ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทธ. 6/2560 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงานและการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 7)

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 9, 2017 15:26 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทธ. 6/2560

เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน

และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ฉบับที่ 7)

____________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 116 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และข้อ 16 วรรคหนึ่ง (6) แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 และข้อ 5 วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวงการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2555 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” และ “ผู้ลงทุนรายใหญ่” ในข้อ 6 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

““ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่

“ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่”

ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นบทนิยามคำว่า “ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ” ระหว่างบทนิยามคำว่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” และ “ผู้ลงทุนรายใหญ่” ในข้อ 6 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับ ตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

““ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่”

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (3/1) ของข้อ 12 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 62/2558 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

“(3/1) ระบบงานในการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในข้อ 25/1”

ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 25/1 ของหมวด 5 การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

“ข้อ 25/1 ในการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีระบบงานเพื่อรองรับการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า ที่ทำให้มั่นใจว่าช่องทางการติดต่อและให้บริการ การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบ และบุคลากรที่ได้รับมอบหมายจากผู้ประกอบธุรกิจ มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยงและความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนแต่ละประเภท โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า รวมทั้งมีการกำกับดูแลให้การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าเป็นไปตามระบบงานที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นด้วย”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 34 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 51/2558 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 34 ในการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ 31 เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการเกี่ยวกับ การลงทุนหรือการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการให้บริการแก่ลูกค้าดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมของลูกค้าก็ได้

(1) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบัน

(2) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่รับการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรม

(3) ลูกค้าประสงค์จะลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นหลักทรัพย์ประเภทหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น โดยลูกค้าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวอยู่แล้วในวันที่ทำการลงทุน หรือในวันที่ได้รับสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น

(4) ลูกค้าประสงค์จะลงทุนโดยการจองซื้อผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ซึ่งลูกค้าได้รับสิทธิในการจองเนื่องจากมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขดังนี้ประกอบกัน

(ก) ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนั้นมีความเสี่ยงไม่เกินกว่าระดับความเสี่ยงในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นหลักทรัพย์ประเภทหุ้น

(ข) ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนั้นเสนอขายโดยบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเป็นครั้งแรกและแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว หรือเสนอขายโดยบริษัทจดทะเบียนอื่น

(ค) บริษัทจดทะเบียนที่ลูกค้าเป็นผู้ถือหุ้นอยู่นั้น มีการถือหุ้นในบริษัทตาม (ข)

(ง) ลูกค้าประสงค์จะลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนั้นเพื่อรักษาสิทธิที่ได้รับมาในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้เสนอสิทธิให้แก่ลูกค้านั้นจะเป็นบริษัทจดทะเบียนนั้นที่ลูกค้าเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นบริษัทที่เสนอขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนตาม (ข) ก็ตาม

(5) ลูกค้าประสงค์จะลงทุนโดยการจองซื้อผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นหลักทรัพย์ประเภทหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หุ้นกู้ ตั๋วเงิน หรือพันธบัตร ที่ออกใหม่ โดยลูกค้าได้ลงนาม ยืนยันในเอกสารประกอบการจองซื้อหลักทรัพย์แล้วว่าได้ผ่านการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมาแล้วไม่เกินกว่าสองปีก่อนวันที่ทำการลงทุน

เมื่อได้ทำการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของลูกค้าตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรม พร้อมทั้งให้คำแนะนำเบื้องต้นเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจความสำคัญในการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เหมาะสม (basic asset allocation) โดยพิจารณาจากการประเมินความเหมาะสมดังกล่าว

การจัดทำคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนตามวรรคสอง ต้องกระทำโดยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และเป็นไปตามหลักวิชาการอันเป็นที่ยอมรับ”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกวรรคสองของข้อ 35 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

ข้อ 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 35/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และ การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

“ข้อ 35/1 ผู้ประกอบธุรกิจต้องดูแลให้ลูกค้าลงทุนหรือทำธุรกรรมให้เป็นไปตามผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนตามข้อ 34

ในกรณีที่ลูกค้าประสงค์จะลงทุนหรือทำธุรกรรมโดยไม่เป็นไปตามผลการประเมิน ความเหมาะสมในการลงทุนหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ลูกค้าตระหนักถึงความเสี่ยงจากการลงทุนหรือทำธุรกรรมดังกล่าว”

ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ