ที่ ทธ. 24/2557
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืน
หน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล
(ฉบับที่ 2)
----------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 100 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (9) ของข้อ 2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 35/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553
“(9) “สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(ข) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(ค) สถาบันการเงินอื่นใดนอกจาก (ก) และ (ข) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 35/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 4 การตั้งบุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน บริษัทจัดการต้องตั้งบุคคลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วย หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 35/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 5 การตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการดำเนินการได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(1) การตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในประเทศของกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 6
(2) การตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในประเทศในกรณีอื่นนอกเหนือจาก (1) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ และเป็นการสนับสนุนให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงช่องทางการลงทุนในหน่วยลงทุนได้มากขึ้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 6/1
(3) การตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 8”
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความใน (4) (5) และ (6) ของข้อ 6 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 35/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(4) มีความพร้อมในการให้บริการอย่างเพียงพอที่จะทำให้การให้บริการแก่ผู้ลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้คำแนะนำการลงทุนและการให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุน รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติที่บริษัทจัดการกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
(5) มีระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำดังต่อไปนี้ที่มีประสิทธิภาพ
(ก) ระบบการบริหารความเสี่ยง
(ข) ระบบการควบคุมภายใน
(ค) ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ลงทุนเพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องล่วงรู้หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล
(ง) ระบบป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลอันมิพึงเปิดเผยระหว่างหน่วยงานและบุคลากร
(จ) ระบบการกำกับดูแลให้บุคลากรปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่ได้รับมอบหมาย
(6) มีบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำการลงทุน ผู้วางแผนการลงทุน หรือนักวิเคราะห์การลงทุน แล้วแต่กรณี ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน”
ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทข. 35/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553
“ข้อ 6/1 การตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในประเทศตามข้อ 5(2) บริษัทจัดการต้องตั้งนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงินทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งอยู่ในรูปของบริษัท รัฐวิสาหกิจดังกล่าวต้องมีกระทรวงการคลังถือหุ้นโดยตรงเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
(2) สามารถรับฝากเงิน รับถอนเงิน โอนเงิน หรือรับชำระเงิน ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(3) มีเครือข่ายและช่องทางการให้บริการหรือติดต่อสื่อสารอย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้ลงทุนในวงกว้างได้
(4) มีความพร้อมด้านฐานะทางการเงิน โดยไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นได้ว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน
(5) มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนในระยะยาว
(6) มีความพร้อมในการให้บริการอย่างเพียงพอที่จะทำให้การให้บริการแก่ผู้ลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้คำแนะนำการลงทุนและการให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุน รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติที่บริษัทจัดการกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
(7) มีระบบงานที่เกี่ยวกับการเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนดังต่อไปนี้ที่มีประสิทธิภาพ
(ก) ระบบการบริหารความเสี่ยง
(ข) ระบบการควบคุมภายใน
(ค) ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ลงทุนเพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องล่วงรู้หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล
(ง) ระบบป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลอันมิพึงเปิดเผยระหว่างหน่วยงานและบุคลากร
(จ) ระบบการกำกับดูแลให้บุคลากรปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่ได้รับมอบหมาย
(8) มีความพร้อมด้านบุคลากรที่จะดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทจัดการ ทั้งนี้ ในกรณีบริษัทจัดการจะให้นิติบุคคลดังกล่าวให้คำแนะนำหรือวางแผนเกี่ยวกับหน่วยลงทุนด้วย นิติบุคคลนั้นต้องมีบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำการลงทุน ผู้วางแผนการลงทุน หรือนักวิเคราะห์การลงทุน แล้วแต่กรณี ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน”
ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 7 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 35/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 7 ในกรณีที่การตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในประเทศตามข้อ 6 และข้อ 6/1 เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงานว่าบริษัทจัดการอาจไม่สามารถกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้บริษัทจัดการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นตัวแทนได้ทั้งนี้ สำนักงานต้องแจ้งให้บริษัทจัดการทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน”
ข้อ 7 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 10 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 35/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 10 การตั้งบุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องตั้งบุคคลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน”
ข้อ 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (4) ของข้อ 11 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทข. 35/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553
“(4) กำหนดให้ตัวแทนให้ความร่วมมือกับสำนักงานในการเข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานตลอดจนเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของตัวแทนในส่วนที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทจัดการ”
ข้อ 9 ให้ยกเลิกความใน (2) ของวรรคหนึ่งในข้อ 12 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 35/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(2) ดำรงคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อ 4 ข้อ 6 ข้อ 6/1 ข้อ 8 หรือข้อ 10 แล้วแต่กรณีตลอดเวลา”
ข้อ 10 ในกรณีที่บริษัทจัดการมีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคลโดยชอบอยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ และการดำเนินการดังกล่าวของบริษัทจัดการไม่เป็นไปตามระบบงานหรือสัญญาตั้งตัวแทนที่แก้ไขเพิ่มเติมในข้อ 4 และข้อ 8 ของประกาศนี้ ให้บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขระบบงานและสัญญาตั้งตัวแทนดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อกำหนด ในประกาศนี้ภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน