ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สค. 39/2559 เรื่อง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน (ฉบับที่ 3)

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 26, 2016 15:56 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สค. 39/2559

เรื่อง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน

(ฉบับที่ 3)

_____________________________

โดยที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนทุนทรัพย์และกำหนดระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงานโดยได้นำหลักการตามความร่วมมือระหว่างตลาดทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งมุ่งคุ้มครองผู้ลงทุนมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 6 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สอ. 8/2556 เรื่อง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 6 ข้อพิพาทที่ผู้ร้องจะเสนอเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงานต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกร้องไม่ปฏิบัติตามสัญญา หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว

(2) เป็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องแต่ละรายเรียกร้องค่าเสียหายไม่เกินห้าล้านบาท

(3) ในกรณีเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการให้บริการทางด้านหลักทรัพย์ หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกฎเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ข้อพิพาทที่ผู้ร้องจะเสนอเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ตกลงใช้บริการ หรือเข้าทำสัญญา กับผู้ถูกร้องเกี่ยวกับหลักทรัพย์หรือธุรกิจหลักทรัพย์ หรือเป็นข้อพิพาทระหว่างสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับผู้ถูกร้อง โดยผู้ร้องต้องแสดงหลักฐานเป็นหนังสือหรือข้อสัญญาที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องตกลงยินยอมให้มีการเสนอข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

(ข) เป็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ยื่นข้อร้องเรียนผ่านระบบการรับข้อร้องเรียนตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับการรับข้อร้องเรียนของลูกค้า แล้วแต่กรณี และปรากฏกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

1. ผู้ร้องไม่ได้รับการติดต่อจากผู้ถูกร้องตามที่ประกาศดังกล่าวกำหนดภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นข้อร้องเรียน

2. ผู้ร้องไม่ได้รับการแก้ไขข้อร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นข้อร้องเรียน

3. ผู้ร้องเห็นว่าการแก้ไขข้อร้องเรียนเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม และแสดงได้ว่าได้มีการสงวนสิทธิว่าอาจนำเสนอข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

(ค) เป็นข้อพิพาทที่เสนอเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการภายในหกเดือนนับแต่กำหนดระยะเวลาในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ข้อพิพาทดังกล่าวต้องเกิดขึ้นมาแล้วไม่เกินสองปีนับแต่เกิดเหตุที่ใช้เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องสิทธิ เว้นแต่สำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควรแต่ต้องไม่เกินกำหนดอายุความฟ้องคดีตามกฎหมาย

1. เมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นข้อร้องเรียน ในกรณีที่ผู้ร้องไม่ได้รับการติดต่อจากผู้ถูกร้อง

2. เมื่อพ้นกำหนดสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นข้อร้องเรียน ในกรณีที่ผู้ร้องไม่ได้รับการแก้ไขข้อร้องเรียนให้แล้วเสร็จ

3. เมื่อพ้นกำหนดสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นข้อร้องเรียน ในกรณีที่ผู้ร้องเห็นว่าการแก้ไขข้อร้องเรียนเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 8 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 8 ผู้ร้องหลายรายที่มีสิทธิเรียกร้องต่อผู้ถูกร้องเป็นแบบเดียวกันอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน และมีการเรียกร้องค่าเสียหายแต่ละรายไม่เกินห้าล้านบาท ผู้ร้องเหล่านั้นอาจร่วมกันยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานได้ โดยทำเป็นหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินกระบวนการพิจารณาตามแบบ อญ. 2 ที่สำนักงานกำหนด เพื่อดำเนินการใด ๆ ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการแทนผู้ร้องทุกราย พร้อมทั้งระบุจำนวนอนุญาโตตุลาการกรณีที่เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการมาพร้อมกับการยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทด้วย”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 15 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สอ. 8/2556 เรื่อง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ในกรณีที่มีผู้ร้องหลายรายร่วมกันยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทตามข้อ 8 และมีการเรียกร้องค่าเสียหายรวมกันเกินกว่าห้าล้านบาท ผู้ร้องอาจแสดงความประสงค์ให้มีคณะอนุญาโตตุลาการที่ประกอบด้วยอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคนได้ โดยให้แสดงความประสงค์เช่นนั้นมาในคำร้องเสนอข้อพิพาท และผู้ถูกร้องอาจแสดงเจตนาว่าตกลงจะมีอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคนหรือไม่ มาในคำคัดค้านตามข้อ 10”

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของข้อ 32 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ในกรณีการร่วมกันยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทตามข้อ 8 ให้คิดค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการตามอัตราในวรรคหนึ่งจากค่าเสียหายที่เรียกร้องรวมกันทั้งหมด แต่ค่าป่วยการดังกล่าวไม่เกินห้าแสนบาทต่อข้อพิพาท และในกรณีที่มีการตั้งอนุญาโตตุลาการสามคนให้คิดค่าป่วยการตามอัตราดังกล่าว และอนุญาโตตุลาการแต่ละรายจะได้รับค่าป่วยการไม่เกินห้าแสนบาทต่อข้อพิพาท”

ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ