ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ. 51/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 3)

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 1, 2016 14:24 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 51/2559

เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและ

ให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ฉบับที่ 3)

__________________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5(1) ประกอบกับข้อ 12(3) และ (12) ข้อ 14 ข้อ 26 ข้อ 27 ข้อ 28 ข้อ 38 ข้อ 43 และข้อ 44 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 สำนักงานจึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (7) ของข้อ 3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 35/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

“(7) การให้บริการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนโดยลูกค้ายินยอมให้ตัดสินใจแทนในขอบเขตที่จำกัดให้เป็นไปตามหมวด 7/1”

ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 7/1 การให้บริการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนโดยลูกค้ายินยอมให้ตัดสินใจแทนในขอบเขตที่จำกัด ข้อ 41/1 ถึงข้อ 41/9 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 35/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

“หมวด 7/1

การให้บริการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนโดยลูกค้ายินยอม

ให้ตัดสินใจแทนในขอบเขตที่จำกัด

_________________

ข้อ 41/1 ในหมวดนี้

คำว่า “ผู้แนะนำการลงทุน” และ “ผู้วางแผนการลงทุน” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

“ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน” หมายความว่า หลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับการอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งนี้ ไม่รวมถึงหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“บุคลากร” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

“การให้บริการ” หมายความว่า การให้บริการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนโดยลูกค้ายินยอมให้ตัดสินใจแทนในขอบเขตที่จำกัด

ข้อ 41/2 ในการให้บริการลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในรายละเอียดที่กำหนดไว้ในหมวดนี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการปฏิบัติต่อลูกค้าตามปกติเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจกำหนด

ข้อ 41/3 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีข้อตกลงการให้บริการกับลูกค้า โดยมีสาระสำคัญอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้ ก่อนทำการเปิดบัญชีให้แก่ลูกค้า

(1) ขั้นตอนและวิธีการรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนจากลูกค้า

(2) ขอบเขตและเงื่อนไขในการให้บริการ รวมถึงสิทธิของลูกค้าในการใช้บริการ

(3) ข้อมูลการแสดงตนว่าการให้บริการไม่มีลักษณะเป็นการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(4) หน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการใช้บริการ (risk disclosure statement)

(5) หน้าที่ในการเปิดเผยความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ถ้ามี)

(6) ขั้นตอนการดำเนินการในกรณีที่เกิดการขาดทุนเกินกว่าอัตราขาดทุนสูงสุดที่ลูกค้ากำหนด โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้

(7) เงื่อนไขการกำหนดอัตราหมุนเวียนการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน (turnover ratio) และหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

(8) ขั้นตอนการดำเนินการในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถให้บริการได้

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการดำเนินการทบทวนข้อตกลงการให้บริการและปรับปรุงข้อมูลทันที

ข้อ 41/4 ก่อนทำการเปิดบัญชีให้แก่ลูกค้าหรือก่อนเริ่มการให้บริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าทราบถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ โดยอย่างน้อยต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงดังกล่าว (risk disclosure statement)

ให้ผู้ประกอบธุรกิจอธิบายถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการให้บริการดังกล่าวให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งดำเนินการให้ลูกค้ารับทราบถึงการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงนั้น

ข้อ 41/5 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการยืนยันการเปิดบัญชี (call back) โดยบุคลากรซึ่งปฏิบัติการด้านงานสนับสนุน (back office) เพื่อยืนยันความถูกต้องในการเปิดบัญชีและตรวจสอบว่าลูกค้าทราบถึงเงื่อนไขการให้บริการอย่างชัดเจน

ข้อ 41/6 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีบุคลากรประเภทผู้แนะนำการลงทุนหรือผู้วางแผนการลงทุนตามที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยกำหนดเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อตกลง การให้บริการ

ผู้ประกอบธุรกิจต้องควบคุมและดูแลให้บุคลากรตามวรรคหนึ่งให้บริการแก่ลูกค้าตามประเภทและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ข้อ 41/7 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีหลักฐานยืนยันการรับคำสั่งของลูกค้าตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจกำหนด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(1) รายชื่อผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน

(2) จำนวนของรายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน วงเงินลงทุนของรายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน หรือวงเงินลงทุนรวมสำหรับการรับบริการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนตามหมวดนี้

ในกรณีที่ลูกค้ากำหนดเพียงวงเงินลงทุนรวมตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดจำนวนรายชื่อผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนประเภทหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในแต่ละประเภทที่จะให้บริการได้ไม่เกิน 10 รายชื่อ

(3) อัตราขาดทุนสูงสุดที่ลูกค้ากำหนด (stop-loss limited) โดยต้องกำหนดทั้งอัตราขาดทุนสูงสุดรายผลิตภัณฑ์และอัตราขาดทุนสูงสุดของมูลค่าการลงทุน ระยะเวลาในการปฏิบัติตามคำสั่งของลูกค้าตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่ลูกค้ากำหนด ทั้งนี้ ระยะเวลาที่กำหนดต้องไม่เกิน 3 เดือน

ข้อ 41/8 เพื่อให้การควบคุมขอบเขตการให้บริการและการดูแลความเสี่ยงในการลงทุนของลูกค้าตามหมวดนี้เป็นไปตามข้อ 12(3) แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีการแยกบัญชีการซื้อขายตามหมวดนี้ออกจากบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบอื่น

(2) จัดให้มีระบบงานอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) ระบบการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถควบคุมดูแลการซื้อขายให้เป็นไปตามที่ลูกค้ามอบหมาย

(ข) ระบบควบคุมและดูแลความเสี่ยงให้การซื้อขายอยู่ภายใต้อัตราขาดทุนสูงสุดที่ลูกค้ากำหนด (stop-loss limited)

(3) จัดให้มีการแจ้งข้อมูลให้ลูกค้าทราบทันทีในกรณีที่เกิดการขาดทุนเกินกว่าอัตราขาดทุนสูงสุดที่ลูกค้ากำหนด

ข้อ 41/9 ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำรายงานผลการดำเนินงานในทุก ๆ เดือน โดยต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ให้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวแยกออกจากรายงานผลการดำเนินงานแบบอื่น

(1) รายละเอียดผลการดำเนินงานของบุคลากรซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ให้บริการ รวมถึงผลกำไรขาดทุนของมูลค่าการลงทุนของลูกค้าทั้งหมด

(2) อัตราหมุนเวียนการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน (turnover ratio) พร้อมทั้งคำอธิบาย (ถ้ามี)

(3) รายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานการให้บริการเทียบกับตัวชี้วัดการดำเนินงาน (benchmark) ที่เหมาะสม”

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ