ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 90/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีการควบคุมอัตราส่วนการลงทุนสำหรับสมาชิกแต่ละราย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 17, 2015 11:52 —ประกาศ ก.ล.ต.

ที่ สน. 90/2558

เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มี

การควบคุมอัตราส่วนการลงทุนสำหรับ

สมาชิกแต่ละราย

_____________________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 11 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 สำนักงาน ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 ต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม” หมายความว่า กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมตามประกาศการลงทุน

“กองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก” หมายความว่า กองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือกตามประกาศการลงทุน

“ประกาศการลงทุน” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการลงทุนของกองทุน

“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

“นโยบายการลงทุน” หมายความว่า นโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“ข้อบังคับ” หมายความว่า ข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“มูลค่าทรัพย์สินรายสมาชิก” หมายความว่า มูลค่าของเงินสะสม เงินสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบสำหรับสมาชิกแต่ละราย

หมวด 1

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุน

ในลักษณะเดียวกับกองทุนรวม

หมวดอุตสาหกรรม

__________________

ข้อ 3 บริษัทจัดการจะรับจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม ได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการให้การลงทุนของสมาชิกทุกรายที่เลือกนโยบายการลงทุนดังกล่าวมีอัตราส่วนของเงินสะสมและเงินสมทบสำหรับสมาชิกแต่ละรายเมื่อรวมกันทุกนโยบายการลงทุนนั้นไม่ว่าจะเป็นหมวดอุตสาหกรรมใด ต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่า ทรัพย์สินรายสมาชิก

ข้อ 4 ในกรณีที่บริษัทจัดการนำเงินสะสมและเงินสมทบสำหรับสมาชิกแต่ละรายที่เลือกนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม ไปลงทุนไม่เกินกว่าอัตราส่วนการลงทุนตามที่กำหนดในข้อ 3 แต่ต่อมาการลงทุนของสมาชิกเกินกว่าอัตราส่วนดังกล่าวโดยไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม ให้บริษัทจัดการสามารถคงไว้ซึ่งการลงทุนตามนโยบายการลงทุนดังกล่าวอยู่ต่อไปได้

ข้อ 5 ในกรณีที่บริษัทจัดการประสงค์จะรับโอนทรัพย์สินที่เป็นส่วนได้เสียทั้งหมดของสมาชิกทุกรายของนายจ้างรายใดรายหนึ่งจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่น และปรากฏว่าการลงทุนของสมาชิกบางรายซึ่งเลือกนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมเกินกว่าอัตราส่วนการลงทุนตามที่กำหนดในข้อ 3 โดยไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่มก่อนการรับโอนทรัพย์สินนั้นบริษัทจัดการสามารถรับโอนทรัพย์สินโดยคงไว้ซึ่งการลงทุนดังกล่าวอยู่ต่อไปได้ ทั้งนี้ บริษัทจัดการต้องไม่นำเงินสะสมและเงินสมทบสำหรับสมาชิกรายนั้นที่ส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในงวดถัดมาไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนดังกล่าวเพิ่มเติมอีกจนกว่าจะเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 3

หมวด 2

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับ

กองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก หรือมีการลงทุน

ผ่อนคลายกว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั่วไป

____________________

ข้อ 6 ในหมวดนี้

“ทรัพย์สินทางเลือก” หมายความว่า ทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(1) หน่วยของกองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้แก่

(ก) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายใต้บังคับประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(ข) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

(ค) กองทรัสต์หรือกองอสังหาริมทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือในกิจการที่ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทรัสต์หรือกองดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด

(ง) กองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือกหรือกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการลงทุนแบบกลุ่ม (collective investment scheme) ที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก ซึ่งมุ่งเน้นลงทุนในทรัพย์สินตาม (1) (ก) (ข) หรือ (ค) ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด

(2) หน่วยของกองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้แก่

(ก) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(ข) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

(ค) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐานตาม (2) (ก) หรือ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตาม (2) (ข) ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด

(ง) กองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือกหรือกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการลงทุนแบบกลุ่มที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก ซึ่งมุ่งเน้นลงทุนในทรัพย์สินตาม (2) (ก) (ข) หรือ (ค) ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด

(3) หน่วยของกองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับทองคำ ซึ่งได้แก่

(ก) กองทุนรวมทองคำที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(ข) กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการลงทุนแบบกลุ่มและมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนรวมตาม (3) (ก) ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด

(4) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นทองคำ น้ำมันดิบ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาภายใต้บังคับตามกฎหมายไทยหรือ ต่างประเทศ

(5) หน่วยของกองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือกหรือหน่วยของกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการลงทุนแบบกลุ่มที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือกดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด แต่ไม่รวมถึงหน่วยของกองทรัพย์สินตาม (1) (ง) และ (2) (ง)

“ทรัพย์สินประเภท SIP” หมายความว่า ทรัพย์สินที่จัดอยู่ในประเภท Specific Investment Product (total SIP) ตามข้อ 4 ในส่วนที่ 3 : อัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน (product limit) ของภาคผนวก 4-PVD แห่งประกาศการลงทุน

ข้อ 7 บริษัทจัดการจะรับจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก หรือนโยบายการลงทุนอื่นใดที่ทำให้มีการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกหรือทรัพย์สินประเภท SIP โดยมีอัตราส่วนการลงทุนผ่อนคลายกว่าอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดไว้ตามข้อ 4 ในส่วนที่ 3 : อัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน (product limit) ของภาคผนวก 4-PVD แห่งประกาศการลงทุน ได้ต่อเมื่อบริษัทจัดการได้ดำเนินการให้การนำเงินสะสมและเงินสมทบสำหรับสมาชิกแต่ละรายไปลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกหรือทรัพย์สินประเภท SIP ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ต้องไม่เกินกว่าอัตราส่วนดังต่อไปนี้

(1) ทรัพย์สินทางเลือกเฉพาะตามข้อ 6(3) (4) และ (5) และทรัพย์สินประเภท SIP รวมกัน ต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าทรัพย์สินรายสมาชิก

(2) ทรัพย์สินทางเลือกและทรัพย์สินประเภท SIP รวมกัน ต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 30ของมูลค่าทรัพย์สินรายสมาชิก

ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดไว้ในภาคผนวก 5 แห่งประกาศการลงทุน โดยอนุโลม ประกอบกับแนวทางที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนด

ข้อ 8 ในกรณีที่บริษัทจัดการนำเงินสะสมและเงินสมทบสำหรับสมาชิกแต่ละรายไปลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกหรือทรัพย์สินประเภท SIP ไม่เกินกว่าอัตราส่วนการลงทุนตามที่กำหนด ในข้อ 7 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี แต่ต่อมาการลงทุนของสมาชิกเกินกว่าอัตราส่วนดังกล่าวโดยไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม ให้บริษัทจัดการสามารถคงไว้ซึ่งการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ต่อไปได้

ข้อ 9 ในกรณีที่บริษัทจัดการประสงค์จะรับโอนทรัพย์สินที่เป็นส่วนได้เสียทั้งหมดของสมาชิกทุกรายของนายจ้างรายใดรายหนึ่งจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่น และปรากฏว่าการลงทุน ของสมาชิกบางรายมีการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกหรือทรัพย์สินประเภท SIP เกินกว่าอัตราส่วนการลงทุนตามที่กำหนดในข้อ 7 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี โดยไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่มก่อนการรับโอนทรัพย์สินนั้น บริษัทจัดการสามารถรับโอนทรัพย์สินโดยคงไว้ซึ่งการลงทุนดังกล่าวอยู่ต่อไปได้ ทั้งนี้ บริษัทจัดการต้องไม่นำเงินสะสมและเงินสมทบสำหรับสมาชิกรายนั้นที่ส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในงวดถัดมาไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนดังกล่าวเพิ่มเติมอีกจนกว่าจะเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 7 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี

ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ