ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 55/2559 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 3)

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 20, 2016 14:34 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทน. 55/2559

เรื่อง การลงทุนของกองทุน

(ฉบับที่ 3)

__________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 109 วรรคหนึ่ง และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 16/1 ในส่วนที่ 1 ทรัพย์สินที่ลงทุนขาดคุณสมบัติหรือการลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุน ของหมวด 3 การดำเนินการเมื่อการลงทุนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

“ข้อ 16/1 ในส่วนนี้

“หน่วยของกองทุนต่างประเทศ” หมายความว่า ตราสารหรือหลักฐานซึ่งแสดงสิทธิของผู้ถือในฐานะเจ้าของหรือผู้รับประโยชน์ตามโครงการจัดการลงทุน (collective investment scheme) ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ไม่ว่าโครงการจัดการลงทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 18 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 18 ในกรณีที่ทรัพย์สินในขณะที่กองทุนมีการลงทุนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด แต่ต่อมาการลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนเป็นเวลา 5 วันทำการติดต่อกัน โดยมิได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงานโดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับประเภท จำนวน อัตราส่วนการลงทุน และวันที่การลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุน และจัดส่งรายงานต่อสำนักงานและผู้ดูแลผลประโยชน์ ลูกค้าของกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายในวันทำการถัดจากวันครบระยะเวลาดังกล่าว ตลอดจนจัดเก็บสำเนารายงานไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) ไม่ลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินที่เกินอัตราส่วนการลงทุนจนกว่าจะสามารถแก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด

(3) แก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดภายในโอกาสแรกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาดังนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ 20

(ก) 30 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน สำหรับการลงทุนในเงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามภาคผนวก 4-retail MF-PF ส่วนที่ 3 ในข้อ 1 หรืออัตราส่วนการลงทุนตามภาคผนวก 4-AI ส่วนที่ 3 ในข้อ 1 แล้วแต่กรณี

(ข) 90 วันนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว สำหรับกรณีอื่นใดนอกเหนือจากกรณีตาม (3) (ก) หรือ (ค) เว้นแต่กรณีเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมตลาดเงิน บริษัทจัดการต้องดำเนินการแก้ไขภายใน 30 วันนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว

(ค) 180 วันนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว สำหรับกรณีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่การลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนเนื่องจากมีการลดหรือเพิ่มจำนวนนายจ้างในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจนเป็นเหตุให้นายจ้างรายใดรายหนึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในส่วนของนายจ้างรายนั้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(4) เมื่อบริษัทจัดการแก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดแล้ว ให้จัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว รวมถึงวันที่สามารถแก้ไขได้ และจัดส่งรายงานต่อสำนักงานและผู้ดูแลผลประโยชน์ ลูกค้าของกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายในวันทำการถัดจากวันที่มีการแก้ไข จนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนนั้น

(5) ในกรณีที่กองทุนมีหุ้นของบริษัทใดโดยไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (concentration limit) ตามที่กำหนดในภาคผนวก 4-retail MF-PF ภาคผนวก 4-AI หรือภาคผนวก 4-PVD แล้วแต่กรณี นอกจากการปฏิบัติตาม (1) (2) (3) และ (4) แล้ว บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังนี้ด้วย

(ก) งดเว้นการใช้สิทธิออกเสียงในหุ้นจำนวนที่เกินอัตราส่วนการลงทุน เว้นแต่กรณีจำเป็นและสมควรโดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(ข) ลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือลดการมีอำนาจควบคุม หรือยื่นคำขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อ ในกรณีที่ทรัพย์สินเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียน และการได้มาซึ่งหุ้นของบริษัทดังกล่าวเป็นผลให้กองทุนได้มาหรือเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นจนถึงหรือข้ามจุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อ

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้กับกองทุนดังต่อไปนี้ ในส่วนที่เป็นการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยของกองทุนต่างประเทศมีอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตาม ความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (concentration limit) เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าว แต่ต่อมาการลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนนั้นเป็นเวลา 5 วันทำการ ติดต่อกันโดยมิได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม โดยให้ดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 18/1 แทน

(1) กองทุนรวมฟีดเดอร์

(2) กองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมฟีดเดอร์”

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 18/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

“ข้อ 18/1 ในกรณีการลงทุนของกองทุนตามข้อ 18 วรรคสอง (1) หรือ (2) ในส่วนที่เป็นการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยของกองทุนต่างประเทศมีอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (concentration limit) เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าว แต่ต่อมาการลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนนั้นเป็นเวลา 5 วันทำการติดต่อกัน โดยมิได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงานโดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับประเภท จำนวน อัตราส่วนการลงทุน และวันที่การลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุน และจัดส่งรายงานต่อสำนักงานและผู้ดูแลผลประโยชน์ หรือลูกค้าของกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ภายในวันทำการถัดจากวันครบระยะเวลาดังกล่าว ตลอดจนจัดเก็บสำเนารายงานไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) แก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าวภายในโอกาสแรกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลา 90 วันนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว

(3) เมื่อบริษัทจัดการแก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดแล้ว ให้จัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว รวมถึงวันที่สามารถแก้ไขได้ และจัดส่งรายงานต่อสำนักงานและผู้ดูแลผลประโยชน์ หรือลูกค้าของกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ภายในวันทำการถัดจากวันที่มีการแก้ไขจนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนนั้น

(4) ในกรณีที่บริษัทจัดการไม่สามารถดำเนินการตาม (2) ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) ในกรณีเป็นกองทุนรวมฟีดเดอร์ ห้ามมิให้บริษัทจัดการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้นเพิ่มเติมจนกว่าจะเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนตามที่หลักเกณฑ์กำหนด

(ข) ในกรณีเป็นกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมฟีดเดอร์ ห้ามมิให้บริษัทจัดการลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินที่ไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนจนกว่าจะเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนตามที่หลักเกณฑ์กำหนด

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 19 และข้อ 20 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 19 ในกรณีที่กองทุนมีการลงทุนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดแต่ต่อมามีกรณีดังต่อไปนี้ จนเป็นเหตุให้ไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุน ให้บริษัทจัดการปฏิบัติ ให้เป็นไปตามข้อ 18 หรือข้อ 18/1 แล้วแต่กรณี โดยอนุโลม

(1) กรณีที่กองทุนมีการลงทุนหรือได้สิทธิจากการเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ตามสัดส่วนที่มีอยู่เดิมนั้น

(2) กรณีที่กองทุนได้รับทรัพย์สินมาจากการบริจาค

ข้อ 20 ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นใดทำให้บริษัทจัดการไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 17(2) หรือข้อ 18 วรรคหนึ่ง

(3) (ข) หรือ (ค) หรือบริษัทจัดการมีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ให้บริษัทจัดการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อ 16 วรรคหนึ่ง (2) วรรคสอง โดยอนุโลม”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกภาคผนวก 1 ภาคผนวก 2 ภาคผนวก 3 ภาคผนวก 4-retail MF-PF ภาคผนวก 4-AI ภาคผนวก 4-PVD และภาคผนวก 5 ท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 และให้ใช้ภาคผนวก 1 ภาคผนวก 2 ภาคผนวก 3 ภาคผนวก 4-retail MF-PF ภาคผนวก 4-AI ภาคผนวก 4-PVD และภาคผนวก 5 ท้ายประกาศนี้แทน

ข้อ 6 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 9 แห่งประกาศนี้ ให้คำว่า “ประกาศการลงทุน” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 29/2559 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ข้อ 7 ในกรณีที่กองทุนมีการลงทุนในทรัพย์สินใดไว้แล้วโดยชอบก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ต่อมาการลงทุนในทรัพย์สินนั้นไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนตามประกาศการลงทุนซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้โดยไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม ให้กองทุนดังกล่าวยังคงลงทุนในทรัพย์สินนั้นต่อไปได้ แต่หากทรัพย์สินนั้นเป็นตราสารที่มีกำหนดอายุซึ่งได้หมดอายุลง หรือได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไปเท่าใด บริษัทจัดการอาจคงทรัพย์สินนั้นไว้ได้เพียงจำนวนที่เหลือ

ข้อ 8 สำหรับการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 120 วันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้บริษัทจัดการซึ่งประสงค์จะลงทุนตามประเภททรัพย์สินและอัตราส่วนการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศการลงทุน สามารถกระทำได้โดยการลงทุนในส่วนดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในประกาศการลงทุน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมก่อนหรือในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้บริษัทจัดการส่งหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าวต่อสำนักงานภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับด้วย

เมื่อพ้นระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องจัดการลงทุนให้เป็นไปตามประกาศการลงทุนซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ ทั้งนี้ หากกองทุนมีการลงทุนโดยชอบในทรัพย์สินใดในช่วงเวลาที่ได้รับยกเว้น โดยไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนตามประกาศดังกล่าวและไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม ให้กองทุนดังกล่าวยังคงลงทุนในทรัพย์สินนั้นต่อไปได้ แต่หาก ทรัพย์สินนั้นเป็นตราสารที่มีกำหนดอายุซึ่งได้หมดอายุลง หรือได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไปเท่าใด บริษัทจัดการอาจคงทรัพย์สินนั้นไว้ได้เพียงจำนวนที่เหลือ

ข้อ 9 ในกรณีที่กองทุนได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศการลงทุนซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ ให้บริษัทจัดการยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในประกาศการลงทุนจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับการยกเว้นตามที่กำหนดในข้อดังกล่าว

ข้อ 10 ในกรณีเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และกองทุนดังกล่าวมีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Over-the-Counter derivatives) เกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบถึงนโยบายการลงทุนดังกล่าวและอัตราส่วนการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นได้สูงสุดในสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นตามนโยบายการลงทุนดังกล่าว ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

คำว่า “ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” ในวรรคหนึ่ง ให้หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งสามารถให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ตามกฎหมายของประเทศนั้นและได้รับการยอมรับจากสำนักงาน

ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ