หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า ที่ผู้รับฝากทรัพย์สินรับฝากไว้

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday July 7, 2000 14:14 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                        ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 27/2543
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า
ที่ผู้รับฝากทรัพย์สินรับฝากไว้
_____________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 137 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"ลูกค้า" หมายความว่า บุคคลหรือคณะบุคคลที่มอบหมายให้บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคำว่า "ลูกค้า" หมายความถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
"ผู้รับฝากทรัพย์สิน" หมายความว่า ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
"ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์" หมายความว่า ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ในการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินจัดให้มีหน่วยงานและบุคลากรที่รับผิดชอบงานด้านการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าซึ่งเป็นอิสระจากหน่วยงานอื่นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น หน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ การให้คำแนะนำด้านหลักทรัพย์ การจัดการกองทุนส่วนบุคคล หรือการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นเพื่อผู้รับฝากทรัพย์สิน เป็นต้น และหน่วยงานดังกล่าวต้องมีระบบการควบคุมภายในที่ดีในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ซึ่งอย่างน้อยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) แยกบุคลากรที่ทำหน้าที่จัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้า และบุคลากรที่ทำหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าออกจากกัน และ (2) กำหนดให้การจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกค้าทุกครั้งต้องได้รับอนุมัติจากบุคลากรที่มีอำนาจของผู้รับฝากทรัพย์สิน ซึ่งต้องมิใช่บุคลากรที่ทำหน้าที่จัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าหรือเก็บรักษาทรัพย์สินดังกล่าว
ข้อ 3 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องจัดทำรายละเอียดวิธีปฏิบัติในการฝากหรือถอนทรัพย์สินกับหรือจากผู้รับฝากทรัพย์สิน วิธีการในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ตลอดจนวิธีการกำหนดค่าธรรมเนียมในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า (ถ้ามี) และอธิบายให้บริษัทจัดการเข้าใจและลงนามรับทราบรายละเอียดดังกล่าว ในกรณีที่ข้อมูลตามวรรคหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินแจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้บริษัทจัดการทราบโดยพลัน
ข้อ 4 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องจัดให้มีสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย และต้องไม่มีข้อความตอนใดที่ทำให้ผู้รับฝากทรัพย์สินสามารถปฏิเสธความรับผิดต่อความสูญหายหรือความเสียหายของทรัพย์สินของลูกค้า อันเนื่องมาจากการกระทำการหรืองดเว้นกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้รับฝากทรัพย์สิน พนักงานหรือลูกจ้างของผู้รับฝากทรัพย์สิน หรือบุคคลใดที่ผู้รับฝากทรัพย์สินฝากทรัพย์สินของลูกค้าให้ดูแลรักษาแทนตน
ข้อ 5 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องรับและส่งมอบทรัพย์สินของลูกค้าตามคำสั่งของบริษัทจัดการที่มีหลักฐานอ้างอิงได้
ข้อ 6 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อให้ลูกค้าสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของหลักทรัพย์หรือตราสารใดที่อยู่ในการดูแลรักษาของผู้รับฝากทรัพย์สินจากผู้ออกหลักทรัพย์หรือผู้ออกตราสารนั้นภายในเวลาอันสมควร ห้ามมิให้ผู้รับฝากทรัพย์สินแสดงเจตนาใช้สิทธิประโยชน์ของลูกค้าเพื่อตนเองหรือเพื่อบุคคลอื่นใด โดยปราศจากคำสั่งหรือความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทจัดการ
ข้อ 7 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องตรวจสอบความถูกต้องของลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงนามในฐานะผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ย หรือผู้ค้ำประกัน ที่ปรากฏในทรัพย์สินของลูกค้า และตรวจสอบหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของลูกค้า เว้นแต่ไม่อยู่ในวิสัยที่จะสามารถกระทำได้
ข้อ 8 ห้ามมิให้ผู้รับฝากทรัพย์สินแต่งตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนของตนในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ความในวรรคหนึ่งมิให้หมายความรวมถึงกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินฝากหลักทรัพย์ของลูกค้าไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบุคคลอื่นตามที่สำนักงานเห็นชอบ
ข้อ 9 ห้ามมิให้ผู้รับฝากทรัพย์สินกระทำการใดอันมีผลเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิของลูกค้าในทรัพย์สิน โดยปราศจากหรือไม่เป็นไปตามคำสั่งของบริษัทจัดการหรือลูกค้า ตามที่ระบุไว้ในสัญญา
ข้อ 10 ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินจัดทำบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินทุกรายการของลูกค้าแต่ละรายที่อยู่ในการดูแลรักษา โดยต้องแยกเป็นบัญชีต่างหากจากบัญชีทรัพย์สินของผู้รับฝากทรัพย์สิน
บัญชีทรัพย์สินของลูกค้าตามวรรคหนึ่งต้องแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
(1) วันที่รับหรือจ่ายทรัพย์สิน(2) ชื่อ จำนวน และประเภททรัพย์สิน
(3) เหตุที่รับหรือจ่ายทรัพย์สิน
ข้อ 11 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องบันทึกรายการในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน และในกรณีที่เป็นการบันทึกเพื่อแก้ไขรายการ ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันทำการที่พบเหตุแห่งการแก้ไขรายการ และต้องบันทึกเหตุผลประกอบการแก้ไขรายการทุกครั้ง
ข้อ 12 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องจัดให้มีการตรวจนับทรัพย์สินของลูกค้าในส่วนที่ผู้รับฝากทรัพย์สินเก็บรักษาไว้เองอย่างน้อยทุกหกเดือน เพื่อสอบทานความถูกต้องตรงกันกับรายการที่ปรากฏในบัญชีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินเป็นผู้จัดทำ สำหรับทรัพย์สินของลูกค้าที่ผู้รับฝากทรัพย์สินมิได้เก็บรักษาไว้เอง ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องจัดให้มีระบบที่สามารถเรียกดูข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เพื่อสอบทานความถูกต้องของรายการทรัพย์สินที่ปรากฏในรายงานของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบุคคลอื่นตามที่สำนักงานเห็นชอบ กับรายการที่ปรากฏในบัญชีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินเป็นผู้จัดทำ
ข้อ 13 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องจัดทำทะเบียนการรับฝากและการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละราย โดยแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
(1) ชื่อ ประเภท และจำนวนทรัพย์สินที่รับฝากและที่เบิกจ่าย
(2) เงินปันผล ดอกเบี้ย และผลประโยชน์อื่นใดที่ลูกค้าได้รับจากการจัดการกองทุนส่วนบุคคลของบริษัทจัดการ
(3) สถานที่เก็บรักษาทรัพย์สินกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินมิได้เก็บรักษาทรัพย์สินไว้เอง
ข้อ 14 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับฐานะทรัพย์สิน ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือนของลูกค้าแต่ละราย และส่งให้บริษัทจัดการภายในสองวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันสุดท้ายของแต่ละเดือนโดยแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
(1) ชื่อ ประเภท และจำนวนทรัพย์สินที่รับฝากและที่เบิกจ่าย
(2) ยอดทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันสุดท้ายของแต่ละเดือน
ข้อ 15 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องจัดทำรายงานการรับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลณ สิ้นวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน ตามแบบ 137-1 ท้ายประกาศนี้ และส่งให้สำนักงานภายในวันที่สิบห้าของทุกเดือน
ข้อ 16 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องเก็บรักษาข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันจัดทำข้อมูลและเอกสารดังกล่าวเพื่อให้สำนักงานตรวจสอบได้หรือเพื่อจัดส่งให้สำนักงานเมื่อได้รับการร้องขอ
ข้อ 17 ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในสถานที่ที่มีความมั่นคงปลอดภัย และแยกทรัพย์สินดังกล่าวไว้ในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย
ข้อ 18 ในกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินรายใดรับฝากทรัพย์สินของลูกค้าอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับโดยมีสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไม่เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 4 ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินรายนั้นดำเนินการให้สัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามข้อ 4 โดยอาจจัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับหรือเฉพาะส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมก็ได้ และดำเนินการให้คู่สัญญาลงนามในเอกสารดังกล่าว ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2543
ข้อ 19 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2543
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ