ข้อกำหนดเกี่ยวกับรายการและข้อความในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 9, 2015 15:48 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สร. 25/2558

เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับรายการและข้อความในสัญญาก่อตั้งทรัสต์

ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

_________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 สำนักงาน ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

“กองทรัสต์” หมายความว่า ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

“กองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนทั่วไป” หมายความว่า กองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนทั่วไปที่มีลักษณะตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

“กองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า กองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนรายใหญ่ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

“ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน” หมายความว่า ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทรัสต์สามารถลงทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

“บุคคลที่เกี่ยวโยงกัน” หมายความว่า บุคคลที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน

“การเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป” (general mandate) หมายความว่า การเพิ่มทุนของกองทรัสต์ตามมติที่ประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่ให้อำนาจผู้จัดการกองทรัสต์กำหนดวัตถุประสงค์ รวมทั้งการออกและจัดสรรหน่วยเพิ่มทุนแต่ละคราวตามความเหมาะสม เช่น การกำหนดราคา วันและเวลาที่จะเสนอขาย หรือเงื่อนไขในการเสนอขายหน่วยทรัสต์ เป็นต้น

คำว่า “หน่วยทรัสต์” “ผู้ลงทุนรายใหญ่” “ผู้จัดการกองทรัสต์” “ทุนชำระแล้ว” “กิจการโครงสร้างพื้นฐาน” “โครงการที่ไม่แล้วเสร็จ” “ที่ปรึกษาทางการเงิน” “การกู้ยืมเงิน” และ “กลุ่มบุคคลเดียวกัน” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ข้อ 2 ประกาศนี้

(1) เป็นข้อกำหนดที่ใช้ประกอบกับข้อกำหนดตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

(2) เป็นการกำหนดรายการในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ของกองทรัสต์ดังต่อไปนี้

(ก) กองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในหมวด 1

(ข) กองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในหมวด 2

หมวด 1

กองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนทั่วไป

____________________

ข้อ 3 สัญญาก่อตั้งทรัสต์ของกองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนทั่วไป ให้ประกอบด้วยรายการอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การก่อตั้งกองทรัสต์ ตามข้อ 4

(2) หน่วยทรัสต์ ตามข้อ 5

(3) เพิ่มทุนของกองทรัสต์ ตามข้อ 6

(4) การลดทุนของกองทรัสต์ ตามข้อ 7

(5) นิติสัมพันธ์ของผู้ถือหน่วยทรัสต์ ตามข้อ 8

(6) การจัดทำทะเบียนและการโอนหน่วยทรัสต์ ตามข้อ 9

(7) การลงทุนของกองทรัสต์ ตามข้อ 10 ถึงข้อ 15

(8) การจัดหาผลประโยชน์ของกองทรัสต์ ตามข้อ 16

(9) การกู้ยืมเงินของกองทรัสต์และการก่อภาระผูกพันใด ๆ ตามข้อ 17

(10) การประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ตามข้อ 18

(11) การทำธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกับผู้จัดการกองทรัสต์ ตามข้อ 19

(12) การทำธุรกรรมกับทรัสตี ตามข้อ 20

(13) การเปิดเผยข้อมูลของกองทรัสต์ ตามข้อ 21

(14) การจ่ายประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ ตามข้อ 22

(15) การขอมติและการประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ ตามข้อ 23 และข้อ 24

(16) การจำกัดสิทธิของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่ถือเกินอัตราหรือมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ ตามข้อ 25

(17) อำนาจหน้าที่ของทรัสตี ตามข้อ 26

(18) อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์ ตามข้อ 27

(19) ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ตามข้อ 28

(20) การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ตามข้อ 29

(21) การเลิกกองทรัสต์ ตามข้อ 30

ข้อ 4 รายการเกี่ยวกับการก่อตั้งกองทรัสต์ ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ลักษณะของกองทรัสต์และกลไกการบริหาร ซึ่งมีข้อความดังนี้

(ก) “............(ชื่อกองทรัสต์)............ เป็นกองทรัสต์ตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยผลของสัญญาก่อตั้งทรัสต์นี้ และสมบูรณ์เมื่อผู้ก่อตั้งทรัสต์ โอนเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยทรัสต์ ด้วยความไว้วางใจให้ทรัสตีจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยทรัสต์” และข้อความที่แสดงว่า “เมื่อกองทรัสต์มีผลสมบูรณ์แล้ว ทรัสตีจะมอบหมายให้ผู้ก่อตั้งทรัสต์ เข้าเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ต่อไป”

(ข) “กองทรัสต์นี้ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยเป็นกองทรัพย์สินที่อยู่ในชื่อและอำนาจการจัดการของทรัสตี”

(ค) “การจัดการกองทรัสต์ จะกระทำโดยทรัสตีและผู้จัดการกองทรัสต์ที่ได้รับมอบหมายจากทรัสตีซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามสัญญานี้ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ปรากฏในรายการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของทรัสตีและผู้จัดการกองทรัสต์ โดยในการนี้ ผู้จัดการกองทรัสต์มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลจัดการกองทรัสต์ ซึ่งรวมถึงการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน และทรัสตีมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทรัสต์และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์และผู้รับมอบหมายรายอื่น (ถ้ามี) ให้เป็นไปตามสัญญาและตามกฎหมาย” ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทรัสต์มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีข้อความที่แสดงถึงบุคคลที่จะจัดการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว ด้วย ซึ่งอาจเป็นทรัสตีหรือบุคคลอื่นใดที่สามารถดำเนินการได้โดยชอบก็ได้

(2) ชื่อ อายุ ประเภท และวัตถุประสงค์ของกองทรัสต์

(3) ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ก่อตั้งทรัสต์

(4) ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของทรัสตี

(5) ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้จัดการกองทรัสต์

(6) คุณสมบัติหรือลักษณะของผู้รับประโยชน์ของกองทรัสต์ ซึ่งมีข้อความที่แสดงว่า ผู้ถือหน่วยทรัสต์ตามที่ปรากฏชื่อในทะเบียนผู้ถือหน่วยทรัสต์ เป็นผู้รับประโยชน์ของกองทรัสต์นี้

(7) ทรัพย์สินที่จะให้เป็นกองทรัสต์ ทั้งนี้ ทรัพย์สินเริ่มต้นที่จะให้เป็นกองทรัสต์ต้องเป็นเงินที่ผู้ก่อตั้งทรัสต์ได้จากการจำหน่ายหน่วยทรัสต์ในการเสนอขายหน่วยทรัสต์ครั้งแรก

(8) วันที่จัดตั้งกองทรัสต์

ข้อ 5 รายการเกี่ยวกับหน่วยทรัสต์ ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดที่แสดงว่า สิทธิในการได้รับประโยชน์จากกองทรัสต์ให้แบ่งออกเป็นหน่วย หน่วยละเท่า ๆ กัน เรียกว่าหน่วยทรัสต์ โดยหน่วยทรัสต์แต่ละชนิดให้สิทธิแก่ผู้ถือเท่า ๆ กันในการเป็นผู้รับประโยชน์จากกองทรัสต์

(2) ลักษณะการแบ่งชนิดของหน่วยทรัสต์ (ถ้ามี)

(3) ข้อกำหนดที่แสดงว่า หน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์นี้ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการไถ่ถอนหรือไม่ โดยในกรณีที่มีหน่วยทรัสต์ที่ให้สิทธิดังกล่าว ให้ระบุสิทธิ ตลอดจนเงื่อนไขและวิธีการ ในการใช้สิทธิให้ชัดเจน

(4) จำนวนหน่วยทรัสต์ที่ออกและทุนชำระแล้วของกองทรัสต์ โดยในกรณีที่มีการแบ่งหน่วยทรัสต์ออกเป็นหลายชนิด ให้แสดงแยกเป็นรายชนิดด้วย

ข้อ 6 รายการเกี่ยวกับการเพิ่มทุนของกองทรัสต์ ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงสาระสำคัญ อย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) การกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ผู้จัดการกองทรัสต์เป็นผู้ดำเนินการเพิ่มทุน

(2) เหตุในการเพิ่มทุน

(3) กระบวนการเพิ่มทุน ซึ่งต้องมีข้อกำหนดให้ต้องได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ในการอนุมัติให้เพิ่มทุน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังนี้

(ก) การเพิ่มทุนโดยเสนอขายหน่วยทรัสต์เป็นการเฉพาะเจาะจงให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์บางราย ต้องไม่มีผู้ถือหน่วยทรัสต์ซึ่งถือหน่วยทรัสต์รวมกันเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงคัดค้านการเพิ่มทุน

(ข) ในกรณีที่เป็นการขอมติของผู้ถือหน่วยทรัสต์เพื่อการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่แสดงไว้อย่างชัดเจนว่าการจัดสรรหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนจะเป็นไปตามอัตราและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเปิดเผยสารสนเทศ และการปฏิบัติการใด ๆ เกี่ยวกับการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน โดยอนุโลม และตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด (ถ้ามี)

(ค) ในกรณีที่เป็นการเพิ่มทุนเพื่อลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ได้ผ่านกระบวนการตามข้อ 11 และหากเป็นการทำธุรกรรมระหว่างกองทรัสต์กับผู้จัดการกองทรัสต์หรือบุคคลที่เกี่ยวโยงกันกับผู้จัดการกองทรัสต์ ได้ผ่านการดำเนินการตามข้อ 19 ด้วยแล้ว

(ง) ผู้จัดการกองทรัสต์ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เสนอขายหน่วยทรัสต์ ที่ออกใหม่

ข้อ 7 รายการเกี่ยวกับการลดทุนของกองทรัสต์ ให้มีข้อกำหนดที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) การกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ผู้จัดการกองทรัสต์เป็นผู้ดำเนินการลดทุน

(2) เหตุในการลดทุน ซึ่งมีได้เฉพาะในกรณีดังนี้

(ก) เป็นการลดทุนตามแผนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในสัญญาก่อตั้งทรัสต์

(ข) กองทรัสต์มีสภาพคล่องส่วนเกินที่เหลืออยู่ภายหลังการจำหน่ายทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน การตัดจำหน่ายสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (ถ้ามี) และการจ่ายประโยชน์ตอบแทน ทั้งนี้ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่ากองทรัสต์ไม่มีกำไรสะสมเหลืออยู่แล้ว

(ค) กองทรัสต์มีการเพิ่มทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม แต่ปรากฏเหตุขัดข้องในภายหลังทำให้ไม่สามารถได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานนั้น

(ง) กองทรัสต์มีรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดและไม่มีเหตุต้องนำไปใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วของกองทรัสต์ตามข้อ 22

(จ) กรณีอื่นใดที่ผู้ถือหน่วยทรัสต์มีมติให้ลดทุนของกองทรัสต์ได้

(3) กระบวนการลดทุน ซึ่งต้องมีข้อกำหนดขั้นต่ำดังนี้

(ก) ที่ประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์มีมติอนุมัติให้ลดทุน ทั้งนี้ ในกรณีที่สัญญาก่อตั้งทรัสต์มีข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลดทุนตาม (2) (ก) (ข) (ค) หรือ (ง) จะมีข้อกำหนดให้การลดทุนสำหรับเหตุดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องได้รับมติที่ประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ก็ได้

(ข) วิธีการลดทุน โดยต้องกำหนดให้กระทำด้วยวิธีการลดมูลค่าหน่วยทรัสต์ให้ต่ำลงหรือลดจำนวนหน่วยทรัสต์ให้น้อยลง เว้นแต่ในกรณีของกองทรัสต์ที่มีการแบ่งหน่วยทรัสต์ออกเป็นหลายชนิด และจะมีการลดทุนของหน่วยทรัสต์แต่ละชนิดไม่พร้อมกันหรือไม่เท่ากัน ให้กระทำได้ด้วยวิธีการลดจำนวนหน่วยทรัสต์ให้น้อยลงเท่านั้น

(ค) การเฉลี่ยเงินให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ โดยต้องกำหนดว่าจะเฉลี่ยเงินให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยทรัสต์ และมีข้อความที่แสดงอย่างชัดเจนว่า เงินที่เฉลี่ยคืนนั้นต้องมิได้มาจากเงินกำไรของกองทรัสต์ ทั้งนี้ มูลค่าหน่วยทรัสต์ที่ใช้ในการลดทุน ให้คำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทรัสต์ ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยทรัสต์

ข้อ 8 รายการเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ของผู้ถือหน่วยทรัสต์ ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) การเป็นผู้ถือหน่วยทรัสต์มิได้ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ในลักษณะของตัวการตัวแทนระหว่างผู้ถือหน่วยทรัสต์กับทรัสตี และมิได้ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วนหรือลักษณะใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

(2) การเป็นผู้ถือหน่วยทรัสต์มิได้ทำให้บุคคลดังกล่าวมีความรับผิดในกรณีที่ทรัพย์สินของกองทรัสต์ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ให้แก่ทรัสตี ผู้จัดการกองทรัสต์ หรือเจ้าหนี้ของกองทรัสต์ โดยทรัสตี ผู้จัดการกองทรัสต์ และเจ้าหนี้ของกองทรัสต์จะบังคับชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินของกองทรัสต์เท่านั้น

(3) ผู้ถือหน่วยทรัสต์มีสิทธิเรียกให้กองทรัสต์ชำระประโยชน์ตอบแทนได้ไม่เกินไปกว่าเงินกำไรหลังหักค่าสำรองต่าง ๆ และสิทธิเรียกให้คืนเงินทุนได้ไม่เกินไปกว่าจำนวนทุนของกองทรัสต์ที่ปรับปรุงด้วยส่วนเกินหรือส่วนต่ำกว่ามูลค่าหน่วยทรัสต์ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการแบ่งชนิดของหน่วยทรัสต์สิทธิในการรับประโยชน์ตอบแทนหรือรับคืนเงินทุนของผู้ถือหน่วยทรัสต์แต่ละชนิดต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยทรัสต์ชนิดนั้น ๆ ด้วย

(4) ไม่ว่าในกรณีใด มิให้ตีความสัญญาก่อตั้งทรัสต์ไปในทางที่ก่อให้เกิดผลขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดตาม (1) (2) และ (3)

ข้อ 9 รายการเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนและการโอนหน่วยทรัสต์ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ทรัสตีมีหน้าที่จัดให้มีทะเบียนหน่วยทรัสต์ โดยจะกำหนดให้ทรัสตีเป็นผู้ดำเนินการจัดทำทะเบียนหน่วยทรัสต์เอง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นตามขอบเขตที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์ และการเป็นทรัสตีของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็ได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ทรัสตีเป็นผู้จัดทำทะเบียนหน่วยทรัสต์เอง ต้องมีข้อกำหนดขั้นต่ำให้ทรัสตีปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้บริการเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

(2) ทะเบียนหน่วยทรัสต์ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง และการชำระเงินหรือทรัพย์สินอื่น รวมทั้งการให้สิทธิหรือการจำกัดสิทธิใด ๆ แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่ปรากฏรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยทรัสต์ หากได้กระทำตามข้อกำหนดในสัญญาก่อตั้งทรัสต์หรือตามกฎหมายแล้ว ให้ถือว่าทรัสตีได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว

(3) ทรัสตีหรือนายทะเบียนหลักทรัพย์มีสิทธิปฏิเสธการแสดงชื่อในทะเบียนผู้ถือหน่วยทรัสต์ ในกรณีที่การถือหน่วยทรัสต์ไม่เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ กำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

(4) ทรัสตีหรือนายทะเบียนหลักทรัพย์จะออกหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยทรัสต์ให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ เพื่อให้ผู้ถือหน่วยทรัสต์สามารถใช้อ้างอิงต่อทรัสตี ผู้จัดการกองทรัสต์ และบุคคลอื่นได้ ทั้งนี้ ในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ให้แสดงตัวอย่างหลักฐานแสดงสิทธิด้วย หรือเป็นการจัดทำหลักฐานอื่นตามระบบศูนย์รับฝากหลักทรัพย์

ข้อ 10 รายการเกี่ยวกับการลงทุนของกองทรัสต์ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) การลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ต้องแสดงสาระสำคัญดังนี้

(ก) นโยบายลงทุนและประเภททรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทรัสต์ จะลงทุน รวมทั้งข้อจำกัดการลงทุน (ถ้ามี) ซึ่งมีสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

(ข) การได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 11

(ค) การจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 12

(2) ในกรณีที่กองทรัสต์มีนโยบายจะลงทุนในทรัพย์สินอื่นด้วย นอกเหนือจากการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ต้องระบุนโยบายดังกล่าวและประเภททรัพย์สินที่จะลงทุนให้ชัดเจน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 13

(3) ในกรณีที่กองทรัสต์ถือหุ้นที่เป็นทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับกลไกการกำกับดูแลที่จะเป็นผลให้การลงทุนของบริษัทที่ออกหุ้นดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตาม (1) และ (2) โดยเสมือนกับว่ากองทรัสต์มีการลงทุนเองโดยตรง

ข้อ 11 การได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ผู้จัดการกองทรัสต์จะดำเนินการดังนี้ ก่อนการได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานแต่ละครั้ง

(ก) ตรวจสอบหรือสอบทาน (การทำ due diligence) ข้อมูลและสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุน เช่น ข้อมูลด้านการเงิน กฎหมาย และเทคนิคเฉพาะทาง เป็นต้น โดยผู้จัดการกองทรัสต์จะลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่พิจารณาแล้วและมีความเห็นโดยสุจริตว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

1. มีความเหมาะสมที่จะลงทุน โดยมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนทั่วไปนั้น

2. มีเอกสารสิทธิหรือเอกสารสัญญาที่ครบถ้วน ชัดเจน บังคับได้ตามกฎหมาย และเพียงพอต่อการที่กองทรัสต์จะใช้ดำเนินการหรือจัดหาผลประโยชน์ได้

3. ในกรณีที่ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทรัสต์จะลงทุนอยู่ในต่างประเทศ มีการตรวจสอบและสอบทานแล้วว่ากองทรัสต์สามารถได้มาและถือครองทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามกฎหมายของประเทศนั้น โดยมีความเห็นของที่ปรึกษาทางกฎหมายที่เชี่ยวชาญในกฎหมายของประเทศนั้นประกอบการตรวจสอบหรือสอบทานนั้น

(ข) จัดให้มีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานอย่างน้อยตามหลักเกณฑ์ในข้อ 18

(2) การได้มาเพิ่มเติมซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีข้อกำหนดดังนี้ด้วย

(ก) ในด้านสาระของรายการ เป็นธุรกรรมที่ผู้จัดการกองทรัสต์มีความเห็นว่าเข้าลักษณะดังนี้

1. เป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2. เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของกองทรัสต์

3. สมเหตุสมผลและใช้ราคาที่เป็นธรรม

4. ค่าใช้จ่ายในการเข้าทำธุรกรรมที่เรียกเก็บจากกองทรัสต์ (ถ้ามี) อยู่ในอัตราที่เป็นธรรมและเหมาะสม

5. ในกรณีที่เป็นการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จ มูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จทั้งหมดของกองทรัสต์เมื่อรวมกันแล้วจะไม่เกินร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทรัสต์

(ข) ในด้านระบบในการอนุมัติ ต้องผ่านการพิจารณาจากทรัสตีว่าเป็นธุรกรรมที่เป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินการเพิ่มเติมดังนี้

1. กรณีที่เป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท แต่น้อยกว่าร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทรัสต์ขึ้นไป ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ (board of directors) ของผู้จัดการกองทรัสต์

2. กรณีที่เป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทรัสต์ ต้องได้รับมติของที่ประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

ทั้งนี้ สัญญาก่อตั้งทรัสต์จะกำหนดข้อยกเว้นของการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากเป็นการได้มาเพิ่มเติมซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามข้อตกลงหรือสัญญาที่มีกับภาครัฐซึ่งได้ระบุไว้อย่างเฉพาะเจาะจงแล้วในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนก็ได้

(ค) ระบบในการอนุมัติตาม (ข) ต้องอยู่ภายใต้กรอบดังนี้ด้วย

1. ผู้ที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในการเข้าทำธุรกรรมต้องไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเข้าทำธุรกรรมนั้น

2. การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ให้คำนวณตามมูลค่าการได้มาซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดของแต่ละโครงการที่ทำให้กองทรัสต์พร้อมจะหารายได้ ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนั้น ๆ

3. กำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์มีหน้าที่จัดให้มีเอกสารที่มีรายละเอียดอย่างเพียงพอประกอบการพิจารณาของทรัสตี คณะกรรมการของผู้จัดการกองทรัสต์ หรือผู้ถือหน่วยทรัสต์ แล้วแต่กรณี ซึ่งแสดงความเห็นของผู้จัดการกองทรัสต์เกี่ยวกับลักษณะธุรกรรมที่เป็นไปตาม (ก) พร้อมทั้งเหตุผลและข้อมูลประกอบที่ชัดเจน

ข้อ 12 การจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงสาระสำคัญว่าผู้จัดการกองทรัสต์ต้องดำเนินการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามหลักเกณฑ์ในข้อ 18 ก่อนการจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว

(2) การจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานจะกระทำโดยเปิดเผย และมีสาระของรายการที่เป็นไปตามข้อ 11(2) (ก) มีระบบในการอนุมัติที่เป็นไปตามข้อ 11(2) (ข) และ (ค) โดยอนุโลม

ข้อ 13 ในกรณีที่กองทรัสต์มีนโยบายจะลงทุนในทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ต้องมีข้อกำหนดที่มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(1) ประเภทของทรัพย์สินอื่นที่กองทรัสต์จะลงทุน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 14 และข้อ 15

(2) ข้อกำหนดว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ตามตราสารที่กองทรัสต์ลงทุนผิดนัดชำระหนี้ หรือมีพฤติการณ์ว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้จัดการกองทรัสต์จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในเรื่องเดียวกันที่กำหนดไว้สำหรับกองทุนรวมที่ออกตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยอนุโลม

ข้อ 14 ในกรณีที่กองทรัสต์มีนโยบายจะลงทุนในทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ต้องระบุนโยบายดังกล่าวและประเภททรัพย์สินที่จะลงทุนให้ชัดเจน โดยอยู่ในขอบเขตประเภททรัพย์สินดังต่อไปนี้

(1) พันธบัตรรัฐบาล

(2) ตั๋วเงินคลัง

(3) พันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่รัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นเป็นผู้ออก และมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนแบบไม่มีเงื่อนไข

(4) เงินฝากในธนาคาร หรือบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

(5) บัตรเงินฝากที่ไม่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ซึ่งธนาคารหรือบริษัทเงินทุนเป็นผู้ออก

(6) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ซึ่งธนาคาร บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน ในลักษณะที่เป็นการรับรองตลอดไป รับอาวัลทั้งจำนวน หรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข

(7) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้หรือเงินฝาก

(8) หน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศ (foreign collective investment scheme) ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้หรือเงินฝาก ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

(ก) เป็นโครงการจัดการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นสำหรับผู้ลงทุนทั่วไป และมีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินประเภทและชนิดเดียวกับทรัพย์สินที่กองทรัสต์สามารถลงทุนหรือมีไว้ได้

(ข) เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

1. โครงการจัดการลงทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO)

2. หน่วยดังกล่าวมีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE)

(9) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือหน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(10) หน่วยของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศ (foreign infrastructure fund) ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

(ก) เป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในทรัพย์สินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือหุ้นสามัญของบริษัทที่ประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(ข) เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

1. กองทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO)

2. หน่วยดังกล่าวมีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE) หรือมีการรับซื้อคืนโดยผู้ออกตราสาร

(11) หุ้นที่ออกโดยบริษัทที่เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ โดยหุ้นดังกล่าวไม่เข้าลักษณะของทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(ก) มีการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มิใช่หุ้นหรือตราสารแห่งหนี้ รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินรวมของบริษัทดังกล่าว

(ข) มีรายได้จากการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มิใช่หุ้นหรือตราสารหนี้รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของรายได้รวมในแต่ละปีบัญชี

(12) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า เฉพาะกรณีที่ทำสัญญาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงของกองทรัสต์

ข้อ 15 สัญญาก่อตั้งทรัสต์อาจกำหนดให้กองทรัสต์ลงทุนในหุ้นของนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้เช่า ผู้รับสิทธิ หรือผู้รับดำเนินการในการนำทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทรัสต์ไปจัดหาผลประโยชน์ได้ เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) สัญญาเช่า ให้สิทธิ หรือให้ดำเนินการกำหนดค่าตอบแทนโดยอ้างอิงกับผลประกอบการ ของทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทรัสต์

(2) เป็นการลงทุนในหุ้นที่ให้สิทธิพิเศษเพื่อประโยชน์ในการอนุมัติการดำเนินงานบางประการของนิติบุคคล (golden share) ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับของนิติบุคคลนั้น ไม่เกินหนึ่งหุ้น

ข้อ 16 รายการเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทรัสต์ ต้องมีข้อกำหนดที่สาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ลักษณะการจัดหาผลประโยชน์ของกองทรัสต์ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

(2) ข้อกำหนดให้การเข้าทำ แก้ไข หรือเลิกสัญญาเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน จะกระทำได้ต่อเมื่อมีสาระของรายการที่เป็นไปตามข้อ 11(2) (ก) และระบบในการอนุมัติที่เป็นไปตามข้อ 11(2) (ข) และ (ค) โดยอนุโลม

ทั้งนี้ สัญญาก่อตั้งทรัสต์จะกำหนดข้อยกเว้นของการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (2) หากเป็นการเข้าทำ แก้ไข หรือเลิกสัญญาที่ได้ระบุไว้อย่างเฉพาะเจาะจงแล้วในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนก็ได้

ข้อ 17 รายการเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินของกองทรัสต์และการก่อภาระผูกพันใด ๆ ต้องมีข้อกำหนดอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดที่แสดงว่า กองทรัสต์สามารถกู้ยืมเงินได้หรือไม่ ด้วยวิธีการใด เช่น การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรือการออกตราสารหรือเข้าทำสัญญาที่มีลักษณะเป็นการกู้ยืม เป็นต้น

(2) ในกรณีที่กำหนดให้กองทรัสต์สามารถกู้ยืมเงินได้ ต้องระบุสัดส่วนการกู้ยืมเงิน ซึ่งต้องเป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

(3) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการก่อภาระผูกพันใด ๆ แก่ทรัพย์สินของกองทรัสต์ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

(4) ในกรณีที่กองทรัสต์ถือหุ้นที่เป็นทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับกลไกการกำกับดูแลที่จะเป็นผลให้การกู้ยืมเงินหรือก่อภาระผูกพันใด ๆ ของบริษัทที่ออกหุ้นดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตาม (1) (2) และ (3) โดยเสมือนกับว่ากองทรัสต์มีการกู้ยืมเงินหรือก่อภาระผูกพันเองโดยตรง

ข้อ 18 รายการเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทรัสต์ลงทุน ซึ่งมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินต้องเป็นบุคคลดังนี้

(ก) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระในกรณีที่ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้

(ข) เป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทนั้น ๆ ในกรณีอื่นนอกจาก (ก)

(2) การประเมินมูลค่าทรัพย์สินจะกระทำโดยผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรายเดียวกันติดต่อกันไม่เกินสองครั้ง

(3) ในกรณีดังต่อไปนี้ จะจัดให้มีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินอย่างเต็มรูปแบบที่มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะในการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุน

(ก) เมื่อกองทรัสต์จะได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าสิบล้านบาทขึ้นไป โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

1. เป็นการประเมินมูลค่าล่วงหน้าก่อนการได้มาหรือจำหน่ายไปเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปี

2. ในกรณีที่การได้มาหรือจำหน่ายไปดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการทำธุรกรรมระหว่างกองทรัสต์กับผู้จัดการกองทรัสต์หรือบุคคลที่เกี่ยวโยงกันกับผู้จัดการกองทรัสต์ จะจัดให้มีการประเมินมูลค่าโดยผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินอย่างน้อยสองราย

(ข) เมื่อครบกำหนดสามปีนับแต่วันที่มีการประเมินมูลค่าเต็มรูปแบบครั้งล่าสุด

(ค) เมื่อปรากฏเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อันอาจมีผลกระทบต่อการด้อยค่าของทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทรัสต์ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

(ง) เมื่อทรัสตีหรือผู้สอบบัญชีของกองทรัสต์ร้องขอ

ข้อ 19 รายการเกี่ยวกับการทำธุรกรรมระหว่างกองทรัสต์กับผู้จัดการกองทรัสต์ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยที่แสดงว่าธุรกรรมระหว่างกองทรัสต์กับผู้จัดการกองทรัสต์ หรือกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกันกับผู้จัดการกองทรัสต์ จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในด้านสาระของรายการ เป็นธุรกรรมที่เข้าลักษณะตามข้อ 11(2) (ก)

(2) ในด้านระบบในการอนุมัติ ต้องผ่านการดำเนินการดังนี้

(ก) ได้รับความเห็นชอบจากทรัสตีว่าเป็นธุรกรรมที่เข้าลักษณะดังนี้

1. เป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2. เป็นธุรกรรมที่เป็นข้อตกลงทางการค้าในลักษณะเดียวกับที่วิญญูชนพึงกระทำกับคู่สัญญาทั่วไปในสถานการณ์เดียวกัน (arm’s length transction)

(ข) ในกรณีที่เป็นธุรกรรมที่มีมูลค่าเกินกว่าหนึ่งล้านบาท หรือตั้งแต่ร้อยละ 0.03ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทรัสต์ขึ้นไป แล้วแต่มูลค่าใดจะสูงกว่า หากไม่ถึงมูลค่าที่กำหนดไว้ตาม (ค) ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ (board of directors) ของผู้จัดการกองทรัสต์ด้วย

(ค) ในกรณีที่เป็นธุรกรรมที่มีมูลค่าตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทขึ้นไป หรือเกินร้อยละสามของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทรัสต์ แล้วแต่มูลค่าใดจะสูงกว่า ต้องได้รับมติของที่ประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

ทั้งนี้ สัญญาก่อตั้งทรัสต์อาจกำหนดข้อยกเว้นของการดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ หากเป็นธุรกรรมตามข้อตกลงหรือสัญญาซึ่งได้ระบุไว้อย่างเฉพาะเจาะจงแล้วในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน

(3) ระบบในการอนุมัติตาม (2) ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้ด้วย

(ก) ผู้ที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในการเข้าทำธุรกรรมต้องไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเข้าทำธุรกรรมนั้น

(ข) ในกรณีที่ธุรกรรมดังกล่าวเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ให้คำนวณมูลค่าธุรกรรมตามมูลค่าการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดของแต่ละโครงการที่ทำให้โครงการนั้น ๆ พร้อมจะหารายได้ ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนั้น ๆ ด้วย

(ค) กำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์มีหน้าที่ในการจัดให้มีเอกสารที่มีรายละเอียดอย่างเพียงพอประกอบการพิจารณาของทรัสตี คณะกรรมการของผู้จัดการกองทรัสต์ตาม หรือผู้ถือหน่วยทรัสต์ แล้วแต่กรณี ซึ่งแสดงความเห็นของผู้จัดการกองทรัสต์เกี่ยวกับลักษณะธุรกรรมที่เป็นไปตาม (1) พร้อมทั้งเหตุผลและข้อมูลประกอบที่ชัดเจน ทั้งนี้ ในกรณีที่ต้องผ่านการพิจารณาของผู้ถือหน่วยทรัสต์ ต้องมีความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระเพื่อประกอบการขอมติที่ประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ด้วย

(4) ในกรณีที่กองทรัสต์ถือหุ้นที่เป็นทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีข้อกำหนดที่จะมีผลให้บริษัทที่ออกหุ้นดังกล่าวเข้าทำธุรกรรมกับผู้จัดการกองทรัสต์หรือบุคคลที่เกี่ยวโยงกันกับผู้จัดการกองทรัสต์ได้ ต่อเมื่อผ่านการดำเนินการของกองทรัสต์ตามหลักเกณฑ์ใน (1) (2) และ (3) แล้ว

ข้อ 20 รายการเกี่ยวกับการทำธุรกรรมกับทรัสตี ต้องมีสาระสำคัญที่ไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 และตามประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติดังกล่าว

ข้อ 21 รายการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของกองทรัสต์ ต้องกำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลของกองทรัสต์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ถือหน่วยทรัสต์ ซึ่งรวมถึงการจัดส่งรายงานประจำปีของกองทรัสต์ ให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ พร้อมกับหนังสือนัดประชุมสามัญประจำปี

ข้อ 22 รายการเกี่ยวกับการจ่ายประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ผู้จัดการกองทรัสต์จะจ่ายประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วของรอบปีบัญชี โดยจะจ่ายภายในเก้าสิบวันนับแต่ วันสิ้นรอบปีบัญชีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายประโยชน์ตอบแทนนั้น แล้วแต่กรณี

(2) กำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วตาม (1) เป็นการปรับปรุงด้วยรายการดังนี้

(ก) การหักกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้น (unrealized gain) จากการประเมินราคาทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทรัสต์ รวมทั้งการปรับปรุงด้วยรายการอื่นตามแนวทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะเงินสดของกองทรัสต์

(ข) การหักด้วยรายการเงินสำรอง โดยต้องมีข้อจำกัดให้กองทรัสต์กันเงินสำรองได้เฉพาะเพื่อการดังนี้

1. การซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือปรับปรุงทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทรัสต์ตามแผนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน หรือที่ผู้จัดการกองทรัสต์ได้แจ้งให้ผู้ถือหน่วยทรัสต์ทราบล่วงหน้า

2. การจ่ายชำระหนี้เงินกู้ยืมหรือภาระผูกพันของกองทรัสต์ตามนโยบายการกู้ยืมเงินที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ หรือที่ผู้จัดการกองทรัสต์ได้แจ้งให้ผู้ถือหน่วยทรัสต์ทราบล่วงหน้า

3. การจ่ายประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ชนิดที่ให้สิทธิในการได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือการคืนเงินทุนในลำดับแรก (ถ้ามี)

ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทรัสต์มีค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด เช่น ค่าใช้จ่ายที่ทยอยตัดจ่าย หรือผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น (unrealized loss) เป็นต้น กองทรัสต์จะกันสำรองตามวรรคหนึ่งในจำนวนไม่เกินกว่าผลลัพธ์ของจำนวนเงินที่มีภาระตามวรรคหนึ่ง 1. และ 2. ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด

(3) ในกรณีที่กองทรัสต์ยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ ผู้จัดการกองทรัสต์จะไม่จ่ายประโยชน์ ตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์

ข้อ 23 รายการเกี่ยวกับการขอมติและการประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) วิธีการจัดประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์และการขอมติ ซึ่งต้องไม่มีลักษณะเป็นการส่งหนังสือขอมติไปยังผู้ถือหน่วยทรัสต์

(2) เหตุในการขอมติและการประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ ต้องระบุเหตุอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ และต้องมีข้อกำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์จัดให้มีการประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์อย่างน้อยดังนี้

(ก) การประชุมสามัญประจำปี ซึ่งต้องจัดให้มีขึ้นภายในสี่เดือนนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีของกองทรัสต์

(ข) การประชุมวิสามัญในกรณีดังนี้

1. เมื่อผู้จัดการกองทรัสต์เห็นสมควรให้เรียกประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์เพื่อประโยชน์ในการจัดการกองทรัสต์

2. เมื่อผู้ถือหน่วยทรัสต์ซึ่งถือหน่วยทรัสต์รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนหน่วยทรัสต์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เข้าชื่อกันทำหนังสือขอให้ผู้จัดการกองทรัสต์เรียกประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ โดยระบุเหตุผลในการขอเรียกประชุมไว้อย่างชัดเจนในหนังสือนั้น

การประชุมวิสามัญตามวรรคหนึ่ง 2. ต้องมีข้อกำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์จัดให้มีการประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากผู้ถือหน่วยทรัสต์

(3) การเรียกประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังนี้

(ก) จัดทำหนังสือนัดประชุมที่มีรายละเอียดเพียงพอเพื่อให้ผู้ถือหน่วยทรัสต์ทราบเกี่ยวกับวิธีการประชุมและการออกเสียงลงมติ ตลอดจนระเบียบวาระการประชุม และเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมพร้อมด้วยรายละเอียดตามสมควร โดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่จะเสนอเพื่อทราบ เพื่ออนุมัติ หรือเพื่อพิจารณา แล้วแต่กรณี รวมทั้งความเห็นของผู้จัดการกองทรัสต์ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งรวมถึงผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยทรัสต์อาจได้รับจากการลงมติในเรื่องนั้น

(ข) จัดส่งหนังสือนัดประชุมตาม (ก) ให้ผู้ถือหน่วยทรัสต์ทราบไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประชุม และประกาศการนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันแห่งท้องถิ่นอย่างน้อยหนึ่งฉบับไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันประชุมด้วย

(4) องค์ประชุม ต้องมีข้อกำหนดดังนี้

(ก) กำหนดให้ผู้ถือหน่วยทรัสต์มาประชุมไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคน หรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหน่วยทรัสต์ทั้งหมด และต้องมีหน่วยทรัสต์นับรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยทรัสต์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

(ข) ในกรณีที่ปรากฏว่าการประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ครั้งใด เมื่อล่วงเวลานัดไปแล้วถึงหนึ่งชั่วโมงจำนวนผู้ถือหน่วยทรัสต์ซึ่งมาเข้าร่วมประชุมไม่ครบเป็นองค์ประชุมตามที่กำหนดไว้ใน (ก) หากว่าการประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์นั้นได้เรียกนัดเพราะผู้ถือหน่วยทรัสต์ร้องขอตาม (2) (ข) 2. ให้การประชุมเป็นอันระงับไป หากการประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์นั้นมิใช่เป็นการเรียกประชุมเพราะผู้ถือหน่วยทรัสต์ร้องขอตาม (2) (ข) 2. ให้นัดประชุมใหม่ และให้ส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหน่วยทรัสต์ไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประชุม โดยในการประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม

(5) วิธีการนับคะแนนเสียง ต้องกำหนดให้ผู้ถือหน่วยทรัสต์มีคะแนนเสียง หนึ่งเสียงต่อหนึ่งหน่วยทรัสต์ที่ตนถือ โดยผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนต้องไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องที่พิจารณา

(6) มติของผู้ถือหน่วยทรัสต์ ต้องกำหนดอย่างน้อยดังนี้

(ก) ในกรณีทั่วไป ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

(ข) ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

1. การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทรัสต์

2. การเพิ่มทุนหรือการลดทุนของกองทรัสต์ที่มิได้ระบุไว้เป็นการล่วงหน้าในสัญญาก่อตั้งทรัสต์

3. การทำธุรกรรมกับผู้จัดการกองทรัสต์หรือบุคคลที่เกี่ยวโยงกันกับผู้จัดการกองทรัสต์ ซึ่งมีขนาดรายการเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 19(2)(ค)

4. การเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ตอบแทนและการคืนเงินทุนให้ผู้ถือหน่วยทรัสต์ให้แตกต่างไปจากที่ได้ระบุไว้เป็นการล่วงหน้า

5. การเปลี่ยนแปลงทรัสตี

6. การเลิกกองทรัสต์

7. การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาก่อตั้งทรัสต์ในเรื่องที่กระทบสิทธิอื่น ๆ ตามสัญญาของผู้ถือหน่วยทรัสต์อย่างมีนัยสำคัญ

(7) ข้อความที่แสดงว่า มติของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่จะเป็นผลให้กองทรัสต์หรือการจัดการกองทรัสต์มีลักษณะที่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์ หรือหลักเกณฑ์อื่นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ให้ถือว่ามตินั้นไม่มีผลบังคับ

ข้อ 24 ในกรณีที่กองทรัสต์มีการแบ่งหน่วยทรัสต์ออกเป็นหลายชนิด รายการเกี่ยวกับการขอมติและการออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยทรัสต์ต้องมีข้อกำหนดเพิ่มเติมที่ให้ผลดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่เป็นการขอมติที่มีผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยทรัสต์ทุกชนิด โดยแต่ละชนิดได้รับผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยทรัสต์ไม่เท่ากัน ให้ได้รับมติผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่ถือหน่วยทรัสต์ชนิดที่ ได้รับผลกระทบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหน่วยทรัสต์แต่ละชนิดที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

(2) ในกรณีที่เป็นการขอมติที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยทรัสต์ไม่ว่ากรณีใด ให้ได้รับมติผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่ถือหน่วยทรัสต์ชนิดที่ได้รับผลกระทบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหน่วยทรัสต์แต่ละชนิดที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

(3) ในกรณีที่เป็นการขอมติที่มีผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยทรัสต์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ให้ได้รับมติผู้ถือหน่วยทรัสต์ชนิดที่ได้รับผลกระทบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหน่วยทรัสต์ชนิดนั้น ที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

ข้อ 25 รายการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่ถือเกินอัตราหรือมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) จำกัดสิทธิในการรับประโยชน์ตอบแทนของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่ถือหน่วยทรัสต์เกินกว่าอัตราหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วย การออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และกำหนดให้ประโยชน์ตอบแทนในส่วนที่ไม่อาจจ่ายแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ดังกล่าวตกเป็นของผู้ถือหน่วยทรัสต์รายอื่นตามสัดส่วนการถือหน่วยทรัสต์

(2) จำกัดสิทธิในการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยทรัสต์ดังนี้

(ก) ผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่ถือหน่วยทรัสต์เกินกว่าอัตราหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่เกินกว่าอัตราดังกล่าว

(ข) ผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องที่ขอมติ

ข้อ 26 รายการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของทรัสตี ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของทรัสตีที่แสดงสาระสำคัญดังนี้

(ก) กำหนดให้ทรัสตีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ถือหน่วยทรัสต์โดยรวม และเป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อผูกพันที่ได้ให้ไว้เพิ่มเติมในเอกสารที่เปิดเผยแก่ผู้ลงทุน (ถ้ามี) และต้องไม่มีข้อจำกัดความรับผิด ของทรัสตีในกรณีที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

(ข) กำหนดให้ทรัสตีมีหน้าที่ติดตามดูแลให้ผู้จัดการกองทรัสต์ หรือผู้รับมอบหมายงานรายอื่นตาม (ฉ) (ถ้ามี) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และสัญญาอื่นที่เกี่ยวข้อง

(ค) กำหนดให้ทรัสตีมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ และให้ความเห็น เกี่ยวกับเรื่องที่ขอให้ที่ประชุมผู้ถือหน่วยทรัสต์ลงมติ

(ง) กำหนดให้ทรัสตีมีหน้าที่บังคับชำระหนี้หรือดูแลให้มีการบังคับชำระหนี้ เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาระหว่างกองทรัสต์กับบุคคลอื่น

(จ) กำหนดให้ทรัสตีเข้าจัดการกองทรัสต์ในกรณีที่ไม่มีผู้จัดการกองทรัสต์ หรือมีเหตุ ที่ทำให้ผู้จัดการกองทรัสต์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์ และการเป็นทรัสตีของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

(ฉ) ในกรณีที่ทรัสตีประสงค์จะจัดการกองทรัสต์ในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนใน ทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นนอกเหนือ จากผู้จัดการกองทรัสต์เป็นผู้รับดำเนินการ ให้ระบุเรื่องดังกล่าวไว้ให้ชัดเจน โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์ และการเป็นทรัสตีของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

(ช) กำหนดให้ทรัสตีมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบอื่นที่สอดคล้องกับสาระและรายการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ และประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์ และการเป็นทรัสตีของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

(2) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้ง เงื่อนไขและวิธีการเปลี่ยนแปลงทรัสตี ตลอดจนค่าตอบแทนทรัสตี

ข้อ 27 รายการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์ ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) การแต่งตั้งและค่าตอบแทนผู้จัดการกองทรัสต์

(2) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์ที่ได้รับมอบหมายจากทรัสตีในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) การดูแลจัดการกองทรัสต์ในส่วนที่เป็นการดำเนินงานทางธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการลงทุน การกู้ยืมเงินและก่อภาระผูกพันแก่ทรัพย์สินของกองทรัสต์ การเข้าทำสัญญา และการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อกองทรัสต์ ทั้งนี้ ภายใต้ขอบเขต หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อตั้งทรัสต์

(ข) หน้าที่การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลของกองทรัสต์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลตามมาตรา 56 และมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และข้อมูลอื่นตามที่กำหนดในสัญญาก่อตั้งทรัสต์

(ค) ในกรณีที่ผู้จัดการกองทรัสต์ประสงค์จะให้บุคคลอื่นรับดำเนินการในงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ต้องระบุเรื่องดังกล่าวพร้อมทั้งระบุหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์ในการคัดเลือกผู้รับดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ตลอดจนการกำกับและตรวจสอบการดำเนินการของผู้รับดำเนินการไว้ด้วย ทั้งนี้ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการมอบหมายงานต้องไม่มีสาระที่ขัดหรือแย้งกับประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรฐานในการปฏิบัติงาน

(3) กำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รับมอบหมายจากทรัสตีด้วยความระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ถือหน่วยทรัสต์โดยรวม และเป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อผูกพันที่ได้ให้ไว้เพิ่มเติมในเอกสารที่เปิดเผยแก่ผู้ลงทุน (ถ้ามี) ทั้งนี้ ต้องไม่มีข้อจำกัดความรับผิดของผู้จัดการกองทรัสต์ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงความรับผิดเกี่ยวกับค่าปรับหรือค่าเสียหายตาม (8) ด้วย

(4) การเปลี่ยนแปลงผู้จัดการกองทรัสต์ ซึ่งต้องกำหนดรายการและสาระอย่างน้อยดังนี้

(ก) เหตุในการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการกองทรัสต์ ต้องกำหนดไว้อย่างน้อยดังนี้

1. ผู้จัดการกองทรัสต์ลาออก

2. ผู้จัดการกองทรัสต์ถูกถอดถอนจากการทำหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าผู้จัดการกองทรัสต์มิได้จัดการกองทรัสต์ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในสัญญาก่อตั้งทรัสต์หรือในประกาศที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์

3. สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทรัสต์หรือสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์เป็นเวลาเกินกว่าเก้าสิบวัน ทั้งนี้ ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรฐานการปฏิบัติงาน

4. ผู้จัดการกองทรัสต์สิ้นสภาพนิติบุคคล

(ข) วิธีการแต่งตั้งผู้จัดการกองทรัสต์รายใหม่ ต้องกำหนดให้ทรัสตีขอมติผู้ถือหน่วยทรัสต์เพื่อแต่งตั้งผู้จัดการกองทรัสต์รายใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏเหตุตาม (ก) และแต่งตั้งบุคคลที่ผู้ถือหน่วยทรัสต์มีมติเห็นชอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมติ ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการแต่งตั้งผู้จัดการกองทรัสต์รายใหม่ตามวิธีการดังกล่าว ให้ทรัสตีดำเนินการแต่งตั้งผู้จัดการกองทรัสต์รายใหม่ได้เองโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ถือหน่วยทรัสต์โดยรวมตามระยะเวลาที่จำเป็นและสมควร

(ค) หน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์รายเดิม ต้องกำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์รายเดิมมีหน้าที่ดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อให้ทรัสตี หรือผู้จัดการกองทรัสต์รายใหม่ แล้วแต่กรณี สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวรวมถึงการลงลายมือชื่อในหนังสือเพื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของสิ่งที่ส่งมอบให้ทรัสตีหรือผู้จัดการกองทรัสต์รายใหม่ด้วย

(5) ไม่ว่ากรณีใด ๆ หากผู้จัดการกองทรัสต์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ระบุว่าทรัสตีจะจัดการกองทรัสต์ตามความจำเป็นเพื่อป้องกัน ยับยั้ง หรือจำกัดมิให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์ของกองทรัสต์หรือผู้ถือหน่วยทรัสต์ทั้งปวง โดยทรัสตีอาจมอบหมายให้บุคคลอื่นจัดการกองทรัสต์แทนในระหว่างนี้ได้

(6) ในกรณีที่สัญญาก่อตั้งทรัสต์กำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์สามารถเบิกจ่ายทรัพย์สินของกองทรัสต์ได้ ต้องมีข้อกำหนดให้การเบิกจ่ายดังกล่าวกระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นการเบิกจ่ายจากบัญชีเพื่อการดำเนินงานประจำวัน (petty cash) ภายใต้วงเงินที่ได้รับการอนุมัติจากทรัสตี และกำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์จัดทำและจัดส่งรายงานการเบิกจ่ายให้แก่ทรัสตีเพื่อให้ทรัสตีสามารถตรวจสอบรายการดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาที่สมควร

(7) ข้อกำหนดอื่นเพื่อรองรับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์ให้สอดคล้องกับสาระและรายการตามที่กำหนดในประกาศนี้ และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรฐานการปฏิบัติงาน

(8) ข้อกำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์ต้องรับผิดชอบในค่าปรับหรือค่าเสียหายใด ๆ ที่เกิดแก่กองทรัสต์อันเนื่องมาจากการที่ผู้จัดการกองทรัสต์กระทำผิดหน้าที่ของตนไม่ว่าด้วยประการใด ๆ

ข้อ 28 รายการเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ต้องระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เงินตอบแทนอื่นใด หรือค่าใช้จ่าย จากกองทรัสต์หรือจากผู้ถือหน่วยทรัสต์ อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บจากทรัพย์สินของกองทรัสต์ได้ ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองทรัสต์โดยตรง

ข้อ 29 รายการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาก่อตั้งทรัสต์ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ในการก่อตั้งกองทรัสต์ และบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ตลอดจนประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว

(2) การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาก่อตั้งทรัสต์ในเรื่องที่กระทบสิทธิของผู้ถือหน่วยทรัสต์ต้องได้รับมติของผู้ถือหน่วยทรัสต์ตามข้อ 23(6) เว้นแต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

ข้อ 30 รายการเกี่ยวกับการเลิกกองทรัสต์ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยที่แสดงว่าเมื่อปรากฏเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ ทรัสตีจะเลิกกองทรัสต์

(1) เมื่อจำนวนผู้ถือหน่วยทรัสต์ลดลงเหลือน้อยกว่าสามสิบห้าราย

(2) เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน และผู้จัดการกองทรัสต์ไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้กองทรัสต์ลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทรัสต์ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดพันห้าร้อยล้านบาท ทั้งนี้ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว

(3) เมื่อผู้ถือหน่วยทรัสต์มีมติให้เลิกกองทรัสต์

หมวด 2

กองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนรายใหญ่

____________________

ข้อ 31 สัญญาก่อตั้งทรัสต์ของกองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนรายใหญ่ ให้ประกอบด้วยรายการตามที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยรายการในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ และรายการเพิ่มเติมอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การก่อตั้งกองทรัสต์ ตามข้อ 32

(2) หน่วยทรัสต์และการจัดทำทะเบียนหน่วยทรัสต์ ตามข้อ 33

(3) การลงทุนของกองทรัสต์ ตามข้อ 34

(4) การจ่ายประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ ตามข้อ 35

(5) การจำกัดสิทธิของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่ถือเกินอัตราหรือมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ ตามข้อ 36

(6) อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์ ตามข้อ 37

(7) การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ตามข้อ 38

(8) การเลิกกองทรัสต์ ตามข้อ 39

ข้อ 32 รายการเกี่ยวกับการก่อตั้งกองทรัสต์ ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ลักษณะของกองทรัสต์และกลไกการบริหารซึ่งมีลักษณะดังนี้

(ก) “............(ชื่อกองทรัสต์)............ เป็นกองทรัสต์ตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยผลของสัญญาก่อตั้งทรัสต์นี้ และสมบูรณ์เมื่อผู้ก่อตั้งทรัสต์ โอนเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยทรัสต์ ด้วยความไว้วางใจให้ทรัสตีจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยทรัสต์” และข้อความที่แสดงว่า “เมื่อกองทรัสต์มีผลสมบูรณ์แล้ว ทรัสตีจะมอบหมายให้ผู้ก่อตั้งทรัสต์ เข้าเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ต่อไป”

(ข) “กองทรัสต์นี้ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยเป็นกองทรัพย์สินที่อยู่ในชื่อและอำนาจการจัดการของทรัสตี”

(ค) “การจัดการกองทรัสต์ จะกระทำโดยทรัสตีและผู้จัดการกองทรัสต์ที่ได้รับมอบหมายจากทรัสตีซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ปรากฏในรายการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของทรัสตีและผู้จัดการกองทรัสต์ โดยในการนี้ ผู้จัดการกองทรัสต์ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลจัดการกองทรัสต์ ซึ่งรวมถึงการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน และทรัสตีมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทรัสต์และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์และผู้รับมอบหมายรายอื่น (ถ้ามี) ให้เป็นไปตามสัญญาและตามกฎหมาย”

ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทรัสต์มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีข้อความที่แสดงถึงบุคคลที่จะจัดการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเป็นทรัสตีหรือบุคคลอื่นใดที่สามารถดำเนินการได้โดยชอบก็ได้

(2) ชื่อ อายุ ประเภทและวัตถุประสงค์ของกองทรัสต์ ซึ่งต้องมีข้อความว่า “กองทรัสต์มีวัตถุประสงค์หลักในการนำเงินของผู้ลงทุนรายใหญ่ไปลงทุนหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนรายใหญ่ดังกล่าว”

(3) ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ก่อตั้งทรัสต์ ทรัสตี และผู้จัดการกองทรัสต์

(4) คุณสมบัติหรือลักษณะของผู้รับประโยชน์ของกองทรัสต์ ซึ่งมีข้อความที่แสดงว่าผู้ถือหน่วยทรัสต์ตามที่ปรากฏชื่อในทะเบียนผู้ถือหน่วยทรัสต์เป็นผู้รับประโยชน์ของกองทรัสต์นี้ โดยผู้ถือหน่วยทรัสต์ดังกล่าวต้องเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาก่อตั้งทรัสต์เท่านั้น เว้นแต่เป็นการได้รับหน่วยทรัสต์มาทางมรดก

(5) ทรัพย์สินที่จะให้เป็นกองทรัสต์ ทั้งนี้ ทรัพย์สินเริ่มต้นที่จะให้เป็นกองทรัสต์ต้องเป็นเงินที่ผู้ก่อตั้งทรัสต์ได้จากการจำหน่ายหน่วยทรัสต์ในการเสนอขายหน่วยทรัสต์ครั้งแรก

(6) วันที่จัดตั้งกองทรัสต์

ข้อ 33 รายการเกี่ยวกับหน่วยทรัสต์และการจัดทำทะเบียนหน่วยทรัสต์ ต้องมีข้อความที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อความที่แสดงลักษณะของหน่วยทรัสต์ดังนี้

(ก) หน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์นี้มิได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่ไม่เข้าลักษณะของผู้ลงทุนรายใหญ่

(ข) หน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์นี้มีข้อจำกัดการโอนไม่ว่าทอดใด ๆ หากการโอนหน่วยทรัสต์ดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถคงลักษณะของการเป็นกองทรัสต์เพื่อผู้ลงทุนรายใหญ่

สัญญาก่อตั้งทรัสต์จะกำหนดข้อยกเว้นของข้อความตาม (ก) หรือ (ข) สำหรับกรณีที่เป็นการได้หน่วยทรัสต์มาทางมรดกก็ได้

(2) ข้อความที่แสดงว่า ทรัสตีหรือนายทะเบียนหลักทรัพย์มีสิทธิปฏิเสธการแสดงชื่อในทะเบียนผู้ถือหน่วยทรัสต์ ในกรณีดังนี้

(ก) กรณีที่ผู้ถือหน่วยทรัสต์มิใช่ผู้ลงทุนรายใหญ่ เว้นแต่เป็นการได้หน่วยทรัสต์ มาทางมรดก

(ข) กรณีที่จะทำให้การถือหน่วยทรัสต์ไม่เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ข้อ 34 รายการเกี่ยวกับการลงทุนของกองทรัสต์ ต้องมีข้อความที่แสดงถึงนโยบายการลงทุนและประเภททรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทรัสต์จะลงทุน รวมทั้งข้อจำกัดการลงทุน (ถ้ามี) ซึ่งมีสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วย การออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ข้อ 35 รายการเกี่ยวกับการจ่ายประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 22

ข้อ 36 รายการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่ถือเกินอัตราหรือมี ส่วนได้เสียเป็นพิเศษ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) จำกัดสิทธิในการรับประโยชน์ตอบแทนของผู้ถือหน่วยทรัสต์ที่มีลักษณะดังนี้ และกำหนดให้ประโยชน์ตอบแทนในส่วนที่ไม่อาจจ่ายแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ดังกล่าวตกเป็นของผู้ถือหน่วยทรัสต์รายอื่นตามสัดส่วนการถือหน่วยทรัสต์

(ก) บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันที่ถือหน่วยทรัสต์เกินกว่าอัตราหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

(ข) บุคคลที่ไม่เข้าลักษณะของผู้ลงทุนรายใหญ่ เว้นแต่บุคคลนั้นได้รับหน่วยทรัสต์มาทางมรดก

(2) จำกัดสิทธิในการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยทรัสต์ดังนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่เกินกว่าอัตราหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว

(ก) บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันที่ถือหน่วยทรัสต์เกินกว่าอัตราหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

(ข) บุคคลที่ไม่เข้าลักษณะของผู้ลงทุนรายใหญ่ เว้นแต่บุคคลนั้นได้รับหน่วยทรัสต์มาทางมรดก

(ค) บุคคลที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องที่ขอมติ

ข้อ 37 รายการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์ ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์ที่ได้รับมอบหมายจากทรัสตีในเรื่องดังนี้

(ก) การดูแลจัดการกองทรัสต์ในส่วนที่เป็นการดำเนินงานทางธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการลงทุน การกู้ยืมเงินและก่อภาระผูกพันแก่ทรัพย์สินของกองทรัสต์ การเข้าทำสัญญา และการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อกองทรัสต์ ทั้งนี้ ภายในขอบเขต หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเท่าที่สัญญาก่อตั้งทรัสต์ได้ระบุไว้

(ข) หน้าที่การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลของกองทรัสต์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลตามมาตรา 56 และมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และข้อมูลอื่นตามที่กำหนดในสัญญาก่อตั้งทรัสต์

(ค) ในกรณีที่ผู้จัดการกองทรัสต์ประสงค์จะให้บุคคลอื่นรับดำเนินการในงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ข้อกำหนดเกี่ยวกับการมอบหมายงานต้องไม่มีสาระที่ขัดหรือแย้งกับประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรฐานในการปฏิบัติงาน

(2) การกำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากทรัสตีด้วยความระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ถือหน่วยทรัสต์โดยรวม และเป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อผูกพันที่ได้ให้ไว้เพิ่มเติมในเอกสารที่เปิดเผยแก่ผู้ลงทุน (ถ้ามี) ทั้งนี้ ต้องไม่มีข้อจำกัดความรับผิดของผู้จัดการกองทรัสต์ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

(3) การเปลี่ยนแปลงผู้จัดการกองทรัสต์ ซึ่งระบุเหตุในการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการกองทรัสต์ ซึ่งต้องรวมถึงเหตุดังนี้

(ก) สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทรัสต์หรือสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์เป็นเวลาเกินกว่าเก้าสิบวัน ทั้งนี้ ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรฐานการปฏิบัติงาน

(ข) ผู้จัดการกองทรัสต์สิ้นสภาพนิติบุคคล

(4) ข้อกำหนดอื่นเพื่อรองรับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์ให้สอดคล้องกับสาระและรายการตามที่กำหนดในประกาศนี้ และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรฐานการปฏิบัติงาน

(5) ข้อกำหนดให้ผู้จัดการกองทรัสต์ต้องรับผิดชอบในค่าปรับหรือค่าเสียหายใด ๆ

ที่เกิดแก่กองทรัสต์อันเนื่องมาจากการที่ผู้จัดการกองทรัสต์กระทำผิดหน้าที่ของตนไม่ว่าด้วยประการใด ๆ

ข้อ 38 รายการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ต้องมีข้อความที่แสดงว่า การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาก่อตั้งทรัสต์ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ในการก่อตั้งกองทรัสต์ และบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ตลอดจนประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว

ข้อ 39 รายการเกี่ยวกับการเลิกกองทรัสต์ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยที่แสดงว่าเมื่อปรากฏเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ ทรัสตีจะเลิกกองทรัสต์

(1) เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน และผู้จัดการกองทรัสต์ไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้กองทรัสต์ลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทรัสต์ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดพันห้าร้อยล้านบาท ทั้งนี้ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว

(2) เมื่อผู้ถือหน่วยทรัสต์มีมติให้เลิกกองทรัสต์

ข้อ 40 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ