ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กจ. 44/2543
เรื่อง การยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์
____________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 มาตรา 63(5) มาตรา 64(2) และ (3) มาตรา 67 มาตรา 69(11) มาตรา 70(9) และมาตรา 71(5) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 13/2539 เรื่อง การยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2539
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 18/2540 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2540
(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 22/2541 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2541
(4) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 38/2541 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2541
(5) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 48/2541 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2541
ข้อ 3 ในประกาศนี้และในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ท้ายประกาศนี้
(1) "หลักทรัพย์" หมายความว่า พันธบัตร หุ้น หุ้นกู้ หรือหลักทรัพย์แปลงสภาพ
(2) "หลักทรัพย์แปลงสภาพ" หมายความว่า หุ้นกู้แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(3) "ใบสำคัญแสดงสิทธิ" หมายความว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ และใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
(4) "หุ้นกู้ระยะสั้น" หมายความว่า หุ้นกู้ที่มีกำหนดเวลาชำระคืนไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวัน แต่ไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพ
(5) "หุ้นกู้หมุนเวียนระยะสั้น" หมายความว่า หุ้นกู้ที่มีกำหนดเวลาชำระคืนไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวัน ซึ่งบริษัทได้ขอและได้รับอนุญาตให้ออกและเสนอขายได้หลายครั้งภายในวงเงินและระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน
(6) "หลักทรัพย์ที่เคยเสนอขายต่อประชาชน" หมายความว่า หลักทรัพย์ที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือเจ้าของหลักทรัพย์ได้เคยยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน และบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือเจ้าของหลักทรัพย์นั้นได้นำหลักทรัพย์ดังกล่าวเสนอขายต่อประชาชนแล้วภายหลังแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ
(7) "การใช้สิทธิตามหลักทรัพย์แปลงสภาพ" หมายความว่า การใช้สิทธิแปลงสภาพตามหุ้นกู้แปลงสภาพ การใช้สิทธิซื้อหุ้นตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น การใช้สิทธิซื้อหุ้นกู้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ การใช้สิทธิซื้อหุ้นตามใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ หรือการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ แล้วแต่กรณี
(8) "แบบแสดงรายการข้อมูล" หมายความว่า แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์
(9) "บริษัท" หมายความว่า บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ
(10) "บริษัทใหญ่" หมายความว่า
(ก) บริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
(ข) บริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทตาม (ก) เกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
(ค) บริษัทที่ถือหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ โดยเริ่มจากบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทตาม (ข) โดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวในแต่ละทอดมีจำนวนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น
(ง) บริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมรวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์นั้น การถือหุ้นของบริษัทตาม (ก) (ข) (ค) หรือ (ง) ให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
(11) "บริษัทย่อย" หมายความว่า
(ก) บริษัทที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
(ข) บริษัทที่บริษัทตาม (ก) ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
(ค) บริษัทที่ถูกถือหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ โดยเริ่มจากการถือหุ้นของบริษัทตาม (ข) ในบริษัทที่ถูกถือหุ้น โดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวในแต่ละทอดมีจำนวนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น
(ง) บริษัทที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทตาม (ก) (ข) หรือ (ค) ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมรวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น
(จ) บริษัทที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทตาม (ก) (ข) (ค) หรือ (ง) มีอำนาจควบคุมในเรื่องการกำหนดนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัทเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทนั้น
การถือหุ้นของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือของบริษัทตาม (ก) (ข) (ค) หรือ (ง) ให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
(12) "บริษัทร่วม" หมายความว่า
(ก) บริษัทที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทย่อยถือหุ้นรวมกันตั้งแต่ร้อยละยี่สิบแต่ไม่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น
(ข) บริษัทที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทย่อยมีอำนาจในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัท แต่ไม่ถึงระดับที่จะควบคุมนโยบายดังกล่าว และไม่ถือเป็นบริษัทย่อยหรือกิจการร่วมค้า การถือหุ้นของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทย่อยให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
(13) "ผู้ที่เกี่ยวข้อง" หมายความว่า บุคคลหรือห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 258(1) ถึง (7) โดยอนุโลม
(14) "บุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง" หมายความว่า บุคคลดังต่อไปนี้
(ก) ผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
(ข) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
(ค) ผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
(ง) บุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต ทางการสมรส หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมายกับบุคคลตาม (ก) (ข) หรือ (ค) ซึ่งได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส บุตร หรือญาติสนิทอื่น
(จ) นิติบุคคลใด ๆ ที่บุคคลตาม (ก) (ข) หรือ (ค) ถือหุ้น หรือมีอำนาจควบคุมหรือมีส่วนได้เสียอื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอย่างมีนัยสำคัญ
(15) "ผู้บริหาร" หมายความว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารสี่รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่สี่ทุกราย และให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า
(16) "คณะกรรมการตรวจสอบ" หมายความว่า กรรมการของบริษัทมหาชนจำกัดที่คณะกรรมการของบริษัทแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นกรรมการตรวจสอบตามประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยคุณสมบัติและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
(17) "ผู้ถือหุ้นรายใหญ่" หมายความว่า ผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ การถือหุ้นดังกล่าวให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
(18) "ผู้มีอำนาจควบคุม" หมายความว่า ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลอื่นซึ่งโดยพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ หรือการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าอิทธิพลดังกล่าวจะสืบเนื่องจากการเป็นผู้ถือหุ้น หรือได้รับมอบอำนาจตามสัญญา หรือการอื่นใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบุคคลที่เข้าลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
(ก) บุคคลที่มีสิทธิออกเสียงไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท
(ข) บุคคลที่ตามพฤติการณ์สามารถควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการของบริษัทนั้นได้
(ค) บุคคลที่ตามพฤติการณ์สามารถควบคุมผู้ซึ่งรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัทให้ปฏิบัติตามคำสั่งของตนในการกำหนดนโยบาย การจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัท
(ง) บุคคลที่ตามพฤติการณ์มีการดำเนินงานในบริษัทหรือมีความรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทเยี่ยงผู้บริหาร รวมทั้งบุคคลที่มีตำแหน่งซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลดังกล่าวของบริษัทนั้น
(19) "บุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง" หมายความว่า บุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่
(20) "งบการเงินรวม" หมายความว่า งบการเงินรวมของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทย่อย
(21) "สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 4 ให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานก่อนการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนหรือบุคคลใด ๆ ตามหมวด 2 เว้นแต่ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามหมวด 1
ข้อ 5 การยื่นหรือการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์แปลงสภาพ ให้หมายความรวมถึงการยื่นหรือการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับหุ้น หุ้นกู้ หรือหุ้นอ้างอิงที่รองรับการใช้สิทธิตามหลักทรัพย์แปลงสภาพด้วย
หมวด 1
การยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน
ส่วนที่ 1
หลักทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้น
ข้อ 6 ให้หลักทรัพย์ดังต่อไปนี้เป็นหลักทรัพย์ที่มิให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในหมวด 3 ว่าด้วยการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนมาใช้บังคับ
(1) หุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย แต่ไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพ
(2) หน่วยลงทุนที่เสนอขายโดยเจ้าของหลักทรัพย์ โดยหน่วยลงทุนดังกล่าวต้องออกโดยบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
(3) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งมีลักษณะและการเสนอขายในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
(ก) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนซึ่งเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิที่ออกใหม่และเสนอขายพร้อมหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
(ข) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนซึ่งเสนอขายโดยเจ้าของหลักทรัพย์ และใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวได้เสนอขายครั้งแรกพร้อมหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
(4) หลักทรัพย์ที่เสนอขายโดยบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์ และหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ที่เคยเสนอขายต่อประชาชนซึ่งเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
(ก) บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด และบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องจัดทำและส่งงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดตามความในมาตรา 56
(ข) บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เป็นนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ และบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ทำข้อตกลงไว้กับสำนักงานยินยอมที่จะปฏิบัติดังนี้
1. จัดทำและส่งงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดตามความในมาตรา 56
2. รายงานต่อสำนักงานโดยไม่ชักช้าเมื่อมีเหตุการณ์ตามมาตรา 57 (5) หุ้นกู้ระยะสั้น
ส่วนที่ 2
ลักษณะการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้น
ข้อ 7 การเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันซึ่งออกโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่งในจำนวนเงินหรือต่อบุคคลในวงจำกัด ซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน
(1) การเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นต่อประชาชนหรือบุคคลใด ๆ ที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกินยี่สิบล้านบาทภายในรอบระยะเวลาสิบสองเดือน ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่ารวมของหุ้นดังกล่าวให้ถือเอาราคาเสนอขายหุ้นนั้นเป็นเกณฑ์
(2) การเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นแก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งมีจำนวนไม่เกินสามสิบห้ารายภายในรอบระยะเวลาสิบสองเดือน
(3) การเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทอื่นนอกจากหุ้นแก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง ณ ขณะใดขณะหนึ่ง เมื่อนับรวมกับจำนวนผู้ถือหลักทรัพย์ดังกล่าวทุกรุ่นทุกลักษณะที่ออกโดยผู้เสนอขายหลักทรัพย์มีจำนวนไม่เกินสามสิบห้าราย
(4) การเสนอขายหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะดังต่อไปนี้
(ก) ธนาคารพาณิชย์
(ข) บริษัทเงินทุน
(ค) บริษัทหลักทรัพย์เพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือเพื่อการจัดการโครงการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(ง) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(จ) บริษัทประกันภัย
(ฉ) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งมิได้เป็นนิติบุคคลตาม (ฌ)
(ช) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ซ) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
(ฌ) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
(ญ) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(ฎ) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(ฏ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(ฐ) กองทุนรวม
(ฑ) นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป
(ฒ) นิติบุคคลซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตาม (ก) ถึง (ฑ) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
(ณ) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตาม (ก) ถึง (ฒ) โดยอนุโลม
(ด) ผู้ลงทุนที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนตาม (ก) ถึง (ณ) ซึ่งซื้อหลักทรัพย์ตามที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ได้เสนอขายหลักทรัพย์นั้นในมูลค่าตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่าของหลักทรัพย์ดังกล่าวให้ถือเอาราคาเสนอขายเป็นเกณฑ์
(5) การเสนอขายหุ้นที่ออกโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยผู้ขายและผู้ซื้อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออกหุ้นนั้น การคำนวณมูลค่าการเสนอขายหุ้นตาม (1) หรือการนับจำนวนผู้ลงทุนตาม (2) หรือ (3) ไม่นับรวมส่วนที่เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนตาม (4) หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออกหุ้นตาม (5) ทั้งนี้ ไม่ว่าการเสนอขายดังกล่าวจะกระทำในเวลาเดียวกันหรือต่างเวลากันในรอบระยะเวลาสิบสองเดือน ผู้ลงทุนตาม (4)(ก) ถึง (ฉ) ซึ่งได้หลักทรัพย์มาจากการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามวรรคหนึ่ง หากประสงค์จะเสนอขายหลักทรัพย์นั้นต่อประชาชนหรือบุคคลใด ๆ ที่มิใช่ผู้ลงทุนตาม (4) ให้ผู้ลงทุนดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานตามหมวด 2 แม้ว่าการเสนอขายนั้นจะเข้าลักษณะตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) ก็ตาม
ในกรณีที่ผู้ลงทุนตาม (4) ประสงค์จะเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศ ต่อประชาชนหรือบุคคลใด ๆ ที่มิใช่ผู้ลงทุนตาม (4) ผู้ลงทุนดังกล่าวต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานตามหมวด 2 แม้ว่าการเสนอขายนั้นจะเข้าลักษณะตาม (3) ก็ตาม
ข้อ 8 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามข้อ 7(1) (2) และ (3) ให้ถือว่าเจ้าของหลักทรัพย์หลายรายที่ร่วมกันเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันซึ่งออกโดยบริษัทเดียวกันเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์โดยเจ้าของหลักทรัพย์เพียงหนึ่งราย ทั้งนี้ การร่วมกันเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวให้รวมถึงพฤติการณ์ดังต่อไปนี้ด้วย
(1) เจ้าของหลักทรัพย์แต่ละรายเสนอขายหลักทรัพย์ในราคาและระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และ
(2) ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) เจ้าของหลักทรัพย์แต่ละรายเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน
(ข) เจ้าของหลักทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทย่อย หรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว
(ค) เงินที่ได้รับจากการเสนอขายหลักทรัพย์ของเจ้าของหลักทรัพย์แต่ละรายในที่สุดไปสู่บุคคลเดียวกัน
(ง) เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ที่เจ้าของหลักทรัพย์แต่ละรายใช้ใบจองซื้อหลักทรัพย์หรือตัวแทนรับจองซื้อหลักทรัพย์ร่วมกัน โดยมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้จองซื้อหลักทรัพย์มิได้คำนึงว่าตนได้จองซื้อหลักทรัพย์จากเจ้าของหลักทรัพย์รายใด
ข้อ 9 การเสนอขายหลักทรัพย์แก่กองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งที่จัดตั้งขึ้น หรือมีการลงทุนในลักษณะที่เป็นเครื่องมือเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ตามหมวด 2 มิให้ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะตามข้อ 7(4)เว้นแต่กรณีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามวรรคสาม ให้การเสนอขายหลักทรัพย์แก่กองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งในลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นการเสนอขายที่มิให้ถือเป็นการเสนอขายแก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะตามวรรคหนึ่งข้อ 7(4)
(1) กองทุนรวมนั้นมิได้จำกัดการเสนอขายหน่วยลงทุนเฉพาะแก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะ
(2) การเสนอขายหลักทรัพย์ให้กองทุนรวมนั้นเป็นไปตามข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างผู้เสนอขายหลักทรัพย์กับบริษัทจัดการ โดยบริษัทจัดการดังกล่าวไม่ต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสนอขายนั้น ในระดับเดียวกับการบริหารกองทุนรวมทั่วไป และ
(3) มีการลงทุนของกองทุนรวมในหลักทรัพย์ที่เสนอขายในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
(ก) ลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสนอขายของบริษัทใดบริษัทหนึ่งในแต่ละครั้งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมนั้น หรือ
(ข) ลงทุนในหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งเกินกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่ารวมของหลักทรัพย์ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง
ในกรณีที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ประสงค์จะเสนอขายหลักทรัพย์แก่กองทุนรวมที่มีลักษณะตามที่กำหนดในวรรคสอง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การเสนอขายหลักทรัพย์แก่กองทุนรวมนั้นเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวยื่นคำขอความเห็นชอบต่อสำนักงานพร้อมทั้งคำชี้แจงและเอกสารหลักฐานประกอบ และให้สำนักงานมีอำนาจให้ความเห็นชอบให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์สามารถเสนอขายหลักทรัพย์แก่กองทุนรวมในฐานะเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะในครั้งนั้นได้ เพื่อประโยชน์ตามความในข้อนี้
"กองทุนรวม" หมายความว่า กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม "บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
ข้อ 10 การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนหรือบุคคลใด ๆ โดยเจ้าของหลักทรัพย์ที่เข้าถือหลักทรัพย์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งเนื่องจากการปฏิบัติตามนโยบายของทางการเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินหรือรักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และประสงค์จะขายหลักทรัพย์นั้นตามนโยบายของทางการ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
(1) เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์โดยเจ้าของหลักทรัพย์ที่เข้าลักษณะ ดังนี้
(ก) กระทรวงการคลัง
(ข) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ค) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(ง) หน่วยงานของรัฐ
(จ) บุคคลที่เข้าถือหลักทรัพย์เนื่องจากได้รับการร้องขอจากบุคคลตาม (ก) (ข) (ค) หรือ (ง)
(2) เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อผู้ลงทุนซึ่งรู้หรือควรได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงานของบริษัทนั้นได้อย่างเพียงพอตามสมควรแล้ว ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานพิจารณาอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ความเพียงพอของข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่เปิดเผยอยู่เป็นการทั่วไป หรือในตลาดรองของหลักทรัพย์ที่เสนอขาย
(2) วิธีการกำหนดราคาของหลักทรัพย์ที่เสนอขาย
ข้อ 11 ให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ที่เสนอขายหลักทรัพย์ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน รายงานผลการขายหลักทรัพย์ต่อสำนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันปิดการเสนอขาย โดยให้แสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) วันที่เสนอขายหลักทรัพย์
(2) ชื่อเฉพาะของหลักทรัพย์ (ถ้ามี)
(3) จำนวนหลักทรัพย์ที่เสนอขายทั้งหมด และจำนวนหลักทรัพย์ที่ขายได้ทั้งหมด
(4) ราคาของหลักทรัพย์ที่เสนอขาย
(5) ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อหลักทรัพย์ และจำนวนที่ผู้ซื้อหลักทรัพย์แต่ละรายได้รับจัดสรร
หมวด 2
การยื่นและการมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูล
และร่างหนังสือชี้ชวน
ข้อ 12 การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในแต่ละครั้ง ให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามแบบดังต่อไปนี้ต่อสำนักงานจำนวนห้าชุด พร้อมทั้งร่างหนังสือชี้ชวน โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นผู้ร่วมจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนดังกล่าว และชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด
(1) แบบ 69-1 ท้ายประกาศนี้ กรณีเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์นอกจากกรณีตาม (2)
(2) แบบ 69-dw ท้ายประกาศนี้ กรณีเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในกรณีที่ผู้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ ผู้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวไม่จำต้องจัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินร่วมจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนอีกในกรณีที่ระยะเวลาการเสนอขายหลักทรัพย์ตามที่กำหนดในแบบแสดงรายการข้อมูลสิ้นสุดลงแล้ว และผู้เสนอขายหลักทรัพย์ประสงค์จะเสนอขายหลักทรัพย์ในส่วนที่เหลือจากการเสนอขายครั้งก่อน ให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลฉบับใหม่ต่อสำนักงาน
ข้อ 13 ก่อนปิดการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาต หากผู้เสนอขายหลักทรัพย์ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่มิได้แสดงอยู่ในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนให้แก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะรายเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสนอขาย หรือการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสนอขาย ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ต้องดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนโดยพลัน ทั้งนี้ ต้องไม่ช้ากว่าวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลมีผลใช้บังคับ หรือในกรณีที่แบบแสดงรายการข้อมูลมีผลใช้บังคับแล้วต้องไม่ช้ากว่าวันทำการถัดจากวันที่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงต่อบุคคลใดนั้นการปิดการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง กรณีเป็นหลักทรัพย์แปลงสภาพให้หมายถึงการปิดการเสนอขายหลักทรัพย์แปลงสภาพนั้น
ข้อ 14 ในกรณีที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ได้เสนอขายหลักทรัพย์ประเภทใดในต่างประเทศ โดยมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายต่างประเทศนั้น เมื่อมีการเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันในประเทศไทย ให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนไม่น้อยกว่ารายละเอียดของข้อมูลที่ได้เปิดเผยในการเสนอขายหลักทรัพย์นั้นในต่างประเทศ
ข้อ 15 ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันการเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูลตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 69(11) มาตรา 70(9) และมาตรา 71(5) ได้ หากผู้เสนอขายหลักทรัพย์นั้นแสดงได้ว่ามีเหตุอันควรที่จะไม่แสดงรายละเอียดของข้อมูลดังกล่าวไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูล ทั้งนี้ รายละเอียดของข้อมูลนั้นต้องไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อ 16 ในการพิจารณาข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน หากสำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ดำเนินการดังต่อไปนี้ ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด
(1) แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลหรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม
(2) จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นอิสระจัดทำความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วน หรือความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ปรากฏในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน
หากผู้เสนอขายหลักทรัพย์ไม่ดำเนินการตามที่สำนักงานกำหนดตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าผู้เสนอขายหลักทรัพย์ไม่ประสงค์จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานอีกต่อไป
ข้อ 17 ให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์และที่ปรึกษาทางการเงินลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูล
ในกรณีที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ให้ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลดังกล่าวทุกคนเป็นผู้ลงลายมือชื่อพร้อมทั้งประทับตราสำคัญของนิติบุคคลนั้นด้วย เว้นแต่
(1) ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรทำให้ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลบางรายไม่สามารถลงลายมือชื่อขณะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานได้ และเมื่อเหตุดังกล่าวหมดสิ้นไป ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ต้องดำเนินการให้บุคคลนั้นลงลายมือชื่อทันทีเพื่อให้แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับได้ตามข้อ 19
(2) ในกรณีที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์นั้นแสดงต่อสำนักงานได้ว่า ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลดังกล่าวรายใดอยู่ในภาวะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เนื่องจากเจ็บป่วยทางร่างกายหรือทางจิต ผู้เสนอขายหลักทรัพย์นั้นไม่จำต้องจัดให้ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลรายดังกล่าวลงลายมือชื่อในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน
ข้อ 18 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์โดยเจ้าของหลักทรัพย์ ผู้เสนอขาย หลักทรัพย์ต้องจัดให้ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลด้วย
ข้อ 19 ในกรณีที่เจ้าของหลักทรัพย์ประสงค์จะเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนตามข้อ 12 ให้เจ้าของหลักทรัพย์จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงว่าบริษัทที่ออกหลักทรัพย์นั้นทราบถึงการเสนอขายหลักทรัพย์ของเจ้าของหลักทรัพย์ต่อสำนักงานด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ทราบถึงหน้าที่ที่จะต้องจัดทำและส่งงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทตามมาตรา 56
ข้อ 20 ภายใต้บังคับมาตรา 68 และ มาตรา 75 เมื่อผู้เสนอขายหลักทรัพย์ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน และได้ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนดแล้ว ให้แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันดังต่อไปนี้
(1) เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน ในกรณีที่ไม่เข้าลักษณะตาม (2) และ (3)
(2) เมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) การเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
(ข) การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานภายในสามเดือนภายหลังที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์นั้นได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าว
(3) เมื่อพ้นกำหนดสามวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการและร่างหนังสือชี้ชวน ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนภายในสามเดือนนับแต่วันที่แบบเแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนของการเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันที่ออกโดยบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เดียวกันมีผลใช้บังคับในครั้งก่อน
(ข) การเสนอขายหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายได้หลายครั้งภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์นั้นในครั้งแรก
หมวด 3
บทเฉพาะกาล
ข้อ 21 ในกรณีที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในข้อ 2 ไว้แล้วก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 ให้แบบแสดงรายการข้อมูลดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้บังคับประกาศฉบับดังกล่าวต่อไป แต่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ต้องดำเนินการให้แบบแสดงรายการข้อมูลดังกล่าวมีผลใช้บังคับภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2543
ประกาศ ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2543
(นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-