การกำหนดความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday September 18, 2000 14:54 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 41/2543
เรื่อง การกำหนดความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน หลักเกณฑ์
เงื่อนไข และวิธีการในการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน
หลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทจัดการ
และข้อกำหนดของบริษัทจัดการ
_________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 มาตรา 97 และมาตรา 143 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 4(3) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"เงินกองทุนหมุนเวียน" หมายความว่า ผลรวมสินทรัพย์สภาพคล่องตาม (ก)(ข) (ค)และ (ง) ที่มีอายุคงเหลือไม่เกินเก้าสิบวัน
"สินทรัพย์สภาพคล่อง" หมายความว่า สินทรัพย์ดังต่อไปนี้
(ก) เงินสดและเงินฝากธนาคาร
(ข) บัตรเงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(ค) ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และ
(ง) สินทรัพย์สภาพคล่องอื่นใดตามที่สำนักงานประกาศกำหนดทั้งนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องตาม (ก) (ข) (ค) และ (ง) ต้องเป็นสินทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพัน
"หลักประกัน" หมายความว่า หลักประกันเพื่อชดเชยความเสียหายของลูกค้าที่อาจเกิดขึ้นโดยลูกค้าได้มีการฟ้องร้อง ทั้งนี้ ต้องมิใช่ความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการจัดการลงทุนตามปกติ อันได้แก่
(ก) กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันภัย
(ข) หนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ
(ค) หลักประกันอื่นใดตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
"สินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกิน" หมายความว่า ผลรวมของสินทรัพย์สภาพคล่องหักด้วยประมาณการรายจ่ายในการประกอบธุรกิจของบริษัทจัดการในระยะเวลาสามเดือนล่วงหน้า
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามข้อ 2(6) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามข้อ 2(6) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ต้องแสดงว่าบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้นจะมีเงินกองทุนหมุนเวียนที่เพียงพอต่อประมาณการรายจ่ายในการประกอบธุรกิจของบริษัทจัดการในระยะเวลาสิบสองเดือนนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ได้รับใบอนุญาต
ข้อ 3 เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้บริษัทจัดการดำรงเงินกองทุนหมุนเวียนทุกสิ้นวันทำการให้เพียงพอโดยไม่น้อยกว่าประมาณการรายจ่ายในการประกอบธุรกิจของบริษัทจัดการในระยะเวลาสามเดือนล่วงหน้า
ข้อ 4 ให้บริษัทจัดการคำนวณและรายงานการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน และหลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกิน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 5 ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้บริษัทจัดการดำรงหลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกิน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันให้มีมูลค่าเพียงพอตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 6 โดยไม่เป็นการจำกัดอำนาจคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามมาตรา 143 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่จะสั่งเป็นประการอื่น บริษัทจัดการใดไม่สามารถดำรงเงินกองทุนหมุนเวียน หลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินให้เพียงพอตามข้อ 3 หรือข้อ 5 แล้วแต่กรณี ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) จัดทำรายงานที่แสดงถึงความไม่เพียงพอดังกล่าวตามแบบที่สำนักงานประกาศกำหนด ของทุกสิ้นวันทำการและยื่นต่อสำนักงานภายในสองวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันทำการแรกที่บริษัทจัดการมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าบริษัทจัดการจะสามารถดำรงความเพียงพอดังกล่าวได้หรือได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
(2) จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนหมุนเวียน หลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินให้เพียงพอเพื่อยื่นต่อสำนักงานภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันทำการแรกที่บริษัทจัดการไม่สามารถดำรงความเพียงพอดังกล่าวได้ เว้นแต่ก่อนพ้นกำหนดเวลาสามสิบวันดังกล่าว บริษัทจัดการนั้นสามารถดำรงเงินกองทุนหมุนเวียน หลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินให้เพียงพอตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดวันทำการติดต่อกัน
(3) ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่ได้ยื่นต่อสำนักงานตาม (2) ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดในแผนดังกล่าว ซึ่งต้องไม่เกินสามเดือนนับตั้งแต่วันถัดจากวันทำการแรกที่บริษัทจัดการไม่สามารถดำรงความเพียงพอดังกล่าวได้
ข้อ 7 ในระหว่างที่บริษัทจัดการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนหมุนเวียน หลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินให้เพียงพอ หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการตามข้อ 6 (2) หรือ (3) ห้ามมิให้บริษัทจัดการขยายการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จนกว่าบริษัทจัดการจะสามารถดำรงความเพียงพอดังกล่าวได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ขยายการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้
เพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง "การขยายการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์" ให้หมายถึง
(1) การทำสัญญากับลูกค้ารายใหม่
(2) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในสัญญากับลูกค้ารายเดิม อันอาจส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินกองทุนหมุนเวียน หลักประกันหรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทจัดการได้
(3) การต่ออายุสัญญากับลูกค้ารายเดิม
(4) การกระทำอื่นใดที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2543
(นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ