คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Saturday June 12, 1999 20:00 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กธ/น. 13/2542
เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์
_________________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 มาตรา 103 (9) และ (10) และมาตรา 109แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กก. 7/2537เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2537
(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กก. 11/2538เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 3)ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2538
(4) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 23/2539เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4)ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2539
ข้อ 2 ในประกาศนี้
"บริษัทหลักทรัพย์" หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
"ผู้บริหาร" หมายความว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ
"บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ" หมายความว่า กรรมการบริหาร รองผู้จัดการผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย และให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นโดยบุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบงานในสายงานเกี่ยวกับการให้บริการด้านหลักทรัพย์ การปฏิบัติการด้านหลักทรัพย์ หรือการวิจัยด้านหลักทรัพย์หรือตลาดทุน หรือสายงานอื่นในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ไม่ว่าสายงานนั้นจะปฏิบัติงานเพื่อให้บริการแก่บุคคลอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของบริษัทเอง "กรรมการบริหาร" หมายความว่า บุคคลที่คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหาร หรือมอบหมายให้มีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินงานของบริษัทแทนคณะกรรมการบริษัท
"ผู้อำนวยการฝ่าย" หมายความว่า บุคคลที่รับผิดชอบงานในระดับส่วนงานภายในบริษัท
"ประสบการณ์ในการทำงาน" หมายความว่า ประสบการณ์การทำงานในสถาบันการเงินหรือองค์กรอื่น โดยอยู่ในสายงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุน หรือประสบการณ์การทำงานในระดับบริหารที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารธุรกิจหลักทรัพย์ หรือประสบการณ์จากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการหรือผู้ประกอบวิชาชีพหรืออาชีพด้านการบัญชี การเงิน การบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์ หรือกฎหมาย
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 ผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(1) มีคุณวุฒิทางการศึกษา และมีประสบการณ์ในการทำงานตามเกณฑ์ต่อไปนี้เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
(ก) สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทผู้จัดการ รองผู้จัดการ หรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น
1. สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่าที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรอง และมีประสบการณ์ในการทำงานไม่น้อยกว่าสามปี หรือ
2. สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการทำงานไม่น้อยกว่าห้าปี
(ข) สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย หรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น
1. สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่าที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรอง และมีประสบการณ์ในการทำงานไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือ
2. สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการทำงานไม่น้อยกว่าสามปี
(2) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องสามารถทำงานให้บริษัทหลักทรัพย์ได้เต็มเวลา
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว หรือบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 103 (7) หรือ (8) (ข) หรือ (ค) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535
ข้อ 4 ภายใต้บังคับข้อ 5 และข้อ 6 ผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้(1) มีฐานะทางการเงินที่เสียหาย โดยเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์(2) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ(3) เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(4) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ โดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต
(5) เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวงฉ้อฉล หรือทุจริต
(6) เคยถูกเปรียบเทียบปรับในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในส่วนที่ว่าด้วยการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือกฎหมายต่างประเทศในทำนองเดียวกัน
(7) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงาน อันเนื่องจากการกระทำโดยทุจริต
(8) เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารที่มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายหรือต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกควบคุมกิจการ หรือถูกระงับการดำเนินกิจการเนื่องจากแผนแก้ไขฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานไม่ผ่านความเห็นชอบของหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินนั้นหรือของคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินหรือถูกสั่งการให้แก้ไขฐานะทางการเงินที่เสียหายด้วยการลดทุนและมีการเพิ่มทุนในภายหลังโดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือสถาบันการเงินของรัฐ
(9) มีการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต
(10) จงใจอำพรางฐานะทางการเงินหรือผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัทหลักทรัพย์หรือจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญหรือปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ควรบอกให้แจ้งในการขอรับความเห็นชอบเป็นผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์หรือในรายงานอื่นใดที่ต้องยื่นต่อสำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต.
(11) จงใจละเลยการดำเนินการตามคำสั่งของสำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามมาตรา 141 มาตรา 142 หรือมาตรา 143 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
(12) มีการทำงานที่แสดงถึงการขาดจรรยาบรรณหรือขาดมาตรฐานในการประกอบธุรกิจสถาบันการเงินหรือการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
(13) มีการบริหารงานที่แสดงถึงการละเลยการทำหน้าที่ตามสมควรในการตรวจสอบดูแลมิให้บุคคลที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือขาดจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจหลักทรัพย์โดยรวม หรือความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ หรือการดำเนินธุรกิจ หรือต่อลูกค้าของธุรกิจนั้น
ข้อ 5 ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลที่จะเป็นผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4(5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) หรือ (13) ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติกรรมของบุคคลนั้นเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นพ้นโทษตามคำพิพากษา หรือนับแต่วันที่คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับบุคคลนั้น หรือนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลหรือพิจารณาพฤติกรรมดังกล่าว
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับบุคคลที่เป็นผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์และปรากฏลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4(5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) หรือ (13) ในภายหลัง
ปัจจัยที่อาจนำมาใช้ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 6 เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลใดเข้าข่ายที่กำหนดในข้อ 4 (5) (6) (7)(8) (9) (10) (11) (12) หรือ (13) และความร้ายแรงของพฤติกรรมของบุคคลนั้นเมื่อได้พิจารณาตามปัจจัยที่สำนักงานประกาศกำหนดตามข้อ 5 แล้ว อยู่ในกลุ่มของพฤติกรรมที่มีระยะเวลาสูงสุดไม่เกินหนึ่งปีสำหรับการห้ามมิให้เป็นผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ สำนักงานอาจพิจารณาให้ถือว่าพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวมิได้เป็นลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 4 หากไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าการที่บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประชาชนหรือจะทำให้ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจหลักทรัพย์
ข้อ 7 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้บริหารรายใดของบริษัทหลักทรัพย์มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4 และสำนักงานมีหนังสือแจ้งให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการให้ผู้บริหารรายนั้นพ้นจากการเป็นผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาที่จำเป็นและสมควรโดยไม่ชักช้า
ข้อ 8 ในกรณีที่บุคคลใดต้องห้ามมิให้เป็นผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์อันเนื่องจากบุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4 (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) หรือ (13) เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 5 หรือกรณีเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อ 5 แล้ว มิให้สำนักงานนำพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4 (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) หรือ (13) ที่ได้เคยใช้เป็นเหตุในการห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ในครั้งก่อนมาเป็นเหตุในการห้ามในครั้งหลังอีก
ข้อ 9 บริษัทหลักทรัพย์ใดมีผู้บริหารที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือตามที่กำหนดในประกาศนี้บริษัทหลักทรัพย์นั้นต้องรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นหนังสือต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ถึงลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารรายนั้น
ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2542
(นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ