ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ. 47/2559 เรื่อง การประกอบธุรกิจอื่นของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 11, 2016 15:27 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 47/2559

เรื่อง การประกอบธุรกิจอื่นของผู้ประกอบธุรกิจ

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

_______________________

โดยที่มาตรา 22 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประกอบธุรกิจอื่น เว้นแต่จะได้รับ ความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ก.ล.ต. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการให้ความเห็นชอบการประกอบธุรกิจอื่นของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนของการประกอบธุรกิจการซื้อหรือขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการประกอบธุรกิจอื่นของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 46/2556 เรื่อง การประกอบธุรกิจอื่นของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจสัญญา” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่กรณีที่กำหนดในข้อ 5(3)

“ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่

“อันดับที่สามารถลงทุนได้” (investment grade) หมายความว่า อันดับความน่าเชื่อถือที่แต่ละสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดว่าเป็นอันดับความน่าเชื่อถือที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้

“ตราสารแห่งหนี้ภาครัฐ” หมายความว่า ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรองตลอดไป ผู้รับอาวัลทั้งจำนวน หรือผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข

ข้อ 3 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอื่น ประกอบธุรกิจอื่นที่มิใช่ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเภทที่ได้รับอนุญาตได้ โดยถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว และมิให้นำความในประกาศนี้มาใช้บังคับกับสถาบันการเงินดังกล่าว

ข้อ 4 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาประกอบธุรกิจอื่นที่มิใช่ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเภทที่ได้รับอนุญาตซึ่งมีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้ได้

(1) เป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงต่อทรัพย์สินของลูกค้า ฐานะของบริษัท หรือระบบการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือเป็นธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงดังกล่าว แต่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาสามารถจัดให้มีระบบในการควบคุมความเสี่ยงได้อย่างเพียงพอ

(2) เป็นธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาหรือกับลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจสัญญา หรือเป็นธุรกิจที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ดังกล่าว แต่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(3) เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและช่วยสนับสนุนการให้บริการในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามประเภทที่ได้รับใบอนุญาตให้มีความสมบูรณ์และครบวงจรยิ่งขึ้น หรือเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล สถานที่ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

ในกรณีที่การประกอบธุรกิจอื่นตามวรรคหนึ่งเป็นการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน หรือเป็นการลงทุนในกิจการอื่นเกินกว่าร้อยละห้าสิบขึ้นไปของทุนทั้งหมดของกิจการนั้น ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดในข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 หรือข้อ 9 แล้วแต่กรณีด้วย

ข้อ 5 ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาอาจประกอบธุรกิจโดยการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) บุคคลที่เป็นคู่สัญญาต้องมีภูมิลำเนาในประเทศไทย

(2) ในกรณีที่คู่สัญญาเป็นผู้ลงทุนสถาบัน การทำสัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 6

(3) ในกรณีที่คู่สัญญาเป็นบุคคลอื่นใดที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบัน ให้ดำเนินการได้เฉพาะผู้ประกอบธุรกิจสัญญาที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยผู้ประกอบธุรกิจสัญญาดังกล่าวต้องจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงตามที่กำหนดในข้อ 7 และการทำสัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 8

ข้อ 6 ในการทำสัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนกับผู้ลงทุนสถาบันในหลักทรัพย์ประเภทหุ้น ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาต้องกำหนดเงื่อนไขในข้อสัญญาเพื่อห้ามนำหุ้นที่ได้มาจากการซื้อหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายคืนไปขายต่อ เว้นแต่เป็นการขายต่อในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เป็นการขายต่อตามสัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนอื่น

(2) เป็นการขายหรือโอนตามข้อกำหนดในธุรกรรมการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนดังกล่าว

ข้อ 7 ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาต้องจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยง เพื่อรองรับการประกอบธุรกิจโดยการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนกับบุคคลอื่นใดที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบันอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีระบบการโอนหรือเรียกให้โอนกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์ที่ซื้อขายรวมถึงระบบการบริหารจัดการเพื่อรักษาอัตราส่วนระหว่างมูลค่าตามราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่ซื้อขาย กับราคาที่กำหนดให้ซื้อหลักทรัพย์คืน ให้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงของคู่สัญญา

(2) จัดให้มีระบบการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ซื้อขายอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสภาพคล่องและผลกระทบที่จะมีต่อการประกอบธุรกิจในภาพรวม

(3) จัดให้มีการประมวลผลและรายงานข้อมูลให้ผู้บริหารทราบถึงระดับความเสี่ยงในการทำธุรกรรมการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน

(4) จัดให้มีการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับปริมาณและความซับซ้อนของการทำธุรกรรมการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนอย่างสม่ำเสมอ

ข้อ 8 ในการทำสัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนกับบุคคลอื่นใดที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาต้องจัดทำสัญญาเป็นหนังสือซึ่งกำหนดเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) กำหนดให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนในหลักทรัพย์เฉพาะประเภทตราสารแห่งหนี้ภาครัฐ หรือหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)

(2) กำหนดระยะเวลาการรับชำระหนี้ตามสัญญาต้องไม่เกินหนึ่งปี

(3) กรณีเป็นการทำสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญามีหน้าที่ต้องส่งมอบหลักทรัพย์ตามสัญญาให้แก่ผู้ซื้อ ต้องกำหนดหน้าที่เกี่ยวกับการส่งมอบหลักทรัพย์ตามสัญญาตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(ก) ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง (1) ให้แก่ผู้ซื้อ

(ข) ต้องจัดให้มีการดำรงอัตราส่วนระหว่างมูลค่าตามราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่ซื้อขายกับราคาที่กำหนดให้ซื้อหลักทรัพย์คืนให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งร้อย

(ค) ต้องจัดให้มีธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือบริษัทหลักทรัพย์หรือศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ที่ซื้อขาย ติดตามการเปลี่ยนแปลงมูลค่าตามราคาตลาดของหลักทรัพย์รวมทั้งเรียกหรือคืนเงินสดหรือหลักทรัพย์จากคู่สัญญา เพื่อรักษาอัตราส่วนระหว่างมูลค่าตามราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่ซื้อขายกับราคาที่กำหนดให้ซื้อหลักทรัพย์คืนให้เป็นไปตามที่กำหนด ตลอดจนดูแลการส่งมอบผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์นั้นให้แก่คู่สัญญา

(4) กำหนดเงื่อนไขการเลิกสัญญา ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าหุ้นกู้ที่ทำการซื้อขายตามวรรคหนึ่ง (1) นั้น ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจนอยู่ในอันดับที่ไม่สามารถลงทุนได้

สัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือเป็นสัญญามาตรฐานที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ

ข้อ 9 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาประกอบธุรกิจอื่นที่มิใช่ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเภทที่ได้รับอนุญาต โดยการลงทุนในกิจการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละห้าสิบขึ้นไปของทุนทั้งหมดของกิจการนั้นได้ โดยถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อเมื่อกิจการดังกล่าวมีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ 4 วรรคหนึ่ง และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาได้จัดส่งรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจหลักและขอบเขตการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งหนังสือแสดงความยินยอมของกิจการนั้นให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าตรวจสอบการประกอบธุรกิจต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาจะลงทุนในกิจการดังกล่าวเกินกว่าสัดส่วนข้างต้น หรือก่อนที่กิจการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาเป็นผู้จัดตั้งกิจการดังกล่าวขึ้นใหม่

ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นสมควร ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาต้องจัดให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าตรวจสอบการประกอบธุรกิจของกิจการตามวรรคหนึ่งได้ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาไม่สามารถจัดให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าตรวจสอบได้ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาต้องดำเนินการลดสัดส่วนการลงทุนในกิจการดังกล่าวให้เหลือไม่เกินร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมดของกิจการนั้นภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด หากผู้ประกอบธุรกิจสัญญาไม่สามารถลดสัดส่วนการลงทุนได้ให้ถือว่าการให้ความเห็นชอบของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นอันสิ้นสุดลง

ในการคำนวณสัดส่วนการลงทุนในกิจการอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญานับรวมหุ้นของบุคคลที่โดยพฤติการณ์แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจสัญญามีอำนาจควบคุมบุคคลนั้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในเรื่องการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในกิจการ หรือการได้มา การจำหน่าย หรือการก่อภาระผูกพัน ในหุ้นที่บุคคลนั้นมีอยู่ในกิจการด้วย

ข้อ 10 ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาต้องควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทให้เป็นไปตามลักษณะ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดในประกาศนี้สำหรับการประกอบธุรกิจอื่นในแต่ละกรณีไว้ตลอดเวลา ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. พบว่าผู้ประกอบธุรกิจสัญญาใดไม่สามารถควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด หากผู้ประกอบธุรกิจสัญญาไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ให้ถือว่าการให้ความเห็นชอบของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นอันสิ้นสุดลง

ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ