ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ. 3/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 4)

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 9, 2017 15:03 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 3/2560

เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและ

ให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ฉบับที่ 4)

______________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5(1) ประกอบกับข้อ 12(12) ข้อ 14 ข้อ 30 และข้อ 38 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 และข้อ 12/(3/1) และข้อ 25/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 6/2560 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิก (3) และ (4) ของข้อ 1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 35/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับ การติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 35/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 51/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 3 ข้อกำหนดในรายละเอียดตามประกาศนี้ กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ในส่วนที่เกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

(1) การจัดให้มีระบบงานเพื่อรองรับการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า ให้เป็นไปตามหมวด 1/1

(2) การรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า ให้เป็นไปตามหมวด 2

(3) การทำข้อตกลงกับลูกค้าก่อนเริ่มให้บริการ ให้เป็นไปตามหมวด 3

(4) การวิเคราะห์และการแนะนำการลงทุน ให้เป็นไปตามหมวด 4

(5) การจัดส่งหลักฐานยืนยันการทำธุรกรรมของลูกค้า ให้เป็นไปตามหมวด 5

(6) การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน ให้เป็นไปตามหมวด 6

(7) การรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนอกสถานที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจ ให้เป็นไปตามหมวด 7

(8) การให้บริการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนโดยลูกค้ายินยอมให้ตัดสินใจแทนในขอบเขตที่จำกัดให้เป็นไปตามหมวด 7/1”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 35/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 5 ในการติดต่อและให้บริการลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้ความระมัดระวังในการให้บริการหรือนำเสนอบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

(1) ลูกค้าเป็นบุคคลธรรมดาที่มีอายุตั้งแต่หกสิบปีขึ้นไป

(2) ลูกค้าที่มีความรู้ทางการเงินอย่างจำกัด หรือไม่มีประสบการณ์การลงทุน

(3) ลูกค้าที่มีข้อจำกัดในการสื่อสารหรือในการตัดสินใจด้วยตนเอง หรือมีภาวะบกพร่องทางสุขภาพ

ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาแล้วเห็นว่าลูกค้าตามวรรคหนึ่ง (1) หรือ (3) เป็นผู้มีความรู้ทางการเงินหรือมีประสบการณ์การลงทุนแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้ดุลยพินิจ ในการให้บริการหรือนำเสนอบริการตามที่เห็นว่าเหมาะสมกับลูกค้ารายดังกล่าวก็ได้”

ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 1/1 การจัดให้มีระบบงานเพื่อรองรับการติดต่อและให้บริการ ข้อ 5/1 ข้อ 5/2 ข้อ 5/3 และข้อ 5/4 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 35/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 “

หมวด 1/1

การจัดให้มีระบบงานเพื่อรองรับการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า

ข้อ 5/1 ในการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าตามข้อ 12(3/1) และข้อ 25/1 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีระบบงานเพื่อรองรับการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในรายละเอียดที่กำหนดในหมวดนี้

ข้อ 5/2 ความในหมวดนี้ไม่ใช้บังคับกับการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าดังต่อไปนี้

(1) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบัน

(2) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่ประสงค์ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามความในหมวดนี้

(3) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนหรือผู้ใช้บริการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้านอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 5/3 ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีระบบงานที่ทำให้มั่นใจได้ว่า การกำหนดขั้นตอนและวิธีการในรายละเอียดของกระบวนการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า ได้มีการคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้ รวมทั้งสอดคล้องและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนหรือบริการแต่ละประเภท

(1) กระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อการติดต่อและให้บริการ ได้แก่

(ก) การคัดเลือกและมอบหมายให้บุคลากรซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนหรือบริการแต่ละประเภท เป็นผู้ขายหรือผู้ให้บริการแก่ลูกค้า

(ข) การจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนหรือบริการให้แก่บุคลากรที่ผู้ประกอบธุรกิจมอบหมายตาม (ก) เพื่อใช้ศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนหรือบริการก่อนนำไปเสนอขายหรือให้บริการแก่ลูกค้า

(ค) การจัดหาเครื่องมือหรือสื่อประกอบการอธิบายให้แก่บุคลากรที่ผู้ประกอบธุรกิจมอบหมายตาม (ก) เพื่อใช้ในการอธิบายลักษณะและความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนหรือบริการแก่ลูกค้าตามความจำเป็น

(2) กระบวนการในการติดต่อและให้บริการ ได้แก่

(ก) การรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้าเพื่อทำความรู้จักลูกค้าและประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือทำธุรกรรมของลูกค้า

(ข) การนำเสนอผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนหรือบริการที่มีความเหมาะสมกับลูกค้า โดยพิจารณาจากผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน (suitability test) และคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุน (asset allocation) ของลูกค้า

(ค) การแจกจ่ายเอกสารประกอบการติดต่อหรือให้บริการให้แก่ลูกค้า ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนหรือบริการแต่ละประเภท

(ง) การอธิบายและให้ข้อมูลตลอดจนความเสี่ยงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนหรือบริการแก่ลูกค้าอย่างเพียงพอก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจลงทุนหรือใช้บริการ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนหรือบริการแต่ละประเภท (material event) (ถ้ามี)

(3) กระบวนการติดตามตรวจสอบการติดต่อและให้บริการ ได้แก่

(ก) การติดตามตรวจสอบเพื่อควบคุมให้การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าสอดคล้องกับกระบวนการติดต่อและให้บริการที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดตาม (1) และ (2)

(ข) การแก้ไขหรือดำเนินการใด ๆ เมื่อพบว่ามีการติดต่อและให้บริการไม่สอดคล้องกับกระบวนการติดต่อและให้บริการ

(ค) การจัดเก็บเอกสารและหลักฐานการดำเนินการตาม (ก) และ (ข) ไว้ในลักษณะที่สำนักงานสามารถเรียกดูได้โดยไม่ชักช้า

ข้อ 5/4 ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำกับดูแลให้การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการในรายละเอียดของกระบวนการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าที่กำหนดในข้อ 5/3

ในกรณีที่เป็นการติดต่อและให้บริการซ้ำในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนประเภท รุ่น และชนิดเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนเดิม หรือเป็นการติดต่อและให้บริการซ้ำในผลิตภัณฑ์ ในตลาดทุนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (repeated sell) ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปรับลดขั้นตอนและวิธีการในรายละเอียดของกระบวนการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าลงได้ตามความเหมาะสม

ในการปรับลดลดขั้นตอนหรือวิธีการตามวรรคสอง ลูกค้าต้องได้รับทราบข้อมูลหรือความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนหรือบริการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมซึ่งลูกค้าเคยได้รับจากกระบวนการติดต่อและให้บริการครั้งก่อนด้วย (ถ้ามี)”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในหมวด 6 การให้บริการลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน ข้อ 28 ข้อ 29 ข้อ 30 ข้อ 31 ข้อ 32 ข้อ 33 ข้อ 34 และข้อ 35 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 35/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“หมวด 6

การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน

ข้อ 28 ในการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในรายละเอียดที่กำหนดไว้ในหมวดนี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากการปฏิบัติต่อลูกค้าตามปกติ เพื่อให้การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าเป็นไปตามข้อ 12(3/1) ข้อ 25/1 ข้อ 30 และข้อ 38 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ

ข้อ 29 ความในหมวดนี้ไม่ใช้บังคับกับการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าดังต่อไปนี้

(1) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบัน

(2) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่ประสงค์ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามความในหมวดนี้

(3) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนหรือใช้บริการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้านอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 30 ให้ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน

(1) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ

(2) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการลงทุนแบบซับซ้อน ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในกรณีที่กองทุนลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

(3) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนโดยวิธีการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนให้ผันแปรไปตามสูตรการคำนวณหรือเงื่อนไขใด ๆ ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนทั่วไปไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย (complex return fund)

(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ (net exposure) ในสินค้าโภคภัณฑ์ ผ่านการลงทุนในตราสารหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์นั้น

(5) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เกินกว่าร้อยละหกสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(6) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (hybrid securities) ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้เกินกว่าสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันที่ออกตราสาร และมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

(ก) มีข้อกำหนดให้ผู้ออกตราสารมีสิทธิในการเลื่อนหรืองดการชำระหนี้ตามตราสาร หรือมีสิทธิในการเลื่อนหรืองดการจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนตามตราสาร

(ข) มีข้อกำหนดให้ผู้ถือตราสารมีสิทธิได้รับชำระหนี้คืนจากผู้ออกตราสารด้อยกว่าเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ถือหุ้นกู้ แต่ดีกว่าเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ถือหุ้นหุ้นสามัญของผู้ออกตราสาร

(7) ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกบริษัท (perpetual bond)

(8) ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade bond) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond)

(9) หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง หรือตราสารอื่นที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

(10) ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์

(11) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(12) ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ออกหรือเสนอขายในต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะหรือเงื่อนไขทำนองเดียวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนตาม (1) ถึง (11)

ข้อ 31 การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนตามข้อ 30 นอกจากการปฏิบัติให้เป็นไปตามความในหมวด 1/1 ของประกาศนี้แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีระบบงานในการกำหนดและกำกับดูแลกระบวนการติดต่อและให้บริการโดยคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย

(1) การคัดเลือกและมอบหมายให้บุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน เป็นผู้ทำหน้าที่ติดต่อหรือให้บริการแก่ลูกค้า

(2) การประเมินความรู้ความสามารถของลูกค้าโดยพิจารณาจากปัจจัยดังนี้ ก่อนทำการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า

(ก) การศึกษา

(ข) ประสบการณ์การทำงาน

(ค) ประสบการณ์การลงทุน

(3) การจัดให้มีแนวทางการให้ข้อมูลหรือรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน โดยเฉพาะข้อมูลหรือรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนเนื่องจากผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

(4) การจัดให้มีเครื่องมือหรือสื่อประกอบการอธิบายในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนที่เข้าใจยาก เพื่อให้ลูกค้าทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

(5) การจัดให้มีคำเตือนเพิ่มเติมแก่ลูกค้าว่า การลงทุนหรือใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน มีความแตกต่างจากการลงทุนหรือใช้บริการผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนทั่วไป

(6) การจัดให้ลูกค้าได้รับทราบความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนหรือใช้บริการก่อนการลงทุนหรือให้บริการ ทั้งนี้ ตามแนวทางที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 32 ในกรณีที่เป็นการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนตามข้อ 30(1) หรือ (10) ผู้ประกอบธุรกิจต้อง จัดให้มีการอธิบายถึงสถานการณ์เชิงลบอย่างมากที่สุดที่เกิดขึ้น (worst case scenario) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนหรือใช้บริการของลูกค้าด้วย”

ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป เว้นแต่ข้อ 31(2) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ