วิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่างประเทศที่ออกและเสนอขายหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 9, 2015 15:26 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 17/2558

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูล

เกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของ

บริษัทต่างประเทศที่ออกและเสนอขายหุ้น

-----------------

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

หมวด 1

บททั่วไป

------------------

ส่วนที่ 1

หลักการและขอบเขตของประกาศ

------------------

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่างประเทศที่ออกและเสนอขายหุ้นในประเทศไทย ในลักษณะเป็นการเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (public offering) เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ในมาตรฐานเทียบเคียงกับที่บริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งเสนอขายหุ้นในลักษณะดังกล่าวมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเช่นนั้น และด้วยปริมาณรวมทั้งคุณภาพของข้อมูลไม่น้อยไปกว่าข้อมูลที่เปิดเผยต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โดยที่ลักษณะหรือสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างประเทศ ตลอดจนกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับบริษัทต่างประเทศ อาจแตกต่างจากของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยอย่างมีนัยสำคัญ ในหลักการของการกำกับดูแลจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะหรือข้อเท็จจริงเป็นพิเศษที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างประเทศด้วย

ข้อ 3 ให้บริษัทต่างประเทศดังต่อไปนี้ มีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามประกาศนี้ เว้นแต่มีเหตุที่ทำให้บริษัทต่างประเทศสิ้นสุดหน้าที่ตามที่กำหนดในหมวด 6

(1) บริษัทต่างประเทศที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

(2) บริษัทต่างประเทศที่ออกหุ้นซึ่งมีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นนั้นต่อสำนักงาน ไม่ว่าโดยบริษัทต่างประเทศหรือผู้ถือหุ้น

ข้อ 4 ประเภทข้อมูลและระยะเวลาในการจัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่างประเทศ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีบริษัทต่างประเทศที่ยังมิได้มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ และบริษัทต่างประเทศนั้นเสนอขายหุ้นในประเทศไทยเพื่อการจดทะเบียนหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพียงแห่งเดียว ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและ ผลการดำเนินงานต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ของไทยที่กำหนดในหมวด 2

(2) ในกรณีบริษัทต่างประเทศเสนอขายหุ้นในประเทศไทยภายหลังจากที่บริษัทต่างประเทศนั้นมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศแล้ว ให้เปิดเผยข้อมูลตามที่บริษัทดังกล่าวเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหน่วยงานทางการในต่างประเทศนั้นต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 3

(3) ในกรณีบริษัทต่างประเทศมีการเสนอขายหุ้นในหลายประเทศ ให้เปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) ให้เปิดเผยข้อมูลตามที่บริษัทดังกล่าวเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหน่วยงานทางการในต่างประเทศที่บริษัทนั้นแสดงเจตนาผูกพันว่าจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์หรือหน่วยงานทางการของประเทศนั้นเป็นหลัก (home regulator) ต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 3

(ข) ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ของไทยที่กำหนดในหมวด 2 ในกรณีอื่นนอกจาก (ก)

ข้อ 5 การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่างประเทศ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ข้อกำหนดเกี่ยวกับงบการเงิน ผู้สอบบัญชี และการประเมินค่าทรัพย์สิน ให้เป็นตามหมวด 4

(2) รูปแบบและวิธีการในการจัดทำและจัดส่ง ให้เป็นไปตามหมวด 5

(3) การสิ้นสุดหน้าที่ตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามหมวด 6

(4) อำนาจของสำนักงานเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล ให้เป็นไปตามหมวด 7

ข้อ 6 ในกรณีดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจกำหนดให้บริษัทต่างประเทศตามข้อ 4(2) หรือ (3) (ก) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานในลักษณะเทียบเคียงกับการเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ของไทยที่กำหนดในหมวด 2 ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนได้

(1) ในกรณีที่บริษัทต่างประเทศตามข้อ 4(2) เสนอขายหุ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละหกสิบของจำนวนหุ้นที่เรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทนั้นภายหลังการเสนอขายหุ้นดังกล่าว ทั้งนี้ ในการคำนวณสัดส่วนดังกล่าว สำนักงานอาจไม่นับรวมจำนวนหุ้นที่ถือโดยผู้ร่วมลงทุนระยะยาว (strategic investors) ได้

(2) ในกรณีที่บริษัทต่างประเทศตามข้อ 4(3) (ก) เสนอขายหุ้นในประเทศไทยเป็นสัดส่วนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการเสนอขายในประเทศอื่น

(3) ในกรณีที่บริษัทต่างประเทศมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศตามข้อ 4(2) หรือ (3) (ก) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศที่มีชื่ออยู่ในรายชื่อประเทศที่สำนักงานยอมรับ

          ข้อ 7   การจัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่างประเทศตามประกาศนี้ ให้เริ่มเมื่อแบบแสดงรายการข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงานมีผลใช้บังคับแล้ว                    ให้บริษัทต่างประเทศที่เริ่มมีหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง จัดทำและส่งงบการเงินตามรอบระยะเวลาที่ถัดจากงบการเงินที่ปรากฏในแบบแสดงรายการข้อมูลดังกล่าว

ส่วนที่ 2

บทนิยาม

------------------

ข้อ 8 ในประกาศนี้ ให้นำบทนิยามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะเป็นประการอื่น

ข้อ 9 ให้มีบทนิยามเพิ่มเติมดังนี้

“บริษัทต่างประเทศ” หมายความว่า บริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ“ผู้สอบบัญชีท้องถิ่น” หมายความว่า ผู้สอบบัญชีที่สามารถทำการสอบบัญชีได้ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของประเทศที่บริษัทต่างประเทศจัดตั้งขึ้น

“มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย” หมายความว่า มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี

“ประกาศว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ที่ใช้บังคับกับบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

หมวด 2

การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน

ตามหลักเกณฑ์ของไทย

------------------

ส่วนที่ 1

ประเภทข้อมูลและระยะเวลา

------------------

ข้อ 10 รายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานได้แก่ประเภทข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) งบการเงิน

(2) รายงานทางการเงินสำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนแรกของปีบัญชี

(3) การวิเคราะห์และคำอธิบายระหว่างกาลของฝ่ายจัดการ (Interim Management Discussion and Analysis)

(4) รายงานประจำปี

(5) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี

(6) แบบแสดงรายการข้อมูลระหว่างปี

ข้อ 11 ให้บริษัทต่างประเทศจัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามที่กำหนดในข้อ 10 ต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การจัดทำและส่งข้อมูลตามข้อ 10(1) (2) (4) และ (5) รวมทั้งระยะเวลาในการส่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในตารางท้ายประกาศนี้

(2) การจัดทำและส่งข้อมูลตามข้อ 10(3) รวมทั้งระยะเวลาในการส่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในตารางท้ายประกาศนี้ เว้นแต่กรณีตามข้อ 14

(3) การจัดทำและส่งข้อมูลตามข้อ 10(6) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดในส่วนที่ 6 ของหมวดนี้

ข้อ 12 ในกรณีบริษัทต่างประเทศมีหน้าที่ส่งรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานต่อตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหน่วยงานทางการในต่างประเทศตามที่ ตลาดหลักทรัพย์หรือหน่วยงานดังกล่าวกำหนด ให้บริษัทต่างประเทศดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ส่งรายงานที่บริษัทต่างประเทศนั้นส่งต่อตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหน่วยงานทางการในต่างประเทศต่อสำนักงาน

(2) ในการจัดทำและส่งรายงานซึ่งบริษัทต่างประเทศมีหน้าที่ส่งต่อสำนักงานตามประกาศนี้ รายงานดังกล่าวต้องมีรายละเอียดของข้อมูลไม่น้อยกว่ารายงานที่บริษัทต่างประเทศได้จัดทำและเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหน่วยงานทางการในต่างประเทศ

(3) ในกรณีที่บริษัทต่างประเทศต้องเปิดเผยข้อมูลในรายงานที่บริษัทส่งต่อตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหน่วยงานทางการในต่างประเทศตาม (1) เพิ่มเติม ให้บริษัทต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสำนักงานด้วย

(4) ให้บริษัทต่างประเทศส่งรายงานตาม (1) และ (2) และเปิดเผยข้อมูลตาม (3) (ถ้ามี)ต่อสำนักงานภายในระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับระยะเวลาที่เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหน่วยงานทางการในต่างประเทศ ในลักษณะที่จะไม่ทำให้เกิดการได้หรือเสียเปรียบในการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว

ส่วนที่ 2

ข้อกำหนดเกี่ยวกับเอกสารและข้อมูลประกอบงบการเงิน

------------------

ข้อ 13 ให้บริษัทต่างประเทศส่งเอกสารดังต่อไปนี้ ต่อสำนักงานพร้อมกับการจัดส่งงบการเงิน

(1) หนังสือรับรองงบการเงินตามแบบ 56-3 ท้ายประกาศว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน

(2) บทสรุปประเภทรายงานของผู้สอบบัญชีตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีในตลาดทุน

ข้อ 14 เมื่อปรากฏว่ารายได้หรือกำไรสุทธิตามงบการเงินงวดใดของบริษัทต่างประเทศมีความแตกต่างจากงบการเงินในงวดเดียวกันของปีก่อนเกินกว่าร้อยละยี่สิบ ให้บริษัทต่างประเทศจัดทำการวิเคราะห์และคำอธิบายระหว่างกาลของฝ่ายจัดการ (Interim Management Discussion and Analysis) โดยอย่างน้อยให้แสดงถึงสาเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่าง รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว และส่งต่อสำนักงานพร้อมกับการจัดส่งงบการเงิน

ส่วนที่ 3

การจัดทำรายงานทางการเงินสำหรับรอบระยะเวลา

หกเดือนแรกของปีบัญชี

------------------

ข้อ 15 บริษัทต่างประเทศที่อยู่ระหว่างถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีคำสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทเป็นการชั่วคราวโดยขึ้นเครื่องหมาย SP (suspension) อันเนื่องมาจากบริษัทมีการดำเนินงานหรือฐานะการเงินที่เข้าข่ายอาจถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิกถอนหุ้นจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ใช้บังคับกับบริษัทต่างประเทศ อาจจัดทำและส่งรายงานทางการเงินสำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนแรกของปีบัญชีที่มีลักษณะตามข้อ 16 พร้อมทั้งการวิเคราะห์และคำอธิบายระหว่างกาลของฝ่ายจัดการ (Interim Management Discussion and Analysis) ตามข้อ 17 แทนการส่ง งบการเงินรายไตรมาสก็ได้

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับบริษัทต่างประเทศที่เข้าข่ายถูกเพิกถอนหุ้นจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เนื่องจากรายงานการสอบบัญชีระบุว่าผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัทหรือแสดงความเห็นว่างบการเงินของบริษัทไม่ถูกต้องตามระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด

ข้อ 16 รายงานทางการเงินสำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนแรกของปีบัญชีตามข้อ 15 ต้องมีรูปแบบและรายการที่แสดงเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินว่าด้วยงบการเงินระหว่างกาล

ข้อ 17 ในการจัดทำการวิเคราะห์และคำอธิบายระหว่างกาลของฝ่ายจัดการ (Interim Management Discussion and Analysis) ของบริษัทต่างประเทศตามข้อ 15 ต้องมีรายละเอียดตามรายการที่กำหนดสำหรับการวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการที่อยู่ในแบบ 56-1 ท้ายประกาศว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน และรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ความคืบหน้าของการแก้ไขการดำเนินงานหรือฐานะการเงิน

(2) ภาระผูกพันและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า

(3) รายการระหว่างกันตามที่กำหนดในแบบ 56-1 ท้ายประกาศว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน

ส่วนที่ 4

การจัดทำรายงานประจำปี

------------------

ข้อ 18 รายงานประจำปีของบริษัทต่างประเทศต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีเป็นบริษัทต่างประเทศที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องมีข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

(ก) ข้อมูลตามแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีตามที่กำหนดในข้อ 19 พร้อมแนบงบการเงินประจำรอบปีบัญชีนั้น

(ข) ข้อมูลตามแบบ 56-2 ท้ายประกาศว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน และรายการข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อ 19(2)

(2) ในกรณีเป็นบริษัทต่างประเทศที่มีการเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและไม่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ต้องมีข้อมูลตามที่บริษัทต่างประเทศมีหน้าที่ส่งต่อผู้ถือหุ้นตามที่กฎหมายจัดตั้งบริษัทต่างประเทศนั้นกำหนด เว้นแต่สำนักงานจะกำหนดเป็นประการอื่น

ส่วนที่ 5

การจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี

------------------

ข้อ 19 แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีของบริษัทต่างประเทศต้องมีข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูลตามแบบ 56-1 ท้ายประกาศว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน

(2) ข้อมูลที่กำหนดให้เปิดเผยเพิ่มเติมเนื่องจากลักษณะเฉพาะของบริษัทต่างประเทศ หรือมีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องซึ่งมีลักษณะเป็นการเฉพาะตามข้อ 32

ส่วนที่ 6

การจัดทำและส่งแบบแสดงรายการข้อมูลระหว่างปี

------------------

ข้อ 20 ในกรณีที่บริษัทต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการทำธุรกรรมซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทต้องยื่นคำขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพิจารณารับหลักทรัพย์ใหม่ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการรับหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ใช้บังคับกับบริษัทต่างประเทศ ให้บริษัทต่างประเทศจัดทำและส่งแบบแสดงรายการข้อมูลระหว่างปีต่อสำนักงาน

ให้บริษัทต่างประเทศส่งแบบแสดงรายการข้อมูลระหว่างปีตามวรรคหนึ่ง ตามระยะเวลาใดเวลาหนึ่งดังต่อไปนี้ แล้วแต่เวลาใดจะถึงก่อน เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันระยะเวลาจากสำนักงาน

(1) ไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันที่หลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทจะเริ่มซื้อขาย

(2) ภายในวันทำการถัดจากวันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติการเข้าทำรายการหรือวันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอนุมัติคำขอรับหลักทรัพย์ใหม่ แล้วแต่วันใดจะถึงภายหลัง

สำนักงานอาจผ่อนผันการจัดทำและส่งแบบแสดงรายการข้อมูลระหว่างปีของบริษัทต่างประเทศได้ หากบริษัทมีหนังสือรับรองต่อสำนักงานว่าข้อมูลของบริษัทไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างมีนัยสำคัญจากแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีล่าสุดที่บริษัทส่งต่อสำนักงาน

ข้อ 21 แบบแสดงรายการข้อมูลระหว่างปีที่จัดทำและส่งต่อสำนักงานตามข้อ 20 ต้องปรับปรุงข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีล่าสุดที่บริษัทต่างประเทศส่งต่อสำนักงาน
ให้เป็นปัจจุบัน อย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) นโยบายและภาพรวมการประกอบธุรกิจ

(2) ลักษณะการประกอบธุรกิจ

(3) ผู้ถือหุ้นและโครงสร้างการจัดการ

(4) ปัจจัยความเสี่ยงและผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

หมวด 3

การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน

ตามการเปิดเผยต่อหน่วยงานของต่างประเทศ

------------------

ข้อ 22 ให้บริษัทต่างประเทศส่งรายงานดังต่อไปนี้ต่อสำนักงาน

(1) งบการเงิน และรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานอื่นที่มีข้อมูลตรงกับที่บริษัทต่างประเทศได้ส่งต่อตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหน่วยงานทางการในต่างประเทศตามข้อ 4(2) หรือ (3) (ก)

(2) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทต่างประเทศมีการจัดทำและเปิดเผยรายงานประจำปีหรือรายงานอื่นใดที่มีข้อมูลในทำนองเดียวกับรายงานประจำปีที่ได้ส่งต่อตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหน่วยงานทางการในต่างประเทศตามข้อ 4(2) หรือ (3) (ก) ให้ใช้รายงานประจำปีหรือรายงานดังกล่าวเป็นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี

ให้บริษัทต่างประเทศส่งข้อมูลตามวรรคหนึ่งต่อสำนักงาน ภายในระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับระยะเวลาที่เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหน่วยงานทางการในต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง

หมวด 4

ข้อกำหนดเกี่ยวกับงบการเงิน ผู้สอบบัญชี

และการประเมินค่าทรัพย์สิน

------------------

ส่วนที่ 1

------------------

ลักษณะของงบการเงิน

ข้อ 23 ข้อมูลที่เป็นงบการเงินซึ่งส่งต่อสำนักงาน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

(ก) มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย

(ข) International Financial Reporting Standard (IFRS)

(ค) มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหน่วยงานทางการในต่างประเทศยอมรับหรือกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่บริษัทต่างประเทศได้จัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินโดยแสดงผลกระทบของรายการที่แตกต่างจาก IFRS (Reconciled IFRS) ไว้ด้วย

(ง) มาตรฐานการรายงานทางการเงินอื่นตามที่ได้รับผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) รายงานของผู้สอบบัญชีต้องลงลายมือชื่อโดยผู้สอบบัญชีที่มีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ 24 และข้อ 25 แล้วแต่กรณี

(3) รายงานผู้สอบบัญชีตาม (2) ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังนี้

(ก) การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ต้องใช้ในการจัดทำงบการเงินนั้น

(ข) ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดขอบเขตการสอบทานหรือตรวจสอบ แล้วแต่กรณี โดยการกระทำหรือไม่กระทำของบริษัทต่างประเทศ หรือของกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทต่างประเทศ

ในกรณีที่บริษัทต่างประเทศมีบริษัทย่อย บริษัทต่างประเทศต้องดำเนินการให้บริษัทย่อยดังกล่าวจัดทำข้อมูลทางการเงินและข้อมูลการเปิดเผยอื่นให้แก่บริษัทต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทต่างประเทศสามารถจัดทำงบการเงินรวมให้เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนดในวรรคหนึ่ง (1)

ส่วนที่ 2

เงื่อนไขเกี่ยวกับผู้สอบบัญชี

------------------

ข้อ 24 ผู้สอบบัญชีที่ลงลายมือชื่อเพื่อแสดงความเห็นในการสอบบัญชีของบริษัทต่างประเทศ ต้องมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ผู้สอบบัญชีที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีในตลาดทุนและงบการเงินดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบหรือสอบทานจากผู้สอบบัญชีท้องถิ่นซึ่งสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่เป็นสมาชิกประเภทเต็มรูปแบบ (full member) ของสำนักงานสอบบัญชีที่เป็นเครือข่ายเดียวกันกับสำนักงานสอบบัญชีที่ผู้สอบบัญชีที่ลงลายมือชื่อดังกล่าวสังกัด เว้นแต่ผู้สอบบัญชีที่ลงลายมือชื่อนั้นสามารถสอบบัญชีได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของประเทศที่บริษัทต่างประเทศนั้นจัดตั้งขึ้น

(2) ผู้สอบบัญชีต่างประเทศที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีต่างประเทศ

ข้อ 25 ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีตามข้อ 24(2) มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ ผู้สอบบัญชีดังกล่าวจะลงลายมือชื่อเพื่อแสดงความเห็นในการสอบบัญชีของบริษัทต่างประเทศได้ ต่อเมื่อไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้สอบบัญชีดังกล่าวตามกฎหมายต่างประเทศ จะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานในการตรวจสอบหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ในเรื่องเกี่ยวกับการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีนั้น เว้นแต่เป็นการลงลายมือชื่อเพื่อแสดงความเห็นในการสอบบัญชีของบริษัทต่างประเทศที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศตามข้อ 4(2) หรือ (3) (ก) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่มีชื่ออยู่ในรายชื่อประเทศที่สำนักงานยอมรับ

(1) ผู้สอบบัญชีต่างประเทศที่อยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลที่มีมาตรฐานในการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีซึ่งเป็นที่ยอมรับโดย International Forum of Independent Audit Regulators (IFIAR) หรือ European Commission (EC)

(2) ผู้สอบบัญชีต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลผู้สอบบัญชีในประเทศที่ได้รับผลการประเมินมาตรฐานการกำกับดูแล Financial Sector Assessment Program (FSAP) ในหัวข้อเกี่ยวกับผู้สอบบัญชี (auditor) ในระดับไม่ต่ำกว่า broadly implemented

ส่วนที่ 3

หลักเกณฑ์การจัดให้มีการประเมินค่าทรัพย์สิน

------------------

ข้อ 26 ในกรณีที่มีการเปิดเผยราคาประเมินของทรัพย์สินไว้ในรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน การประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวต้องกระทำโดยบุคคลที่ บริษัทต่างประเทศพิจารณาว่ามีความเหมาะสมและสามารถประเมินมูลค่าทรัพย์สินให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงได้อย่างน่าเชื่อถือเพียงพอ โดยผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวต้องเข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

(1) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินหรือบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สำนักงานให้การยอมรับ

(2) ในกรณีที่ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นบุคคลต่างประเทศ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังนี้

(ก) อยู่ในบัญชีรายชื่อของบุคคลซึ่งหน่วยงานทางการหรือหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศอันเป็นที่ตั้งของทรัพย์สินกำหนดให้สามารถทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินนั้น ๆ ได้

(ข) ในกรณีที่ไม่ปรากฎบัญชีรายชื่อตาม (ก) ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินต้องเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

1. เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในประเทศอันเป็นที่ตั้งของทรัพย์สินนั้น

2. เป็นบุคคลที่มีมาตรฐานการปฏิบัติงานและระบบงานในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสากล

3. เป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่มีเครือข่ายกว้างขวางในระดับสากล (international firm)

หมวด 5

รูปแบบและวิธีการในการจัดทำและจัดส่ง

------------------

ข้อ 27 รายงานที่ส่งต่อสำนักงานตามประกาศนี้ ให้ใช้ภาษาเดียวกับที่บริษัทต่างประเทศใช้ในการจัดทำและยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงาน เว้นแต่ได้รับผ่อนผันจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร

ในกรณีที่ข้อมูลหรือรายงานที่ยื่นต่อสำนักงานแปลมาจากข้อมูลหรือเอกสารภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ให้บริษัทต่างประเทศดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ดำเนินการให้ผู้แปลรับรองความถูกต้องว่า สาระของการแปลถูกต้องตรงตามสาระของข้อมูลหรือเอกสารที่เป็นต้นฉบับ

(2) บริษัทต่างประเทศต้องรับรองว่า สาระของข้อมูลหรือเอกสารที่แปลนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่จริง และมิได้มีการปกปิดข้อเท็จจริงที่พึงเปิดเผย

ข้อ 28 ให้บริษัทต่างประเทศจัดส่งรายงานตามประกาศนี้ต่อสำนักงานในรูปแบบดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ในกรณีเป็นการส่งรายงานประจำปีให้ปฏิบัติตามข้อ 29

(1) เอกสารสิ่งพิมพ์จำนวนหนึ่งฉบับ

(2) ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามวิธีการดังนี้

(ก) กรณีบริษัทต่างประเทศมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ส่งข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบการรับส่งข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด

(ข) กรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้ส่งข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบการรับส่งข้อมูลตามแนวทางที่สำนักงานกำหนด

ข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงานทั้งในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีข้อความถูกต้องตรงกัน และต้องไม่มีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ หรือปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ควรบอกให้แจ้ง

ข้อ 29 ในการจัดทำและส่งรายงานประจำปีต่อสำนักงาน บริษัทต่างประเทศอาจจัดทำในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์ แผ่นบันทึกข้อมูล หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทต่างประเทศส่งรายงานประจำปีในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้ปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดในข้อ 28(2)

หมวด 6

การสิ้นสุดหน้าที่

------------------

ข้อ 30 ให้บริษัทต่างประเทศสิ้นสุดหน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสำนักงาน ตามข้อกำหนดในประกาศว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานโดยอนุโลม เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหลักการในการกำกับดูแลบริษัทต่างประเทศ

เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่ง สำนักงานอาจกำหนดแนวทางการปฏิบัติในรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุโลมใช้ตามวรรคหนึ่งได้

ข้อ 31 ให้บริษัทต่างประเทศแจ้งเหตุที่ทำให้หน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทสิ้นสุดลงตามข้อ 30 ต่อสำนักงานก่อนถึงกำหนดเวลาส่งรายงานดังกล่าว

หมวด 7

อำนาจของสำนักงานเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล

------------------

ข้อ 32 เพื่อให้ผู้ลงทุนในประเทศไทยได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจเท่าเทียมกันและภายในระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับผู้ลงทุนในต่างประเทศ โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานและไม่เป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่บริษัทต่างประเทศ สำนักงานอาจดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้บริษัทต่างประเทศต้องปฏิบัติในการจัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่างประเทศ

(2) ผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการจัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่างประเทศ

ในการพิจารณากำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมหรือผ่อนผันหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานนำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณา

(1) กฎหมายและกฎเกณฑ์ของต่างประเทศที่ใช้บังคับกับบริษัทต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการบังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่อาจมีผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทหรือความคุ้มค่าในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้

(2) ความน่าเชื่อถือ ความเพียงพอ หรือความทันเวลาของข้อมูลที่เปิดเผย

(3) ลักษณะเฉพาะของบริษัทต่างประเทศ หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องซึ่งมีลักษณะเป็นการเฉพาะของบริษัทต่างประเทศนั้น

(4) ปัจจัยใด ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อการให้ความคุ้มครองหรือรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น

ข้อ 33 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานว่าข้อเท็จจริง พฤติการณ์ หรือสภาพการณ์ที่สำนักงานนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดให้บริษัทต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลตามข้อ 6 หรือกำหนด เงื่อนไขเพิ่มเติมหรือผ่อนผันหลักเกณฑ์ตามข้อ 32 เปลี่ยนแปลงไป และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงานอาจยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด เงื่อนไข หรือการผ่อนผันดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนได้

ข้อ 34 สำนักงานอาจผ่อนผันการเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูลในรายงานตามที่กำหนดในประกาศนี้ได้ หากบริษัทต่างประเทศแสดงให้สำนักงานเห็นได้ว่าข้อมูลดังกล่าวมิใช่ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ และมีเหตุอันควรที่จะไม่แสดงรายละเอียดของข้อมูลดังกล่าวไว้ในรายงานนั้น หรือบริษัทต่างประเทศได้ดำเนินการประการอื่นเพื่อทดแทนอย่างเพียงพอแล้ว

ข้อ 35 ในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรทำให้บริษัทต่างประเทศไม่สามารถส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานต่อสำนักงานภายในระยะเวลาที่กำหนดตามประกาศนี้ บริษัทต่างประเทศอาจมีหนังสือขอผ่อนผันการส่งรายงานดังกล่าวต่อสำนักงาน พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลในการขอผ่อนผันและแจ้งกำหนดระยะเวลาที่จะจัดส่งรายงานนั้น

ในกรณีที่สำนักงานไม่ผ่อนผันให้ตามที่บริษัทต่างประเทศร้องขอตามวรรคหนึ่ง บริษัทต่างประเทศต้องรับผิดเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 56 เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดในการส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามที่กำหนดในประกาศนี้

ประกาศ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ