ที่ ทจ. 9/2558
เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็น
เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์
(ฉบับที่ 3)
_____________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 และมาตรา 40(11) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกข้อ 2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 16/2557 เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 4/1 และข้อ 4/2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 16/2557 เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557
“ข้อ 4/1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนต่อผู้ลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนซึ่งเป็นตราสารแปลงสภาพต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น แต่ผู้ที่จะใช้สิทธิแปลงสภาพอาจไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ ให้กรณีดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับประกาศฉบับนี้ด้วย
ข้อ 4/2 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนซึ่งเป็นตราสารแปลงสภาพต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (public offering) ธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจำหน่ายตราสารหนี้และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ด้วย”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 9 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 16/2557 เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 9 ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน และชำระค่าธรรมเนียมในวันยื่นคำขอดังกล่าวตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และการขออนุมัติ โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
ในกรณีที่เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนตามข้อ 15(1) (2) หรือ (3) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ประสงค์จะจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการดังต่อไปนี้มาพร้อมกับการยื่นคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง
(1) เสนอร่างข้อกำหนดสิทธิและร่างสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
(2) เสนอรายชื่อบุคคลที่จะแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ในกรณีที่เป็นการเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (public offering) ตามข้อ 15(4) ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และดำเนินการตามที่กำหนดในวรรคสองด้วย”
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 11 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 16/2557 เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 11 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้
(1) ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน ในกรณีที่เป็นการขออนุญาตเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนซึ่งเป็นตราสารแปลงสภาพต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (public offering) หรือต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ตามสัดส่วนการถือหุ้นแต่ผู้ที่จะใช้สิทธิแปลงสภาพอาจไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์และผู้ที่ใช้สิทธิแปลงสภาพอาจมีจำนวนมากกว่าสิบรายและไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่
(2) ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน ในกรณีอื่นใดนอกเหนือจากกรณีตาม (1)”
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความใน (6) ของข้อ 12 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 16/2557 เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 39/2557 เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(6) ยื่นจดข้อจำกัดการโอนตราสารที่จะเสนอขายต่อสำนักงานสำหรับการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือผู้ลงทุนไม่เกินสิบราย ตามข้อ 15 โดยต้องมีข้อความซึ่งแสดงได้ว่าผู้ออกตราสารจะไม่รับจดทะเบียนการโอนตราสารไม่ว่าทอดใด ๆ แก่ผู้ลงทุนที่มีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อจำกัดการโอนที่ได้ยื่นไว้ เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก”
ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 13 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 16/2557 เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 13 ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้อย่างแน่นอน หรือเป็นอัตราที่ผันแปรตามอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยอื่น
(2) ในกรณีที่เป็นตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนซึ่งเป็นตราสารแปลงสภาพต้องมีการกำหนดอัตราและราคาแปลงสภาพไว้อย่างชัดเจนในข้อกำหนดสิทธิ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดอัตราที่แน่นอนหรือกำหนดเป็นสูตรการคำนวณก็ได้
การกำหนดราคาแปลงสภาพตามวรรคหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์ต้องไม่กำหนดราคาแปลงสภาพที่ต่ำกว่าร้อยละห้าสิบของราคาหุ้นสามัญของธนาคารพาณิชย์ในช่วงก่อนหรือระหว่างการเสนอขายตามแนวทางที่สมาคมธนาคารไทยกำหนด (floor conversion price) เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ 17
(3) ไม่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ เว้นแต่เป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีการกำหนดเงื่อนไขให้ธนาคารพาณิชย์สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้อนุพันธ์คืนก่อนกำหนดได้ โดยมูลค่าผลตอบแทนและต้นเงินที่ไถ่ถอนไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอ้างอิงที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
(4) มีข้อตกลงให้ชำระค่าตราสารเป็นสกุลเงินบาท”
ข้อ 7 ให้ยกเลิกความในข้อ 15 ข้อ 16 และข้อ 17 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 16/2557 เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 15 การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนจะเสนอขายได้ต่อผู้ลงทุนตามลักษณะและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ผู้ลงทุนสถาบัน
(2) ผู้ลงทุนรายใหญ่ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ตราสารดังกล่าวมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
(ก) เป็นตราสารชนิดที่มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถือตราสารปลดหนี้ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ภายหลังการลดทุนของธนาคารพาณิชย์และเป็นตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 โดยการปลดหนี้ดังกล่าวต้องกำหนดไว้ไม่มากกว่าอัตราส่วนการลดทุนนั้น
(ข) เป็นตราสารแปลงสภาพ
(3) ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งไม่เกินสิบรายในรอบระยะเวลาสี่เดือนใด ๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ลงทุนในจำนวนดังกล่าวจะมีผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่รวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม
ในกรณีที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ผู้รับฝากทรัพย์สิน นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ผู้ค้าหลักทรัพย์หรือบุคคลอื่นใด มีการถือครองตราสารแทนบุคคลอื่น การนับจำนวนผู้ลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้นับจากบุคคลที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงของตราสารนั้น
(4) ผู้ลงทุนใด ๆ สำหรับการเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (public offering) ทั้งนี้ เฉพาะตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นตราสารแปลงสภาพ
ข้อ 16 ในกรณีที่เป็นการขออนุญาตเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนซึ่งเป็นตราสารแปลงสภาพ ให้นำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพที่ออกใหม่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพที่ออกใหม่ในกรณีทั่วไปมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการอนุญาตตามประกาศนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ โดยอนุโลม ทั้งนี้ ในการอนุโลมใช้ให้สำนักงานพิจารณาตามประเภทผู้ลงทุนของประกาศดังกล่าวที่สอดคล้องกับลักษณะของผู้ลงทุนตามข้อ 15
การอนุโลมใช้ตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงหลักเกณฑ์ที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้
(1) จำนวนหุ้นที่รองรับหุ้นกู้แปลงสภาพ การกำหนดอัตราและราคาแปลงสภาพ และการบังคับแปลงสภาพ
(2) การขออนุญาตและการอนุญาตให้ออกหุ้นรองรับ และการกำหนดลักษณะของผู้ขออนุญาตตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่
ข้อ 17 ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนซึ่งเป็นตราสารแปลงสภาพ หากต่อมาภายหลังการขายตราสารดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการออกหุ้นใหม่เพิ่มเติมเนื่องจากมีเหตุตามข้อตกลงที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดเกี่ยวกับการแปลงสภาพ ให้ถือว่าธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ออกหุ้นใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับการแปลงสภาพเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์มีมติให้ออกหุ้นเพิ่มเติมเพื่อรองรับการแปลงสภาพนั้นและได้ยื่นมติดังกล่าวต่อสำนักงานแล้ว มิให้นำราคาแปลงสภาพที่กำหนดตามข้อ 13(2) วรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ราคาแปลงสภาพที่กำหนดใหม่เนื่องจากเหตุตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ ห้าสิบของราคาหุ้นสามัญของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่มีเหตุดังกล่าวตามแนวทางที่สมาคมธนาคารไทยกำหนด”
ข้อ 8 ให้ยกเลิกความใน (1) และ (2) ของข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 16/2557 เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) จัดให้ตราสารที่จะเสนอขายเป็นชนิดระบุชื่อผู้ถือ และต้องมีข้อความในใบตราสารที่เสนอขายซึ่งระบุว่าธนาคารพาณิชย์หรือผู้ได้รับมอบหมายจากธนาคารพาณิชย์จะไม่รับจดทะเบียนการโอนตราสารไม่ว่าในทอดใด ๆ หากการโอนนั้นจะขัดกับข้อจำกัดการโอนที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อสำนักงานเว้นแต่เป็นการเสนอขายตราสารต่อผู้ลงทุนตามข้อ 15(4)
(2) จัดให้เอกสารประกอบการเสนอขาย ระบุรายละเอียดการด้อยสิทธิ เงื่อนไขการปลดหนี้ หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการแปลงสภาพไว้ให้ชัดเจน ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนตามข้อ 15(1) (2) หรือ (3) ให้มีข้อความที่ระบุถึงข้อจำกัดการโอนตาม (1) ด้วย”
ข้อ 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 20/1 ในส่วนที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป ของหมวด 3 เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาต แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 16/2557 เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557
“ข้อ 20/1 ในกรณีที่เป็นตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนซึ่งเป็นตราสารแปลงสภาพ ให้นำเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาตตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขออนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพที่ออกใหม่ มาใช้เป็นเงื่อนไขที่ธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ตามหมวดนี้ โดยอนุโลม ทั้งนี้ ในการอนุโลมใช้ให้สำนักงานพิจารณาตามประเภทผู้ลงทุนของประกาศดังกล่าวที่สอดคล้องกับลักษณะของผู้ลงทุนตามข้อ 15”
ข้อ 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ 3 เงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (public offering) ข้อ 29 ของหมวด 3 เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาต แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 16/2557 เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557
“ส่วนที่ 3
เงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการเสนอขายต่อประชาชน
เป็นการทั่วไป (public offering)
_____________________
ข้อ 29 ให้นำความในข้อ 22 ข้อ 23 ข้อ 24 ข้อ 26 ข้อ 27 และข้อ 28 มาใช้บังคับกับการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนต่อประชาชนเป็นการทั่วไปตามข้อ 15(4) ด้วย”
ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558
(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน