หลักเกณฑ์การมีทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์และลงทะเบียนโอนหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday February 1, 1994 11:49 —ประกาศ ก.ล.ต.

             ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สจ. 1/2537
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดให้มีทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์
และการลงทะเบียนการโอนหลักทรัพย์
—————————————————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 50 และมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 สำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ในประกาศนี้
"หลักทรัพย์" หมายความว่า หุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้
"บริษัท" หมายความว่า บริษัทที่ออกหลักทรัพย์
"ทะเบียน" หมายความว่า ทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์
ข้อ 2.ให้บริษัทจดทะเบียนแยกตามประเภทหลักทรัพย์และครั้งที่ออกหลักทรัพย์ โดยทะเบียนต้องมีรายการอย่างน้อยดังนี้
(1) รายละเอียดทั่วไป
(ก) ชื่อบริษัท
(ข) ประเภทหลักทรัพย์ จำนวนหลักทรัพย์ มูลค่าที่ตราไว้ มูลค่าที่ตราไว้ทั้งสิ้น และวันเดือนปี ที่ออกหลักทรัพย์
(ค) กรณีเป็นหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ ให้ระบุอัตราดอกเบี้ย และหรือผลตอบแทนอื่นใดกำหนดวันชำระดอกเบี้ย และหรือผลตอบแทน ดังกล่าว วันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ และสิทธิในการไถ่ถอนหุ้นกู้ ก่อนครบกำหนดของผู้ออกหุ้นกู้ หรือผู้ถือหุ้นกู้ (ถ้ามี)
(ง) กรณีเป็นหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้แปลงสภาพ นอกจากรายละเอียดที่ต้อง ระบุ ตาม (ค) แล้วให้ระบุราคาหรืออัตราการแปลงสภาพ กำหนดวันใช้สิทธิแปลงสภาพ และสิทธิในการเรียกให้แปลงสภาพก่อนครบกำหนดของผู้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (ถ้ามี)
(จ) กรณีเป็นหลักทรัพย์ประเภทใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่จะซื้อหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่จะซื้อหุ้นกู้ ให้ระบุราคาและอัตราการใช้สิทธิซื้อหุ้น หรือหุ้นกู้ และกำหนดวันใช้สิทธิซื้อหุ้น หรือหุ้นกู้
(ฉ) ข้อจำกัดในเรื่องการโอน (ถ้ามี)
(2) รายละเอียดของผู้ถือหลักทรัพย์แต่ละราย
(ก) ชื่อ สัญชาติ และที่อยู่ของผู้ถือหลักทรัพย์
(ข) เลขที่ใบหลักทรัพย์ (ถ้ามี) จำนวนหลักทรัพย์ และจำนวนเงินตามมูลค่าที่ตราไว้ทั้งสิ้นของหลักทรัพย์ที่ถือ
(ค) วันเดือนปี ที่ลงทะเบียนเป็น หรือขาดจากการเป็นผู้ถือหลักทรัพย์
(ง) วันเดือนปี ที่ยกเลิกใบหลักทรัพย์ และออกใบหลักทรัพย์ใหม่แทน (ถ้ามี)
(จ) วันเดือนปี ที่ดำเนินการไถ่ถอนหุ้นกู้ ใช้สิทธิแปลงสภาพ หรือใช้สิทธิซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้ แล้วแต่กรณี
(ฉ) เลขที่คำร้องขอให้เปลี่ยนแปลง หรือจดแจ้งรายการในทะเบียน (ถ้ามี)
ข้อ 3. ให้บริษัทเก็บรักษาทะเบียนไว้ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท และให้ผู้ถือหลักทรัพย์ตรวจดูได้ในระหว่างเวลาทำการของบริษัท ในการนี้บริษัทจะกำหนดเวลาสำหรับการตรวจดูไว้ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าวันละสองชั่วโมง
ข้อ 4. บริษัทต้องจัดให้มีคำร้องขอให้เปลี่ยนแปลง หรือจดแจ้งรายการในทะเบียน โดยคำร้องดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขที่คำร้อง วันเดือนปี ที่ยื่นคำร้อง ประเภทหลักทรัพย์ จำนวนหลักทรัพย์ ชื่อของผู้ถือหลักทรัพย์ และวัตถุประสงค์ของการยื่นคำร้องนั้น
ข้อ 5.ในการโอนหลักทรัพย์ ให้ผู้ถือหลักทรัพย์ยื่นคำร้อง พร้อมกับส่งมอบใบหลักทรัพย์ ที่มีการลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอน และรับโอนอย่างถูกต้องครบถ้วน และให้บริษัทออกใบรับคำร้องขอโอนหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์นั้น
ให้บริษัทลงทะเบียนการโอนหลักทรัพย์ พร้อมทั้งรับรองการโอนไว้ในใบหลักทรัพย์ภายในสิบสี่วัน นับแต่วันที่ผู้ถือหลักทรัพย์ยื่นคำร้องขอในกรณีที่ไม่ต้องออกใบหลักทรัพย์ให้ใหม่ หรือถ้าต้องมีการออกใบหลักทรัพย์ให้ใหม่ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ถือหลักทรัพย์ยื่นคำร้องขอ แต่หากปรากฎว่าการโอนหลักทรัพย์นั้น จะขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อข้อจำกัดในเรื่องการโอนของบริษัท ซึ่งได้จดทะเบียนข้อจำกัดนั้น ไว้กับสำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต. แล้ว ให้บริษัทแจ้งผู้ถือหลักทรัพย์ทราบภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ผู้ถือหลักทรัพย์ยื่นคำร้องขอ
ข้อ 6. นอกจากกรณีการโอนหลักทรัพย์ตามที่กำหนดในข้อ 5 การยื่นคำร้องขอให้เปลี่ยนแปลง หรือจดแจ้งรายการในทะเบียน บริษัทต้องจัดให้มีการแสดงหลักฐานและดำเนินการดังนี้
(1) กรณีแยกใบหลักทรัพย์ ให้ผู้ถือหลักทรัพย์ส่งมอบใบหลักทรัพย์ และให้บริษัทออกใบรับคำร้องขอแยกหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์นั้น
(2) กรณีเปลี่ยนใบหลักทรัพย์ ให้ผู้ถือหลักทรัพย์ส่งมอบใบหลักทรัพย์ และให้บริษัทออกใบรับคำร้องขอเปลี่ยนใบหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์นั้น
(3) กรณีจดแจ้งการจำนำหลักทรัพย์ ให้ผู้จำนำและหรือผู้รับจำนำส่งมอบหนังสือ ซึ่งปรากฎลายมือชื่อของผู้จำนำ และผู้รับจำนำเพื่อขอให้บริษัทจดแจ้งการจำนำหลักทรัพย์ โดยจัดทำเป็นคู่ฉบับ ฉบับหนึ่งให้บริษัทเป็นผู้เก็บ ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้คืนแก่ผู้จำนำและหรือผู้รับจำนำ
เมื่อบริษัทได้รับคำร้องขอให้จดแจ้งการจำนำแล้ว ให้บริษัทจดแจ้งการจำนำลงในทะเบียน พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้จำนำ และผู้รับจำนำทราบถึงการจดแจ้งการจำนำดังกล่าว
(4) กรณีเพิกถอนการจำนำหลักทรัพย์ ให้ผู้จำนำและหรือผู้รับจำนำส่งมอบหนังสือ ซึ่งปรากฎลายมือชื่อของผู้รับจำนำ เพื่อขอให้บริษัทเพิกถอนรายการจำนำที่ลงไว้ในทะเบียน
เมื่อบริษัทได้รับคำร้องขอให้เพิกถอนรายการจำนำแล้ว ให้บริษัทจดแจ้งการเพิกถอนรายการจำนำนั้นลงในทะเบียน พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้จำนำ และผู้รับจำนำทราบถึงการจดแจ้งการเพิกถอน การจำนำดังกล่าว
(5) กรณีบังคับจำนำหลักทรัพย์ให้ผู้รับจำนำและหรือผู้มีสิทธิได้หลักทรัพย์ จากการบังคับจำนำส่งมอบใบหลักทรัพย์ พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง กับการบังคับจำนำให้แก่บริษัท หากหลักทรัพย์นั้นได้ฝากไว้ที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ให้ยื่นเฉพาะหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับจำนำได้
(6)กรณีอายัดหลักทรัพย์ตามคำสั่งศาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ผู้ยื่นคำร้องแสดงหลักฐานสำเนาคำสั่งศาล หรือสำเนาคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายที่มีการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง และให้บริษัทแจ้งเรื่องการอายัดหลักทรัพย์ ดังกล่าว ให้ผู้ถือหลักทรัพย์ ทราบภายในสิบสี่วัน นับแต่วันที่ได้มีการยื่นคำร้องนั้น
(7)กรณีเปลี่ยนแปลงประวัติ ของผู้ถือหลักทรัพย์ ให้ผู้ถือหลักทรัพย์แสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือสำคัญที่ทางสำนักงานเขต หรืออำเภอเป็นผู้ออกให้ เป็นต้น
ข้อ 7. ในกรณีใบหลักทรัพย์สูญหาย หรือถูกทำลาย ให้ผู้ถือหลักทรัพย์ยื่นคำร้องพร้อมแสดงหลักฐานการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน และเมื่อบริษัทพิจารณาเห็นว่าหลักฐานถูกต้องแล้ว ให้บริษัทออกใบหลักทรัพย์ใหม่ แก่ผู้ถือหลักทรัพย์
ข้อ 8. เมื่อบริษัทจะงดรับการลงทะเบียน ให้บริษัทประกาศการงดรับการลงทะเบียนนั้น ให้ผู้ถือหลักทรัพย์ ทราบเป็นการล่วงหน้า เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน ก่อนวันงดรับการลงทะเบียน ณสำนักงานใหญ่ของบริษัท และในกรณีที่หลักทรัพย์นั้น ได้มีการเสนอขายต่อประชาชน โดยบริษัทหรือเจ้าของหลักทรัพย์ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน บริษัทต้องประกาศการงดรับการลงทะเบียน ดังกล่าว ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อยหนึ่งฉบับ
ข้อ9. ในกรณีหลักทรัพย์ที่ต้องจัดทำทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ชนิดไม่ระบุชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ ให้บริษัทระบุ ไว้ในทะเบียนว่าหลักทรัพย์ ดังกล่าว เป็นหลักทรัพย์ชนิดไม่ระบุชื่อผู้ถือ และให้บริษัทปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2 (1) และข้อ 3 ด้วย
ข้อ 10. เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 11 ในการจัดทำทะเบียนตามประกาศนี้ บริษัทอาจมอบหมายให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือบุคคลผู้ได้รับอนุญาตให้บริการเป็นนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัท และเก็บรักษาทะเบียนแทนบริษัทก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้ถือหลักทรัพย์ ที่มีรายชื่อปรากฎอยู่ในทะเบียนทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าสิบสี่วันก่อนการมอบหมาย โดยบริษัทต้องมีข้อกำหนดให้นายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัทที่ได้รับมอบหมายนั้น ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย
ข้อ 11. ในกรณีหลักทรัพย์ที่ต้องจัดทำทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ ที่เสนอขายต่อผู้ลงทุน ในต่างประเทศทั้งจำนวน บริษัทหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัท ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2 (1) ด้วย ทั้งนี้ หากหลักทรัพย์ ดังกล่าว เป็นหลักทรัพย์ชนิดระบุชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ ให้ระบุชื่อ และที่อยู่ของผู้ถือหลักทรัพย์ และดำเนินการลงทะเบียนการโอน พร้อมทั้งรับรองการโอนไว้ในใบหลักทรัพย์ หรือออกใบหลักทรัพย์ให้ใหม่ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ถือหลักทรัพย์ขอให้ดำเนินการดังกล่าว
ข้อ 12. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537
(นายเอกกมล คีรีวัฒน์)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ