หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 3)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday February 2, 2001 10:42 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                        ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 4/2544
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(ฉบับที่ 3)
___________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า "ทรัพย์สิน" ระหว่างบทนิยามคำว่า "ผู้จัดการ" และคำว่า "ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน" ในข้อ 2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่4 เมษายน พ.ศ. 2543 ดังต่อไปนี้
""ทรัพย์สิน" หมายความว่า เงินฝากและตราสารทางการเงิน"
ข้อ 2 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า "พอร์ตโฟลิโอ ดูเรชัน (portfolio duration)" ระหว่างบทนิยามคำว่า "บริษัท" และคำว่า "ผู้รับฝากทรัพย์สิน" ในข้อ 2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543 ดังต่อไปนี้
""พอร์ตโฟลิโอ ดูเรชัน (portfolio duration)" หมายความว่า อายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกระแสเงินที่ได้รับจากทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งคำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนด"
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นวรรคสองของข้อ 5 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543
"ห้ามมิให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง หากผู้ออกหรือผู้เสนอขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน ไม่ใช่สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือไม่ใช่นิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่ผู้ออกหรือผู้เสนอขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และการออกหรือการเสนอขายนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินมาใช้ในประเทศไทย
(2) กรณีที่เป็นการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายในประเทศไทยได้ หรือ
(3) กรณีอื่นที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน"
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 6 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ 6 ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ตามอัตราส่วนและข้อกำหนดที่สำนักงานประกาศกำหนด
(1) ตราสารแห่งทุน ซึ่งหมายถึง
(ก) หุ้น
(ข) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งทุน หรือของกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุน เช่น กองทุนรวมผสมกองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ เป็นต้น
(ค) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น
(ง) ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (Transferable Subscription Right)
(จ) ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงที่เป็นตราสารแห่งทุน
(ฉ) ออปชันในฐานะซื้อ (long position) ที่มีตัวแปรอ้างอิงเป็นดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด
(ช) ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ประเภทตราสารแห่งทุน
(ซ) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นตามที่สำนักงานกำหนดให้เป็นตราสารแห่งทุน
(2) ตราสารแห่งหนี้ ซึ่งหมายถึง
(ก) พันธบัตรหรือตั๋วเงินคลัง
(ข) บัตรเงินฝาก
(ค) ตั๋วสัญญาใช้เงิน
(ง) ตั๋วแลกเงิน
(จ) หุ้นกู้ ซึ่งไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพ
(ฉ) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้
(ช) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือของกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะตราสารแห่งหนี้หรือเงินฝากเช่น กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว เป็นต้น
(ซ) ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ประเภทตราสารแห่งหนี้
(ฌ) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน
(ญ) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นตามที่สำนักงานกำหนดให้เป็นตราสารแห่งหนี้
(3) เงินฝาก ซึ่งหมายถึง
(ก) เงินฝากในธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(ข) เงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์
(ค) เงินฝากในสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินตามที่สำนักงานกำหนด
(4) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ซึ่งหมายถึง
(ก) หุ้นกู้แปลงสภาพ
(ข) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นตามที่สำนักงานกำหนดให้เป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน
(5) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (derivative warrant)
(6) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนดให้นำความในข้อ 5 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง"
ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 ข้อ 6/2 ข้อ 6/3 ข้อ 6/4 ข้อ 6/5 ข้อ 6/6 ข้อ 6/7ข้อ 6/8 ข้อ 6/9 ข้อ 6/10 ข้อ 6/11 และข้อ 6/12 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543
"ข้อ 6/1 ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการต้องเสนอนโยบายการลงทุนตามที่กำหนดในข้อ 6/2 และอาจเสนอนโยบายการลงทุนอื่นอีกมากกว่าหนึ่งนโยบายก็ได้ เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสนอให้สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลือกลงทุนได้ ทั้งนี้ บริษัทจัดการต้องกำหนดนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ชัดเจน และในกรณีที่บริษัทจัดการกำหนดให้การลงทุนเป็นไปตามข้อ 6/3 ถึงข้อ 6/12 ให้บริษัทจัดการเรียกชื่อนโยบายการลงทุนตามข้อ 6/3 ถึงข้อ 6/12 แล้วแต่กรณีด้วยข้อ 6/2 นโยบายการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำได้แก่ การลงทุนที่บริษัทจัดการต้องลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(1) พันธบัตรของรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
(2) เงินฝากในธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(3) บัตรเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนเป็นผู้ออก
(4) ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตั๋วแลกเงินที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้สลักหลัง ที่ไม่มีข้อจำกัดความรับผิด และไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเองเป็นผู้สลักหลังในลำดับก่อนมาแล้ว
(5) ตราสารแห่งหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เป็นผู้ออก
(6) ตราสารแห่งหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณที่มิใช่รัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด เป็นผู้ออก
(7) ตราสารแห่งหนี้ที่บริษัทจำกัดเป็นผู้ออก
(8) หน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน
(9) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน
(10) ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์
(11) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินตาม (2) และ (6) จะต้องมีกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย หรือได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบหรือได้รับการยอมรับจากสำนักงาน โดยต้องมีอันดับไม่น้อยกว่าอันดับที่สำนักงานประกาศกำหนด
การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินตาม (3) และ (4) จะต้องมีผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้สลักหลัง ที่ไม่มีข้อจำกัดความรับผิดและได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบหรือได้รับการยอมรับจากสำนักงาน โดยต้องมีอันดับไม่น้อยกว่าอันดับที่สำนักงานประกาศกำหนด การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินตาม (5) และ (7) จะต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบหรือได้รับการยอมรับจากสำนักงาน โดยต้องมีอันดับไม่น้อยกว่าอันดับที่สำนักงานประกาศกำหนดการลงทุนในหลักทรัพย์ตาม (8) จะลงทุนได้เฉพาะหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินตาม (1) ถึง (11) ที่เข้าเกณฑ์ตามที่กำหนดในวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ แล้วแต่กรณีการลงทุนในทรัพย์สินตาม (9) และ (10) จะลงทุนได้เฉพาะที่มีหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ซื้อโดยมีสัญญาขายคืนหรือมีหลักประกันที่ให้ยืม เป็นหลักทรัพย์และทรัพย์สินตาม (1) ถึง (7) และ (11) เท่านั้น
การลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่บุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้สลักหลัง โดยไม่มีกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันต้องไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่หากลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินตาม (2) หรือ (3) ด้วย จะลงทุนได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 6/3 นโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุนได้แก่ การลงทุนที่บริษัทจัดการกำหนดนโยบายการลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนเฉลี่ยในรอบระยะเวลาสามเดือน หกเดือน เก้าเดือน และสิบสองเดือนของรอบปีบัญชีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนด ในกรณีที่ไม่สามารถลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องรายงานพร้อมทั้งแสดงเหตุผลให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นรอบระยะเวลาดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปิดเผยข้อมูลแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 6/4 นโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ได้แก่ การลงทุนที่บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้เฉพาะตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด
ข้อ 6/5 นโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ระยะยาวได้แก่ การลงทุนที่บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้เฉพาะตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำรงพอร์ตโฟลิโอ ดูเรชัน (portfolio duration) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นในขณะใดขณะหนึ่งมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป
เมื่อพ้นระยะเวลาหกเดือนนับตั้งแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานพอร์ตโฟลิโอ ดูเรชัน (portfolio duration) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกสิ้นวันทำการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนด ในกรณีที่ไม่สามารถดำรงพอร์ตโฟลิโอดูเรชัน (portfolio duration) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องรายงานพร้อมทั้งแสดงเหตุผลให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบเป็นรายเดือนภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปิดเผยข้อมูลแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 6/6 นโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ระยะสั้นได้แก่ การลงทุนที่บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้เฉพาะตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำรงพอร์ตโฟลิโอ ดูเรชัน (portfolio duration) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นในขณะใดขณะหนึ่งไม่เกินหนึ่งปี
ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานพอร์ตโฟลิโอ ดูเรชัน (portfolio duration) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกสิ้นวันทำการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนด ในกรณีที่ไม่สามารถดำรงพอร์ตโฟลิโอ ดูเรชัน (portfolio duration) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องรายงานพร้อมทั้งแสดงเหตุผลให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบเป็นรายเดือนภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปิดเผยข้อมูลแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 6/7 นโยบายการลงทุนในตลาดเงินได้แก่ การลงทุนที่บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนดที่มีกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถามหรือจะครบกำหนดชำระคืนไม่เกินหนึ่งปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ลงทุน
ข้อ 6/8 นโยบายการลงทุนแบบผสมได้แก่ การลงทุนที่บริษัทจัดการกำหนดนโยบายการลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินตามที่สำนักงานกำหนด และมีวัตถุประสงค์ที่จะดำรงอัตราส่วนการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนในขณะใดขณะหนึ่งไม่เกินร้อยละหกสิบห้าและไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อพ้นระยะเวลาหกเดือนนับตั้งแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนทุกสิ้นวันทำการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนด ในกรณีที่ไม่สามารถลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องรายงานพร้อมทั้งแสดงเหตุผลให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบเป็นรายเดือนภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปิดเผยข้อมูลแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 6/9 นโยบายการลงทุนผสมแบบยืดหยุ่นได้แก่ การลงทุนที่บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินตามที่สำนักงานกำหนด โดยขึ้นกับการตัดสินใจลงทุนของบริษัทจัดการตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ
ข้อ 6/10 นโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนได้แก่ การลงทุนที่บริษัทจัดการกำหนดนโยบายการลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประสงค์จะลงทุนในหน่วยลงทุนเฉพาะหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้หรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด บริษัทจัดการจะต้องลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเฉพาะตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นตามที่สำนักงานกำหนดเช่นเดียวกับการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนเฉลี่ยในรอบระยะเวลาสามเดือน หกเดือน เก้าเดือน และสิบสองเดือนของรอบปีบัญชีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนด ในกรณีที่ไม่สามารถลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องรายงานพร้อมทั้งแสดงเหตุผลให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นรอบระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปิดเผยข้อมูลแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 6/11 นโยบายการลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิได้แก่ การลงทุนที่บริษัทจัดการกำหนดนโยบายการลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน และใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพใดประสงค์จะลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิเฉพาะใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือของกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด บริษัทจัดการจะต้องลงทุนเฉพาะในตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นตามที่สำนักงานกำหนดเช่นเดียวกับการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิและใบแสดงสิทธิตามวรรคหนึ่งเฉลี่ยในรอบระยะเวลาสามเดือน หกเดือน เก้าเดือน และสิบสองเดือนของรอบปีบัญชีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนด ในกรณีที่ไม่สามารถลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิและใบแสดงสิทธิให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องรายงานพร้อมทั้งแสดงเหตุผลให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นรอบระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปิดเผยข้อมูลแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 6/12 นโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุนของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกันได้แก่ การลงทุนที่บริษัทจัดการกำหนดนโยบายการลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกันตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกันตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดตามวรรคหนึ่งเฉลี่ยในรอบระยะเวลาสามเดือน หกเดือน เก้าเดือน และสิบสองเดือนของรอบปีบัญชีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนด ในกรณีที่ไม่สามารถลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องรายงานพร้อมทั้งแสดงเหตุผลให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นรอบระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปิดเผยข้อมูลแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"
ข้อ 6 ให้ยกเลิกความใน (2) และ (3) ของข้อ 11 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"(2) เว้นแต่ลูกค้าจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ให้บริษัทจัดการรายงานให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา โดยรายงานดังกล่าวต้องระบุวันที่ลงทุน ชื่อหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินที่ลงทุน จำนวน ราคาต่อหน่วย มูลค่าหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ลงทุนและอัตราส่วนการลงทุนโดยเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(3) ลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่นายจ้างหรือบริษัทในเครือของนายจ้างเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน มีมูลค่ารวมกันไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยคำนวณตามความรับผิดหรือภาระผูกพันของนายจ้างหรือบริษัทในเครือของนายจ้าง ทั้งนี้ มิให้นับรวมตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน และพันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลหรือผู้ค้ำประกันรวมในอัตราส่วนดังกล่าว การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตาม (3) ให้นับรวมการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนทั้งหมดไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของนายจ้าง หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดที่สำนักงานประกาศกำหนดความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้นำมาใช้บังคับกับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนายจ้างมากกว่าหนึ่งราย (pooled fund) และมีจำนวนนายจ้างที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกันน้อยกว่าสองในสามของจำนวนนายจ้างทั้งหมด"
ข้อ 7 ให้ยกเลิกวรรคสองของข้อ 12 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543
ข้อ 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 18/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคลลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543
"ข้อ 18/1 ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกสิ้นวันทำการที่มีการนำเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทุกสิ้นวันทำการที่มีการจ่ายเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และทุกสิ้นวันทำการสุดท้ายของเดือน"
ข้อ 9 ให้ยกเลิกความในข้อ 20 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ 20 ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการจัดทำและส่งรายงานจำนวนหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มูลค่าต่อหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมูลค่าของเงินสะสมของสมาชิก เงินสมทบของนายจ้าง พร้อมทั้งผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ ให้สมาชิกแต่ละรายทราบ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ดำเนินการดังกล่าวก็ได้ โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน"
ข้อ 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (จ) ใน (3) ของข้อ 21 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543
"(จ) สิทธิและวิธีการในการเปลี่ยนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามระยะเวลาที่บริษัทจัดการกำหนด ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะต้องให้สิทธิดังกล่าวแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง"
ข้อ 11 ให้ยกเลิกความในข้อ 23 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคลลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ 23 ให้บริษัทจัดการกำหนดขั้นตอนการรับข้อร้องเรียนของลูกค้าเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนส่วนบุคคลและการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และเมื่อมีข้อร้องเรียนดังกล่าวเกิดขึ้น ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ลูกค้าร้องเรียนต่อบริษัทจัดการโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร ให้บริษัทจัดการพิจารณาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งรวบรวมข้อร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจัดส่งให้สำนักงานเป็นรายไตรมาสภายในสิบห้าวัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นไตรมาสนั้น ทั้งนี้ หากเป็นการร้องเรียนด้วยวาจา ให้บริษัทจัดการบันทึก ข้อร้องเรียนดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรและให้ลูกค้าลงนามเพื่อรับรองความถูกต้องไว้ด้วย ก่อนที่ บริษัทจัดการจะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
(2) ในกรณีที่ลูกค้าร้องเรียนต่อสำนักงาน และสำนักงานได้จัดส่งข้อร้องเรียนให้บริษัทจัดการแล้ว ให้บริษัทจัดการพิจารณาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนดังกล่าวและรายงานการดำเนินการให้สำนักงานทราบภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่บริษัทจัดการได้รับข้อร้องเรียนนั้น และหากบริษัทจัดการยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ให้บริษัทจัดการรายงานการดำเนินการทุกระยะเวลาสามสิบวันจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งนี้ เว้นแต่สำนักงานกำหนดเป็นอย่างอื่น
(3) เมื่อบริษัทจัดการมีข้อยุติเกี่ยวกับข้อร้องเรียนตาม (1) หรือ (2) แล้ว ให้บริษัทจัดการแจ้งข้อยุติและการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน (ถ้ามี) พร้อมเหตุผลประกอบกรณีดังกล่าวให้ลูกค้าทราบภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่มีข้อยุตินั้น"
ข้อ 12 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 27/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543
"ข้อ 27/1 ในกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของนายจ้างตามข้อ 11(3) อยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับ บริษัทจัดการจะคงมีไว้ซึ่งการลงทุนดังกล่าวต่อไปก็ได้ แต่ถ้ามีการจำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินไปเท่าใด ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวได้เพียงจำนวนที่เหลือเท่านั้น"
ข้อ 13 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นไปเว้นแต่ข้อ 9 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ