หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล และการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ของผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday April 5, 2000 10:11 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                        ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 16 /2543
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบ
ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล และการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
ของผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล
_________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 134 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล" หมายความว่า กรรมการหรือพนักงานของบริษัทจัดการที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทจัดการนั้นให้มีอำนาจตัดสินใจลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นให้แก่ลูกค้า
"ลูกค้า" หมายความว่า บุคคลหรือคณะบุคคลที่มอบหมายให้บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คำว่า "ลูกค้า" หมายความถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
"ผู้บริหาร" หมายความว่า กรรมการ ผู้จัดการ และกรรมการบริหาร รวมทั้งรองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นโดยบุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบงานในสายงานเกี่ยวกับการให้บริการด้านหลักทรัพย์ การปฏิบัติการด้านหลักทรัพย์ หรือการวิจัยด้านหลักทรัพย์หรือตลาดทุน หรือสายงานอื่นในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าสายงานนั้นจะปฏิบัติงานเพื่อให้บริการแก่บุคคลอื่นหรือเพื่อประโยชน์ของบริษัทเอง
"กรรมการบริหาร" หมายความว่า บุคคลที่คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหาร หรือมอบหมายให้มีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินงานของบริษัทแทนคณะกรรมการบริษัท
"ผู้อำนวยการฝ่าย" หมายความว่า บุคคลที่รับผิดชอบในระดับส่วนงานภายในบริษัท
"บริษัท" หมายความว่า บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ
"สมาคม" หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเพื่อดำเนินการใด ๆ ตามประกาศนี้และประกาศที่เกี่ยวข้อง
"ผู้จัดการกองทุนรวม" หมายความว่า กรรมการหรือพนักงานของบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวให้มีอำนาจตัดสินใจลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ ทรัพย์สินอื่น หรือหาดอกผลโดยวิธีอื่น เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม
"สถาบันการเงิน" หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
"กองทุนรวม" หมายความว่า กองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและกองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ผู้ขอรับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) เป็นพนักงานประจำที่สามารถทำงานให้แก่บริษัทจัดการได้เต็มเวลาหรือเป็นกรรมการของบริษัทจัดการ และไม่ได้ดำรงตำแหน่งอื่นในบริษัทจัดการนั้น เว้นแต่เป็นตำแหน่งในสายงานบังคับบัญชาโดยตรง (vertical line of command) หรือตำแหน่งที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(2) มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์
(3) ผ่านการทดสอบความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิชาชีพตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
(4) ไม่เป็นพนักงานประจำหรือผู้บริหารที่มีอำนาจในการจัดการของบริษัทอื่นหรือไม่เป็นผู้จัดการการลงทุนให้แก่บุคคลอื่นในลักษณะที่คล้ายคลึงหรือแข่งขันกับการดำเนินการของบริษัทจัดการ เว้นแต่การเป็นพนักงานประจำ ผู้บริหาร หรือผู้จัดการการลงทุนนั้นไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(5) ผ่านการทดสอบความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่จัดโดยสมาคม
ข้อ 3 ผู้ขอรับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(1) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(2) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต
(3) เคยเป็นผู้บริหารของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับยกเว้นจากสำนักงาน
(4) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ หรือผู้จัดการตามมาตรา 144 หรือมาตรา 145หรือเคยถูกถอดถอนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น
(5) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์
(6) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(7) เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(8) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ โดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต
(9) เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต
(10) เคยถูกเปรียบเทียบปรับในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในส่วนที่ว่าด้วยการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือกฎหมายต่างประเทศในทำนองเดียวกัน
(11) เคยถูกสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนรวมหรือผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล เว้นแต่เหตุแห่งการเพิกถอนนั้นเนื่องจากการไม่เข้าอบรมความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่จัดโดยสมาคม
(12) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงาน อันเนื่องจากการกระทำโดยทุจริต
(13) เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารที่มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายหรือต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกควบคุมกิจการ หรือถูกระงับการดำเนินกิจการเนื่องจากแผนแก้ไขฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานไม่ผ่านความเห็นชอบของหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินนั้นหรือของคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินหรือถูกสั่งการให้แก้ไขฐานะทางการเงินที่เสียหายด้วยการลดทุนและมีการเพิ่มทุนในภายหลังโดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือสถาบันการเงินของรัฐ
(14) มีการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต
(15) จงใจอำพรางการลงทุน ฐานะทางการเงิน หรือผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคลที่บริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ หรือจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญหรือปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ควรแจ้งในการขอรับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล
(16) จงใจละเลยการดำเนินการตามคำสั่งของสำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต.ตามมาตรา 141 มาตรา 142 หรือมาตรา 143 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
(17) มีการทำงานที่แสดงถึงการขาดจรรยาบรรณหรือขาดมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(18) มีการบริหารงานที่แสดงถึงการละเลยการทำหน้าที่ตามสมควรในการตรวจสอบดูแลมิให้บุคคลที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือขาดจรรยาบรรณหรือขาดมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจจัดการลงทุนโดยรวม หรือความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ หรือการดำเนินธุรกิจ หรือต่อลูกค้าของธุรกิจนั้น
ข้อ 4 ในการขอรับความเห็นชอบผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้บริษัทจัดการยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 5 ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลเข้ารับการอบรมความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่จัดโดยสมาคม อย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในทุกช่วงสองปี เว้นแต่ในการเข้ารับการอบรมครั้งแรกภายหลังจากการได้รับความเห็นชอบ สำนักงานอาจกำหนดช่วงระยะเวลาที่ต้องเข้ารับการอบรมให้เป็นช่วงเวลามากกว่าสองปีได้
บุคคลที่เคยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานให้เป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล แต่ต่อมามิได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลของบริษัทจัดการใดแล้ว บุคคลนั้นอาจเข้ารับการอบรมความรู้ รวมทั้งจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพจากสมาคมตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง เพื่อรักษาสถานภาพการได้รับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลได้
ข้อ 6 ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าผู้ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลรายใดมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลรายนั้นแก้ไขคุณสมบัติภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด หรือสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบที่ได้ให้ไว้แล้วได้(1)ขาดคุณสมบัติข้อ 2(1) หรือ (4)(2)มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3(3) ไม่เข้ารับการอบรมตามข้อ 5
ข้อ 7 ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลต้อง
(1) ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(2) ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดมั่นในจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ข้อ 8 บุคคลใดได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานให้เป็นทั้งผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลและผู้จัดการกองทุนรวม บุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล และผู้จัดการกองทุนรวมในบริษัทจัดการเดียวกันได้ในกรณีที่บริษัทจัดการนั้นได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมด้วย แต่บุคคลนั้นจะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลในบริษัทจัดการอื่นหรือเป็นผู้จัดการกองทุนรวมในบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมอื่นในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
ข้อ 9 ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลที่ขอรับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุน ส่วนบุคคล มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3(9) (10) (11) (12) (13) (14) (15) (16) (17) หรือ (18) ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการพิจารณาการขอรับความเห็นชอบบุคคล ดังกล่าวเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลของบริษัทจัดการ โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติกรรมของบุคคลนั้นเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวต้องไม่เกินห้าปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่บุคคลนั้นพ้นโทษตามคำพิพากษา หรือนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับบุคคลนั้น หรือนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่มีคำวินิจฉัยของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลหรือพิจารณาพฤติกรรมดังกล่าว
ปัจจัยที่อาจนำมาใช้ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลของบริษัทจัดการ และปรากฏลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3(9) (10) (11) (12) (13) (14) (15) (16) (17) หรือ (18) ในภายหลัง
ข้อ 10 เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลใดเข้าข่ายที่กำหนดในข้อ 3(9) (10) (11) (12) (13) (14) (15) (16) (17) หรือ (18) และความร้ายแรงของพฤติกรรมของบุคคลนั้นเมื่อได้พิจารณาตามปัจจัยที่สำนักงานประกาศกำหนดตามข้อ 9 แล้วอยู่ในกลุ่มของพฤติกรรมที่กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาการขอรับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลตามข้อ 9 สูงสุดไม่เกินหนึ่งปี สำนักงานอาจพิจารณาให้ถือว่าพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวมิได้เป็นลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 3 หากไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าการที่บุคคลนั้นได้รับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุน ส่วนบุคคล จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของลูกค้า หรือจะทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่น ต่อภาคธุรกิจจัดการลงทุน
ข้อ 11 ในกรณีที่ปรากฏว่าสำนักงานไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลใดเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลอันเนื่องจากบุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3(9) (10) (11) (12) (13) (14) (15) (16) (17) หรือ (18) เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 9 หรือกรณีเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อ 9 แล้ว มิให้สำนักงานนำพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3(9) (10) (11) (12) (13) (14) (15) (16) (17) หรือ (18) ซึ่งเป็นเหตุในการไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลในครั้งก่อนมาเป็นเหตุในการไม่ให้ความเห็นชอบในครั้งหลังอีก
ข้อ 12 ในกรณีที่บริษัทจัดการใดมีผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3 ให้บริษัทจัดการนั้นรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ถึงลักษณะต้องห้ามของผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลรายนั้น
ข้อ 13 ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลและผู้จัดการกองทุนรวมตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทุนรวมและผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลอยู่แล้วในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบตามประกาศนี้ และให้ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลดังกล่าวเข้ารับการอบรมความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่จัดโดยสมาคม ตามระยะเวลาการเข้ารับการอบรมครั้งแรกที่สำนักงานกำหนดในการให้ความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลดังกล่าว
ข้อ 14 นับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2544ในกรณีที่บริษัทจัดการซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขอรับความเห็นชอบให้ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ในขณะที่ยื่นคำขอเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้ผู้ที่บริษัทจัดการขอรับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลดังกล่าวได้รับยกเว้นการพิจารณาคุณสมบัติตามข้อ 2(3) โดยสำนักงานจะพิจารณาคุณสมบัติประการอื่นที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแทน
ข้อ 15 นับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2544บริษัทจัดการอาจแต่งตั้งบุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นการชั่วคราวได้(1) มีคุณสมบัติตามข้อ 2(1) (2) และ (4)(2) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3(3) ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานแล้ว
ในการขอขึ้นทะเบียนบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานตามแบบที่สำนักงานประกาศกำหนด พร้อมด้วยหนังสือรับรองของบริษัทจัดการว่าผู้ที่บริษัทจัดการจะแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลมีคุณสมบัติตามข้อ 2(1)(2) และ (4) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3
ข้อ 16 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543
(นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ