ที่ ทน. 88/2558
เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปและเพื่อผู้ลงทุน
ที่มิใช่รายย่อย และการเข้าทำสัญญา
รับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
___________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 109 มาตรา 117 มาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับ
(1) การจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยที่มิได้มีหลักเกณฑ์การจัดตั้งตามประกาศฉบับอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
(2) การเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(3) การเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เพื่อประโยชน์ของความชัดเจนในการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ การจัดตั้งกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง (1) จึงไม่ใช่กองทุนรวมตามตัวอย่างดังต่อไปนี้
(1) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว
(2) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
(3) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน
(4) กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน
(5) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง
(6) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
(7) กองทุนรวมคาร์บอน
ข้อ 3 ในการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปและกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปและกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ให้เป็นไปตามหมวด 2
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมีเหตุจำเป็นโดยไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในหมวด 2 การจัดตั้งกองทุนรวม สำหรับการจัดตั้งกองทุนรวมใดที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวของบริษัทจัดการกองทุนรวมเฉพาะในส่วนที่ไม่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนในประเทศไทยได้ โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแสดงได้ว่าการขอผ่อนผันดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนในประเทศที่กองทุนรวมมีการเสนอขายหน่วยลงทุนนั้น (host country)
(2) การเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้เป็นไปตามหมวด 3
หมวด 1
บทนิยาม
___________________________
ข้อ 4 ในประกาศนี้
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีข้อความใดในประกาศนี้ที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“กองทุนรวม” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย
“กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป” หมายความว่า กองทุนรวมที่ประสงค์จะเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไป โดยไม่ได้จำกัดผู้ลงทุนที่จะซื้อหน่วยลงทุนไว้เฉพาะผู้ลงทุน ที่มิใช่รายย่อย
“กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย” หมายความว่า กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะผ่อนคลายกว่ากองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป และจำกัดการเสนอขายและการถือหน่วยลงทุนไว้เฉพาะผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และผู้มีเงินลงทุนสูง
“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“กองทุนรวมเปิด” หมายความว่า กองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทจัดการกองทุนรวม หรือบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี
“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
“บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“ประกาศการลงทุน” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการลงทุนของกองทุน
“ผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่
“ผู้มีเงินลงทุนสูง” หมายความว่า ผู้ที่จะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมในครั้งแรกตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป (initial minimum subscription)
“การลงทุน” หมายความว่า การจัดการลงทุนในทรัพย์สินหรือการเข้าเป็นคู่สัญญาในธุรกรรมทางการเงิน หรือการได้มาหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินหรือธุรกรรมดังกล่าว
“สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายต่างประเทศที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน
“ตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง” หมายความว่า ตราสารทางการเงินหรือสัญญา ซึ่งมีข้อตกลงและเงื่อนไขที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นองค์ประกอบรวมอยู่ด้วย โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวมีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้
(1) ทำให้การชำระหนี้ที่กำหนดไว้ตามตราสารทางการเงินหรือสัญญาดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากปัจจัยอ้างอิงตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาหลักทรัพย์ หรือดัชนีราคาทรัพย์สิน เป็นต้น
(2) มีลักษณะในเชิงเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่ไม่สัมพันธ์กับตราสารทางการเงินหรือสัญญาดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
(3) เป็นผลให้สถานะความเสี่ยงโดยรวมและราคาของตราสารทางการเงินหรือสัญญาดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
“โครงการ” หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวม
“รายละเอียดของโครงการ” หมายความว่า รายละเอียดของโครงการที่มีรายการตามที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม
“หนังสือชี้ชวน” หมายความว่า หนังสือชี้ชวนที่มีรายการตามที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน
“ข้อผูกพัน” หมายความว่า ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม
“ผู้ดูแลผลประโยชน์” หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
“สมาคม” หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน
หมวด 2
การจัดตั้งกองทุนรวม
___________________________
ข้อ 5 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 1 โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมได้ 2 วิธีการ ดังต่อไปนี้
(1) การยื่นคำขออนุมัติโดยมีการพิจารณาคำขออนุมัติแบบปกติ ซึ่งเป็นไปตามส่วนที่ 2
(2) การยื่นคำขออนุมัติในลักษณะที่หากดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดจะถือว่าได้รับอนุมัติเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามส่วนที่ 3
ในกรณีที่เป็นการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปที่เสนอขายหน่วยลงทุนภายใต้โครงการ Cross-border Public Offers of ASEAN Collective Investment Schemes การขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมต้องดำเนินการโดยวิธีการตามวรรคหนึ่ง (1) เท่านั้น
ส่วนที่ 1
ข้อกำหนดเกี่ยวกับกองทุนรวม
และบริษัทจัดการกองทุนรวม
___________________________
ข้อ 6 กองทุนรวมที่จะขออนุมัติจัดตั้งต้องกำหนดนโยบายการลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศการลงทุน
ในกรณีที่เป็นการขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย บริษัทจัดการกองทุนรวมจะกำหนดนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมอีทีเอฟตามประกาศการลงทุนไม่ได้
ข้อ 7 ในกรณีที่เป็นการจัดตั้งกองทุนรวมที่กำหนดนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามประกาศการลงทุน กองทุนรวมดังกล่าวต้องเป็นกองทุนรวมเปิดเท่านั้น
ข้อ 8 หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอาจแบ่งเป็นหลายชนิดได้ โดยต้องกำหนดสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนในหน่วยลงทุนชนิดเดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน และการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุนให้แบ่งตามกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น
(1) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน
(2) ระยะเวลาการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
(3) สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล
(4) อัตราผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในหน่วยลงทุน
(5) กรณีเงินที่รับโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือเงินดังกล่าวพร้อมผลประโยชน์ที่รับโอนต่อเนื่องจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น
(6) กรณีอื่นใดตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแสดงได้ว่าการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนดังกล่าวสามารถปฏิบัติได้จริงและได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม ตลอดจนผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดจะได้รับแล้ว
การแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง ครอบคลุมถึงกรณีที่มีการกำหนดสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนในหน่วยลงทุนตามสกุลเงินที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากการชำระค่าขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจากผู้ถือหน่วยลงทุน การจ่ายเงินปันผล หรือการให้สิทธิและผลประโยชน์อื่นใดในหน่วยลงทุน
ข้อ 9 การกำหนดชื่อของกองทุนรวมต้องไม่มีลักษณะที่อาจทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดในลักษณะ ประเภท ความเสี่ยง หรือผลตอบแทนของกองทุนรวม และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหน่วยของกองโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องระบุชื่อเฉพาะของกองทุนรวมดังกล่าวว่า “กองทุนรวมที่ลงทุนในกองโครงสร้างพื้นฐาน” ด้วย
(2) กรณีที่เป็นกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องระบุชื่อของกองทุนรวมดังกล่าวให้สะท้อนถึงหมวดอุตสาหกรรมที่กองทุนรวมนั้นมุ่งลงทุนด้วย
เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคหนึ่ง คำว่า “กองโครงสร้างพื้นฐาน” ให้หมายความถึง
(1) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(2) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน
(3) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐานตามวรรคสอง (1) หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตาม (2) ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด
ข้อ 10 ในกรณีที่เป็นการจัดตั้งกองทุนรวมที่กำหนดนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมมีประกันตามประกาศการลงทุน ซึ่งบริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีบุคคลอื่นประกันว่าหากผู้ลงทุนได้ลงทุนจนครบตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน จากการไถ่ถอนหรือการขายคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนเงินที่ประกันไว้ผู้ประกันดังกล่าวต้องมีลักษณะและคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เป็นนิติบุคคลประเภทใดประเภทหนึ่งดังนี้ ซึ่งนิติบุคคลดังกล่าวต้องมิใช่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมดังกล่าว
(ก) ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(ข) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(ค) บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(ง) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
นิติบุคคลตามวรรคหนึ่งต้องสามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของนิติบุคคลนั้น
(2) เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือใน 4 อันดับแรกจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ข้อ 11 ในกรณีที่เป็นการจัดตั้งกองทุนรวมที่กำหนดนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมอีทีเอฟตามประกาศการลงทุน กองทุนรวมดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย
(1) เป็นกองทุนรวมเปิด
(2) ต้องมีการระบุไว้ในโครงการว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมจะดำเนินการดังนี้
(ก) ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกับผู้ลงทุนรายใหญ่ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกับผู้ลงทุนอื่นด้วยหรือไม่ก็ได้
(ข) จัดให้มีตลาดรอง (organized market) สำหรับการซื้อขายหน่วยลงทุนของผู้ลงทุนใด ๆ
(ค) จัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างน้อย 1 ราย
(3) ในกรณีที่ผู้ลงทุนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะกำหนดให้มีการรับชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนหรือชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงินก็ได้ โดยต้องระบุกรณีดังกล่าวและขั้นตอนการดำเนินการไว้อย่างชัดเจนในโครงการ
เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคหนึ่ง คำว่า
(1) “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทจัดการกองทุนรวมให้ทำหน้าที่เพื่อให้ราคาซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดรองสะท้อนมูลค่าหน่วยลงทุนที่คำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมดังกล่าวได้อย่างใกล้เคียงกัน
(2) “ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า ผู้ลงทุนที่ซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในปริมาณหรือมูลค่าตามที่กำหนดไว้ในโครงการ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือตามที่ได้รับผ่อนผันจากสำนักงานเป็นรายกรณี
ข้อ 12 ในกรณีที่จะจัดให้มีการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนโครงการของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมปิด ต้องมีการระบุกรณีดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในโครงการตั้งแต่ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก
(2) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเปิด จะเพิ่มเงินทุนโครงการได้ต่อเมื่อมีการระบุกรณีดังกล่าวและขั้นตอนการดำเนินการไว้อย่างชัดเจนในโครงการ
(3) ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนโครงการ
เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคหนึ่ง คำว่า
(1) “เงินทุนจดทะเบียน” หมายความว่า เงินทุนที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนและนำมาจดทะเบียนไว้กับสำนักงาน
(2) “เงินทุนโครงการ” หมายความว่า เงินทุนโครงการที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นขอจดทะเบียนไว้กับสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมและการแก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียน
ข้อ 13 บริษัทจัดการกองทุนรวมที่ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมต้องไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งระงับการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมเป็นการชั่วคราว
ส่วนที่ 2
การยื่นคำขออนุมัติโดยมีการพิจารณา
คำขออนุมัติแบบปกติ
___________________________
ข้อ 14 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอต่อสำนักงานผ่านระบบพิจารณาคำขอจัดตั้งกองทุนรวมตามที่กำหนดไว้ บนเว็บไซต์ของสำนักงาน
สำนักงานจะดำเนินการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมโดยมีการยื่นคำขอผ่อนผันหรือคำขอรับความเห็นชอบใดเพื่อให้มีคุณสมบัติหรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะได้รับ อนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมมาพร้อมกับคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม สำนักงานจะพิจารณาคำขอผ่อนผันหรือคำขอรับความเห็นชอบดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเดียวกันกับการพิจารณาคำขออนุมัติ จัดตั้งกองทุนรวมตามวรรคสอง
ข้อ 15 ในกรณีที่เป็นการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปที่เสนอขายหน่วยลงทุนภายใต้โครงการ Cross-border Public Offers of ASEAN Collective Investment Schemes สำนักงานจะออกหลักฐาน (approval letter) เพื่อนำไปแสดงต่อหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ต่อเมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมและกองทุนรวมที่จะจัดตั้งเป็นไปตามแนวทางที่สำนักงานประกาศกำหนด
ส่วนที่ 3
การยื่นคำขออนุมัติในลักษณะที่จะได้รับ
การอนุมัติเป็นการทั่วไป
____________________________
ข้อ 16 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมตามส่วนนี้ได้ ต่อเมื่อกองทุนรวมที่จะจัดตั้งเป็นไปตามเงื่อนไขครบถ้วนดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่กองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ต้องมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวทั้งหมด
(2) กรณีที่จะจัดตั้งกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน การจ่ายผลตอบแทนดังกล่าวต้องสะท้อนจากผลตอบแทนที่กองทุนรวมได้รับจากทรัพย์สินที่ลงทุน อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ผันแปรไปตามสูตรการคำนวณใด ๆ
(3) ไม่กำหนดนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมฟีดเดอร์ตามประกาศการลงทุน
(4) ไม่มีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เว้นแต่เป็นการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง
(5) ไม่มีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน
(6) ไม่มีวิธีการจัดการกองทุนรวมที่กำหนดไว้ในโครงการหรือข้อผูกพันที่ต้องขอรับความเห็นชอบหรือขอผ่อนผันจากสำนักงานก่อน
ข้อ 17 บริษัทจัดการกองทุนรวมใดประสงค์จะยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมตามส่วนนี้ ให้ยื่นคำขอพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอต่อสำนักงานผ่านระบบพิจารณาคำขอ จัดตั้งกองทุนรวมตามที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน
ข้อ 18 ให้ถือว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมที่ยื่นคำขอตามข้อ 17 หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) คำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามข้อ 17 มีความครบถ้วนตามที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน
(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระค่าธรรมเนียมคำขอตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดง รายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ แล้ว
ข้อ 19 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมใดยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมตามส่วนนี้โดยฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
(1) สั่งระงับการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมคำขอใหม่ที่ยื่นตามส่วนนี้ หรือตามส่วนที่ 2 เป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่เห็นสมควร ซึ่งไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว
(2) สั่งห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดังกล่าวเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมแล้วแต่ยังมิได้มีการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก ตามระยะเวลาที่เห็นสมควร
(3) แจ้งข่าวข้อมูลเกี่ยวกับการสั่งการของสำนักงานตาม (1) หรือ (2) ต่อสาธารณชน หรือจัดข้อมูลดังกล่าวไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง
นอกจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง กรรมการและผู้บริหารของบริษัทจัดการกองทุนรวมอาจถูกดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
ข้อ 20 ในการใช้ดุลพินิจสั่งการตามข้อ 19 สำนักงานสามารถนำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณา
(1) พฤติกรรมของบริษัทจัดการกองทุนรวมในการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
(2) ผลกระทบหรือความเสียหายจากการกระทำของบริษัทจัดการกองทุนรวมที่มีต่อผู้ลงทุน
(3) การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน เพื่อแก้ไข เยียวยา หรือป้องกันมิให้เกิดพฤติกรรมเดียวกันนั้นซ้ำอีก
(4) พฤติกรรมอื่นของบริษัทจัดการกองทุนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของสำนักงาน
(5) ประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดของบริษัทจัดการกองทุนรวมที่ไม่เหมาะสม
ส่วนที่ 4
การแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดของโครงการก่อนการจดทะเบียน
กองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม
___________________________
ข้อ 21 การขอแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดของโครงการที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นต่อสำนักงานในการขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม ให้กระทำได้ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก เว้นแต่เป็นการยื่นคำขอในลักษณะที่จะได้รับการอนุมัติเป็นการทั่วไปตามส่วนที่ 3 ต้องไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดของโครงการจนกว่าจะได้มีการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมแล้ว
ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระค่าธรรมเนียมคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดโครงการตามวรรคหนึ่งตามอัตราที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจากกองทุนรวมมิได้
ข้อ 22 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจะแก้ไขเพิ่มเติมโครงการในรายละเอียดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญซึ่งอาจกระทบต่อลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งแล้วให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมคำขอใหม่ต่อสำนักงาน
ส่วนที่ 5
การดำเนินการภายหลังได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม
___________________________
ข้อ 23 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีข้อผูกพัน สัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์และหนังสือชี้ชวน โดยมีสาระสำคัญไม่ต่างจากร่างข้อผูกพัน ร่างสัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์และร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นต่อสำนักงาน
ข้อ 24 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องเสนอขายหน่วยลงทุนให้เป็นไปตามข้อกำหนดในหนังสือชี้ชวน
บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องเริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม ทั้งนี้ ในการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจเสนอขายหน่วยลงทุนเกินจำนวนเงินที่สำนักงานอนุมัติได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนเงินที่สำนักงานอนุมัติ
ข้อ 25 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนซึ่งจะส่งผลให้มีฐานะการลงทุนสุทธิที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่างประเทศโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ซึ่งต้องได้รับการจัดสรรวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดสำหรับการควบคุมการทำธุรกรรมในตลาดทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวได้ต่อเมื่อกองทุนรวมนั้นได้รับ การจัดสรรวงเงินดังกล่าวจากสำนักงานแล้ว
ข้อ 26 ในการจดทะเบียนกองทรัพย์สินที่ได้จากการเสนอขายหน่วยลงทุนเป็นกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับผลการเสนอขายหน่วยลงทุนของ แต่ละกองทุนรวม และต้องมีรายการที่เพียงพออันแสดงถึงลักษณะบ่งเฉพาะของแต่ละกองทุนรวม และมูลค่าของกองทรัพย์สิน โดยในกรณีที่ข้อมูลซึ่งจดทะเบียนไว้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการในทะเบียนต่อสำนักงาน เพื่อทำให้ ข้อมูลที่ปรากฏในทะเบียนเป็นปัจจุบัน
ข้อ 27 ในการจัดให้มีหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการให้หลักฐานดังกล่าวแสดงข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงสิทธิ และใช้อ้างอิงต่อบริษัทจัดการกองทุนรวมรวมทั้งบุคคลอื่นได้
ข้อ 28 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแจ้งให้นายทะเบียนหน่วยลงทุนทราบถึงข้อจำกัดการโอนหรือการจำนำหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวมที่มีข้อจำกัดการโอนหรือการจำนำ หน่วยลงทุน
ในกรณีที่นายทะเบียนหน่วยลงทุนทำการลงทะเบียนการโอนหรือการจำนำหน่วยลงทุนโดยฝ่าฝืนข้อจำกัดการโอนหรือการจำนำ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้นายทะเบียนหน่วยลงทุนเพิกถอนการลงทะเบียนการโอนหรือการจำนำหน่วยลงทุนโดยไม่ชักช้า
ส่วนที่ 6
การสิ้นสุดลงของการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม
___________________________
ข้อ 29 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมครั้งแรก หากปรากฏกรณีดังต่อไปนี้ ให้การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมนั้นสิ้นสุดลง
(1) กรณีกองทุนรวมมีการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนได้ไม่ถึง 35 ราย เว้นแต่เป็นการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่กำหนดนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมอีทีเอฟตามประกาศการลงทุน
(2) กรณีที่กองทุนรวมมีการจัดสรรหน่วยลงทุนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ อันเป็นเหตุให้สำนักงานปฏิเสธการรับจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมและการแก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียน
ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งให้สำนักงานทราบกรณีตามวรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) ภายใน 15 วันนับแต่วันปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าว
เมื่อปรากฏกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน และผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากเงินดังกล่าว (ถ้ามี) ให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุน ภายใน 1 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนนั้น ตามสัดส่วนของเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน โดยในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถคืนเงินค่าจองซื้อและผลประโยชน์ (ถ้ามี) ให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลานั้นจนถึงวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระเงินจำนวนดังกล่าวได้ครบถ้วน
ในกรณีที่เป็นการจัดตั้งกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศตามประกาศการลงทุน หากมีเหตุจำเป็นและสมควร บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันเหตุในการสิ้นสุดลง ของการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมหรือการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามได้
ข้อ 30 ในกรณีที่สิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนของโครงการใดแล้ว หากปรากฏว่าการขายหน่วยลงทุนหรือผลของการขายหน่วยลงทุนนอกเหนือจากข้อ 29 ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศนี้ ประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการจำหน่ายหน่วยลงทุน หรือไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ให้การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมเป็นอันสิ้นสุดลง เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควรและได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
เมื่อการอนุมัติสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้ออย่างเป็นธรรมและภายในระยะเวลาอันสมควร
ข้อ 31 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานว่าการยื่นคำขออนุมัติในลักษณะที่จะได้รับการอนุมัติเป็นการทั่วไป ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 3 หรือมีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระ (substance) ที่แท้จริงของการจัดตั้งกองทุนรวมนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ ให้การอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่สำนักงานกำหนด เว้นแต่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับผ่อนผันจากสำนักงานด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) กองทุนรวมดังกล่าวเข้าข่ายที่จะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งได้ หากบริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขออนุมัติโดยมีการพิจารณาคำขออนุมัติแบบปกติตามส่วนที่ 2
(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมได้แก้ไขลักษณะของกองทุนรวมดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อ 16 แล้ว
การขอผ่อนผันต่อสำนักงานตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังนี้
(1) ยื่นคำขอผ่อนผันเป็นหนังสือและชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอผ่อนผันตามอัตราที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วย การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ
(2) ในกรณีขอผ่อนผันตามวรรคหนึ่ง (1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระส่วนต่างของค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุมัติโดยมีการพิจารณาคำขออนุมัติแบบปกติตามส่วนที่ 2 และ ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุมัติในลักษณะที่จะได้รับการอนุมัติเป็นการทั่วไปตามส่วนที่ 3 ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดในประกาศที่ระบุในวรรคสอง (1)
บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามวรรคสอง (1) และส่วนต่างของค่าธรรมเนียมตามวรรคสอง (2) จากกองทุนรวมมิได้
ข้อ 32 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับอนุมัติเป็นการทั่วไปตามส่วนที่ 3 ซึ่งต่อมามีเหตุทำให้การอนุมัติสิ้นสุดลงตามข้อ 31 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) หากมีการเสนอขายหน่วยลงทุนแล้ว แต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระเงินดังนี้ ให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับแจ้งถึงการสิ้นสุดลงของกองทุนรวมจากสำนักงาน
(ก) เงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน
(ข) ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินตาม (1) (ก)
(ค) ดอกเบี้ยของเงินตาม (1) (ก) ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยให้เริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับแจ้งการสิ้นสุดลงของกองทุนรวมจนถึงวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระเงินค่าจองซื้อจนครบถ้วน
(2) ในกรณีที่มีการจดทะเบียนกองทุนรวมแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้มีการเลิกกองทุนรวมทันทีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับแจ้งถึงการสิ้นสุดลงของกองทุนรวมจากสำนักงาน ทั้งนี้ หากชำระบัญชีกองทุนรวมแล้วปรากฏว่าเงินที่เฉลี่ยคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าผลรวมของเงินดังนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระส่วนต่างแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ชำระบัญชีเสร็จสิ้น
(ก) เงินค่าซื้อหน่วยลงทุน
(ข) ดอกเบี้ยของเงินตาม (2) (ก) ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนจนถึงวันที่ผู้ชำระบัญชีเฉลี่ยเงินคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
ข้อ 33 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมประสงค์จะยกเลิกการจัดตั้งกองทุนรวมที่อยู่ระหว่างการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก หากบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ระบุกรณีดังกล่าว ไว้ในหนังสือชี้ชวนแล้ว บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจยุติการขายหน่วยลงทุนได้
ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายงานให้สำนักงานทราบถึงการยุติการขายหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่งภายใน 7 วันนับแต่วันที่ยุติการขายหน่วยลงทุนนั้น และให้การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่แจ้งให้สำนักงานทราบ
ข้อ 34 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคืนเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนตามสัดส่วนของเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนภายใน 15 วันนับแต่วันที่การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมสิ้นสุดลงตามข้อ 33 วรรคสอง และหากบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถคืนเงินและผลประโยชน์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อันเนื่องจากความผิดของบริษัทจัดการกองทุนรวมเอง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลานั้นจนถึงวันที่ชำระเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนจนครบถ้วน
หมวด 3
การเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลหรือ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
___________________________
ข้อ 35 ในการรับจัดการกองทุนส่วนบุคคลให้แก่ลูกค้าที่เป็นคณะบุคคล คณะบุคคลดังกล่าวต้องประกอบด้วยบุคคลไม่เกิน 35 ราย
ข้อ 36 ในการรับจัดการกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดทำข้อมูลของลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีรายละเอียดของข้อมูลและปรับปรุงข้อมูลตามที่สมาคมกำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธการให้ข้อมูลดังกล่าว ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าการเสนอนโยบายการลงทุนให้แก่ลูกค้านั้น บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้พิจารณาข้อมูลเพียงเท่าที่ลูกค้าให้กับบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเท่านั้น
(2) เสนอนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้าซึ่งได้ประเมินจากวัตถุประสงค์ในการลงทุนของลูกค้า ประสบการณ์ในการลงทุน ฐานะทางการเงิน ภาระทางการเงิน ความต้องการและข้อจำกัดการลงทุน ทั้งนี้ นโยบายการลงทุนดังกล่าวต้องเป็นไปตามประกาศการลงทุน
ข้อ 37 สัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีข้อความที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลสามารถปฏิเสธความรับผิดทางแพ่งอันเนื่องจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่กระทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา
(2) มีข้อความที่แจ้งให้ลูกค้าทราบเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของลูกค้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และการจัดทำและเปิดเผยรายงานการถือหลักทรัพย์ในมาตรา 59
(3) มีอายุสัญญาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในกรณีเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(4) มีข้อความที่ให้ลูกค้ามีสิทธิเลิกสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ลงนามในสัญญาโดยไม่ต้องแจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลทราบล่วงหน้า และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ ให้แก่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเนื่องจากการเลิกสัญญาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการทำสัญญากับลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
หมวด 4
อำนาจของสำนักงาน
___________________________
ข้อ 38 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากบริษัทจัดการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบริษัทจัดการมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ในเรื่องที่มีการ ออกแนวทางนั้น
ข้อ 39 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจที่จะไม่อนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมตามคำขอได้
(1) กองทุนรวมที่ขออนุมัติจัดตั้งมีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุมัติตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือ เนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการจัดตั้งกองทุนรวมนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติหรือหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(2) การจัดตั้งกองทุนรวมอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน
(3) การจัดตั้งกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม
(4) การจัดตั้งกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการ ตัดสินใจลงทุน
ข้อ 40 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ และยังมิได้แก้ไขการดำเนินการหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการพิจารณาอนุมัติคำขอจัดตั้งกองทุนรวมใหม่ ให้สำนักงานมีอำนาจที่จะไม่อนุมัติคำขอจัดตั้งกองทุนรวมใหม่ที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นต่อสำนักงานหรือสั่งระงับการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมแล้ว ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยังไม่ได้เสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกต่อประชาชน
หมวด 5
บทเฉพาะกาล
___________________________
ข้อ 41 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออก หรือวางแนวปฏิบัติ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 17/2556 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้ง จัดการและลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ 42 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 17/2556 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้ง จัดการและลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556 ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรวมตามประกาศดังกล่าว หรืออ้างอิงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 22/2552 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิง ประกาศนี้
ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558
(นายรพี สุจริตกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน