนดรายชื่อหลักทรัพย์ที่จะอนุญาตให้ลูกค้าซื้อหรือขายชอร์ตจากบัญชีมาร์จิ้นและอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นสำหรับแต่ละหลักทรัพย์นั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยในการกำหนดรายชื่อหลักทรัพย์และอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ต้องคำนึงถึงสภาพคล่อง ความผันผวนของราคา และความเสี่ยงของแต่ละหลักทรัพย์เป็นสำคัญ
อัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นสำหรับแต่ละหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนดตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) กรณีเป็นการซื้อหลักทรัพย์ อัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการ
(2) กรณีเป็นการขายชอร์ต อัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการ โดยอนุโลม
ข้อ 5 ในการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติดังนี้
(1) จัดให้มีบัญชีมาร์จิ้นสำหรับลูกค้าแต่ละรายและในกรณีที่ลูกค้ารายใดมีทั้งการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต ให้บริษัทหลักทรัพย์บันทึกรายการทั้งสองลักษณะรวมไว้ในบัญชีมาร์จิ้นเดียวกัน
(2) ดำเนินการให้ลูกค้านำเงินมาวางไว้ในบัญชีมาร์จิ้นเพื่อเป็นประกันการซื้อขายหลักทรัพย์ก่อนที่จะให้ลูกค้าเริ่มซื้อหลักทรัพย์หรือขายชอร์ตจากบัญชีมาร์จิ้นเป็นครั้งแรก
(3) ไม่ยินยอมให้ลูกค้าสั่งซื้อหลักทรัพย์หรือขายชอร์ตจากบัญชีมาร์จิ้นเกินกว่าอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตที่คำนวณได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง
ในการคำนวณอำนาจซื้อและอำนาจขายชอร์ตของลูกค้า ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ให้บริษัทหลักทรัพย์คำนึงถึงทรัพย์สินส่วนเกินของลูกค้าในขณะนั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่ลูกค้าไม่มีทรัพย์สินส่วนเกิน แต่ได้นำเงินมาวางเป็นประกันการซื้อขายหลักทรัพย์เฉพาะคราว ให้บริษัทหลักทรัพย์คำนวณอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้าจากจำนวนเงินที่ลูกค้านำมาวางไว้เฉพาะคราวที่มีอยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้ เมื่อสิ้นวันทำการของวันที่ลูกค้านำเงินดังกล่าวมาวางไว้แล้วหากมีเงินคงเหลือ ให้บริษัทหลักทรัพย์คืนเงินคงเหลือนั้นให้แก่ลูกค้า หรือโอนเงินคงเหลือนั้นไปบันทึกในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้าเสมือนว่าลูกค้าได้นำเงินมาวางเพิ่มเติม ตามแต่จะตกลงกับลูกค้า
(4) กำหนดประเภทของทรัพย์สินที่ลูกค้าอาจนำมาวางเพิ่มเติมเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น
ในกรณีที่ทรัพย์สินที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับเพิ่มเติมจากลูกค้าเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นมิใช่ทรัพย์สินในประเภทต่อไปนี้ หากมิให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของลูกค้าเพื่อประโยชน์ในการคำนวณใด ๆ ตามประกาศนี้
(ก) เงินสด
(ข) หลักทรัพย์จดทะเบียน หรือหุ้นที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์
(ค) พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
(ง) หลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์
(จ) ตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เป็นผู้ออก
(ฉ) บัตรเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนเป็นผู้ออก
(ช) หนังสือที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้ไว้แก่บริษัทหลักทรัพย์เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้า โดยธนาคารพาณิชย์นั้นยินยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าหนังสือนั้นจะออกเป็นเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือหนังสือค้ำประกัน
ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับเพิ่มเติมจากลูกค้าเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น เพื่อประโยชน์ในการคำนวณอำนาจซื้อหรือำนาจขายชอร์ตของลูกค้าได้เฉพาะกรณีที่ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินตาม (ก) หรือ (ข) ของวรรคก่อน
(5) ปรับปรุงมูลค่าหลักประกันและยอดหนี้ของลูกค้าในบัญชีมาร์จิ้นทุกบัญชีให้เป็นปัจจุบันอย่างน้อยทุกสิ้นวันทำการ โดยในการคำนวณหนี้จากการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตและมูลค่าหลักประกันที่เป็นหลักทรัพย์ ให้บริษัทหลักทรัพย์ใช้ราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่ให้ยืมหรือหลักประกันดังกล่าวในวันทำการก่อนหน้าวันที่คำนวณมูลค่า และในกรณีที่ไม่มีราคาดังกล่าว ให้บริษัทหลักทรัพย์ใช้ราคาตราหรือราคาอื่นที่เหมาะสมสำหรับหลักทรัพย์ที่ให้ยืมหรือหลักประกันแต่ละประเภท
(6) เรียกเก็บดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตจากลูกค้า หรือชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ลูกค้านำมาวางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นในส่วนที่คงเหลืออยู่จากการที่ลูกค้ายังซื้อหลักทรัพย์ไม่เต็มตามจำนวนเงินที่วางไว้ โดยให้ดำเนินการอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยคำนวณจากยอดคงค้างในแต่ละวันตามอัตราดอกเบี้ยที่ได้ตกลงไว้กับลูกค้า ทั้งนี้ ให้บริษัทหลักทรัพย์เรียกเก็บหรือชำระดอกเบี้ยดังกล่าวโดยวิธีปรับปรุงจากบัญชีมาร์จิ้นเสมือนว่าลูกค้าได้ถอนเงินหรือนำเงินมาวางเพิ่มในบัญชีมาร์จิ้น แล้วแต่กรณี
(7) จัดทำและจัดส่งรายงานให้แก่ลูกค้าอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อสรุปความเคลื่อนไหวของสถานะความเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ของลูกค้า พร้อมทั้งรายการหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นและหลักทรัพย์ที่ลูกค้ายืมคงค้าง
ข้อ 6 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์มียอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายใดรายหนึ่งเนื่องจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของเงินกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์ เว้นแต่เป็นกรณีที่ยอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายนั้นสูงกว่าอัตราที่กำหนดเนื่องจาก
(1) หลักทรัพย์ที่ยืมมีมูลค่าสูงขึ้น
(2) การเรียกเก็บดอกเบี้ยตามข้อ 5(6) หรือ
(3) การซื้อหลักทรัพย์เพื่อนำมาคืนการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต
ในกรณีที่ยอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายใดรายหนึ่งสูงเกินกว่าอัตราที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าการนั้นจะเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุใด ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตแก่ลูกค้ารายนั้นเพิ่มขึ้นอีกจนกว่าหนี้คงค้างของลูกค้ารายนั้นจะเป็นไปตามอัตราที่กำหนดแล้ว
การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้ารายใดตามนัยมาตรา 258 (1) ถึง (7) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ให้นับรวมเป็นการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตแก่ลูกค้ารายนั้นด้วย โดยอนุโลม
ข้อ 7 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้าทุกรายรวมกันเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินกว่าห้าเท่าของเงินกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์
ข้อ 8 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบการควบคุมภายในและต้องตรวจสอบดูแลให้การปฏิบัติงานของพนักงานในการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตเป็นไปตามประกาศที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 9 หากบริษัทหลักทรัพย์ที่โอนหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้ารายใดไปบันทึกในบัญชีลูกหนี้ประเภทอื่นแล้ว ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตแก่ลูกค้ารายนั้นอีกจนกว่าลูกค้าจะได้ชำระหนี้คงค้างทั้งหมดแล้ว
ข้อ 10 หากบริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถดำเนินการให้การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่มีอยู่เดิมของลูกค้ารายใดเป็นไปตามประกาศนี้ได้ภายในวันที่ประกาศนี้ผลใช้บังคับ ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์เพิ่มเติมแก่ลูกค้ารายนั้นในบัญชีเดิมอีก และให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการเพื่อให้ลูกค้าชำระหนี้เงินกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในบัญชีเดิมดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หากลูกค้ารายใดยังคงมีหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์คงค้างในบัญชีเดิม ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตแก่ลูกค้ารายนั้นอีกทั้งในบัญชีเดิมและบัญชีมาร์จิ้นตามประกาศนี้
ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540
(นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ