ที่ ทจ. 31/2557
เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย
(ฉบับที่ 7)
_______________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 12 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทด. 26/2553 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 18/2555 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 12 ผู้ขออนุญาตจะได้รับอนุญาตในเบื้องต้นว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติที่สามารถเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ได้ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี ที่ออกตามงบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวมประจำงวดการบัญชีปีล่าสุด และงบการเงินประจำงวดหกเดือนล่าสุดหรืองบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอ ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังนี้
(ก) ไม่แสดงความเห็นต่อการจัดทำงบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวม หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง
(ข) แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่ใช้บังคับกับบริษัทมหาชนจำกัด เว้นแต่
1. ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และแสดงความประสงค์ว่าจะเสนอขายเฉพาะหุ้นกู้ระยะสั้นเท่านั้น รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีต้องไม่แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่หน่วยงานทางการซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจโดยตรงยอมรับ
2. ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นกิจการตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งกฎหมายของประเทศดังกล่าวกำหนดให้ต้องมีการจัดทำงบการเงิน รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีต้องไม่แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี หรือ International Financial Reporting Standards (IFRS) หรือ Financial Accounting Standards (FAS) หรือ United States Generally Accepted Accounting Principle (US GAAP) หรือมาตรฐานการบัญชีอื่นที่สำนักงานยอมรับ
(ค) แสดงความเห็นว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยการกระทำหรือไม่กระทำของผู้ขออนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหาร
เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ และโอกาสในการได้รับชำระหนี้ในกรณีที่สถาบันการเงินประสบปัญหาเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน หากสถาบันการเงินที่ขออนุญาตเป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศตามข้อ 2(1) (ข) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงินตามวรรคหนึ่ง (1) ให้หมายถึง งบการเงินของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศดังกล่าว
(2) ไม่อยู่ระหว่างค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 หรือมาตรา 57 แล้วแต่กรณี หรือไม่อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขงบการเงินหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 หรือมาตรา 57 ตามที่สำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขนั้น หรือไม่อยู่ระหว่างการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 58 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 58 แล้วแต่กรณี
(3) ไม่เคยเสนอขายหลักทรัพย์โดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับตามแต่กรณี
(4) ไม่เคยเสนอขายหุ้นกู้ไม่ว่าประเภทใด ๆ ตั๋วเงิน หรือศุกูก โดยฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะการเสนอขายที่จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ภายในระยะเวลาสองปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาต เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน โดยผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร รวมทั้งมีมาตรการจัดการเกี่ยวกับการเสนอขายอย่างเหมาะสมแล้ว
(5) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นกิจการตามกฎหมายต่างประเทศจะต้องมีบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งรับหนังสือ คำสั่ง หมายเรียก หรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการตามกฎหมายต่างประเทศได้ และแสดงได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 23 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทด. 26/2553 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 23 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้นที่มิใช่หุ้นกู้ด้อยสิทธิให้จัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
(ก) อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง
(ข) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันเต็มจำนวนที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
(ค) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ หากผู้ขออนุญาตเป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศตามข้อ 2(1) (ข) ให้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารต่างประเทศเพิ่มเติมด้วย เว้นแต่ในวันที่ยื่นคำขออนุญาต สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศดังกล่าวสามารถดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนได้ตามวิธีการคำนวณดังนี้
สินทรัพย์เสี่ยง + X
(2) การเสนอขายหุ้นกู้อื่นนอกจาก (1) ให้จัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งตาม (1) (ก) หรือ (ข)”
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 24/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทด. 26/2553 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553
“ข้อ 24/1 ผู้ได้รับอนุญาตที่เป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศตามข้อ 2(1) (ข) ซึ่งได้รับยกเว้นการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศตามข้อ 23(1) (ค) ต้องจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น (total capital ratio) ของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ดำรงไว้ ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน ภายในวันที่ยี่สิบห้าของเดือนถัดไปไว้บนเว็บไซต์ของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ จนกว่าสิทธิเรียกร้องตามหุ้นกู้จะสิ้นสุดลง”
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 33 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทด. 26/2553 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 33 ในการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ในวงจำกัดจะกระทำได้เมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ และให้กิจการที่ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 3 ของหมวดนี้ รวมทั้งรายงานลักษณะของหุ้นกู้ที่จะเสนอขายต่อสำนักงานตามข้อ 6
(1) ดำเนินการจดข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ที่จะเสนอขายกับสำนักงานตามความในวรรคสอง และยื่นเอกสารตามวรรคสามแล้ว
(2) ไม่เคยเสนอขายหุ้นกู้ไม่ว่าประเภทใด ๆ ตั๋วเงิน หรือศุกูก ที่เป็นการฝ่าฝืนลักษณะการขายที่จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ภายในระยะเวลาสองปีก่อนวันยื่นจดข้อจำกัดการโอน เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน โดยกิจการแสดงได้ว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร รวมทั้งมีมาตรการจัดการเกี่ยวกับการเสนอขายอย่างเหมาะสมแล้ว”
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความใน (4) ของข้อ 34 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทด. 26/2553 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 19/2557 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(4) การเสนอขายหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 30(1) ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถเป็นผู้ให้บริการหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขายหรือลงทุนในหุ้นกู้ได้ เว้นแต่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ผู้ได้รับอนุญาตมีสถานะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้อยู่แล้ว โดยให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการให้บริการหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขายหรือลงทุนในหุ้นกู้ด้วย
(ข) กรณีการเสนอขายหุ้นกู้ที่ประกาศฉบับนี้ไม่กำหนดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้
1. อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง
2. อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันเต็มจำนวนที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
3. อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ขออนุญาต เฉพาะในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้น”
ข้อ 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 34/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทด. 26/2553 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553
“ข้อ 34/1 ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามข้อ 34(4) (ข) เพื่อให้เข้าลักษณะที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสนอขายหุ้นกู้ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ให้ผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่องจนกว่าสิทธิเรียกร้องตามหุ้นกู้จะสิ้นสุดลง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ โดยกำหนดเงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ลงทุนในการมีข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น”
ข้อ 7 ให้ยกเลิกความในข้อ 35 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทด. 26/2553 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 11/2556 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 35 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 30(1) ให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 36 ข้อ 37 หรือข้อ 38 แล้วแต่กรณี”
ข้อ 8 ให้ยกเลิกความในข้อ 36 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทด. 26/2553 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 36 ในการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ผู้ได้รับอนุญาตไม่ต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ เว้นแต่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกกิจการต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ ให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้
(1) อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง
(2) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันเต็มจำนวนที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
ให้นำข้อกำหนดเกี่ยวกับการผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามที่กำหนดในข้อ 23 วรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีตามวรรคหนึ่งด้วย”
ข้อ 9 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557
(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน