การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล(ฉบับที่ 3)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday June 22, 2005 11:00 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 18/2548
เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการ
กองทุนส่วนบุคคล
(ฉบับที่ 3)
________________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 ข้อ 6 และข้อ 16 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และ ข้อ 4 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 18 (1) และ (6) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “ตัวแทนสนับสนุน” ในข้อ 1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นบทนิยามคำว่า “ผู้ติดต่อผู้ลงทุน” และคำว่า “ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน” ระหว่างบทนิยามคำว่า “บริษัทจดทะเบียน” และคำว่า “ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน” ในข้อ 1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ดังต่อไปนี้
““ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน” หมายความว่า บุคคลธรรมดาที่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน และมาตรฐานการปฏิบัติงาน
“ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน” หมายความว่า บุคคลที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมอบหมายให้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ของกองทุนรวม
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 11 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 11 ในกรณีของกองทุนรวมเปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญให้เป็นปัจจุบันทุกรอบระยะเวลาบัญชี และจัดส่งให้สำนักงานภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ ให้จัดส่งเอกสารดังกล่าวผ่านระบบรับและเผยแพร่ข้อมูลหนังสือชี้ชวน และการรายงานของกองทุนรวม (Mutual Fund Report and Prospectus (MRAP)) ของสำนักงานด้วย”
ข้อ 4 ให้ยกเลิกข้อ 13 และส่วนที่ 4 การขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนผ่านการบริการ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในหมวด 1 หลักเกณฑ์ทั่วไป ของภาค 1 การจัดตั้งกองทุนรวมและการขายหน่วยลงทุน และข้อ 25 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 31 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 31 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดส่ง แจกจ่าย หรือจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่เป็นปัจจุบัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดส่งและดำเนินการให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพให้ผู้ที่สนใจจะลงทุนพร้อมกับใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน เว้นแต่ในกรณีที่ผู้สนใจจะลงทุนเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทอยู่แล้วในขณะนั้น บริษัทจะไม่จัดส่งเอกสารดังกล่าวก็ได้ หากข้อมูลของเอกสารนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลที่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวเคยได้รับ
(2) ให้บริษัทจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไว้ ณ ที่ทำการทุกแห่งของบริษัทและ ณ สถานที่ติดต่อทุกแห่งของผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนเพื่อประโยชน์ในการแจกจ่ายแก่ผู้สนใจจะลงทุนได้ตลอดเวลาที่เสนอขายหน่วยลงทุน”
ข้อ 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 6/1 หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ ของภาค 1 การจัดตั้งกองทุนรวมและการขายหน่วยลงทุน ข้อ 34/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
“ หมวด 6/1
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ
___________________
ข้อ 34/1 ในการจัดตั้งและการขายหน่วยลงทุนของกองทุนสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับยกเว้นในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การจัดส่งหนังสือชี้ชวนที่เป็นปัจจุบันให้สำนักงานตามข้อ 10
(2) เหตุของการสิ้นสุดลงของการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตามข้อ 20(3)”
ข้อ 7 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 44 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) จัดทำข้อมูลของลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษร (customer’s profile) โดยมีรายละเอียด
ของข้อมูลและปรับปรุงข้อมูลตามที่สมาคมกำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธการให้ข้อมูลดังกล่าวให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าการเสนอนโยบายการลงทุนให้แก่ลูกค้านั้น บริษัทได้พิจารณาข้อมูลเพียงเท่าที่ลูกค้าให้บริษัทเท่านั้น”
ข้อ 8 ให้ยกเลิกความในข้อ 45 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“ข้อ 45 สัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีข้อความที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลสามารถปฏิเสธความรับผิดทางแพ่งอันเนื่องจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่กระทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา
(2) มีข้อความที่แจ้งให้ลูกค้าทราบเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของลูกค้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และการจัดทำและเปิดเผยรายงานการถือหลักทรัพย์ในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
(3) มีอายุสัญญาไม่น้อยกว่าสองปี ในกรณีการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
ข้อ 9 ให้เพิ่มความดังต่อไปนี้เป็นวรรคสามของข้อ 46 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 “การวัดผลการดำเนินงานของกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลและลูกค้าร่วมกันตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับหลักเกณฑ์
การวัดผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สอดคล้องกับนโยบายการลงทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนด”
ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไปเว้นแต่ข้อ 9 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2548
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ