ที่ ทจ.3/2558
เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศ
ซึ่งไม่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ
_________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 มาตรา 67 มาตรา 69 และมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้ และในแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ที่กำหนดตามประกาศนี้
คำว่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” “บริษัทจดทะเบียน” “บริษัทใหญ่” “บริษัทย่อย”
“บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน” “บริษัทร่วม” “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” “ผู้บริหาร” “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่”
“ผู้มีอำนาจควบคุม” “บุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง” และ “งบการเงินรวม” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์
“บริษัทต่างประเทศ” หมายความว่า บริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
“บริษัทซีแอลเอ็มวี” หมายความว่า บริษัทต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี
“ประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี” (CLMV) หมายความว่า ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
“แบบแสดงรายการข้อมูล” หมายความว่า แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศ
“ธุรกิจการถือหุ้นบริษัทอื่น” (holding company) หมายความว่า บริษัทต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหลักด้วยการถือหุ้นในบริษัทอื่น และไม่มีการประกอบธุรกิจด้านการผลิต จำหน่าย หรือบริการอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง
“บริษัทไทย” หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“กรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน” หมายความว่า กรรมการที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร กรรมการที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการใด ๆ เยี่ยงผู้บริหาร และให้หมายความรวมถึงกรรมการที่มีอำนาจลงนามผูกพัน เว้นแต่จะแสดงได้ว่าเป็นการลงนามผูกพันตามรายการที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติไว้แล้ว และเป็นการลงนามร่วมกับกรรมการรายอื่น
“ส่วนราชการ” หมายความว่า หน่วยราชการที่เป็นราชการส่วนกลางตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
“ผู้ถือหุ้นที่มีนัย” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นในกิจการใดเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการนั้น และการถือหุ้นดังกล่าวให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
“รายการที่เกี่ยวโยงกัน” หมายความว่า การทำธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือบริษัทย่อยกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท
“บุคคลที่เกี่ยวโยงกัน” หมายความว่า บุคคลที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ออกตามความในมาตรา 89/1
“บุคคลไทย” หมายความว่า
(1) บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย
(2) นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงนิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเป็นบุคคลที่มีสัญชาติต่างด้าวเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น
(3) นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีบุคคลดังต่อไปนี้ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น
(ก) บุคคลธรรมดาตาม (1)
(ข) นิติบุคคลตาม (2)
(4) นิติบุคคลที่ถูกถือหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ เกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น โดยเริ่มจากการถือหุ้นของ (3)
(5) นิติบุคคลซึ่งบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4) มีอำนาจควบคุมกิจการ
“การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ” หมายความว่า การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ โดยกำหนดราคาเสนอขายไว้ต่ำกว่าร้อยละเก้าสิบของราคาตลาด โดยมีราคาตลาดและราคาเสนอขายเป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการคำนวณราคาเสนอขายหลักทรัพย์และการกำหนดราคาตลาดเพื่อการพิจารณาการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ
“ธุรกิจสถาบันการเงิน” หมายความว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย ไม่ว่าเป็น การประกอบธุรกิจตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ
“ผู้สอบบัญชีท้องถิ่น” หมายความว่า ผู้สอบบัญชีที่สามารถทำการสอบบัญชีได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของประเทศที่บริษัทต่างประเทศจัดตั้งขึ้น
ภาค 1
บททั่วไป
________________
หมวด 1
ขอบเขตการใช้ประกาศ
_________________
ข้อ 3 ประกาศนี้เป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศ ซึ่งรองรับเฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้
(1) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (public offering) โดยบริษัทต่างประเทศซึ่งไม่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อการจดทะเบียนหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนนั้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือเพื่อการเพิ่มทุนภายหลังเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว ทั้งนี้ การเสนอขายหุ้นดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้บังคับหลักเกณฑ์ ดังนี้
(ก) บริษัทต่างประเทศที่ไม่ใช่กรณีตาม (ข) ให้อยู่ภายใต้บังคับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตในภาค 2 และการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน ในภาค 4
(ข) บริษัทซีแอลเอ็มวี ให้อยู่ภายใต้บังคับเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอนุญาตในภาค 3 และการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนในภาค 4
(2) การเสนอขายหุ้นโดยผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างประเทศ ให้อยู่ภายใต้บังคับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนในภาค 4
ข้อ 4 บริษัทต่างประเทศตามข้อ 3 จะเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในประเทศไทยได้ต่อเมื่อมูลค่าของหุ้นที่ได้รับอนุญาตยังอยู่ในวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดสำหรับ การควบคุมการทำธุรกรรมในตลาดทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ
หมวด 2
ภาษาที่ใช้ในการยื่นข้อมูลหรือเอกสาร
_________________
ข้อ 5 การยื่นข้อมูลหรือเอกสารต่อสำนักงานตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร
(1) ผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้อาจยื่นข้อมูลหรือเอกสารที่จัดทำเป็นภาษาลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
(ก) ภาษาไทย
(ข) ภาษาอังกฤษ
(ค) ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
(2) ในกรณีที่ข้อมูลหรือเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานแปลมาจากข้อมูลหรือเอกสารภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ให้ผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้ดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย
(ก) ดำเนินการให้ผู้แปลรับรองความถูกต้องว่า สาระของการแปลถูกต้องตรงตามสาระของข้อมูลหรือเอกสารที่เป็นต้นฉบับ
(ข) ผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้ต้องรับรองว่า สาระของข้อมูลหรือเอกสารที่แปลนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่จริงและมิได้มีการปกปิดข้อเท็จจริงที่พึงเปิดเผย ข้อมูลหรือเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานตามประกาศนี้ หากได้จัดทำเป็นภาษาใดในครั้งแรก ให้จัดทำโดยใช้ภาษานั้นต่อไป ไม่ว่าจะมีการจัดทำด้วยภาษาอื่นด้วยหรือไม่ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร
หมวด 3
อำนาจของสำนักงาน
_________________
ข้อ 6 ในการพิจารณาคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปตามภาค 2 หรือภาค 3 ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตหรือตัวแทนของผู้ขออนุญาตมาชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตหรือตัวแทนของผู้ขออนุญาตไม่มาชี้แจงหรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้ถือว่าผู้ขออนุญาตไม่ประสงค์จะขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้น ที่ออกใหม่นั้นอีกต่อไป
ข้อ 7 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ตามคำขออนุญาตเสนอขายหุ้น ที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปตามภาค 2 หรือภาค 3 ได้
(1) ผู้ขออนุญาตหรือการเสนอขายหลักทรัพย์มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่า ความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายหลักทรัพย์นั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศนี้
(2) การเสนอขายหลักทรัพย์อาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ
(3) การเสนอขายหลักทรัพย์อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทยโดยรวม
(4) การเสนอขายหลักทรัพย์อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนโดยรวม หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนโดยรวมไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน
ข้อ 8 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานภายหลังการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปตามภาค 2 หรือภาค 3 ซึ่งหากข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏต่อสำนักงานก่อนการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นนั้นอาจทำให้การพิจารณาของสำนักงานเปลี่ยนแปลงไป ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) สั่งให้ผู้ได้รับอนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหาร ชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด และให้บริษัทต่างประเทศระงับการเสนอขายหุ้นที่ได้รับอนุญาตไว้ก่อนจนกว่าจะได้ชี้แจงหรือแก้ไขให้ถูกต้อง
(2) สั่งให้ผู้ได้รับอนุญาตหยุดการเสนอขายหุ้นในส่วนที่ยังมิได้เสนอขายหรือยังไม่มีผู้จองซื้อ และให้การอนุญาตเป็นอันสิ้นสุดลงโดยไม่มีผลกระทบต่อการเสนอขายหุ้น ในส่วนที่ได้เสนอขายหรือมีผู้จองซื้อแล้ว
ข้อ 9 ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้ บังคับกับการเสนอขายหุ้นตามภาค 2 หรือภาค 3 ได้
(1) มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น และประโยชน์ที่จะได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุน ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว
(2) ผู้ขออนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน ทั้งนี้ ไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ
(3) ผู้ขออนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน การผ่อนผันตามวรรคหนึ่งให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
ข้อ 10 ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันการเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูลที่กำหนดเพิ่มเติมตามประกาศนี้ หากผู้เสนอขายหุ้นแสดงได้ว่าข้อมูลดังกล่าวมิใช่ข้อมูลที่มีผลกระทบ ต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ และมีเหตุอันควรที่จะไม่แสดงรายละเอียดของข้อมูลดังกล่าวไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลหรือได้ดำเนินการประการอื่นเพื่อทดแทนอย่างเพียงพอแล้ว
ข้อ 11 ในการพิจารณาข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามภาค 4 หากสำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ดำเนินการดังต่อไปนี้ ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด
(1) เปิดเผยข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนเพิ่มเติม
(2) แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลหรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม
(3) จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นอิสระในการทำความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วน หรือความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ปรากฏในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน
หากผู้เสนอขายหลักทรัพย์ไม่ดำเนินการตามที่สำนักงานกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้เสนอขายหลักทรัพย์ไม่ประสงค์จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานอีกต่อไป
ภาค 2
การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป
_________________
หมวด 1
การยื่นคำขออนุญาต
_________________
ข้อ 12 ให้บริษัทต่างประเทศที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขออนุญาต ทั้งนี้ ตามแบบและวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด
การยื่นคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นผู้ร่วมจัดทำคำขออนุญาตด้วย
ข้อ 13 ให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตต่อสำนักงานในวันยื่นคำขออนุญาต ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่
ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องไปเยี่ยมชมกิจการหรือสถานที่อื่นใดของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อย ผู้ขออนุญาตต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าที่พักและ ค่ายานพาหนะเดินทางที่เกิดขึ้นจากการเยี่ยมชมกิจการที่เกิดขึ้นจริงและเป็นไปตามสมควร โดยสำนักงานอาจกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวได้
ความในวรรคสองมิให้นำมาใช้บังคับกับการเยี่ยมชมกิจการหรือสถานที่อื่นใดของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อยที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล
หมวด 2
หลักเกณฑ์การอนุญาต
_________________
ข้อ 14 ผู้ขออนุญาตจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนได้ ต่อเมื่อแสดงให้สำนักงานเห็นได้ว่าธุรกิจของผู้ขออนุญาตไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือต่างประเทศ รวมทั้งมีคุณสมบัติและเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีประวัติฝ่าฝืนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ ไม่ว่าตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของประเทศไทย หรือตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างประเทศที่ใช้บังคับกับ ผู้ขออนุญาต ในเรื่องที่มีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาห้าปีก่อนการยื่นคำขออนุญาต
(2) ได้รับมติโดยชัดแจ้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทซึ่งอนุมัติการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ และมติดังกล่าวได้มาแล้วไม่เกินหนึ่งปีจนถึงวันยื่นคำขออนุญาต
(3) เป็นไปตามข้อกำหนดดังนี้
(ก) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายและความร่วมมือของหน่วยงานต่างประเทศ ตามส่วนที่ 1
(ข) ข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นและความคุ้มครอง ตามส่วนที่ 2
(ค) ข้อกำหนดเกี่ยวกับฝ่ายบริหารจัดการ ตามส่วนที่ 3
(ง) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล ตามส่วนที่ 4
(จ) ข้อกำหนดเกี่ยวกับที่ปรึกษาทางการเงิน ตามส่วนที่ 5
(ฉ) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจการถือหุ้นบริษัทอื่น (holding company) นอกจากหลักเกณฑ์ตาม (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) แล้ว ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดเพิ่มเติมตามส่วนที่ 6 ด้วย
(ช) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบริษัทจดทะเบียน นอกจากหลักเกณฑ์ตาม (ก) ถึง (ฉ) แล้ว ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดเพิ่มเติมตามส่วนที่ 7 ด้วย
ส่วนที่ 1
ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมาย
และความร่วมมือของหน่วยงานต่างประเทศ
_________________
ข้อ 15 ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าการเสนอขายหุ้นที่ขออนุญาตนั้นกระทำได้โดยชอบตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ของประเทศที่ใช้บังคับกับผู้ขออนุญาต
ข้อ 16 กฎหมายและกฎเกณฑ์ของต่างประเทศที่ใช้บังคับกับผู้ขออนุญาตมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารกิจการของบริษัทและการคุ้มครองผู้ถือหุ้นในเรื่องที่สำคัญเทียบเคียงได้กับกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลบริษัทไทย หรือผู้ขออนุญาตแสดงให้เห็นได้ว่าได้จัดให้มีกลไกที่จะทำให้การบริหารกิจการของผู้ขออนุญาตและการคุ้มครองผู้ถือหุ้นในเรื่องที่สำคัญเทียบเคียงได้กับกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของประเทศไทย
ข้อ 17 ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศดังต่อไปนี้ จะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานในการตรวจสอบหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว
(1) ประเทศที่ผู้ขออนุญาตจัดตั้งขึ้น
(2) ประเทศที่ผู้ขออนุญาตมีการประกอบธุรกิจที่มีนัยสำคัญ
ส่วนที่ 2
ข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นและความคุ้มครอง
_________________
ข้อ 18 ผู้ขออนุญาตต้องมีโครงสร้างการถือหุ้นที่ชัดเจน เป็นธรรม และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 19 ข้อ 20 และข้อ 21
ข้อ 19 โครงสร้างการถือหุ้นของผู้ขออนุญาต บริษัทย่อย และบริษัทร่วมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) สามารถสะท้อนอำนาจในการควบคุมและส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นได้อย่างชัดเจน
(2) ไม่มีบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งของผู้ขออนุญาตถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือ บริษัทร่วมเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมนั้น เว้นแต่จะแสดงได้ว่าการจัดโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ขออนุญาตแล้ว
ข้อ 20 โครงสร้างการถือหุ้นระหว่างผู้ขออนุญาตกับบริษัทอื่นต้องไม่มีลักษณะเป็นการถือหุ้นไขว้ระหว่างกันที่ขัดหรือแย้งต่อหลักเกณฑ์ตามข้อ 21 เว้นแต่จะแสดงได้ว่าเป็นกรณี ตามข้อ 22
เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามข้อ 21 และข้อ 22
(1) การพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้น ให้คำนวณตามจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลที่ถูกถือหุ้น
(2) คำว่า “บริษัทอื่น” ให้หมายความรวมถึงห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือกิจการอื่นใดที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันด้วย
ข้อ 21 ผู้ขออนุญาตและบริษัทอื่นต้องไม่มีการถือหุ้นไขว้ระหว่างกันที่ขัดหรือแย้งต่อหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(ก) ผู้ขออนุญาตต้องไม่ถือหุ้นไขว้ในบริษัทอื่น ในกรณีที่บริษัทอื่นเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(ข) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละห้าสิบ ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นถือหุ้นไขว้ในผู้ขออนุญาต
(ค) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบในบริษัทอื่นตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไป ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นเหล่านั้นถือหุ้นไขว้ระหว่างกัน
(2) กรณีการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า แต่ไม่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(ก) ผู้ขออนุญาตต้องไม่ถือหุ้นไขว้ในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละสิบ ในกรณีที่บริษัทอื่นเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า แต่ไม่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(ข) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า แต่ไม่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นถือหุ้นไขว้ในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละสิบ
(3) กรณีการถือหุ้นไม่เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า
(ก) ผู้ขออนุญาตต้องไม่ถือหุ้นไขว้ในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า ในกรณีที่บริษัทอื่นเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตไม่เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า
(ข) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่นไม่เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นถือหุ้นไขว้ในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า
เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง
(1) การพิจารณาการถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือของบริษัทอื่น ให้นับรวมการถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของบุคคลดังต่อไปนี้รวมเป็นการถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือของ บริษัทอื่น ตามแต่กรณีด้วย
(ก) การถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือของบริษัทอื่น แล้วแต่กรณี ที่มีการถือหุ้นโดยทางอ้อมผ่านนิติบุคคลอื่นทุกทอดตลอดสายเท่าที่การถือหุ้นในแต่ละทอดยังคงเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของนิติบุคคลอื่นนั้น
(ข) ผู้ถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือผู้ถือหุ้นของบุคคลตาม (ก) ที่เป็นสายของผู้ขออนุญาต ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและถือหุ้นในผู้ขออนุญาตหรือบุคคลตาม (ก) เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของผู้ขออนุญาตหรือบุคคลตาม (ก) นั้น
(ค) ผู้ถือหุ้นของบริษัทอื่นหรือผู้ถือหุ้นของบุคคลตาม (ก) ที่เป็นสายของบริษัทอื่น ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและถือหุ้นในบริษัทอื่นหรือบุคคลตาม (ก) เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของบริษัทอื่นหรือบุคคลตาม (ก) นั้น
(ง) การถือหุ้นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ถือหุ้นตาม (ข) หรือ (ค)
(2) ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดการนับรวมการถือหุ้นของบุคคลที่มีลักษณะเป็นการถือหุ้นไขว้โดยทางอ้อมซึ่งมีผลต่อความชัดเจนในโครงสร้างการถือหุ้น
ข้อ 22 ผู้ขออนุญาตอาจได้รับการผ่อนผันให้ถือหุ้นไขว้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมกับบริษัทอื่นโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับตามข้อ 21 ได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) มีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ไม่เป็นบุคคลที่มีสายสัมพันธ์ ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตหรือบริษัทอื่น แล้วแต่กรณี รวมกันในสัดส่วนที่มากกว่าการถือหุ้นตามข้อ 21 ของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทอื่น แล้วแต่กรณี ซึ่งสามารถถ่วงดุลการใช้อำนาจควบคุมในผู้ขออนุญาตหรือบริษัทอื่น แล้วแต่กรณีได้
(2) การถือหุ้นไขว้มีเหตุจำเป็นและสมควร และไม่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง คำว่า “บุคคลที่มีสายสัมพันธ์” ให้หมายความถึงบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง โดยอนุโลม
ข้อ 23 ผู้ขออนุญาตจัดให้มีบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนในประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่ประสานงานและติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งรับหนังสือ คำสั่ง หมายเรียก หรือ เอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ขออนุญาตได้ และแสดงได้ว่าบุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวต้องมีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยด้วย
ข้อ 24 ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่ากลไกการบริหารจัดการของผู้ขออนุญาตจะไม่สามารถรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น หรือไม่สามารถปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม
ข้อ 25 กรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ขออนุญาตไม่มีผลประโยชน์อื่นที่อาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ขออนุญาต เว้นแต่ผู้ขออนุญาตสามารถแสดงได้ว่ามีกลไกที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่าการบริหารจัดการจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ขออนุญาตและผู้ถือหุ้นโดยรวม
ส่วนที่ 3
ข้อกำหนดเกี่ยวกับฝ่ายบริหารจัดการ
_________________
ข้อ 26 คณะกรรมการของผู้ขออนุญาตมีความเข้าใจต่อบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี และแสดงได้ว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้
ในกรณีที่คณะกรรมการมีการมอบหมายให้ผู้จัดการ หรือบุคคลอื่นปฏิบัติการแทนคณะกรรมการในเรื่องใด ต้องมีกลไกที่ส่งผลให้การมอบหมายดังกล่าวต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบันทึกเป็นมติคณะกรรมการในรายงานการประชุมคณะกรรมการอย่างชัดเจน และมีการระบุขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้รับมอบอำนาจไว้อย่างชัดเจน
ข้อ 27 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุม มีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) มีความบกพร่องในด้านความสามารถตามกฎหมาย เช่น เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น
(2) มีพฤติกรรมหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมดังนี้ โดยให้พิจารณาย้อนหลังไม่เกินกว่าสิบปี
(ก) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ของกรรมการหรือผู้บริหารในการบริหารงานด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในเรื่องที่มีนัยสำคัญ
(ข) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดทุนไม่ว่าเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศในเรื่องดังนี้
1. การกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือการเอาเปรียบผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
2. การกระทำโดยทุจริต การทำให้เสียหายต่อทรัพย์สิน ต่อเจ้าหนี้ หรือต่อประชาชน
3. การไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังหรือซื่อสัตย์สุจริต
4. การจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญหรือปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ควรบอกให้แจ้ง
5. การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงประชาชน
(ค) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินไม่ว่าเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ และต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือคำพิพากษาหรือคำสั่งอื่นใดในทำนองเดียวกัน
ข้อ 28 ผู้ขออนุญาตต้องมีกรรมการที่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยอย่างน้อยสองคน โดยอย่างน้อยหนึ่งคนต้องเป็นกรรมการตรวจสอบตามข้อ 32
ข้อ 29 โครงสร้างคณะกรรมการและการจัดการมีการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) กันอย่างเพียงพอ โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 30 และข้อ 32
ข้อ 30 ผู้ขออนุญาตต้องมีกรรมการอิสระอย่างน้อยหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดของผู้ขออนุญาตแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามคน โดยกรรมการอิสระแต่ละคนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ถือหุ้นไม่เกินร้อยละหนึ่งของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต ทั้งนี้ ให้นับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องของกรรมการอิสระรายนั้น ๆ ด้วย
(2) ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน ทั้งนี้ ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวไม่รวมถึงกรณีที่กรรมการอิสระเคยเป็นข้าราชการ หรือที่ปรึกษา ของส่วนราชการซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต
(3) ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมาย ในลักษณะที่เป็นบิดา มารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของกรรมการรายอื่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นกรรมการ ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อย
(4) ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน หรือเป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 31
ความสัมพันธ์ทางธุรกิจตามวรรคหนึ่ง รวมถึงการทำรายการทางการค้าที่กระทำเป็นปกติเพื่อประกอบกิจการ การเช่าหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ รายการเกี่ยวกับสินทรัพย์หรือบริการ หรือการให้หรือรับความช่วยเหลือทางการเงิน ด้วยการรับหรือให้กู้ยืม ค้ำประกัน การให้สินทรัพย์เป็นหลักประกันหนี้สิน รวมถึงพฤติการณ์อื่นทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตหรือคู่สัญญามีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่ร้อยละสามของสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของผู้ขออนุญาตหรือตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทขึ้นไป แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ การคำนวณภาระหนี้ดังกล่าว ให้เป็นไปตามวิธีการคำนวณมูลค่าของรายการที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน โดยอนุโลม แต่ในการพิจารณาภาระหนี้ดังกล่าว ให้นับรวมภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างหนึ่งปีก่อนวันที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบุคคลเดียวกัน
(5) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาตสังกัดอยู่ เว้นแต่ จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน
(6) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใด ๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่าสองล้านบาทต่อปีจาก ผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้นด้วย เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน หรือเป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 31
(7) ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของผู้ขออนุญาต ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่
(8) ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อย หรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัยในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกินร้อยละหนึ่งของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่น ซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อย
(9) ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้ขออนุญาตภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระที่มีลักษณะเป็นไปตามวรรคหนึ่ง
(1) ถึง (9) แล้ว กรรมการอิสระอาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต โดยมีการตัดสินใจในรูปแบบขององค์คณะ (collective decision) ได้
เพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง (5) และ (6) คำว่า “หุ้นส่วน” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานสอบบัญชี หรือผู้ให้บริการทางวิชาชีพ ให้เป็นผู้ลงลายมือชื่อ ในรายงานการสอบบัญชี หรือรายงานการให้บริการทางวิชาชีพ แล้วแต่กรณี ในนามของนิติบุคคลนั้น
ข้อ 31 ในกรณีที่บุคคลที่ผู้ขออนุญาตแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระเป็นบุคคลที่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการให้บริการทางวิชาชีพเกินมูลค่าที่กำหนดตามข้อ 30(4) หรือ (6) ให้ผู้ขออนุญาตได้รับการผ่อนผันข้อห้ามการมีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการให้บริการทางวิชาชีพเกินมูลค่าดังกล่าว ก็ต่อเมื่อผู้ขออนุญาตได้จัดให้มีความเห็นคณะกรรมการบริษัทที่แสดงว่าได้พิจารณาแล้วว่าการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และการให้ความเห็นที่เป็นอิสระ และจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อไปนี้ในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวาระพิจารณาแต่งตั้งกรรมการอิสระด้วย
(1) ลักษณะความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการให้บริการทางวิชาชีพ ที่ทำให้บุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
(2) เหตุผลและความจำเป็นที่ยังคงหรือแต่งตั้งให้บุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการอิสระ
(3) ความเห็นของคณะกรรมการของผู้ขออนุญาตในการเสนอให้มีการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการอิสระ
ข้อ 32 ผู้ขออนุญาตต้องมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยสามคน ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ขออนุญาตให้เป็นกรรมการตรวจสอบ
(2) เป็นกรรมการอิสระที่เป็นไปตามข้อ 30 และต้อง
(ก) ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต
(ข) ไม่เป็นกรรมการของบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทย่อยลำดับเดียวกันเฉพาะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน
(3) มีหน้าที่ในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ในประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยคุณสมบัติและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
(4) มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะกรรมการตรวจสอบ ทั้งนี้ ต้องมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยหนึ่งคนที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้
ข้อ 33 ผู้ขออนุญาตต้องมีระบบการจัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) มีบุคลากรที่รับผิดชอบดำเนินการในเรื่องดังนี้
(ก) จัดทำและเก็บเอกสารดังนี้
1. ทะเบียนกรรมการ
2. หนังสือนัดประชุมคณะกรรมการ รายงานการประชุมคณะกรรมการ และรายงานประจำปีของบริษัท
3. หนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น และรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น
(ข) เก็บรักษารายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหาร รวมทั้ง บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
(ค) ดำเนินการอื่น ๆ ตามขอบเขตเช่นเดียวกับที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดให้เลขานุการบริษัทต้องปฏิบัติ
(2) มีกลไกที่ทำให้มั่นใจได้ว่าบุคลากรตาม (1) จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของผู้ขออนุญาต มติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
(3) มีระบบการเก็บรักษาเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการแสดงข้อมูลดังต่อไปนี้ รวมทั้งดูแลให้มีการเก็บรักษาเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าว ให้ถูกต้องครบถ้วนและสามารถตรวจสอบได้ ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่มีการจัดทำเอกสารหรือข้อมูลดังกล่าว
(ก) การให้ข้อมูลประกอบการขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
(ข) งบการเงิน และรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัท หรือรายงานอื่นใด ที่ต้องเปิดเผยตามมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 58 หรือมาตรา 199
(ค) ความเห็นของกิจการเมื่อมีผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไป
(ง) การให้ข้อมูล หรือรายงานอื่นใด เกี่ยวกับกิจการที่บริษัทจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ต่อผู้ถือหุ้น หรือประชาชนเป็นการทั่วไป ตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ส่วนที่ 4
ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล
_________________
ข้อ 34 ต้องไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัย ดังต่อไปนี้
(1) ข้อมูลที่เปิดเผยต่อประชาชนไม่ครบถ้วน ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือมีข้อความที่อาจทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด
(2) ผู้ขออนุญาตไม่มีระบบเพียงพอที่จะทำให้สามารถจัดทำและเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้อย่างต่อเนื่องและน่าเชื่อถือ
ข้อ 35 งบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวมประจำรอบปีบัญชีล่าสุด และงบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขออนุญาต ต้องถูกต้อง น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังนี้ เว้นแต่เป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินอื่นที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
(ก) มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย โดยได้จัดทำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ออกตามความในมาตรา 56 ซึ่งใช้บังคับกับบริษัทต่างประเทศที่ได้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนตามประกาศนี้ด้วย
(ข) International Financial Reporting Standards (IFRS)
(ค) มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่หน่วยงานทางการในต่างประเทศยอมรับหรือกำหนด โดยมีการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินโดยแสดงผลกระทบของรายการที่แตกต่างจาก IFRS (reconciled IFRS) ไว้ด้วย
(2) รายงานของผู้สอบบัญชีต้องลงลายมือชื่อตรวจสอบ (กรณีงบการเงินประจำรอบปีบัญชี) หรือสอบทาน (กรณีงบการเงินรายไตรมาส) โดยผู้สอบบัญชีที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
(ก) ผู้สอบบัญชีที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีในตลาดทุน ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีดังกล่าวมิใช่ผู้สอบบัญชีท้องถิ่น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้ด้วย
1. งบการเงินดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบหรือสอบทาน แล้วแต่กรณี จากผู้สอบบัญชีท้องถิ่น ซึ่งสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่เป็นเครือข่ายเดียวกันกับสำนักงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีที่ลงลายมือชื่อดังกล่าว
2. สำนักงานสอบบัญชีทั้งสองแห่งตาม 1. ต้องเป็นสมาชิกประเภทเต็มรูปแบบ (full member) ของเครือข่ายเดียวกันนั้น
(ข) ผู้สอบบัญชีต่างประเทศที่สำนักงานให้ความเห็นชอบตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีต่างประเทศที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
1. เป็นผู้สอบบัญชีที่อยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลที่มีมาตรฐานการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของประเทศไทย และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้สอบบัญชีดังกล่าว จะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานในการตรวจสอบหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในเรื่องเกี่ยวกับการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีในตลาดทุน และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว
2. เป็นผู้สอบบัญชีต่างประเทศอื่นนอกจากกรณีตาม 1. ที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบตามประกาศดังกล่าว(3) รายงานของผู้สอบบัญชีตาม (2) ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังนี้
(ก) การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ต้องใช้ในการจัดทำงบการเงินนั้น
(ข) ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบหรือสอบทาน แล้วแต่กรณี โดยการกระทำหรือไม่กระทำของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือของกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีบริษัทย่อย ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าบริษัทย่อยดังกล่าวสามารถจัดทำข้อมูลทางการเงินและข้อมูลการเปิดเผยอื่นให้แก่ผู้ขออนุญาตเพื่อให้ผู้ขออนุญาตสามารถจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนดในวรรคหนึ่ง (1)
ส่วนที่ 5
ข้อกำหนดเกี่ยวกับที่ปรึกษาทางการเงิน
_________________
ข้อ 36 ผู้ขออนุญาตแสดงให้เห็นได้ว่ามีสัญญาที่ผูกพันที่ปรึกษาทางการเงินที่ร่วมจัดทำคำขออนุญาตให้ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ เป็นระยะเวลาติดต่อกันสามปีนับจากวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวต้องไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลิกสัญญาในลักษณะที่อาจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตหรือที่ปรึกษาทางการเงินใช้เป็นเหตุ ในการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง
(1) ชี้แจงข้อมูลเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามที่กำหนดในข้อ 21(2) (3) และ (4) แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน
(2) ติดตาม ดูแล และให้คำแนะนำผู้ขออนุญาตในการปฏิบัติหน้าที่ภายหลังการออกและเสนอขายหลักทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่ดังต่อไปนี้
(ก) การจัดทำและส่งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และสารสนเทศอื่นที่สำคัญของบริษัทต่างประเทศ
(ข) การดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 57 และมาตรา 58
(ค) การปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตตามที่กำหนดในข้อ 54 วรรคสอง (1) และ (2)
ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
ข้อ 37 ข้อกำหนดตามข้อ 36 ไม่ใช้กับผู้ขออนุญาตที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว
(2) เป็นบริษัทต่างประเทศที่มีบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ขออนุญาต โดยอย่างน้อยต้องมีผู้ถือหุ้นที่มีลักษณะตามวรรคสอง (2) รวมอยู่ด้วย
(3) เป็นบริษัทต่างประเทศที่มีบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ขออนุญาต เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นหรือมีเงื่อนไข ในการร่วมทุนกับภาครัฐ โดยอย่างน้อยต้องมีผู้ถือหุ้นที่มีลักษณะตามวรรคสอง (2) รวมอยู่ด้วย
การพิจารณาจำนวนการถือหุ้นของบุคคลไทยตามวรรคหนึ่ง (2) และ (3) ให้พิจารณาการถือหุ้นเฉพาะผู้ถือหุ้นดังนี้
(1) ผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทต่างประเทศนั้น
(2) ผู้ถือหุ้นที่โดยพฤติการณ์มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัทต่างประเทศนั้นอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนที่ 6
ข้อกำหนดเพิ่มเติมกรณีที่ผู้ขออนุญาตประกอบ
ธุรกิจการถือหุ้นบริษัทอื่น (holding company)
_________________
ข้อ 38 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจการถือหุ้นบริษัทอื่น ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่ามีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย
(1) มีการประกอบธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะมีธุรกิจเดียวหรือหลายธุรกิจผ่านบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 40 ไม่ว่าบริษัทเดียวหรือหลายบริษัท
(2) ขนาดของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 40 ทุกบริษัทรวมกัน เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของผู้ขออนุญาตมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้า ทั้งนี้ เฉพาะขนาดของ บริษัทย่อยตามข้อ 40(1) หรือของบริษัทตามข้อ 40(2) มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของขนาดของผู้ขออนุญาต
(3) การดำเนินงานของผู้ขออนุญาตไม่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน (investment company) และไม่มีพฤติกรรมอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของผู้ขออนุญาตมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะเช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน เว้นแต่มีการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 40 โดยขนาดของบริษัทอื่นดังกล่าวทุกบริษัทรวมกันมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของขนาดของผู้ขออนุญาต
(4) มีกลไกการกำกับดูแลที่ทำให้ผู้ขออนุญาตสามารถควบคุมดูแลการจัดการและรับผิดชอบการดำเนินงานของบริษัทย่อยตามข้อ 40(1) ได้ เสมือนเป็นหน่วยงานหนึ่งของผู้ขออนุญาต รวมทั้งมีมาตรการในการติดตามการบริหารงานของบริษัทดังกล่าวเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ ในเงินลงทุนของผู้ขออนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 41
(5) บริษัทย่อยตามข้อ 40(1) หรือบริษัทตามข้อ 40(2) ต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ ผู้ขออนุญาตตามข้อ 14(1) รวมทั้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 1 ถึง ส่วนที่ 4 ของหมวดนี้ ยกเว้นหลักเกณฑ์ในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) การมีตัวแทนในประเทศไทยตามข้อ 23
(ข) ข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมการ และโครงสร้างกรรมการและการจัดการ ตามข้อ 28 ข้อ 29 ข้อ 30 ข้อ 31 และข้อ 32
(ค) ระบบจัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามข้อ 33
(ง) ข้อกำหนดเกี่ยวกับงบการเงินตามข้อ 35 วรรคหนึ่ง โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 39
(จ) ในกรณีที่บริษัทย่อยหรือบริษัทดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ กลุ่มซีแอลเอ็มวี หากผู้ขออนุญาตมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้ ให้ได้รับยกเว้นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการมีหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนที่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานตามข้อ 17 ด้วย
1. เป็นบริษัทต่างประเทศที่มีบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ขออนุญาต โดยอย่างน้อยต้องมีผู้ถือหุ้นที่มีลักษณะตามวรรคสอง 2. รวมอยู่ด้วย
2. เป็นบริษัทต่างประเทศที่มีบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ขออนุญาต (เฉพาะในกรณีที่มีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นหรือมีเงื่อนไขในการร่วมทุนกับภาครัฐที่ทำให้การถือหุ้นไม่สามารถเป็นไปตาม 1. ได้) โดยอย่างน้อยต้องมีผู้ถือหุ้นที่มีลักษณะตามวรรคสอง 2. รวมอยู่ด้วย
การพิจารณาจำนวนการถือหุ้นของบุคคลไทยตามวรรคหนึ่ง 1. และ 2.ให้พิจารณาการถือหุ้นเฉพาะผู้ถือหุ้นดังนี้
1. ผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทต่างประเทศนั้น
2. ผู้ถือหุ้นที่โดยพฤติการณ์มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัทต่างประเทศนั้นอย่างมีนัยสำคัญ
(6) ในกรณีที่บริษัทย่อยตามข้อ 40(1) หรือบริษัทตามข้อ 40(2) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ กรรมการของบริษัทดังกล่าวอย่างน้อยหนึ่งคนต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
การพิจารณาขนาดของผู้ขออนุญาตและขนาดของบริษัทตามวรรคหนึ่ง (2) และ (3) ให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วย การพิจารณาขนาดของบริษัทในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ โดยอนุโลม
ข้อ 39 งบการเงินประจำรอบปีบัญชีล่าสุดและงบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขออนุญาตของบริษัทย่อยตามข้อ 40(1) และบริษัทตามข้อ 40(2) ต้องผ่านการตรวจสอบหรือสอบทาน แล้วแต่กรณี โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ผู้สอบบัญชีของผู้ขออนุญาต เว้นแต่ผู้สอบบัญชีดังกล่าวไม่สามารถทำการสอบบัญชีได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของประเทศที่บริษัทย่อยตามข้อ 40(1) หรือบริษัทตามข้อ 40(2) จัดตั้งขึ้น
(2) ผู้สอบบัญชีท้องถิ่นซึ่งสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่เป็นเครือข่ายเดียวกับสำนักงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีของผู้ขออนุญาต โดยสำนักงานสอบบัญชีทั้งสองแห่งนั้น เป็นสมาชิกประเภทเต็มรูปแบบ (full member) ของเครือข่ายดังกล่าว
ผู้สอบบัญชีของผู้ขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ผู้สอบบัญชีที่ลงลายมือชื่อตรวจสอบหรือสอบทานงบการเงินของผู้ขออนุญาตตามข้อ 35(2) ข้อ 40 บริษัทที่จะถือว่าเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 38 วรรคหนึ่ง (1) ของผู้ขออนุญาต ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นบริษัทย่อยของผู้ขออนุญาต
(2) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตไม่สามารถถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวได้ถึงสัดส่วนที่จะเป็นบริษัทย่อยตาม (1) เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่น หรือมีเงื่อนไขในการร่วมทุนกับภาครัฐ โดยผู้ขออนุญาตถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว และผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัทดังกล่าวอย่างน้อยตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทนั้น
(3) เป็นบริษัทร่วม ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
(ก) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตถือหุ้นเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว
(ข) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบแต่ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว และผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่าผู้ขออนุญาตสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีนัยสำคัญของบริษัทนั้นได้ไม่แตกต่างจากการเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท
(ค) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ซึ่งได้รับอนุญาตในครั้งนี้
ข้อ 41 ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่ามีกลไกในการกำกับดูแลบริษัทย่อยตามข้อ 40(1) อย่างน้อยในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) มีการส่งบุคคลเข้าเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทย่อยอย่างน้อยตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อยนั้น และมีระเบียบปฏิบัติหรือข้อกำหนดที่ทำให้การส่งบุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการของผู้ขออนุญาต
(2) มีการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารที่ได้รับแต่งตั้งตาม (1) ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึง
(ก) การกำหนดกรอบอำนาจในการใช้ดุลพินิจที่ชัดเจน และที่มีผลให้การพิจารณาของกรรมการและผู้บริหารดังกล่าวในการออกเสียงในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทย่อย ในเรื่องสำคัญต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของผู้ขออนุญาตก่อน
(ข) การติดตามดูแลให้บริษัทย่อยมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน การทำรายการระหว่างกัน และการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่มีนัยสำคัญให้ครบถ้วนถูกต้อง
(ค) การติดตามดูแลให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทย่อยปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กฎหมายกำหนด
(3) มีกลไกในการกำกับดูแลที่มีผลให้การทำรายการระหว่างบริษัทย่อยกับบุคคลที่เกี่ยวโยง การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน หรือการทำรายการสำคัญอื่นใดของบริษัทย่อย ต้องได้รับมติจากที่ประชุมคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ขออนุญาตก่อนการทำรายการดังกล่าว ทั้งนี้ ให้พิจารณาการทำรายการดังกล่าวของบริษัทย่อยทำนองเดียวกับการทำรายการในลักษณะและขนาดเดียวกันกับที่ผู้ขออนุญาตต้องได้รับมติจากที่ประชุมคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ขออนุญาตให้นำหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) มาบังคับใช้กับบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 40(2) และ (3) ด้วย โดยอนุโลม
ข้อ 42 ในกรณีที่ขนาดของบริษัทย่อยตามข้อ 40(1) หรือบริษัทตามข้อ 40(2) มีสัดส่วนที่ไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับขนาดของผู้ขออนุญาต ให้บริษัทดังกล่าวได้รับยกเว้นหลักเกณฑ์ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของต่างประเทศที่เทียบเคียงได้กับกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลบริษัทไทยตามข้อ 16
(2) การตรวจสอบหรือสอบทานงบการเงินของบริษัทตามข้อ 39
ส่วนที่ 7
ข้อกำหนดเพิ่มเติมกรณีผู้ขออนุญาต
เป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว
_________________
ข้อ 43 มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทซึ่งอนุมัติการเสนอขายหุ้นตามข้อ 14(2) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้
(1) วาระการประชุมผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเป็นวาระที่เสนอโดยผู้ขออนุญาต
(2) ผู้ขออนุญาตได้ให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาวาระการประชุมตาม (1) ต่อผู้ถือหุ้นล่วงหน้าไปพร้อมกับเอกสารการนัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยข้อมูลดังกล่าวมีความครบถ้วน ถูกต้อง และเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น
ข้อ 44 ผู้ขออนุญาตไม่อยู่ระหว่างการค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่างประเทศต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามมาตรา 56 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 แล้วแต่กรณี หรือไม่อยู่ระหว่างการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่อยู่ระหว่างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรายงานต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 57 แล้วแต่กรณี หรือไม่อยู่ระหว่างการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 58 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 58 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
ข้อ 45 ในระหว่างที่บริษัทต่างประเทศเป็นบริษัทจดทะเบียน ไม่ปรากฏพฤติกรรมที่อาจแสดงถึงความไม่เหมาะสมในการเป็นบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัยสำคัญ เช่น มีการบริหารกิจการในลักษณะไม่โปร่งใสหรือไม่เปิดช่องให้ผู้ถือหุ้นเข้าตรวจสอบ หรือมีการเพิกเฉย ละเลย หรือจงใจไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางของสำนักงานที่ได้เผยแพร่เป็นการทั่วไป เป็นต้น
ข้อ 46 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะเสนอขายหุ้นให้เฉพาะบุคคลที่กำหนด (placement) และเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย เว้นแต่เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรโดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
(1) ในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้บริษัทต่างประเทศเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ บริษัทต่างประเทศได้จัดส่งหนังสือนัดประชุมถึงผู้ถือหุ้นล่วงหน้าอย่างน้อยสิบสี่วันก่อนวันประชุม
(2) หนังสือนัดประชุมตาม (1) มีข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังนี้
(ก) วัตถุประสงค์ในการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ
(ข) รายละเอียดเกี่ยวกับหุ้นที่ออกในเรื่องจำนวนหุ้นที่เสนอขาย และราคาเสนอขายซึ่งเป็นการระบุราคาที่แน่นอน หรือระบุส่วนลดสูงสุดที่แน่นอน
(ค) ราคาตลาดที่ใช้เปรียบเทียบกับราคาเสนอขาย รวมทั้งวิธีการคำนวณ
(ง) ในกรณีที่กำหนดราคาเสนอขายที่แน่นอน (fixed price) ต้องระบุกลุ่มบุคคลที่คาดว่าจะเสนอขาย
(จ) ผลกระทบที่มีต่อผู้ถือหุ้นจากการเสนอขายหุ้นที่ขออนุมัติออกในครั้งนี้ โดยอย่างน้อยให้ระบุผลกระทบต่อราคาตลาดของหุ้น (price dilution) เมื่อมีการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ และผลกระทบต่อส่วนแบ่งกำไรหรือสิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้นเดิม (control dilution)
(ฉ) สิทธิของผู้ถือหุ้นในการคัดค้านการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำตาม (4)
(ช) ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทต่างประเทศที่แสดงถึงความจำเป็นในการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ โดยอธิบายถึงความคุ้มค่าของประโยชน์ที่บริษัทต่างประเทศจะได้รับเปรียบเทียบกับส่วนต่างของราคาเสนอขายกับราคาตลาดที่บริษัทต่างประเทศต้องสูญเสียไป รวมทั้งความเหมาะสมและเหตุผลของราคาตลาดที่ใช้ และการกำหนดราคาเสนอขายดังกล่าว
(ซ) ข้อมูลอื่นใดตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
(3) จัดส่งหนังสือมอบฉันทะไปพร้อมกับหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยมีการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการอิสระอย่างน้อยหนึ่งราย ที่ผู้ถือหุ้นซึ่งไม่สามารถเข้าประชุมและใช้สิทธิออกเสียงด้วยตัวเองสามารถมอบฉันทะให้เป็นผู้ใช้สิทธิแทนผู้ถือหุ้นได้ และในกรณีที่กรรมการอิสระดังกล่าวเป็นบุคคลที่อาจได้รับการจัดสรรหลักทรัพย์ที่ขออนุมัติ ให้แสดงส่วนได้เสียพิเศษของกรรมการอิสระดังกล่าวด้วย
(4) ได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของผู้มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง และไม่มีผู้ถือหุ้นรวมกันตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม ออกเสียงคัดค้านการเสนอขายหุ้นนั้น
ข้อ 47 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่ามีโครงสร้างการบริหารกิจการ รวมทั้งกลไกการกำกับและการติดตามดูแลให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 40 มีการดำเนินงานในลักษณะที่สามารถรักษาประโยชน์ในเงินลงทุนของผู้ขออนุญาตอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย
(1) การดำเนินงานของผู้ขออนุญาต ต้องไม่เป็นการลงทุนในบริษัทอื่นในลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน (investment company) และไม่มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของผู้ขออนุญาต การบริหารงานของกรรมการและผู้บริหาร ตลอดจนการเปิดเผยนโยบายการดำเนินงานของผู้ขออนุญาตต่อสาธารณชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะเช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน เว้นแต่เป็นการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 40 โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน (2)
(2) การลงทุนในบริษัทอื่นตาม (1) ต้องเป็นการลงทุนที่เมื่อคำนวณขนาดของบริษัทอื่นดังกล่าวทุกบริษัทรวมกันแล้ว มีสัดส่วนไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของขนาดของผู้ขออนุญาต ทั้งนี้ การพิจารณาสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวมิให้นับรวมสัดส่วนการลงทุนดังนี้
(ก) ในกรณีที่บริษัทย่อยตามข้อ 40(1) ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน มิให้นับรวมการลงทุนของบริษัทย่อยดังกล่าวในหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลัก (portfolio investment)
(ข) การลงทุนในบริษัทอื่นที่ผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่าประสงค์จะลงทุนในบริษัทดังกล่าวเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่บริษัทอื่นนั้นเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 40
(ค) การลงทุนในบริษัทอื่นเนื่องจากการใช้สิทธิซื้อหลักทรัพย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น (right offering)
(ง) สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นซึ่งไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่มในบริษัทอื่นของผู้ขออนุญาต เช่น การเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดของเงินลงทุน หรือการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 40
ข้อ 48 ให้ผู้ขออนุญาตตามข้อ 47 ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ขนาดของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 38(2)
(2) การดำเนินงานของผู้ขออนุญาตตามข้อ 38(3)
(3) การมีคุณสมบัติตามส่วนที่ 2 ถึงส่วนที่ 4 ของบริษัทย่อยตามข้อ 40(1) หรือบริษัทตามข้อ 40(2)
(4) การประกอบธุรกิจหลักผ่านบริษัทร่วมตามข้อ 40(3)
(5) กลไกการกำกับดูแลบริษัทร่วมตามข้อ 41 วรรคสอง
หมวด 3
เงื่อนไขภายหลังการอนุญาต
_________________
ข้อ 49 ให้ผู้ได้รับอนุญาตตามหมวด 2 ของภาคนี้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติก่อนหรือระหว่างการเสนอขาย ตามส่วนที่ 1
(2) เงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารกิจการของบริษัท ตามส่วนที่ 2
(3) เงื่อนไขอื่นที่ต้องปฏิบัติภายหลังการเสนอขาย ตามส่วนที่ 3
ส่วนที่ 1
เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติก่อนหรือระหว่างการเสนอขาย
_________________
ข้อ 50 นับแต่วันที่แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ หากผู้ได้รับอนุญาตจะจัดให้มีการโฆษณาชี้ชวนเกี่ยวกับหุ้นโดยวิธีการอื่นนอกจากการแจกจ่าย หนังสือชี้ชวน ข้อมูลที่จะใช้ในการโฆษณาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีลักษณะเป็นเท็จ เกินความจริง บิดเบือน ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ
(2) สาระสำคัญของข้อมูลที่แสดงในโฆษณาต้องไม่นอกเหนือไปจากข้อมูลที่แสดงไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ได้ยื่นต่อสำนักงานตามภาค 4 ของประกาศนี้
ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของสำนักงานที่จะสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังนี้
(1) หยุดการโฆษณา หรือยุติการส่งเสริมการขาย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(2) แก้ไขข้อมูลหรือข้อความในการโฆษณาหรือการส่งเสริมการขาย
(3) ชี้แจงเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง หรือไม่ทำให้สำคัญผิด
(4) กระทำการหรือไม่กระทำการใดภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้ผู้ลงทุนตัดสินใจหรือทบทวนการตัดสินใจ บนพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง และไม่ทำให้สำคัญผิด ข้อ 51 ในการโฆษณาชี้ชวนให้ซื้อหุ้นทางสิ่งตีพิมพ์ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามที่กำหนดในมาตรา 80 แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้เอกสารหรือการโฆษณานั้น มีข้อมูลเกี่ยวกับข้อจำกัดและความเสี่ยงตามที่กำหนดในข้อ 75(1) (ก) (ข) (ค) (ง) และ (ช) โดยสังเขปด้วย
ข้อ 52 ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ไม่กำหนดราคาหุ้นในบางส่วนที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป สูงกว่าราคาหุ้นในส่วนที่แบ่งสรรไว้เป็นการเฉพาะเพื่อการเสนอขายต่อบุคคลที่กำหนด ไม่ว่าการเสนอขายต่อบุคคลที่กำหนดดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปหรือในช่วงเก้าสิบวันก่อนการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป เว้นแต่การเสนอขายต่อบุคคลที่กำหนดดังกล่าวเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
(ก) การเสนอขายต่อกรรมการและพนักงานของผู้ได้รับอนุญาตหรือบริษัทย่อยตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของผู้ได้รับอนุญาตหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น
(ข) เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรโดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
(2) ดำเนินการขายหุ้นให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งการอนุญาต หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าวและยังประสงค์จะเสนอขายหุ้นต่อไป ให้ผู้ได้รับอนุญาตมีหนังสือถึงสำนักงานก่อนพ้นระยะเวลาดังกล่าวไม่น้อยกว่าสามสิบวันเพื่อขอขยายระยะเวลาเสนอขาย โดยต้องแจ้งเหตุผลของการขอขยายระยะเวลาและแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของผู้ได้รับอนุญาตตามหมวด 2 ในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย (ถ้ามี) ในกรณีนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจขยายระยะเวลาให้อีกได้ตามที่เห็นควร แต่ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินสิบสองเดือนนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการอนุญาตครั้งแรก ทั้งนี้ ในการพิจารณาผ่อนผัน สำนักงานอาจเรียกให้ผู้ได้รับอนุญาตส่งข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติมก็ได้
(3) ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตไม่สามารถเสนอขายหุ้นได้ตามจำนวนขั้นต่ำ หรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์อื่นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดสำหรับการรับหุ้น เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ให้ผู้ได้รับอนุญาตยกเลิกการเสนอขายหุ้นดังกล่าวทั้งจำนวนและคืนเงินแก่ผู้จองซื้อ
(4) นับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่จนถึงวันก่อนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว สำหรับการเสนอขายหุ้นที่ได้รับอนุญาตในครั้งนั้น ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ดำเนินการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติที่อาจมีผลกระทบต่อผู้ที่จะลงทุนในหุ้นที่ออกใหม่ที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร
ส่วนที่ 2
เงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารกิจการของบริษัท
_________________
ข้อ 53 เพื่อให้การบริหารกิจการของบริษัทและการให้ความคุ้มครองผู้ถือหุ้นในด้านอื่น ๆ ภายหลังได้รับอนุญาตยังคงเทียบเคียงได้กับการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวของบริษัทอื่น ที่เสนอขายหุ้นเป็นการทั่วไปในประเทศไทย ให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามที่กำหนดในส่วนนี้ เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้
(1) ผู้ได้รับอนุญาตอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายและกฎเกณฑ์ของประเทศที่มีการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวเทียบเคียงได้กับแนวการกำกับดูแลบริษัทไทย
(2) ผู้ได้รับอนุญาตได้รับการผ่อนผันเงื่อนไขตามข้อ 58
ข้อ 54 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีกลไกที่จะทำให้มั่นใจว่าการบริหารกิจการของบริษัทจะเป็นไปตามหลักการดังต่อไปนี้
(1) กรรมการและผู้บริหารมีการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
(2) การมีมาตรการที่เพียงพอที่จะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นสามารถติดตาม รับรู้ และตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการที่สำคัญของบริษัท
การจัดให้มีกลไกตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงกลไกที่รองรับการดำเนินการในเรื่องดังนี้
(1) การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน
(2) การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน หรือการทำรายการสำคัญอื่นใดของบริษัท
(3) การดำเนินการเพื่อให้กรรมการและผู้บริหารรายงานให้ผู้ได้รับอนุญาตทราบถึงการมีส่วนได้เสียของตน หรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง
(4) การจัดทำความเห็นในกรณีที่มีผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของผู้ได้รับอนุญาต และการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อผู้ถือหุ้นทุกราย
(5) การจัดให้มีข้อมูลที่เปิดเผยต่อผู้ถือหุ้นล่วงหน้า เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและผู้ได้รับอนุญาตสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามความในวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียด ตามควรแก่กรณี ทั้งนี้ ในการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้สำนักงานคำนึงถึงมาตรฐานการดำเนินการของบริษัทไทย และมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทไทย เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ข้อ 55 ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำรงคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) การมีตัวแทนในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 23
(2) การมีระบบเกี่ยวกับการจัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐาน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 33 ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับบุคลากรที่ทำหน้าที่จัดทำและเก็บรักษาเอกสารด้วย
ข้อ 56 ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการเพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ติดตามดูแลการมีลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมตามที่กำหนดในข้อ 27 โดยหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลดังกล่าวมีลักษณะไม่เป็นไปตามที่กำหนด ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการเท่าที่มีอำนาจตามกฎหมายในการหยุดการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าว
(2) ดูแลและจัดให้มีกรรมการและผู้บริหารที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 27 และข้อ 28 อยู่ตลอดเวลา โดยในกรณีที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้บริหารไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการเท่าที่มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อให้ได้กรรมการและผู้บริหารที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย
ข้อ 57 ในการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีสถานที่ประชุม หรือช่องทางและวิธีการที่ผู้ถือหุ้นในประเทศไทยจะสามารถแสดงความคิดเห็นให้ปรากฏต่อผู้ถือหุ้นอื่น และออกเสียงลงคะแนนได้โดยสะดวก โดยช่องทางและวิธีการดังกล่าวต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและกฎเกณฑ์ของต่างประเทศที่ใช้บังคับกับผู้ได้รับอนุญาตด้วย
ข้อ 58 ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำเงื่อนไขในส่วนนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน มาใช้กับการเสนอขายหุ้นที่ได้รับอนุญาตได้ โดยสำนักงานจะผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวเป็นการทั่วไป หรือเป็นรายกรณีก็ได้
(1) ผู้ได้รับอนุญาตอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของต่างประเทศ ซึ่งหุ้นของผู้ได้รับอนุญาตมีการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศดังกล่าว
(2) ผู้ได้รับอนุญาตไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขในส่วนนี้ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของต่างประเทศที่ใช้บังคับกับผู้ได้รับอนุญาต
(3) ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ในการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานและต่อมาหน้าที่ดังกล่าวสิ้นสุดลงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศที่ออกตามความในมาตรา 56
การผ่อนผันตามวรรคหนึ่ง สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ในการผ่อนผันและการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ให้สำนักงานนำปัจจัยดังนี้มาใช้ประกอบการพิจารณา
(1) กฎหมายและกฎเกณฑ์ของต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการบังคับในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขที่ขอผ่อนผัน เมื่อเทียบเคียงกับกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของประเทศไทยในเรื่องดังกล่าว
(2) ปัจจัยใด ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งส่งผลต่อความคุ้มครองหรือสิทธิของผู้ถือหุ้น เช่น การได้รับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ขอผ่อนผันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของผู้ที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง เป็นต้น
ข้อ 59 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานภายหลังการผ่อนผันเงื่อนไขตามข้อ 58 ว่าข้อเท็จจริง พฤติการณ์ หรือสภาพการณ์ ที่สำนักงานนำมาพิจารณาเพื่อผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปนั้นอาจส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นของผู้ได้รับอนุญาตอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงานอาจยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการผ่อนผันดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนได้
ส่วนที่ 3
เงื่อนไขอื่นที่ต้องปฏิบัติภายหลังการเสนอขาย
_________________
ข้อ 60 ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตจะมีการออกหลักทรัพย์ใหม่ หรือมีการดำเนินการใดที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาตลาดของหุ้น ส่วนแบ่งกำไร หรือสิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้น ผู้ได้รับอนุญาตต้องได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเรื่องนั้นตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ก่อน เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร
(1) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติการออกหลักทรัพย์โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า สามในสี่ของผู้มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง
(2) ในกรณีที่การออกหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ในราคาต่ำ ต้องไม่มีผู้ถือหุ้นรวมตัวกันตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม ออกเสียงคัดค้านการเสนอขายหุ้นนั้น
การนับมติที่ประชุมตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) ต้องไม่นับรวมเสียงของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องที่ขอมตินั้น รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นดังกล่าว
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ทั้งหมดต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างประเทศตามสัดส่วนการถือหุ้น
ข้อ 61 ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ออกตามความในมาตรา 56 ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติ ตามข้อผูกพันที่ให้ไว้ในคำขออนุญาต หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน รวมทั้งดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุม ปฏิบัติตามข้อผูกพันดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะได้มีมติเป็นอย่างอื่น
มติที่ประชุมตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติโดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของผู้มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง
(2) ไม่มีผู้ถือหุ้นรวมตัวกันตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม ออกเสียงคัดค้านการเสนอขายหุ้นนั้น
การนับมติที่ประชุมตามวรรคสอง (1) และ (2) ต้องไม่นับรวมเสียงของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องที่ขอมตินั้น รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นดังกล่าว
ข้อ 62 ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีสัญญาที่ผูกพันที่ปรึกษาทางการเงินตามข้อ 36 หากเกิดกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดในระหว่างกำหนดระยะเวลาตามสัญญาดังกล่าว ให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินรายใหม่ที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 36(1) และ (2) แทนที่ปรึกษาทางการเงินรายเดิมโดยไม่ชักช้า
ข้อ 63 ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินที่ร่วมจัดทำคำขออนุญาตประสงค์จะได้รับหรือตรวจดูข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ผู้ได้รับอนุญาตตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน และตามประกาศนี้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลดังกล่าวแก่ที่ปรึกษาทางการเงินตลอดระยะเวลาที่ที่ปรึกษาทางการเงินมีหน้าที่ตามประกาศดังกล่าวด้วย
ข้อ 64 ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) ผู้ได้รับอนุญาตต้องมีกลไกการกำกับดูแลให้บริษัทย่อยตามข้อ 40(1) หรือบริษัทตามข้อ 40(2) ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 52(4) และข้อ 61 ด้วย โดยอนุโลม
ภาค 3
การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป
ของบริษัทซีแอลเอ็มวี
_________________
ข้อ 65 ข้อกำหนดในภาคนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (public offering) ของบริษัทซีแอลเอ็มวีดังต่อไปนี้
(1) บริษัทซีแอลเอ็มวีที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นในประเทศไทยเพื่อจดทะเบียนหุ้นดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(2) บริษัทซีแอลเอ็มวีตาม (1) ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว และประสงค์จะเพิ่มทุนและเสนอขายหุ้นในประเทศไทย
ข้อ 66 การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปของบริษัทซีแอลเอ็มวี ให้นำหลักเกณฑ์การยื่นคำขออนุญาตตามหมวด 1 ของภาค 2 และหลักเกณฑ์การอนุญาตตามหมวด 2 ของภาค 2 ของประกาศนี้มาใช้บังคับ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้ ให้ได้รับยกเว้นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการมีหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนที่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานตามข้อ 17
(ก) เป็นบริษัทซีแอลเอ็มวีที่มีบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ขออนุญาต โดยอย่างน้อยต้องมีผู้ถือหุ้นที่มีลักษณะตาม (2) (ข) รวมอยู่ด้วย
(ข) เป็นบริษัทซีแอลเอ็มวีที่มีบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ขออนุญาต เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นหรือมีเงื่อนไขในการร่วมทุนกับภาครัฐ โดยอย่างน้อยต้องมีผู้ถือหุ้นที่มีลักษณะตาม (2) (ข) รวมอยู่ด้วย
(2) การพิจารณาจำนวนการถือหุ้นของบุคคลไทยตาม (1) ให้พิจารณาการถือหุ้นเฉพาะผู้ถือหุ้นดังนี้
(ก) ผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทต่างประเทศนั้น
(ข) ผู้ถือหุ้นที่โดยพฤติการณ์มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัทต่างประเทศนั้นอย่างมีนัยสำคัญ
(3) ในกรณีดังนี้ ให้ผู้ขออนุญาตที่มีลักษณะดังนี้ได้รับยกเว้นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ปรึกษาทางการเงินตามข้อ 36
(ก) เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว
(ข) เป็นบริษัทซีแอลเอ็มวีที่มีลักษณะตาม (1)
ข้อ 67 ให้บริษัทซีแอลเอ็มวีที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นตามข้อ 66 ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตที่กำหนดในหมวด 3 ของภาค 2 ของประกาศนี้
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานมีอำนาจตามที่กำหนดในข้อ 58 และข้อ 59 โดยอนุโลม
ภาค 4
การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน
_________________
หมวด 1
ข้อกำหนดทั่วไป
_________________
ข้อ 68 ข้อกำหนดในภาคนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้
(1) การเสนอขายหุ้นโดยบริษัทต่างประเทศ ซึ่งหุ้นดังกล่าวได้รับอนุญาตตามภาค 2 หรือภาค 3
(2) การเสนอขายหุ้นโดยผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างประเทศ ซึ่งหุ้นดังกล่าวเสนอขายพร้อมกับการเสนอขายหุ้นของบริษัทต่างประเทศตาม (1)
(3) การเสนอขายหุ้นโดยผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างประเทศตาม (1) โดยไม่ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศซึ่งเป็นการเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด
ข้อ 69 การเสนอขายหุ้นจะกระทำได้ต่อเมื่อผู้เสนอขายหุ้นได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน และแบบแสดงรายการข้อมูลดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว
ข้อ 70 ในกรณีที่ระยะเวลาการเสนอขายหุ้นตามที่กำหนดในแบบแสดงรายการข้อมูลสิ้นสุดลงแล้ว หากผู้เสนอขายหุ้นประสงค์จะเสนอขายหุ้นส่วนที่เหลือจากการเสนอขายครั้งก่อนอีก ให้ผู้เสนอขายหุ้นยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนฉบับใหม่ต่อสำนักงาน
หมวด 2
วิธีการยื่น และค่าธรรมเนียม
_________________
ข้อ 71 ให้ผู้เสนอขายหุ้นยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามที่กำหนดในหมวด 3 และร่างหนังสือชี้ชวนตามแบบที่กำหนดตามมาตรา 72 ต่อสำนักงาน พร้อมเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน โดยวิธีการยื่นให้เป็นดังนี้
(1) แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์ จำนวนห้าชุด
(2) ข้อมูลในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการรับส่งข้อมูลตามแนวทางที่สำนักงานกำหนด
ข้อมูลที่ผู้เสนอขายหุ้นยื่นต่อสำนักงานทั้งในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีข้อความถูกต้องตรงกัน
ข้อ 72 ผู้เสนอขายหุ้นมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ
หมวด 3
แบบและข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูล
_________________
ข้อ 73 แบบแสดงรายการข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงาน ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือที่อาจทำให้สำคัญผิด และไม่ขาดข้อความที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ
(2) มีข้อมูลตามที่กำหนดในมาตรา 69(1) ถึง (10)
(3) มีข้อมูลเพิ่มเติมตามที่กำหนดในหมวดนี้
แบบแสดงรายการข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงานตามวรรคหนึ่งและร่างหนังสือชี้ชวน ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นผู้ร่วมจัดทำและรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล
ข้อ 74 แบบแสดงรายการข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงาน ให้เป็นไปตามแบบ 69-1-F ท้ายประกาศนี้
ข้อ 75 แบบแสดงรายการข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงานตามข้อ 74 ต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ข้อมูลเกี่ยวกับข้อจำกัดและความเสี่ยงในเรื่องดังนี้
(ก) สิทธิและความคุ้มครองที่ผู้ลงทุนได้รับจากการลงทุนในหุ้นที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ของประเทศที่บริษัทต่างประเทศจัดตั้งขึ้น ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษาและติดตามกฎหมายและกฎเกณฑ์นั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวให้แสดงในหน้าปกของแบบแสดงรายการข้อมูลด้วยตัวอักษรที่เน้นและสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน
(ข) การดำเนินคดีทางกฎหมายกับบริษัทต่างประเทศ หรือผู้เสนอขายหุ้น เนื่องจากมิได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ให้ระบุถึงเขตอำนาจศาลในการฟ้องร้องบังคับคดีต่อ บริษัทต่างประเทศด้วย
(ค) ผลกระทบที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างประเทศอาจได้รับ ในกรณีที่กฎหมายของประเทศที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างประเทศนั้นมีข้อจำกัดในการส่งเงินออกนอกประเทศ (ถ้ามี)
(ง) ข้อจำกัดในการซื้อหุ้นของบริษัทต่างประเทศ ในกรณีที่หุ้นดังกล่าวที่จะจัดสรรให้ผู้ลงทุนในประเทศไทย มีมูลค่าเกินกว่าวงเงินคงเหลือที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด สำหรับการควบคุมการทำธุรกรรมในตลาดทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ
(จ) การเสนอขายหุ้นที่มีลักษณะครบถ้วนดังนี้ ต้องจัดให้มีคำเตือนที่สามารถทำให้ผู้ลงทุนได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องและเข้าใจถึงโอกาสของความเสี่ยงจากการลดลงของราคาหุ้นดังกล่าวเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
1. เป็นการเสนอขายโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำหุ้นที่เสนอขายดังกล่าวเข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก และ
2. บริษัทต่างประเทศมีการเสนอขายหุ้นประเภทเดียวกันต่อบุคคลใดในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่เสนอขายในครั้งนี้ โดยการเสนอขายดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างหกเดือนก่อนการเสนอขายในครั้งนี้ และหุ้นที่เสนอขายในระหว่างหกเดือนดังกล่าวรวมกันแล้วเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้
(ฉ) ข้อความที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าสิทธิของผู้ถือหุ้นและความคุ้มครองในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการบริษัท (corporate matter) ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยให้ผู้ถือหุ้นได้รับความคุ้มครอง ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศซึ่งไม่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ได้กำหนดให้บริษัทต่างประเทศต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารกิจการตามที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าวด้วย
(ช) ข้อจำกัดหรือความเสี่ยงอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อการใช้สิทธิหรือ การตัดสินใจของผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ข้อจำกัดในการมอบฉันทะในการใช้สิทธิออกเสียง ข้อจำกัดที่จะไม่ได้รับใบหุ้นเนื่องจากหุ้นของบริษัทต่างประเทศอยู่ในระบบไร้ใบหุ้น เป็นต้น
(2) ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อและสถานที่ติดต่อของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากบริษัทต่างประเทศ ให้เป็นตัวแทนของบริษัทต่างประเทศในประเทศไทย โดยระบุอำนาจหน้าที่ของตัวแทนดังกล่าว อย่างชัดเจน
(3) ข้อมูลของบุคลากรที่รับผิดชอบดำเนินการจัดทำและเก็บเอกสารของบริษัทตามข้อ 33(1) ซึ่งรวมถึงชื่อ คุณวุฒิ และขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคคลดังกล่าว
(4) ข้อความที่ระบุไว้อย่างชัดเจน เกี่ยวกับภาษาที่จะใช้ในการจัดทำหนังสือชี้ชวน งบการเงิน รายงานประจำปี แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี เอกสารประกอบการประชุมผู้ถือหุ้น และการให้ข้อมูลอื่นหรือรายงานเกี่ยวกับกิจการที่บริษัทจัดทำเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน
(5) ในกรณีบริษัทต่างประเทศเสนอขายหุ้นเพื่อนำไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก ต้องมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนว่าบริษัทต่างประเทศผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการรับหุ้นดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนแล้ว
(6) ข้อมูลเปรียบเทียบกฎหมายและกฎเกณฑ์ของต่างประเทศที่ใช้บังคับกับผู้ขออนุญาตในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การบริหารกิจการของบริษัทและการคุ้มครองผู้ถือหุ้นในเรื่องที่สำคัญ กับกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลบริษัทมหาชนจำกัดของประเทศไทยในเรื่องดังกล่าว หรือกลไกที่จัดให้มีขึ้นเพื่อให้การบริหารกิจการของบริษัทและการคุ้มครอง ผู้ถือหุ้นในเรื่องที่สำคัญเทียบเคียงได้กับกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลบริษัทมหาชนจำกัดของประเทศไทย (ถ้ามี)
ข้อ 76 ในกรณีที่มีการเปิดเผยราคาประเมินของทรัพย์สินไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูล การประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวต้องกระทำโดยบุคคลที่ผู้ขออนุญาตและที่ปรึกษา ทางการเงินที่ร่วมจัดทำคำขออนุญาตพิจารณาว่ามีความเหมาะสมและสามารถประเมินมูลค่าทรัพย์สินให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงได้อย่างน่าเชื่อถือเพียงพอ โดยผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวต้องเข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
(1) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินหรือบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สำนักงานให้การยอมรับ
(2) ในกรณีที่ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นบุคคลต่างประเทศ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังนี้
(ก) อยู่ในบัญชีรายชื่อของบุคคลซึ่งทางการหรือหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศอันเป็นที่ตั้งของทรัพย์สินกำหนดให้สามารถทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินนั้น ๆ ได้
(ข) ในกรณีที่ไม่ปรากฏบัญชีรายชื่อตาม (ก) ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินต้องเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
1. เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในประเทศอันเป็นที่ตั้งของทรัพย์สินนั้น
2. เป็นบุคคลที่มีมาตรฐานการปฏิบัติงานและระบบงานในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสากล
3. เป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่มีเครือข่ายกว้างขวางในระดับสากล (international firm)
ข้อ 77 ในกรณีที่ผู้เสนอขายหุ้นยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลที่จัดทำเฉพาะภาษาอังกฤษ หากผู้เสนอขายหุ้นประสงค์จะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นเป็นภาษาไทย ต้องจัดให้มีข้อมูลที่จะเผยแพร่ดังกล่าวไว้เป็นภาคผนวกต่อท้ายแบบแสดงรายการข้อมูลด้วย และให้ถือว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแบบแสดงรายการข้อมูล
ข้อ 78 งบการเงินของบริษัทต่างประเทศที่เปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 หรือภาค 3 แล้วแต่กรณี
ข้อ 79 ก่อนปิดการเสนอขายหุ้นที่ได้รับอนุญาต หากผู้เสนอขายหุ้นได้เปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่มิได้แสดงอยู่ในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนให้แก่ บุคคลใดเป็นการเฉพาะรายเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการลงทุนในหุ้นที่เสนอขาย หรือการตัดสินใจลงทุนในหุ้นที่เสนอขาย ผู้เสนอขายหุ้นต้องดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนโดยพลัน ทั้งนี้ ต้องไม่ช้ากว่าวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลมีผลใช้บังคับ หรือในกรณีที่แบบแสดงรายการข้อมูลมีผลใช้บังคับแล้วต้องไม่ช้ากว่าวันทำการถัดจากวันที่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงต่อบุคคลใดนั้น
หมวด 4
การรับรองข้อมูล
_________________
ข้อ 80 แบบแสดงรายการข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงาน ต้องมีการลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การเสนอขายหุ้นโดยบริษัทต่างประเทศที่ออกหุ้น ต้องลงลายมือชื่อโดยกรรมการทุกคนและผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดในสายงานบัญชีของบริษัทที่ออกหุ้นนั้น พร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี)
(2) การเสนอขายหุ้นโดยผู้ถือหุ้น ต้องลงลายมือชื่อโดย
(ก) ผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้เสนอขายหุ้นนั้น และในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเป็นนิติบุคคล ให้ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลลงลายมือชื่อ พร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี)
(ข) กรรมการทุกคนและผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดในสายงานบัญชีของบริษัทต่างประเทศที่ออกหุ้นนั้น พร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี)
(3) ในการเสนอขายหุ้นที่ได้จัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงิน ให้ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันที่ปรึกษาทางการเงินลงลายมือชื่อ พร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี)
ข้อ 81 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรทำให้บุคคลที่ต้องลงนามเพื่อนิติบุคคลตามที่กำหนดในข้อ 80 ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้นิติบุคคลดังกล่าวปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
(1) หากเหตุที่ทำให้บุคคลดังกล่าวคนใดไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เกิดจากการที่บุคคลดังกล่าวอยู่ในภาวะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เนื่องจากเจ็บป่วยทางร่างกายหรือทางจิต ผู้เสนอขายหุ้นไม่จำต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อในแบบแสดงรายการข้อมูล
(2) หากเหตุที่ทำให้บุคคลดังกล่าวคนใดไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เกิดจากกรณีอื่นนอกจากที่ระบุใน (1) เมื่อเหตุดังกล่าวหมดสิ้นไป ให้ผู้เสนอขายหุ้นจัดให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อทันที เพื่อให้แบบแสดงรายการข้อมูลมีผลใช้บังคับได้ตามข้อ 82
หมวด 5
วันมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน
_________________
ข้อ 82 ภายใต้บังคับมาตรา 68 และมาตรา 75 เมื่อผู้เสนอขายหุ้นได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน และได้ชำระค่าธรรมเนียมการยื่น แบบแสดงรายการข้อมูลครบถ้วนแล้ว ให้แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นระยะเวลา ดังต่อไปนี้ แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงกำหนดหลัง ทั้งนี้ กำหนดเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินกว่าสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ครบถ้วน
(1) สิบสี่วัน นับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ครบถ้วน
(2) วันที่ผู้เสนอขายหุ้นได้ระบุข้อมูลที่เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นซึ่งได้แก่ จำนวนและราคาของหุ้นที่เสนอขาย ระยะเวลาการเสนอขาย รายละเอียดเกี่ยวกับการจอง การจัดจำหน่าย การจัดสรร และข้อมูลอื่นในทำนองเดียวกัน รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว ครบถ้วนในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน ทั้งนี้ ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลซึ่งมีรายการข้อมูลในส่วนอื่นครบถ้วน จนถึงวันที่ยื่นข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นต้องไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน
ประกาศ ณ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558
(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน