หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday April 5, 2000 10:28 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                        ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 15 /2543
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล
___________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 135 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กน. 10/2539 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2539
ข้อ 2 ในประกาศนี้
"ผู้รับฝากทรัพย์สิน" หมายความว่า ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล"ผู้จัดการ" หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้รับฝากทรัพย์สินให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารงานของผู้รับฝากทรัพย์สิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างใดก็ตาม
"ลูกค้า" หมายความว่า บุคคลหรือคณะบุคคลที่มอบหมายให้บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คำว่า "ลูกค้า" หมายความถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 ผู้ขอรับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินต้องเป็น(1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์(2) บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์(3) บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (4) บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต
(5) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะตามที่สำนักงานประกาศกำหนดหรือ(6) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเก็บรักษาหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงิน และประกอบธุรกิจอื่นตามที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ (ถ้ามี)
ข้อ 4 ผู้ขอรับความเห็นชอบตามข้อ 3(1) ถึง (5) ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้(1) สามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของผู้ขอรับความเห็นชอบ และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่เสื่อมลงอย่างมีนัยสำคัญ ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันที่สำนักงานพิจารณาการให้ความเห็นชอบ
(2) มีการบริหารงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาการมีจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ และประวัติการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต ทั้งนี้ ในระยะเวลาสามปีก่อนวันที่สำนักงานพิจารณาการให้ความเห็นชอบ
การพิจารณาคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาไปถึงกรรมการ ผู้จัดการ และกรรมการบริหาร รวมทั้งรองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในสายงานเกี่ยวกับการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินของผู้ขอรับความเห็นชอบด้วย
(3) แสดงได้ว่าจะมีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
(ก) ระบบการแยกทรัพย์สินของลูกค้าออกจากทรัพย์สินของผู้รับฝากทรัพย์สินและระบบการดูแลรวมทั้งการเก็บรักษาทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดจนการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้โดยทุจริต
(ข) ระบบการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของลูกค้า ตลอดจนข้อมูลและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระบบการควบคุมการรับจ่ายทรัพย์สินของลูกค้า
(ค) ระบบการตรวจสอบและตรวจนับทรัพย์สินของลูกค้าเพื่อความถูกต้องครบถ้วน
(ง) ระบบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินเพื่อแสดงรายการและจำนวนทรัพย์สิน ของลูกค้า ตลอดจนการบันทึกรายการรับหรือจ่ายทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละราย
(จ) ระบบการดูแลและติดตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินของลูกค้า
(ฉ) ระบบการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการเก็บรักษาความลับของลูกค้า
(ช) ระบบอื่นใดที่แสดงถึงความพร้อมในการประกอบธุรกิจตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
(4) แสดงได้ว่าจะมีความพร้อมด้านบุคลากรของหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานด้านการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน โดยบุคลากรดังกล่าวจะต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เหมาะสมกับลักษณะงานที่รับผิดชอบ และมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปในการประกอบวิชาชีพ
ข้อ 5 ผู้ขอรับความเห็นชอบตามข้อ 3(6) ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้(1) มีคุณสมบัติตามข้อ 4 (3) และ (4)(2) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินเสื่อมลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาีหนึ่งปีก่อนวันที่สำนักงานพิจารณาการให้ความเห็นชอบ(3) มีการบริหารงานที่ดีและมีประสิทธิภาพตามข้อ 4(2) ในระยะเวลาสามปีก่อน วันที่สำนักงานพิจารณาการให้ความเห็นชอบ
(4) แสดงได้ว่าจะมีเงินกองทุนหมุนเวียนที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ และสามารถแสดงได้ว่ามีหลักประกันหรือทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วที่เพียงพอเพื่อรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของลูกค้า ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด
(5) ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่เป็นสถาบันการเงินต้องสามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของผู้ถือหุ้นดังกล่าว
ข้อ 6 ในกรณีที่ผู้ขอรับความเห็นชอบตามข้อ 3(6) ประกอบธุรกิจมาเป็นเวลาน้อยกว่าสามปี การพิจารณาคุณสมบัติตามข้อ 5(2) และ (3) ให้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท ตลอดจนกรรมการและผู้จัดการของผู้ถือหุ้นดังกล่าวประกอบด้วย ทั้งนี้ จนครบระยะเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี
ข้อ 7 ในกรณีที่ผู้ขอรับความเห็นชอบตามข้อ 3(6) เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การพิจารณาคุณสมบัติตามข้อ 5(2) และ (3) ให้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ถือหุ้น ตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท ตลอดจนกรรมการและผู้จัดการของ ผู้ถือหุ้นดังกล่าวแทน ข้อ 8 ในการขอรับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน ให้ผู้ที่ประสงค์จะขอรับความเห็นชอบยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
การยื่นคำขอรับความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นพร้อมด้วยสำเนาคำขอและสำเนาเอกสารหลักฐานประกอบคำขอจำนวนอย่างละสองชุด
ข้อ 9 ให้สำนักงานพิจารณาคำขอรับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน ให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน
ข้อ 10 ก่อนเริ่มประกอบธุรกิจเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินแจ้งให้สำนักงานทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามสิบวันก่อนวันเริ่มประกอบธุรกิจ โดยแสดงให้สำนักงานมั่นใจได้ว่าผู้รับฝากทรัพย์สินได้จัดให้มีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 4(3) และมีความพร้อมด้านบุคลากรของหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานด้านการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 4(4) และในกรณีที่ผู้ได้รับความเห็นชอบตามข้อ 3(6) ต้องแสดงว่ามีเงินกองทุนหมุนเวียนที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการประกอบ ธุรกิจตามข้อ 5(4) และเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้วจึงจะเริ่มประกอบธุรกิจได้ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับผู้ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน ที่สำนักงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีระบบงานที่มีความพร้อมตามข้อ 4(3) และมีความพร้อมด้านบุคลากร ตามข้อ 4(4) อยู่แล้วในขณะที่ยื่นคำขอ
ข้อ 11 การให้ความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน ให้มีกำหนดคราวละสามปีนับตั้งแต่วันที่สำนักงานกำหนดไว้ในหนังสือแจ้งการให้ความเห็นชอบ
ในกรณีที่ผู้ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินประสงค์ที่จะต่ออายุการให้ความเห็นชอบ ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามที่สำนักงานประกาศกำหนดก่อนวันสิ้นสุดอายุของการให้ความเห็นชอบอย่างน้อยหกสิบวัน
ให้สำนักงานพิจารณาคำขอต่ออายุการให้ความเห็นชอบภายในสามสิบวันนับตั้งแต่ วันถัดจากวันที่สำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน และในระหว่างการพิจารณาการต่ออายุตามวรรคสอง สำนักงานอาจกำหนดให้ผู้รับฝากทรัพย์สินแก้ไขเพิ่มเติมการดำเนินงาน ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด และให้ถือว่าการให้ความเห็นชอบยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าสำนักงานจะสั่งการเป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่สำนักงานไม่ให้ความเห็นชอบการต่ออายุ ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องแจ้งการไม่ให้ความเห็นชอบให้บริษัทจัดการทราบภายในวันทำการถัดจากวันที่สำนักงานแจ้งการไม่ให้ความเห็นชอบการต่ออายุ และดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินของลูกค้าให้ผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่ที่บริษัทจัดการจัดให้มีให้เสร็จสิ้นก่อนวันสิ้นสุดอายุของการให้ความเห็นชอบ
ข้อ 12 ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน ผู้รับฝากทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้วต้องจัดให้มีระบบงานตามข้อ 4(3) อย่างน้อยตามที่ได้เสนอสำนักงาน
การเปลี่ยนแปลงระบบงานตามวรรคหนึ่ง ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องแจ้งให้สำนักงานทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งหากสำนักงานไม่ทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรภายในสิบห้าวัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานได้รับแจ้ง ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบงานได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบงานอย่างเร่งด่วน ผู้รับฝากทรัพย์สินอาจแจ้งต่อ สำนักงานเพื่อขอทราบผลการพิจารณาโดยไม่ต้องรอให้ครบระยะเวลาสิบห้าวันดังกล่าวก็ได้
ข้อ 13 ในกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 3(6) ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินดังกล่าวขอความเห็นชอบจากสำนักงานก่อน ข้อ 14 ห้ามมิให้ผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 3(6) แต่งตั้งหรือยอมให้บุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ เป็นหรือทำหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของผู้รับฝากทรัพย์สิน ทั้งนี้ ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินมีหนังสือแจ้งการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้จัดการ พร้อมด้วยสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนกับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกระทรวงพาณิชย์ ให้สำนักงานทราบภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน
(1) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(2) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต
(3) เคยเป็นผู้บริหารของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับยกเว้นจากสำนักงาน
(4) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ หรือผู้จัดการตามมาตรา 144 หรือมาตรา 145หรือเคยถูกถอดถอนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น
(5) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์
(6) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(7) เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(8) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ โดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต(9) เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต(10) เคยถูกเปรียบเทียบปรับในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในส่วนที่ว่าด้วยการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือกฎหมายต่างประเทศในทำนองเดียวกัน(11) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงาน อันเนื่องจากการกระทำโดยทุจริต(12) เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารที่มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายหรือต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกควบคุมกิจการ หรือถูกระงับการดำเนินกิจการเนื่องจากแผนแก้ไขฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานไม่ผ่านความเห็นชอบของหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินนั้นหรือของคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินหรือถูกสั่งการให้แก้ไขฐานะทางการเงินที่เสียหายด้วยการลดทุนและมีการเพิ่มทุนในภายหลังโดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือสถาบันการเงินของรัฐ
(13) มีการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต
(14) จงใจอำพรางฐานะทางการเงินหรือผลการดำเนินงานที่แท้จริงของผู้รับฝากทรัพย์สิน หรือฐานะทรัพย์สินของลูกค้าที่ผู้รับฝากทรัพย์สินรับฝากไว้
(15) จงใจละเลยการดำเนินการตามคำสั่งของสำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต.ตามมาตรา 141 มาตรา 142 หรือมาตรา 143 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535(16) มีการบริหารงานที่แสดงถึงการละเลยการทำหน้าที่ตามสมควรในการตรวจสอบดูแลมิให้บุคคลที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจรับฝากทรัพย์สินโดยรวม หรือความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ หรือการดำเนินธุรกิจ หรือต่อลูกค้าของธุรกิจนั้น
ข้อ 15 ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลที่จะเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 3(6) มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 14 (9) (10) (11) (12) (13) (14) (15) หรือ (16) ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของผู้รับฝากทรัพย์สิน โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติกรรมของบุคคลนั้นเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวต้องไม่เกินห้าปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่บุคคลนั้นพ้นโทษตามคำพิพากษา หรือนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับบุคคลนั้น หรือนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่มีคำวินิจฉัยของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลหรือพิจารณาพฤติกรรมดังกล่าว
ปัจจัยที่อาจนำมาใช้ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับบุคคลที่เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของผู้รับฝากทรัพย์สิน และปรากฏลักษณะต้องห้ามตามข้อ 14 (9) (10) (11) (12) (13) (14) (15) หรือ (16) ในภายหลัง
ข้อ 16 เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลใดเข้าข่ายที่กำหนดในข้อ 14 (9) (10) (11) (12) (13) (14) (15) หรือ (16) และความร้ายแรงของพฤติกรรมของบุคคลนั้นเมื่อได้พิจารณาตามปัจจัยที่สำนักงานประกาศกำหนดตามข้อ 15 แล้วอยู่ในกลุ่มของพฤติกรรมที่กำหนดระยะเวลาในการห้ามมิให้เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของผู้รับฝากทรัพย์สินสูงสุดไม่เกินหนึ่งปี สำนักงานอาจพิจารณาให้ถือว่าพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวมิได้เป็นลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 14 หากไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าการที่บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้จัดการของผู้รับฝากทรัพย์สิน จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของลูกค้า หรือจะทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจรับฝากทรัพย์สิน
ข้อ 17 ในกรณีที่บุคคลใดต้องห้ามมิให้เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 3(6) อันเนื่องจากบุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 14 (9) (10) (11) (12) (13) (14) (15) หรือ (16) เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 15 หรือกรณีเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อ 15 แล้ว มิให้สำนักงานนำพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ 14 (9) (10) (11) (12) (13) (14) (15) หรือ (16) ที่ได้เคยใช้เป็นเหตุในการห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของผู้รับฝากทรัพย์สินในครั้งก่อนมาเป็นเหตุในการห้ามในครั้งหลังอีก
ข้อ 18 เมื่อปรากฏในข้อเท็จจริงว่ากรรมการหรือผู้จัดการรายใดของผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 3(6) มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 14 และสำนักงานมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับฝากทรัพย์สินทราบแล้ว ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องดำเนินการให้กรรมการหรือผู้จัดการรายนั้นพ้นจากการเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของผู้รับฝากทรัพย์สินภายในระยะเวลาที่จำเป็นและสมควรโดยไม่ชักช้า
ข้อ 19 ในกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 3(6) มีกรรมการหรือผู้จัดการมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 14 ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ถึงลักษณะต้องห้ามของกรรมการหรือผู้จัดการรายนั้น
ข้อ 20 ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 3(1) ถึง (6) ดำรงคุณสมบัติตามข้อ 4 หรือข้อ 5(1) (2) (3) และ (4) แล้วแต่กรณี หากผู้รับฝากทรัพย์สินรายใดไม่สามารถดำรงคุณสมบัติดังกล่าวได้ ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินรายนั้นแจ้งให้สำนักงานทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันทำการถัดจากวันที่ไม่สามารถดำรงคุณสมบัติได้ และเมื่อผู้รับฝากทรัพย์สินสามารถดำรงคุณสมบัติดังกล่าวได้แล้ว ให้แจ้ง ต่อสำนักงานเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันทำการถัดจากวันดังกล่าว
ข้อ 21 ให้สำนักงานมีอำนาจห้ามมิให้ผู้รับฝากทรัพย์สินรับฝากทรัพย์สินของลูกค้ารายใหม่ แต่ยังสามารถรับฝากทรัพย์สินของลูกค้ารายเดิมตามสัญญาเดิมจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง หรือมีอำนาจเพิกถอนหรือสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินรายนั้นเป็นระยะเวลาตามที่สำนักงานเห็นสมควร หรือดำเนินการอื่นใดตามที่สำนักงานเห็นสมควร ในกรณีดังต่อไปนี้(1) ผู้รับฝากทรัพย์สินที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดแห่งประกาศนี้
(2) ผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 3(1) ถึง (5) ที่ไม่สามารถดำรงคุณสมบัติตามข้อ 4
(3) ผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 3(6) ที่ไม่สามารถดำรงคุณสมบัติตามข้อ 5(1) (2) (3) หรือ (4)
ข้อ 22 ให้ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อีกไม่เกินหกเดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 23 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543
(นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ