ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ อข. 10/2548
เรื่อง แนวปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน
ของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน
____________________________
โดยที่ข้อ 11 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข. 15/2548 เรื่อง การให้ความเห็นชอบผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน และมาตรฐานการปฏิบัติงาน ลงวันที่
21 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ได้กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับ
การบริการที่ดี มีคุณภาพ และเป็นธรรม ดังนั้น เพื่อให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนได้มีแนวทางสำหรับการปฏิบัติ
ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรฐานการปฏิบัติงานดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 แนวปฏิบัติที่เป็นการปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ได้แก่การปฏิบัติงานดังต่อไปนี้
(1) ไม่ให้ข้อมูลเท็จแก่ผู้ลงทุน ไม่ให้คำแนะนำที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ละเว้นที่จะเปิดเผยข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญ และไม่ให้คำแนะนำโดยมีเจตนาหลอกลวงผู้ลงทุน
(2) ไม่กระทำการทุจริต หลอกลวง ยักยอก หรือฉ้อโกง ทรัพย์สินของผู้ลงทุน และไม่นำทรัพย์สินของผู้ลงทุนไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ
(3) ไม่เบียดบังและไม่แสวงหาผลประโยชน์จากผู้ลงทุนโดยอาศัยโอกาสในการปฏิบัติงาน
(4) ไม่ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ไม่ว่าเพื่อตนเอง บริษัทหลักทรัพย์ หรือบุคคลอื่น ก่อนที่จะซื้อหรือขายหลักทรัพย์เดียวกันนั้นเพื่อผู้ลงทุน ในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน (front running) เป็นต้น
ข้อ 2 แนวปฏิบัติที่เป็นการปฏิบัติงานโดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และปฏิบัติต่อผู้ลงทุนทุกรายอย่างเป็นธรรม ด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวัง รอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ได้แก่การปฏิบัติงานดังต่อไปนี้
(1) เปิดเผยชื่อผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนและบริษัทที่ตนสังกัดหรือดำเนินการแทน เมื่อมีการติดต่อกับผู้ลงทุน เว้นแต่ผู้ลงทุนทราบอยู่แล้ว และในกรณีที่มีการจัดทำบทวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อเผยแพร่ต่อผู้ลงทุน ให้เปิดเผยไว้ในบทวิเคราะห์ดังกล่าวด้วย
(2) นำเสนอและให้ข้อมูลหรือคำอธิบายเกี่ยวกับคำแนะนำหรือบริการที่นำเสนอแก่ผู้ลงทุนอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และชี้แจงให้ผู้ลงทุนทราบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็น
(3) ให้คำแนะนำอย่างเป็นกลางและอิสระตามหลักวิชาชีพอันเป็นที่ยอมรับ และมีเอกสารสนับสนุนที่ใช้อ้างอิงได้
(4) ใช้วิจารณญาณในการให้คำแนะนำ และหากเป็นการให้คำแนะนำซึ่งเป็นผลมาจากการวิเคราะห์ข่าวที่อาจมีผลกระทบต่อการลงทุนในหลักทรัพย์ต้องแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบถึงที่มาของข่าวดังกล่าวด้วย
(5) การให้คำแนะนำเฉพาะเจาะจงกับผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ต้องให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ลงทุน (suitability) โดยประเมินจากปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ลงทุน เช่น วัตถุประสงค์ในการลงทุน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนและความเสี่ยง ประสบการณ์ในการลงทุน ฐานะการเงิน ภาระทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ ข้อจำกัดในการลงทุน
(6) ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุนตามคำสั่งของผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของบัญชีหรือตามคำสั่งของผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของบัญชี
(7) ดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์ให้ผู้ลงทุนตามลำดับก่อนหลัง เว้นแต่ผู้ลงทุนได้กำหนดเงื่อนไขการซื้อขายหลักทรัพย์ไว้อย่างชัดเจนเป็นอย่างอื่น
(8) ปฏิบัติงานในการเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนภายในขอบเขตที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทที่ตนสังกัดหรือดำเนินการแทน เช่น ทำหน้าที่ภายในขอบเขตของประเภทผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนที่บริษัทมอบหมาย หรือไม่จัดการงานด้านเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสายด้านปฏิบัติการ (back office)
(9) ไม่ทำการใด ๆ ที่เป็นการเผยแพร่หรือบอกต่อข่าวลือ หรือข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันความถูกต้องจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
(10) ไม่ชักชวนหรือให้คำแนะนำในลักษณะที่เป็นการยุยงหรือสนับสนุนให้ผู้ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์บ่อยครั้ง (churning) หรือเร่งรัดการตัดสินใจของผู้ลงทุน
(11) ไม่ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่ตนเอง หรือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของบัญชีเพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อขายหลักทรัพย์เกินวงเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ลงทุน หรือเพื่อเอื้อประโยชน์อื่นใด
(12) ไม่ทำการใด ๆ ที่เป็นการสนับสนุนหรือร่วมมือกับผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เหมาะสมกับฐานะทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ หรือข้อจำกัดการลงทุนของผู้ลงทุน เช่น ชำระค่าซื้อหลักทรัพย์แทนผู้ลงทุน จัดหาแหล่งเงินกู้นอกระบบให้ผู้ลงทุน หรือให้ผู้ลงทุนกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ หรือปกปิดตกแต่งข้อมูล เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับอนุมัติวงเงินในการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น
(13) ไม่รับประกันต่อผู้ลงทุนเกี่ยวกับผลตอบแทน ผลประโยชน์ ผลขาดทุน หรือความเสียหาย ที่อาจเกิดจากการซื้อขายหลักทรัพย์
(14) ไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ลงทุน เช่น รับมอบอำนาจจากผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือเบิกถอนโอนย้ายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน หรือตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์แทนผู้ลงทุน
(15) ไม่เรียกเก็บหรือรับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนจากผู้ลงทุนนอกเหนือจากที่ผู้ลงทุนมีหน้าที่ต้องชำระต่อบริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น
ข้อ 3 แนวปฏิบัติที่เป็นการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างเพียงพอในการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน ได้แก่การปฏิบัติงานดังต่อไปนี้
(1) เปิดเผยหรือแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงเฉพาะของหลักทรัพย์หรือข้อจำกัดเกี่ยวกับหลักทรัพย์ เช่น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่กำลังครบกำหนดอายุ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่ให้ผู้ลงทุนไถ่ถอนคืนก่อนครบกำหนดได้ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่อยู่ระหว่างการควบรวมกองทุน หน่วยลงทุนประเภทที่รับซื้อคืนแบบมีกำหนดระยะเวลา
(2) เปิดเผยหรือแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ เช่น อยู่ระหว่างการเพิ่มทุน
หรือลดทุน มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ ควบรวมกิจการ
(3) เปิดเผยหรือแจ้งข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของ
ผู้ลงทุน เช่น สิทธิของผู้ลงทุนในการยกเลิกคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนในกรณีการขายหน่วยลงทุนโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขอ (cold calling) เป็นต้น
ข้อ 4 แนวปฏิบัติที่เป็นการรักษาความลับของผู้ลงทุน ได้แก่ การไม่นำข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลการลงทุนในหลักทรัพย์ และข้อมูลทางการเงิน ของผู้ลงทุนไปเปิดเผย เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ เป็นต้น
ข้อ 5 แนวปฏิบัติที่เป็นการปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือเป็นการดำเนินการให้มั่นใจได้ว่าผู้ลงทุนได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเหมาะสมในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์นั้นได้ ได้แก่การปฏิบัติงานดังต่อไปนี้
(1) หลีกเลี่ยงการติดต่อ ชักชวน หรือให้คำแนะนำการลงทุนในหลักทรัพย์ ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เว้นแต่จะเปิดเผยถึงส่วนได้เสียหรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์นั้นให้ผู้ลงทุนทราบ เช่น กรณีต่อไปนี้
(1.1) บริษัทหลักทรัพย์ ผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ หรือผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนถือหุ้นในบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เกินกว่าร้อยละห้าของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ให้นับรวมหุ้นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวด้วย
(1.2) บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ออกหลักทรัพย์นั้น
(1.3) ผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนเป็นกรรมการในบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้น
(1.4) บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินตามประกาศว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน
(1.5) ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนได้รับค่าธรรมเนียมในการติดต่อ ชักชวน หรือให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนในอัตราที่แตกต่างกัน เช่น ได้รับค่าธรรมเนียมจากการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหนึ่งมากกว่าอีกกองทุนรวมหนึ่ง
คำว่า “บริษัทที่เกี่ยวข้อง” ตาม (1) หมายความว่า
(ก) บริษัทที่บริษัทหลักทรัพย์ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนสิทธิออกเสียงของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัทนั้น
(ข) บริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนสิทธิออกเสียงของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัทหลักทรัพย์นั้น
(ค) บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นทั้งในบริษัทดังกล่าวและในบริษัทหลักทรัพย์ตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนสิทธิออกเสียงของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัทและบริษัทหลักทรัพย์นั้น
คำว่า “ผู้บริหาร” ตาม (1) หมายความว่า กรรมการบริหาร และบุคคลผู้รับผิดชอบในสายงานเกี่ยวกับการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการติดต่อ ชักชวน ให้คำแนะนำ หรือวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสายงานอื่นในทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไปจนถึงผู้จัดการ
คำว่า “กรรมการบริหาร” หมายความว่า บุคคลซึ่งคณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหาร หรือมอบหมายให้มีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินงานของบริษัทแทนคณะกรรมการบริษัท
คำว่า “ผู้อำนวยการฝ่าย” หมายความว่า บุคคลที่รับผิดชอบในระดับส่วนงานภายในบริษัท
คำว่า “ผู้จัดการ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของบริษัทหลักทรัพย์ให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารงานของบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม
(2) ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ในกรณีที่ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนทำหน้าที่ชักชวน แนะนำให้ผู้ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเผยแพร่บทความหรืองานวิจัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ตามประกาศดังกล่าว
(3) แจ้งให้ผู้ลงทุนทราบถึงการเป็นคู่สัญญากับผู้ลงทุน ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์เข้าเป็นคู่สัญญาในการซื้อขายหลักทรัพย์กับผู้ลงทุน เว้นแต่กรณีที่บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (market maker) หรือผู้ค้าหลักทรัพย์ (dealer) และแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบว่า บริษัทหลักทรัพย์ ทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์กับผู้ลงทุนในฐานะใด ในกรณีที่บริษัทเป็นทั้งนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และผู้ค้าหลักทรัพย์นั้น
(4) ไม่ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนอยู่ระหว่างการจัดทำบทวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์ ก่อนที่บทวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่แก่ผู้ลงทุนไปแล้วไม่น้อยกว่าสามวันทำการ เป็นต้น
ข้อ 6 แนวปฏิบัติที่เป็นการปฏิบัติงานที่ไม่สนับสนุน สั่งการ หรือให้ความร่วมมือแก่บุคคลใดในการปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องได้แก่ ไม่เป็นผู้สั่งการให้ส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เหมาะสมอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
ข้อ 7 ในกรณีที่ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัตินี้ สำนักงานจะถือว่าได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน และมาตรฐานการปฏิบัติงานแล้วอย่างไรก็ตาม ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนอาจปฏิบัติเป็นอย่างอื่นที่แตกต่างจากแนวปฏิบัตินี้ได้ หากเป็นการปฏิบัติที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าหรือเทียบเท่ากับแนวปฏิบัตินี้
ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2548
(นายประสงค์ วินัยแพทย์)
รองเลขาธิการ
รักษาการแทนเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์