การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่(ฉบับที่ 5)

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 29, 2014 16:00 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 35/2557

เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่

(ฉบับที่ 5)

_________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 12 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 12/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 17/2555 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 2 ) ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 12 ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ตามหมวดนี้ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี ที่ออกตามงบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวมประจำงวดการบัญชีปีล่าสุด และงบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอ ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังนี้

(ก) ไม่แสดงความเห็นต่อการจัดทำงบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวม หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง

(ข) แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่ใช้บังคับกับบริษัทมหาชนจำกัด เว้นแต่ผู้ขออนุญาตเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และแสดงความประสงค์ว่าจะเสนอขายเฉพาะหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นเท่านั้น รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีต้องไม่แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่หน่วยงานทางการซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจโดยตรงยอมรับ

(ค) แสดงความเห็นว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยการกระทำหรือไม่กระทำของผู้ขออนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหาร

เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ของสาขาธนาคารต่างประเทศในไทยของผู้ขออนุญาตที่เป็นธนาคารต่างประเทศตามข้อ 5(2) และโอกาสในการได้รับชำระหนี้จากผู้ขออนุญาตดังกล่าว ในกรณีที่สาขาธนาคารต่างประเทศในไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน งบการเงินตามวรรคหนึ่ง (1) ให้หมายถึง งบการเงินของสาขาธนาคารต่างประเทศในไทยของผู้ขออนุญาตนั้น

(2) ไม่อยู่ระหว่างค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 56 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 แล้วแต่กรณี หรือไม่อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขงบการเงินหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 หรือมาตรา 57 ตามที่สำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขนั้นหรือไม่อยู่ระหว่างการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 58 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 58 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(3) มีกรรมการและผู้บริหารที่มีรายชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์การแสดงชื่อบุคคลในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นธนาคารต่างประเทศตามข้อ 5(2) ผู้ขออนุญาตต้องมีกรรมการหรือผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งในสาขาในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง

(4) มีผู้มีอำนาจควบคุมที่ไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท โดยอนุโลม

(5) ไม่เคยเสนอขายหลักทรัพย์โดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับตามแต่กรณี

(6) ไม่เคยเสนอขายหุ้นกู้ไม่ว่าประเภทใด ๆ ตั๋วเงิน หรือศุกูก โดยฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะการเสนอขายที่จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ภายในระยะเวลาสองปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาต เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน โดยผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร รวมทั้งมีมาตรการจัดการเกี่ยวกับการเสนอขายอย่างเหมาะสมแล้ว

(7) เป็นผู้ได้รับอนุญาตหรือได้รับการขึ้นทะเบียนให้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 แต่ถ้าผู้ขออนุญาตมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตหรือมิใช่ผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว ผู้ขออนุญาตจะต้องมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) มีกระแสรายรับหรือรายจ่ายเกิดจากธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอ้างอิงของหุ้นกู้อนุพันธ์

(ข) มีธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าหรือดัชนีราคาสินค้าซึ่งจะเป็นปัจจัยอ้างอิง ของหุ้นกู้อนุพันธ์

(ค) ยื่นหนังสือต่อสำนักงานเพื่อยืนยันว่าก่อนดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ ผู้ขออนุญาตจะมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ให้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 เพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากการออกและเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 24 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 12/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 24 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นที่มิใช่หุ้นกู้ด้อยสิทธิให้จัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

(ก) อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง

(ข) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้อนุพันธ์ เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันเต็มจำนวนที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้อนุพันธ์

(ค) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ หากผู้ขออนุญาตเป็นธนาคารต่างประเทศตามข้อ 5(2) ให้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของสาขาธนาคารต่างประเทศในไทยเพิ่มเติมด้วย เว้นแต่ในวันที่ยื่นคำขออนุญาต สาขาธนาคารต่างประเทศดังกล่าวสามารถดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนได้ตามวิธีการคำนวณดังนี้

  เงินกองทุนทั้งสิ้น (total capital) ของสาขาธนาคารต่างประเทศ                      1.5 เท่าของอัตราส่วนเงินกองทุนตามที่
  ___________________________________________________      >หรือ=                ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

สินทรัพย์เสี่ยง + X (X = มูลค่าตราสารหนี้ที่จะเสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้โดยอ้างอิงอัตรา risk weighted ที่ 100%)

(2) การเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์อื่นนอกจาก (1) ให้จัดอันดับความน่าเชื่อถือตาม (1) (ก) หรือ (ข)”

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 25/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 12/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 25/1 ผู้ได้รับอนุญาตที่เป็นธนาคารต่างประเทศตามข้อ 5(2) ซึ่งได้รับยกเว้น การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสาขาธนาคารต่างประเทศตามข้อ 24(1) (ค) ต้องจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น (total capital ratio) ของสาขาธนาคารต่างประเทศที่ดำรงไว้ ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน ภายในวันที่ยี่สิบห้าของเดือนถัดไปไว้บนเว็บไซต์ของสาขาธนาคารต่างประเทศ จนกว่าสิทธิเรียกร้องตามหุ้นกู้อนุพันธ์จะสิ้นสุดลง”

ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (1/1) ของวรรคหนึ่งในข้อ 34 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 12/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

“(1/1) ไม่เคยเสนอขายหุ้นกู้ไม่ว่าประเภทใด ๆ ตั๋วเงิน หรือศุกูก ที่เป็นการฝ่าฝืนลักษณะการขายที่จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ภายในระยะเวลาสองปีก่อนวันยื่นข้อจำกัดการโอน เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน โดยบริษัทแสดงได้ว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร รวมทั้ง มีมาตรการจัดการเกี่ยวกับการเสนอขายอย่างเหมาะสมแล้ว”

ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (3) ของวรรคหนึ่งในข้อ 35 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 12/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

“(3) ไม่เคยเสนอขายหุ้นกู้ไม่ว่าประเภทใด ๆ ตั๋วเงิน หรือศุกูก ที่เป็นการฝ่าฝืนลักษณะการขายที่จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ภายในระยะเวลาสองปีก่อนวันยื่นจดข้อจำกัดการโอน เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน โดยบริษัทแสดงได้ว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร รวมทั้งมีมาตรการจัดการเกี่ยวกับการเสนอขายอย่างเหมาะสมแล้ว”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 40 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 12/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 40 ในการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 32(1) ผู้ได้รับอนุญาตไม่ต้องจัดให้มีการจัดอันดับ ความน่าเชื่อถือ เว้นแต่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกบริษัทต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ ให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์

(1) อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง

(2) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้อนุพันธ์ เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันเต็มจำนวนที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้อนุพันธ์

ให้นำข้อกำหนดเกี่ยวกับการผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามที่กำหนดในข้อ 24 วรรคสองและการจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่องตามข้อ 25 มาใช้บังคับกับกรณีตามวรรคหนึ่งด้วย”

ข้อ 7 ให้ยกเลิกความใน (4) ของข้อ 41 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 12/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 15/2556 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(4) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 32(1) ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการยื่นคำขอต่อสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 26 ด้วย”

ข้อ 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (5) ของข้อ 41 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 12/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 15/2556 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

“(5) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 32(1) ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถเป็นผู้ให้บริการหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขายหรือลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ได้ เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตมีสถานะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้อยู่แล้ว โดยให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการให้บริการหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขายหรือลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ด้วย”

ข้อ 9 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ