ที่ สน. 87/2558
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนรวมเพื่อ
ผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย
กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน
และกองทุนส่วนบุคคล
_____________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 ข้อ 8 และข้อ 9 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 89/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้
“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทจัดการกองทุนรวม หรือบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี
“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
“บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“วันทำการ” หมายความว่า วันเปิดทำการตามปกติของบริษัทจัดการ
“ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนมากกว่า 1 นโยบาย โดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายจ้างเดียวหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลายนายจ้างก็ได้
“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนายจ้างเดียว” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลูกจ้างของนายจ้างเพียงรายเดียว
“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลายนายจ้าง” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลูกจ้างของนายจ้างหลายราย
“กองทุนต่างประเทศ” หมายความว่า กองทุนใดกองทุนหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการลงทุนแบบกลุ่ม (collective investment scheme) ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด
(2) กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund) ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปแบบบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด
(3) กองทรัสต์หรือกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือในกิจการที่ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทรัสต์หรือกองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด
“ประกาศการลงทุน” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการลงทุนของกองทุน
ภาค 1
ข้อกำหนดที่ใช้บังคับกับการจัดการกองทุนรวม
และการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
_____________________
หมวด 1
ผู้จัดการกองทุน
_____________________
ข้อ 3 ในหมวดนี้
“พนักงานที่เกี่ยวข้อง” หมายความว่า พนักงานของบริษัทจัดการที่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ข้อ 4 ในการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน บริษัทจัดการต้องพิจารณาให้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ไม่เป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทอื่น และต้องไม่เป็นผู้จัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่บุคคลอื่นที่ดำเนินการในลักษณะที่คล้ายคลึงหรือแข่งขันกับการดำเนินการของบริษัทจัดการ เว้นแต่บริษัทจัดการแสดงได้ว่ามีการจัดโครงสร้างขององค์กรที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์นั้นได้
(2) ในกรณีที่แต่งตั้งพนักงานของบริษัทจัดการเป็นผู้จัดการกองทุน บุคคลดังกล่าวต้องดำรงตำแหน่งที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
(ก) ตำแหน่งที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการจัดการลงทุน
(ข) ตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้จัดการของบริษัทจัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งดูแลรับผิดชอบสูงสุดในสายงานที่เกี่ยวกับการลงทุน
ข้อ 5 บริษัทจัดการต้องให้ความรู้หรือจัดอบรมแก่ผู้จัดการกองทุนและพนักงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังต่อไปนี้ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
(1) กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว
(2) มาตรฐานการปฏิบัติงานที่สำนักงานกำหนดหรือที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(3) จรรยาบรรณและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพที่สมาคมกำหนด
(4) นโยบายและกฎระเบียบภายในของบริษัทจัดการ
ในกรณีที่มีการออกหรือแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนและพนักงานที่เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลดังกล่าวด้วยทุกครั้ง
หมวด 2
การดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล
_____________________
ข้อ 6 ในกรณีที่บริษัทจัดการมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูล ข้อมูลที่เปิดเผยต้องมีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ไม่มีลักษณะที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ภาค 2
การจัดการกองทุนรวม
_____________________
ข้อ 7 ในภาคนี้
“ผู้ดูแลผลประโยชน์” หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
“โครงการ” หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวม
“มูลค่าหน่วยลงทุน” หมายความว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดเมื่อสิ้นวันทำการที่คำนวณนั้น
“ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน” หมายความว่า บุคคลที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมอบหมายให้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ของกองทุนรวม
“วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน” หมายความว่า วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนที่บริษัทจัดการกองทุนรวมกำหนดไว้ในโครงการ
“ข้อผูกพัน” หมายความว่า ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวมตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุน กับบริษัทจัดการกองทุนรวม
หมวด 1
หลักเกณฑ์ทั่วไป
_____________________
ส่วนที่ 1
ผู้ดูแลผลประโยชน์
_____________________
ข้อ 8 การเปลี่ยนตัวผู้ดูแลผลประโยชน์ไม่ว่าเพราะเหตุใด บริษัทจัดการกองทุนรวมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงานก่อน
ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมในภายหลัง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้ผู้ดูแลผลประโยชน์แก้ไขคุณสมบัติให้ถูกต้องภายใน 15 วันนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบเหตุดังกล่าว และแจ้งการแก้ไขดังกล่าวให้สำนักงานทราบภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่แก้ไขเสร็จสิ้น
ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์มิได้แก้ไขคุณสมบัติให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมขออนุญาตเปลี่ยนตัวผู้ดูแลผลประโยชน์ต่อสำนักงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์รายใหม่แทนโดยพลัน
ส่วนที่ 2
การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินและมูลค่าหน่วยลงทุน
_____________________
ข้อ 9 ในการจัดการกองทุนรวมปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมปิดตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนทุกสิ้นวันทำการ
(2) ประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของวันดังนี้
(ก) วันทำการสุดท้ายของเดือน โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไป เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมปิดที่มีหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้ประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของวันทำการล่าสุด โดยให้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ภายในวันทำการถัดไป
(ข) วันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการจ่ายเงินปันผล โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไป
(ค) วันทำการก่อนวันขายหน่วยลงทุนเพื่อการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียน โดยให้ประกาศภายในวันขายหน่วยลงทุน
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนที่ประกาศตามวรรคหนึ่ง (2) ต้องใช้ตัวเลขทศนิยมตามที่กำหนดไว้ในข้อ 11 และต้องได้รับการรับรองโดยผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว
เว้นแต่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่งด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุน ทราบข้อมูลดังกล่าวในช่องทางที่เหมาะสม เช่น การประกาศทางหนังสือพิมพ์ หรือการประกาศทางเว็บไซต์ เป็นต้น และภายในเวลาที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนได้
ข้อ 10 ในการจัดการกองทุนรวมเปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน และราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนทุกสิ้นวันทำการ
(2) คำนวณราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนทุกสิ้นวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน ทั้งนี้ ให้ใช้มูลค่าหน่วยลงทุนของสิ้นวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนนั้นเป็นเกณฑ์ ในการคำนวณราคาดังกล่าว
(3) ประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของวันดังนี้
(ก) วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนล่าสุด โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไป ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่ไม่เปิดให้ซื้อขายหน่วยลงทุนทุกวันทำการ ให้ประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของวันดังนี้เพิ่มเติมด้วย
1. วันทำการก่อนวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนล่าสุด โดยให้ประกาศภายในวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนล่าสุด เว้นแต่กรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน
2. วันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไป ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กองทุนรวมกำหนดวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนแต่ละครั้งห่างกันยาวกว่า 1 เดือน
(ข) วันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการจ่ายเงินปันผล โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไป
(4) ประกาศราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนของวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนล่าสุด โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไป
การประกาศมูลค่าและราคาตามวรรคหนึ่ง (3) และ (4) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ใช้ตัวเลขทศนิยมตามที่กำหนดไว้ในข้อ 11 และต้องได้รับการรับรองโดยผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว
(2) ดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบข้อมูลดังกล่าวในช่องทางที่เหมาะสม เช่น การประกาศทางหนังสือพิมพ์ หรือการประกาศทางเว็บไซต์ เป็นต้น และภายในเวลาที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนได้
(3) จัดให้มีข้อมูลดังกล่าวไว้ ณ ที่ทำการทุกแห่งของบริษัทจัดการกองทุนรวม และสถานที่ทุกแห่งที่ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนใช้ซื้อขายหน่วยลงทุน เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน บริษัทจัดการกองทุนรวมจะจัดให้มีข้อมูลดังกล่าวด้วยหรือไม่ก็ได้
ข้อ 11 การใช้ตัวเลขทศนิยมของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือจำนวนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) กรณีกองทุนรวมปิด
(ก) คำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยม 2 ตำแหน่ง โดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล
(ข) คำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยม 5 ตำแหน่ง โดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล และประกาศมูลค่าหน่วยลงทุนเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยม 4 ตำแหน่ง โดยตัดทศนิยมตำแหน่งที่ 5 ทิ้ง
(2) กรณีกองทุนรวมเปิด
(ก) คำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยม 2 ตำแหน่ง โดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล
(ข) คำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยม 5 ตำแหน่ง โดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล สำหรับมูลค่าหน่วยลงทุนเพื่อใช้ในการคำนวณราคาขายหน่วยลงทุนให้ปัดเศษทศนิยมตำแหน่งที่ 4 ขึ้น ส่วนมูลค่าหน่วยลงทุนเพื่อใช้ในการคำนวณราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนให้ตัดทศนิยมตำแหน่งที่ 5 ทิ้ง
(ค) ประกาศมูลค่าหน่วยลงทุนตามที่คำนวณได้ใน (2) (ข) เป็นตัวเลขโดยมีทศนิยม 4 ตำแหน่ง โดยตัดทศนิยมตำแหน่งที่ 5 ทิ้ง และประกาศราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามที่คำนวณได้ใน (2) (ข)
(ง) คำนวณจำนวนหน่วยลงทุนเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยม 5 ตำแหน่ง โดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล แต่ให้ใช้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมเพียง 4 ตำแหน่ง โดยตัดทศนิยมตำแหน่งที่ 5 ทิ้ง
ในกรณีที่มีผลประโยชน์เกิดขึ้นจากการคำนวณตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมนำผลประโยชน์นั้นรวมเข้าเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม
ข้อ 12 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 9 และข้อ 10 เมื่อมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
(1) เมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน โดยให้ได้รับยกเว้นเฉพาะในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
(2) เมื่อมีเหตุที่บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องเลิกกองทุนรวม โดยให้ได้รับยกเว้นตั้งแต่วันที่ปรากฏเหตุดังกล่าว
ส่วนที่ 3
การดำเนินการในกรณีที่มูลค่าหน่วยลงทุน
หรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง
_____________________
ข้อ 13 ในส่วนนี้
“การชดเชยราคา” หมายความว่า การเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ซื้อหรือผู้ขายคืนหน่วยลงทุนที่มีราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง หรือการจ่ายเงินซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องกับราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง แทนการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยลงทุน
“ราคาหน่วยลงทุน” หมายความว่า ราคาขายหน่วยลงทุน หรือราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน
ข้อ 14 ในกรณีที่มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมปิดไม่ถูกต้องและได้มีการประกาศมูลค่าดังกล่าวไปแล้ว หรือในกรณีที่ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดไม่ถูกต้อง หากการไม่ถูกต้องดังกล่าวมีมูลค่าน้อยกว่า 1 สตางค์ หรือคิดเป็นอัตราไม่ถึงร้อยละ 0.5 ของมูลค่าหรือราคาที่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดทำและส่งรายงานให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ทราบถึงความไม่ถูกต้องภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่พบว่ามูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง โดยรายงานดังกล่าวต้องมีสาระสำคัญดังนี้
(ก) มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้อง
(ข) มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง
(ค) สาเหตุที่ทำให้มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง
(ง) มาตรการป้องกันเพื่อมิให้มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง ในกรณีที่ความไม่ถูกต้องมิได้มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้
(2) ในกรณีที่สาเหตุที่ทำให้มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องมีผลต่อเนื่องถึงการคำนวณมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนครั้งต่อไป ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแก้ไขมูลค่าหรือราคา หน่วยลงทุนให้ถูกต้องตั้งแต่วันที่พบว่ามูลค่าหรือราคาไม่ถูกต้อง
ข้อ 15 ในกรณีที่มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมปิดไม่ถูกต้องและได้มีการประกาศมูลค่าดังกล่าวไปแล้ว หรือในกรณีที่ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดไม่ถูกต้อง หากการไม่ถูกต้องดังกล่าวมีมูลค่าตั้งแต่ 1 สตางค์ขึ้นไป และคิดเป็นอัตราตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าหรือราคาที่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) คำนวณมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังตั้งแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมพบว่ามูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องจนถึงวันที่มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนถูกต้อง
(2) ดำเนินการดังนี้เฉพาะวันที่มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องนั้นมีมูลค่าและคิดเป็นอัตราดังกล่าว
(ก) จัดทำรายงานการแก้ไขมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังให้เสร็จสิ้นภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมพบว่ามูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องและส่งรายงานดังกล่าวให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ภายในวันทำการถัดจากวันที่คำนวณมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังเสร็จสิ้น เพื่อให้ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองข้อมูลในรายงานดังกล่าวภายในวันทำการ ถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมส่งรายงานให้ผู้ดูแลผลประโยชน์
รายงานตามวรรคหนึ่ง (2) (ก) วรรคหนึ่ง ให้มีสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในข้อ 14(1) โดยอนุโลม เว้นแต่ในกรณีของรายงานการแก้ไขราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังของกองทุนรวมเปิด ให้ระบุการดำเนินการของบริษัทจัดการกองทุนรวมเมื่อพบว่าราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องไว้แทนข้อมูลตามข้อ 14(1) (ง)
(ข) แก้ไขมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนให้ถูกต้องภายในวันที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองข้อมูลในรายงานตามวรรคหนึ่ง (2) (ก)
(ค) ดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถรับทราบชื่อกองทุนรวมที่มีการแก้ไขมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุน และวัน เดือน ปี ที่มีการแก้ไขมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุน ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองข้อมูลในรายงานตามวรรคหนึ่ง (2) (ก)
ความในวรรคหนึ่ง (2) (ค) มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมปิดที่มีหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และได้ประกาศการแก้ไขมูลค่าหน่วยลงทุนตามระเบียบหรือข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แล้ว
ข้อ 16 นอกจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 15 แล้ว ในกรณีที่ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดไม่ถูกต้อง หากการไม่ถูกต้องดังกล่าวมีมูลค่าตั้งแต่ 1 สตางค์ขึ้นไป และคิดเป็นอัตราตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าหรือราคาที่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้เฉพาะวันที่มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องนั้นมีมูลค่าและคิดเป็นอัตราดังกล่าว
(1) จัดทำรายงานการชดเชยราคาไว้ในรายงานการแก้ไขราคาหน่วยลงทุนตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง (2) (ก) ด้วย โดยให้อยู่ในส่วนของการดำเนินการของบริษัทจัดการกองทุนรวมเมื่อพบว่าราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง
(2) ชดเชยราคาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 17 ให้แล้วเสร็จและดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ซื้อหน่วยลงทุนหรือผู้ขายคืนหน่วยลงทุนในช่วงระยะเวลาที่ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องทราบถึงการแก้ไขราคาตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง (2) (ข) และการชดเชยราคา ภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองข้อมูลในรายงานการแก้ไขราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังและรายงานการชดเชยราคา
(3) จัดทำมาตรการป้องกันเพื่อมิให้ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง และส่งรายงานดังกล่าว พร้อมทั้งสำเนารายงานการแก้ไขราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง(2) (ก) ให้สำนักงานภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองข้อมูลในรายงานดังกล่าว เว้นแต่ในกรณีที่ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องมิได้มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมส่งสำเนาเอกสารที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองว่าการที่ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้มาพร้อมสำเนารายงานดังกล่าวแทน
ข้อ 17 ในการชดเชยราคาตามข้อ 16(2) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องต่ำกว่าราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังนี้
(ก) รณีที่เป็นการขายหน่วยลงทุน
1. ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมลดจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ซื้อหน่วยลงทุนเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องกับราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง
2. หากปรากฏว่าผู้ซื้อหน่วยลงทุนไม่มีหน่วยลงทุนเหลืออยู่ หรือมีหน่วยลงทุนเหลืออยู่น้อยกว่าจำนวนหน่วยลงทุนที่จะต้องลด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงิน ของบริษัทจัดการกองทุนรวมเอง เป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคาที่ขาดอยู่ หรือลดจำนวนหน่วยลงทุนที่เหลืออยู่นั้นและจ่ายเงินของบริษัทจัดการกองทุนรวมเองเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคาที่ขาดอยู่ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยราคาให้แก่กองทุนรวมเปิด เว้นแต่การที่ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดครั้งสุดท้ายของตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ถูกต้อง และผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองว่ามีสาเหตุดังกล่าว
(ข) กรณีที่เป็นการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเพิ่มจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ขายคืนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องกับราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง หรือจ่ายเงินของกองทุนรวมเปิดเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคาเพื่อชดเชยราคาให้แก่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุน แต่หากปรากฏว่าผู้ขายคืนหน่วยลงทุนไม่มีหน่วยลงทุน เหลืออยู่ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินของกองทุนรวมเปิดเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคา เพื่อชดเชยราคาให้แก่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุน
(2) กรณีราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องสูงกว่าราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังนี้
(ก) กรณีที่เป็นการขายหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเพิ่มจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ซื้อหน่วยลงทุนเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องกับราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง หรือจ่ายเงินของกองทุนรวมเปิดเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคา เพื่อชดเชยราคาให้แก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุน
(ข) กรณีที่เป็นการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
1. ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมลดจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ขายคืนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องกับราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง
2. หากปรากฏว่าผู้ขายคืนหน่วยลงทุนไม่มีหน่วยลงทุนเหลืออยู่ หรือมีหน่วยลงทุนเหลืออยู่น้อยกว่าจำนวนหน่วยลงทุนที่จะต้องลด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงิน ของบริษัทจัดการกองทุนรวมเองเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคาที่ขาดอยู่ หรือลดจำนวนหน่วยลงทุนที่เหลืออยู่นั้นและจ่ายเงินของบริษัทจัดการกองทุนรวมเองเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคาที่ขาดอยู่ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยราคาให้แก่กองทุนรวมเปิด เว้นแต่การที่ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดครั้งสุดท้ายของตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ถูกต้อง และผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองว่ามีสาเหตุดังกล่าว
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องชดเชยราคาเป็นเงินให้แก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนหรือผู้ขายคืนหน่วยลงทุนรายใดมีมูลค่าไม่ถึง 100 บาท บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจนำเงินชดเชยราคาไปรวมจ่ายในโอกาสแรกที่มีการจ่ายเงินให้ผู้ถือหน่วยลงทุน แต่ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่มีสถานะเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชดเชยราคาให้แล้วเสร็จภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองข้อมูลในรายงานการแก้ไขราคาย้อนหลังและรายงานการชดเชยราคา
การจ่ายเงินของกองทุนรวมเปิดเพื่อชดเชยราคาให้แก่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (1) (ข) หรือผู้ซื้อหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (2) (ก) บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจจ่ายเงินของบริษัทจัดการกองทุนรวมเองแทนกองทุนรวมเปิดก็ได้
ข้อ 18 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีสำเนารายงานตามข้อ 14(1) และข้อ 15 วรรคหนึ่ง (2) (ก) ไว้ ณ ที่ทำการของบริษัทจัดการกองทุนรวม เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้
ข้อ 19 ห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคิดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหน่วยลงทุนหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องจากกองทุนรวม เว้นแต่ในกรณีที่ความไม่ถูกต้องดังกล่าวมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้
ส่วนที่ 4
การขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิด
_____________________
ข้อ 20 เว้นแต่จะมีประกาศกำหนดให้ดำเนินการเป็นอย่างอื่นได้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) รับคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนตามจำนวนทั้งหมดที่มีคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนในวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่มีการสงวนสิทธิในการรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไว้ในโครงการ โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมจะไม่รับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนตามกรณีที่ สงวนสิทธิไว้ก็ได้
(2) ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามจำนวนทั้งหมดที่มีคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนด้วยราคาขายหน่วยลงทุนหรือราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนในวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน และเพิ่มจำนวนหน่วยลงทุนที่ขายหรือยกเลิกจำนวนหน่วยลงทุนที่รับซื้อคืน ในวันทำการถัดจากวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนดังกล่าว
(3) ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการซึ่งต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีที่เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปที่เสนอขายหน่วยลงทุนภายใต้โครงการ Cross-border Public Offers of ASEAN Collective Investment Schemes ต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดตาม Part I : Qualifications of the CIS Operator, Trustee/Fund Supervisor, and requirements relating to Approval, Valuation, and Operational Matters ซึ่งอยู่ใน Appendix C: Standards of Qualifying CIS ของ Memorandum of Understanding on Streamlined Authorisation Framework for Cross-border Public Offers of ASEAN Collective Investment Schemes
(ข) ในกรณีที่เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่างประเทศตามประกาศการลงทุนซึ่งมิใช่กองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง (3) (ก) ต้องไม่เกินกว่า 5 วันทำการนับแต่วันรับซื้อคืนหน่วยลงทุน โดยมิให้นับรวมวันหยุดทำการในต่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนต่างประเทศที่มีลักษณะในทำนองเดียวกับธุรกิจการจัดการกองทุนรวมซึ่งบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ระบุเกี่ยวกับวันหยุดทำการในต่างประเทศดังกล่าวไว้แล้วในโครงการ
(ค) ในกรณีที่เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นซึ่งมิใช่กองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง (3) (ก) และ (ข) ต้องไม่เกินกว่า 5 วันทำการนับแต่วันรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
(4) จัดให้มีข้อความในใบจองซื้อหน่วยลงทุนหรือใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนที่แสดงว่า ในกรณีที่ผู้ลงทุนได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุน ผู้ลงทุนรับทราบและยินยอมเข้าผูกพันตามรายละเอียดโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานและที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนข้อผูกพันที่จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายและลงนามโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับการผ่อนผันระยะเวลาการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน หรือราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามประกาศนี้ หรือประกาศอื่น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเพิ่มจำนวนหน่วยลงทุนที่ขายหรือยกเลิกจำนวนที่รับซื้อคืนตามวรรคหนึ่ง (2) ภายในวันทำการถัดจากวันที่มีหน้าที่คำนวณเมื่อสิ้นสุดการผ่อนผัน และชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (3) ภายใน 5 วันทำการนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการผ่อนผัน หรือภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดไว้ในคำสั่งผ่อนผัน
บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องไม่ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (3) ในวันส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน เว้นแต่เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะของ กองทุนรวมตลาดเงินตามประกาศการลงทุนซึ่งมีการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขในข้อ 21 อาจกำหนดให้มีการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในวันส่งคำสั่งก็ได้ แต่ต้องมีการระบุไว้ในโครงการ และ เป็นการขายคืนหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์ในข้อ 22
ข้อ 21 กองทุนรวมที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 20 วรรคสาม ที่อาจชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในวันส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนได้ จะต้องมีการลงทุนในทรัพย์สินที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ครบถ้วนดังต่อไปนี้
(1) เป็นการลงทุนในตราสารหรือเข้าทำสัญญาที่ผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญาเป็นกิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือเป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(2) ตราสารของผู้ออกตาม (1) ต้องเสนอขายในประเทศไทย หรือเป็นการเข้าทำสัญญาตาม (1) ในประเทศไทย
(3) การชำระหนี้ตามตราสารหรือสัญญาต้องกำหนดให้ชำระเป็นสกุลเงินบาท
ข้อ 22 ในการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในวันส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวมตามข้อ 21 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การรับซื้อคืนหน่วยลงทุนต้องอยู่ภายในวงเงินรวมตามที่ระบุไว้ในโครงการ โดยการจัดสรรวงเงินดังกล่าวเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง (first come first serve basis)
(2) การคำนวณราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) กรณีที่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุนส่งคำสั่งในเวลารับซื้อคืนหน่วยลงทุนปกติ ให้ใช้มูลค่าหน่วยลงทุน ณ สิ้นวันรับซื้อคืนหน่วยลงทุนนั้นเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ
(ข) กรณีที่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุนส่งคำสั่งหลังเวลารับซื้อคืนหน่วยลงทุนปกติจนถึงเวลาเริ่มต้นของเวลารับซื้อคืนหน่วยลงทุนปกติของวันรับซื้อคืนหน่วยลงทุนถัดไป ให้ใช้มูลค่า หน่วยลงทุน ณ สิ้นวันรับซื้อคืนหน่วยลงทุนถัดไปนั้นเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ
(3) วงเงินสูงสุดที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจะยินยอมให้ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละคนขายคืนหน่วยลงทุนได้ ต้องไม่เกินวงเงินดังนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า
(ก) 20,000 บาท โดยให้คำนวณจากคำสั่งทั้งหมดที่ส่งโดยใช้ฐานของวันรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเดียวกัน
(ข) ร้อยละ 80 ของมูลค่ารวมของหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีอยู่ล่าสุด โดยให้นับรวมคำสั่งขายคืนทั้งหมดที่ยังไม่ได้หักออกจากมูลค่ารวมของหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีอยู่ล่าสุดนั้น
(4) จัดให้มีมาตรการในการบริหารสภาพคล่องของกองทุนรวมอย่างเพียงพอและเหมาะสม
(5) เปิดเผยหลักเกณฑ์การชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนตาม (1) (2) และ (3) ไว้อย่างชัดเจนในหนังสือชี้ชวน
ข้อ 23 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องไม่กระทำการใด หรือรู้เห็นหรือตกลงกับบุคคลอื่นในการกระทำการใด ที่ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับประโยชน์เสมือนหนึ่งว่าได้รับชำระ ค่าขายคืนหน่วยลงทุนโดยไม่เป็นไปตามกำหนดเวลาในข้อ 20 วรรคหนึ่ง (3)
ข้อ 24 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเลื่อนกำหนดชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดไว้แล้วได้ เฉพาะในกรณีที่กำหนดไว้ ในโครงการ ซึ่งต้องไม่เกินกว่ากรณีดังต่อไปนี้
(1) บริษัทจัดการกองทุนรวมพิจารณาแล้ว มีความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่าเป็นกรณีที่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งดังนี้ โดยได้รับความเห็นชอบของผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว
(ก) มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถจำหน่าย จ่ายโอน หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของกองทุนรวมเปิดได้อย่างสมเหตุสมผล
(ข) มีเหตุที่ทำให้กองทุนรวมไม่ได้รับชำระเงินจากหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ลงทุนไว้ตามกำหนดเวลาปกติ ซึ่งเหตุดังกล่าวอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทจัดการกองทุนรวม
(2) ผู้ถือหน่วยลงทุนมีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนก่อนหรือในช่วงระยะเวลาที่บริษัทจัดการกองทุนรวมพบว่า ราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในข้อ 15 และผู้ดูแลผลประโยชน์ยังไม่ได้รับรองข้อมูลในรายงานการแก้ไขราคาย้อนหลังและรายงานการชดเชยราคา
ข้อ 25 การเลื่อนกำหนดการชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนตามข้อ 24 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เลื่อนกำหนดชำระค่าขายคืนได้ไม่เกิน 10 วันทำการนับแต่วันที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนนั้น เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
(2) แจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนไว้แล้วให้ทราบถึงการเลื่อนกำหนดการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน ตลอดจนเปิดเผยต่อผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นและผู้ลงทุนทั่วไปให้ทราบเรื่องดังกล่าวด้วยวิธีการใด ๆ โดยพลัน
(3) แจ้งการเลื่อนกำหนดชำระค่าขายคืน พร้อมทั้งจัดส่งรายงานที่แสดงเหตุผลของการเลื่อน และหลักฐานการได้รับความเห็นชอบของผู้ดูแลผลประโยชน์ตามข้อ 24(1) หรือการรับรองข้อมูลของผู้ดูแลผลประโยชน์ตามข้อ 24(2) ต่อสำนักงานโดยพลัน ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะมอบหมายให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ดำเนินการแทนก็ได้
(4) ในระหว่างการเลื่อนกำหนดชำระค่าขายคืน หากมีผู้ถือหน่วยลงทุนสั่งขายคืนหน่วยลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรับซื้อคืนหน่วยลงทุนนั้น โดยต้อง ชำระค่าขายคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามลำดับวันที่ส่งคำสั่งขายคืนก่อนหลัง
ข้อ 26 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมหยุดการขายหน่วยลงทุน หรือหยุดรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน ในช่วงระยะเวลาที่บริษัทพบว่าราคาขายหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องตามข้อ 15 และผู้ดูแลผลประโยชน์ยังไม่ได้รับรองข้อมูลในรายงานการแก้ไขราคาย้อนหลังและรายงานการชดเชยราคา โดยแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไว้แล้วให้ทราบถึงการหยุดขายหน่วยลงทุน ตลอดจนเปิดเผยต่อผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นและผู้ลงทุนทั่วไปให้ทราบถึงการหยุดรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนด้วยวิธีการใด ๆ โดยพลัน
ข้อ 27 ในกรณีที่วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดตรงกับวันที่ สำนักงานได้ประกาศกำหนดให้เป็นวันหยุดทำการของบริษัทจัดการกองทุนรวมเป็นกรณีพิเศษให้บริษัทจัดการกองทุนรวมหยุดรับคำสั่งซื้อและคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนสำหรับวันดังกล่าว และต้องแจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการหยุดรับคำสั่งในกรณีดังกล่าวไม่น้อยกว่า 5 วันทำการก่อนถึงวันหยุดทำการกรณีพิเศษนั้น โดยการปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ทำการทุกแห่งของบริษัท รวมทั้งจัดให้มีประกาศดังกล่าวไว้ ณ สถานที่ติดต่อทุกแห่งของผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่ใช้เป็นสถานที่ในการซื้อขายหน่วยลงทุน (ถ้ามี)
ข้อ 28 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งที่รับไว้แล้ว หรือจะหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนได้ เฉพาะในกรณีที่กำหนดไว้ ในโครงการ ซึ่งต้องไม่เกินกว่ากรณีดังต่อไปนี้
(1) ตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ
(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมพิจารณาแล้ว มีความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่าเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้ โดยได้รับความเห็นชอบของผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว ซึ่งให้กระทำได้ ไม่เกิน 1 วันทำการ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันเวลาดังกล่าวจากสำนักงาน
(ก) มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของกองทุนรวมเปิดได้อย่างสมเหตุสมผล
(ข) ไม่สามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมเปิดได้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม
(ค) มีเหตุจำเป็นอื่นใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน
(3) กองทุนรวมได้ลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศ และมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อกองทุนรวมอย่างมีนัยสำคัญ
(ก) ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุนไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กองทุนรวมลงทุนในหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์แห่งนั้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
(ข) มีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างเสรี และทำให้ไม่สามารถโอนเงินออกจากประเทศหรือรับโอนเงินจากต่างประเทศได้ตามปกติ หรือ
(ค) มีเหตุที่ทำให้กองทุนรวมไม่ได้รับชำระเงินจากหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ลงทุนไว้ตามกำหนดเวลาปกติ ซึ่งเหตุดังกล่าวอยู่เหนือการควบคุมของบริษัทจัดการกองทุนรวม และผู้ดูแลผลประโยชน์เห็นชอบด้วยแล้ว
(4) เป็นการไม่ขายหน่วยลงทุนตามคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนที่รับไว้แล้ว หรือเป็นการหยุดรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน แก่ผู้ลงทุนเฉพาะราย เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้
(ก) บริษัทจัดการกองทุนรวมมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ลงทุนรายนั้น ๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
1. การกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ
2. การให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
3. การกระทำที่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินโดยบุคคลผู้มีอำนาจตามกฎหมาย
(ข) บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถดำเนินการรู้จักลูกค้า และตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าได้ในสาระสำคัญ
ข้อ 29 เมื่อปรากฏเหตุตามข้อ 28 และบริษัทจัดการกองทุนรวมประสงค์จะไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการ กองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) แจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนไว้แล้วให้ทราบถึงการไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยพลัน และหากเป็นเหตุตามข้อ 28(1) (2) หรือ (3) ให้เปิดเผยต่อผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นและผู้ลงทุนทั่วไปให้ทราบถึงการหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนด้วยวิธีการใด ๆ โดยพลันด้วย
(2) รายงานการไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือการหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนพร้อมทั้งแสดงเหตุผล และรายงานแผนการดำเนินการของกองทุนรวมเปิดนั้นให้สำนักงานทราบโดยพลัน
(3) ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนตามข้อ 28(1) (2) และ (3) เกิน 1 วันทำการ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังนี้ ก่อนการเปิดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน
(ก) รายงานการเปิดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน และรายงานฐานะการลงทุนของกองทุนรวมเปิด ณ วันทำการสุดท้ายก่อนวันรายงานนั้นให้สำนักงานทราบ ภายในวันทำการก่อนวันเปิดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน
(ข) แจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนไว้แล้วให้ทราบถึงการเปิดขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ตลอดจนเปิดเผยต่อผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นและ ผู้ลงทุนทั่วไปให้ทราบถึงการเปิดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนด้วยวิธีการใด ๆ โดยพลัน
ข้อ 30 เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน หรือในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ หรือเพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบ ตลาดการเงิน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่สำนักงานประกาศซึ่งไม่เกิน 20 วันทำการติดต่อกัน
ข้อ 31 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงินได้ต่อเมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมได้กำหนดกรณีที่เป็น เงื่อนไขการชำระและขั้นตอนการดำเนินการไว้อย่างชัดเจนในข้อผูกพัน โดยขั้นตอนที่กำหนดดังกล่าวต้องสามารถปฏิบัติได้จริง และเป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดนั้นทุกราย ทั้งนี้กรณีที่เป็นเงื่อนไขมีได้เฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่งหรือหลายกรณี ดังต่อไปนี้
(1) กองทุนรวมเปิดกำหนดวิธีการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้สามารถชำระเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงินไว้เป็นการทั่วไป
(2) การชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนนำหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นนั้นไปชำระเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นที่บริษัทจัดการ กองทุนรวมเดียวกันเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
(3) บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนเป็นเงิน
(4) ผู้ถือหน่วยลงทุนตกลงรับชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงิน และบริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ หรือได้รับมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น ให้ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงินได้
ส่วนที่ 5
การจัดทำรายงานของกองทุนรวม
_____________________
ข้อ 32 ในส่วนนี้
“บริษัทนายหน้า” หมายความว่า บุคคลใดบุคคลหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
(2) บุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“ฐานะการลงทุนสุทธิ” (net exposure) หมายความว่า มูลค่าการลงทุนสุทธิในทรัพย์สินไม่ว่าเป็นการลงทุนโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านการลงทุนในตราสารหรือสัญญาที่ให้ผลตอบแทนโดยอ้างอิงอยู่กับทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลให้กองทุนมีความเสี่ยงในทรัพย์สินนั้น
ข้อ 33 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและเปิดเผยข้อมูลของแต่ละกองทุนรวมทางเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุนรวม เป็นรายเดือนดังต่อไปนี้
(1) ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด
(2) ข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวมโดยมีสาระสำคัญดังนี้
(ก) กรณีกองทุนรวมตราสารทุน ให้เปิดเผยชื่อหลักทรัพย์และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ตลอดจนน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์และกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น
(ข) กรณีกองทุนรวมตราสารหนี้ ให้เปิดเผยชื่อตราสารหนี้ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ตลอดจนอันดับความน่าเชื่อถือและน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้นั้น
(ค) กรณีกองทุนรวมผสม ให้เปิดเผยชื่อหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก และน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่หลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นตราสารหนี้ ให้เปิดเผยอันดับความน่าเชื่อถือด้วย
(ง) กรณีกองทุนรวมที่มีฐานะการลงทุนสุทธิในหน่วยของกองทุนต่างประเทศกองทุนใดกองทุนหนึ่ง เกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ให้เปิดเผยข้อมูลการลงทุนของกองทุนต่างประเทศนั้น เท่าที่กองทุนต่างประเทศนั้นได้เปิดเผยไว้เป็นการทั่วไปหรือเท่าที่บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถเข้าถึงได้
การเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่งให้กระทำภายใน 15 วันนับแต่วันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน เว้นแต่กรณีตามวรรคหนึ่ง (2) (ง) ให้กระทำภายใน 15 วันนับแต่วันที่กองทุนต่างประเทศนั้นเปิดเผยข้อมูลการลงทุนเป็นวันแรก
ข้อ 34 บริษัทจัดการจะไม่จัดทำและเปิดเผยข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวมเป็นรายเดือนตามข้อ 33 ก็ได้ หากเป็นกรณีที่เป็นไปตามลักษณะดังต่อไปนี้ประกอบกัน
(1) กองทุนรวมดังกล่าวมีกลยุทธ์มุ่งเน้นลงทุนเพียงครั้งเดียว โดยถือทรัพย์สินที่ลงทุนไว้จนครบอายุของทรัพย์สินหรือครบอายุของรอบการลงทุนของกองทุนรวม หรือครบอายุ ของกองทุนรวม (buy-and-hold fund)
(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมได้แสดงข้อมูลการลงทุนตามข้อ 33 วรรคหนึ่ง (2) ไว้ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ตลอดจนได้เปิดเผยให้ผู้ถือหน่วยลงทุน ทราบถึงแหล่งข้อมูลที่สามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลการลงทุนได้เองแล้ว
ข้อ 35 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำรายงานเพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวมทุกรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งมีสาระตามที่กำหนดไว้ในข้อ 37 วรรคหนึ่ง และส่งรายงานดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนและสำนักงานภายใน 3 เดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ ในกรณีของกองทุนรวมเปิด หากบริษัทจัดการกองทุนรวมเลือกจัดทำและส่งรายงานตามข้อ 36 ตามปีปฏิทิน ให้ระยะเวลาการส่งรายงานเพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวมของรอบระยะเวลาบัญชีขยายเป็นภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
การส่งรายงานรอบระยะเวลาบัญชีให้แก่สำนักงานตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมส่งรายงานรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานจัดไว้
การส่งรายงานรอบระยะเวลาบัญชีให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการอย่างน้อยด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) จัดส่งรายงานดังกล่าวในรูปแบบเอกสารสิ่งพิมพ์หรือสื่อบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
(2) เผยแพร่รายงานดังกล่าวบนเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุนรวม โดยต้องมีการแจ้งช่องทางการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบด้วย ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแจ้งความประสงค์ให้จัดส่งรายงานดังกล่าวโดยวิธีการตามวรรคสาม (1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามวิธีการดังกล่าวด้วย
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่ต้องเลิกกองทุนรวมเนื่องจากมีเหตุตามที่กำหนดไว้ในข้อ 102 และข้อ 103 โดยเหตุดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนหรือในวันที่ครบกำหนดจัดทำหรือจัดส่งรายงานดังกล่าว
ข้อ 36 นอกจากการจัดทำรายงานทุกรอบระยะเวลาบัญชีตามข้อ 35 แล้ว ในการจัดการกองทุนรวมเปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำรายงานเพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวมเปิดทุกรอบระยะเวลา 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชีหรือของปีปฏิทิน ซึ่งมีสาระตามที่กำหนดไว้ใน
ข้อ 37 วรรคสองด้วย และส่งรายงานดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนและสำนักงานภายใน 2 เดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลา 6 เดือนดังกล่าว
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมเลือกจัดทำและส่งรายงานตามวรรคหนึ่งตามรอบระยะเวลาบัญชี ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำและส่งรายงานดังกล่าวในรอบระยะเวลา 6 เดือนหลังสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
ให้นำความในข้อ 35 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 37 การจัดทำรายงานรอบระยะเวลาบัญชีตามข้อ 35 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแสดงข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบประกอบรายละเอียดเงินลงทุน ที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว
(2) รายละเอียดเงินลงทุน การกู้ยืมเงิน และการก่อภาระผูกพันของกองทุนรวมที่ต้องแสดงการจัดกลุ่มให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมตามคำอธิบายที่จัดไว้ ในระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน
(3) ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนด
(4) ค่านายหน้าทั้งหมดจากการที่บริษัทจัดการกองทุนรวมสั่งซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของกองทุนรวม รายชื่อบริษัทนายหน้าที่ได้รับค่านายหน้าในจำนวน สูงสุด 10 อันดับแรก อัตราส่วนของจำนวนค่านายหน้าที่บริษัทนายหน้าแต่ละรายดังกล่าวได้รับต่อจำนวนค่านายหน้าทั้งหมด และอัตราส่วนของจำนวนค่านายหน้าส่วนที่เหลือต่อจำนวนค่านายหน้าทั้งหมด
(5) ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมซึ่งต้องมีรายละเอียดตามตารางที่จัดไว้ในระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน
(6) ข้อมูลอัตราส่วนหมุนเวียนการลงทุนของกองทุนรวม (portfolio turnover ratio) ซึ่งคำนวณจากมูลค่าที่ต่ำกว่าระหว่างผลรวมของมูลค่าการซื้อทรัพย์สินกับผลรวมของมูลค่าการขายทรัพย์สิน ที่กองทุนรวมลงทุนในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา หารด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ยของกองทุนรวมในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน
(7) ความเห็นของบริษัทจัดการกองทุนรวมเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ๆ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับรอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้า ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีกลยุทธ์แบบซับซ้อน (complex strategic investment) หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีความซับซ้อน (exotic derivatives) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมอธิบายสาเหตุที่ค่าเฉลี่ยของมูลค่าธุรกรรมในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกิดขึ้นจริง (average actual leverage) เกินกว่าที่บริษัทจัดการประมาณการไว้ (expected gross leverage) ตามหนังสือชี้ชวน
(8) ความเห็นของผู้ดูแลผลประโยชน์เกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมของบริษัทจัดการกองทุนรวม
(9) ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุนเฉลี่ยในรอบระยะเวลาที่กำหนด ให้แสดงข้อมูลดังกล่าวพร้อมทั้งเหตุผล
(10) ข้อมูลการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
(11) ข้อมูลการบันทึกมูลค่าตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็น 0 ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องผิดนัดชำระหนี้หรือมีพฤติการณ์ว่าจะไม่สามารถ ชำระหนี้ได้ (ถ้ามี)
(12) ข้อมูลการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น (ถ้ามี)
(13) ข้อมูลการดำเนินการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นในนามกองทุนรวมของรอบปีปฏิทินล่าสุด
(14) ข้อมูลการถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน (ถ้ามี) โดยให้ระบุจำนวนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดดังกล่าว พร้อมทั้งช่องทางการตรวจสอบข้อมูลสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นด้วย
(15) รายชื่อผู้จัดการกองทุนของกองทุนรวม
การจัดทำรายงานรอบระยะเวลา 6 เดือนตามข้อ 36 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแสดงข้อมูลอย่างน้อยตามวรรคหนึ่ง (1) ถึง (9) โดยอนุโลม เว้นแต่งบการเงินตามวรรคหนึ่ง (1) ไม่จำต้องผ่านการตรวจสอบและแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี
ข้อ 38 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเงินลงทุน การกู้ยืมเงิน และการก่อภาระผูกพันของกองทุนรวมแต่ละกองทุนรวมตามข้อ 37 วรรคหนึ่ง (2) ไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุนรวมเป็นรายไตรมาส โดยให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมตลาดเงิน ให้บริษัทจัดการ กองทุนรวมจัดทำและเปิดเผยข้อมูลอายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนซึ่งได้จากการคำนวณค่าตามมาตรฐานสากล และสัดส่วนของการลงทุนในทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสูงต่อมูลค่าทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมแต่ละกองทุนรวมด้วย
ข้อ 39 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีรายงานตามข้อ 35 และข้อ 36 ของรอบระยะเวลาล่าสุดไว้ ณ ที่ทำการทุกแห่งของบริษัทจัดการกองทุนรวม และสถานที่ติดต่อทุกแห่ง ของผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนที่ใช้เป็นสถานที่ในการซื้อขายหน่วยลงทุน เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถตรวจดูได้ และจัดสำเนาให้เมื่อผู้ถือหน่วยลงทุนร้องขอ
ข้อ 40 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและส่งข้อมูลการจัดการกองทุนรวมดังต่อไปนี้ ตามรูปแบบและวิธีการที่สำนักงานกำหนด
(1) รายงานรายละเอียดของหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่ทุกกองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้เป็นรายเดือน โดยให้จัดส่งภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป
(2) รายงานสถานะและการลงทุนของแต่ละกองทุนรวมเป็นรายเดือน โดยให้จัดส่งภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป
(3) รายงานการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนรวมเปิดเป็นรายเดือน โดยให้จัดส่งภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป
(4) รายงานการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนรวมเปิดเป็นรายวันโดยให้จัดส่งภายในวันทำการถัดไป ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกองทุนรวมเปิดประเภทที่มีการรับซื้อคืน หน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติ (auto redemption) และกองทุนรวมเปิดประเภทอื่น ๆ ตามที่สำนักงานกำหนด
การจัดส่งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมกระทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานจัดไว้ โดยดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ข้อ 41 ในกรณีที่กองทุนรวมมีฐานะการลงทุนสุทธิในหน่วยของกองทุนต่างประเทศกองทุนใดกองทุนหนึ่ง เกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำข้อมูลของกองทุนรวม ทุกรอบระยะเวลา 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชีหรือของปีปฏิทิน และทุกรอบระยะเวลาบัญชี โดยมีสาระสำคัญประกอบกันดังต่อไปนี้
(1) การลงทุนและผลการดำเนินงานของกองทุนต่างประเทศ
(2) ความผันผวนของผลการดำเนินงานของกองทุนต่างประเทศ
การจัดทำข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเปิดเผยข้อมูลของกองทุนต่างประเทศ เท่าที่กองทุนต่างประเทศนั้นได้เปิดเผยไว้เป็นการทั่วไปหรือเท่าที่บริษัทจัดการ สามารถเข้าถึงได้
ข้อ 42 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำรายงานช่องทางการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมทั้งหมดภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการกองทุนรวม ทุกรอบระยะเวลา 6 เดือน ของปีปฏิทิน ทั้งนี้ ตามแบบที่สำนักงานกำหนดไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน และส่งรายงานดังกล่าวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานจัดไว้ภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาดังกล่าว
ข้อ 43 ในกรณีที่กองทุนรวมมีการทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำรายงานการทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นรายเดือน โดยระบุข้อมูลดังต่อไปนี้
(1) รายชื่อคู่สัญญา และวัน เดือน และปีที่ทำธุรกรรม
(2) ชื่อ ประเภท และมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม ณ วันทำธุรกรรม
(3) อัตราผลตอบแทนต่อปี และอายุของสัญญา
(4) ชื่อและประเภทของหลักประกัน
ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดเก็บรายงานที่จัดทำตามวรรคหนึ่งไว้เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้
ข้อ 44 ในกรณีที่กองทุนรวมมีการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หรือเงินฝาก ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำข้อมูลดังต่อไปนี้
(1) รายงานสรุปจำนวนเงินลงทุนในตราสารหนี้ ตราตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หรือเงินฝาก และสัดส่วนเงินลงทุนดังกล่าวต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยแบ่งข้อมูลตามกลุ่มดังนี้
(ก) กลุ่มตราสารภาครัฐไทย และตราสารภาครัฐต่างประเทศ
(ข) กลุ่มตราสารของธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้อาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน
(ค) กลุ่มตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้
(ง) กลุ่มตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ หรือไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
(2) รายละเอียดและอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หรือเงินฝากที่ลงทุนหรือมีไว้เป็นรายตัว
(3) สัดส่วนเงินลงทุนขั้นสูงต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมตั้งไว้ในแผนการลงทุนสำหรับกลุ่มตราสารตามวรรคหนึ่ง (1) (ง)
ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเปิดเผยข้อมูลที่จัดทำขึ้นตามวรรคหนึ่งเป็นรายเดือนทางเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุนรวมภายใน 15 วันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละเดือน
ในการเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่ง (2) บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจใช้วิธีเปิดเผยรายละเอียดและอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นรายกลุ่มตามวรรคหนึ่ง (1) (ก) (ข) (ค) และ (ง) แทนการเปิดเผยเป็นรายตัวก็ได้
ข้อ 45 ในกรณีที่กองทุนรวมมีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำข้อมูลดังต่อไปนี้
(1) วัตถุประสงค์และกลยุทธ์ที่ใช้ในการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาหรือตราสารดังกล่าว ตลอดจนผลกำไรหรือผลขาดทุนที่บริษัทจัดการกองทุนรวมคาดว่าจะได้รับ
(2) การวิเคราะห์ความเสี่ยงของคู่สัญญา ในกรณีของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(3) แผนการรองรับในการชำระหนี้ตามสัญญาหรือตราสารดังกล่าว
ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดส่งข้อมูลที่จัดทำขึ้นตามวรรคหนึ่งให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่มีการลงทุนดังกล่าว และจัดเก็บสำเนาข้อมูลไว้ที่บริษัทจัดการกองทุนรวมเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้
ข้อ 46 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานกำกับดูแลธุรกิจกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและส่งข้อมูลการจัดการกองทุนรวมดังต่อไปนี้ เมื่อสำนักงานร้องขอ โดยข้อมูลที่จัดส่งให้เป็นไปตามรูปแบบ วิธีการ และภายในระยะเวลาที่สำนักงานแจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบล่วงหน้า
(1) ข้อมูลตามรายการที่สำนักงานกำหนด โดยให้ส่งผ่านระบบจัดส่งข้อมูลตามที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน
(2) รายงานอื่นใดที่เกี่ยวกับการดำเนินงานจัดการกองทุนรวม
การจัดส่งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง (1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมกระทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานจัดไว้ โดยดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติของสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนที่ 6
การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ
_____________________
ข้อ 47 การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการโดยขอความเห็นชอบต่อสำนักงาน นอกเหนือจาก ข้อ 51 และข้อ 52 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขอเป็นหนังสือ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน และให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระค่าธรรมเนียมต่อสำนักงานเมื่อสำนักงานได้รับคำขอ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว ทั้งนี้ อัตราค่าธรรมเนียมให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ เว้นแต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการตามข้อ 48 บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว
เมื่อสำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนตามวรรคหนึ่งแล้ว สำนักงานจะดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
การชำระค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่ง มิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเรียกเก็บจากกองทุนรวม
ข้อ 48 ในการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม หรือเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนหรือสำนักงานกำหนด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขอเป็นหนังสือ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน
เมื่อสำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าสำนักงานให้ความเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมโครงการได้
ข้อ 49 การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการตามมติของผู้ถือหน่วยลงทุน หากปรากฏว่า มติของผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวไม่เกินร้อยละ 55 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการ หรือในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน หากปรากฏว่ามติของผู้ถือหน่วยลงทุนเมื่อคำนวณเฉพาะหน่วยลงทุนแต่ละชนิด มีจำนวนไม่เกินร้อยละ 55 ของจำนวนหน่วยลงทุนชนิดนั้น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการขอมติและการนับมติไปยังผู้ดูแลผลประโยชน์ เพื่อให้ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองผลการนับมตินั้น
ข้อ 50 ในการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการใด หากไม่สามารถดำเนินการตามมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนได้ เนื่องจากข้อจำกัดในการนับคะแนนเสียงของผู้ถือหน่วยลงทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจดำเนินการขอรับความเห็นชอบจากสำนักงานตามแนวทางที่สำนักงานกำหนดได้
ข้อ 51 ในการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการเพื่อเปลี่ยนตัวผู้ดูแลผลประโยชน์ เมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงานตามข้อ 8 แล้ว ให้ถือว่าสำนักงานให้ความเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมโครงการในเรื่องดังกล่าวได้
ข้อ 52 ในการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการเพื่อลดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมเปิด ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 97 วรรคสอง
ส่วนที่ 7
การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนโครงการ
_____________________
ข้อ 53 ในส่วนนี้
“เงินทุนจดทะเบียน” หมายความว่า เงินทุนที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนและนำมาจดทะเบียนไว้กับสำนักงาน
“เงินทุนโครงการ” หมายความว่า เงินทุนโครงการที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นขอจดทะเบียนไว้กับสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจดทะเบียน กองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมและการแก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียน
ข้อ 54 ในการเพิ่มเงินทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนได้ไม่เกินกว่าจำนวนเงินทุนโครงการที่จดทะเบียนไว้แล้ว ในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และจะแก้ไขเพื่อเพิ่มเงินทุนโครงการอีกไม่ได้
ข้อ 55 การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนโครงการของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การขายหน่วยลงทุนเพิ่มจะต้องไม่ทำให้มูลค่าทั้งหมดของหน่วยลงทุนที่เพิ่มมีมูลค่าเกินกว่าเงินทุนโครงการ ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมใช้มูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุน เป็นเกณฑ์ในการคำนวณ
(2) ราคาเสนอขายหน่วยลงทุนต้องกำหนดตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ณ สิ้นวันที่เสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่ม
(3) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเปิด บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเสนอขายหน่วยลงทุนตามจำนวนที่เพิ่มขึ้นของเงินทุนโครงการได้ต่อเมื่อได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเงินทุนโครงการต่อสำนักงานแล้ว
ส่วนที่ 8
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน
_____________________
ข้อ 56 กองทุนรวมใดที่ไม่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน หากประสงค์จะมีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน หรือกรณีที่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนอยู่แล้ว หากจะมีการแก้ไขหรือเพิ่มเติม ชนิดหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการและการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ลักษณะของชนิดหน่วยลงทุนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปและเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(2) การแบ่งชนิดหน่วยลงทุนต้องไม่กระทบสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนเดิม
ข้อ 57 ในกรณีที่กองทุนรวมใดมีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนจากชนิดหนึ่งเป็นหน่วยลงทุนอีกชนิดหนึ่งได้โดยต้องระบุวิธีการสับเปลี่ยนดังกล่าวไว้ในโครงการให้ชัดเจน
ข้อ 58 ในกรณีที่กองทุนรวมใดมีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน การขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนนอกจากจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนที่กำหนดไว้ในข้อผูกพัน หรือที่กำหนดไว้ในมาตรา 129 หรือตามที่กำหนดในประกาศนี้ การขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ในกรณีที่เป็นการขอมติที่มีผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนทุกชนิด โดยแต่ละชนิดได้รับผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนไม่เท่ากัน ให้ได้รับมติผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนชนิดที่ได้รับผลกระทบเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนแต่ละชนิด
(2) ในกรณีที่เป็นการขอมติที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ว่ากรณีใด ให้ได้รับมติผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนชนิดที่ได้รับผลกระทบเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนแต่ละชนิด
(3) ในกรณีที่เป็นการขอมติที่มีผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนชนิดใดชนิดหนึ่ง ให้ได้รับมติผู้ถือหน่วยลงทุนชนิดที่ได้รับผลกระทบเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนชนิดนั้น
บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องระบุหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่งไว้อย่างชัดเจนในข้อผูกพันด้วย
ข้อ 59 ในกรณีที่การแบ่งชนิดหน่วยลงทุนในกรณีใดซึ่งต้องมีการคำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน และราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน ของหน่วยลงทุนแต่ละชนิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในภาค 2 การจัดการกองทุนรวม หมวด 1 หลักเกณฑ์ทั่วไป ส่วนที่ 2 การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินและมูลค่าหน่วยลงทุน โดยอนุโลม
ข้อ 60 ในกรณีที่หน่วยลงทุนชนิดใดของกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน ไม่มีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนเหลืออยู่แล้วสำหรับหน่วยลงทุนชนิดดังกล่าว บริษัทจัดการกองทุนรวม อาจคงชนิดของหน่วยลงทุนนั้นไว้ต่อไปก็ได้ และหากจะมีการขายหน่วยลงทุนชนิดนั้นเพิ่มเติม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณราคาขายหน่วยลงทุนของหน่วยลงทุนชนิดดังกล่าวโดยใช้มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม แล้วแต่กรณี ตามความเหมาะสมของหน่วยลงทุนแต่ละชนิด เป็นเกณฑ์ในการคำนวณ
ส่วนที่ 9
การเปลี่ยนสภาพกองทุนรวมจากกองทุนรวมปิด
เป็นกองทุนรวมเปิด
______________________
ข้อ 61 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเปลี่ยนสภาพกองทุนรวมจากกองทุนรวมปิดเป็นกองทุนรวมเปิดได้ ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เป็นการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในโครงการตั้งแต่ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก
(2) ได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดให้แก้ไขโครงการเพื่อเปลี่ยนสภาพกองทุนรวมจากกองทุนรวมปิดเป็นกองทุนรวมเปิด
ข้อ 62 ในการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนสภาพกองทุนรวมจากกองทุนรวมปิดเป็นกองทุนรวมเปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีวิธีการในการให้สิทธิแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมปิดในการที่จะออกจากกองทุนรวมดังกล่าว และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องชำระค่าหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าว โดยใช้มูลค่าหน่วยลงทุนของวันทำการก่อนวันเริ่มต้นมีผลเป็นกองทุนรวมเปิดเป็นเกณฑ์ ในการคำนวณ
(ข) การชำระค่าหน่วยลงทุนตาม (ก) ให้กระทำภายใน 5 วันทำการนับแต่วันเริ่มต้นมีผลเป็นกองทุนรวมเปิด โดยให้นับวันเริ่มต้นมีผลเป็นกองทุนรวมเปิดเป็นวันแรกของ ระยะเวลาดังกล่าว
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีการรวมกองทุนรวมปิดกับกองทุนรวมปิด หรือกองทุนรวมปิดกับกองทุนรวมเปิด ซึ่งมีผลให้กองทุนรวมที่รับโอนเป็นกองทุนรวมเปิดโดยการ เปลี่ยนสภาพ ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามข้อ 74 แทน
(2) ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียนดังต่อไปนี้ต่อสำนักงานตามแบบที่จัดไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน พร้อมข้อผูกพันและสัญญาแต่งตั้งดูแลผลประโยชน์ ที่มีการลงนามแล้วในกรณีที่มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนสภาพกองทุนรวม รวมทั้งรายงานมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ล่าสุดซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ ทั้งนี้ ในวันทำการที่ 3 ล่วงหน้าก่อนวันเริ่มทำการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิด
(ก) การแก้ไขรายการทางทะเบียนแสดงสภาพของกองทุนรวม
(ข) การจดทะเบียนเพิ่มเงินทุนจดทะเบียน หรือเงินทุนโครงการของกองทุนรวม (ถ้ามี)
(3) จัดทำหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมเปิด และจัดส่งหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญให้สำนักงานไม่น้อยกว่า 1 วันทำการก่อนการเริ่มจัดส่ง แจกจ่าย หรือจัดให้มีหนังสือชี้ชวนให้แก่ประชาชน โดยการจัดส่งและแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนต้องแนบข้อมูลดังนี้ด้วย
(ก) ประวัติความเป็นมาโดยสรุปของกองทุนรวมนั้น
(ข) งบการเงินประจำรอบระยะเวลาบัญชีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว
(ค) รายงานฐานะการลงทุน ณ วันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ล่าสุดซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ จำนวน ราคาที่ได้มา มูลค่าหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่น และอัตราส่วนของมูลค่าหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมโดยแยกเป็นแต่ละรายการ และตามประเภทธุรกิจหลักที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด
ข้อ 63 ในกรณีที่กองทุนรวมมีการกำหนดไว้ในโครงการให้ผู้ถือหน่วยลงทุนชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดได้รับคืนเงินลงทุนและผลตอบแทนเมื่อกองทุนรวมมีการเปลี่ยนสภาพ จากกองทุนรวมปิดเป็นกองทุนรวมเปิด หากดำเนินการตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ต้องดำเนินการตามข้อ 62(1) วรรคหนึ่ง
(1) ดำเนินการเปลี่ยนสภาพกองทุนรวมเมื่อครบอายุโครงการเดิม
(2) ดำเนินการให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับคืนเงินลงทุนและผลตอบแทนตามสิทธิที่ระบุไว้ในโครงการเดิมสำหรับการสิ้นสุดอายุโครงการของกองทุนรวมปิด
(3) ได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนให้แก้ไขโครงการเป็นกองทุนรวมเปิดตามข้อ 61 ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนต้องได้รับมติตามข้อ 58 ด้วย
ให้นำความในข้อ 62(1) วรรคหนึ่ง (ก) และ (ข) มาใช้บังคับกับการดำเนินการคืนเงินลงทุนและผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม
ข้อ 64 มิให้นำความในข้อ 101(1) และข้อ 102(1) มาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่มีการเปลี่ยนสภาพกองทุนรวมจากกองทุนรวมปิดเป็นกองทุนรวมเปิด ในวันสุดท้ายของการเป็น กองทุนรวมปิดและในวันทำการแรกที่มีผลเป็นกองทุนรวมเปิด
ข้อ 65 ให้ถือว่าวันที่สำนักงานรับจดทะเบียนการแก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียนตามข้อ 62(2) (ก) เป็นวันเริ่มต้นมีผลเป็นโครงการจัดการกองทุนรวมเปิด
ส่วนที่ 10
การควบกองทุนรวมและการรวมกองทุนรวม
_____________________
ข้อ 66 ในส่วนนี้
“ควบกองทุนรวม” หมายความว่า การควบกองทุนรวมตั้งแต่ 2 กองทุนรวมขึ้นไปเข้าเป็นกองทุนรวมเดียว โดยจัดตั้งกองทุนรวมใหม่ขึ้นมาเพื่อซื้อหรือรับโอนทรัพย์สิน สิทธิและหน้าที่ของกองทุนรวมเดิม และเลิกกองทุนรวมเดิม
“รวมกองทุนรวม” หมายความว่า การรวมกองทุนรวมตั้งแต่ 2 กองทุนรวมขึ้นไปเข้าเป็นกองทุนรวมเดียว โดยกองทุนรวมที่รับโอนซื้อหรือรับโอนทรัพย์สิน สิทธิ และหน้าที่ของ กองทุนรวมที่โอนมาเป็นของตน และเลิกกองทุนรวมที่โอน
“ควบรวมกองทุนรวม” หมายความว่า การควบกองทุนรวมหรือการรวมกองทุนรวม แล้วแต่กรณี
“กองทุนรวมใหม่” หมายความว่า กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในการควบกองทุนรวม
“กองทุนรวมเดิม” หมายความว่า กองทุนรวมที่ทำการควบกองทุนรวมเข้าด้วยกัน
ข้อ 67 การควบรวมกองทุนรวมต้องเป็นการควบกองทุนรวมหรือการรวมกองทุนรวมที่อยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการกองทุนรวมเดียวกัน โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ถือหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนรวมด้วยความเป็นธรรม และการควบรวมกองทุนรวมแต่ละครั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานด้วย
ข้อ 68 กองทุนรวมตั้งแต่ 2 กองทุนรวมขึ้นไปจะดำเนินการเพื่อควบรวมกองทุนรวมได้ต่อเมื่อได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในโครงการและข้อผูกพัน ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ได้รับมติเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการแต่ละกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวมดังกล่าว
(2) ในกรณีที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมแต่ละกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวมออกเสียงน้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการ หรือออกเสียงตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการแต่ไม่ได้มติโดยเสียงข้างมากด้านใดด้านหนึ่งเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หากบริษัทจัดการกองทุนรวมประสงค์จะควบรวมกองทุนรวมต่อไป ให้ดำเนินการขอมติครั้งใหม่ภายใน 14 วันนับแต่วันประชุมครั้งแรกหรือวันที่กำหนดให้เป็นวันสุดท้ายของการรับหนังสือแจ้งมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนในการขอมติครั้งแรก และได้รับมติในครั้งหลังนี้เกินกว่าร้อยละ 50ของจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งออกเสียงลงมติของแต่ละกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวม
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (2) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งผลการนับมติครั้งแรกให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบด้วย
การขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมกำหนดรายละเอียดของโครงการและข้อผูกพันใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมโครงการและข้อผูกพันที่รับโอน (ถ้ามี)พร้อมทั้งขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อเลิกกองทุนรวมเดิมหรือกองทุนรวมที่โอนไปในคราวเดียวกันด้วย
ในการรวมกองทุนรวมปิดกับกองทุนรวมปิด หรือกองทุนรวมปิดกับกองทุนรวมเปิด หากมีผลให้กองทุนรวมที่รับโอนเป็นกองทุนรวมเปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่รับโอนดังกล่าวเพื่อเปลี่ยนสภาพกองทุนรวมจากกองทุนรวมปิดเป็นกองทุนรวมเปิดด้วย และหากได้รับมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง (1) ให้ถือว่าได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนในการเปลี่ยนสภาพกองทุนรวมตามข้อ 61(2) แล้ว
ข้อ 69 การขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนตามข้อ 68 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมส่งหนังสือนัดประชุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนวันประชุม หรือส่งหนังสือขอมติล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันที่กำหนดให้เป็นวันสุดท้ายของการรับหนังสือแจ้งมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน โดยเปิดเผยข้อมูลที่ผู้ถือหน่วยลงทุนควรทราบเกี่ยวกับการควบรวมกองทุนรวมอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ให้ชัดเจนไว้ในหนังสือนัดประชุมหรือหนังสือขอมติดังกล่าว
(1) สถานะการลงทุนของกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนที่เป็นปัจจุบันก่อนการขอมติควบรวมกองทุนรวม ซึ่งจะต้องแสดงรายละเอียดเป็นรายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น โดยระบุ ประเภท ชื่อ จำนวน อัตราผลตอบแทน (ถ้ามี) มูลค่ายุติธรรมของหลักทรัพย์ตามแนวปฏิบัติทางการบัญชีว่าด้วยการบัญชีสำหรับกิจการที่ดำเนินธุรกิจเฉพาะด้านการลงทุนตามที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ณ วันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ล่าสุด และผลการดำเนินงานล่าสุดของกองทุนรวม
(2) สรุปประเด็นเปรียบเทียบสาระสำคัญและความแตกต่างของกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวม และลักษณะที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการควบรวมกองทุนรวมแล้ว โดยต้องมี รายละเอียดเกี่ยวกับประเภทและวัตถุประสงค์ของโครงการ นโยบายการลงทุน และค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อหรือผู้ถือหน่วยลงทุนและจากกองทุนรวม เป็นอย่างน้อย
(3) ขั้นตอน สาระสำคัญของการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน และกำหนดเวลาในการควบรวมกองทุนรวม
(4) สิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวม
(5) รายงานแสดงฐานะการเงินของกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวม ประมาณการฐานะการเงินของกองทุนรวมใหม่หรือกองทุนรวมที่รับโอน
(6) การดำเนินการเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผล (ถ้ามี) ก่อนการควบรวมกองทุนรวม และนโยบายการจ่ายเงินปันผลภายหลังการควบรวมกองทุนรวม (ถ้ามี)
(7) ค่าใช้จ่ายในการควบรวมกองทุนรวมที่จะเรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนและกองทุนรวม (ถ้ามี) เช่น ค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชี เป็นต้น
(8) ข้อดีและข้อเสียหลังจากมีการควบรวมกองทุนรวม เช่น ค่าใช้จ่าย ความเสี่ยง หรือสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องไม่มีลักษณะที่เกินความจริง
เมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ส่งหนังสือนัดประชุมหรือหนังสือขอมติพร้อมด้วยเอกสารไปยังผู้ถือหน่วยลงทุนแล้วให้บริษัทจัดการกองทุนรวมส่งสำเนาหนังสือนัดประชุมหรือหนังสือขอมติ พร้อมด้วยเอกสารดังกล่าวไปยังสำนักงานภายใน 3 วันทำการนับแต่วันส่งหนังสือนัดประชุมหรือหนังสือขอมติ
ข้อ 70 ในช่วงระยะเวลานับแต่วันส่งหนังสือนัดประชุมหรือหนังสือขอมติเพื่อควบรวมกองทุนรวมถึงวันที่มีการควบรวมกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจไม่ขายหน่วยลงทุน ตามคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวมที่ได้รับไว้แล้ว หรืออาจหยุดรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวได้ โดยการปิดประกาศเรื่องดังกล่าวไว้ ณ ที่ทำการทุกแห่งของบริษัทจัดการกองทุนรวม และจัดให้มีการประกาศเรื่องดังกล่าวไว้ ณ สถานที่ติดต่อทุกแห่งของผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน
ในช่วงระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำรายงานแสดงสถานะการลงทุนของวันทำการสุดท้ายของแต่ละสัปดาห์ของกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวม และจัดให้มีรายงานดังกล่าวไว้ ณ ที่ทำการของบริษัทจัดการกองทุนรวมและสถานที่ติดต่อทุกแห่งของผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถตรวจดูได้ และจัดสำเนาให้เมื่อผู้ถือหน่วยลงทุนร้องขอ
ข้อ 71 เมื่อผู้ถือหน่วยลงทุนมีมติให้มีการควบรวมกองทุนรวมตามข้อ 68 แล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขอรับความเห็นชอบต่อสำนักงาน พร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน ประกอบคำขอรับความเห็นชอบดังต่อไปนี้
(1) รายละเอียดของโครงการใหม่ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการที่จะควบรวมกองทุนรวม
(2) ร่างข้อผูกพันใหม่กับบริษัทจัดการกองทุนรวม ร่างสัญญาจัดตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมใหม่ และร่างหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนรวมใหม่หรือกองทุนรวมที่รับโอน รวมทั้งร่างข้อผูกพันและร่างสัญญาจัดตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมที่รับโอน ในกรณีที่มีการแก้ไขข้อผูกพันและสัญญาดังกล่าว
(3) หนังสือรับรองการได้มติของผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวม
(4) รายงานมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน สถานะการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวม ณ วันทำการสุดท้ายก่อนวันยื่นขอความเห็นชอบจากสำนักงาน
สำนักงานจะแจ้งผลการพิจารณาคำขอตามวรรคหนึ่งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 45 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน
ข้อ 72 เมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานให้ทำการควบรวมกองทุนรวมแล้ว ให้ถือว่าสำนักงานอนุมัติโครงการใหม่หรือให้ความเห็นชอบการแก้ไข เพิ่มเติมโครงการที่ควบรวมกองทุนดังกล่าว และให้บริษัทจัดการกองทุนรวมควบรวมกองทุนรวม
ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมกำหนดวันเลิกกองทุนรวมเดิมหรือกองทุนรวมที่โอนเป็นวันเดียวกันกับวันที่ควบรวมกองทุนรวมดังกล่าว
ข้อ 73 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมบอกกล่าวการควบรวมกองทุนรวมและการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการและข้อผูกพัน (ถ้ามี) ตลอดจนสิทธิและกำหนดเวลาในการใช้สิทธิของ ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเดิมหรือกองทุนรวมที่โอน ตามวิธีการดังต่อไปนี้ภายใน15 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(1) แจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายของกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนทราบเป็นหนังสือพร้อมสรุปสาระสำคัญของโครงการและข้อผูกพันใหม่หรือกองทุนรวมที่รับโอน วันที่จะควบรวมกองทุน วันเริ่มทำการซื้อขายหน่วยลงทุนโดยระบุวัน เดือน ปี อย่างชัดแจ้ง และสถานที่ติดต่อเพื่อสอบถามหรือรับข้อมูลเพิ่มเติม
(2) ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อย 2 ฉบับเป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน
ในกรณีที่เป็นการรวมกองทุนรวมปิดกับกองทุนรวมปิด หรือกองทุนรวมปิดกับกองทุนรวมเปิด หากมีผลให้กองทุนรวมที่รับโอนเป็นกองทุนรวมเปิด นอกจากการแจ้งและประกาศ ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งและประกาศการได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนตามข้อ 68 วรรคสี่ด้วย
ข้อ 74 เมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมได้มีหนังสือแจ้งและประกาศการควบรวมกองทุนรวมตามข้อ 73 แล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามโครงการและข้อผูกพันเดิม หรือกองทุนรวมที่โอนในการให้ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเดิมหรือกองทุนรวมที่โอนเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใหม่หรือกองทุนรวมที่รับโอน แล้วแต่กรณี
สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเดิมหรือกองทุนรวมที่โอนที่คัดค้านหรือที่ไม่ได้ออกเสียงในการควบรวมกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีวิธีการในการให้สิทธิ แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวในการที่จะออกจากกองทุนรวมก่อนที่การควบรวมกองทุนรวมแล้วเสร็จ โดยวิธีการนั้นต้องมีระยะเวลาเพียงพอและเป็นธรรมแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าว ทั้งนี้ ให้คำนึงถึง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน และราคาขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในเวลาก่อนหน้าการควบรวมกองทุนรวม ตลอดจนโอกาสในการรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการควบรวมกองทุนรวมของผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวด้วย
ข้อ 75 ในกรณีของการควบกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใหม่ และซื้อหรือรับโอนทรัพย์สิน สิทธิ และหน้าที่ของกองทุนรวมเดิม ตามที่กำหนดในโครงการและข้อผูกพันใหม่มาเป็นของกองทุนรวมใหม่ ส่วนในกรณีของการรวมกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่รับโอน และซื้อหรือรับโอนทรัพย์สิน สิทธิ และหน้าที่ของกองทุนรวมที่โอนตามที่กำหนดในโครงการและข้อผูกพันที่รับโอนมาเป็นของกองทุนรวมที่รับโอน ทั้งนี้ สำหรับการซื้อหรือรับโอนสิทธิเรียกร้องที่อยู่ในระหว่างการฟ้องคดี ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการนั้น
ในกรณีที่กองทุนรวมเดิมหรือกองทุนรวมที่โอนเป็นเจ้าหนี้ซึ่งมีหลักประกัน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเพื่อให้หลักประกันนั้นตกเป็นหลักประกันแก่กองทุนรวมใหม่หรือกองทุนรวมที่รับโอนด้วย
ข้อ 76 ในการขายหน่วยลงทุนในช่วงระยะเวลานับแต่วันส่งหนังสือนัดประชุมหรือหนังสือขอมติไปยังผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการควบรวมกองทุนรวม ถึงวันที่มีการควบรวมกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องเปิดเผยข้อมูลตามข้อ 69 เกี่ยวกับการดำเนินการควบรวมกองทุนต่อผู้ที่สนใจจะลงทุนหรือผู้ลงทุน เพื่อให้ผู้ที่สนใจจะลงทุนหรือผู้ลงทุนรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับสถานะของ กองทุนรวมหากมีการควบรวมกองทุนรวมดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวด้วย
ข้อ 77 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญและส่วนข้อมูลโครงการที่เป็นปัจจุบันของกองทุนรวมใหม่หรือกองทุนรวมที่รับโอน โดยระบุวันที่มีการควบรวมกองทุนรวม รวมทั้งประวัติความเป็นมาโดยสรุปของกองทุนรวมใหม่หรือกองทุนรวมที่รับโอนไว้ด้วย และให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดส่งหนังสือชี้ชวนดังกล่าวให้สำนักงานไม่น้อยกว่า 1 วันทำการก่อนการเริ่มจัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญให้ประชาชน
ข้อ 78 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมส่งหนังสือแจ้งสถานะการเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใหม่หรือกองทุนรวมที่รับโอน ไปยังผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใหม่หรือกองทุนรวมที่รับโอน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ควบรวมกองทุนรวมแล้วเสร็จ
ส่วนที่ 11
การดำเนินการในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้
หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
ผิดนัดชำระหนี้
_____________________
ข้อ 79 ในส่วนนี้
“สิทธิเรียกร้อง” หมายความว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
“เงินได้สุทธิจากทรัพย์สินอื่นที่ได้จากการรับชำระหนี้” หมายความว่า เงินได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น รายได้ที่เกิดจากการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน ตลอดจนดอกผลที่ได้จากทรัพย์สินดังกล่าว และเงินสำรอง (ถ้ามี) หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการได้มา การมีไว้ หรือการจำหน่ายทรัพย์สินนั้น
“เงินสำรอง” หมายความว่า จำนวนเงินที่ตั้งสำรองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น
ข้อ 80 ในการจัดการกองทุนรวม หากมีการผิดนัดชำระหนี้หรือมีพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนนี้ เว้นแต่สำนักงานจะผ่อนผันเป็นอย่างอื่น
ข้อ 81 กรณีกองทุนรวมเปิดที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้บันทึกมูลค่าตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็น 0 ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันที่ บริษัทจัดการกองทุนรวมได้บันทึกมูลค่าตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็น 0 เป็นผู้มีสิทธิในเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินอื่นที่ได้จากการรับชำระหนี้ เว้นแต่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้ดำเนินการตามข้อ 82 ก่อนแล้ว
ข้อ 82 ในกรณีที่มีพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะดำเนินการให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายที่มีชื่อ อยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันที่มีพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ เป็นผู้มีสิทธิในเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินอื่นที่ได้จากการรับชำระหนี้ก็ได้ ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าว บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ต้องนำตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้องนั้นมารวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
ข้อ 83 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้ปฏิบัติตามข้อ 81 หรือข้อ 82 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งประเภท จำนวน ชื่อผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง และเงินสำรอง (ถ้ามี) รวมทั้งวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมบันทึกมูลค่าตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็น 0 หรือวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบถึงพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ แล้วแต่กรณี ไปยังสำนักงานภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้บันทึกมูลค่าตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็น 0 หรือนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบถึงพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้ปฏิบัติตามข้อ 81 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีรายละเอียดตามวรรคแรกไว้ที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัทจัดการกองทุนรวม ตลอดจนสถานที่ติดต่อทุกแห่งของผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนที่ใช้ในการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้แจ้งสำนักงานเป็นระยะเวลา อย่างน้อย 30 วันด้วย
ข้อ 84 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมิได้ดำเนินการตามข้อ 81 หรือข้อ 82 แล้วแต่กรณี บริษัทจัดการกองทุนรวมจะรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นที่มิใช่หลักประกันเพื่อ องทุนรวมได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) บริษัทจัดการกองทุนรวมได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นไว้ในข้อผูกพัน
(2) ก่อนการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นที่มิใช่หลักประกันในแต่ละครั้ง บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหน่วยลงทุนตามมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการนั้น หรือได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ โดยผู้ดูแลผลประโยชน์ ได้ตรวจสอบและแสดงความเห็นพร้อมเหตุผลว่าในขณะนั้นการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนมากกว่าการถือหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้องนั้น
ข้อ 85 ในการขอความเห็นชอบจากผู้ถือหน่วยลงทุนหรือผู้ดูแลผลประโยชน์ตามข้อ 84 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่กองทุนรวมจะได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น มูลค่าของทรัพย์สิน ประมาณการค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์สิน และค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายทรัพย์สิน เป็นต้น พร้อมเหตุผลและความจำเป็นในการรับชำระหนี้ รวมทั้งต้องจัดให้มีหรือจัดทำเอกสารหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เอกสารหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น
(2) บทวิเคราะห์และเหตุผลประกอบบทวิเคราะห์ที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำ ซึ่งแสดงถึงพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้
ข้อ 86 เมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับทรัพย์สินมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นเพื่อกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งประเภท จำนวน และชื่อผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับทรัพย์สินมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น พร้อมทั้ง รายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้รับโดยมีสาระสำคัญอย่างน้อยเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว มูลค่าทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น ไปยังสำนักงานภายใน 15 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา
(2) จัดให้มีรายละเอียดตามวรรคหนึ่ง (1) ไว้ที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัทจัดการกองทุนรวม ตลอดจนสถานที่ติดต่อทุกแห่งของผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน ที่ใช้ในการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้แจ้งสำนักงานตามวรรคหนึ่ง (1) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน
กรณีเป็นกองทุนรวมปิด นอกจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมระบุไว้ในการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนในครั้งถัดจากวันที่ ได้รับทรัพย์สินนั้นมาว่า กองทุนรวมได้รับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นซึ่งผู้ลงทุนสามารถขอดูรายละเอียดได้ที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัทจัดการกองทุนรวม ทั้งนี้ ให้ระบุไว้ในการประกาศดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3 ครั้งติดต่อกัน
ข้อ 87 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมกำหนดราคาทรัพย์สินที่กองทุนรวมได้รับมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นเพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ข้อ 88 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมที่มีการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้ดำเนินการตามข้อ 81 หรือข้อ 82 บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ต้องนำทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น และเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินอื่นที่ได้จากการรับชำระหนี้ มารวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
(2) กรณีอื่นนอกเหนือจาก (1) บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องนำทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น มารวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
ข้อ 89 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น ดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้ดำเนินการตามข้อ 81 หรือข้อ 82 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีสิทธิในเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินอื่นที่ได้จากการรับชำระหนี้ตกลงรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินดังกล่าวแทนเงิน ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อผูกพันและตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ในระหว่างที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยังไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวก็ได้
(2) กรณีอื่นนอกเหนือจากวรรคหนึ่ง (1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) กรณีเป็นทรัพย์สินประเภทที่กองทุนรวมนั้นสามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมก็ได้
(ข) กรณีเป็นทรัพย์สินประเภทที่กองทุนรวมนั้นไม่สามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ และในระหว่างที่บริษัทยังไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทอาจจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวก็ได้
ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์สิน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายจากทรัพย์สินของกองทุนรวม เว้นแต่กรณีกองทุนรวมเปิดที่บริษัทจัดการกองทุนรวมบันทึกมูลค่าตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็น 0 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายจากเงินสำรอง รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการบริหารทรัพย์สินนั้น
ข้อ 90 เมื่อมีเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินอื่นที่ได้จากการรับชำระหนี้ในแต่ละครั้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเฉลี่ยเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น คืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดตามข้อ 81 หรือข้อ 82 แล้วแต่กรณี ภายใน 45 วันนับแต่วันที่มีเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ และให้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการเฉลี่ยเงินคืนไปยังสำนักงานภายใน 15 วันทำการนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้เฉลี่ยเงินคืน เว้นแต่สำนักงานจะผ่อนผันระยะเวลาการเฉลี่ยเงินคืนเป็นอย่างอื่น
ในการเฉลี่ยเงินคืนในแต่ละครั้งตามวรรคหนึ่ง หากบริษัทจัดการกองทุนรวมมีเหตุผลแสดงให้เห็นว่าเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินอื่นที่ได้จากการรับชำระหนี้ไม่คุ้มกับภาระค่าใช้จ่ายในการเฉลี่ยเงินคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจนำเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ดังกล่าวไปรวมจ่ายในโอกาสแรกที่การเฉลี่ยเงินคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะคุ้มกับภาระค่าใช้จ่ายก็ได้ ทั้งนี้ หากได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นจนครบถ้วนแล้ว และปรากฏว่าเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินอื่นที่ได้จากการรับชำระหนี้นั้นไม่คุ้มกับภาระค่าใช้จ่ายในการเฉลี่ยเงินคืน บริษัทอาจนำเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินอื่นที่ได้จากการรับชำระหนี้ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมก็ได้
บริษัทจัดการกองทุนรวมจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคสองได้ต่อเมื่อได้ระบุรายละเอียดหลักเกณฑ์ตามวรรคสองไว้ในข้อผูกพันแล้ว
ข้อ 91 กองทุนรวมเปิดที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้บันทึกมูลค่าตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็น 0 หากต่อมาปรากฏว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับชำระหนี้ตามตราสารหนี้ หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นเงิน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามความในข้อ 90 โดยอนุโลม
ส่วนที่ 12
การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุม
ผู้ถือหุ้นในนามกองทุนรวม
_____________________
ข้อ 92 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทใดเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียง ของผู้ถือหุ้นในนามกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเรื่องที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประโยชน์ของกองทุนรวม
(2) เปิดเผยแนวทางในการใช้สิทธิออกเสียงและการดำเนินการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นต่อผู้ลงทุนด้วยวิธีการที่เหมาะสมและมีสาระอย่างเพียงพอ
ส่วนที่ 13
การจ่ายเงินปันผล
_____________________
ข้อ 93 การจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมให้จ่ายได้จากกำไรสะสมหรือกำไรสุทธิ เมื่อกองทุนรวมมีกำไรสะสมหรือมีกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผล และการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้กองทุนรวมมีผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินปันผลนั้น
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมพิจารณาให้มีการจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมใด ให้บริษัทประกาศการจ่ายเงินปันผล วันปิดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการจ่ายเงินปันผล และอัตราเงินปันผลโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อย 1 ฉบับ เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบข้อมูลดังกล่าวแทนการประกาศในหนังสือพิมพ์ก็ได้
(2) ดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบถึงการจ่ายเงินปันผล
(3) ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน และผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนชนิดไม่ระบุชื่อผู้ถือเมื่อได้รับการร้องขอ
ในกรณีกองทุนรวมเปิด บริษัทจัดการกองทุนรวมจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนด้วยวิธีการที่ต่างกันสำหรับหน่วยลงทุนที่ขายในช่วงระยะเวลาที่ต่างกันได้ ต่อเมื่อได้กำหนด กรณีดังกล่าวไว้ในโครงการ และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนดำเนินการจ่ายเงินปันผลในแต่ละครั้งแล้ว
ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ใช้สิทธิขอรับเงินปันผลจำนวนใดภายในอายุความใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ห้ามบริษัทจัดการกองทุนรวมนำเงินปันผล จำนวนดังกล่าวไปใช้เพื่อการอื่นใดนอกจากเพื่อประโยชน์ของกองทุนรวมนั้น
ข้อ 94 ห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนโดยออกเป็นหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
ส่วนที่ 14
ค่าธรรมเนียม
_____________________
ข้อ 95 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เงินตอบแทนอื่นใดหรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควร จากผู้ซื้อหน่วยลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุน ผู้ขายคืนหน่วยลงทุน หรือกองทุนรวมได้ต่อเมื่อมีการกำหนดอัตราและวิธีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เงินตอบแทนอื่นใด หรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ในโครงการและหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นไป ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการโฆษณาจากกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายขั้นสูงที่จะเรียกเก็บจากกองทุนรวม และเรียกเก็บได้ไม่เกินอัตราดังกล่าว
(2) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการ ให้เลือกปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
(ก) เรียกเก็บเป็นจำนวนคงที่ หรือเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินหรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
(ข) เรียกเก็บโดยอิงกับผลการดำเนินงาน (performance based management fee) ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด
(3) เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดในแต่ละครั้งจากผู้ลงทุน แทนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายรายปีจากกองทุนรวม
ค่าธรรมเนียม เงินตอบแทน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่สามารถประมาณการได้ซึ่งเรียกเก็บจากกองทุนรวม เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงของยอดรวมค่าธรรมเนียม เงินตอบแทน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่สามารถประมาณการได้ ที่ระบุไว้ในโครงการและหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
ข้อ 96 ในกรณีที่กองทุนรวมมีมูลค่าน้อยกว่า 50 ล้านบาท ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมกำหนดวิธีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินหรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมเท่านั้น
ในกรณีที่มูลค่าของกองทุนรวมในขณะจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท หากต่อมากองทุนรวมดังกล่าวมีมูลค่าลดลงน้อยกว่า 50 ล้านบาท ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินหรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมไว้อยู่แล้ว ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นอัตราร้อยละที่ไม่สูงกว่าอัตราร้อยละของค่าธรรมเนียมเดิมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมเรียกเก็บในช่วงเวลาที่กองทุนรวมมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทโดยคำนวณตามมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุน
(2) ในกรณีอื่นนอกเหนือจากกรณีตามวรรคสอง (1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งในอัตราที่แสดงได้ว่าเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
มูลค่าของกองทุนรวมตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คำนวณตามมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุน
ข้อ 97 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้ระบุไว้ในโครงการอย่างชัดเจนแล้วว่าจะมีการลดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่าย ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปิดประกาศการลดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายไว้ที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัทจัดการกองทุนรวมและผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนที่ใช้เป็นสถานที่ในการซื้อขายหน่วยลงทุน
การลดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายให้แตกต่างไปจากโครงการ ให้ถือว่าสำนักงานให้ความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการในเรื่องดังกล่าวเมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ปิดประกาศการลดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายไว้ที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัทจัดการกองทุนรวมและผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนที่ใช้เป็นสถานที่ในการซื้อขายหน่วยลงทุน
ข้อ 98 ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเปิดซึ่งโครงการได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากมูลค่าขั้นสูงของค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเดิมตามที่ระบุไว้ล่าสุดในโครงการ และต่อมาบริษัทจัดการกองทุนรวมจะดำเนินการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามที่ระบุไว้นั้น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อย 1 ฉบับเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน
(2) ติดประกาศไว้ที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัทจัดการกองทุนรวมและของผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่ใช้เป็นสถานที่ในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
ในกรณีที่เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกินกว่าอัตราร้อยละ 5 ของค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเดิมตามที่ระบุไว้ล่าสุดในโครงการ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ต่อเมื่อได้รับมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
ในกรณีของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแทนการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) ก็ได้
ข้อ 99 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายตามข้อ 97 หรือข้อ 98 ให้สำนักงานทราบภายใน 15 วันนับแต่วันเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่าย
ส่วนที่ 15
การเลิกกองทุนรวม
_____________________
ข้อ 100 ในส่วนนี้คำว่า “กองทุนรวมหน่วยลงทุน” และ “กองทุนรวมฟีดเดอร์” ให้หมายความว่า กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมหน่วยลงทุนหรือ กองทุนรวมฟีดเดอร์ตามประกาศการลงทุน แล้วแต่กรณี
ข้อ 101 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเลิกกองทุนรวมปิด เมื่อปรากฏกรณ์ดังต่อไปนี้ ภายในวันทำการถัดจากวันที่ทราบเหตุดังกล่าว
(1) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปหรือกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย จำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่า 35 ราย
(2) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน จำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่า 10 ราย เว้นแต่เป็นกองทุนรวมที่มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนทั้งหมดให้แก่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนประกันสังคม
ข้อ 102 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเลิกกองทุนรวมเปิดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 105 เมื่อปรากฏกรณีดังนี้
(1) จำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเป็นจำนวนดังต่อไปนี้ ในวันทำการใด
(ก) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปหรือกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย จำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่า 35 ราย
(ข) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน จำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่า 10 ราย เว้นแต่เป็นกองทุนรวมที่มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนทั้งหมดให้แก่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนประกันสังคม
(2) มีการขายคืนหน่วยลงทุนในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ แต่ไม่รวมถึงกรณีที่เป็นการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมหน่วยลงทุน และกองทุนรวมฟีดเดอร์ ทั้งนี้ ในกรณีกองทุนรวมหน่วยลงทุนและกองทุนรวมฟีดเดอร์ให้ปฏิบัติตามข้อ 104
(ก) มีการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิ ณ วันใดวันหนึ่งเกินกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
(ข) มียอดรวมการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิในช่วงระยะเวลา 5 วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนใดติดต่อกันคิดเป็นจำนวนเกินกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
ในกรณีที่กองทุนรวมดังกล่าวเป็นกองทุนรวมเปิดที่มีกำหนดระยะเวลาการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเป็นช่วง (interval fund) การพิจารณาระยะเวลาตาม (2) (ข) วรรคหนึ่ง ให้พิจารณาจากเฉพาะในช่วงระยะเวลาเดียวกันซึ่งกองทุนรวมเปิดให้รับซื้อคืนหน่วยลงทุนเท่านั้น
ข้อ 103 ในกรณีของกองทุนรวมหน่วยลงทุนและกองทุนรวมฟีดเดอร์ หากปรากฏกรณีที่กองทุนอื่นที่กองทุนรวมหน่วยลงทุนดังกล่าวไปลงทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามข้อ 104
(1) มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันใดวันหนึ่งลดลงเกินกว่า 2 ใน 3 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนอื่นดังกล่าว
(2) ยอดรวมของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนอื่นดังกล่าวลดลงในช่วงระยะเวลา 5 วันทำการใดติดต่อกัน คิดเป็นจำนวนเกินกว่า 2 ใน 3 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนอื่นนั้น
กองทุนอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้หมายถึงเฉพาะกองทุนที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และให้หมายความรวมถึงกองทุนที่มีลักษณะเป็นการลงทุนร่วมกันของผู้ลงทุน ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศและไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปแบบอื่นใด เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ (REIT) โครงการจัดการลงทุน (collective investment scheme) เป็นต้น
(2) เป็นกองทุนที่กองทุนรวมหน่วยลงทุนหรือกองทุนรวมฟีดเดอร์ มีการลงทุนในกองทุนตามวรรคสอง (1) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนอื่นนั้น
ข้อ 104 ในกรณีที่กองทุนอื่นที่กองทุนรวมหน่วยลงทุนหรือกองทุนรวมฟีดเดอร์ไปลงทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงตามข้อ 103 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งเหตุที่กองทุนอื่นมีมูลค่าทรัพย์สินลดลงตามข้อ 103 พร้อมแนวทางการดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม ให้สำนักงานและ ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่มีการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนอื่นที่ปรากฏเหตุตามข้อ 103
(2) ดำเนินการตามแนวทางการดำเนินการตาม (1) ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนอื่นที่ปรากฏเหตุตามข้อ 103
(3) รายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานทราบภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ดำเนินการแล้วเสร็จ
(4) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของกองทุนรวมตาม (1) ต่อผู้ที่สนใจ จะลงทุน เพื่อให้ผู้ที่สนใจจะลงทุนรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับสถานะของกองทุนรวม ทั้งนี้ บริษัทจัดการ กองทุนรวมต้องดำเนินการให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวด้วย
ข้อ 105 เมื่อปรากฏกรณีตามข้อ 102 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ยุติการรับคำสั่งซื้อและคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ตามข้อ 102
(2) แจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนทราบโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน รวมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบด้วย ทั้งนี้ ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ตามข้อ 102
(3) จำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของกองทุนรวมเปิดดังกล่าวภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ตามข้อ 102 เพื่อรวบรวมเงินเท่าที่สามารถกระทำได้ เพื่อชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ
(4) ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนตามสัดส่วนจำนวนเงินที่รวบรวมได้ตามวรรคหนึ่ง (3) ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนภายใน 10 วันทำการนับแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ตามข้อ 102 และเมื่อได้ดำเนินการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนแล้วให้ถือว่าเป็นการเลิกกองทุนรวมเปิดนั้น
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) แล้ว หากมีหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินคงเหลืออยู่จากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (3) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการชำระบัญชีของกองทุนรวม
ข้อ 106 เมื่อจะมีการเลิกกองทุนรวมใดเพราะเหตุครบกำหนดอายุของโครงการหรือเพราะเหตุอื่นที่ทราบกำหนดการเลิกกองทุนรวมล่วงหน้า ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนรวมนั้นดังต่อไปนี้
(1) แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ดูแลผลประโยชน์และสำนักงานทราบ และแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบในกรณีที่หน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ก่อนวันเลิกกองทุนรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ
(2) ดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนและผู้ลงทุนทั่วไปทราบเรื่องดังกล่าวก่อนวันเลิกกองทุนรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ เช่น ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันแห่งท้องถิ่น เป็นต้น
(3) จำหน่ายทรัพย์สินของกองทุนรวมเพื่อรวบรวมเป็นเงินสด เงินฝากประเภทกระแสรายวัน เงินฝากประเภทออมทรัพย์ และตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีกำหนดระยะเวลาใช้เงินคืนเมื่อทวงถาม ให้เสร็จสิ้นก่อนวันเลิกกองทุนรวม
ส่วนที่ 16
การผ่อนผัน
_____________________
ข้อ 107 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันการปฏิบัติตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ต่อสำนักงานได้
(1) การเปลี่ยนตัวผู้ดูแลผลประโยชน์ตามข้อ 8 วรรคสาม
(2) การคำนวณและการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน หรือราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ตามข้อ 9 และข้อ 10
(3) ระยะเวลาการไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือการหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน ตามข้อ 28(2)
(4) การจัดทำและส่งรายงานรอบระยะเวลาบัญชีตามข้อ 35 รายงานรอบระยะเวลา 6 เดือนตามข้อ 36 และข้อมูลที่ต้องแสดงในรายงานดังกล่าวตามข้อ 37
(5) การประกาศการจ่ายเงินปันผลตามข้อ 93 วรรคสอง (1)
(6) ระยะเวลาการดำเนินการเมื่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนที่กองทุนรวมไปลงทุนมีมูลค่าลดลงตามข้อ 103 วรรคหนึ่ง (2) ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นความเห็นของผู้ดูแลผลประโยชน์มาเพื่อประกอบการพิจารณาของสำนักงานด้วย
(7) การดำเนินการเพื่อเลิกกองทุนรวมตามข้อ 105 วรรคหนึ่ง (4) หรือข้อ 106
หมวด 2
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับ
กองทุนรวมมีประกัน
_____________________
ข้อ 108 ในหมวดนี้
“กองทุนรวมมีประกัน” หมายความว่า กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนมีประกันตามประกาศการลงทุน
“ผู้ประกัน” หมายความว่า ผู้ที่ทำสัญญาประกันกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในการให้ประกันว่าผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่รับประกันไว้
“มติของผู้ถือหน่วยลงทุน” หมายความว่า มติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการ
ข้อ 109 เมื่อเกิดหรือรู้ว่าเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ทำให้ต้องจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ที่มีคุณสมบัติและมีข้อกำหนดตามสัญญาประกันในระดับที่ไม่ต่ำกว่าของผู้ประกันรายเดิม ณ ขณะทำสัญญาเดิมหรือตามที่กำหนดไว้ในข้อผูกพัน แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนให้จัดให้มีผู้ประกันรายใหม่เป็นอย่างอื่น
(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมได้สงวนสิทธิไว้ในโครงการว่า ในกรณีที่ปรากฏเหตุดังกล่าวบริษัทจัดการกองทุนรวมจะเลิกกองทุนรวมมีประกัน หรือจัดการกองทุนรวมดังกล่าวต่อไปโดยยกเลิกการประกันและเลิกใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน โดยถือว่าได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว
ในการขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเปิดเผยรายละเอียดซึ่งเป็นสาระสำคัญที่แตกต่างกันระหว่างผู้ประกันรายเดิมกับรายใหม่ และเรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนที่สืบเนื่องจากการเปลี่ยนผู้ประกันรายใหม่ ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบด้วย
ในกรณีที่การจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดของบริษัทจัดการกองทุนรวมเอง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนตัวผู้ประกันหรือที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ยังไม่อาจจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ให้แก่กองทุนรวมมีประกันหรือผู้ถือหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี
ข้อ 110 ในกรณีที่ปรากฏว่าการจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่จะมีผลทำให้ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีผู้ประกันเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 25 ของอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีผู้ประกันสำหรับงวดการประกันล่าสุด บริษัทจัดการกองทุนรวมจะจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ดังกล่าวได้ ต่อเมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมได้แก้ไขเพิ่มเติมโครงการในเรื่องดังกล่าวโดยต้องได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน เว้นแต่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้สงวนสิทธิไว้ในโครงการตามข้อ 109 วรรคหนึ่ง (2)
ข้อ 111 ในกรณีที่ปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 112
(1) บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนตามข้อ 109 วรรคหนึ่ง (1) หรือข้อ 110
(2) ค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่สูงกว่าผลประโยชน์ที่กองทุนรวมมีประกันจะได้รับ
(3) บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด
ข้อ 112 เมื่อปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ 111 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เลิกกองทุนรวมมีประกันเมื่อได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน
(2) ยกเลิกการประกันเมื่อได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนและจัดการกองทุนรวมดังกล่าวต่อไป โดยให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเลิกใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน และห้ามบริษัทจัดการกองทุนรวมโฆษณาหรือเปิดเผยว่าเป็นกองทุนรวมมีประกันอีกต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่งไม่เป็นผลให้บริษัทจัดการกองทุนรวมหลุดพ้นจากความรับผิดตามข้อ 109 วรรคสาม และบริษัทจัดการกองทุนรวมยังต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับกองทุนรวมมีประกันและผู้ถือหน่วยลงทุนจนถึงวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนตามข้อ 109 วรรคหนึ่ง (1) ด้วย
หมวด 3
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับ
กองทุนรวมวายุภักษ์
_______________________
ข้อ 113 ในหมวดนี้ คำว่า “กองทุนรวมวายุภักษ์” หมายความว่า กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2546
ข้อ 114 ในการจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจแต่งตั้งคณะกรรมการการลงทุน โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบายการลงทุนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในภาพกว้าง เพื่อให้การลงทุนเป็นไปโดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนรวมวายุภักษ์ ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมระบุรายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการการลงทุนและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการลงทุนไว้ในโครงการด้วย
ข้อ 115 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจรับชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์เป็นทรัพย์สินอื่นแทนเงินสดได้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นการขายหน่วยลงทุนให้แก่กระทรวงการคลังซึ่งได้กระทำภายใน 30 วันนับแต่วันที่กองทุนรวมวายุภักษ์เปลี่ยนสภาพจากกองทุนรวมปิดเป็นกองทุนรวมเปิด
(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมมีการระบุวิธีการรับชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนในลักษณะดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้วในโครงการ
ข้อ 116 มิให้นำความในข้อ 20 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับกองทุนรวมวายุภักษ์ ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติต่อการรับคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่กองทุนรวมวายุภักษ์มีการสงวนสิทธิหรือกำหนดเงื่อนไขในการจำกัดจำนวนการรับคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการให้มีการ ระบุการสงวนสิทธิหรือเงื่อนไขดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในโครงการด้วย
(2) ในกรณีที่เป็นการสงวนสิทธิในการจำกัดจำนวนการรับคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน หากผู้ถือหน่วยลงทุนมีคำสั่งขายคืนเป็นจำนวนรวมมากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในโครงการ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการตามคำสั่งขายคืนดังกล่าวโดยวิธีการจัดสรรเฉลี่ยตามสัดส่วนจำนวนหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีคำสั่งขายคืนทั้งหมด (pro rata basis)
ข้อ 117 มิให้นำความในข้อ 94 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมวายุภักษ์ ในกรณีที่กองทุนรวมดังกล่าวมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนด้วยการออกเป็นหน่วยลงทุนหรือจ่ายเป็นทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นกระทรวงการคลังหรือผู้ถือหน่วยลงทุนชนิดเดียวกับกระทรวงการคลัง
(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมมีการระบุวิธีการในการจ่ายเงินปันผลในลักษณะดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้วในข้อผูกพัน
ข้อ 118 มิให้นำความในข้อ 93 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมวายุภักษ์ ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมวายุภักษ์ได้จากกำไรสะสมหรือกำไรสุทธิเมื่อ กองทุนรวมมีกำไรสะสมจนถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผลหรือมีกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผลนั้น หรือจ่ายได้จากสำรองการจ่ายเงินปันผล
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมพิจารณาให้มีการจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมวายุภักษ์ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมประกาศการจ่ายเงินปันผล วันปิดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการจ่ายเงินปันผล และอัตราเงินปันผลโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อย 1 ฉบับ
(2) ดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบถึงการจ่ายเงินปันผล
(3) ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ดูแลผลประโยชน์และผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน และผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนชนิดไม่ระบุชื่อผู้ถือเมื่อได้รับการร้องขอ
ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ใช้สิทธิขอรับเงินปันผลจำนวนใดภายในอายุความใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ห้ามบริษัทจัดการกองทุนรวมนำเงินปันผล จำนวนดังกล่าวไปใช้เพื่อการอื่นใดนอกจากเพื่อประโยชน์ของกองทุนรวมวายุภักษ์
ข้อ 119 มิให้นำความในข้อ 102 มาใช้บังคับในกรณีที่กองทุนรวมวายุภักษ์มีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเพื่อจำกัดความเสียหายต่อผู้ถือหน่วยลงทุนตามที่ระบุไว้ในโครงการจนเป็นเหตุให้จำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่า 35 ราย
หมวด 4
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
__________________
ส่วนที่ 1
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพทุกประเภท
__________________
ข้อ 120 ในหมวดนี้ คำว่า “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามประกาศการลงทุน
ข้อ 121 ในการจัดการกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีระบบในการตรวจสอบการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน
ข้อ 122 มิให้นำความในข้อ 93 มาใช้บังคับ และห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
ข้อ 123 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุน ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ส่วนที่ 2
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงิน
จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
__________________
ข้อ 124 ในส่วนนี้
“กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หมายความว่า
(1) เงินที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพรับโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(2) เงินตาม (1) ที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพรับโอนต่อเนื่องจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น
(3) ผลประโยชน์อันเกิดจากเงินตาม (1) และ (2)
“เงินสะสม” หมายความว่า เงินสะสมตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 125 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีระบบงานเพื่อแยกส่วนของผู้ถือหน่วยลงทุนที่รองรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกจากส่วนของผู้ถือหน่วยลงทุนทั่วไปของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
(2) จัดให้มีระบบงานในการจำแนกเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละรายออกเป็น 2 ส่วนดังนี้
(ก) เงินสะสม
(ข) เงินอื่นที่ไม่ใช่เงินสะสม
(3) จัดเก็บข้อมูลของผู้ถือหน่วยลงทุนเกี่ยวกับอายุ และระยะเวลาการเป็นสมาชิกหรือการเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี เพื่อการนับอายุต่อเนื่อง
ข้อ 126 ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนรายใดไม่ประสงค์จะลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนรายดังกล่าวทราบ
ข้อ 127 ในกรณีผู้ถือหน่วยลงทุนประสงค์จะโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางส่วนไปยังกองทุนรวมอื่น ให้สามารถทำได้โดยโอนเงินสะสมและเงินอื่นที่ไม่ใช่เงินสะสมในอัตราที่เท่ากัน
ข้อ 128 ในการเปิดเผยข้อมูลมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมระบุไว้ด้วยว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิดังกล่าวได้รวมเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ด้วย
บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องไม่นำข้อมูลในส่วนของเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณเป็นข้อมูลเงินลงทุนและภาพรวมอุตสาหกรรมในธุรกิจกองทุนรวม
หมวด 5
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวม
สำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ
________________________
ข้อ 129 ในหมวดนี้ คำว่า “กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ” หมายความว่า กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศตามประกาศการลงทุน
ข้อ 130 มิให้นำความในข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 11 ข้อ 93 วรรคสอง และข้อ 106 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ
มิให้นำความในข้อ 101(2) และข้อ 102(1) (ข) มาใช้บังคับกับกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศซึ่งจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมกับสำนักงานก่อนวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และกองทุนรวมดังกล่าวมีผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นบุคคลต่างประเทศที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนรวม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่านั้น
หมวด 6
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวม
หุ้นระยะยาว
____________________
ข้อ 131 ในหมวดนี้ คำว่า “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” หมายความว่า กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามประกาศการลงทุน
ข้อ 132 ในการจัดการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีระบบดังต่อไปนี้
(1) ระบบในการขายคืนหน่วยลงทุนตามที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(2) ระบบในการตรวจสอบการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน
ข้อ 133 ในการโอนย้ายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอื่น บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องโอนเงินลงทุนในหน่วยลงทุน พร้อมด้วยผลประโยชน์ทั้งหมดภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับคำสั่งจากผู้ถือหน่วยลงทุน หรือภายใน 5 วันทำการเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามข้อ 135 และผู้ถือหน่วยลงทุน ได้แสดงเจตนาไว้ในใบจองซื้อหน่วยลงทุนหรือในใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน
ข้อ 134 มิให้นำความในข้อ 93 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว จะจ่ายได้เมื่อกองทุนรวมมีกำไรสะสมและจะต้อง ไม่ทำให้กองทุนรวมมีผลขาดทุนสะสมในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินปันผลนั้น
การจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวในแต่ละครั้ง ให้เลือกจ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) จ่ายจากเงินปันผลหรือดอกเบี้ยรับที่ได้รับจากทรัพย์สินของกองทุนรวม
(2) จ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของกำไรสะสมดังกล่าว หรือกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผลนั้น แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า
ข้อ 135 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามข้อ 136 เมื่อปรากฏว่ากองทุนรวมหุ้นระยะยาวมีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่า 35 รายในวันทำการใด ๆ และมิให้นำความในข้อ 102 และข้อ 105 มาใช้บังคับ
ข้อ 136 เมื่อเกิดเหตุการณ์ตามข้อ 135 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ยุติการรับคำสั่งซื้อและคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนตั้งแต่วันทำการที่ปรากฏเหตุการณ์ตามข้อ 135
(2) แจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมจะดำเนินการโอนย้ายการลงทุนตามข้อ 133 และดำเนินการตามที่กำหนดในข้อนี้ รวมทั้งให้แจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบ ทั้งนี้ ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ตามข้อ 135
(3) จำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของกองทุนรวมดังกล่าวภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ตามข้อ 135 เพื่อรวบรวมเงินเท่าที่สามารถกระทำได้และชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มิได้แสดงเจตนาโอนย้ายการลงทุนไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอื่นโดยอัตโนมัติ
(4) ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มิได้แสดงเจตนาโอนย้ายการลงทุนไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอื่นตามสัดส่วนจำนวนเงินที่รวบรวมได้ตามวรรคหนึ่ง (3) ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนภายใน 10 วันทำการนับแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ตามข้อ 135 และเมื่อได้ดำเนินการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนแล้วให้ถือว่าเป็นการเลิกกองทุนรวมนั้น
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว หากมีหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินคงเหลืออยู่จากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (3) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการชำระบัญชีของกองทุนรวม
หมวด 7
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับ
กองทุนรวมอีทีเอฟ
______________________
ข้อ 137 ในหมวดนี้
“กองทุนรวมอีทีเอฟ” หมายความว่า กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมอีทีเอฟตามประกาศการลงทุน
ข้อ 138 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟจากผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นผู้ลงทุนทั่วไปได้เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขในการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่กำหนดไว้ในโครงการ
ข้อ 139 ในกรณีของกองทุนรวมอีทีเอฟที่ตั้งเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคตามโครงการจัดตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่ 2 (Asian Bond Fund 2) ตามมติของที่ประชุมกลุ่มธนาคารกลางสมาชิก Executives Meeting of East Asia and Pacific Central Banks (EMEAP) บริษัทจัดการกองทุนรวมจะกำหนดปริมาณหรือมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจะรับซื้อคืนจากผู้ถือหน่วยลงทุนได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ข้อ 140 ในกรณีที่มูลค่าที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่กำหนดไว้ตามข้อ 10 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) จะทำให้มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ใช้ชำระเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันการใช้มูลค่าในการคำนวณราคาขายและราคารับซื้อคืนให้แตกต่างจากมูลค่าที่กำหนดไว้ตามข้อดังกล่าวต่อสำนักงานได้
ข้อ 141 ในระหว่างที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้ ด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
(1) ข้อมูลความเคลื่อนไหวของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมอีทีเอฟโดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) มูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่เปิดเผยไม่ต้องได้รับการรับรองจากผู้ดูแลผลประโยชน์ และไม่ต้องใช้ตัวเลขทศนิยมตามหลักเกณฑ์ในข้อ 11
(ข) ความถี่ในการเปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต้องสอดคล้องกับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าหรือราคาของปัจจัยอ้างอิงของกองทุนรวมอีทีเอฟ
(2) ข้อมูลความคลาดเคลื่อน (tracking errors) ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมอีทีเอฟจากมูลค่าของปัจจัยอ้างอิงสุดท้าย (ultimate underlying) โดยให้เปิดเผยก่อนการเปิดซื้อขายหลักทรัพย์รอบแรกของตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 142 มิให้นำความในข้อ 102(1) และข้อ 105 มาใช้บังคับกับกรณีที่เป็นกองทุนรวมอีทีเอฟ
ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามข้อ 143 เมื่อปรากฏว่าจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมมีไม่ถึง 35 รายภายหลังจากวันที่เริ่มซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดรอง
ข้อ 143 เมื่อปรากฏกรณีตามข้อ 142 วรรคสอง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ยุติการรับคำสั่งซื้อและคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบเหตุตามข้อ 142 วรรคสอง
(2) แจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนทราบโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน รวมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบด้วย ทั้งนี้ ภายในวันถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบเหตุตามข้อ 142 วรรคสอง
(3) จำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของกองทุนรวมดังกล่าวภายในวันถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบเหตุตามข้อ 142 วรรคสอง เพื่อรวบรวมเงินเท่าที่ สามารถกระทำได้ เพื่อชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ
(4) ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนตามสัดส่วนจำนวนเงินที่รวบรวมได้ตามวรรคหนึ่ง (3) ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนภายใน 10 วันทำการนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบเหตุตามข้อ 142 วรรคสอง และเมื่อได้ดำเนินการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนแล้วให้ถือว่าเป็นการเลิกกองทุนรวมนั้น
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว หากมีหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินคงเหลืออยู่จากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (3) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการชำระบัญชีของกองทุนรวม
หมวด 8
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม
ที่มุ่งลงทุนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
____________________________
ข้อ 144 ในหมวดนี้ คำว่า “กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม” และ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวม หมวดอุตสาหกรรมหรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามประกาศการลงทุน แล้วแต่กรณี
ข้อ 145 ความในหมวดนี้มิให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
ข้อ 146 ในกรณีที่กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมที่มุ่งลงทุนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอื่นในลักษณะเดียวกันจากการลงทุนในทรัพย์สินประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมนำเงินดังกล่าวจ่ายเป็นเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม อย่างน้อย 1 ครั้งในรอบปีบัญชีที่ได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 147 และข้อ 148
(1) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
(2) หน่วยทรัสต์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
(3) ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรง หรือโดยอ้อมผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนตาม (1) หรือหน่วยทรัสต์ตาม (2) รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิล่าสุด ณ วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อจ่ายประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนนั้น
(4) หน่วยของกองทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรง หรือโดยอ้อมผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนตาม (1) หน่วยทรัสต์ตาม (2) หรือตราสารตาม (3) รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิล่าสุด ณ วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อจ่ายประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนนั้น
ข้อ 147 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่าผลลัพธ์ที่คำนวณจากประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับหักด้วยค่าใช้จ่ายทุกประเภทในรอบระยะเวลาบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผล เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่กองทุนรวมมีกำไรสุทธิหรือกำไรสะสมในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินปันผล แต่รายการกำไรสุทธิหรือกำไรสะสมทั้ง 2 รายการดังกล่าวมียอดเงินน้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่คำนวณได้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลเท่ากับยอดกำไรสุทธิหรือกำไรสะสมนั้น แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า
(2) กรณีที่เงินปันผลที่จะจ่ายเมื่อคำนวณแล้วเป็นจำนวนเงินน้อยกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจงดจ่ายเงินปันผลดังกล่าวก็ได้ ทั้งนี้ สำหรับกองทุนรวมที่มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลมากกว่า 1 ครั้งในรอบปีบัญชี ให้นำยอดเงินปันผลที่คำนวณได้น้อยกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วยลงทุนนั้นไปรวมคำนวณกับการจ่ายเงินปันผลในครั้งต่อไปของรอบปีบัญชีเดียวกันด้วย
ข้อ 148 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลตามหมวดนี้ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผล
ภาค 3
การจัดการกองทุนส่วนบุคคล
_______________________
หมวด 1
บททั่วไป
____________
ส่วนที่ 1
หลักเกณฑ์ทั่วไป
______________
ข้อ 149 เมื่อมีการลงนามในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้ ให้ลูกค้ารับทราบเป็นลายลักษณ์อักษรหรือผ่านทาง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ลูกค้าที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพปฏิเสธการรับทราบข้อมูล
(1) การประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนส่วนบุคคล
(ก) วิธีการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนส่วนบุคคลนั้น โดยอาจเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ที่สามารถอ้างอิงได้ ทั้งนี้ ให้ระบุสมมติฐานและข้อจำกัดในการประเมิน ผลการดำเนินงานดังกล่าวด้วย
(ข) ช่วงเวลาสำหรับการประเมินผลการดำเนินงานซึ่งต้องกำหนดให้มีการประเมินผลทุกเดือน
(2) ชื่อผู้รับฝากทรัพย์สิน รวมทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับฝากทรัพย์สิน
(3) การลงทุนและผลการดำเนินงานของกองทุนส่วนบุคคล
(4) ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนส่วนบุคคลที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
(5) ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือการก่อภาระผูกพันใด ๆ แก่ทรัพย์สินของลูกค้า การทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน และการทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์
(6) ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนส่วนบุคคลอื่นใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้าตามที่สำนักงานกำหนด
การเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่ง (3) (4) และ (6) ให้แก่ลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
มิให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับ
(1) การจัดการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(2) การจัดการกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
ข้อ 150 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเปิดเผยข้อมูลการลงทุนในตราสารตามข้อ 44 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ต่อลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้เปิดเผยข้อมูลการลงทุนดังกล่าวไว้ในรายงานรายเดือนและรายงานรายปีตามข้อ 161
ข้อ 151 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดทำรายงานการทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ตามข้อ 43 วรรคหนึ่ง โดยให้จัดเก็บรายงานดังกล่าวไว้ให้สำนักงานตรวจสอบได้
ข้อ 152 ในกรณีที่กองทุนส่วนบุคคลรายย่อยหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าวตามข้อ 45 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) และให้จัดส่งข้อมูลให้ลูกค้าหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี
เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคหนึ่ง คำว่า “กองทุนส่วนบุคคลรายย่อย” หมายความว่า กองทุนส่วนบุคคลที่ไม่ใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่มีมูลค่าทรัพย์สินของผู้ลงทุนต่ำกว่า 1 ล้านบาท
ข้อ 153 เมื่อสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลสิ้นสุดลง ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลส่งมอบหลักทรัพย์และทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลให้แก่ลูกค้าหรือผู้รับฝากทรัพย์สิน แล้วแต่กรณี ภายในระยะเวลาที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลและลูกค้าได้ตกลงกัน ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลส่งมอบหลักทรัพย์และทรัพย์สินโดยเร็วที่สุด
ข้อ 154 ให้นำความในข้อ 95 วรรคหนึ่ง (2) มาใช้บังคับกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการของบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลโดยอนุโลม
ส่วนที่ 2
การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของลูกค้า
________________________
ข้อ 155 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทใดเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล หากลูกค้าได้มอบหมายให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลปฏิบัติตามข้อ 92 โดยอนุโลม และดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีของกองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้รายงานการได้ใช้สิทธิออกเสียงให้ลูกค้าทราบเมื่อได้ดำเนินการใช้สิทธิออกเสียงแล้ว
(2) ในกรณีของกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้แจ้งให้ลูกค้าทราบไว้ในรายงานรายปีตามข้อ 161 ว่า ลูกค้าสามารถตรวจดูแนวทางในการใช้สิทธิออกเสียงและการดำเนินการใช้สิทธิออกเสียงได้โดยวิธีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้เปิดเผยข้อมูลไว้
ข้อ 156 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทใดเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล และลูกค้าไม่ได้มอบหมายให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีของกองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจะเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียงให้ลูกค้าทราบก็ได้
(2) ในกรณีของกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียงให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบ หรือขอรับมอบหมายจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อไปใช้สิทธิออกเสียงแทน
ส่วนที่ 3
การจัดทำและส่งรายงานต่อสำนักงาน
_________________________
ข้อ 157 ในส่วนนี้
“งานทะเบียนสมาชิกกองทุน” หมายความว่า งานที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนข้อมูลสมาชิกกองทุน และการจัดทำและจัดส่งรายงานแสดงยอดเงินสะสมของลูกจ้าง เงินสมทบ นายจ้างพร้อมทั้งผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบของลูกจ้างแต่ละราย
ข้อ 158 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดทำและส่งรายงานสถานะและการลงทุนของทุกกองทุนส่วนบุคคลเป็นรายเดือน ต่อสำนักงานตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนดภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป โดยให้จัดส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานจัดไว้ และดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับกับกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 159 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดทำรายงานการฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลไว้กับผู้รับฝากทรัพย์สินแต่ละราย ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายของแต่ละปี และจัดส่งให้สำนักงานภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวให้เป็นตามรูปแบบและวิธีการที่สำนักงานกำหนด
ข้อ 160 ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดทำและส่งข้อมูลการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังต่อไปนี้ ตามรูปแบบและวิธีการที่สำนักงานกำหนด
(1) รายงานรายละเอียดของหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่ทุกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนหรือมีไว้เป็นรายเดือน โดยให้จัดส่งภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป
(2) รายงานสถานะและการลงทุนของแต่ละกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน โดยให้จัดส่งภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป
(3) รายงานรายได้ ค่าใช้จ่าย และการเปลี่ยนแปลงส่วนของสมาชิกและนายจ้างของทุกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน โดยให้จัดส่งภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป
(4) รายงานรายละเอียดของแต่ละกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรายไตรมาส โดยให้จัดส่งภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดจากเดือนสุดท้ายของแต่ละไตรมาสการจัดส่งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลกระทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานจัดไว้ โดยดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ข้อ 161 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดทำและส่งรายงานรายเดือนและรายงานรายปีให้แก่ลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามประกาศสมาคมบริษัทจัดการกองทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำรายงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกค้า
ในการจัดทำรายงานรายเดือนและรายงานรายปีตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเปิดเผยอัตราการลงทุนสูงสุดต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนตามที่ระบุไว้ใน แผนการลงทุนสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้หรือที่ไม่ได้รับ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ข้อ 162 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานกำกับดูแลธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดทำและส่งข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามที่สำนักงานร้องขอ โดยข้อมูลที่จัดส่งให้เป็นไปตามรูปแบบ วิธีการ และภายในระยะเวลาที่สำนักงานแจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลทราบล่วงหน้า
ข้อ 163 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดทำและส่งข้อมูลการลงทุนหรือการจำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินซึ่งต้องมีการเคลื่อนย้ายเงินของกองทุนส่วนบุคคลออกจากประเทศหรือเข้ามาจากต่างประเทศ โดยให้จัดทำและส่งข้อมูลดังกล่าวตามแบบและวิธีการที่จัดไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน หรือตามรูปแบบอื่นใดที่สำนักงานแจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลทราบล่วงหน้าความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนส่วนบุคคลที่ลูกค้าได้ยื่นคำขอเพื่อนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศต่อธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง และกองทุนส่วนบุคคลที่มีลูกค้าเป็นบุคคลที่มีสัญชาติต่างด้าวเท่านั้น
ข้อ 164 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลส่งสำเนางบการเงินและรายงานการสอบบัญชีที่จัดทำขึ้นตามข้อ 168 ให้สำนักงานภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ประจำปีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และแสดงไว้ที่ทำการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตรวจดูได้ด้วย
หมวด 2
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
__________________________
ส่วนที่ 1
หลักเกณฑ์ทั่วไป
_________________
ข้อ 165 ในกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดให้สมาชิกมีสิทธิเลือกนโยบายการลงทุนได้ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) เสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและผลตอบแทนของนโยบายการลงทุนแต่ละนโยบายต่อคณะกรรมการกองทุนและสมาชิก เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกนโยบายการลงทุน ที่เหมาะสม
(2) จัดให้สมาชิกทำการประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 2
(3) จัดให้สมาชิกมีสิทธิเลือกนโยบายการลงทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เว้นแต่สมาชิกมีมติกำหนดเวลาในการใช้สิทธิไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ 166 ในกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ได้กำหนดให้สมาชิกมีสิทธิเลือกนโยบายการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวมีนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงตามข้อ 171 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าคณะกรรมการกองทุนและสมาชิก รับทราบและเข้าใจความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการลงทุนเป็นอย่างดีแล้ว ก่อนเข้าเป็นสมาชิกหรือก่อนที่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีการเปลี่ยนนโยบายการลงทุนเป็นนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าว
ข้อ 167 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลส่งรายงานจำนวนหน่วย มูลค่าต่อหน่วยของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมูลค่าของเงินสะสม เงินสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบให้สมาชิกแต่ละรายทราบอย่างน้อยทุกงวด 6 เดือนของปีปฏิทินโดยให้ส่งรายงานดังกล่าวภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นงวด 6 เดือน และหากสมาชิกขอทราบรายงานดังกล่าวเป็นรายเดือน ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลส่งรายงานดังกล่าวให้สมาชิกทราบในเวลาอันควรด้วย
ข้อ 168 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดทำงบการเงินโดยมีผู้สอบบัญชีตามข้อ 169 เป็นผู้ตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินนั้น และให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเสนองบการเงินพร้อมรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีต่อที่ประชุมใหญ่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อทำการรับรองงบการเงินดังกล่าว
ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเก็บรักษางบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รายงานการสอบบัญชี และเอกสารแสดงจำนวนสมาชิกและมูลค่าเงินกองทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ วันสิ้นเดือนก่อนวันแต่งตั้งผู้สอบบัญชีไว้ที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลด้วย
ข้อ 169 ผู้สอบบัญชีที่จะเป็นผู้ตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินตามข้อ 168 ได้จะต้องเป็นผู้สอบบัญชีซึ่งไม่อยู่ระหว่างถูกสภาวิชาชีพบัญชีสั่งพักใบอนุญาตการเป็น ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือไม่อยู่ระหว่างถูกสำนักงานสั่งพักการให้ความเห็นชอบการเป็นผู้สอบบัญชี และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีในตลาดทุน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้สอบบัญชีนั้นอาจเป็นเพียงผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีได้
(1) เป็นการตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีจำนวนลูกจ้างที่เป็นสมาชิก ณ วันสิ้นเดือนก่อนวันที่แต่งตั้งผู้สอบบัญชี ไม่เกินกว่า 100 ราย
(2) เป็นการตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันสิ้นเดือนก่อนวันที่แต่งตั้งผู้สอบบัญชี ไม่เกินกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ความเห็นชอบโดยคณะกรรมการกองทุนได้แจ้งให้ที่ประชุมสมาชิกทราบแล้วว่า ผู้สอบบัญชีดังกล่าวไม่ใช่ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ตามประกาศว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชี
ส่วนที่ 2
การประเมินความเหมาะสมในการเลือก
นโยบายการลงทุนรายสมาชิก
_______________________
ข้อ 170 ความในส่วนนี้ใช้เฉพาะกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่กำหนดให้สมาชิกมีสิทธิเลือกนโยบายการลงทุนได้
ข้อ 171 ในส่วนนี้
“นโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง” หมายความว่า นโยบายการลงทุนที่กำหนดให้มีการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทดังต่อไปนี้ รวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของแต่ละนโยบายการลงทุนนั้น
(1) ตราสารทุน
(2) ตราสารหนี้ดังต่อไปนี้
(ก) ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
(ข) ตราสารหนี้ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1. มีกำหนดการชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยที่ไม่แน่นอน หรือมีข้อกำหนดชำระคืนเงินต้นเพียงบางส่วนหรือไม่คืนเงินต้น
2. มีเงื่อนไขที่จะกระทบสิทธิของผู้ถือตราสารในการได้รับชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ย เช่น การด้อยสิทธิ การแปลงสภาพ การบังคับไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด การขยายระยะเวลาการชำระหนี้หรือการปลดหนี้ เป็นต้น เว้นแต่เป็นเงื่อนไขการผิดนัดตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้
(3) ทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5 และข้อ 6.2 ของส่วนที่ 3 : อัตราส่วนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน (product limit) ในภาคผนวก 4-PVD ท้ายประกาศการลงทุน
ข้อ 172 เพื่อให้สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้อย่างเหมาะสมโดยสอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน ประสบการณ์ในการลงทุน สถานะทางการเงินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และเป้าหมายการออมเมื่อเกษียณอายุ ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดให้มีการประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุนของสมาชิกตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) จัดให้สมาชิกทำการประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุนครั้งแรกตามเงื่อนไขและกรอบเวลาที่กำหนดในข้อ 173 และต้องแสดงให้สมาชิกทราบถึงประโยชน์และความจำเป็นในการประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุนด้วย
(2) จัดให้มีการทบทวนความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุนทุกรอบ 2 ปีปฏิทินนับแต่ปีที่ได้ทำการประเมินครั้งล่าสุด โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีที่ครบกำหนดเวลาทบทวนดังกล่าว ทั้งนี้ หากเป็นการทบทวนความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุนก่อนปี พ.ศ. 2562 การทบทวนความเหมาะสมดังกล่าวจะทำเฉพาะกับสมาชิกที่เลือกนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงก็ได้
(3) ในกรณีที่ผลประเมินไม่สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนที่สมาชิกแสดงความจำนงเลือก ไม่ว่าเป็นการเลือกไว้เดิมหรือที่จะเลือกใหม่ ให้เตือนให้สมาชิกทราบถึงความเสี่ยง ของการเลือกนโยบายการลงทุนที่ไม่เหมาะสมกับสมาชิก ก่อนให้สมาชิกลงนามยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกนโยบายการลงทุนนั้น
(4) ในกรณีที่สมาชิกปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือให้ข้อมูลไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นผลให้ไม่สามารถดำเนินการตาม (1) หรือ (2) ได้ ให้เตือนให้สมาชิกทราบถึงความเสี่ยงในการเลือกนโยบายการลงทุนโดยไม่มีการประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุน
(5) ติดตามให้มีการประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุนอีกครั้งสำหรับสมาชิกที่ปฏิเสธการประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุน
ข้อ 173 การรวบรวมข้อมูลของสมาชิกและทำการประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุนครั้งแรก ให้เป็นดังนี้
(1) ในกรณีที่เป็นสมาชิกใหม่ที่เข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันเข้าเป็นสมาชิก
(2) ในกรณีที่เป็นสมาชิกอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 ให้ดำเนินการดังนี้
(ก) หากสมาชิกแสดงความจำนงเลือกนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ว่าเป็นการเลือกไว้เดิมหรือที่จะเลือกใหม่ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2557
(ข) หากมิได้เป็นสมาชิกตาม (ก) ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2562
ข้อ 174 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลใช้แบบและวิธีการประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุนตามแนวทางที่สมาคมกำหนด
ข้อ 175 การดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุนตามส่วนนี้ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องจัดให้อยู่ในรูปเอกสารหรือรูปแบบอื่นใด ที่สมาชิกหรือบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจะสามารถจัดเก็บข้อมูลและตรวจดูข้อมูลได้ในอนาคต
ส่วนที่ 3
การคำนวณมูลค่าต่อหน่วยและจำนวนหน่วย
และการรับรองความถูกต้อง
ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
__________________________
ข้อ 176 ในส่วนนี้
“มูลค่าต่อหน่วย” หมายความว่า มูลค่าต่อหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งคำนวณโดยนำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิหารด้วยจำนวนหน่วยทั้งหมด ณ วันที่คำนวณมูลค่าต่อหน่วยนั้น
“จำนวนหน่วย” หมายความว่า จำนวนหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“คณะกรรมการกองทุน” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“การชดเชยมูลค่า” หมายความว่า การเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกที่ยังคงมีสมาชิกภาพอยู่ในกรณีที่มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง หรือการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องกับมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องแทนการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วย
“วันคำนวณจำนวนหน่วย” หมายความว่า วันคำนวณจำนวนหน่วยเพื่อเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิก ซึ่งเป็นวันที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลและคณะกรรมการกองทุน สำรองเลี้ยงชีพกำหนดไว้ในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“ผู้รับรองมูลค่า” หมายความว่า บุคคลที่ทำการรับรองความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 177 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลคำนวณมูลค่าต่อหน่วยโดยสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเงินที่มิได้เกิดจากผลการดำเนินงานให้นำมาคำนวณเป็นจำนวนหน่วย
ข้อ 178 ในการคำนวณจำนวนหน่วยหรือมูลค่าต่อหน่วย การปรับปรุงรายการ การแก้ไขมูลค่าต่อหน่วยและการชดเชยมูลค่า ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของบรรดาสมาชิกกองทุนเป็นสำคัญ และบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องดำเนินการดังกล่าวต่อสมาชิกกองทุนแต่ละรายอย่างเท่าเทียมกัน เว้นแต่โดยผลของกฎหมายทำให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลไม่สามารถปฏิบัติต่อสมาชิกแต่ละรายได้อย่างเท่าเทียมกัน หรือโดยเงื่อนไขและปัจจัยของสมาชิกแต่ละรายแตกต่างกัน อันเป็นเหตุให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลไม่สามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้ หรือบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้ดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงานกำหนดไว้
ข้อ 179 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดให้มีวันคำนวณจำนวนหน่วยของแต่ละกองทุนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน และในการคำนวณเพื่อเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิก ให้ใช้มูลค่าต่อหน่วย ณ สิ้นวันคำนวณจำนวนหน่วยที่จะถึงเร็วที่สุดที่ผ่านการรับรองจากผู้รับรองมูลค่าแล้ว โดยเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกภายใน 3 วันทำการนับแต่วันคำนวณจำนวนหน่วย เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจขอผ่อนผันระยะเวลาการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยจากสำนักงานได้
ข้อ 180 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจเลื่อนวันคำนวณจำนวนหน่วยได้ ในกรณีที่ปรากฏเหตุดังต่อไปนี้
(1) ตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ
(2) มีประกาศสำนักงานให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเลื่อนวันคำนวณจำนวนหน่วยออกไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิก หรือเพื่อรักษาเสถียรภาพ ทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ หรือเพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบตลาดการเงิน
(3) เมื่อมีเหตุจำเป็นทำให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลไม่สามารถจำหน่าย จ่ายโอนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของกองทุน หรือไม่สามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน สำรองเลี้ยงชีพได้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม โดยบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุน เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นไว้ในสัญญารับจัดการ กองทุนส่วนบุคคล
(4) ในกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศตามประกาศการลงทุน เมื่อมีเหตุการณ์ดังนี้เกิดขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบต่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
(ก) ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์แต่ละแห่งเกินกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ
(ข) มีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างเสรีและทำให้ไม่สามารถโอนเงินออกจากประเทศหรือรับโอนเงินจากต่างประเทศได้ตามปกติ
ข้อ 181 ในกรณีที่มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว และหากมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องนั้นต่างจากมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง ตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องและตั้งแต่ 1 สตางค์ขึ้นไป ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดส่งรายงานให้แก่คณะกรรมการกองทุนภายในเดือนถัดจากเดือนที่แก้ไขมูลค่าต่อหน่วยหรือการชดเชยมูลค่าเสร็จสิ้น โดยรายงานดังกล่าวต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) มูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้อง
(2) มูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง
(3) สาเหตุที่ทำให้มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง
(4) การดำเนินการของบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเมื่อพบว่ามูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง
ในระหว่างที่แก้ไขมูลค่าต่อหน่วย บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องจัดทำมาตรการป้องกันและอาจหยุดการคำนวณเพื่อเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยได้ไม่เกิน 7 วันทำการติดต่อกัน เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการกองทุน
ข้อ 182 ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนหน่วย มูลค่าต่อหน่วย และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เปิดเผยจำนวนหน่วยและมูลค่าต่อหน่วยเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยม 4 ตำแหน่งโดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล
(2) เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยม 2 ตำแหน่งโดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล
ข้อ 183 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องจัดให้มีการรับรองความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยผู้รับรองมูลค่าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นบุคคลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานให้เป็นผู้รับรองมูลค่า
(2) ไม่มีส่วนได้เสียอันมีนัยสำคัญกับบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจนทำให้ขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่รับรองความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เว้นแต่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการกองทุนทราบและได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการกองทุนแล้ว
ส่วนที่ 4
การดำเนินการในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้
หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
ผิดนัดชำระหนี้
________________________________
ข้อ 184 ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากมีการผิดนัดชำระหนี้หรือมีพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในส่วนนี้ เว้นแต่สำนักงานจะผ่อนผันเป็นอย่างอื่น
ข้อ 185 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจะรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นที่มิใช่หลักประกันเพื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ต่อเมื่อได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นไว้ในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ข้อบังคับกองทุน หรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุน และก่อนการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นที่มิใช่หลักประกันในแต่ละครั้ง บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุน โดยคณะกรรมการกองทุนได้ตรวจสอบและแสดงความเห็นพร้อมเหตุผลว่า ในขณะนั้นการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกมากกว่าการถือหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้อง
ในการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น มูลค่าของทรัพย์สิน ประมาณการค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์สิน และค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายทรัพย์สิน เป็นต้น พร้อมเหตุผลและความจำเป็นในการรับชำระหนี้ รวมทั้งต้องจัดให้มีหรือจัดทำเอกสารหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เอกสารหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น
(2) บทวิเคราะห์และเหตุผลประกอบบทวิเคราะห์ที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดทำขึ้นซึ่งแสดงถึงพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้
ข้อ 186 เมื่อบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้รับทรัพย์สินมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นเพื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับประเภท จำนวน และชื่อผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง วันที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้รับทรัพย์สินมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้รับโดยมีสาระสำคัญอย่างน้อยเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว มูลค่าทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น ไปยังคณะกรรมการกองทุนภายในวันที่ 20 ของ เดือนถัดจากเดือนที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา
ข้อ 187 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลกำหนดราคาทรัพย์สินที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นเพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ข้อ 188 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีเป็นทรัพย์สินประเภทที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นสามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน สำรองเลี้ยงชีพได้
(2) กรณีเป็นทรัพย์สินประเภทที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นไม่สามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวภายใน 2 ปีนับแต่วันที่กองทุน สำรองเลี้ยงชีพได้รับทรัพย์สินนั้นมา เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการกองทุน ทั้งนี้ ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวได้
ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์สิน ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจ่ายจากทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ส่วนที่ 5
การจัดการทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
___________________________
ข้อ 189 ในการจัดการทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลกำหนดราคาทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้เพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ข้อ 190 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลดำเนินการกับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีเป็นทรัพย์สินประเภทที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจะมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน สำรองเลี้ยงชีพก็ได้
(2) กรณีเป็นทรัพย์สินประเภทที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่สามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับ ทรัพย์สินนั้นมา หรือภายใน 2 ปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาที่ผู้อุทิศให้ระบุห้ามมิให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าว แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการกองทุน ทั้งนี้ ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวก็ได้
ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์สิน ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจ่ายจากทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ส่วนที่ 6
หลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่มีหลายนโยบายการลงทุน
___________________________
ข้อ 191 ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลดำเนินการดังต่อไปนี้ แยกตามแต่ละนโยบายการลงทุนแทนการดำเนินการในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งกองทุน
(1) การคำนวณมูลค่าต่อหน่วยตามข้อ 177 และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(2) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนหน่วย มูลค่าต่อหน่วย และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อ 182
(3) การรับรองความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อ 183
ข้อ 192 ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลดำเนินการดังต่อไปนี้แยกตามแต่ละนโยบายการลงทุนที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรับจัดการด้วย
(1) การเปิดเผยข้อมูลเมื่อมีการลงนามในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลแล้วตามข้อ 149
(2) การจัดทำและส่งรายงานต่อสำนักงานตามข้อ 160 วรรคหนึ่ง (2) และ (4)
(3) การส่งรายงานตามข้อ 163 หรือการรายงานอื่นใดให้แก่ลูกค้า
(4) การจัดทำและการเก็บรักษางบการเงินตามข้อ 164
(5) การดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นตามข้อ 185
(6) การดำเนินการกับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อ 190
ภาค 4
บทเฉพาะกาล
________________
ข้อ 193 ให้บรรดาคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้จนกว่าจะได้มีคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ 194 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้
ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558
(นายรพี สุจริตกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์