การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวม (ฉบับที่ 4)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday February 16, 2001 11:23 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 12/2544
เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวม
(ฉบับที่ 4)
________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 126(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และข้อ 23 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 46/2541 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก (1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2540 เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมประเภทที่ลงทุนในหน่วยลงทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 16/2541 เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมประเภทที่ลงทุนในหน่วยลงทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2541
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 4 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 11/2542 เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวม ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ 4 ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นที่มิใช่หลักทรัพย์และทรัพย์สินตาม (1) ถึง (7) มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม แต่การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นที่มิใช่หลักทรัพย์และทรัพย์สินตาม (1) ถึง (7) ซึ่งบุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
(1) ตราสารแห่งทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่บริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทขึ้นทะเบียนเป็นผู้ออก
(2) ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัลหรือผู้ค้ำประกัน หรือที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลหรือผู้ค้ำประกัน
(3) ตราสารแห่งหนี้หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้ออก ผู้รับรองผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน หรือเงินฝากที่บุคคลดังกล่าวรับฝากไว้
(ก) รัฐวิสาหกิจ
(ข) ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(ค) บริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทขึ้นทะเบียน
(ง) ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศ ซึ่งธนาคารต่างประเทศดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับแรก (category) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน
(4) ตราสารแห่งหนี้หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ธนาคารต่างประเทศซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับแรก (category) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงานเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน
(5) ตราสารแห่งหนี้หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับแรก (category) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(6) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
(7) ออปชันในฐานะซื้อ (long position) ที่เป็นหลักทรัพย์ซึ่งตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทย่อยเป็นผู้ออก"
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 11/2542 เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวมลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
"ข้อ 6/1 อัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 6 มิให้นำมาใช้บังคับกับการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งออปชันในฐานะซื้อ (long position) ที่เป็นหลักทรัพย์ซึ่งตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทย่อยเป็นผู้ออก และให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งออปชันดังกล่าวโดยมีมูลค่าซื้อขายรวมกันทั้งสิ้นได้ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ทั้งนี้ มิให้นับรวมออปชันในฐานะซื้อที่บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนในกรณีที่ออปชันในขณะที่ลงทุนหรือได้มามีมูลค่าซื้อขายไม่เกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง หรือมีจำนวนไม่เกินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุน หากต่อมาออปชันนั้นมีมูลค่าซื้อขายเกินอัตราส่วนดังกล่าว หรือมีจำนวนเกินความเสี่ยงดังกล่าว โดยมิได้เกิดจากการลงทุนหรือได้ออปชันมาเพิ่มเติม บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งออปชันดังกล่าวต่อไปก็ได้ และให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานและดำเนินการตามข้อ 11 โดยอนุโลมคำว่า "มูลค่าซื้อขาย" ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง หมายความว่า จำนวนเงินที่คำนวณได้จากราคาซื้อขายคูณด้วยตัวคูณออปชันและจำนวนออปชันที่มีการซื้อขายสำหรับออปชันประเภทให้สิทธิที่จะได้รับชำระเงินโดยอิงกับสินค้าอ้างอิงหรือตัวแปรอ้างอิงตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด"
ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 7/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 11/2542 เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวม ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
"ข้อ 7/1 ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมหน่วยลงทุน ณ สิ้นวัน ได้ ไม่เกินอัตราส่วนดังต่อไปนี้
(1) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกองทุนใดกองทุนหนึ่ง ได้ ไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมหน่วยลงทุน
(2) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของทุกกองทุนรวมที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทจัดการบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ได้ ไม่เกินร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมหน่วยลงทุน
(3) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกองทุนใดกองทุนหนึ่ง ได้ ไม่เกินร้อยละสิบห้าของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น
(4) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน ได้ ไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมหน่วยลงทุน"
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 11 ข้อ 12 และข้อ 13 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 11/2542 เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวม ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ 11 ในกรณีที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในขณะที่ลงทุนหรือในขณะที่ได้มาเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7(2) (3) และข้อ 7/1 หากต่อมาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนดังกล่าวโดยมิได้เกิดจากการลงทุนหรือได้หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินมาเพิ่มเติม บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้ ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานโดยระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น และวันที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดพร้อมสาเหตุ และส่งให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ทราบภายในสามวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดพร้อมทั้งจัดทำสำเนาไว้ที่บริษัทจัดการเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้
"ข้อ 12 อัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ข้อ 6/1 ข้อ 7(2) (3) และข้อ 7/1 มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่ประสงค์จะไม่ดำรงอัตราส่วนดังกล่าว (specific fund)
"ข้อ 13 อัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 6/1 ข้อ 7(2) (3) และ ข้อ 7/1 มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่มีทุนมาจากต่างประเทศ"
ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ