การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday July 31, 2000 14:46 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 33/2543
เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
____________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 139(5) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
"บริษัท" หมายความว่า บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ
"บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในสายงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตั้งแต่ตำแหน่งผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลขึ้นไปจนถึงตำแหน่งผู้จัดการ
"ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล" หมายความว่า กรรมการหรือพนักงานของบริษัทจัดการที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทจัดการนั้นให้มีอำนาจตัดสินใจลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นให้แก่ลูกค้า
"ลูกค้า" หมายความว่า บุคคลหรือคณะบุคคลที่มอบหมายให้บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คำว่า "ลูกค้า" หมายความถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
"ผู้จัดการ" หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของบริษัทจัดการให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารงานของบริษัทจัดการ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างใดก็ตาม
"บริษัทในเครือ" หมายความว่า บริษัทที่ถือหุ้นของบริษัทจัดการตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจัดการ และบริษัทที่บริษัทจัดการถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
" กองทุนรวม" หมายความว่า กองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและกองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน
"ตัวแทนสนับสนุน" หมายความว่า ตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการจำหน่าย หน่วยลงทุนของกองทุนปิด ตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของ กองทุนเปิด หรือตัวแทนเพื่อทำหน้าที่รับคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนปิด แล้วแต่กรณี
"ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน" หมายความว่า การซื้อหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้โดยมีสัญญาที่จะขายคืนหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้นั้นตามวันที่กำหนดไว้ในสัญญา
"ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์" หมายความว่า สัญญาซึ่งบริษัทจัดการโอนหลักทรัพย์ของกองทุนส่วนบุคคลให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะโอนหลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลเดียวกันหรือโครงการจัดการกองทุนรวมเดียวกัน ประเภท รุ่น และชนิดเดียวกัน ในจำนวนที่เทียบเท่ากันคืนให้แก่กองทุนส่วนบุคคล
ข้อ 2 ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังต่อไปนี้ โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ 3 เป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
(1) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของบริษัทที่บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ของบริษัทจัดการเป็นกรรมการหรือถือหุ้นเกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น หรือที่บุคคลดังกล่าวถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
การถือหุ้นของบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการถือหุ้นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวด้วย
(2) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่บริษัทจัดการหรือบริษัทในเครือของบริษัทจัดการเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน
(3) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่บริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการลงทุน
(4) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของบริษัทเฉพาะในส่วนที่บริษัทจัดการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อ ที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นของกิจการที่ถูกเสนอซื้อ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือตัวแทนสนับสนุน
(5) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ได้มาหรือจำหน่ายไประหว่างกองทุนส่วนบุคคลที่บริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการลงทุนกับบัญชีลงทุนของบริษัทจัดการหรือกับกองทุนรวมหรือกับกองทุนส่วนบุคคลที่บริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการลงทุน
(6) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนกับบริษัทจัดการหรือบริษัทในเครือของบริษัทจัดการ
(7) ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์กับบริษัทจัดการหรือบริษัทในเครือของบริษัทจัดการ
ข้อ 3 การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินตามข้อ 2 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกค้าให้ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในแต่ละข้อของข้อ 2 ได้ โดยได้อธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ด้วยแล้ว
การได้รับความยินยอมจากลูกค้าตามวรรคหนึ่ง อาจกำหนดไว้ในสัญญาหรือได้รับความยินยอมก่อนการลงทุนดังกล่าวก็ได้
(2) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของ กองทุนรวมที่บริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการลงทุน เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีมูลค่ารวมกันไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินกองทุน
(3) เว้นแต่ลูกค้าจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ให้บริษัทจัดการรายงานให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา โดยรายงานดังกล่าวต้องระบุวันที่ลงทุน ชื่อหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ลงทุน จำนวน ราคาต่อหน่วย มูลค่าหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ลงทุน และอัตราส่วนการลงทุนโดยเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนส่วนบุคคล รวมทั้งระบุว่าเป็นการลงทุนตามข้อใดของข้อ 2
รายงานที่ส่งให้ลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตาม (3) ให้มีรายการอัตราส่วนการลงทุนที่เทียบกับเงินกองทุน แทนรายการอัตราส่วนการลงทุนที่เทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนส่วนบุคคล
ข้อ 4 ในกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามข้อ 2 อยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ บริษัทจัดการจะคงมีไว้ซึ่ง
การลงทุนดังกล่าวต่อไปก็ได้ แต่ถ้ามีการจำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินไปเท่าใด ให้บริษัทจัดการ ลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวได้ไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแ+ต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ