โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday August 24, 2001 14:42 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ ขส. 1/2544
เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร
_____________________________
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีประกาศที่ ขส. 1/2541 เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2541 แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน โครงสร้างการแบ่งส่วนงานภายในสำนักงาน หน้าที่ของแต่ละส่วนงาน และสถานที่ติดต่อของสำนักงาน มาเพื่อทราบโดยทั่วกันแล้ว นั้น
โดยที่ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานมีอำนาจหน้าที่หรือได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่นอีก 2 ฉบับ ประกอบกับนับตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2544 เป็นต้นมา คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้อนุมัติให้มี การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนงานภายในสำนักงานและขอบเขตหน้าที่ของแต่ละส่วนงานดังกล่าวให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจยิ่งขึ้น สำนักงานจึงขอแจ้งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับ โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ โดยขอยกเลิกประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ ขส. 1/2541 เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2541 และให้ใช้ข้อความในประกาศนี้แทน ดังนี้
ข้อ 1 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ("คณะกรรมการ ก.ล.ต.")และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ("สำนักงาน") จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2535 ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของประเทศข้อ 2 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็น ประธานกรรมการ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีอีกไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคนเป็นกรรมการ โดยในจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านการบัญชี และด้าน การเงินด้านละหนึ่งคน และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ การออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อำนาจดังกล่าวรวมถึง
(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
(2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต
(3) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ
(4) ออกระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับเกี่ยวกับการพนักงาน ระบบพนักงานสัมพันธ์ การบรรจุแต่งตั้งถอดถอน และวินัยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน การกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการต่าง ๆ
(5) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(2) กำกับดูแลให้นิติบุคคลเฉพาะกิจปฏิบัติตามพระราชกำหนดดังกล่าว
(3) กำหนดประเภทของสินทรัพย์และหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(4) ออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดดังกล่าว
(5) กำหนดค่าธรรมเนียมในการดำเนินการต่างๆ ตามพระราชกำหนดดังกล่าว
(6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือที่ปรึกษาเพื่อปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มอบหมาย
(7) วางระเบียบเกี่ยวกับการประชุมและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ
(8) ปฏิบัติการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดดังกล่าว
ข้อ 3 สำนักงานมีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการทั้งปวงของสำนักงาน ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวเลขาธิการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และปฏิบัติงานอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือตามกฎหมายอื่นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงาน ตามวรรคสองรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสำนักงาน
(1) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยนโอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้
(2) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงินและลงทุนหาผลประโยชน์
(3) กำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ
(4) รับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงานกำหนดและโดยที่สำนักงานได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 29 มีนาคม 2543 ให้เป็นนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรอง เลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2543 เป็นต้นมา สำนักงานจึงมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับและควบคุมโดยทั่วไปเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
ข้อ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2444 เป็นต้นมาโครงสร้างการดำเนินงานของสำนักงานโดยอนุมัติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะแบ่งออกเป็นส่วนงานต่าง ๆ ดังนี้
(1) ฝ่ายกฎหมาย
(2) ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
(3) ฝ่ายกำกับธุรกิจหลักทรัพย์
(4) ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์
(5) ฝ่ายตรวจสอบและคดี
(6) ฝ่ายยุทธศาสตร์พัฒนา
(7) สำนักกำกับบัญชีตลาดทุน
(8) สำนักตรวจสอบกิจการภายใน
(9) สำนักทรัพยากรบุคคล
(10) สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ
(11) สำนักบริหารทั่วไป
(12) สำนักพัฒนาความรู้ตลาดทุน
(13) สำนักเลขาธิการ
(14) สำนักวิจัยและพัฒนาตลาดทุน
(15) ส่วนรักษาความปลอดภัย
ข้อ 5 ฝ่ายกฎหมายมีหน้าที่ให้คำปรึกษา พิจารณา ยกร่างและตีความกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่หรือเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน รวมทั้ง ข้อบังคับและคำสั่งต่าง ๆ ที่ใช้บังคับภายในสำนักงาน ให้คำปรึกษาและยกร่างสัญญา รวมทั้งหลักฐานแห่ง ข้อผูกพันอื่น ๆ ระหว่างสำนักงานกับบุคคลภายนอก รวบรวมและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ประสานงานการปฏิบัติตามคำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือหมายเรียกพยานบุคคล เตรียมการเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายที่สำนักงานเป็นคู่ความหรือคู่กรณี ให้คำแนะนำและ ความช่วยเหลือแก่พนักงานในการต่อสู้คดีตามที่กำหนดในข้อบังคับสำนักงาน ตลอดจนปฏิบัติงานด้าน ธุรการของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และปฏิบัติงานด้านเลขานุการของคณะอนุกรรมการกฎหมาย และคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
ข้อ 6 ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุนมีหน้าที่กำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การจัดการเงินร่วมลงทุน และการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน รวมทั้งกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล และการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม ตลอดจนสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบธุรกิจดังกล่าว รวบรวมและประมวลข้อมูลตามรายงานของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล และตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ ดังกล่าว
ข้อ 7 ฝ่ายกำกับธุรกิจหลักทรัพย์มีหน้าที่กำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเภทที่มิได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนงานใดโดยเฉพาะ รวมทั้งกำกับดูแลองค์กรและสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจดังกล่าว และกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทสมาชิก ตลอดจนรวบรวมและประมวลข้อมูลตามรายงานของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล และตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าว
ข้อ 8 ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์มีหน้าที่กำกับดูแลการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการพิจารณาคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของการเปิดเผยข้อมูลในตลาดแรก และดูแลการเปิดเผยข้อมูลภายหลังการเสนอขายหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้ลงทุนมี ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และเป็นปัจจุบันเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งกำกับดูแลการเข้าถือ หลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน ศึกษา เสนอแนะนโยบาย และพัฒนากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน การระดมทุนด้วยตราสารการเงินประเภทต่าง ๆ และการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตลาดทุนและการคุ้มครองผู้ลงทุน ศึกษาแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหลักทรัพย์ ได้แก่ ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมทั้งพิจารณาคำขอความเห็นชอบ และติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคล ดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาลงโทษผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ตลอดจนตรวจสอบข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนในเบื้องต้นจากเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ หากพบว่ากรณีร้องเรียนมีมูลเพียงพอจึงจะส่งให้ฝ่ายตรวจสอบและคดีดำเนินการต่อไป
ข้อ 9 ฝ่ายตรวจสอบและคดีมีหน้าที่ติดตาม เก็บรวบรวม และตรวจสอบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เก็บรวบรวมและตรวจสอบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายความผิดอื่นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ดำเนินการป้องปราม หรือดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดโดยกล่าวโทษต่อพนักงาน สอบสวน หรือเสนอข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบปรับ พิจารณา เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และกำกับดูแล ตลาดหลักทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบการซื้อขายหลักทรัพย์
ข้อ 10 ฝ่ายยุทธศาสตร์พัฒนามีหน้าที่ศึกษาและติดตามพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลง ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตลาดทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีผลต่อตลาดทุนของประเทศ กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการกำกับและพัฒนาตลาดทุน ทั้งด้านสินค้า ผู้ร่วมตลาด โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้ง แก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการกำกับและพัฒนาตลาดทุน ตลอดจนจัดทำแผนกลยุทธ์ในการปฏิบัติ ภารกิจของสำนักงาน
ข้อ 11 สำนักกำกับบัญชีตลาดทุนมีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีและกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ส่งเสริมและพัฒนา รวมทั้งกำกับดูแลวิชาชีพบัญชีและการสอบบัญชีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ให้คำปรึกษาและ ข้อเสนอแนะแก่ส่วนงานต่าง ๆ ของสำนักงาน รวมทั้งบุคคลภายนอกเกี่ยวกับวิชาการบัญชี และวิธีปฏิบัติทางบัญชี ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชีที่กำหนดโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมทั้งให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีของนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ตลอดจนประสานงานกับส่วนงานต่าง ๆ ของ สำนักงาน ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติทางบัญชีของนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน
ข้อ 12 สำนักตรวจสอบกิจการภายในมีหน้าที่ตรวจสอบกิจการและการดำเนินงานของสำนักงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ข้อบังคับ คำสั่ง และพิธีปฏิบัติที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานกำหนด เพื่อให้มีระบบการควบคุมภายในที่รัดกุม ปลอดภัย รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ข้อ 13 สำนักทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่ศึกษา วางแผน และดำเนินการเกี่ยวกับการพนักงาน สวัสดิการ การจัดองค์งานและการพัฒนาพนักงาน
ข้อ 14 สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศมีหน้าที่ศึกษา วางแผน วิเคราะห์ระบบงาน ออกแบบระบบงาน และพัฒนาระบบงานด้วยคอมพิวเตอร์ ศึกษาและพัฒนาระบบการจัดเก็บและเรียกใช้ฐานข้อมูล โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ บำรุงรักษาระบบงานที่พัฒนาแล้วเสร็จ บริหารการใช้ข้อมูลในระบบเครือข่ายทั้งในและนอกสำนักงาน ศึกษาและจัดหาเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในงานของสำนักงาน และให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะและแก้ไขปัญหาของระบบคอมพิวเตอร์ภายในสำนักงาน รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทางด้านคอมพิวเตอร์
ข้อ 15 สำนักบริหารทั่วไปมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุ งานธุรการ ทั่วไป การวางรูปและระเบียบการบัญชี การประมวลบัญชี และการจัดงบประมาณของสำนักงาน ตลอดจนธุระการเงินและการลงทุนของสำนักงาน
ข้อ 16 สำนักพัฒนาความรู้ตลาดทุนมีหน้าที่บริหารจัดการฐานความรู้ด้านตลาดทุนเพื่อให้บริการแก่ประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งบุคลากรภายในสำนักงาน และดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านการเงิน การลงทุน และตลาดทุน ให้แก่นักลงทุนและประชาชน โดยทั่วไป
ข้อ 17 สำนักเลขาธิการมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์ งานสารนิเทศ งานวิเทศสัมพันธ์ และเผยแพร่กิจกรรมของสำนักงาน รวมทั้งปฏิบัติงานด้านธุรการและเลขานุการของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน
ข้อ 18 สำนักวิจัยและพัฒนาตลาดทุนมีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เกี่ยวกับตลาดทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาและการกำกับดูแลตลาดทุน รวมทั้งประมวลผลข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาดทุน ตลอดจนงานวิชาการอื่น
ข้อ 19 ส่วนรักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ดำเนินการ ศึกษา พัฒนาและควบคุมระบบ การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคล เอกสาร ข่าวสาร สถานที่และทรัพย์สินของสำนักงาน รวมทั้งตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของลูกจ้างทดลองงานก่อนเข้าปฏิบัติงาน ตลอดจนติดตาม รวบรวม ข้อมูล ข่าวสาร เกี่ยวกับสถานการณ์หรือความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตพนักงานและ/หรือทรัพย์สินของสำนักงาน หรือมีผลกระทบในทางที่อาจเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของสำนักงาน ทำการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแนะนโยบายหรือมาตรการที่จำเป็นในการรักษาความปลอดภัยสำนักงาน รวมทั้งดำเนินการใด ๆ เพื่อระงับ ยับยั้ง ป้องกันภัยคุกคามที่อาจมีต่อสำนักงาน ภายใต้ขอบเขต ข้อจำกัดแห่งอำนาจหน้าที่ หรือเป็นไปตามกฎ ระเบียบ คำสั่ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 20 ที่ทำการของสำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้น 10 และชั้น 13-16 อาคารดีทแฮล์มทาวเว่อร์ บีเลขที่ 93/1 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 โทรศัพท์ 0-2252-3223 โทรสาร 0-2256-7711การติดต่อสำนักงาน หรือการติดต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งสามารถกระทำได้ผ่านสำนักงาน สามารถติดต่อได้ตามสถานที่ทำการข้างต้น หรือทาง email: info@sec.or.th
นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.sec.or.th
ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2544
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ