หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 10, 2014 14:59 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 35/2557

เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและ

ให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

____________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 98(6) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และข้อ 5(1) ประกอบกับข้อ 12(3) และ (12) ข้อ 14 ข้อ 30 ข้อ 37 ข้อ 38 ข้อ 43(3) และข้อ 44 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป เว้นแต่

(1) ข้อ 12(4) ที่เกี่ยวกับการจัดให้มีข้อตกลงกับลูกค้าที่จะระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการของสำนักงานสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

(2) ข้อ 17 ที่เกี่ยวกับการจัดให้มีข้อตกลงกับลูกค้าสำหรับการให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

(3) ข้อ 30 ที่เกี่ยวกับการทดสอบความรู้ของลูกค้าที่ประสงค์จะลงทุนหรือทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนตามข้อ 29(2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) และ (10) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

(4) ข้อ 32(1) ที่เกี่ยวกับการแจกจ่ายเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนตามข้อ 29(2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) และ (10) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

หมวด 1

ข้อกำหนดทั่วไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“ประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

ข้อ 3 ข้อกำหนดในรายละเอียดตามประกาศนี้ กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ในส่วนที่เกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้า ในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

(1) การรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า ให้เป็นไปตามหมวด 2

(2) การทำข้อตกลงกับลูกค้าก่อนเริ่มให้บริการ ให้เป็นไปตามหมวด 3

(3) การวิเคราะห์และการแนะนำการลงทุน ให้เป็นไปตามหมวด 4

(4) การจัดส่งหลักฐานยืนยันการทำธุรกรรมของลูกค้า ให้เป็นไปตามหมวด 5

(5) การให้บริการลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน ให้เป็นไปตามหมวด 6

(6) การรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนอกสถานที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจ ให้เป็นไปตามหมวด 7

ข้อ 4 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและ ให้บริการลูกค้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามประกาศนี้เป็นการเฉพาะรายหรือเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผ่อนผันต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ ข้อ 5 ในการติดต่อและให้บริการลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้ความระมัดระวังในการให้บริการหรือนำเสนอบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อ และให้บริการแก่ลูกค้าดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

(1) ลูกค้าเป็นบุคคลธรรมดาที่มีอายุตั้งแต่หกสิบปีขึ้นไป

(2) ลูกค้าที่มีความรู้ทางการเงินน้อย

หมวด 2

การรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า

ข้อ 6 ในการรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้าตามข้อ 30 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดขั้นตอนและวิธีการรวบรวมและ ประเมินข้อมูลของลูกค้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอย่างน้อยต้องมีการกำหนดรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 7 หรือข้อ 8 แล้วแต่กรณีด้วย

ข้อ 7 ในการจัดให้ได้มาซึ่งข้อมูลจากลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการแจ้งเตือนแก่ลูกค้าว่า การที่ลูกค้าให้ข้อมูลที่เป็นความจริง ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และครบถ้วน ตามที่ผู้ประกอบธุรกิจร้องขอ ย่อมมีผลต่อการให้บริการหรือการให้คำแนะนำที่ลูกค้าแต่ละรายจะได้รับจากผู้ประกอบธุรกิจ

ข้อ 8 ผู้ประกอบธุรกิจต้องพิจารณาความสามารถในการลงทุน ความสามารถในการชำระหนี้ และความสามารถในการวางหลักประกันของลูกค้า โดยการกำหนดวงเงินหรือ ปริมาณการซื้อขาย (position limit) สำหรับลูกค้าแต่ละราย ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาให้การกำหนดวงเงินหรือปริมาณการซื้อขายของลูกค้าแต่ละรายเป็นไปตามประกาศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีข้อกำหนดในรายละเอียดเป็นการเฉพาะสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบางประเภทด้วย

ข้อ 9 ในการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลของลูกค้าให้เป็นปัจจุบันภายในระยะเวลาที่เหมาะสมตามข้อ 37 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลของลูกค้า อย่างน้อยตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ทำการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลของลูกค้าภายในระยะเวลาดังนี้

(ก) ข้อมูลเพื่อการทำความรู้จักลูกค้าและการจัดประเภทลูกค้า ให้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจ ที่เป็นสถาบันการเงิน ให้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่สถาบันการเงินนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(ข) ข้อมูลเพื่อการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของลูกค้า ให้ดำเนินการอย่างน้อยทุกสองปี

(ค) ข้อมูลเพื่อการพิจารณาความสามารถในการลงทุน ความสามารถในการชำระหนี้ และความสามารถในการวางหลักประกัน รวมทั้งความสามารถในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการใด ๆ ของลูกค้า ให้ดำเนินการอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

(2) ในกรณีที่ลูกค้าแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือปรากฏข้อเท็จจริงต่อผู้ประกอบธุรกิจว่าข้อมูลในส่วนที่มีนัยสำคัญของลูกค้ารายใดไม่ถูกต้องหรือมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ให้ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลของลูกค้าทันที

(3) ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อลูกค้ารายใดเพื่อทำการการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลของลูกค้าได้ตาม (1) ให้ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลของลูกค้าในโอกาสแรก ที่สามารถทำได้ ในระหว่างที่ยังดำเนินการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลของลูกค้าตามวรรคหนึ่ง (3) ไม่แล้วเสร็จ ให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการแก่ลูกค้าได้เฉพาะการรับคำสั่งขายหรือล้างฐานะผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่คงค้างอยู่ในบัญชีของลูกค้าอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น เว้นแต่การรับคำสั่งขายหรือล้างฐานะดังกล่าวเป็นธุรกรรมที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องห้ามมิให้บริการแก่ลูกค้าตามกฎหมายอื่น

หมวด 3

การทำข้อตกลงกับลูกค้าก่อนเริ่มให้บริการ

ส่วนที่ 1

ข้อกำหนดทั่วไป

ข้อ 10 ในกรณีที่การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องทำข้อตกลงกับลูกค้าก่อนเริ่มให้บริการ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของคำขอเปิดบัญชี สัญญา หรือข้อตกลงในรูปแบบอื่นใด ตามข้อ 44 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการให้การทำข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวดนี้

ข้อ 11 ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการทำข้อตกลงกับลูกค้า ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ 12 ผู้ประกอบธุรกิจดังต่อไปนี้ ต้องจัดให้มีข้อตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรกับลูกค้าที่จะระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการของสำนักงานเมื่อลูกค้าร้องขอให้มีการระงับ ข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องจากการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยข้อตกลงดังกล่าวให้จัดให้มีตั้งแต่ในเวลาที่ทำสัญญาหรือข้อตกลงกับลูกค้าด้วย

(1) ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(2) ผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบันตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดประเภทนิติบุคคลที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันเพิ่มเติม

(3) ผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(4) ที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ส่วนที่ 2

ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการให้บริการเป็น

ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 13 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและยับยั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรม หรือพฤติกรรมการลงทุนหรือทำธุรกรรมที่ไม่เหมาะสม ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ไว้ในข้อตกลงกับลูกค้าเพื่อการให้บริการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย

(1) ลูกค้ายินยอมที่จะแจ้งและจัดหาข้อมูลดังนี้ พร้อมทั้งจัดทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักงาน เมื่อผู้ประกอบธุรกิจหรือหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าวร้องขอ หรือเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานดังกล่าวกำหนด

(ก) ข้อมูลที่สามารถระบุความมีตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าและผู้รับประโยชน์จากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าทุกรายทุกทอด

(ข) วัตถุประสงค์ในการซื้อขายของลูกค้า

(ค) ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายของลูกค้า ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ลูกค้าซื้อขาย

(ง) ในกรณีที่ลูกค้าเป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อขายเพื่อบุคคลอื่นหลายรายหรือหลายทอดผ่านบัญชีแบบไม่เปิดเผยชื่อ (omnibus account) ลูกค้ายินยอมที่จะแจ้ง จัดหา และจัดทำคำชี้แจงเกี่ยวกับข้อมูลตาม (ก) (ข) และ (ค) ของบุคคลอื่นนั้นทุกรายและทุกทอด ทั้งนี้ เฉพาะที่ลูกค้ารู้หรือควรรู้เนื่องจากการเป็นผู้ดำเนินการเช่นนั้น

(2) ลูกค้ายินยอมให้ผู้ประกอบธุรกิจงดให้บริการเป็นตัวแทนกับลูกค้าเป็นการชั่วคราว ปิดบัญชีซื้อขาย จำกัดฐานะหรือปริมาณการซื้อขาย ล้างฐานะ และดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าได้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักงาน ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้

(ก) การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้ามีหรือน่าจะมีผลกระทบต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือทำให้หรือน่าจะทำให้ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่ตรงต่อสภาพปกติของตลาด

(ข) ลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ไม่เหมาะสมหรืออาจฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ค) ลูกค้าไม่ดำเนินการแจ้ง จัดหาข้อมูล หรือจัดทำคำชี้แจงตาม (1) หรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรืออาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ

ข้อ 14 ในกรณีที่เป็นการให้บริการแก่ลูกค้าที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบัน ก่อนทำการเปิดบัญชีให้แก่ลูกค้าหรือก่อนเริ่มทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าทราบถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยอย่างน้อยต้องจัดทำเอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (risk disclosure statement) ซึ่งมีรายการและสาระสำคัญอย่างน้อยตามแนวทางของเอกสารการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่แนบท้ายประกาศนี้

ในการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจลงนามในเอกสารการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงเพื่อรับรองว่าได้มีการอธิบายถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้ลูกค้ารับทราบแล้ว พร้อมทั้งดำเนินการให้ลูกค้าลงนามในเอกสารดังกล่าวเพื่อรับรองว่าผู้ประกอบธุรกิจได้อธิบายถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแล้วด้วย เพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง คำว่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” ให้หมายความถึง ผู้ลงทุนสถาบันตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดประเภทนิติบุคคลที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันเพิ่มเติม

ข้อ 15 ในกรณีที่ลูกค้าประสงค์จะทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีความเสี่ยงเฉพาะซึ่งแตกต่างจากที่ได้เปิดเผยไว้ในเอกสารการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงตามข้อ 14 และผู้ประกอบธุรกิจยังไม่เคยเปิดเผยความเสี่ยงเฉพาะดังกล่าวมาก่อน ให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยความเสี่ยงเฉพาะดังกล่าวพร้อมข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้ลูกค้ารายนั้นทราบก่อนเริ่มทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้กับลูกค้าด้วย ให้นำความในข้อ 14 วรรคสองมาบังคับกับการเปิดเผยความเสี่ยงเฉพาะตามข้อนี้ด้วยโดยอนุโลม

ส่วนที่ 3

ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการให้บริการเป็น

นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน

ข้อ 16 ในส่วนนี้ “หลักทรัพย์จดทะเบียน” หมายความว่า หลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับการอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ข้อ 17 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและยับยั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรม หรือพฤติกรรมการลงทุนหรือทำธุรกรรมที่ไม่เหมาะสม ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ไว้ในข้อตกลงกับลูกค้าเพื่อการให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนด้วย

(1) ลูกค้ายินยอมที่จะแจ้งและจัดหาข้อมูลดังนี้ พร้อมทั้งจัดทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ นายทะเบียนหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชี หรือสำนักงาน เมื่อผู้ประกอบธุรกิจหรือหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าวร้องขอ หรือเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานดังกล่าวกำหนด

(ก) ข้อมูลที่สามารถระบุความมีตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าและผู้รับประโยชน์จากการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนของลูกค้าทุกรายทุกทอด

(ข) วัตถุประสงค์ในการซื้อขายของลูกค้า

(ค) ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายของลูกค้า

(ง) ในกรณีที่ลูกค้าเป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อขายเพื่อบุคคลอื่นหลายรายหรือหลายทอดผ่านบัญชีแบบไม่เปิดเผยชื่อ (omnibus account) ลูกค้ายินยอมที่จะแจ้ง จัดหา และจัดทำคำชี้แจงเกี่ยวกับข้อมูลตาม (ก) (ข) และ (ค) ของบุคคลอื่นนั้นทุกรายและทุกทอด ทั้งนี้ เฉพาะที่ลูกค้ารู้หรือควรรู้เนื่องจากการเป็นผู้ดำเนินการเช่นนั้น

(2) ลูกค้ายินยอมให้ผู้ประกอบธุรกิจงดให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนกับลูกค้าเป็นการชั่วคราว ปิดบัญชีซื้อขาย จำกัดการซื้อขาย และดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนของลูกค้าได้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ นายทะเบียนหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชี หรือสำนักงาน ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้

(ก) การซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนของลูกค้ามีหรือน่าจะมีผลกระทบต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน หรือทำให้หรือน่าจะทำให้ราคา ของหลักทรัพย์จดทะเบียนไม่ตรงต่อสภาพปกติของตลาด

(ข) ลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ไม่เหมาะสมหรืออาจฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(ค) ลูกค้าไม่ดำเนินการแจ้ง จัดหาข้อมูล หรือจัดทำคำชี้แจงตาม (1) หรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรืออาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ

ส่วนที่ 4

ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับธุรกรรม

การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์

ข้อ 18 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีฐานะเป็นตัวแทนของผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีสัญญาตั้งตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

ข้อ 19 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีสัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์ที่มีลักษณะและสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในข้อ 20 หรือข้อ 21 แล้วแต่กรณี

ข้อ 20 เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 21 สัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์ที่ใช้ในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยต้องมีลักษณะและสาระสำคัญ อย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ให้ยืมและหลักประกันในการยืมหลักทรัพย์ โดยต้องมีรายละเอียดในเรื่องดังนี้

(ก) ผู้ให้ยืมต้องโอนหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ยืมโดยปลอดจากบุริมสิทธิหรือภาระผูกพันใด ๆ โดยผู้ยืมต้องส่งมอบหลักประกันให้แก่ผู้ให้ยืมเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และผู้ให้ยืมจะส่งมอบหลักประกันคืนให้แก่ผู้ยืม เมื่อผู้ยืมคืนหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ให้ยืม

(ข) การคืนหลักทรัพย์ที่ยืมและการคืนหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่เป็นหลักประกัน ให้ใช้หลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลเดียวกัน ประเภท และชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้

(ค) ในกรณีที่มีการวางหลักประกันเป็นเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือหนังสือค้ำประกันที่สถาบันการเงินออกให้ไว้แก่ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ การคืนหลักประกันให้กระทำโดย การยกเลิกหรือลดวงเงินของเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือหนังสือค้ำประกันที่นำมาวางไว้ แล้วแต่กรณี

(2) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการปรับจำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์หรือหลักประกันที่ต้องคืน โดยสัญญาต้องมีรายละเอียดในเรื่องดังนี้ ซึ่งเกี่ยวกับการปรับจำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์หรือหลักประกันที่ต้องคืนเมื่อมีเหตุการณ์อันจะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมเมื่อมีการโอนหลักทรัพย์หรือหลักประกันคืน เกิดขึ้นในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดคืน

(ก) การให้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นตามส่วนจำนวนหุ้นที่มีอยู่ก่อนแล้ว

(ข) การเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้อันเป็นผลให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง

(ค) การไถ่ถอนหลักทรัพย์

(ง) การรวมกิจการ การควบกิจการ หรือการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ

(จ) การจ่ายเงินปันผลเป็นหุ้น

(ฉ) การแปลงสภาพหลักทรัพย์ หรือ

(ช) กรณีอื่นใดในทำนองเดียวกัน

(3) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการชดเชยสิทธิประโยชน์ให้แก่คู่สัญญา โดยสัญญาต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการชดเชยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย ที่ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์หรือผู้ยืมหลักทรัพย์พึงได้รับ หากยังถือหลักทรัพย์หรือหลักประกันไว้ แล้วแต่กรณี โดยต้องกำหนดให้การจ่ายชดเชยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวมีมูลค่าไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ ที่ผู้ออกหลักทรัพย์หรือผู้ออกตราสารจ่ายให้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์หรือตราสารนั้น ทั้งนี้ เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงเป็นประการอื่น

(4) ข้อกำหนดในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดนัดหรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้หนี้ถึงกำหนดชำระโดยพลัน โดยสัญญาต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ของคู่สัญญาตลอดจนมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดนัดหรือมีเหตุการณ์ใด ๆ ที่ทำให้หนี้ถึงกำหนดชำระโดยพลันในกรณีที่ผู้ให้ยืมเป็นผู้ลงทุนสถาบันตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดประเภทนิติบุคคลที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันเพิ่มเติม ผู้ให้ยืมและผู้ยืมอาจตกลงกำหนดลักษณะและสาระสำคัญของสัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักประกันไว้เป็นประการอื่นก็ได้

ข้อ 21 สัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อการขายชอร์ตผ่านบัญชีมาร์จิ้นให้เป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

หมวด 4

การวิเคราะห์และการแนะนำการลงทุน

ข้อ 22 การวิเคราะห์หรือการแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้าตามข้อ 38 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรซึ่งทำหน้าที่ดังกล่าวและ การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนบางประเภทที่จะแนะนำให้แก่ลูกค้าหรือที่ลูกค้าสนใจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวดนี้

ข้อ 23 ผู้ประกอบธุรกิจต้องควบคุมและดูแลบุคลากรซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ การแนะนำ หรือการวางแผนการลงทุนให้แก่ลูกค้า โดยให้บุคลากรดังกล่าวให้บริการ แก่ลูกค้าตามประเภทและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ข้อ 24 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้มอบหมายให้บุคลากรที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นผู้แนะนำการลงทุนเกี่ยวกับพันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยที่มีข้อกำหนดให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ขายคืนได้ตามราคาที่แน่นอนหรือราคาขั้นต่ำที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ออกพันธบัตรดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจต้องเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ให้แก่ลูกค้าด้วย

(1) จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและลักษณะของพันธบัตรที่จะลงทุน โดยอาจดำเนินการด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธีรวมกัน ดังนี้

(ก) จัดให้มีพนักงานที่สามารถให้ข้อมูลดังกล่าวกับลูกค้าประจำอยู่ ณ สถานที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจที่ติดต่อกับลูกค้าในเรื่องดังกล่าว

(ข) จัดให้มีระบบติดต่อสื่อสารที่ทำให้ลูกค้าสามารถติดต่อสื่อสารกับพนักงานของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถให้ข้อมูลดังกล่าวกับลูกค้าได้

(ค) จัดให้มีศูนย์บริการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวกับลูกค้า โดยอย่างน้อยต้องให้บริการตลอดเวลาทำการของผู้ประกอบธุรกิจ

(2) ดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ให้ลูกค้าทราบถึงการดำเนินการตาม (1)

(3) เปิดเผยให้ลูกค้าทราบถึงราคารับซื้อคืน

(4) ตรวจสอบดูแลให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้ข้อมูลแก่ลูกค้าอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

หมวด 5

การจัดส่งหลักฐานยืนยันการทำธุรกรรมของลูกค้า

ข้อ 25 เมื่อลูกค้าตัดสินใจให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการให้มีการลงทุนหรือเข้าทำธุรกรรมแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องรายงานหรือแจ้งผลการดำเนินการให้ลูกค้าทราบ ตามข้อ 43(3) แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งหลักฐานการยืนยันการทำธุรกรรมของลูกค้า (confirmation statement) ซึ่งมีรายละเอียดตามแนวทางที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ ตามวิธีการที่ได้ตกลงไว้กับลูกค้า

ข้อ 26 ในกรณีที่เป็นธุรกรรมดังต่อไปนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งหลักฐานยืนยันการทำธุรกรรมของลูกค้าที่มีรายละเอียดตามข้อ 25 ให้แก่ลูกค้าภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับธุรกรรมดังกล่าว

(1) ธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้น ให้จัดส่งภายในวันทำการถัดจากวันที่มีการซื้อขายหุ้น

(2) ธุรกรรมการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้จัดส่งภายในวันทำการถัดจากวันที่มีการซื้อขายหรือวันที่มีการเรียกหลักประกันเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี

(3) ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการวางหรือการคืนหลักประกัน ให้จัดส่งลูกค้าภายในวันทำการถัดจากวันที่เกิดธุรกรรม

ข้อ 27 เพื่อประโยชน์ในการส่งหลักฐานการยืนยันการทำธุรกรรมตามข้อ 26

(1) ในกรณีที่ธุรกรรมการให้บริการแก่ลูกค้าเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ให้จัดส่งหลักฐานการยืนยันการทำธุรกรรมดังกล่าวให้แก่ลูกค้าภายในวันทำการถัดจากวันที่ ผู้ประกอบธุรกิจได้รับข้อมูลยืนยันการทำธุรกรรมของลูกค้าจากต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ หากการยืนยันข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นนอกเวลาทำการของผู้ประกอบธุรกิจ ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจได้รับข้อมูลยืนยันการทำธุรกรรมนั้นในวันทำการถัดไป

(2) ให้ถือว่าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกิดขึ้นหลังเวลาปิดทำการซื้อขายภาคปกติ เป็นการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกิดขึ้นในวันทำการถัดจากวันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้ทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นให้แก่ลูกค้า

หมวด 6

การให้บริการลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน

ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน

ข้อ 28 ในการให้บริการลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในรายละเอียดที่กำหนดไว้ในหมวดนี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากการปฏิบัติต่อลูกค้าตามปกติ เพื่อให้การให้บริการลูกค้าเป็นไปตามข้อ 30 และข้อ 38 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ

ข้อ 29 ให้ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน

(1) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้ง จัดการและลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย

(2) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนและอัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินที่มีเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนการลงทุนที่ซับซ้อนและอาจทำให้เกิดผลขาดทุน เกินกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(3) ศุกูก (Sukuk) ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการออกและเสนอขายศุกูกและการเปิดเผยข้อมูล

(4) หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่

(5) หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกบริษัท (perpetual bond)

(6) หุ้นกู้ที่ออกตามโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

(7) หุ้นกู้อนุพันธ์

(8) หุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพัน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ประเภทหุ้นกู้อนุพันธ์หรือหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพัน ซึ่งออกโดยสถาบันการเงิน

(9) ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์

(10) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 30 ในกรณีที่ลูกค้าประสงค์จะใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนแต่ละประเภทเป็นครั้งแรก ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มี การทดสอบความรู้ของลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมเพื่อประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนดังกล่าวก่อนการลงทุน ทั้งนี้ ตามแบบทดสอบที่สำนักงานกำหนดความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับการให้บริการแก่ลูกค้าดังต่อไปนี้

(1) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งไม่ได้แสดงเจตนาที่จะรับการทดสอบความรู้

(2) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ และมีสถานะเป็น นิติบุคคล ซึ่งแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่รับการทดสอบความรู้

ข้อ 31 ในกรณีที่ผลการทดสอบความรู้ของลูกค้าตามข้อ 30 แสดงว่าผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนประเภทใดอาจไม่เหมาะสมกับลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการเตือนให้ลูกค้าทราบว่าลูกค้าไม่เหมาะสมที่จะลงทุนหรือทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนประเภทนั้นหากลูกค้ายืนยันที่จะลงทุนหรือทำธุรกรรมต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้ลูกค้าลงนามรับทราบคำเตือนและความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการลงทุนหรือทำธุรกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ ในระหว่างที่ลูกค้ายังไม่ยืนยันที่จะลงทุนหรือทำธุรกรรมต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่นำเสนอบริการเพิ่มเติมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนประเภทนั้นแก่ลูกค้า

ข้อ 32 ในการวิเคราะห์หรือแนะนำการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการดังต่อไปนี้สำหรับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมของลูกค้าทุกครั้ง เว้นแต่เป็นกรณีตามที่กำหนดไว้ในข้อ 33

(1) จัดให้มีการแจกจ่ายเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนในประเภทที่ประสงค์จะลงทุนหรือทำธุรกรรมแก่ลูกค้า ตามที่สำนักงานกำหนด

(2) จัดให้มีการอธิบายโดยการให้ความรู้และรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนในประเภทที่ประสงค์จะลงทุนหรือทำธุรกรรมแก่ลูกค้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการลงทุนหรือทำธุรกรรมดังกล่าวให้ชัดเจน

(3) จัดให้มีคำแนะนำลูกค้าอย่างเป็นกลาง (balanced view) ซึ่งมีลักษณะ ข้อดี ข้อจำกัด ผลตอบแทน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนหรือทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนดังกล่าว โดยมีเอกสารหรือข้อมูลสนับสนุนการให้คำแนะนำนั้นด้วย

(4) จัดให้มีคำแนะนำเกี่ยวกับความเหมาะสมของลูกค้าในการลงทุนหรือการทำธุรกรรม ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน โดยพิจารณาจากการประเมินข้อมูลของลูกค้าที่ได้จากการทำความรู้จักลูกค้าและการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของลูกค้ารายนั้น

(5) จัดให้มีคำเตือนเพิ่มเติมแก่ลูกค้าว่า การลงทุนหรือการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน มีความแตกต่างจากการลงทุนหรือทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนทั่วไป แม้ว่าลูกค้าจะเคยมีประสบการณ์ในการลงทุนหรือทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนมาก่อน ลูกค้าควรทำความเข้าใจถึงลักษณะความเสี่ยงและเงื่อนไขเฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง เมื่อผู้ประกอบธุรกิจได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งจนลูกค้ามีความเข้าใจแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้ลูกค้าลงนามรับรองการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจด้วย

ข้อ 33 ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการตามข้อ 32 เมื่อเป็นการลงทุนหรือทำธุรกรรมเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ลูกค้าประสงค์จะลงทุนหรือทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนประเภท รุ่น และชนิดเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ลูกค้าเคยลงทุนหรือทำธุรกรรมมาแล้วครั้งหนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ดำเนินการตามข้อ 32 กับลูกค้าซ้ำอีกก็ได้

ข้อ 34 ในกรณีที่เป็นการให้บริการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนดังต่อไปนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 35 เพิ่มเติมด้วย

(1) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยตามข้อ 29(1) ซึ่งมีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามากกว่าร้อยละหนึ่งร้อยของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(2) ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนตามข้อ 29(9)

ข้อ 35 การให้บริการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนตามข้อ 34 ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้การให้บริการกระทำในรูปแบบที่ลูกค้าต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานของผู้ประกอบธุรกิจ (face to face)

(2) จัดให้มีการอธิบายกรณีหากมีสถานการณ์ในเชิงลบอย่างมากที่สุดเกิดขึ้น (worst case scenario) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนหรือทำธุรกรรมแก่ลูกค้า ทั้งนี้ ตามตัวอย่างสถานการณ์ในเชิงลบอย่างมากที่สุด ที่ปรากฏในหนังสือชี้ชวนและหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (factsheet)

(3) จัดให้มีบันทึกการให้คำแนะนำโดยอาจอยู่ในรูปแบบเอกสารหรือเทปบันทึกเสียงการสนทนา ทั้งนี้ ในกรณีที่จัดให้อยู่ในรูปแบบเอกสาร ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้ ลูกค้าทำการตรวจสอบรายละเอียดของบันทึกคำแนะนำที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวด้วย

(4) ในกรณีที่ลูกค้ามีผลการทดสอบความรู้ตามข้อ 30 แสดงว่าผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนตามข้อ 34 อาจไม่เหมาะสมกับลูกค้า และลูกค้ายืนยันที่จะลงทุนหรือทำธุรกรรมต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้พนักงาน ที่มีความเป็นอิสระหรือพนักงานระดับอาวุโส ณ สถานที่ทำการแห่งนั้น ดำเนินการดังต่อไปนี้

(ก) ตรวจสอบขั้นตอนในการให้บริการแก่ลูกค้ารายนั้น

(ข) แจ้งเตือนลูกค้าถึงการลงทุนหรือทำธุรกรรมที่อาจไม่เหมาะสมกับลูกค้า

(ค) ลงนามเป็นผู้อนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายของการให้บริการแก่ลูกค้า

(5) จัดเก็บหลักฐานการดำเนินการตาม (1) (2) (3) และ (4) ไว้ในลักษณะที่สำนักงานสามารถเรียกดูได้โดยไม่ชักช้า

หมวด 7

การรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน

นอกสถานที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจ

ข้อ 36 ในหมวดนี้

“ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

“ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 หรือศูนย์ซื้อขายสัญญา ซื้อขายล่วงหน้าที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

“หน่วยลงทุน” หมายความว่า หน่วยลงทุนหรือตราสารดังต่อไปนี้

(1) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามประกาศเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรวมที่ออกตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(2) หน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศ (foreign collective investment scheme)

ข้อ 37 เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องตามข้อ 12(3) แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ในกรณีที่มีการให้ บริการรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนอกสถานที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวดนี้

ข้อ 38 ผู้ประกอบธุรกิจจะให้บริการรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนอกสถานที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจได้ต่อเมื่อผู้ประกอบธุรกิจมีคุณสมบัติและความพร้อม ในการให้บริการในลักษณะเช่นเดียวกับการมีสำนักงานสาขาตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสำนักงานสาขา

ข้อ 39 ในการให้บริการรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนอกสถานที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่เป็นการรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการ ตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) รับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนในสถานที่ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจเปิดให้บริการชั่วคราวเท่านั้น

(ข) จัดให้ลูกค้าส่งคำสั่งซื้อขายด้วยตนเอง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับลูกค้า ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจัดไว้ในสถานที่เปิดให้บริการชั่วคราว

(2) ในกรณีที่เป็นการรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจรับคำสั่ง ซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนได้เฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้

(ก) รับคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุน

(ข) รับใบจองซื้อหลักทรัพย์ตามสถานที่และวิธีการที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนและแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์

ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนตามวรรคหนึ่ง (1) เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟซึ่งโครงการจัดการกองทุนรวมดังกล่าวกำหนดให้ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนโดยตรงกับบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจรับคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวนอกสถานที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง (1) (ก) และ (ข)

ข้อ 40 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนอกสถานที่ทำการในกรณีอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดในข้อ 38 และข้อ 39 ให้ผู้ประกอบธุรกิจ ยื่นคำขออนุญาตจากสำนักงานเป็นรายกรณี โดยสำนักงานจะพิจารณาอนุญาตต่อเมื่อผู้ประกอบธุรกิจสามารถแสดงได้ว่ามีความพร้อมของบุคลากรและมีระบบงานอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าโดยเฉพาะข้อมูลการซื้อขายของลูกค้า และระบบป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่มีหน้าที่เข้าถึงข้อมูลของลูกค้าและป้องกันไม่ให้มีการนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ในทางมิชอบ

(2) ระบบการจัดการและจัดเก็บข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น บันทึกการสนทนาการให้คำแนะนำและการรับคำสั่งซื้อขายที่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถตัด เพิ่ม แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงข้อความที่บันทึกคำสนทนาได้ เป็นต้น

(3) ระบบการรับส่งคำสั่งซื้อขายที่มีประสิทธิภาพ

(4) ระบบตรวจสอบและควบคุมภายในสำหรับการรับคำสั่งนอกสถานที่ เช่น แผนการตรวจสอบและรายงานการตรวจสอบ เป็นต้น ในการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติเพิ่มเติมในแต่ละกรณีด้วยก็ได้

ข้อ 41 ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำรายงานการรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนอกสถานที่ทำการในทุกรอบปีปฏิทิน โดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ วันและเวลาที่ได้เปิดให้บริการ และขอบเขตการให้บริการ และจัดเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินที่มีการให้บริการนอกสถานที่ทำการ เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้

หมวด 8

บทเฉพาะกาล

ข้อ 42 ในกรณีที่ข้อตกลงในการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามข้อ 12(4) และข้อ 17 ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้แต่ไม่เกินกว่าวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560

ประกาศ ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ