หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดการกองทุนรวมในกรณีที่ ผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องผิดนัดชำระหนี้

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday June 6, 2001 13:35 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                  ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 14/2544
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดการกองทุนรวมในกรณีที่
ผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องผิดนัดชำระหนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 43/2541 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นแทนการชำระหนี้ตามตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 3/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นแทนการชำระหนี้ตามตราสารแห่งหนี้ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2542
ข้อ 2 ในประกาศนี้
"กองทุนรวม" หมายความว่า กองทุนปิดและกองทุนเปิด
"สิทธิเรียกร้อง" หมายความว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน
"สถาบันการเงิน" หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
"เงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้" หมายความว่า เงินได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น รายได้ที่เกิดจากการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน ตลอดจนดอกผลที่ได้จากทรัพย์สินดังกล่าว และเงินสำรอง (ถ้ามี) หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการได้มา หรือการมีไว้ หรือการจำหน่ายทรัพย์สินนั้น
"เงินสำรอง" หมายความว่า จำนวนเงินที่ตั้งสำรองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น
"ตัวแทนสนับสนุน" หมายความว่า บุคคลซึ่งบริษัทจัดการตั้งให้เป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
"ผู้ดูแลผลประโยชน์" หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
"ตลาดหลักทรัพย์" หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"สมาคม" หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 ในการจัดการกองทุนรวม หากมีการผิดนัดชำระหนี้หรือมีพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้บริษัทจัดการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ เว้นแต่สำนักงานจะผ่อนผันเป็นอย่างอื่น
ข้อ 4 กรณีกองทุนรวมที่บริษัทจัดการได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งประเภท จำนวน ชื่อผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องและเงินสำรอง (ถ้ามี) รวมทั้งวันที่บริษัทจัดการบันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ไปยังสำนักงาน ภายในสามวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่บริษัทจัดการได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์
(2) จัดให้มีรายละเอียดตาม (1) ไว้ที่สำนักงานใหญ่ สำนักงานสาขาของบริษัทจัดการและสถานที่ติดต่อทุกแห่งของตัวแทนสนับสนุนที่ใช้ในการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการได้แจ้งสำนักงานตาม (1) เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน
ข้อ 5 กรณีกองทุนเปิดที่บริษัทจัดการได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันที่บริษัทจัดการได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ เป็นผู้มีสิทธิในเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้
ข้อ 6 กรณีบริษัทจัดการมิได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์บริษัทจัดการจะรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นที่มิใช่หลักประกันเพื่อกองทุนรวมได้ต่อเมื่อได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม และก่อนการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นที่มิใช่หลักประกันในแต่ละครั้ง บริษัทจัดการต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหน่วยลงทุนตามมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการจัดการกองทุนรวมนั้น หรือได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ โดยผู้ดูแลผลประโยชน์ได้ตรวจสอบและแสดงความเห็นพร้อมเหตุผลว่าในขณะนั้นการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนมากกว่าการถือหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องนั้น
ในการขอความเห็นชอบจากผู้ถือหน่วยลงทุนหรือผู้ดูแลผลประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่กองทุนรวมจะได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น มูลค่าของทรัพย์สิน ประมาณการค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์สิน และค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายทรัพย์สิน เป็นต้น พร้อมเหตุผลและความจำเป็นในการรับชำระหนี้ รวมทั้งต้องจัดให้มีหรือจัดทำเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) เอกสารหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น หรือ
(2) บทวิเคราะห์และเหตุผลประกอบบทวิเคราะห์ที่บริษัทจัดการจัดทำซึ่งแสดงถึงพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้
ข้อ 7 เมื่อบริษัทจัดการได้รับทรัพย์สินมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น เพื่อกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งประเภท จำนวน และชื่อผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องวันที่บริษัทจัดการได้รับทรัพย์สินมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้รับโดยมีสาระสำคัญอย่างน้อยเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว มูลค่าทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น ไปยังสำนักงานภายในสิบห้าวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา
(2) จัดให้มีรายละเอียดตาม (1) ไว้ที่สำนักงานใหญ่ สำนักงานสาขาของบริษัทจัดการ
และสถานที่ติดต่อทุกแห่งของตัวแทนสนับสนุนที่ใช้ในการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการได้แจ้งสำนักงานตาม (1) เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน
กรณีเป็นกองทุนปิด นอกจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้บริษัทจัดการระบุไว้ในการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนในครั้งถัดจากวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมาว่า กองทุนรวมมีการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นซึ่งผู้ลงทุนสามารถขอดูรายละเอียดได้ที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัทจัดการ ทั้งนี้ ให้ระบุไว้ในการประกาศดังกล่าวไม่น้อยกว่าสามครั้งติดต่อกัน
ข้อ 8 ให้บริษัทจัดการกำหนดราคาทรัพย์สินที่กองทุนรวมได้รับมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นเพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ข้อ 9 ให้บริษัทจัดการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมที่มีการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นดังต่อไปนี้
(1) กรณีกองทุนเปิดที่บริษัทจัดการได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ บริษัทจัดการไม่ต้องนำทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น และเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ มารวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
(2) กรณีกองทุนเปิดที่บริษัทจัดการมิได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ หรือกรณีกองทุนปิด บริษัทจัดการต้องนำทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น มารวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
ข้อ 10 ให้บริษัทจัดการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น ดังต่อไปนี้
(1) กรณีกองทุนเปิดที่บริษัทจัดการได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ ให้บริษัทจัดการจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีสิทธิในเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ตกลงรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินดังกล่าวแทนเงิน ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมและตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ในระหว่างที่บริษัทจัดการยังไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น บริษัทจัดการอาจจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวก็ได้
(2) กรณีกองทุนเปิดที่บริษัทจัดการมิได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ หรือกรณีกองทุนปิด ให้บริษัทจัดการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) กรณีเป็นทรัพย์สินประเภทที่กองทุนรวมนั้นสามารถลงทุนในหรือมีไว้ได้ บริษัทจัดการอาจมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมก็ได้ ทั้งนี้ หากทรัพย์สินดังกล่าวเป็นอสังหาริมทรัพย์ บริษัทจัดการอาจจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง
(ข) กรณีเป็นทรัพย์สินประเภทที่กองทุนรวมนั้นไม่สามารถลงทุนในหรือมีไว้ได้ บริษัทจัดการต้องจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ และในระหว่างที่บริษัทจัดการยังไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทจัดการอาจจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวก็ได้
ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์สิน ให้บริษัทจัดการจ่ายจากทรัพย์สินของกองทุนรวม เว้นแต่กรณีกองทุนเปิดที่บริษัทจัดการบันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ ให้บริษัทจัดการจ่ายจากเงินสำรอง รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการบริหารทรัพย์สินนั้น
ข้อ 11 เมื่อมีเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นเพื่อกองทุนรวมในแต่ละครั้ง ให้บริษัทจัดการเฉลี่ยเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดตามข้อ 5 ภายในสี่สิบห้าวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่มีเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ และให้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการเฉลี่ยเงินคืนไปยังสำนักงานภายในสิบห้าวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่บริษัทจัดการได้เฉลี่ยเงินคืน เว้นแต่สำนักงานจะผ่อนผันระยะเวลาการเฉลี่ยเงินคืนเป็นอย่างอื่น
ในการเฉลี่ยเงินคืนในแต่ละครั้งตามวรรคหนึ่ง หากบริษัทจัดการมีเหตุผลแสดงให้เห็นว่าเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ไม่คุ้มกับภาระค่าใช้จ่ายในการเฉลี่ยเงินคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการอาจนำเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ดังกล่าวไปรวมจ่ายในโอกาสแรกที่การเฉลี่ยเงินคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะคุ้มกับภาระค่าใช้จ่ายก็ได้ ทั้งนี้ หากได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นจนครบถ้วนแล้ว และปรากฏว่าเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้นั้นไม่คุ้มกับภาระค่าใช้จ่ายในการเฉลี่ยเงินคืน บริษัทจัดการอาจนำเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมก็ได้
บริษัทจัดการจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคสองได้ต่อเมื่อได้ระบุรายละเอียดหลักเกณฑ์ตามวรรคสองไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมแล้ว
ข้อ 12 กองทุนเปิดที่บริษัทจัดการได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ หากต่อมาปรากฏว่าบริษัทจัดการได้รับชำระหนี้ตามตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นเงิน ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามความในข้อ 11 โดยอนุโลม
ข้อ 13 ในกรณีที่บริษัทจัดการใดได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นเพื่อกองทุนรวมตามประกาศนี้ ยกเว้นความในข้อ 4 และข้อ 5 และให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน เป็นผู้มีสิทธิในเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ แทน
(1) กรณีกองทุนปิด ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนณ วันเลิกโครงการจัดการกองทุนปิด เป็นผู้มีสิทธิในเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้
(2) กรณีกองทุนเปิด ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนณ วันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา หรือวันที่บริษัทจัดการได้บันทึกมูลค่าตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นศูนย์ เป็นผู้มีสิทธิในเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้
(3) กรณีที่กองทุนรวมได้รับทรัพย์สินจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นมาในขณะที่เป็นกองทุนปิด แต่ต่อมาได้ขอแก้ไขเป็นกองทุนเปิดโดยมิได้จำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวก่อนการเปลี่ยนประเภทโครงการจัดการกองทุนรวมเป็นกองทุนเปิด ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันครบกำหนดอายุโครงการจัดการกองทุนปิดเดิม เป็นผู้มีสิทธิในเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการเปลี่ยนประเภทโครงการดังกล่าวก่อนครบกำหนดอายุโครงการจัดการกองทุนปิดเดิม ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนในสองวันก่อนวันที่บริษัทจัดการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียนต่อสำนักงานเป็นโครงการจัดการกองทุนเปิดเป็นผู้มีสิทธิในเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้
ข้อ 14 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2544
(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ