หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday July 31, 2000 15:17 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                                ประกาศนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่ 2/2543
เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 วรรคสอง พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"ผู้จัดการกองทุน" หมายความว่า ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้จัดการกองทุนอยู่ก่อนวันที่ พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับ
"กองทุน" หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลูกจ้างและนายจ้างตกลงกัน จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับ
"ลูกจ้าง" หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง
"นายจ้าง" หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
"บริษัท" หมายความว่า บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ
"บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในสายงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตั้งแต่ตำแหน่งผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลขึ้นไปจนถึงตำแหน่งผู้จัดการ
"ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล" หมายความว่า กรรมการหรือพนักงานของผู้จัดการกองทุนที่ได้รับมอบหมายจากผู้จัดการกองทุนนั้นให้มีอำนาจตัดสินใจลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นให้แก่ลูกค้า
"บริษัทในเครือ" หมายความว่า บริษัทที่ถือหุ้นของผู้จัดการกองทุนหรือของนายจ้างตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของผู้จัดการกองทุนหรือของนายจ้าง และบริษัทที่ผู้จัดการกองทุนหรือนายจ้างถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น แล้วแต่กรณี
"หน่วยลงทุน" หมายความว่า ตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในทรัพย์สินของกองทุนรวมซึ่งอาจแบ่งเป็นหลายชนิด โดยกำหนดสิทธิหรือประโยชน์ตอบแทนในหน่วยลงทุนแต่ละชนิดเท่าเทียมกัน
"กองทุนรวม" หมายความว่า กองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและกองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน
"ตัวแทนสนับสนุน" หมายความว่า ตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนปิด ตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด หรือตัวแทนเพื่อทำหน้าที่รับคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนปิด แล้วแต่กรณี
"ธุรกรรมการขายโดยมีสัญญาซื้อคืน" หมายความว่า การขายหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้โดยมีสัญญาที่จะซื้อคืนหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้นั้นตามวันที่กำหนดไว้ในสัญญา
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
"นายทะเบียน" หมายความว่า นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 2 นับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับจนถึงวันที่ครบกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ ให้ผู้จัดการกองทุนจัดการกองทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศนี้
ข้อ 3 ในการจัดการกองทุน ห้ามมิให้ผู้จัดการกองทุนลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน เว้นแต่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อ 4
(1) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของบริษัทที่บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการกองทุนส่วนบุคคลของผู้จัดการกองทุนเป็นกรรมการหรือถือหุ้นเกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น หรือที่บุคคลดังกล่าวถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น การถือหุ้นของบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงการถือหุ้นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวด้วย
(2) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนอกเหนือจากหุ้น หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ที่ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน
(3) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่บริษัทในเครือของผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ออกผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน
(4) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการลงทุน
(5) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของบริษัทเฉพาะในส่วนที่ผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อ ที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นของกิจการที่ถูกเสนอซื้อ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือตัวแทนสนับสนุน
(6) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่นายจ้างหรือบริษัทในเครือของนายจ้างเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน
(7) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ได้มาหรือจำหน่ายไประหว่างกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการลงทุนกับบัญชีลงทุนของผู้จัดการกองทุนหรือกับกองทุนรวมหรือกับกองทุนส่วนบุคคลที่ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการลงทุน
ข้อ 4 ผู้จัดการกองทุนจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินตามข้อ 3 ได้ต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการกองทุนให้ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในแต่ละข้อของข้อ 3 โดยได้อธิบายให้คณะกรรมการกองทุนเข้าใจถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ด้วยแล้วการได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการกองทุนตามวรรคหนึ่ง อาจกำหนดไว้ในสัญญาหรือได้รับความยินยอมก่อนการลงทุนดังกล่าวก็ได้
(2) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการลงทุน มีมูลค่ารวมกันไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินกองทุน
(3) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่นายจ้างหรือบริษัทในเครือของ นายจ้างเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน มีมูลค่ารวมกันไม่เกินร้อยละสิบห้า ของเงินกองทุน โดยคำนวณตามความรับผิดหรือภาระผูกพันของนายจ้างหรือบริษัทในเครือของนายจ้าง ทั้งนี้ มิให้นับตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตร หรือตราสารแห่งหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน และพันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัล หรือ ผู้ค้ำประกัน รวมในอัตราส่วน ดังกล่าว
การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้นับรวมการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนทั้งหมด ไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของนายจ้าง
(4) เว้นแต่คณะกรรมการกองทุนจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ให้ผู้จัดการกองทุนรายงานการลงทุนตามข้อ 3 ให้คณะกรรมการกองทุนทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวต้องระบุวันที่ลงทุน ชื่อหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ลงทุน จำนวน ราคาต่อหน่วย มูลค่าหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ลงทุน และอัตราส่วนการลงทุนโดยเทียบกับเงินกองทุน รวมทั้งระบุว่าเป็นการลงทุนตามข้อใดของข้อ 3
ข้อ 5 ในการจัดการกองทุน ห้ามมิให้ผู้จัดการกองทุนกระทำการดังต่อไปนี้
(1) กู้ยืมเงินในนามของกองทุน
(2) ให้สินเชื่อหรือให้กู้ยืมเงินแก่กองทุน ทั้งนี้ รวมถึงการที่ผู้จัดการกองทุนจัดให้บริษัทในเครือของผู้จัดการกองทุนกระทำการดังกล่าวด้วย
(3) ทำธุรกรรมการขายโดยมีสัญญาซื้อคืนเพื่อกองทุน
ข้อ 6 เพื่อประโยชน์ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามข้อ 4 ให้ผู้จัดการกองทุนตีราคาหลักทรัพย์และทรัพย์สินตามราคาทุน โดยให้รวมค่านายหน้าที่จ่ายไปเพื่อให้ได้หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมา (ถ้ามี)
ข้อ 7 ให้ผู้จัดการกองทุนจัดทำและจัดส่งรายงานการดำรงอัตราส่วนการลงทุน ของกองทุนตามที่กำหนดในข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว และตามที่กำหนดในข้อ 4 แห่งประกาศนี้ ตามแบบ รายงานที่ 9-1 ลับ ท้ายประกาศนี้
ข้อ 8 ในกรณีที่ผู้จัดการกองทุนลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่อาจ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามข้อ 3 อยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ผู้จัดการกองทุน จะคงมีไว้ซึ่งการลงทุนดังกล่าวต่อไปได้โดยผู้จัดการกองทุนต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร และส่งให้คณะกรรมการกองทุนภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวต้องมีรายการตามข้อ 4(4)
(2) ขอความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการกองทุนให้ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในแต่ละข้อของข้อ 3
ในกรณีที่ผู้จัดการกองทุนไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุน ให้ผู้จัดการกองทุนจำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามข้อ 3 ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาและตามวิธีการตามที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
ข้อ 9 ให้ผู้จัดการกองทุนจัดทำรายงานการปฏิบัติตามข้อ 8 ตามแบบรายงานที่ 10 ลับท้ายประกาศนี้ และส่งให้นายทะเบียนทราบภายในหกสิบวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและสมควรโดยได้รับการผ่อนผันจากนายทะเบียน
ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2543
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
.-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ