ประกาศ เรื่อง การให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงิน
และขอบเขตการดำเนินงาน
ที่ อจ. 4/2543
____________________________________
หมวด 2
หน้าที่ของที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน
ข้อ 14 ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานต้องถือปฏิบัติดังนี้
(1) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และความระมัดระวังในการปฏิบัติงานเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงกระทำ และรักษาจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
(2) จัดทำกระดาษทำการ (working paper) เพื่อบันทึกและใช้เป็นหลักฐานในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และต้องเก็บรักษากระดาษทำการดังกล่าวไว้อย่างน้อยสามปี เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบและอ้างอิงได้
(3) ในกรณีที่ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์หรือการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของที่ปรึกษาทางการเงินไว้เช่นใด ที่ปรึกษาทางการเงินดังกล่าวต้องปฏิบัติตามให้ถูกต้องและครบถ้วนตามที่ประกาศดังกล่าวกำหนดด้วย
(4) ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินรายใดไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ หรือกิจการที่ถูกทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ หรือเห็นว่าข้อมูลที่แสดงในเอกสารต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามตามที่กำหนดในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ของหมวดนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินรายนั้นต้องแจ้งรายละเอียดของการไม่ได้รับความร่วมมือดังกล่าว เป็นหนังสือไปยังสำนักงาน ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินมิได้แจ้งรายละเอียดดังกล่าว และหากข้อมูลที่เกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ หรือการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน สำนักงานจะถือว่าที่ปรึกษาทางการเงินนั้นปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่เหมาะสม หรือไม่ครบถ้วน เพราะที่ปรึกษาทางการเงินได้รับรองและร่วมรับผิดชอบกับข้อมูลดังกล่าวแล้ว
(5) ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินรายใดไม่มีความเชี่ยวชาญในข้อมูลที่ต้องจัดเตรียมหรือร่วมจัดทำหรือให้ความเห็นในฐานะเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาทางการเงินรายนั้นอาจนำข้อมูลจากบุคคลอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นมาอ้างอิงได้ ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินต้องตรวจสอบจนเชื่อได้ว่า ผู้เชี่ยวชาญรายนั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องนั้นเป็นอย่างดี
(6) หากที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานรายใดไม่สามารถดำรงลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 5 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 5(3)หรือ (4) หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้ตามความในหมวดนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินรายนั้นต้องแจ้งให้สำนักงานทราบ พร้อมแสดงเหตุที่ทำให้ไม่สามารถดำรงลักษณะหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวรวมทั้งมาตรการแก้ไขภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ไม่สามารถดำรงลักษณะหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นั้นได้ส่วนที่ 1ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์
ข้อ 15 ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ร่วมกับผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์จัดเตรียมและยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน รวมทั้งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ต่อสำนักงาน
(2) ศึกษาข้อมูลของผู้ออกหลักทรัพย์ และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจนเป็นที่เข้าใจและดำเนินการจนเชื่อมั่นว่า ข้อมูลในแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่มีข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อการพิจารณาของสำนักงานและต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนที่ยังมิได้เปิดเผย และถ้อยคำที่ใช้มีความกระชับรัดกุม และไม่มีลักษณะที่อาจทำให้ผู้ใช้ข้อมูลสำคัญผิด ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ
(3) ให้ความเห็นต่อสำนักงานว่าผู้ออกหลักทรัพย์มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน และรับรองต่อสำนักงานถึงการที่ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน
(4) ให้ความรู้ คำแนะนำ หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ได้ทราบถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบ กฎเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อให้ผู้ออกหลักทรัพย์มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (good corporate governance) มีการจัดการและการดำเนินการที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ
(5) ติดต่อประสานงานกับสำนักงาน และรับรองเป็นหนังสือถึงการปฏิบัติหน้าที่ตาม (2) (3) และ (4)
(6) ดำเนินการตามสมควรเพื่อมิให้ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ หรือผู้บริหารของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์นั้นเผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์หรือผู้ออกหลักทรัพย์ โดยที่ไม่ปรากฏข้อมูลดังกล่าวในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์หรือร่างหนังสือชี้ชวน และข้อมูลนั้นอาจมีผลต่อการตัดสินใจจองซื้อหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนหรือต่อการคาดการณ์เกี่ยวกับราคาหรือผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่เสนอขาย และหากการเผยแพร่ข้อมูลกระทำโดยการแจกจ่ายเอกสารหรือจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูล ที่ปรึกษาทางการเงินต้องดูแลให้เอกสารหรือการชี้แจงข้อมูลดังกล่าวมีสาระสำคัญของข้อมูลไม่ต่างจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์หรือร่างหนังสือชี้ชวน และต้องแจกจ่ายพร้อมกับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์หรือร่างหนังสือชี้ชวน ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาดังต่อไปนี้ (ก) ตั้งแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนจนถึงวันปิดการเสนอขายหลักทรัพย์ (ในกรณีทั่วไป)
(ข) ตั้งแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนจนถึงวันที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินสามารถจัดหาหุ้นส่วนเกินได้ครบตามจำนวนที่มีหน้าที่ส่งมอบหรือส่งคืน (ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
ข้อ 16 เว้นแต่จะมีเหตุผลและความจำเป็นโดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ห้ามมิให้ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์เผยแพร่บทความหรืองานวิจัยที่ได้จัดทำขึ้นโดยหรือในนามของตนเองหรือของบริษัทในกลุ่มอันเป็นบทความหรืองานวิจัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ตนรับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ และต้องดูแลมิให้ผู้บริหารของที่ปรึกษาทางการเงิน เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชน ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาดังต่อไปนี้
(1) ตั้งแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายและร่างหนังสือชี้ชวนจนถึงวันปิดการเสนอขายหลักทรัพย์ (ในกรณีทั่วไป)
(2) ตั้งแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายและร่างหนังสือชี้ชวนจนถึงวันที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินสามารถจัดหาหุ้นส่วนเกินได้ครบตามจำนวนที่มีหน้าที่ส่งมอบหรือส่งคืน (ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับหากบทความหรืองานวิจัยที่เผยแพร่นั้นเป็นบทความหรืองานวิจัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือที่มีหลักทรัพย์ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ และบทความหรืองานวิจัยนั้นมีลักษณะครบถ้วนตามเงื่อนไขต่อไปนี้
(1) เป็นบทความหรืองานวิจัยซึ่งได้แสดงอยู่ในเอกสารที่จัดทำและเผยแพร่ต่อสาธารณชนอยู่เป็นประจำในธุรกิจปกติ
(2) ไม่มีเนื้อหาส่วนใดของบทความหรืองานวิจัยที่เน้นหรือให้ความสำคัญในหลักทรัพย์นั้นเป็นพิเศษกว่าครั้งก่อนหรือพิเศษกว่าหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันของบริษัทอื่น ๆ ทั้งนี้ โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับบทความหรืองานวิจัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ดังกล่าวในครั้งก่อนหรือหลักทรัพย์ของบริษัทอื่นทั่วไปที่เคยจัดทำหรือเผยแพร่มาก่อน
(3) เนื้อหาของบทความหรืองานวิจัยที่เผยแพร่เป็นการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมข้อมูลที่เคยเผยแพร่มาก่อนหน้านั้นให้เป็นปัจจุบัน และ
(4) ในบทความหรืองานวิจัยที่เผยแพร่ มีข้อความที่แสดงให้ผู้อ่านข้อมูลทราบว่าบทความหรืองานวิจัยดังกล่าวที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์นั้นเองเป็นผู้จัดทำ และในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินมีส่วนได้เสียอื่นเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้นหรือเกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์นั้นจะต้องระบุส่วนได้เสียนั้นด้วย
ข้อ 17 เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 16 วรรคหนึ่งแล้ว หากที่ปรึกษาทางการเงินหรือบริษัทในกลุ่มประสงค์จะเผยแพร่บทความหรืองานวิจัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ตนเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ ให้ที่ปรึกษาทางการเงินหรือบริษัทในกลุ่มนั้นต้องเปิดเผยถึงการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินหรือส่วนได้เสียในลักษณะอื่นในหลักทรัพย์นั้นไว้ในบทความหรืองานวิจัยดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาดังต่อไปนี้
(1) ตั้งแต่วันถัดจากวันปิดการเสนอขายหลักทรัพย์จนถึงสามสิบวันหลังจากวันปิดการเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าว ในกรณีที่หลักทรัพย์นั้นไม่ได้เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์
(2) ตั้งแต่วันถัดจากวันปิดการเสนอขายหลักทรัพย์จนพ้นกำหนดสามสิบวันหลังจากวันแรกที่หลักทรัพย์นั้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ในกรณีที่หลักทรัพย์นั้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์
(3) ระหว่างสามสิบวันหลังจากวันที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินสามารถจัดหาหุ้นส่วนเกินได้ครบตามจำนวนที่มีหน้าที่ส่งมอบหรือส่งคืน (ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
ข้อ 18 เพื่อประโยชน์ในการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน ให้ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ร่วมกับผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ชี้แจงเป็นหนังสือต่อสำนักงานและต่อประชาชนโดยไม่ชักช้า เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
(1) ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง แตกต่างจากประมาณการงบการเงินอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะความแตกต่างที่เกินร้อยละยี่สิบห้าของตัวเลขตามประมาณการในเรื่องรายได้ หรือกำไรสุทธิที่เกิดจากการดำเนินงานตามปกติ
(2) ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ออกหลักทรัพย์ได้กระทำการที่เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของผู้ออกหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงธุรกิจหลักของผู้ออกหลักทรัพย์ เป็นต้น
(3) มีการใช้เงินที่ได้รับจากการเสนอขายหลักทรัพย์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนอย่างมีนัยสำคัญ เช่น มีการยกเลิก เลื่อนกำหนดเวลา หรือเปลี่ยนแปลงโครงการลงทุนในอนาคต เป็นต้น
(4) ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ หรือผู้บริหารของบุคคลดังกล่าว ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนดในการอนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันที่เปิดเผยไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวน
ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์มีหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง (2) (3) หรือ (4) เฉพาะในกรณีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในหนึ่งปีนับจากวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ
ข้อ 19 เว้นแต่กรณีเป็นหลักทรัพย์ประเภทใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ห้ามมิให้ที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ที่ปรึกษาทางการเงินถือหุ้นในผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ โดยจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดเกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์นั้น
(2) ที่ปรึกษาทางการเงินถือหุ้นในผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ เว้นแต่เป็นการถือหุ้น
ทั้งหมดมาเกินกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน หรือเป็นการถือหุ้นทั้งหมดมาไม่เกินกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน โดยจำนวนหุ้นส่วนที่ทำให้ถือมาไม่เกินกว่าสองปีดังกล่าวเป็นการได้มาเพิ่มเนื่องจากผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์เพิ่มทุนและให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นที่จะซื้อหุ้นตามส่วนที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถืออยู่ (right issue) แต่ทั้งนี้การถือหุ้นที่ได้รับยกเว้นทั้งสองกรณีดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์นั้น
(3) ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือกรรมการของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์แต่ละราย ถือหุ้นในที่ปรึกษาทางการเงินเกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของที่ปรึกษาทางการเงิน หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวต่างถือหุ้นในที่ปรึกษาทางการเงิน การถือหุ้นของบุคคลเหล่านั้นในที่ปรึกษาทางการเงินรวมกันเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของที่ปรึกษาทางการเงิน
(4) ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์มีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกับกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไปที่รับผิดชอบงานด้านที่ปรึกษาทางการเงิน
(5) ที่ปรึกษาทางการเงินเป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ โดยมีวงเงินให้กู้ยืมถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักเกินสองร้อยล้านบาท และวงเงินให้กู้ยืมดังกล่าวมีจำนวนเกินร้อยละสามสิบของวงเงินกู้ยืมทั้งหมดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ในขณะนั้น
วงเงินให้กู้ยืมถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักหรือวงเงินกู้ยืมทั้งหมดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามวรรคหนึ่ง หมายถึง วงเงินที่คำนวณโดยถ่วงน้ำหนักวงเงินสินเชื่อประเภทเงินกู้ระยะสั้น เงินกู้ระยะยาว และเงินเบิกเกินบัญชี เท่ากับหนึ่งเท่า และถ่วงน้ำหนักสินเชื่อประเภทเงินค้ำประกันกับทางราชการ อาวัลตั๋วแลกเงิน ขายลดตั๋วแลกเงิน เลตเตอร์ออฟเครดิต ทรัสต์รีซีท และแพคกิ้งเครดิต เท่ากับศูนย์จุดห้าเท่า
(6) ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ในลักษณะที่อาจทำให้ที่ปรึกษาทางการเงินขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ที่ปรึกษาทางการเงินตามวรรคหนึ่ง (1) (2) หรือ (6) ให้หมายความรวมถึง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของที่ปรึกษาทางการเงิน หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไปที่รับผิดชอบงานด้านที่ปรึกษาทางการเงิน และในการคำนวณจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดตาม (1) หรือ (2) ให้นับรวมจำนวนหุ้นของที่ปรึกษาทางการเงินและของบุคคลตามวรรคนี้เข้าด้วยกันด้วย
ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง (6) ให้หมายความรวมถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือกรรมการของผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์
ในการพิจารณาการถือหุ้นตามวรรคหนึ่ง (1) (2) หรือ (3) ให้นับรวมถึงการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่กล่าวไว้ในวรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) ดังกล่าวและวรรคสองด้วย และให้นับรวมถึงหุ้นที่จะเกิดจากการใช้สิทธิของหุ้นกู้แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ด้วย
ในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง (1) ถึง (6) มิให้นำการถือหุ้น การส่งตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการ หรือการมีส่วนได้ส่วนเสีย ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นที่มิใช่บริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ หรือบุคคลที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน มาพิจารณารวมในกรณีดังกล่าวส่วนที่ 2ที่ปรึกษาทางการเงินในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
ข้อ 20 ผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อหลักทรัพย์มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) จัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์และเอกสารอื่นตามที่สำนักงานกำหนดร่วมกับผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์(2) ศึกษาข้อมูลของผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจนเป็นที่เข้าใจ และดำเนินการจนเชื่อมั่นว่า ข้อมูลในคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่มีข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการที่ถูกเสนอซื้อที่ยังมิได้เปิดเผย และถ้อยคำที่ใช้มีความกระชับรัดกุมและไม่มีลักษณะที่อาจทำให้ผู้ใช้ข้อมูลสำคัญผิด
(3) ประเมินมูลค่าสิ่งตอบแทนที่ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์จ่ายไปเพื่อการได้หลักทรัพย์มาในระยะเวลาเก้าสิบวันก่อนวันที่สำนักงานรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ในกรณีที่สิ่งตอบแทนนั้นมิใช่ตัวเงิน
(4) ประเมินมูลค่าสิ่งตอบแทนอื่นที่มิใช่ตัวเงินในกรณีที่ราคาเสนอซื้อหลักทรัพย์มีสิ่งตอบแทนอื่นที่มิใช่ตัวเงิน
(5) ให้ความเห็นต่อผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการที่ถูกเสนอซื้อว่าผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์จะสามารถทำตามข้อเสนอและนโยบายและแผนงานในอนาคตที่ระบุไว้ในคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ได้หรือไม่ และนโยบายและแผนงานดังกล่าวได้จัดทำขึ้นอย่างสมเหตุสมผลแล้วหรือไม่ อย่างไร โดยการให้ความเห็นดังกล่าวผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ต้องใช้ข้อมูลของผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์อย่างน้อยดังต่อไปนี้มาประกอบการพิจารณา
(ก) รายได้ ฐานะการเงิน และวัตถุประสงค์ของการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
(ข) ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าถือหลักทรัพย์ ประวัติการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำที่ผ่านมา และประวัติการดำเนินกิจการภายหลังจากที่ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ได้เข้าครอบงำแล้ว
(ค) ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ถึงสมมติฐานและเหตุผลประกอบสมมติฐานในการจัดทำนโยบายและแผนงานในอนาคตของกิจการที่ถูกเสนอซื้อ(6) ผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ต้องไม่ร่วมกับผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการที่ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เป็นตัวแทนของบุคคลอื่นในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์
(7) กระทำการใด ๆ เพื่อให้ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทราบถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงประกาศและหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 21 ที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ในการให้ความเห็นต่อผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการที่ถูกเสนอซื้อเกี่ยวกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ในกรณีทั่วไป
(ก) จัดทำความเห็นเกี่ยวกับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์และเอกสารอื่นตามที่สำนักงานกำหนด(ข) วิเคราะห์และประเมินฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการเพื่อนำไปใช้ประกอบการให้ความเห็นต่อผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการที่ถูกเสนอซื้อว่าสมควรตอบรับหรือปฏิเสธคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลกระทบที่จะมีต่อผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการที่ถูกเสนอซื้อ พร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบด้วย ทั้งนี้ ที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นต้องทำการวิเคราะห์และการประเมินดังกล่าวอย่างเพียงพอ ไม่ทำให้ผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการที่ถูกเสนอซื้อสำคัญผิด และจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการที่ถูกเสนอซื้อดังกล่าวเป็นสำคัญ
(2) ในการให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นของกิจการ เมื่อมีการขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการโดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการ (ก) จัดทำความเห็นต่อผู้ถือหุ้นเพื่อประกอบการขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวต่อสำนักงาน
(ข) สอบถามผู้ขอผ่อนผันถึงสมมติฐานและเหตุผลประกอบสมมติฐานในการจัดทำนโยบายและแผนงานในอนาคตของผู้ขอผ่อนผันจนเข้าใจ และให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นว่า นโยบายและแผนงานดังกล่าวได้จัดทำขึ้นอย่างสมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้เพียงใด
(ค) วิเคราะห์และประเมินผลกระทบของการผ่อนผันดังกล่าวต่อสิทธิและประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ตลอดจนดำเนินการจนเชื่อมั่นได้ว่า ไม่มีข้อมูลสำคัญอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนที่ยังไม่ได้เปิดเผยไว้ในแบบหนังสือขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อให้ความเห็นชอบให้ได้มาซึ่งหลักทรัพย์ใหม่โดยไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ
ข้อ 22 ห้ามมิให้ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นตามข้อ 21 หรือเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของผู้ขอผ่อนผัน ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการ ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ หรือผู้ขอผ่อนผัน ในลักษณะเดียวกับข้อ 19 โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้ใช้คำว่า "กิจการ" "ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์" หรือ "ผู้ขอผ่อนผัน" แทนคำว่า "ผู้ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์" และคำว่า "วันที่กิจการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้น" หรือ "วันที่ผู้ขอผ่อนผันแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน" แทนคำว่า "วันที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน"หมวด 3การดำรงลักษณะของที่ปรึกษาทางการเงินและมาตรการบังคับ
ข้อ 23 หากสำนักงานพบว่าที่ปรึกษาทางการเงินรายใดไม่สามารถดำรงลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 5 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 5(3) หรือ (4) หรือปฏิบัติหน้าที่ตามหมวด 2 บกพร่อง ไม่เหมาะสม หรือไม่ครบถ้วน หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามประกาศนี้ สำนักงานอาจดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) สั่งให้มาชี้แจง หรือส่งเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
(2) สั่งให้แก้ไขการกระทำ หรือสั่งให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำ
(3) สั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นระยะเวลาหรือตามเงื่อนไขที่กำหนดในกรณีที่
(ก) เหตุตามที่กำหนดไว้ข้างต้นมีลักษณะร้ายแรง
(ข) มีเหตุตามที่กำหนดไว้ข้างต้นเกิดซ้ำอีกภายในช่วง 2 ปี ใด ๆ
(ค) ที่ปรึกษาทางการเงินไม่ดำเนินการตามคำสั่งตาม (1) หรือ (2)
(4) สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าที่ปรึกษาทางการเงินรายนั้นไม่สามารถดำรงลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 5 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 5(3) หรือ (4) ในกรณีร้ายแรง
ข้อ 24 ในกรณีที่สำนักงานกำหนดระยะเวลาการสั่งพักการให้ความเห็นชอบตามข้อ 23(3) อันเป็นผลให้ที่ปรึกษาทางการเงินนั้นไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้อีกตลอดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบที่ยังเหลืออยู่ หรือในกรณีที่สำนักงานสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามข้อ 23(4) สำนักงานอาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของบุคคลนั้นในคราวต่อไปด้วยก็ได้
ข้อ 25 เมื่อพ้นระยะเวลาที่สำนักงานสั่งพักการให้ความเห็นชอบตามข้อ 23(3) หรือเมื่อพ้นระยะเวลาการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบในคราวต่อไปตามข้อ 24 หรือเมื่อบุคคล
ที่ถูกสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนดตามข้อ 23(3) หรือข้อ 24 แล้ว สำนักงานจะไม่นำประวัติการกระทำที่เป็นเหตุให้สำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบนั้นมาประกอบการพิจารณาการให้ความเห็นชอบอีก
ข้อ 26 ในกรณีที่ได้มีการยื่นและสำนักงานได้รับแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน หรือแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ หรือได้มีการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในกรณีอื่นใดนอกจากกรณีข้างต้น ก่อนวันที่ที่ปรึกษาทางการเงินที่ร่วมจัดทำแบบดังกล่าวหรือที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินนั้นถูกสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามข้อ 23 หรือก่อนวันสิ้นสุดการให้ความเห็นชอบตามกำหนดระยะเวลาในข้อ 9 วรรคหนึ่งของที่ปรึกษาทางการเงินรายนั้น หรือก่อนการแจ้งผลการพิจารณาตามข้อ 9 วรรคสองในลักษณะที่ไม่ให้ความเห็นชอบ หากที่ปรึกษาทางการเงินรายนั้นประสงค์ที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในกรณีดังกล่าวต่อไปจนเสร็จสิ้น ที่ปรึกษาทางการเงินนั้นจะต้องยื่นคำขออนุญาตเพื่อขอปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยสำนักงานจะอนุญาตก็ต่อเมื่อการถูกสั่งพักหรือเพิกถอนดังกล่าวมิได้เกิดจาก
(1) ความผิดที่เกิดจากความไม่ซื่อสัตย์ การไม่มีจริยธรรม การไม่มีความรับผิดชอบต่อสาธารณชน หรือขาดจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ
(2) การขาดคุณสมบัติตามข้อ 5(2) ที่สำนักงานเห็นว่ามีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินต่อไป
ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหมวด 2 ต่อไปด้วย หากมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหมวด 2 สำนักงานจะสั่งยกเลิกการอนุญาตเมื่อใดก็ได้ และอาจแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขการสั่งพักหรือสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามข้อ 23 หรือข้อ 24 หรือการพิจารณาคำขอความเห็นชอบของบุคคลรายนั้นในคราวต่อไปตามข้อ 8 วรรคสอง ด้วยก็ได้หมวด 4บทเฉพาะกาล
ข้อ 27 บุคคลใดยื่นคำขอความเห็นชอบเป็นที่ปรึกษาทางการเงินตามประกาศ เรื่อง การให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงิน และขอบเขตการดำเนินงาน ที่ อจ. 8/2540 ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2540 และสำนักงานมีหนังสือแจ้งการได้รับเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนตามที่สำนักงานกำหนดแล้ว แต่ยังมิได้แจ้งผลการพิจารณาก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ให้สำนักงานดำเนินการพิจารณาคำขอความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวต่อไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศดังกล่าว โดยให้ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานในกรณีดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับหมวด 2 และหมวด 3 แห่งประกาศนี้และถือเป็นที่ปรึกษาทางการเงินประเภทหนึ่ง
ข้อ 28 ที่ปรึกษาทางการเงินใดได้จัดให้ผู้ปฏิบัติงานในสายงานที่ปรึกษาทางการเงินเข้าทดสอบและได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศ เรื่อง การให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงิน และขอบเขตการดำเนินงาน ที่ อจ. 8/2540 ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ให้ที่ปรึกษาทางการเงินดังกล่าวยื่นคำขอความเห็นชอบเพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้อย่างต่อเนื่องในครั้งต่อไปได้โดยไม่ต้องจัดให้ผู้ปฏิบัติงานในสายงานที่ปรึกษาทางการเงินเข้ารับการทดสอบความรู้ตามส่วนที่ 2 ของหมวด 1 อีก
ข้อ 29 ที่ปรึกษาทางการเงินใดได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศ เรื่อง การให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงิน และขอบเขตการดำเนินงาน ที่ อจ. 8/2540 ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2540 และระยะเวลาที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานสิ้นสุดลงในช่วงระยะเวลาสามสิบวันก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่สำนักงานจัดให้มีการทดสอบความรู้ครั้งแรกสำหรับครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2543 ให้ถือว่าที่ปรึกษาทางการเงินดังกล่าวได้รับความเห็นชอบเป็นที่ปรึกษาทางการเงินประเภทหนึ่งตามข้อ 4 วรรคสอง (1) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานต่อไปได้จนถึงวันที่สำนักงานจัดให้มีการทดสอบสำหรับการทดสอบครั้งดังกล่าว และให้ที่ปรึกษาทางการเงินในกรณีดังกล่าวปฏิบัติและอยู่ภายใต้บังคับหมวด 2 และหมวด 3 แห่งประกาศนี้ด้วย
ประกาศ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์