แบบงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน (ฉบับที่ 2)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday September 12, 2000 10:12 —ประกาศ ก.ล.ต.

                        ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สธ. 44/2543
เรื่อง แบบงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน
(ฉบับที่ 2)
________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 106 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกหน้า 2 ของหมายเหตุประกอบงบการเงินที่แนบท้ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 6/2543 เรื่อง แบบงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 และให้ใช้หน้า 2 และ 2/1 ของหมายเหตุประกอบงบการเงินที่แนบท้ายประกาศนี้แทน
ข้อ 2 ให้ยกเลิกหน้า 1 ของคำอธิบายความหมายของรายการงบดุลที่แนบท้ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 6/2543 เรื่อง แบบงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 และให้ใช้หน้า 1 และ 1/1 ของคำอธิบายที่แนบท้ายประกาศนี้แทน
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2543
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุประกอบงบการเงิน
หมายเหตุประกอบงบการเงิน มี 2 ส่วน ได้แก่
1. หลักเกณฑ์และสรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ
2. ข้อมูลเพิ่มเติม
ให้บริษัทหลักทรัพย์เปิดเผยรายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสถาบันวิชาชีพที่สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยกำหนด และข้อกำหนดเพิ่มเติมตามที่นายทะเบียนหรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด และอย่างน้อยจะต้องมีรายการดังข้างล่างนี้ หากบริษัทหลักทรัพย์ไม่มีรายการดังกล่าวหรือรายการดังกล่าวไม่มีสาระสำคัญ บริษัทหลักทรัพย์อาจไม่แสดงรายการนั้นได้
1. หลักเกณฑ์และสรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ ให้เปิดเผยนโยบายการบัญชีที่สำคัญอย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้
1.1 เกณฑ์การเสนองบการเงิน
1.2 สรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ
(1) วิธีการรับรู้รายได้ให้เปิดเผยเกณฑ์การรับรู้รายได้ประเภทที่สำคัญ เช่น ค่านายหน้า ค่าธรรมเนียมและบริการ รายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม กำไรขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และดอกเบี้ยและเงินปันผลจากเงินลงทุน เป็นต้น
(2) วิธีการรับรู้ค่าใช้จ่ายให้เปิดเผยเกณฑ์การรับรู้ค่าใช้จ่ายธุรกิจหลักทรัพย์และค่าใช้จ่ายดำเนินงานประเภทที่สำคัญ เช่น ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืม กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ขาดทุนจากการจำหน่ายและการตีราคาทรัพย์สิน เป็นต้น
(3) วิธีการบันทึกการรับรู้และตัดบัญชีสินทรัพย์ของลูกค้าให้เปิดเผยโดยสรุปถึงเกณฑ์การบันทึกการรับรู้และตัดบัญชีสินทรัพย์ของลูกค้าของบริษัท โดยสินทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกค้าที่ฝากไว้กับบริษัทมิได้ถูกบันทึกรับรู้ไว้ในงบการเงินของบริษัท
(4) เงินลงทุน ให้เปิดเผยเกณฑ์ที่ใช้ในการวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนแต่ละประเภท เช่น ใช้ราคาเสนอซื้อปัจจุบัน หรือราคาจากการวิเคราะห์กระแสเงินสดคิดลด เป็นต้น รวมถึงนโยบายการบัญชีเกี่ยวกับการคิดต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในการกำหนดต้นทุนหลักทรัพย์ที่จำหน่าย และการบันทึกบัญชีการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนชั่วคราว
(5) ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้เปิดเผยเกณฑ์การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เช่น โดยการประเมินฐานะลูกหนี้แต่ละรายหรือใช้ประสบการณ์ในการเก็บหนี้ และเกณฑ์การตัดหนี้สูญ เป็นต้น
(6) การแปลงค่าเงินตราต่างประเทศ ให้เปิดเผยเกณฑ์การแปลงค่าเงินตราต่างประเทศและการทำสัญญาประกันความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน (ถ้ามี)
(7) นโยบายเกี่ยวกับเงินเลี้ยงชีพและเกษียณอายุ ให้เปิดเผยถึงวิธีการจัดการกองทุนและเกณฑ์การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน
(8) ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ให้เปิดเผยโดยสรุปถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดรายการภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี เวลาที่ต้องตัดบัญชี และเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณ
(9) กำไรต่อหุ้นให้เปิดเผยโดยสรุปถึงเกณฑ์การคำนวณกำไรหรือขาดทุนต่อหุ้นในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง ๆ
2. ข้อมูลเพิ่มเติม
2.1 เงินสดและเงินฝากสถาบันการเงิน
ให้เปิดเผยรายละเอียดดังนี้
25.. 25..
เงินสด xxx xxx
เงินฝากธนาคาร xxx xxx
บัตรเงินฝาก xxx xxx
เงินฝากของบริษัทในบัญชีเพื่อลูกค้า xxx xxx
รวมเงินสดและเงินฝากสถาบันการเงิน xxx xxx
กรณีบัตรเงินฝาก ให้แสดงด้วยราคาที่ตราไว้สุทธิจากการปรับปรุงจำนวนผลต่างรอการตัดบัญชีและแสดงยอดคงเหลือของรายการรอการตัดบัญชีดังกล่าว พร้อมทั้งจำนวนที่ตัดบัญชีระหว่างงวด
ทั้งนี้ ให้บริษัทเปิดเผยรายละเอียดของจำนวนเงินสดและเงินฝากส่วนที่เป็นของบริษัท และส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกค้าที่บริษัทต้องส่งคืนเมื่อลูกค้าทวงถามให้ชัดเจน
2.2 เงินให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงิน ให้เปิดเผยรายละเอียดดังนี้
25.. 25..
เงินให้กู้ยืมเมื่อทวงถาม xxx xxx
เงินให้กู้ยืมเมื่อสิ้นระยะเวลา xxx xxx
รวมเงินให้กู้ยืม xxx xxx
บวก ดอกเบี้ยค้างรับ xxx xxx
หัก ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ xxx xxx
เงินให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินสุทธิ xxx xxx
นอกจากนี้ ให้เปิดเผยจำนวนเงินให้กู้ยืมที่บริษัทให้กู้กับสถาบันการเงินที่มีปัญหาเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน และจำนวนเงินให้กู้ยืมที่บริษัทระงับการรับรู้รายได้
คำอธิบายความหมายของรายการ
งบดุล
สินทรัพย์
1. เงินสดและเงินฝากสถาบันการเงิน (Cash and deposits at financial institutions) หมายถึง
1.1 ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่บริษัทมีอยู่ รวมทั้งเงินสดย่อย
1.2 เงินฝากธนาคารทุกประเภทและเงินฝากสถาบันการเงินอื่น รวมทั้งบัตรเงินฝากที่ออกโดยธนาคารและสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ ให้แสดงจำนวนเงินสดและเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะส่วนที่เป็นของบริษัท หรือส่วนที่อยู่ในการควบคุมของบริษัทเท่านั้น
2. เงินให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงิน (Loans to financial institutions) หมายถึง เงินให้กู้ยืมแก่ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทประกันชีวิต และสถาบันการเงินอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น รวมทั้งดอกเบี้ยค้างรับจากเงินให้กู้ยืมดังกล่าว หักด้วยค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
3. สัญญาขายคืน (Resale agreements) หมายถึง ข้อตกลงที่จะรับโอนสินทรัพย์ทางการเงินจากอีกฝ่ายหนึ่งโดยการแลกเปลี่ยนกับเงินสดหรือสิ่งตอบแทนอื่นของกิจการ ในขณะเดียวกับที่ก่อให้เกิดภาระผูกพันที่จะขายสินทรัพย์ทางการเงินนั้นคืนในอนาคตด้วยจำนวนที่เท่ากับเงินสดหรือสิ่งตอบแทนอื่นที่ได้มอบให้ไว้บวกดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนอื่นที่คล้ายคลึงกัน
4. เงินลงทุน (Investments) หมายถึง เงินลงทุนตามมาตรฐานการบัญชี ให้แสดงเงินลงทุนดังกล่าวเป็นมูลค่าสุทธิหลังจากบวกหรือหักด้วยบัญชีค่าเผื่อการปรับมูลค่าและค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุน โดยแยกตามประเภท ดังนี้
4.1 หลักทรัพย์เพื่อค้า (Trading securities)
4.2 หลักทรัพย์เผื่อขาย (Available-for-sale securities)
4.3 เงินลงทุนทั่วไป (Non marketable securities)
4.4 ตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด (Held-to-maturity securities)
ทั้งนี้ ให้รวมถึงหลักทรัพย์ที่มีไว้เพื่อประกอบกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ หลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการยืมหรือให้ยืม และหลักทรัพย์ที่นำไปวางเป็นหลักประกันหรือรับมาเป็นหลักประกัน (เฉพาะที่มาตรฐานการบัญชีกำหนดให้รับรู้เป็นทรัพย์สินของบริษัท)
5. เงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม (Investments in subsidiary and associated companies) หมายถึง เงินลงทุนในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมที่บริษัทถือไว้และเข้าข่ายตามมาตรฐานการบัญชีที่ต้องบันทึกบัญชีเงินลงทุนเหล่านี้ตามวิธีส่วนได้เสีย ในกรณีที่การถือเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมรายใดไม่เข้าข่ายตามมาตรฐานการบัญชีที่ต้องบันทึกบัญชีตามวิธีส่วนได้เสีย ให้บันทึกบัญชีภายใต้เงินลงทุนตามรายการที่ 4
สารบัญการแก้ไขรายการแนบท้ายประกาศ เรื่อง แบบงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน
หัวเรื่อง หน้าที่แก้ไข หน้าที่ใช้แทนหมายเหตุประกอบงบการเงิน
หน้า 1, 2 หน้า 1, 2 และหน้า 2/1คำอธิบายความหมายของรายการ
หน้า 1, 2 หน้า 1, 2
หมายเหตุ : ข้อความที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากของเดิมได้ขีดเส้นใต้เอาไว้
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ