ที่ สน. 79/2558
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน
(ฉบับที่ 22)
_________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 14 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 91/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และข้อ 17 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และข้อ 19(1) และ (6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในหมวด 5 หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ข้อ 107 ข้อ 108 และข้อ 109 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“หมวด 5
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
ส่วนที่ 1
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพทุกประเภท
_________________
ข้อ 107 ในการจัดการกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีระบบในการตรวจสอบการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน
ข้อ 108 ในการโอนย้ายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องโอนเงินลงทุนในหน่วยลงทุนพร้อมด้วยผลประโยชน์ทั้งหมดภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับคำสั่งจากผู้ถือหน่วยลงทุน หรือภายในห้าวันทำการนับแต่เกิดเหตุการณ์ตามข้อ 93 หรือวันที่ปรากฏเหตุอื่นใดซึ่งโครงการจัดการกองทุนรวมได้กำหนดเป็นเหตุเลิกกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และผู้ถือหน่วยลงทุนได้แสดงเจตนาในการโอนย้ายการลงทุนไว้ในใบจองซื้อหน่วยลงทุนหรือใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน
ข้อ 109 มิให้นำความในข้อ 84 มาใช้บังคับ และห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
ข้อ 109/1 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ส่วนที่ 2
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงิน
จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
_______________
ข้อ 109/2 ในส่วนนี้
“กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หมายความว่า
(1) เงินที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพรับโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(2) เงินตาม (1) ที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพรับโอนต่อเนื่องจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น
(3) ผลประโยชน์อันเกิดจากเงินตาม (1) และ (2)
“เงินสะสม” หมายความว่า เงินสะสมตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 109/3 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมายังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้เมื่อได้รับเอกสารหลักฐานตาม (1) และดำเนินการตาม (2) แล้วดังต่อไปนี้
(1) เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมายังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ต้องจัดส่งให้กับกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพตามที่กำหนดในประกาศนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าด้วยวิธีการและเงื่อนไขในการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
(2) จัดให้มีเอกสารหลักฐานที่แสดงได้ว่าผู้ลงทุนได้รับทราบคำเตือนเกี่ยวกับการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมายังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพดังนี้
(ก) ในกรณีที่เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของผู้ลงทุนครบเงื่อนไขเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาซึ่งเป็นผลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมจากการโอนเงินดังกล่าวมายังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอาจมีต้นทุนที่แตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไป
(ข) ในกรณีที่การโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมายังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพจะมีผลให้การถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะไม่นับคะแนนเสียงส่วนที่เกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมดังกล่าว
ข้อ 109/4 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีระบบงานเพื่อแยกส่วนของผู้ถือหน่วยลงทุนที่รองรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกจากส่วนของผู้ถือหน่วยลงทุนทั่วไปของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
(2) จัดให้มีระบบงานในการจำแนกเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละรายออกเป็นสองส่วนดังนี้
(ก) เงินสะสม
(ข) เงินอื่นที่ไม่ใช่เงินสะสม
(3) จัดเก็บข้อมูลของผู้ถือหน่วยลงทุนเกี่ยวกับอายุ และระยะเวลาการเป็นสมาชิกหรือการเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี เพื่อการนับอายุต่อเนื่อง
ข้อ 109/5 ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนรายใดไม่ประสงค์จะลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนรายดังกล่าวทราบ
ข้อ 109/6 ในกรณีผู้ถือหน่วยลงทุนประสงค์จะโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางส่วนไปยังกองทุนรวมอื่น ให้สามารถทำได้โดยโอนเงินสะสมและเงินอื่นที่ไม่ใช่เงินสะสมในอัตราที่เท่ากัน
ข้อ 109/7 ในการเปิดเผยข้อมูลมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมระบุไว้ด้วยว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิดังกล่าวได้รวมเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ด้วย
บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องไม่นำข้อมูลในส่วนของเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณเป็นข้อมูลเงินลงทุนและภาพรวมอุตสาหกรรมในธุรกิจกองทุนรวม”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
(นายรพี สุจริตกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์