เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขออนุญาต และการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ใหม่

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday September 11, 1995 17:48 —ประกาศ ก.ล.ต.

                 ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กจ. 17/2538
เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขออนุญาต
และการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่
————————————————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา14 มาตรา 34 (1) และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติ
หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ออก
ข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า "โครงการลงทุนประเภทสาธารณูปโภคพื้นฐาน" ระหว่างคำว่า
"สถาบันการเงิน" และคำว่า "ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์" ในข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับ
หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 13/2537 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการขออนุญาต
และการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2537
"โครงการลงทุนประเภทสาธารณูปโภคพื้นฐาน" หมายความว่า โครงการลงทุนประเภทที่
เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างหรือระบบให้บริการที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่
(1) ระบบผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้า
(2) ระบบการประปาและระบบการส่งน้ำ
(3) ระบบขนส่งภาคพื้นดิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และแก้ไขปัญหาการ
จราจร
(4) ท่าเรือ สนามบิน
(5) ระบบสื่อสารโทรคมนาคม
(6) ระบบควบคุมและป้องกันมลภาวะ
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 22 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาด
หลักทรัพย์ ที่ กจ. 13/2537 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขออนุญาตและการอนุญาตให้
เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2537 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ22ในกรณีเป็นการขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้มีประกัน ผู้ขออนุญาตจะได้รับอนุญาตต่อเมื่อ
ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันไว้อย่างชัดเจนในคำขออนุญาต และแสดงได้ว่าจะสามารถจัดให้
มีหลักประกันดังกล่าว เป็นประกันการชำระหนี้ตามหุ้นกู้ได้ ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตต้องเข้าหลักเกณฑ์อย่างใด
อย่างหนึ่งดังนี้ด้วย
(1) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 21 และจัดให้มีหลักประกันอย่างใด ๆ เพื่อเป็นประกันการ
ชำระนี้ตามหุ้นกู้ แต่หากหลักประกันนั้นเป็นที่ดิน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง ให้นำหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้
ในข้อ 31 วรรคสอง และข้อ 33 (3) มาใช้บังคับด้วย แล้วแต่กรณี
(2) มีคุณสมบัติตามข้อ 21 (1) ถึง (2) และ (4) ถึง (8) และจัดให้มีหลักประกันที่
เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 30 ถึงข้อ 33 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามหุ้นกู้
(3) เป็นโครงการลงทุนที่มีคุณสมบัติตามข้อ 21 (2) และ (4) ถึง (9) และข้อ 22 ทวิ
และจัดให้มีหลักประกันที่มีลักษณะดังนี้ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามหุ้นกู้
(ก) ครอบคลุมทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้อง และสิทธิหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งหมดที่เป็น
ปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานของโครงการลงทุน ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
(ข) ผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิเหนือหลักประกันตาม (ก) ไม่ด้อยกว่าเจ้าหนี้รายอื่น ที่มีหลัก
ประกันเดียวกันนั้น เป็นประกันการชำระหนี้
(ค) ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันอยู่ในประเภทเดียวกับหลักประกันตามข้อ 30
(1) ถึง (4) ให้นำหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 31 มาใช้บังคับด้วย"
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 22 ทวิ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และ
ตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ.13/2537 เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขออนุญาต และการอนุญาต
ให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2537
"ข้อ 22 ทวิ ผู้ขออนุญาต เสนอขายหุ้นกู้มีประกันที่มีลักษณะเป็นโครงการลงทุนตามข้อ 22
(3) ต้องมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้ด้วย
(1) มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นกู้ไปใช้ เพื่อการลงทุนในโครงการ
ลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(ก) โครงการลงทุนประเภทสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ได้รับสัมปทาน หรือมีสัญญาขาย
ผลิตภัณฑ์ หรือบริการกับ รัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
(ข) โครงการลงทุนอื่นใด ที่มิใช่โครงการลงทุนตาม (ก) ที่มีต้นทุนโครงการลงทุน
ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ต้นทุนโครงการลงทุน ดังกล่าว ให้หมายถึง ต้นทุนที่จะทำให้ผู้
ขออนุญาตสามารถดำเนินกิจการได้ตามรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ และเป็นต้นทุนเฉพาะ ส่วนที่ผู้
ขออนุญาตคาดว่าจะสามารถลงทุนได้ครบภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขออนุญาต
ทั้งนี้ ในวันที่ยื่นคำขออนุญาต ผู้ขออนุญาตจะต้องมีการลงทุนในโครงการลงทุนไปแล้วไม่น้อย
กว่าร้อยละ 20 ของต้นทุนโครงการลงทุนทั้งหมด หรืออย่างน้อย 2,000 ล้านบาท แล้วแต่จำนวนใด
จะต่ำกว่า เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีวัตถุประสงค์ในการนำเงิน ที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นกู้ไปใช้ซื้อ
ทรัพย์สินของโครงการลงทุน ที่ได้ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตเสร็จแล้ว ผู้ขออนุญาต
ต้องแสดงได้ว่าก่อนการเสนอขายหุ้นกู้ที่ขออนุญาตเสนอขายต่อประชาชน ผู้ขออนุญาตจะมีเงินลงทุนสำหรับ
โครงการลงทุนที่มาจากการจำหน่ายหุ้นได้แล้ว เกินกว่าร้อยละ 50 ของเงินลงทุนสำหรับโครงการลงทุน
ที่คาดว่าจะมาจากการจำหน่ายหุ้นทั้งหมด
(2) แสดงได้ว่าโครงการลงทุนมีความเป็นไปได้ทั้งทางด้านการผลิต หรือการบริการ การ
ตลาด การจัดการ และการเงิน และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
(3) ในกรณีที่เป็นโครงการลงทุนที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ผู้ขอนุญาตต้องดำเนินการดังนี้
(ก) จัดให้มีสัญญาก่อสร้างและสัญญาติดตั้งเครื่องจักร และอุปกรณ์การผลิตกับบุคคลที่
เชื่อถือได้ในลักษณะ ดังนี้
1. แสดงได้ว่าการก่อสร้าง และการติดตั้งเครื่องจักร และอุปกรณ์การผลิตจะ
แล้วเสร็จจนเริ่มดำเนินการได้ภายในระยะเวลา และจำนวนเงินที่แน่นอน
2. มีการกำหนดการชดใช้ค่าเสียหายในอัตราที่เหมาะสมในกรณีที่การก่อสร้าง
และการติดตั้งเครื่องจักร และอุปกรณ์การผลิต ไม่แล้วเสร็จจนเริ่มดำเนินการได้ตามสัญญา
3. มีผู้เชี่ยวชาญอิสระที่เชื่อถือได้ เป็นผู้ตรวจสอบรายละเอียด และเงื่อนไข
ของสัญญาก่อสร้าง และสัญญาติดตั้งเครื่องจักร และอุปกรณ์การผลิตที่ได้ทำไว้แล้ว และให้ความเห็น
เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดต้นทุนส่วนเพิ่ม (cost overrun) จากสัญญาที่ทำไว้แล้วนั้น รวมทั้ง
จำนวนเงินที่อาจต้องเพิ่มขึ้นจากสัญญาดังกล่าว
(ข) จัดให้มีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาการก่อสร้าง และการติดตั้งเครื่องจักรในแต่
ละช่วง และข้อกำหนดเรื่องการจัดส่งรายงานความคืบหน้าของการก่อสร้าง และการติดตั้งเครื่องจักร
และอุปกรณ์การผลิตที่เกิดขึ้นจริง ให้แก่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดสิทธิ สำหรับหุ้นกู้ที่ขอ
อนุญาตเสนอขายต่อประชาชนในส่วนที่เกี่ยวกับ "หน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้" ตามข้อ 36 (6) ด้วย
(4)มีสัญญากับบุคคคลที่เชื่อถือได้ในลักษณะที่แสดงได้ว่าภายหลังจากการก่อสร้าง และการ
ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตแล้วเสร็จ ผู้ขออนุญาตจะสามารถดำเนินงานต่อไปได้ อย่างต่อเนื่อง
อย่างน้อยตลอดระยะเวลาของอายุหุ้นกู้ โดยสัญญาดังกล่าว ให้รวมถึงสัญญาซื้อวัตถุดิบที่สำคัญ สัญญาขาย
ผลิตภัณฑ์หรือบริการ สัญญาดูแลรักษาเครื่องจักร และอุปกรณ์การผลิต และสัญญา อื่นใด ที่เป็นปัจจัยสำคัญ
ต่อการดำเนินงานตามโครงการลงทุนของผู้ขออนุญาต ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตต้องจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญอิสระ ที่
เชื่อถือได้ เป็นผู้ตรวจสอบ และให้ความเห็นเกี่ยวกับรายละเอียด และเงื่อนไขของสัญญาดังกล่าว ว่า
สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย และจะทำให้ผู้ขออนุญาตดำเนินโครงการลงทุนได้ตามที่แสดงไว้ในรายงาน
การศึกษาความเป็นไปได้
ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตไม่อาจปฎิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันได้ เฉพาะกรณีที่
จะไม่กระทบต่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้อย่างมีนัยสำคัญ หรือผู้ขออนุญาตได้ดำเนินการอย่างอื่น เพื่อทดแทน
การที่ต้องปฎิบัติตามวรรคหนึ่ง ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงของผู้ถือหุ้นกู้ ในการที่จะได้รับชำระคืนหนี้จาก
การดำเนินงานตามโครงการลงทุนของผู้ขออนุญาตอย่างเพียงพอแล้วหรือ โดยสภาพของโครงการลงทุน
นั้น ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้
(5) แสดงได้ว่ามีแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการลงทุน ดังนี้
(ก) มีแหล่งเงินทุนที่ชัดเจน และเพียงพอที่จะชำระต้นทุนโครงการลงทุน รวมทั้ง
ต้นทุนส่วนเพิ่มที่อาจเกิดขึ้น
(ข) มีแหล่งเงินกู้ยืมที่เกิดจากการเสนอขายหุ้นกู้ต่อประชาชนทั่วไปมูลค่าไม่เกินร้อย
ละ 50 ของเงินกู้ยืมทั้งหมดของโครงการลงทุน โดยเงินกู้ยืมในส่วนที่เหลือนั้นต้องมาจากสถาบันการเงิน
อย่างน้อยร้อยละ 40 ของเงินกู้ยืมทั้งหมดของโครงการลงทุน ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่าหุ้นกู้ที่เสนอขายต่อ
ประชาชนทั่วไปข้างต้น ไม่ให้นับรวมถึงหุ้นกู้ส่วนที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า จะเสนอขายแก่ผู้ลงทุนที่
จัดอยู่ในประเภทที่กำหนดตามข้อ 9 (2) (ก) ถึง (ด)
(6) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตจัดให้เจ้าหนี้เงินกู้ยืมรายอื่นมีหลักประกันการชำระหนี้ร่วมกับผู้ถือหุ้น
กู้ ผู้ขออนุญาตต้องจัดให้มีร่างสัญญากู้ยืมเงิน ร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้รายอื่นนั้นกับผู้ถือหุ้นกู้ และร่างข้อ
กำหนดสิทธิที่มีลักษณะ ดังนี้
(ก) ร่างสัญญากู้ยืมเงินร่วมกันดังกล่าวต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยข้อตกลงใน
ร่างสัญญานั้น ต้องมีลักษณะเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นกู้ และมีการระบุรายละเอียดอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
1. เงินต้นของเจ้าหนี้แต่ละราย
2. หลักประกันการชำระหนี้
3. การใช้สิทธิของเจ้าหนี้แต่ละราย เมื่อผู้ขออนุญาตไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไข
การกู้ยืมเงิน
4. การใช้สิทธิบังคับหลักประกัน
5. การดำเนินการ เพื่อแบ่งชำระคืนหนี้ ที่ได้รับจากการฟ้องร้องบังคับคดี
(ข) ร่างสัญญากู้ยืมเงินร่วมตาม (ก) และร่างข้อกำหนดสิทธิสำหรับหุ้นกู้ที่ขออนุญาต
เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปต้องมีข้อกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะกู้ยืมเงิน เพิ่มเติมจากการ
กู้ยืมที่ได้แสดงไว้แล้วในร่างสัญญากู้ยืมเงินร่วมตาม (ก) ผู้ขออนุญาตต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นกู้
และเจ้าหนี้เงินกู้ยืมรายอื่น ตามวิธีที่ระบุในร่างข้อกำหนดสิทธิ และร่างสัญญากู้ยืมเงินร่วมดังกล่าวก่อน
(ค) ร่างข้อกำหนดสิทธิสำหรับหุ้นกู้ที่ขออนุญาตเสนอขายต่อประชาชนอย่างน้อยต้องมี
ข้อกำหนดดังนี้
1. ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตผิดเงื่อนไขการกู้ยืมเงินต่อเจ้าหนี้เงินกู้ยืม รายใด
ตามร่างสัญญากู้ยืมเงินร่วมตาม (ก) ให้ถือเสมือนว่าผู้ขออนุญาตผิดเงื่อนไขการกู้ยืมเงินตามข้อกำหนด
สิทธิสำหรับหุ้นกู้ที่ขออนุญาตเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปด้วย (cross-default condition)
2. ให้ร่างสัญญากู้ยืมเงินร่วมตาม (ก) เป็นส่วนหนึ่งของร่างข้อกำหนดสิทธิ
(7) มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่เหมาะสมกับประเภทธุรกิจ และแสดงได้ว่าเมื่อ
โครงการลงทุนแล้วเสร็จ จะมีกระแสเงินสดที่ได้รับจากการดำเนินงาน เพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ ทั้งนี้
โดยมีอัตราส่วนกระแสเงินสด รับต่อภาระหนี้ที่ต้องชำระคืนในแต่ละปี อยู่ในระดับดีตามลักษณะความเสี่ยง
ของประเภทธุรกิจ
(8) มีข้อตกลงที่แสดงได้ว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ณ วันที่ยื่นคำขออนุญาตแต่ละรายจะยังคงถือหุ้น
ของผู้ขออนุญาตต่อไปอีกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ละรายนั้นถือ
อยู่ในวันที่ยื่นคำขออนุญาตเป็นระยะอย่างน้อย 3 ปี นับแต่วันปิดการเสนอขายหุ้นกู้ หรือจนกว่างบการเงิน
ประจำงวดการบัญชีจะแสดงว่าผู้ขออนุญาต เริ่มมีกำไรจากการดำเนินงานตามโครงการลงทุน ทั้งนี้แล้ว
แต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่า"
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2538
(นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย)
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ