ที่ ทน. 78/2558
เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม
และหน้าที่ของบริษัทจัดการ
(ฉบับที่ 4)
_____________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 117 และมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 8 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 46/2556 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 23/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 8 ข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามข้อ 7 ให้มีข้อยกเว้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณียกเว้นให้ถือหน่วยลงทุนได้โดยไม่จำกัดสัดส่วนสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุน ดังนี้
(ก) กองทุนดังนี้
1. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
2. กองทุนประกันสังคม
3. กองทุนการออมแห่งชาติ
4. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ
5. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
6. กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป
7. กองทุนอื่นใดที่สำนักงานพิจารณาว่ามีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุน ตาม 1. ถึง 6.
8. กองทุนต่างประเทศที่มีลักษณะตาม 1. ถึง 7.
(ข) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยนอกเหนือจากกองทุนตามวรรคหนึ่ง (1) (ก) ซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น ธนาคารออมสิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิ หรือวัด เป็นต้น
(ค) บุคคลซึ่งลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปที่เสนอขายหน่วยลงทุนภายใต้โครงการ Cross-border Public Offers of ASEAN Collective Investment Schemes โดยเป็นการลงทุนของผู้ลงทุนที่มิได้มีสัญชาติไทยในต่างประเทศหรือเป็นการลงทุนผ่านบัญชีแบบไม่เปิดเผยชื่อ (omnibus account) ในต่างประเทศ
(ง) บุคคลอื่นที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร
(2) กรณียกเว้นให้โดยผ่อนคลายสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน หรือเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งได้แก่กรณีดังนี้
(ก) กรณีที่เป็นการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอีทีเอฟโดยผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ดูแลสภาพคล่องที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทจัดการ อาจถือหน่วยลงทุนได้โดยไม่จำกัดสัดส่วน ทั้งนี้ เฉพาะในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมจนถึงวันที่ครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่เริ่มซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟดังกล่าวในตลาดรอง
(ข) กรณีที่เป็นการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่มีการรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือรับโอนเงินดังกล่าวต่อเนื่องจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของหน่วยลงทุนที่รองรับการรับโอนเงินดังกล่าว
(ค) กรณีของกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามอัตราผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในหน่วยลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามข้อ 7 ได้ไม่เกินสัดส่วนที่ระบุไว้ในโครงการ ทั้งนี้ เมื่อได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานตามเหตุจำเป็นและสมควร
(ง) กรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรอื่นใด ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามข้อ 7 ได้แต่ไม่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ทั้งนี้ ในการผ่อนผันดังกล่าว ให้สำนักงานพิจารณาถึงประโยชน์โดยรวมของผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวเป็นสำคัญ
“ผู้ลงทุนรายใหญ่” และ “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” ตามวรรคหนึ่ง (2) (ก) ให้หมายความถึงผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ดูแลสภาพคล่อง ตามที่กำหนดไว้ในประกาศที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอีทีเอฟ
“เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ตามวรรคหนึ่ง (2) (ข) ให้หมายความดังนี้
(1) เงินที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพรับโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(2) เงินตามวรรคสาม (1) ที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพรับโอนต่อเนื่องจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น
(3) ผลประโยชน์อันเกิดจากเงินตามวรรคสาม (1) และ (2)”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
(นายรพี สุจริตกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน