หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday June 15, 1998 17:14 —ประกาศ ก.ล.ต.

                 ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 15/2541
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
อสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน
___________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"กองทุนรวม" หมายความว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทจัดการจัดตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนสถาบัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนไปซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนในสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน และจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าว
"สถาบันการเงิน" หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
"ผู้ลงทุนสถาบัน" หมายความว่า ผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะตามข้อ 7(3)(ก) ถึง (ณ) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่กจ. 13/2539 เรื่อง การยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2539
"โครงการ" หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวมของบริษัทจัดการ
"ผู้ดูแลผลประโยชน์" หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
"นายทะเบียน" หมายความว่า นายทะเบียนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
"ที่ปรึกษา" หมายความว่า บุคคลที่รับให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำแก่บริษัทจัดการเกี่ยวกับการซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการประกอบธุรกจิของสถาบันการเงินที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน หรือการจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเพื่อประโยชน์เพื่อประโยชน์ในการจัดการกองทุนรวม
"ผู้จัดการกองทุนรวม" หมายความว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ตัดสินใจซื้อ เช่า จำหน่าย หรือโอนสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนในหรือจำหน่ายไปซึ่งสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงผู้ถือหน่วยลงทุนหรือผู้ได้รับมอบหมายจากผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นผู้ตัดสินใจตามที่ระบุไว้ในโครงการ
(2) ผู้คัดเลือกหรือเสนอให้ผู้ที่ได้รับยกเว้นตาม (1) ตัดสินใจซื้อ เช่า จำหน่าย หรือ โอนสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนในหรือจำหน่ายไปซึ่งสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน
"อาคารขนาดใหญ่" หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างขึ้นโดยมีความสูงจากระดับถนนตั้งแต่สิบห้าเมตรขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันเกินหนึ่งพันตารางเมตร หรือโดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดหลังเดียวกันเกินสองพันตารางเมตร
"บริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน" หมายความว่า นิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประเมินค่าทรัพย์สินทางค้าปกติ และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
"รายงานการประเมินค่า" หมายความว่า รายงานของบริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน ซึ่งระบุรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการประเมินค่า โดยมีผู้ประเมินหลักเป็นผู้ลงลายมือชื่อในรายงานดังกล่าว
"การประเมินค่า" หมายความว่า การคำนวณมูลค่าอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวมเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะในการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนโดยเป็นการประเมินอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ ข้อจำกัดสิทธิครอบครองในทรัพย์สิน เงื่อนไขและข้อจำกัดทางกฎหมาย ข้อจำกัดอื่นของการใช้ประโยชน์ รายละเอียดการใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน และรายละเอียดอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสำรวจทรัพย์สินตามสภาพที่เป็นอยู่
"ผู้สอบบัญชี" หมายความว่า ผู้สอบบัญชีที่มีคุณสมบัติตามประกาศสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์
"ประกาศที่ กน. 11/2540" หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 11/2540 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 การยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม บริษัทจัดการต้องยื่นคำขอภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ และต้องเป็นกองทุนรวมที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) มีผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเป็นผู้ลงทุนสถาบันซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าสิบราย
(2) เป็นกองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนก่อนสิ้นอายุโครงการ
(3) มีเงินทุนของโครงการไม่ต่ำกว่าห้าร้อยล้านบาท
(4) มีผู้ถือหน่วยลงทุนรายใดรายหนึ่งถือหน่วยลงทุนได้ไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และ
(5) มีลักษณะอย่างอื่นตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 3 การขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการยื่นคำขอเป็นหนังสือ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอดังต่อไปนี้
(1) รายละเอียดของโครงการตามรายการที่สำนักงานประกาศกำหนดตามมาตรา 118(1)
(2) ร่างข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ ซึ่งมีสาระสำคัญอย่างน้อยตามที่กำหนดในมาตรา 119 และตามที่กำหนดในข้อ 6
(3) ร่างสัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์
(4) ร่างสัญญาร่วมบริหาร (ถ้ามี)
(5) เอกสารหลักฐานอื่นตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 4 บริษัทจัดการที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ สัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ และสัญญาร่วมบริหาร (ถ้ามี) โดยมีสาระสำคัญไม่ต่างจากร่างข้อผูกพันและร่างสัญญาที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงาน
(2) จัดส่งและจัดให้มีหนังสือชี้ชวนและรายละเอียดของโครงการตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(ก) จัดส่งหนังสือชี้ชวนให้สำนักงานภายในเจ็ดวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่เริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนสถาบัน
(ข) จัดให้มีรายละเอียดของโครงการไว้ ณ ที่ทำการของบริษัทจัดการ เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันสามารถตรวจดูได้ และจัดสำเนาให้เมื่อมีการร้องขอ ทั้งนี้ จนกว่าจะจดทะเบียนเลิกกองทุนรวม
ข้อ 5 ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม หากปรากฎว่าบริษัทจัดการไม่สามารถจำหน่ายลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันได้ตามจำนวนที่กำหนดตามข้อ 2(1) หรือหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้มีมูลค่าน้อยกว่าห้าร้อยล้านบาท หรือไม่สามารถเริ่มลงทุนให้ได้มาหรือหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ให้บริษัทจัดการยุติการจำหน่ายหน่วยลงทุนและให้ถือว่าการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้นสิ้นสุดลง หรือเลิกกองทุนรวม แล้วแต่กรณี
ข้อ 6 ให้บริษัทจัดการจัดทำข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ ซึ่งต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยตามมาตรา 119 และต้องมีข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุนว่าบริษัทจัดการหรือนายทะเบียนจะปฏิเสธการลงทะเบียนการโอนหน่วยลงทุนในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่มีการโอนหน่วยลงทุนซึ่งจะมีผลให้กองทุนรวมมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) มีผู้ถือหน่วยลงทุนน้อยกว่าจำนวนที่กำหนดตามข้อ 2(1) หรือน้อยกว่าจำนวนที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานตามข้อ 24
(ข) มีผู้ถือหน่วยลงทุนรายใดรายหนึ่งถือหน่วยลงทุนเกินอัตราที่กำหนดตามข้อ 2(4) หรืออัตราที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานตามข้อ 24
(2) ในกรณีที่มีการโอนหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบัน
ข้อ 7 ในกรณีที่บริษัทจัดการกำหนดไว้ในโครงการว่าจะออกใบหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ใบหน่วยลงทุนดังกล่าวต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) คำบอกชื่อว่าเป็นหน่วยลงทุน ชื่อ ประเภท และอายุโครงการ (ถ้ามี)
(2) มูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุน จำนวนหน่วยลงทุน และจำนวนเงินทุนของกองทุนรวม
(3) ชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน
(4) เลขที่หน่วยลงทุนและจำนวนหน่วยลงทุนที่ถือ
(5) วัน เดือน ปี ที่ออกหน่วยลงทุน
(6) ข้อความที่เป็นข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6
(7) ชื่อและสถานที่ตั้งของบริษัทจัดการ
(8) ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ดูแลผลประโยชน์
(9) ลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทจัดการและตราประทับของบริษัทจัดการหรือลายมือชื่อนายทะเบียน แล้วแต่กรณี
ข้อ 8 ห้ามบริษัทจัดการเรียกหรือรับค่าธรรมเนียมหรือเงินตอบแทนอื่นใดจากผู้ซื้อหน่วยลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุน หรือกองทุนรวม นอกจากค่าธรรมเสียมหรือเงินตอบแทนตามอัตราและวิธีการที่กำหนดไว้ในโครงการ
ในกรณีที่บริษัทจัดการแต่งตั้งที่ปรึกษา บริษัทจัดการอาจเรียกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งที่ปรึกษาจากกองทุนรวมได้
ข้อ 9 บริษัทจัดการต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุนที่ระบุไว้ในข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการตามข้อ 6
ในกรณีที่นายทะเบียนลงทะเบียนการโอนหน่วยลงทุนโดยฝ่าฝืนข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุนที่ระบุไว้ในข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการตามข้อ 6 ให้บริษัทจัดการดำเนินการให้นายทะเบียนเพิกถอนการลงทะเบียนการโอนหน่วยลงทุนนั้นโดยไม่ชักช้า
ข้อ 10 ในการจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ให้บริษัทจัดการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนรวมเพื่อรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการลงทุนดังกล่าว ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการจัดให้มีระบบและควบคุมดูแลให้ผู้จัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามกฎหมาย และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนรวม
ผู้จัดการกองทุนรวมที่บริษัทจัดการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบและปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน.47/2540 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยอนุโลม
ในการขอความเห็นชอบผู้จัดการกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการแสดงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนรวมไว้ให้ชัดเจนด้วย
ข้อ 11 ในการจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์และที่มิใช่สิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน เพื่อเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการแต่งตั้งผู้บริหารสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการลงทุนดังกล่าว
ผู้บริหารสินทรัพย์สภาพคล่องที่บริษัทจัดการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบและปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สก. 1/2539 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทุนรวม ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยอนุโลม
ข้อ 12 การซื้อ เช่า จำหน่าย หรือโอนสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุนในหรือจำหน่ายไปซึ่งสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อหรือเช่าหรือที่เป็นหลักประกันสิทธิเรียกร้องต้องตั้งอยู่ในประเทศไทย
(2) ต้องลงทุนเพื่อให้ได้มาหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน มีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) ในรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีสุดท้ายก่อนสิ้นอายุโครงการ
(ข)ในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจำหน่ายหรือโอนสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน
(3) การซื้อหรือเช่าอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้กระทำได้ภายในระยะเวลาสองปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ หากมีการระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมและเป็นกรณีซื้อหรือเช่าอาคารขนาดใหญ่ทั้งอาคาร หรือกรณีซื้อหรือเช่าอาคารโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่มิใช่อาคารขนาดใหญ่ทั้งโครงการก่อสร้าง โดยอาคารขนาดใหญ่ หรืออาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้เริ่มก่อสร้างก่อนวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ .2540 และได้มีการก่อสร้างไปแล้วก่อนการซื้อหรือเช่า ไม่น้อยกว่าอัตราส่วนดังต่อไปนี้
1. กรณีที่เป็นการซื้อหรือเช่าอาคารขนาดใหญ่ทั้งอาคาร อาคารนั้นต้องมีการก่อสร้างไปแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของมูลค่าโครงสร้างอาคารโดยได้รับการรับรองจากบริษัทประเมินทรัพย์สิน ทั้งนี้ ไม่รวมมูลค่าที่ดินและมูลค่าระบบวิศวกรรมประกอบอาคารทั้งหมด เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศเป็นต้น
2. กรณีที่เป็นการซื้อหรือเช่าอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างทั้งโครงการก่อสร้างต้องปรากฎว่ามูลค่ารวมของมูลค่าสาธารณูปโภคที่ได้ลงทุนไปแล้ว และมูลค่าอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มีการก่อสร้างแล้วของโครงการนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบห้าของราคาซื้อหรือเช่าโครงการก่อสร้างดังกล่าวโดยได้รับการรับรองจากบริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน
การคำนวณตาม 2. มิให้นับรวมถึงส่วนของโครงการก่อสร้างที่ได้มีการโอนสิทธิให้แก่ลูกค้าของโครงการไปแล้ว
(4) การซื้อหรือเช่าที่ดินว่างเปล่าให้กระทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) ที่ดินว่างเปล่านั้นได้จำนองไว้กับสถาบันการเงิน หรือสถาบันการเงินเป็นเจ้าของอันเนื่องมาจากการชำระหนี้ หรือจากการประกันการให้สินเชื่อ หรือจากการซื้อที่ดินว่างเปล่าที่จำนองไว้แก่สถาบันการเงินนั้นจากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และการจำนองหรือการเป็นเจ้าของที่ดินนั้นมีอยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ โดยต้องซื้อหรือเช่าภายในระยะเวลาสองปี นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับหรือภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการก.ล.ต. กำหนดเป็นอย่างอื่น
(ข) ที่ดินว่างเปล่านั้นได้มาหรือมีไว้เพื่อประโยชน์ที่จะส่งเสริมให้เกิดรายได้แก่อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่สร้างเสร็จสิ้นแล้วของกองทุนรวม และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(5) ต้องถืออสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวมไว้อย่างน้อยสองปี เว้แต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก)อสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนรวมรับโอนมาเพื่อการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่มีการโอนจากสถาบันการเงินหรือองค์การเพื่อการปฎิรูประบบสถาบันการเงิน
(ข) กรณีที่อสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นที่ดินว่างเปล่าที่ได้มาหรือมีไว้ตาม (4) (ก)
(6) การลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิเรียกร้องที่มีอสังริมทรัพย์เป็นหลักประกัน เพิ่มเติม ห้ามมิให้บริษัทจัดการดำเนินการดังกล่าวเพื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม
ข้อ 13 ห้ามมิให้บริษัทจัดการดำเนินการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนที่ดินว่างเปล่าของกองทุนรวมที่ได้มาหรือมีไว้ตามข้อ 12(4) (ก) ในลักษณะที่เป็นการเพิ่มอุปทานส่วนเกินในระบบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่การพัฒนานั้นเป็นไปเพื่อการปรับปรุงสภาพหรือการปกป้องรักษาที่ดินว่างเปล่า หรือเพื่อประโยชน์ในการจำหน่ายที่ดินว่างเปล่านั้น เช่น การก่อสร้างรั้ว หรือการปรับปรุงสภาพทางเข้าออก เป็นต้น และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ข้อ 14 ให้บริษัทจัดการจัดส่งหนังสือสรุปข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการซื้อ เช่า จำหน่าย หรือโอนสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวม หรือการลงทุนในหรือจำหน่ายไปซึ่งสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันให้ผู้ถือหน่วยลงทุนและสำนักงานภายในสิบห้าวัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ซื้อ เช่า จำหน่าย โอนสิทธิการเช่า หรือลงทุนในหรือจำหน่ายไปซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าว โดยหนังสือสรุปข้อมูลต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ราคาที่ซื้อ เช่า จำหน่าย หรือโอนสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวมหรือราคาที่ลงทุนในหรือจำหน่ายไปซึ่งสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน
(2) ราคาที่ได้จากรายงานการประเมินค่าล่าสุด (ถ้ามี)
ข้อ 15 บริษัทจัดการจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมก็ได้
(1) พันธบัตร
(2) ตั๋วเงินคลัง
(3) เงินฝากหรือบัตรเงินฝาก
(4) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงิน
(5) หุ้นกู้
(6) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้
(7) ตราสารแห่งหนี้ที่มีสัญญาขายคืน
(8) หลักทรัพย์หรือตราสารอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนดหรือให้ความเห็นชอบการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเกินอัตราส่วนที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 16 ให้บริษัทจัดการแต่งตั้งบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อทำการประเมินค่าทุกสองปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์
บริษัทประเมินค่าทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานและปฎิบัติตามประกาศว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน
ข้อ 17 ให้บริษัทจัดการคำนวณมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ณ วันทำการสุดท้ายของเดือนมิถุนายนและของเดือนธันวาคม และดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งมูลค่าที่คำนวณได้ให้ผู้ดูแลประโยชน์ภายในวันทำการถัดจากวันที่คำนวณเพื่อให้ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองว่าการคำนวณมูลค่าดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
(2) แจ้งมูลค่าดังกล่าวข้างต้นที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองแล้วตาม (1) ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบภายในห้าวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่คำนวณ
ข้อ 18 ในกรณีที่มีเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่คำนวณตามข้อ17 อันมีผลกระทบต่อทรัพย์สินของกองทุนรวมอย่างมีนัยสำคัญ ให้บริษัทจัดการแจ้งเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบด้วย
ข้อ 19 การกำหนดราคาทรัพย์สินเพื่อการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมให้บริษัทจัดการปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) อสังหาริมทรัพย์ ให้ใช้ราคาที่ได้จากรายงานการประเมินค่าครั้งล่าสุด เว้นแต่ในช่วงระยะเวลาก่อนการประเมินค่าครั้งแรก บริษัทจัดการอาจใช้ราคาซิ้อหรือเช่าเป็นราคาในการกำหนดราคาทรัพย์สินของกองทุนรวมได้
(2) สิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ให้ใช้ราคาตามบัญชี
(3) เงินฝากธนาคารประเภทมีกำหนดระยะเวลา ให้กำหนดมูลค่าด้วยยอดคงค้างรวมดอกเบี้ยค้างรับจนถึงวันที่คำนวณมูลค่า
(4) พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝาก หรือตราสารแห่งหนี้ทุกชนิด ให้ใช้ราคาตลาดครั้งสุดท้าย หรือให้กำหนดมูลค่าตามราคาที่ตราไว้หรือราคาที่ได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นรวมดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่พึงได้รับจนถึงวันที่คำนวณมูลค่า
(5) ทรัพย์สินอื่นนอกจากที่กำหนดใน (1) (2) (3) และ (4) ให้ใช้ราคาที่เป็นธรรมด้วยความเห็นชอบของผู้ดูแลผลประโยชน์
ในกรณีที่บริษัทจัดการสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าการกำหนดราคาทรัพย์สินของกองทุนรวมตามที่กำหนดใน (1) (2) (3) หรือ (4) ทำให้ราคาทรัพย์สินไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในขณะคำนวณมูลค่า ให้บริษัทจัดการกำหนดราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่เป็นธรรมโดยในกรณี (1) และ (2) ต้องได้รับมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวม
ข้อ 20 ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกองทุนรวมทุกรอบปีบัญชีสิ้นสุดเดือนธันวาคม และส่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน รวมทั้งส่งให้สำนักงานภายในสามเดือนนับตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นเดือนธันวาคม โดยรายงานดังกล่าวต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) รายการแสดงทรัพย์สินแยกตามประเภท คือ อสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ตราสารแห่งหนี้ และเงินฝากพร้อมทั้งมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าหน่วยลงทุน ณ วันทำการสุดท้ายของปี
(2) สรุปข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวม และสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน
(3) กำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายหรือการโอนสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือการจำหน่ายสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน
(4) งบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีที่มีคุณบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์
(5) การเปรียบเทียบงบดุลและงบกำไรขาดทุนของปีปัจจุบันและปีก่อน
(6) ความเห็นของผู้ดูแลผลประโยชน์เกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนรวมในรอบระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา
ข้อ 21 การจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิจากการขายหรือจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ให้บริษัทจัดการจ่ายได้ไม่เกินสองในสามส่วนของกำไรสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว
ข้อ 22 ในการลดเงินทุนของกองทุนรวม หากมิได้กำหนดไว้ในโครงการ บริษัทจัดการต้องจัดประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนหรือมีหนังสือแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน และได้มติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น ทั้งนี้ ในการขอมติจากผู้ถือหน่วยล
(1) ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนและคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ณ วันปิดสมุดทะเบียนดังกล่าว
(2) ดำเนินการเฉลี่ยเงินคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนเพื่อไถ่ถอนหน่วยลงทุนตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละราย ทั้งนี้ มูลค่าหน่วยลงทุนให้คำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุน เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้บริษัทจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนลดเงินทุนของกองทุนรวมต่อสำนักงานภายในห้าวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ดำเนินการเฉลี่ยเงินคืนแค่ผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ ตามแบบ 117-3 ท้ายประกาศนี้
ข้อ 23 ในการเพิ่มเงินทุนของกองทุนรวม หากมิได้กำหนดไว้ในโครงการ บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนหรือมีหนังสือแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุน เพื่อขอมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น ทั้งนี้ ในการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการต้องระบุวัตถุประสงค์การเพิ่มเงินทุน จำนวนเงินทุนและจำนวนหน่วยลงทุนที่จะเพิ่ม วิธีการกำห
(2) ขอความเห็นชอบจากสำนักงาน โดยต้องระบุรายละเอียดเช่นเดียวกันกับการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนตาม (1) เป็นอย่างน้อย
(3) จัดส่ง หรือจัดให้มีหนังสือชี้ชวน โดยให้นำความในข้อ 4(2) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(4) จดทะเบียนเพิ่มเงินทุนของกองทุนรวมตามประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินและให้นำข้อ 7 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 24 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจพิจารณาผ่อนผันการปฎิบัติตามข้อ 2(1) (4) และข้อ 12(1) (2) (3) (5) (6) ได้
ข้อ 25 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกองทุนรวมตามประกาศนี้ให้เป็นกองทุนรวมตามประกาศที่ กน.11/2540 จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 26 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2541
(นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ