หลักเกณฑ์ และวิธีการในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday November 16, 2000 10:51 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน.56/2543
เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
ผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 7/2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน.46/2541 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน.53/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม(ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2543 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"การบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า การบริการธุรกรรมที่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เช่น เครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine) บริการธนาคารทางโทรศัพท์ (telebanking) อินเทอร์เน็ต หรือสื่ออื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
"โครงการ" หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวม
"กองทุนรวม" หมายความว่า กองทุนปิดและกองทุนเปิด
"กองทุนปิด" หมายความว่า กองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน ที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทจัดการ
"กองทุนเปิด" หมายความว่า กองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทจัดการ
"หนังสือชี้ชวน" หมายความว่า หนังสือชี้ชวนที่มีรายละเอียดตามที่กำหนดโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยแบบหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
"ตัวแทนสนับสนุน" หมายความว่า ตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนปิด ตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด หรือตัวแทนเพื่อทำหน้าที่รับคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนปิดแล้วแต่กรณี
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 การขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะกระทำได้ต่อเมื่อบริษัทจัดการได้ระบุเรื่องดังกล่าวไว้ในโครงการแล้ว
ข้อ 3 ในการพิจารณาให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ลงทุน บริษัทจัดการต้องมีกระบวนการที่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ลงทุนที่ยื่นคำขอใช้บริการเป็นบุคคลเดียวกับที่ปรากฏตามเอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการขอใช้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระบวนการดังกล่าวต้องประกอบด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธีการรวมกัน ดังต่อไปนี้
(1) การให้ผู้ลงทุนลงนามในคำขอใช้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว
(2) การตรวจสอบกลับไปยังผู้ลงทุนหรือบุคคลที่ผู้ลงทุนอ้างอิงตามที่ปรากฏชื่อในคำขอใช้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตรวจสอบความมีตัวตนของผู้ลงทุน
(3) การแต่งตั้งบุคคลที่เชื่อถือได้เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานและรับรองความมีตัวตนของผู้ลงทุน
(4) การให้ผู้ลงทุนยื่นเอกสารที่สามารถยืนยันความมีตัวตนของผู้ลงทุนในการขอใช้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และหากบริษัทจัดการใช้เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานในการพิจารณาความมีตัวตนของผู้ลงทุน ให้บริษัทจัดการทำการตรวจสอบความมีอยู่จริงและความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว และในกรณีที่ผู้ลงทุนยื่นเอกสารที่เป็นสำเนาบัญชีเงินฝากธนาคาร ให้บริษัทจัดการดำเนินการตรวจสอบเอกสารดังกล่าวกับธนาคารที่เกี่ยวข้องด้วย
(5) วิธีการอื่นใดที่บริษัทจัดการแสดงให้สำนักงานมั่นใจได้ว่าสามารถตรวจสอบความมีตัวตนของผู้ลงทุนที่ถูกต้องได้ให้บริษัทจัดการเก็บรักษาเอกสารหลักฐานตามวรรคหนึ่งไว้เพื่อให้สำนักงานตรวจสอบได้
ข้อ 4 ในการอนุมัติให้ผู้ลงทุนแต่ละรายซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทจัดการต้องระบุกระบวนการที่บริษัทจัดการใช้ในการตรวจสอบความมีตัวตนของผู้ลงทุนตามข้อ 3 ไว้เป็นหลักฐานด้วย
ข้อ 5 ในการให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ต บริษัทจัดการต้องดำเนินการสำหรับการขายหน่วยลงทุนหรือการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบไว้ในระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้ลงทุนเรียกดูได้ โดยต้องแยกข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือชี้ชวนส่วนดังกล่าวให้เห็นเด่นชัดและแตกต่างจากข้อมูลอื่น ๆ และจัดให้มีระบบที่ผู้ลงทุนสามารถเรียกดูหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการได้ หรือสามารถขอหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบและหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการได้ โดยข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือชี้ชวนทั้งสองส่วนดังกล่าวต้องมีข้อมูลเหมือนกับหนังสือชี้ชวนที่บริษัทจัดการจัดส่งให้สำนักงาน
(2) จัดให้มีคำเตือนว่าการสั่งซื้อหรือสั่งขายหน่วยลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ตอาจไม่มีการทำรายการซื้อขายในกรณีที่มีข้อขัดข้องทางเทคนิคเกิดขึ้น และแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบถึงเงื่อนไขต่าง ๆ (ถ้ามี) ที่มีความแตกต่างจากการสั่งซื้อหรือสั่งขายหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการหรือตัวแทนสนับสนุนโดยตรงด้วย
(3) จัดให้มีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ลงทุนได้อ่านหรือรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบและคำเตือนตลอดจนเงื่อนไขตาม (2) แล้วก่อนการสั่งซื้อหน่วยลงทุน
(4) จัดให้มีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ลงทุนได้อ่านหรือรับทราบคำเตือนและเงื่อนไขตาม (2) แล้ว ก่อนการสั่งขายคืนหน่วยลงทุน
ข้อ 6 ในการให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine) หรือผ่านการบริการธนาคารทางโทรศัพท์ (telebanking) บริษัทจัดการต้องจัดให้มีข้อความว่าผู้ลงทุนสามารถขอหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบและหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการได้ และให้นำความในข้อ 5(2) (3) และ (4) แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 7 บริษัทจัดการต้องจัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันมิให้เกิดการรั่วไหล หรือเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลในลักษณะที่เป็นการปลอมแปลงข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน หรือข้อมูลเกี่ยวกับรายการซื้อขายที่เกิดขึ้นแล้ว (executed order)
ข้อ 8 บริษัทจัดการต้องจัดให้มีระบบการเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของกองทุนรวมทุกรายการไว้ และจัดให้มีระบบการเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวสำรองไว้ด้วย
ข้อ 9 ให้บริษัทจัดการแจ้งวันเริ่มให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รายละเอียดของการให้บริการ และชื่อของบริการ พร้อมทั้งนำส่งเอกสารเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัยในการทำงานของระบบงานคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ลงทุน ให้สำนักงานทราบล่วงหน้าก่อนเริ่มให้บริการดังกล่าว
ข้อ 10 ในกรณีที่บริษัทจัดการใด ให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine) หรือผ่านการบริการธนาคารทางโทรศัพท์ (telebanking) อยู่แล้วในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้บริษัทจัดการนั้นให้บริการดังกล่าวต่อไปได้อีกไม่เกินสามเดือนนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ บริษัทจัดการดังกล่าวต้องแจ้งให้สำนักงานทราบภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ