ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 17, 2015 11:25 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทน. 87/2558

เรื่อง การลงทุนของกองทุน

__________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 98(5) มาตรา 109 วรรคหนึ่ง มาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป เว้นแต่ข้อ 9 วรรคหนึ่ง (1) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสัดส่วนตามนโยบายการลงทุนตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวก 2 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

หมวด 1

หลักเกณฑ์ทั่วไป

___________________

ส่วนที่ 1

บทนิยามและคำศัพท์

___________________

ข้อ 2 ในประกาศและภาคผนวกท้ายประกาศนี้

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีข้อความใดในประกาศและภาคผนวกท้ายประกาศที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปและเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล

“กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปและเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล

“กองทุนส่วนบุคคลรายใหญ่” หมายความว่า กองทุนส่วนบุคคลที่มีมูลค่าทรัพย์สินของผู้ลงทุนแต่ละรายตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“กองทุนส่วนบุคคลรายย่อย” หมายความว่า กองทุนส่วนบุคคลที่มีมูลค่าทรัพย์สินของผู้ลงทุนต่ำกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“การลงทุน” หมายความว่า การจัดการลงทุนในทรัพย์สินหรือการเข้าเป็นคู่สัญญาในธุรกรรมทางการเงิน หรือการได้มาหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินหรือธุรกรรมดังกล่าว

“โครงการ” หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวม

“ตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง” หมายความว่า ตราสารทางการเงินหรือสัญญา ซึ่งมีข้อตกลงและเงื่อนไขที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นองค์ประกอบรวมอยู่ด้วย โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวมีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้

(1) ทำให้การชำระหนี้ที่กำหนดไว้ตามตราสารทางการเงินหรือสัญญาดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากปัจจัยอ้างอิงตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาหลักทรัพย์ หรือดัชนีราคาทรัพย์สิน เป็นต้น

(2) มีลักษณะในเชิงเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่ไม่สัมพันธ์กับตราสารทางการเงินหรือสัญญาดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

(3) เป็นผลให้สถานะความเสี่ยงโดยรวมและราคาของตราสารทางการเงินหรือสัญญาดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทจัดการกองทุนรวม หรือบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี

“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

“บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

“ผู้ดูแลผลประโยชน์” หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม

“สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายต่างประเทศที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน

ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ ให้ใช้คำศัพท์ตามภาคผนวก 1 ประกอบการพิจารณาการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย

ส่วนที่ 2

วัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลและ

มาตรฐานการปฏิบัติงาน

__________________

ข้อ 4 ข้อกำหนดตามประกาศนี้เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดการลงทุนของกองทุนที่มุ่งหมายให้บริษัทจัดการดำเนินการให้มีการลงทุนเพื่อกองทุนด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ตลอดจนให้เหมาะสมกับประเภทกองทุนและลักษณะของผู้ลงทุน และมีการกระจายความเสี่ยงของทรัพย์สินที่ลงทุนสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยสามารถรักษาสภาพคล่องของกองทุนอย่างเพียงพอในสถานการณ์ต่าง ๆ

ข้อ 5 บริษัทจัดการจะต้องจัดการลงทุนโดย

(1) คำนึงถึงประโยชน์ของกองทุนและผู้ลงทุนเป็นสำคัญ

(2) ไม่มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงหรือบิดเบือนในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) เจตนารมณ์ตามที่กำหนดในข้อ 4

(ข) ข้อกำหนดเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน

(ค) การลงทุนตามประเภททรัพย์สิน ภายใต้อัตราส่วนการลงทุนและการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามที่กำหนดในข้อ 9

(3) ใช้ความรู้ความสามารถ ความเอาใจใส่ และความระมัดระวัง ตามมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดการลงทุน (investment management) หรือเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพอันพึงปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

ส่วนที่ 3

ขอบเขตและการใช้บังคับของประกาศ

____________________

ข้อ 6 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับกับการลงทุนของกองทุนรวมซึ่งมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น กองทุนรวมดังต่อไปนี้ เป็นต้น

(1) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว

(2) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(3) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน

(4) กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน

(5) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง

(6) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(7) กองทุนรวมคาร์บอน

ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับกับการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (Non-retail Mutual Fund) แต่บริษัทจัดการกองทุนรวมจะแก้ไขเพิ่มเติมโครงการเพื่อให้มีการลงทุนในทรัพย์สินอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในภาคผนวก 3 ไม่ได้

ข้อ 7 ในการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปที่เสนอขายหน่วยลงทุนภายใต้โครงการ Cross-border Public Offers of ASEAN Collective Investment Schemes ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ โดยต้องจัดการลงทุนและปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขภายใต้กรอบการลงทุนที่เป็นที่ยอมรับตาม Part II: the Product Restrictions of Qualifying CIS ซึ่งอยู่ใน Appendix C: Standards of Qualifying CIS ของ Memorandum of Understanding on Streamlined Authorisation Framework for Cross-border Public Offers of ASEAN Collective Investment Schemes

ข้อ 8 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขอผ่อนผันหรือคำขอรับความเห็นชอบใดตามประกาศนี้มาพร้อมกับคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม สำนักงานจะพิจารณาคำขอผ่อนผันหรือคำขอรับความเห็นชอบให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเดียวกันกับการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมนั้น ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชน

หมวด 2

หลักเกณฑ์การลงทุน

________________

ส่วนที่ 1

หลักเกณฑ์ทั่วไป

________________

ข้อ 9 บริษัทจัดการต้องกำหนดนโยบายการลงทุน และลงทุนตามประเภททรัพย์สิน ภายใต้อัตราส่วนการลงทุนและการคำนวณอัตราส่วนการลงทุน ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในการกำหนดนโยบายการลงทุน บริษัทจัดการต้องจัดให้กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลรายย่อย หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีนโยบายการลงทุนตามการจัดแบ่งประเภทของกองทุนตามภาคผนวก 2 และต้องจัดการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในโครงการ

(2) ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้ บริษัทจัดการต้องจัดการลงทุนเฉพาะทรัพย์สินตามที่กำหนดในภาคผนวก 3 โดยการลงทุนดังกล่าวต้องไม่มีผลกระทบต่อ สภาพคล่องโดยรวมในการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือการจ่ายเงินให้กับสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(3) ในการลงทุนภายใต้อัตราส่วนการลงทุน บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังนี้

(ก) กรณีเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย ให้การลงทุนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนในภาคผนวก 4-retail MF-PF

(ข) กรณีเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ให้การลงทุนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนในภาคผนวก 4-AI

(ค) กรณีเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้การลงทุนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนในภาคผนวก 4-PVD

(4) ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุน บริษัทจัดการต้องคำนวณให้เป็นไปตามภาคผนวก 5

ในกรณีเป็นกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ (Country Fund) บริษัทจัดการสามารถขอผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน (product limit) หรืออัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (concentration limit) ตามส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 ของภาคผนวก 4-retail MF-PF หรือส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 ของภาคผนวก 4-AI แล้วแต่กรณี เมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควรต่อสำนักงานได้

ในกรณีเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน บริษัทจัดการต้องดำเนินการลงทุนตามวรรคหนึ่ง (3) (ค) และคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง (4) แยกตามรายนโยบายการลงทุนแทนการลงทุนและการคำนวณตามรายกองทุน เว้นแต่เป็นการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (concentration limit) ตามส่วนที่ 4 ของภาคผนวก 4–PVD ให้คำนวณตามรายกองทุน

ข้อ 10 ในการลงทุนของบริษัทจัดการ ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ได้

(1) การกำหนดประเภททรัพย์สินเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการกำหนดลักษณะของกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม

(2) การกำหนดประเภท อัตราส่วนการลงทุน และการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนของทรัพย์สินที่กองทุนรวมตลาดเงินหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถลงทุนเพิ่มเติม

(3) การกำหนดประเภท อัตราส่วนการลงทุน และการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนของตราสารทุนหรือตราสารหนี้ที่กองทุนสามารถลงทุนเพิ่มเติม หรือของตราสารหรือทรัพย์สินอื่นเพิ่มเติมที่กองทุนสามารถใช้ทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน

(4) การกำหนดนิติบุคคลเพิ่มเติม ที่สามารถมีฐานะเป็นคู่สัญญาในธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์กับกองทุน

(5) การกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ในเรื่องดังนี้

(ก) สินค้าหรือตัวแปรเพิ่มเติมของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ข) การจัดให้มีทรัพย์สินที่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามภาระผูกพันสำหรับการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ค) ลักษณะการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง

(ง) วิธีการและเงื่อนไขในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนและฐานะความเสี่ยงของการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง และการบริหารความเสี่ยง

(จ) วิธีการและเงื่อนไขในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือตัวแปรที่มีการอ้างอิงโดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

(6) วิธีการและเงื่อนไขในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินของกองทุนที่มีการลดความเสี่ยงโดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีลักษณะเป็นการเคลื่อนย้ายความเสี่ยงด้านเครดิตของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงจากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรฐานสากล (credit derivatives)

ในการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้สำนักงานคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการลงทุนของกองทุน เช่น ความเสี่ยง สภาพคล่อง วิธีการประเมินมูลค่า หรือการเปิดเผยข้อมูล เป็นต้น ประกอบการพิจารณาประกาศกำหนดหลักเกณฑ์นั้นด้วย

ข้อ 11 ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดในการดำเนินการของบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเกี่ยวกับการควบคุมอัตราส่วนการลงทุนสำหรับสมาชิกแต่ละรายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวม หมวดอุตสาหกรรมหรือกองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก ตามส่วนที่ 3 การกำหนดนโยบายการลงทุนของ retail PF และ PVD ของภาคผนวก 2 หรือมีนโยบายการลงทุนโดยมีอัตราส่วนการลงทุนผ่อนคลายกว่าอัตราส่วนการลงทุนสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั่วไปในภาคผนวก 4-PVD

ข้อ 12 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศนี้ ให้บริษัทจัดการใช้ข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งล่าสุดที่จัดทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน เว้นแต่จะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่นตามภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศนี้ ทั้งนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาใช้อันดับความน่าเชื่อถือให้เหมาะสมกับการลงทุนของกองทุนได้

ข้อ 13 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากบริษัทจัดการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้วให้ถือว่าบริษัทจัดการมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ในเรื่องที่มีการออกแนวทางนั้น

ส่วนที่ 2

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับกองทุน

ส่วนบุคคลรายใหญ่

__________________

ข้อ 14 นอกเหนือจากการลงทุนในทรัพย์สินที่กำหนดในข้อ 9 วรรคหนึ่ง (2) แล้ว บริษัทจัดการสามารถลงทุนเพื่อกองทุนส่วนบุคคลรายใหญ่ในทรัพย์สินดังต่อไปนี้เพิ่มเติมได้

(1) หลักทรัพย์ ตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่เสนอขายในประเทศหรือมีผู้ออกหรือคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับ คุณสมบัติของตราสารและหลักเกณฑ์ในการลงทุนตามที่กำหนดในภาคผนวก 3 ส่วนที่ 1 ในข้อ 2.

(2) ตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงทุกประเภท โดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของตราสารและหลักเกณฑ์ในการลงทุนตามที่กำหนดในภาคผนวก 3 ส่วนที่ 1 ในข้อ 2.

(3) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกลักษณะ ซึ่งกระทำโดยการเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามที่กำหนดในภาคผนวก 3 ส่วนที่ 6 ในข้อ 2.3

(4) การขายหลักทรัพย์ที่ต้องยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการส่งมอบ (short sale) โดยให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายหลักทรัพย์ที่ต้องยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการส่งมอบตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง โดยอนุโลม ทั้งนี้ ในการยืมหลักทรัพย์เพื่อการดังกล่าว ให้บริษัทจัดการกระทำได้เฉพาะในกรณีที่คู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ให้ยืมเป็นผู้ลงทุนสถาบัน

(5) ทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับทรัพย์สินตาม (1) ถึง (3) โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ส่วนที่ 3

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

___________________

ข้อ 15 ในกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีการลงทุนในทรัพย์สินตามภาคผนวก 4-PVD ส่วนที่ 3 : อัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน (product limit) ในข้อ 5.1 ถึงข้อ 5.6 เกินกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (พิจารณาตามรายนโยบายการลงทุน) บริษัทจัดการต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนทำการลงทุน

หมวด 3

การดำเนินการเมื่อการลงทุนไม่เป็นไป

ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

__________________

ข้อ 16 ในกรณีที่บริษัทจัดการได้ลงทุนในทรัพย์สินเพื่อกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมตลาดเงิน โดยมีอายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนซึ่งได้จากการคำนวณค่าตามมาตรฐานสากลไม่เกินกว่า92 วันตามที่กำหนดในภาคผนวก 2 แต่ต่อมาอายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าวติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 วันทำการโดยไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงาน โดยระบุอายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนดังกล่าวของกองทุนรวม และสาเหตุที่ไม่สามารถดำรงอายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนดังกล่าวตามที่กำหนดในภาคผนวก 2 รวมทั้งจัดส่งต่อสำนักงานและผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลูกค้าที่เป็นกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ภายในวันทำการถัดจากวันสุดท้ายของระยะเวลา 5 วันทำการดังกล่าว ตลอดจนจัดเก็บสำเนารายงานดังกล่าวไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) ดำเนินการแก้ไขให้อายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนดังกล่าว ณ ขณะใดขณะหนึ่ง เหลือไม่เกิน 92 วัน ภายในโอกาสแรกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันสุดท้ายของระยะเวลา 5 วันทำการดังกล่าว เว้นแต่เป็นกรณีตามวรรคหนึ่ง (2) วรรคสอง

ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นใดทำให้บริษัทจัดการไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่ง (2) วรรคหนึ่ง หรือบริษัทจัดการมีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน บริษัทจัดการสามารถใช้ดุลยพินิจดำเนินการตามความเหมาะสมได้โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ และต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทจัดการในเรื่องดังกล่าวต่อสำนักงาน ผู้ถือหน่วยลงทุนและผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลูกค้าที่เป็นกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ก่อนครบระยะเวลาที่ต้องแก้ไขให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ในการจัดส่งรายงานดังกล่าวให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการสามารถดำเนินการโดยวิธีการเผยแพร่บน เว็บไซต์ของบริษัทจัดการแทนได้

(3) จัดทำรายงานเมื่อบริษัทจัดการสามารถแก้ไขอายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนดังกล่าวได้ โดยให้ระบุอายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนดังกล่าวของกองทุนรวมและวันที่สามารถแก้ไขได้ และดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) โดยอนุโลม

ในระหว่างที่บริษัทจัดการไม่สามารถแก้ไขอายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในภาคผนวก 2 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติให้ครบถ้วนดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง (2) ได้ล่วงพ้นไปแล้วหรือไม่

(1) จัดทำรายงานเมื่ออายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนดังกล่าว ณ ขณะใดขณะหนึ่งเกินกว่า 4 เดือน และทุกครั้งที่เพิ่มขึ้นเกิน 1 เดือน ตามลำดับ โดยรายงานดังกล่าวให้มีสาระสำคัญตามวรรคหนึ่ง (1) โดยอนุโลม

(2) ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) โดยอนุโลม

ส่วนที่ 1

ทรัพย์สินที่ลงทุนขาดคุณสมบัติหรือการลงทุน

ไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุน

________________

ข้อ 17 ในกรณีที่กองทุนมีการลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ แต่ต่อมาทรัพย์สินที่ลงทุนมีคุณสมบัติที่เปลี่ยนแปลงไปจนเป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้อีกต่อไป บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงานโดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนและวันที่ทรัพย์สินขาดคุณสมบัติ และจัดส่งรายงานต่อสำนักงาน รวมทั้งจัดส่งต่อผู้ดูแลผลประโยชน์ ลูกค้าของกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายในวันทำการถัดจากวันที่เกิดกรณีดังกล่าว ตลอดจนจัดเก็บสำเนารายงานไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) จำหน่ายทรัพย์สินที่ขาดคุณสมบัติภายในโอกาสแรกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาดังนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ 20

(ก) 30 วันนับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นขาดคุณสมบัติ กรณีเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับ กองทุนรวมตลาดเงิน

(ข) 90 วันนับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นขาดคุณสมบัติ กรณีเป็นกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทอื่นนอกเหนือจากกองทุนตาม (ก)

(3) เมื่อบริษัทจัดการสามารถจำหน่ายทรัพย์สินที่ขาดคุณสมบัติ หรือทรัพย์สินที่ขาดคุณสมบัติมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปจนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว บริษัทจัดการต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว รวมถึงวันที่ได้จำหน่ายทรัพย์สินนั้นออกไปหรือวันที่ทรัพย์สินมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ แล้วแต่กรณี และให้จัดส่งรายงานต่อสำนักงาน รวมทั้งจัดส่งให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ ลูกค้าของกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายในวันทำการถัดจากวันที่เกิดกรณีดังกล่าว

ข้อ 18 ในกรณีที่ทรัพย์สินในขณะที่กองทุนมีการลงทุนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด แต่ต่อมาการลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนเป็นเวลา 5 วันทำการติดต่อกัน โดยมิได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงานโดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับประเภท จำนวน อัตราส่วนการลงทุน และวันที่การลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุน และจัดส่งรายงานต่อสำนักงาน รวมทั้งจัดส่งต่อผู้ดูแลผลประโยชน์ ลูกค้าของกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายในวันทำการถัดจากวันทำการสุดท้ายของระยะเวลา 5 วันทำการดังกล่าว ตลอดจนจัดเก็บสำเนารายงานไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) ไม่ลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินที่เกินอัตราส่วนการลงทุนจนกว่าจะสามารถแก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด

(3) แก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดภายในโอกาสแรกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาดังนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ 20

(ก) 30 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน สำหรับการลงทุนในเงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามภาคผนวก 4-retail MF-PF ส่วนที่ 3 ในข้อ 1 หรืออัตราส่วนการลงทุนตามภาคผนวก 4-AI ส่วนที่ 3 ในข้อ 1

(ข) 90 วันนับแต่วันสุดท้ายของระยะเวลา 5 วันทำการดังกล่าว สำหรับกรณีอื่นใดนอกเหนือจากกรณีตาม (3) (ก) หรือ (ค) เว้นแต่กรณีเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมตลาดเงิน บริษัทจัดการต้องดำเนินการแก้ไขภายใน 30 วันนับแต่วันสุดท้ายของระยะเวลา 5 วันทำการดังกล่าว

(ค) 180 วันนับแต่วันสุดท้ายของระยะเวลา 5 วันทำการดังกล่าว สำหรับกรณีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่การลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนเนื่องจากมีการลดหรือเพิ่มจำนวนนายจ้างในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจนเป็นเหตุให้นายจ้างรายใดรายหนึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในส่วนของนายจ้างรายนั้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(4) เมื่อบริษัทจัดการสามารถแก้ไขจนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดแล้ว บริษัทจัดการต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว รวมถึงวันที่สามารถแก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุน แล้วแต่กรณี และจัดส่งรายงานต่อสำนักงาน รวมทั้งจัดส่งต่อผู้ดูแลผลประโยชน์ ลูกค้าของกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายในวันทำการถัดจากวันที่มีการแก้ไขจนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนนั้น

(5) ในกรณีที่กองทุนมีหุ้นของบริษัทใดโดยไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (concentration limit) ตามที่กำหนดในภาคผนวก 4-retail MF-PF ภาคผนวก 4-AI หรือภาคผนวก 4-PVD แล้วแต่กรณี นอกจากการปฏิบัติตาม (1) (2) (3) และ (4) แล้ว บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังนี้ด้วย

(ก) งดเว้นการใช้สิทธิออกเสียงในหุ้นจำนวนที่เกินอัตราส่วนการลงทุน เว้นแต่กรณีจำเป็นและสมควรโดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(ข) ลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือลดการมีอำนาจควบคุม หรือยื่นคำขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อ ในกรณีที่ทรัพย์สินเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียน และการได้มาซึ่งหุ้นของบริษัทดังกล่าวเป็นผลให้กองทุนได้มาหรือเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นจนถึงหรือข้ามจุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อ

ข้อ 19 ในกรณีที่กองทุนมีการลงทุนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดแต่ต่อมามีกรณีดังต่อไปนี้ จนเป็นเหตุให้ไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุน ให้บริษัทจัดการปฏิบัติให้เป็นไปตาม

ข้อ 18 โดยอนุโลม

(1) กรณีที่กองทุนมีการลงทุนหรือได้สิทธิจากการเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ตามสัดส่วนที่มีอยู่เดิมนั้น

(2) กรณีที่กองทุนได้รับทรัพย์สินมาจากการบริจาค

ข้อ 20 ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นใดทำให้บริษัทจัดการไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 17(2) หรือข้อ 18(3) หรือบริษัทจัดการมีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ให้บริษัทจัดการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อ 16 วรรคหนึ่ง (2) วรรคสอง โดยอนุโลม

ส่วนที่ 2

การลงทุนไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน

ตามการจัดแบ่งประเภทของกองทุน

____________________

ข้อ 21 ในกรณีที่กองทุนมีสัดส่วนการลงทุนไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุนตามการจัดแบ่งประเภทของกองทุน บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน พร้อมทั้งเหตุผลที่ทำให้มีการลงทุนไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน และจัดส่งรายงานต่อสำนักงาน รวมทั้งจัดส่งต่อผู้ดูแลผลประโยชน์ ลูกค้าที่เป็นกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายในวันทำการถัดจากวันที่ไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน ตลอดจน จัดเก็บสำเนารายงานไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) ดำเนินการแก้ไขให้สัดส่วนการลงทุนของกองทุนเป็นไปตามนโยบายการลงทุน หรือดำเนินการเปลี่ยนแปลงประเภทของกองทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 22 สำหรับกรณีของกองทุนรวม และข้อ 23 สำหรับกรณีของกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข้อ 22 ในกรณีที่การลงทุนของกองทุนรวมไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุนตามการจัดแบ่งประเภทของกองทุน ให้บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขสัดส่วนการลงทุนของกองทุนรวม ให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนภายใน 90 วันนับแต่วันที่สัดส่วนการลงทุนของกองทุนรวมไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน เว้นแต่บริษัทจัดการจะได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนให้เปลี่ยนแปลงประเภทของกองทุนรวมภายในกำหนดเวลาดังกล่าว

ในการเปลี่ยนแปลงประเภทของกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องจัดให้มีวิธีการในการให้สิทธิแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมในการที่จะออกจากกองทุนรวมก่อนที่การเปลี่ยนแปลงประเภทของกองทุนรวมจะมีผลใช้บังคับ โดยวิธีการดังกล่าวต้องมีระยะเวลาเพียงพอและเป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุน รวมทั้งเมื่อได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนให้เปลี่ยนแปลงประเภทของกองทุนรวมแล้ว บริษัทจัดการต้องงดเก็บค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายจนกว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ และในกรณีที่ครบกำหนด 90 วันนับแต่วันที่สัดส่วนการลงทุนไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน แต่การเปลี่ยนแปลงประเภทของกองทุนรวมยังไม่มีผลใช้บังคับ บริษัทจัดการต้องไม่เสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้นเพิ่มเติม

ข้อ 23 บริษัทจัดการต้องดำเนินการแก้ไขให้สัดส่วนการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นไปตามนโยบายการลงทุนตามการจัดแบ่งประเภท ของกองทุนภายใน 90 วันนับแต่วันที่สัดส่วนการลงทุนไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน เว้นแต่บริษัทจัดการจะได้รับความเห็นชอบจากลูกค้าที่เป็นกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยหรือคณะกรรมการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ให้เปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว

ในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อบริษัทจัดการได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้บริษัทจัดการแจ้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนและการได้รับความยินยอมดังกล่าวให้สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบด้วย

หมวด 4

บทเฉพาะกาล

_________________

ข้อ 24 ให้บรรดาคำสั่งหรือหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุน และการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีคำสั่งหรือหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 25 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ข้อ 26 บริษัทจัดการซึ่งประสงค์จะจัดให้กองทุนภายใต้การบริหารจัดการมีการลงทุนตามประเภททรัพย์สินและอัตราส่วนการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สำหรับการลงทุนในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้บริษัทจัดการสามารถจัดการลงทุนในลักษณะดังกล่าวได้โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ซึ่งกำหนดไว้ในประกาศนี้ในส่วนที่ ขัดหรือแย้งกับการลงทุนดังกล่าว ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เป็นกองทุนรวมที่จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมหรือเป็นกองทุนส่วนบุคคลที่บริษัทจัดการเข้าทำสัญญารับจัดการภายหลังวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับแต่ไม่เกินกว่า 1 ปีนับแต่วันดังกล่าว ทั้งนี้ การลงทุนตามประกาศสำนักงานข้างต้นต้องไม่ขัดหรือแย้งกับนโยบายการลงทุนของกองทุน

(2) เป็นกองทุนรวมที่จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมหรือเป็นกองทุนส่วนบุคคลที่บริษัทจัดการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลก่อนหรือในวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ และบริษัทจัดการได้ส่งหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าวต่อสำนักงานแล้ว

เมื่อพ้นระยะเวลาที่ได้รับผ่อนผันตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องจัดการลงทุนให้เป็นไปตามประกาศนี้ โดยหากยังคงมีทรัพย์สินใดที่ลงทุนไว้โดยชอบในช่วงเวลาที่ได้รับผ่อนผัน ตามวรรคหนึ่งคงค้างอยู่ ให้กองทุนยังคงมีทรัพย์สินนั้นได้ต่อไป แต่หากมีจำนวนลดลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้บริษัทจัดการคงทรัพย์สินดังกล่าวไว้ได้เพียงจำนวนที่เหลือ

ข้อ 27 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลซึ่งประสงค์จะจัดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การบริหารจัดการมีนโยบายการลงทุนเป็นไปตามความในข้อ 9 วรรคหนึ่ง (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับสัดส่วนตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ในภาคผนวก 2 ก่อนวันที่หลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ ให้กระทำได้ต่อเมื่อบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้มีการควบคุมอัตราส่วนการลงทุน สำหรับสมาชิกแต่ละรายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุน สำรองเลี้ยงชีพที่มีการควบคุมอัตราส่วนการลงทุนสำหรับสมาชิกแต่ละราย

ข้อ 28 ในกรณีที่กองทุนรวมวายุภักษ์มีการลงทุนในทรัพย์สินตามที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ 3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 32/2556 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ให้บริษัทจัดการสามารถคงไว้ซึ่งการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว หากทรัพย์สินนั้นมีจำนวนลดลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้บริษัทจัดการคงทรัพย์สินดังกล่าวไว้ได้เพียงจำนวนที่เหลือ

เมื่อพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการดำเนินการให้การลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์เป็นไปตามประกาศนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ไม่ได้รับการผ่อนผันตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในการประชุมครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ