(ต่อ2) การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขาย ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday July 6, 2000 11:23 —ประกาศ ก.ล.ต.

       (5)       หน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินในการรายงานต่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามรายชื่อที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เมื่อมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อทรัพย์สินที่ฝากไว้อย่างมีนัยสำคัญ เว้นแต่กรณีที่ระบุไว้แล้วในข้อกำหนดสิทธิ 
(6) หน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในการตรวจดูเอกสารดังต่อไปนี้ ในระหว่างเวลาทำการของผู้รับฝากทรัพย์สิน(ก) บัญชีทรัพย์สินที่ฝากไว้(ข) งบการเงิน และรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จัดส่งมาให้
(7) หน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินที่ต้องดำรงคุณสมบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 33(2) ตลอดเวลาของการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน และในกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินขาดคุณสมบัติ ต้องมีข้อกำหนดให้ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องดำเนินการแก้ไขคุณสมบัติของตนให้ถูกต้องภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ขาดคุณสมบัตินั้น ในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ทันทีที่พ้นระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน
(8) หน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินเมื่อจะมีการเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน ซึ่งต้องกำหนดให้ผู้รับฝากทรัพย์สินเดิมปฏิบัติหน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิและสัญญาฝากทรัพย์สินต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่และได้มีการส่งมอบบรรดาทรัพย์สิน เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้แก่ผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่แล้ว ทั้งนี้ ผู้รับฝากทรัพย์สินเดิมต้องให้ความร่วมมือกับผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่ด้วยเพื่อให้การดำเนินการตามหน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่เป็นไปโดยเรียบร้อย
(9) หน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินในการจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่ฝากไว้ให้ครบถ้วน ถูกต้อง และตรงตามความเป็นจริง (ยังมีต่อ)
ข้อ 47 "การแต่งตั้งและการเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน" ตามข้อ 38(9) ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้
(1) วิธีการแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สิน
(2) การเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สินซึ่งอย่างน้อยต้องระบุให้มีการเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สินเมื่อเกิดกรณีดังนี้
(ก) ผู้รับฝากทรัพย์สินไม่สามารถดำเนินการแก้ไขการขาดคุณสมบัติภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อ 46(7)
(ข) ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ยังสามารถใช้สิทธิได้ แจ้งให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน เนื่องจากผู้รับฝากทรัพย์สินปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมหรือบกพร่อง
(ค) เมื่อมีเหตุที่ทำให้สัญญาฝากทรัพย์สินระงับสิ้นไป
(3) การดำเนินการเพื่อแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่ ซึ่งต้องระบุให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องปฏิบัติในลักษณะเดียวกับข้อกำหนดในข้อ 33(2) ทั้งนี้ บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีเหตุตาม (2)หรือภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้รับผ่อนผันจากสำนักงานในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย และต้องแจ้งให้ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ทราบถึงการเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการดำเนินการดังกล่าว
ข้อ 48 "การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ" ตามข้อ 38(10) ต้องมีรายการอย่างน้อยดังนี้
(1) มีการกำหนดให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และที่ประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เว้นแต่เป็นกรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์อย่างชัดแจ้ง อาจกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์สามารถกระทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากที่ประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ก็ได้
(2) ข้อตกลงที่ระบุให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องส่งคู่ฉบับข้อกำหนดสิทธิส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้นายทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และผู้รับฝากทรัพย์สิน (ถ้ามี) ภายในระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และส่งสรุปสาระสำคัญของข้อกำหนดสิทธิส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เมื่อได้รับการร้องขอภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น
ข้อ 49 "การประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์" ตามข้อ 38(11) ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้
(1) กรณีต้องเรียกประชุม มีข้อกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องเรียกประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ภายในสามสิบวันนับแต่เกิดกรณีดังต่อไปนี้
(ก) เมื่อมีการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิในลักษณะที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(ข) เมื่อมีการขอถอนทรัพย์สินที่ฝากไว้ กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน
(ค) เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอันอาจกระทบต่อความสามารถของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ
ในกรณีที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ไม่ดำเนินการเรียกประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง หรือกรณีที่มีเหตุอันสมควร ให้ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มีจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ยังไม่มีการใช้สิทธิ เรียกประชุมแทนได้
(2) องค์ประชุมและมติที่ประชุม มีข้อกำหนดให้การประชุมที่ได้มีการเรียกตาม (1)จะต้องมีองค์ประชุมและมติที่ประชุมอย่างน้อยดังนี้
(ก) มีผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (ถ้ามี) มาประชุมโดยมีจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์รวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ยังไม่มีการใช้สิทธิ จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในกรณีที่ได้มีการเรียกประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ครั้งใด แต่จำนวนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ซึ่งมาเข้าร่วมประชุมไม่ครบเป็นองค์ประชุม ให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นัดประชุมใหม่ได้โดยในการประชุมครั้งหลังนี้ ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม
(ข) มติของที่ประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ทั้งหมดของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง
(ค) การนับมติที่ประชุม ไม่ให้นับรวมจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้
1. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว
2. บริษัทใหญ่และบริษัทย่อยของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
3. ผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขาย
(3) มีข้อตกลงระบุให้มติที่ประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์มีผลผูกพันผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ทุกคนรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย(4) วิธีการเรียกประชุม และวิธีการดำเนินการประชุม
(5) ข้อกำหนดมิให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว หรือบริษัทใหญ่และบริษัทย่อยของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขาย ซึ่งเป็นผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องใดออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น
ข้อ 50 "ตัวอย่างใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์" ตามข้อ 38(12) ต้องมีรายการดังต่อไปนี้ในตราสารกำกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(1) ชื่อเฉพาะของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(2) ลักษณะของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ โดยให้ระบุว่าเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น และในกรณีที่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน ก็ให้ระบุประเภทของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เช่นนั้นไว้ รวมทั้งระบุสัดส่วนของทรัพย์สินที่ฝากด้วย
(3) ชื่อของหุ้นอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิง
(4) ชื่อบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(5) จำนวนหน่วยที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์มีสิทธิ
(6) ชื่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(7) เลขที่อ้างอิงของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(8) วัน เดือน ปีที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และวัน เดือน ปีที่สิ้นสุดของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(9) ชื่อผู้รับฝากทรัพย์สิน (ถ้ามี)
(10) ชื่อผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขาย (ถ้ามี)
(11) การชำระหนี้ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เมื่อมีการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ซึ่งต้องระบุอย่างชัดเจนว่าจะชำระหนี้โดยการส่งมอบเงินสดหรือหุ้นอ้างอิง
(12) มีข้อความที่ระบุว่าใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นี้ออกตามสิทธิและเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อกำหนดสิทธิซึ่งบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้จัดทำขึ้นและถือเป็นข้อตกลงผูกพันระหว่างบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์กับผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ทั้งนี้ ต้องระบุด้วยว่าผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์สามารถขอตรวจดูข้อกำหนดสิทธิดังกล่าวได้ที่ใด
(13) ลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์หรือนายทะเบียนหลักทรัพย์ส่วนที่ 5สัญญาฝากทรัพย์สิน
ข้อ 51 ในกรณีเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการรับฝากทรัพย์สินผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีสัญญาฝากทรัพย์สินที่มีความชัดเจน ไม่มีข้อกำหนดที่เป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาอย่างไม่เป็นธรรม และสอดคล้องกับข้อกำหนดสิทธิเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้รับฝากทรัพย์สิน มีการลงลายมือชื่อของคู่สัญญา และต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยตามรายการดังต่อไปนี้ เว้นแต่สำนักงานจะผ่อนผันเป็นอย่างอื่น
(1) รายการทั่วไป
(2) หน้าที่ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(3) อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับฝากทรัพย์สิน
(4) การสิ้นสุดสัญญาฝากทรัพย์สิน
ข้อ 52 "รายการทั่วไป" ตามข้อ 51(1) ต้องมีสาระอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อและที่อยู่ของคู่สัญญา
(2) วันที่สัญญามีผลใช้บังคับ
(3) อัตราและวิธีการจ่ายค่าตอบแทนหรือบำเหน็จในการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน ซึ่งต้องกำหนดไว้อย่างชัดเจน
(4) ระบุข้อความในลักษณะดังต่อไปนี้
"การฝากทรัพย์สินตามสัญญานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับฝากทรัพย์สินเก็บรักษาและดูแลทรัพย์สินที่ฝากไว้เสมือนเป็นประกันการให้สิทธิแก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์"
(5) ระบุลักษณะของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ สัดส่วนของทรัพย์สินที่ฝากไว้กับผู้รับฝากทรัพย์สิน ประเภทของทรัพย์สินที่ฝากและลักษณะสำคัญของทรัพย์สินดังกล่าว
ข้อ 53 "หน้าที่ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์" ตามข้อ 51(2) ต้องมีสาระอย่างน้อยดังนี้
(1) การดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 41(2) (3) และ (4) และข้อ 44(3) และ (4)
(2) ระยะเวลาที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้รับฝากทรัพย์สินซึ่งอย่างช้าต้องเป็นวันแรกที่เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(3) บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะจัดให้มีและส่งมอบข้อกำหนดสิทธิให้แก่นายทะเบียนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และผู้รับฝากทรัพย์สิน
(4) ในกรณีที่มีเหตุการณ์ให้ต้องเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะส่งมอบทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อ 8 ไปฝากเพิ่มเติมให้ผู้รับฝากทรัพย์สินเพื่อให้ทรัพย์สินที่ฝากไว้มีสัดส่วนตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว
ข้อ 54 "อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้รับฝากทรัพย์สิน" ตามข้อ 51(3) ต้องมีสาระอย่างน้อย ดังนี้
(1) รายละเอียดตามรายการที่กำหนดในข้อ 46
(2) ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องเก็บรักษาทรัพย์สินที่ฝากไว้แยกจากทรัพย์สินของผู้รับฝากทรัพย์สินและของลูกค้ารายอื่นของผู้รับฝากทรัพย์สิน ทั้งนี้ ให้เก็บรักษาทรัพย์สินดังกล่าวไว้ในที่ปลอดภัย และให้จัดทำบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวแยกจากบัญชีทรัพย์สินของผู้รับฝากทรัพย์สินและลูกค้าอื่นของผู้รับฝากทรัพย์สิน และต้องจัดทำโดยครบถ้วน ถูกต้อง และตรงตามความเป็นจริง
(3) ผู้รับฝากทรัพย์สินจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นผลให้ทรัพย์สินที่ฝากไว้มีจำนวนเปลี่ยนแปลงหรือลดลง เว้นแต่เป็นการคืนทรัพย์สินดังกล่าวตามสัดส่วนของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ได้มีการใช้สิทธิแล้ว หรือเป็นการคืนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จะซื้อหุ้นและเงินที่จะชำระเป็นค่าซื้อหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ฝากไว้เพื่อให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นำไปใช้สิทธิ
ข้อ 55 "การสิ้นสุดสัญญาฝากทรัพย์สิน" ตามข้อ 51(4) ต้องมีสาระอย่างน้อย ดังนี้
(1) ในกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการดำรงคุณสมบัติและไม่สามารถแก้ไขคุณสมบัติดังกล่าวตามที่กำหนดในข้อ 46(7) ให้สัญญาฝากทรัพย์สินเป็นอันสิ้นสุดลง
(2) ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ยังสามารถใช้สิทธิได้ แจ้งให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน เนื่องจากผู้รับฝากทรัพย์สินปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมหรือบกพร่องหมวด 3การขอตรวจสอบและการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิง
ข้อ 56 ผู้ได้รับอนุญาตจะได้รับการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงสำหรับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นต่อเมื่อ
(1) หุ้นอ้างอิงมีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ 57
(2) หุ้นอ้างอิงที่ขอตรวจสอบในแต่ละครั้งมีจำนวนไม่เกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง
(3) จำนวนหุ้นอ้างอิงรวมตามที่กำหนดใน (ก) (ข) และ (ค) ต้องไม่เกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงนั้น
(ก) จำนวนหุ้นอ้างอิงทั้งหมดตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่ขอตรวจสอบในครั้งนี้
(ข) จำนวนหุ้นอ้างอิงทั้งหมดตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่ได้รับการยืนยันแต่ยังไม่ได้เสนอขายและการอนุญาตยังคงมีผลอยู่
(ค) จำนวนหุ้นอ้างอิงทั้งหมดตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่เสนอขายไปแล้ว และยังสามารถใช้สิทธิได้อยู่
ในกรณีที่มีการขอตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงเดียวกันหลายราย ให้การจัดสรรเป็นไปตามเกณฑ์มาก่อนได้ก่อน เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตรายใดเคยได้รับการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงแล้ว แต่มิได้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นอ้างอิงที่ได้รับการยืนยันนั้นหรือเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์โดยใช้หุ้นอ้างอิงดังกล่าวต่ำกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนที่ได้รับการยืนยันในระยะเวลาสามเดือนก่อนยื่นคำขอตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงในครั้งนี้ ให้ถือว่าคำขอตรวจสอบของผู้ได้รับอนุญาตรายดังกล่าวเป็นคำขอลำดับสุดท้ายของคำขอตรวจสอบทั้งหมดที่ได้ยื่นต่อสำนักงานเป็นเวลาสามวันนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวยื่นคำขอตรวจสอบนั้น (ยังมีต่อ)
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ