หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และการตั้งตัวแทนสนับสนุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday February 2, 2001 10:32 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 3/2544
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
และการตั้งตัวแทนสนับสนุน
_________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 มาตรา 100 วรรคสอง และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการตั้งตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการจำหน่ายหน่วยลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2535
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการตั้งตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2536
ข้อ 3 ในประกาศนี้
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
"ตัวแทนสนับสนุน" หมายความว่า บุคคลซึ่งบริษัทจัดการตั้งให้เป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
"ขาย" ให้หมายความรวมถึง การเสนอขายด้วย
"บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบ" หมายความว่า บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานให้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือเป็นตัวแทนสนับสนุน
"ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่บริษัทจัดการตั้งให้เป็นผู้ทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุน
"คำแนะนำทั่วไป" หมายความว่า คำแนะนำที่ให้แก่บุคคลใด โดยมิได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุน ฐานะทางการเงิน และความต้องการของบุคคลนั้น . "คำแนะนำเฉพาะเจาะจง" หมายความว่า คำแนะนำที่ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการลงทุน ฐานะทางการเงิน หรือความต้องการของบุคคลนั้น
"ผู้ลงทุนสถาบัน" หมายความว่า ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะดังต่อไปนี้
(1) ธนาคารพาณิชย์
(2) บริษัทเงินทุน
(3) บริษัทหลักทรัพย์ที่ลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเองหรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือเพื่อการจัดการโครงการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(4) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(5) บริษัทประกันภัย
(6) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งมิได้เป็นบุคคลตาม (9)
(7) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(8) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
(9) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
(10) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(11) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(12) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(13) กองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(14) นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป
(15) นิติบุคคลซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตาม (1) ถึง (14) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
(16) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตาม (1) ถึง (15)
(17) ผู้ลงทุนที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนตาม (1) ถึง (16) ซึ่งซื้อหน่วยลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป
"การขายโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขอ" (cold calling) หมายความว่า การขายหรือชักชวนโดยบริษัทจัดการกับบุคคลที่ไม่เคยเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการนั้นมาก่อน หรือโดยผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนหรือตัวแทนสนับสนุนของบริษัทจัดการกับบุคคลที่ไม่เคยเป็นลูกค้าของตนมาก่อน แล้วแต่กรณี เพื่อให้ซื้อหน่วยลงทุนเป็นครั้งแรก ในลักษณะที่บริษัทจัดการ ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน หรือตัวแทนสนับสนุนดังกล่าวตั้งใจเข้าพบผู้ลงทุนโดยตรง หรือติดต่อผู้ลงทุนทางโทรศัพท์ โดยผู้ลงทุนมิได้เป็นฝ่ายร้องขอ
"กองทุนรวม" หมายความว่า กองทุนปิดและกองทุนเปิด
"สมาคม" หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 4 ในกรณีที่บริษัทจัดการทำการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนด้วยตนเอง นอกจากบริษัทจัดการต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม แล้ว บริษัทจัดการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในประกาศนี้ด้วย
ในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนด้วยตนเอง บริษัทจัดการต้องมีพนักงานผู้ดำเนินการดังกล่าวที่เป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบ และพนักงานดังกล่าวต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในประกาศนี้
ข้อ 5 ในกรณีที่บริษัทจัดการประสงค์จะตั้งบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์รายใดเป็นผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนบริษัทจัดการต้องตั้งผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) มีพนักงานผู้ทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุนเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบ และ
(2) มีการควบคุมการขายหน่วยลงทุนซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดในหมวด 3 โดย
(ก) มีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของผู้ลงทุน
(ข) มีระบบควบคุมภายในในส่วนที่เกี่ยวกับการขายหน่วยลงทุน เช่น การจัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐานการปฏิบัติหน้าที่ขายหน่วยลงทุนของพนักงาน เป็นต้น
(ค) มีหน่วยงานที่ควบคุมดูแลให้พนักงานของตนปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ และมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ
(3) ไม่เคยมีประวัติการควบคุมการขายหน่วยลงทุนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ เว้นแต่สำนักงานเห็นว่าผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนนั้นได้ปรับปรุงแก้ไขในเรื่องดังกล่าวแล้ว เมื่อบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ได้รับการตั้งให้เป็นผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนแล้ว ให้พนักงานของผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนตาม (1) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในประกาศนี้ด้วย
ในกรณีที่การลงทุนในหน่วยลงทุนเกิดจากความประสงค์ของผู้ลงทุนเอง โดยผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนไม่ได้ให้คำแนะนำทั่วไปหรือคำแนะนำเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุน (execution only) ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนต้องจัดทำหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่าการลงทุนดังกล่าว ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนไม่ได้มีการให้คำแนะนำทั่วไปหรือคำแนะนำเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุน
ข้อ 6 ในการตั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลใดเป็นตัวแทนสนับสนุนเพื่อทำการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน บุคคลดังกล่าวต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในประกาศนี้ ตัวแทนสนับสนุนตามวรรคหนึ่งที่เป็นนิติบุคคล ต้องมีพนักงานผู้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบและพนักงานดังกล่าวต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในประกาศนี้ด้วย
ข้อ 7 การให้ความเห็นชอบบุคคลตามข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 ให้เป็นไปตามที่สำนักงานประกาศกำหนด โดยการให้ความเห็นชอบแก่บุคคลธรรมดาให้มีสองระดับ คือ บุคคลธรรมดาที่ได้รับความเห็นชอบระดับหนึ่งซึ่งสามารถให้คำแนะนำเฉพาะเจาะจงและคำแนะนำทั่วไป และบุคคลธรรมดาที่ได้รับความเห็นชอบระดับสองซึ่งสามารถให้คำแนะนำได้เฉพาะคำแนะนำทั่วไป
ข้อ 8 ในการตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนสนับสนุน บริษัทจัดการต้องทำสัญญาตั้งตัวแทนสนับสนุนเป็นหนังสือ โดยกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบริษัทจัดการและตัวแทนสนับสนุนที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ และต้องมีข้อสัญญาที่กำหนดให้ตัวแทนสนับสนุนต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ และบริษัทจัดการต้องดูแลให้ตัวแทนสนับสนุนปฏิบัติตามข้อสัญญาและข้อกำหนดในประกาศนี้ด้วย
ข้อ 9 นิติบุคคลที่บริษัทจัดการตั้งให้เป็นตัวแทนสนับสนุน ต้องมีสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาตามที่ระบุไว้ในคำขอความเห็นชอบตามข้อ 7 และต้องจัดให้มีพนักงานผู้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่หรือสาขาอย่างน้อยแห่งละหนึ่งคนในขณะที่สำนักงานใหญ่หรือสาขานั้นทำการขายหน่วยลงทุน เว้นแต่ สำนักงานใหญ่หรือสาขาดังกล่าวได้จัดให้มีบริการการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่ออื่นใดแทน หรือได้จัดให้มีบริการเฉพาะการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเท่านั้นโดยไม่มีการให้คำแนะนำทั่วไปหรือคำแนะนำเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุน
หมวด 1
การขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
ข้อ 10 ในการขายหน่วยลงทุน บริษัทจัดการ ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนและตัวแทนสนับสนุนที่เป็นนิติบุคคลต้องจัดให้มีคู่มือผู้ลงทุนหรือเอกสารอื่นใดที่ใช้ในการขายหน่วยลงทุน และให้พนักงานผู้ทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุนของบุคคลดังกล่าวแจกจ่ายคู่มือผู้ลงทุนหรือเอกสารอื่นใดที่ใช้ในการขายหน่วยลงทุนดังกล่าวให้แก่ผู้ลงทุนที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบัน ทั้งนี้ คู่มือผู้ลงทุนหรือเอกสารอื่นใดที่ใช้ในการขายหน่วยลงทุน ต้องมีรายการข้อมูลตามที่สำนักงานประกาศกำหนดให้บริษัทจัดการดำเนินการให้ตัวแทนสนับสนุนที่เป็นบุคคลธรรมดาแจกจ่ายคู่มือผู้ลงทุน หรือเอกสารอื่นใดที่ใช้ในการขายหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่งด้วย
ส่วนที่ 1
การให้คำแนะนำเพื่อการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
ข้อ 11 ในการให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนนั้น บริษัทจัดการ ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน และตัวแทนสนับสนุนอาจให้คำแนะนำทั่วไปหรือคำแนะนำเฉพาะเจาะจงก็ได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรฐานในการให้คำแนะนำดังต่อไปนี้
(1) ให้คำแนะนำด้วยความสุจริต เป็นธรรม รวมทั้งใช้ความระมัดระวังเอาใจใส่ในการให้คำแนะนำ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ
(2) ให้คำแนะนำโดยอธิบายให้ผู้ลงทุนทราบถึงลักษณะและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับหน่วยลงทุนที่ให้คำแนะนำนั้น
(3) ให้คำแนะนำตามหลักวิชาอันเป็นที่ยอมรับ โดยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน่วยลงทุนและมีเอกสารหลักฐานที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้
(4) ไม่นำข้อมูลของผู้ลงทุนไปเปิดเผย เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ตามกฎหมาย
(5) เปิดเผยข้อเท็จจริงที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนหรือต่อการตัดสินใจในการลงทุน
(6) เปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น ค่าธรรมเนียมหรือผลตอบแทนที่ตัวแทนสนับสนุนอาจได้รับจากการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนนั้น
(7) ไม่ให้คำแนะนำซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือละเว้นที่จะเปิดเผยข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น การรับประกันผลตอบแทนในกองทุนรวมที่มิได้มีลักษณะการประกันไว้เช่นนั้น เป็นต้น หรือให้คำแนะนำโดยมีเจตนาหลอกลวงผู้อื่น
(8) ไม่ให้คำแนะนำในลักษณะที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้ลงทุนซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการบ่อยครั้งหรือเกินกว่าสมควร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้รับค่าธรรมเนียมหรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดจากการให้บริการการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนดังกล่าว
ข้อ 12 ในการให้คำแนะนำทั่วไปหรือคำแนะนำเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุน ให้บริษัทจัดการผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนและตัวแทนสนับสนุนเปิดเผยคำเตือนให้ผู้ลงทุนทราบดังต่อไปนี้
(1) คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนในหน่วยลงทุน
(2) คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุนรวมนั้น
(3) คำเตือนในกรณีการให้คำแนะนำทั่วไปว่า คำแนะนำดังกล่าวมิใช่คำแนะนำแก่บุคคลเป็นการเฉพาะเจาะจง และคำแนะนำนั้นไม่ได้เกิดจากการวิเคราะห์หรือคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุน ฐานะทางการเงิน และความต้องการของผู้ลงทุนรายนั้น
(4) คำเตือนในกรณีการให้คำแนะนำเฉพาะเจาะจงว่า ในกรณีที่ผู้ลงทุนปฏิเสธการให้ข้อมูลส่วนตัวหรือการให้ข้อมูลส่วนตัวที่เป็นปัจจุบัน ผู้ลงทุนอาจได้รับคำแนะนำที่ไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ฐานะทางการเงิน หรือความต้องการของผู้ลงทุน เนื่องจากคำแนะนำที่ให้นั้นได้พิจารณาจากข้อมูลเพียงเท่าที่ผู้ลงทุนเปิดเผยให้ทราบ
ข้อ 13 ในการให้คำแนะนำเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุน ให้บริษัทจัดการ ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนและตัวแทนสนับสนุนปฏิบัติดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ทำความรู้จักกับผู้ลงทุน (know your customer) โดยจะต้องทราบถึงวัตถุประสงค์ ฐานะทางการเงิน หรือความต้องการของผู้ลงทุน และจัดให้มีบันทึกข้อมูลส่วนตัวของผู้ลงทุน (customer's profile) แต่ละรายที่เปิดบัญชีเพื่อซื้อหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ และปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวให้เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(2) ให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ลงทุน (suitability) โดยประเมินจากปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ลงทุน เช่น วัตถุประสงค์ในการลงทุน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงและการลงทุน ประสบการณ์ในการลงทุน ฐานะทางการเงิน ภาระทางการเงิน ความต้องการและข้อจำกัดในการลงทุน
ส่วนที่ 2
การขายโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขอ
ข้อ 14 ในการขายโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขอ ให้บริษัทจัดการ ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนและตัวแทนสนับสนุนขายหน่วยลงทุนในวันและเวลาตามที่สำนักงานกำหนด
ข้อ 15 ให้บริษัทจัดการ ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนและตัวแทนสนับสนุนเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ให้ผู้ลงทุนทราบเมื่อมีการเสนอขายโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขอ เว้นแต่ผู้ลงทุนแสดงเจตนาว่าต้องการจบการสนทนา
(1) ชื่อผู้ติดต่อ และชื่อของนิติบุคคลที่ตนทำหน้าที่แทน พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวซึ่งมีรายละเอียดตามที่สำนักงานประกาศกำหนดในกรณีที่เป็นการเข้าพบผู้ลงทุนด้วยตนเอง
(2) วัตถุประสงค์ในการติดต่อ
(3) สิทธิของผู้ลงทุนที่จะแสดงเจตนาว่าไม่ต้องการรับการติดต่อ
(4) สิทธิของผู้ลงทุนที่จะยกเลิกคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนหรือขายคืนหน่วยลงทุนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 18 ในกรณีที่เป็นการขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบัน
ข้อ 16 ในการขายโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขอ ห้ามมิให้บริษัทจัดการ ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนและตัวแทนสนับสนุนเร่งรัดให้ผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อหน่วยลงทุน และหากผู้ลงทุนได้แสดงเจตนาว่าไม่ต้องการซื้อหน่วยลงทุนหรือต้องการจบการสนทนา ให้หยุดการขายหน่วยลงทุนทันที
ข้อ 17 ให้บริษัทจัดการ ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนและตัวแทนสนับสนุนจัดให้มีบัญชีรายชื่อของผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการรับการติดต่อจากตน และห้ามมิให้ติดต่อกับผู้ลงทุนนั้นในลักษณะที่เป็นการขายโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขออีก
ข้อ 18 ในการขายโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขอ บริษัทจัดการต้องให้สิทธิผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบันในการถอนการแสดงเจตนาเพื่อซื้อหน่วยลงทุน หรือในการขายคืนหน่วยลงทุนได้ภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้
(1) ในระหว่างการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่อประชาชนครั้งแรก ผู้ลงทุนมีสิทธิยกเลิกคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนได้ภายในสองวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ระบุในใบจองซื้อหน่วยลงทุน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุนหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ
(2) การขายหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดในช่วงระยะเวลาหลังจากการขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนครั้งแรก ผู้ลงทุนมีสิทธิขายคืนหน่วยลงทุนได้ภายในสองวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ระบุในใบสั่งซื้อหน่วยลงทุน โดยได้รับคืนตามราคามูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันทำการรับซื้อคืนวันถัดจากวันแสดงเจตนาขายคืนหน่วยลงทุน และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
หมวด 2
ตัวแทนสนับสนุน
ข้อ 19 บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบที่สำนักงานอนุญาตให้บริษัทจัดการตั้งเป็นตัวแทนสนับสนุน นอกจากต้องปฏิบัติตามที่กำหนดในหมวด 1 แล้ว บุคคลดังกล่าวต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ด้วย
ข้อ 20 ห้ามมิให้ตัวแทนสนับสนุนตั้งตัวแทนช่วง และตัวแทนสนับสนุนดังกล่าวต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและมีความระมัดระวังเอาใจใส่ในการทำงาน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ
(2) ปฏิบัติตามและให้ความร่วมมือกับสำนักงานเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
(3) จัดทำรายงาน ชี้แจง หรือจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนสนับสนุนตามที่สำนักงานกำหนด
ข้อ 21 ให้ตัวแทนสนับสนุนที่เป็นบุคคลธรรมดา และพนักงานของนิติบุคคลที่เป็นตัวแทนสนับสนุนทำหน้าที่เกี่ยวกับการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนได้เฉพาะกิจการดังต่อไปนี้
(1) กรณีบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบระดับหนึ่ง
(ก) ให้คำแนะนำเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุน
(ข) ให้คำแนะนำทั่วไปแก่ผู้ลงทุน
(ค) รับเปิดบัญชีเพื่อซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ
(ง) แจกจ่ายหนังสือชี้ชวนหรือเอกสารการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยลงทุนที่จำหน่าย
(จ) แจกจ่ายหรือรับเอกสารการจองซื้อหรือคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน
(ฉ) รับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนและส่งคำสั่งดังกล่าวให้บริษัทจัดการ
(ช) รับชำระเงินค่าจองซื้อหรือค่าซื้อหน่วยลงทุน หรือชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนเป็นเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายกองทุนรวมหรือผู้ลงทุน แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งมอบหลักฐานการรับเงินค่าจองซื้อหรือค่าซื้อหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนด้วย
(ซ) ยืนยันการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน
(ฌ) ส่งมอบหรือรับมอบใบหน่วยลงทุน หนังสือรับรองสิทธิในหน่วยลงทุน หรือสมุดบัญชีแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน รวมถึงเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน
(ญ) คืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุน
(ฎ) จัดให้มีหรือแจกจ่ายเอกสารเผยแพร่ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกองทุนรวม และรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน
(ฏ) ชี้แจงข้อมูลรายละเอียดในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับกองทุนรวม
(ฐ) ดำเนินการอื่นตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
(2) กรณีบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบระดับสอง
(ก) ให้คำแนะนำทั่วไปแก่ผู้ลงทุน
(ข) กระทำการตาม (1) (ค) ถึง (ฏ)
(ค) ดำเนินการอื่นตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 22 ในกรณีที่การลงทุนในหน่วยลงทุนเกิดจากความประสงค์ของผู้ลงทุนเองโดยตัวแทนสนับสนุนไม่ได้ให้คำแนะนำทั่วไปหรือคำแนะนำเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุน (execution only) ตัวแทนสนับสนุนต้องจัดทำหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่าการลงทุนดังกล่าว ตัวแทนสนับสนุนไม่ได้มีการให้คำแนะนำทั่วไปหรือคำแนะนำเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุน
ข้อ 23 ห้ามมิให้ตัวแทนสนับสนุนเรียกเก็บหรือรับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนจากผู้ลงทุนนอกเหนือจากที่ผู้ลงทุนมีหน้าที่ต้องชำระต่อบริษัทจัดการ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเรียกเก็บค่าบริการที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้เนื่องจากการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน ตามกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินนั้น
ตัวแทนสนับสนุนที่เป็นนิติบุคคลอาจรับชำระเงินค่าจองซื้อหรือค่าซื้อหน่วยลงทุนจากผู้ลงทุน หรือชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุน พร้อมทั้งมอบหลักฐานการรับเงินค่าจองซื้อหรือค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวให้ผู้ลงทุนด้วย
ข้อ 24 ให้ตัวแทนสนับสนุนขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามกำหนดระยะเวลาการขายที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน และให้ตัวแทนสนับสนุนจัดส่งหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบ พร้อมกับใบจองซื้อหน่วยลงทุนหรือใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ให้แก่ผู้ที่สนใจจะลงทุน
หมวด 3
การควบคุมการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
ข้อ 25 บริษัทจัดการต้องดูแลให้พนักงานของตนที่ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนและพนักงานของผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในประกาศนี้ และบริษัทจัดการต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้พนักงานของตนเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการจัดทำบันทึกข้อมูลส่วนตัวของผู้ลงทุน และการให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ลงทุน
(2) จัดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ลงทุน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนดังกล่าว และหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นนั้นต้องจัดเก็บรวบรวมข้อมูล และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี รวมทั้งมีหลักปฏิบัติในการควบคุมเอกสารที่ชัดเจนและรัดกุม
(3) จัดให้มีระบบควบคุมภายใน ในส่วนที่เกี่ยวกับการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน เช่น จัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐานการปฏิบัติหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของพนักงาน เป็นต้น
(4) จัดให้มีหน่วยงานที่ควบคุมดูแลให้พนักงานของตน ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ และมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ
บริษัทจัดการต้องดูแลให้ตัวแทนสนับสนุนที่เป็นบุคคลธรรมดาเข้ารับการอบรมตาม (1) และจัดให้หน่วยงานตาม (2) ดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของผู้ลงทุนที่มีต่อตัวแทนสนับสนุนดังกล่าวด้วย
ตัวแทนสนับสนุนที่เป็นนิติบุคคลต้องดูแลให้พนักงานของตนผู้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในประกาศนี้และต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) (2) (3) และ (4) ด้วยโดยอนุโลม
ข้อ 26 ให้บริษัทจัดการ ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน และตัวแทนสนับสนุนที่เป็นนิติบุคคลกำหนดขั้นตอนการรับข้อร้องเรียนของผู้ถือหน่วยลงทุนเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของตนหรือการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานหรือตัวแทนสนับสนุนที่เป็นบุคคลธรรมดา แล้วแต่กรณี และการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และเมื่อมีข้อร้องเรียนดังกล่าวเกิดขึ้น ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนร้องเรียนต่อผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน หรือตัวแทนสนับสนุนที่เป็นนิติบุคคลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ให้ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน หรือตัวแทนสนับสนุนดังกล่าวพิจารณาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งรวบรวมข้อร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจัดส่งให้บริษัทจัดการทราบภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันรับข้อร้องเรียนหรือวันที่มีข้อยุติเกี่ยวกับข้อร้องเรียน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ หากเป็นการร้องเรียนด้วยวาจา ให้บันทึกข้อร้องเรียนดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร และจัดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนลงนามเพื่อรับรองความถูกต้องไว้ด้วย ก่อนที่ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนหรือตัวแทนสนับสนุนจะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
(2) ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนร้องเรียนต่อบริษัทจัดการโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ให้บริษัทจัดการพิจารณาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งรวบรวมข้อร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งในส่วนที่ได้รับแจ้งตาม (1) ส่วนที่ร้องเรียนต่อบริษัทจัดการโดยตรง และส่วนที่สำนักงานจัดส่งให้ตาม(3) ให้สำนักงานเป็นรายไตรมาส ภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นไตรมาสนั้น ทั้งนี้ หากเป็นการร้องเรียนด้วยวาจา ให้บริษัทจัดการบันทึกข้อร้องเรียนดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร และจัดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนลงนามเพื่อรับรองความถูกต้องไว้ด้วย ก่อนที่บริษัทจัดการจะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
(3) ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนร้องเรียนต่อสำนักงาน และสำนักงานได้จัดส่งข้อร้องเรียนให้บริษัทจัดการแล้ว ให้บริษัทจัดการพิจารณาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนดังกล่าว และรายงานการดำเนินการให้สำนักงานทราบภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่บริษัทจัดการได้รับข้อร้องเรียนนั้น และหากบริษัทจัดการยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ให้บริษัทจัดการรายงานการดำเนินการทุกระยะเวลาสามสิบวันจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งนี้ เว้นแต่สำนักงานกำหนดเป็นอย่างอื่น
(4) เมื่อมีข้อยุติเกี่ยวกับข้อร้องเรียนตาม (1) (2) หรือ (3) แล้ว ให้บริษัทจัดการผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน หรือตัวแทนสนับสนุนที่เป็นนิติบุคคล แล้วแต่กรณี แจ้งผลของข้อยุติและการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน (ถ้ามี) พร้อมเหตุผลประกอบกรณีดังกล่าวให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่มีข้อยุตินั้น
หมวด 4
การกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบ
ข้อ 27 ในกรณีที่บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่เหมาะสมหรือไม่ครบถ้วน หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามประกาศนี้ หรือตามประกาศที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) สั่งให้มาชี้แจง ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
(2) สั่งให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำ
(3) ตักเตือน
(4) สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลาที่กำหนด หากปรากฏว่า
(ก) เหตุที่กำหนดไว้ข้างต้นมีลักษณะร้ายแรง
(ข) มีเหตุตามที่กำหนดไว้ข้างต้นเกิดซ้ำอีกภายในช่วงสองปีใด ๆ
(ค) บุคคลดังกล่าวไม่ดำเนินการตามคำสั่งของสำนักงานตาม (1) หรือ (2)
การสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง (4) ไม่มีผลกระทบต่อการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่บุคคลดังกล่าวได้ทำไว้ก่อนวันที่สำนักงานสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่
ข้อ 28 ในกรณีที่ปรากฏแก่สำนักงานว่าบุคคลตามข้อ 27 รายใดฝ่าฝืนคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 27(4) สำนักงานมีอำนาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นตัวแทนสนับสนุน หรือผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน และให้นำความในวรรคสองของข้อ 27 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 29 ให้สำนักงานมีอำนาจพิจารณาเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ถูกสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่หรือถูกเพิกถอนการอนุญาตตามข้อ 27 หรือข้อ 28 ได้
หมวด 5
หมวดเฉพาะกาล
ข้อ 30 ให้ตัวแทนสนับสนุนที่เป็นนิติบุคคลได้รับการผ่อนผันการจัดให้มีพนักงานที่ได้รับความเห็นชอบประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่หรือสาขาตามข้อ 9 โดยสำนักงานใหญ่หรือสาขาของนิติบุคคลที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้ได้รับการผ่อนผันจนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2545 และสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นนอกเหนือจากนั้นให้ได้รับการผ่อนผันจนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2546
ประกาศ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ