ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 92/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์เพิ่มเติมในกรณีที่กองทุนลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 17, 2015 13:09 —ประกาศ ก.ล.ต.

ที่ สน. 92/2558

เรื่อง หลักเกณฑ์เพิ่มเติมในกรณีที่กองทุนลงทุน

ในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารที่มี

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

____________________________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 10 วรรคหนึ่ง (5) (ข) (ค) (ง) และ (จ) และ (6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี

“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม หรือการจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี

“สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายต่างประเทศที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน

“สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงเครดิต” (credit derivatives) หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีลักษณะเป็นการเคลื่อนย้ายความเสี่ยงด้านเครดิตของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง (obligation) จากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรฐานสากล โดยคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งซึ่งมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระเงินให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ (credit event) ของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง จะได้รับผลตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมสำหรับการมีภาระผูกพันดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะของธุรกรรมเป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 7.2 ของส่วนที่ 6 : ธุรกรรมประเภท derivatives ในภาคผนวก 3 แห่งประกาศการลงทุน

“ประกาศการลงทุน” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการลงทุนของกองทุน

“ทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง” หมายความว่า ประเภทและลักษณะของทรัพย์สินที่ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงเครดิตอ้างอิงถึง (obligation category and obligation characteristics)

“เหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้” หมายความว่า เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการชำระหนี้ตามที่ระบุในข้อตกลงของตราสารหรือสัญญา

“ปัจจัยอ้างอิง” (underlying) หมายความว่า สินค้าหรือตัวแปรที่ถูกอ้างอิงโดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงเครดิต

“ตัวชี้วัด”(benchmark) หมายความว่า ตัวชี้วัดของกองทุน ซึ่งเป็นดัชนีหรือองค์ประกอบของดัชนีที่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น

“การลงทุนแบบซับซ้อน” หมายความว่า การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีกลยุทธ์แบบซับซ้อน (complex strategic investment) หรือการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีความซับซ้อน (exotic derivatives)

หมวด 1

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดให้มีทรัพย์สินที่เพียงพอ

ต่อการชำระหนี้ตามภาระผูกพัน (cover rule)

______________________________

ข้อ 3 ในการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บริษัทจัดการต้องจัดให้มีทรัพย์สินของกองทุนที่มีคุณภาพและมีสภาพคล่องไว้ในจำนวนที่เพียงพอต่อภาระที่กองทุนอาจต้องชำระตามข้อตกลงเมื่อสิ้นสุดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีข้อกำหนดให้บริษัทจัดการต้องชำระหนี้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินเมื่อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสิ้นสุดลง (physical delivery) ให้บริษัทจัดการดำรงทรัพย์สินดังกล่าวในจำนวนที่สัญญากำหนดให้ต้องส่งมอบ ไว้ตลอดระยะเวลาที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่บริษัทจัดการได้ทำการประเมินสภาพคล่องของทรัพย์สินที่กำหนดให้ต้องส่งมอบแล้วเห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวมีสภาพคล่องเพียงพอที่บริษัทจัดการจะสามารถจัดหามาเพื่อส่งมอบตามสัญญาได้ตลอดเวลา และแสดงได้ว่าได้จัดให้มีทรัพย์สินอื่นที่มีคุณภาพและมีสภาพคล่องไว้ทดแทนในจำนวน ที่เพียงพอต่อการนำไปซื้อทรัพย์สินที่กำหนดให้ต้องส่งมอบได้ ทั้งนี้ บริษัทจัดการต้องจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการประเมินสภาพคล่องของทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้

(2) ในกรณีที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีข้อกำหนดให้บริษัทจัดการสามารถชำระหนี้โดยจ่ายเป็นเงินสดเมื่อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสิ้นสุดลง (cash settlement) ให้บริษัทจัดการจัดให้มีทรัพย์สินที่มีคุณภาพและมีสภาพคล่องไว้ในจำนวนที่เพียงพอต่อการชำระหนี้ไว้ตลอดระยะเวลาที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายดังกล่าว

ข้อ 4 ทรัพย์สินที่มีคุณภาพและมีสภาพคล่องตามข้อ 3 ให้หมายถึงทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(1) เงินสด

(2) เงินฝากหรือบัตรเงินฝากที่ผู้รับฝากเป็นธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือธนาคารต่างประเทศ

(3) หลักประกันในระบบการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(4) ตราสารภาครัฐไทยหรือตราสารภาครัฐต่างประเทศ ซึ่งมีอายุคงเหลือไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ ตราสารภาครัฐต่างประเทศดังกล่าวต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(5) ตั๋วแลกเงินที่สถาบันการเงินเป็นผู้ออก

(6) ตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนในตลาดซื้อขายตราสารหนี้ หรือที่มีข้อมูลราคาที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้ ซึ่งมีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งนี้ ตราสารหนี้ดังกล่าวต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือดังนี้

(ก) อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสี่อันดับแรก ในกรณีที่เป็นตราสารหนี้ซึ่งมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 เดือน

(ข) อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ใน 3 อันดับแรก ในกรณีที่เป็นตราสารหนี้ซึ่งมีอายุคงเหลือไม่เกิน 2 ปี

(7) ตราสารหนี้ซึ่งมีผู้แสดงตนต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะเสนอราคาซื้อและรับซื้อตราสารนั้นในราคาดังกล่าวตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น

(8) หุ้นสามัญจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขให้ เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป

(9) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดที่กำหนดวันทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทุกวันทำการ และกำหนดวันชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน

(10) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 7 วัน

(11) รายการค้างรับหักด้วยรายการค้างจ่าย ทั้งนี้ เฉพาะรายการที่เกิดขึ้นเนื่องจากการลงทุน มีไว้ หรือจำหน่ายไป ซึ่งทรัพย์สินของกองทุน และรายการดังกล่าวจะครบกำหนดภายใน 7 วัน

หมวด 2

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงในทรัพย์สิน

ที่กองทุนลงทุนโดยใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

______________________________

ข้อ 5 ในกรณีที่บริษัทจัดการเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง โดยปัจจัยอ้างอิงไม่ใช่สิ่งเดียวกับทรัพย์สินที่จะลดความเสี่ยง สัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นต้องมีค่าสัมบูรณ์ของค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (absolute correlation coefficient) ระหว่างผลตอบแทนของปัจจัยอ้างอิง กับผลตอบแทนของทรัพย์สินที่ต้องการลดความเสี่ยงไม่น้อยกว่า 0.7

ค่าสัมบูรณ์ของค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนวณตามหลักวิชาการอันเป็นที่ยอมรับ โดยใช้ข้อมูลที่มีความเหมาะสมเพื่อให้สามารถสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สินที่นำมาคำนวณได้อย่างสมเหตุผล

ข้อ 6 ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามผู้ออกทรัพย์สินหรือคู่สัญญา (single entity limit) และตามกลุ่มกิจการ (group limit) สำหรับทรัพย์สินของกองทุนที่มีการลดความเสี่ยงโดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงเครดิตที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 7 ให้ใช้ส่วนต่างของมูลค่ายุติธรรมของทรัพย์สินดังกล่าวหักด้วยมูลค่าขั้นสูงที่คู่สัญญามีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงเครดิต มาใช้ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนสำหรับทรัพย์สินดังกล่าวแทนได้

ในกรณีที่ส่วนต่างที่คำนวณได้มีค่าเท่ากับหรือต่ำกว่าศูนย์ บริษัทจัดการจะไม่นำทรัพย์สินดังกล่าวมาคำนวณอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามผู้ออกทรัพย์สินหรือคู่สัญญา (single entity limit) และตามกลุ่มกิจการ (group limit) ก็ได้

ข้อ 7 สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงเครดิตตามข้อ 6 ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในสัญญาดังกล่าวมีอันดับความน่าเชื่อถือในอันดับที่สูงกว่าหรือเทียบเท่ากับอันดับความน่าเชื่อถือของทรัพย์สินตามข้อ 6 ที่สัญญาดังกล่าวมุ่งลดความเสี่ยง

(2) สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีประสิทธิภาพตามข้อ 8

ข้อ 8 สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงเครดิตที่มีประสิทธิภาพตามข้อ 7(2) ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ต้องเป็นสัญญาที่มีข้อตกลงอันเป็นผลให้มีการเคลื่อนย้ายความเสี่ยงด้านเครดิตหรือผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในเชิงการเงินหรือเศรษฐกิจของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง ไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทั้งจำนวน

(2) ปัจจัยอ้างอิงตามสัญญาดังกล่าวต้องเป็นชนิดเดียวกับทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง เว้นแต่เป็นกรณีที่มีลักษณะครบถ้วนดังนี้

(ก) ปัจจัยอ้างอิงตามสัญญาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผู้ออกทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงนั้น

(ข) ลำดับการชำระหนี้ตามทรัพย์สินที่เป็นปัจจัยอ้างอิงตามสัญญาดังกล่าวต้องไม่ด้อยกว่าลำดับการชำระหนี้ตามทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง

(ค) สัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดให้หนี้ตามสัญญาถึงกำหนดชำระหนี้ (cross acceleration) เมื่อทรัพย์สินที่เป็นปัจจัยอ้างอิงตามสัญญาหรือทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง ทรัพย์สินใดทรัพย์สินหนึ่ง เกิดการผิดนัดชำระหนี้

(ง) สัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดให้กองทุนสามารถส่งมอบทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้

(3) อายุของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงเครดิตไม่น้อยกว่าอายุคงเหลือของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง

(4) สกุลเงินที่ระบุตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงเครดิตและตามทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงต้องเป็นสกุลเงินเดียวกัน

(5) ปัจจัยอ้างอิงที่เป็นเครดิตต้องครอบคลุมความเสี่ยงด้านเครดิตทุกกรณีตามมาตรฐานสากลซึ่งกำหนดโดย International Swaps and Derivatives Association (ISDA)

(6) ค่าสหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างความเสี่ยงด้านเครดิตของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงกับความเสี่ยงด้านเครดิตของคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงเครดิตต้องไม่สูงจนเกินไป ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกำหนดขั้นสูงของค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ที่เหมาะสมในการเข้าทำธุรกรรม ซึ่งค่าขั้นสูงดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการอื่นที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย โดยที่คณะกรรมการดังกล่าวต้องเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการลงทุนด้วย

หมวด 3

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ที่ไม่ใช่เพื่อการลดความเสี่ยง

_______________________________

ข้อ 9 ในการดำเนินการตามหมวดนี้ ให้บริษัทจัดการจัดทำและจัดเก็บเอกสารที่แสดงถึงการดำเนินการดังกล่าวไว้เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้

ส่วนที่ 1

การคำนวณฐานะการลงทุน

_______________________________

ข้อ 10 เพื่อประโยชน์ในการคำนวณ global exposure limit ตามประกาศการลงทุนให้บริษัทจัดการคำนวณฐานะการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของกองทุนตามวิธีการที่สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของกองทุน ดังต่อไปนี้

(1) กรณีกองทุนลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ไม่ใช่การลงทุนแบบซับซ้อน ให้บริษัทจัดการคำนวณฐานะการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยใช้วิธี commitment approach ตามที่กำหนดในส่วนที่ 2 ของภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศนี้

(2) กรณีกองทุนลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นการลงทุนแบบซับซ้อน ให้บริษัทจัดการคำนวณฐานะการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกองทุน ดังนี้

(ก) relative VaR approach ตามที่กำหนดในส่วนที่ 3 ของภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศนี้ ในกรณีที่ตัวชี้วัดไม่มีองค์ประกอบเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ไม่มีวัตถุ ประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง (unleveraged benchmark) ทั้งนี้ ในการคำนวณมูลค่าความเสียหายสูงสุด (value-at-risk : VaR) ของทรัพย์สินทั้งหมดที่กองทุนลงทุน เพื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าความเสียหายสูงสุดตามตัวชี้วัด จะต้องใช้สมมติฐานและวิธีการคำนวณในลักษณะเดียวกัน

(ข) absolute VaR approach ตามที่กำหนดในส่วนที่ 3 ของภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศนี้ ในกรณีที่ไม่มีตัวชี้วัดหรือมีตัวชี้วัดที่นอกเหนือจากตัวชี้วัดตาม (ก)การคำนวณฐานะการลงทุนตามวรรคหนึ่ง (2) ให้บริษัทจัดการระบุสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมด้วย

ส่วนที่ 2

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับกรณี

ที่มีการลงทุนแบบซับซ้อน

_______________________________

ข้อ 11 บริษัทจัดการต้องทำการทดสอบผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนหากเกิดเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญ (stress test) อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และเมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้

(1) มีการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

(2) เกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสภาวะตลาดอย่างมีนัยสำคัญ

ให้บริษัทจัดการนำผลการทดสอบตามวรรคหนึ่งมาใช้ประกอบการบริหารความเสี่ยงและการพิจารณาลงทุนของกองทุนอย่างเหมาะสมด้วย

ข้อ 12 ในการทดสอบตามข้อ 11 บริษัทจัดการต้องใช้สมมติฐานที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงค่าสหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างทรัพย์สินที่ลงทุนซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไป โดยต้องทบทวนสมมติฐานดังกล่าวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งและเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญต่อการลงทุนของกองทุน

ข้อ 13 ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนจัดตั้งแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเป็นกองทุนส่วนบุคคลที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรับจัดการกองทุน ส่วนบุคคลดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี บริษัทจัดการต้องทดสอบความถูกต้อง (back testing) ของแบบจำลองการคำนวณมูลค่าความเสียหายสูงสุด (VaR model) ของกองทุนดังกล่าวอย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง โดยต้องใช้วิธีทดสอบตามมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน Kupiec test (1995) หรือมาตรฐานของ Bank for International Settlements (1996) เป็นต้น ทั้งนี้ ให้ใช้สมมติฐานบนการเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าของทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนของวันใดวันหนึ่ง ณ สิ้นวัน กับมูลค่า ณ สิ้นวันของวันถัดมา โดยเสมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงสถานะการลงทุน (clean back testing)

ข้อ 14 ในกรณีที่ผลการทดสอบตามข้อ 13 แสดงผลเป็นจำนวนเกินกว่าเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามวิธีทดสอบที่ใช้ ให้บริษัทจัดการปรับปรุงแบบจำลองการคำนวณมูลค่าความเสียหาย สูงสุด (VaR model) เพื่อให้อยู่ในกรอบของเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่บริษัทจัดการทราบผลการทดสอบดังกล่าว

หมวด 4

การคำนวณฐานะการลงทุนในคู่สัญญาตาม

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าและในทรัพย์สิน

ที่เป็นปัจจัยอ้างอิง

_______________________________

ข้อ 15 ในกรณีที่กองทุนลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งซื้อขายนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (OTC derivatives) ให้บริษัทจัดการคำนวณฐานะการลงทุนในคู่สัญญา ซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวเพื่อใช้ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามผู้ออกทรัพย์สินหรือคู่สัญญา (single entity limit) และตามกลุ่มกิจการ (group limit) โดยให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในส่วนที่ 4 ของภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศนี้

ข้อ 16 การคำนวณฐานะการลงทุนในทรัพย์สินที่เป็นปัจจัยอ้างอิงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เพื่อใช้ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามผู้ออกทรัพย์สินหรือคู่สัญญา (single entity limit) ตามกลุ่มกิจการ (group limit) และตามประเภททรัพย์สิน (product limit) สำหรับทรัพย์สินที่จัดอยู่ในประเภท Specific Investment Product

(total SIP) ในส่วนที่ 3 : อัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน (product limit) ของภาคผนวก 4-retail MF-PF ภาคผนวก 4-AI หรือภาคผนวก 4-PVD แห่งประกาศการลงทุน แล้วแต่กรณี ให้ใช้วิธี commitment approach ตามที่กำหนดในส่วนที่ 2 ของภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศนี้ โดยอนุโลม

ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ